พัฒนาอินเตอร์คูล (Patana Intercool) คือผู้ผลิตและออกแบบตู้แช่เย็นที่จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศภายใต้แบรนด์ของตัวเอง รวมถึงรับออกแบบและผลิตให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่อีกหลายราย มีแนวคิดในการทำธุรกิจที่สั้นและกระชับว่า ‘ถูก ดี ไม่มีข้อแม้’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพัฒนาอินเตอร์คูลที่ทำให้คนสนับสนุนธุรกิจเรื่อยมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ คิม ตั้งสิริมานะกุล ที่ปัจจุบันยังคงทำงานอย่างมีความสุข

ครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องของทายาทรุ่นสองธุรกิจตู้แช่ที่ต่อยอดและขยายตลาดไปไกลกว่าการขายตู้แช่เย็น The Cloud ก็ติดต่อนัดหมายพูดคุยกับ แฮม-เอกพงษ์ ตั้งสิริมานะกุล กรรมการผู้จัดการและทายาทรุ่นสองของพัฒนาอินเตอร์คูลทันที

แฮม-เอกพงษ์ ตั้งสิริมานะกุล กรรมการผู้จัดการและทายาทรุ่นสองของพัฒนาอินเตอร์คูลทันที

เขาชวนเรามาพบกันที่สำนักงานใหม่หน้าตาทันสมัยชวนอยู่อาศัย ราวกับเป็นบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพแรกเกิด 

“เรากำลังแข่งกับตัวเอง เพื่อพัฒนาเป็นธุรกิจตู้แช่เย็นของคนไทยที่ได้รับการยอมรับระดับโลก”

หนุ่มทายาทกิจการวัย 32 ปี เล่าความฝันปลายทางของธุรกิจครอบครัว ซึ่งเราสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นอันแรงกล้า

ว่ากันว่า ข้อดีของคนรุ่นใหม่คือไฟแรง แฮมเข้ามาปรับเปลี่ยนธุรกิจตั้งแต่พัฒนาระบบทำงานภายใน ขยายตลาดเข้าสู่ร้านเบเกอรี่และห้องไวน์ ปรับตู้แช่และโรงงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และล่าสุด เขากำลังพัฒนาให้ตู้แช่เย็นรองรับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อยกระดับการใช้งานขั้นสูง ยิ่งทำให้ตู้แช่ที่อาจดูธรรมดาในสายตาใครๆ มีเสน่ห์น่าติดตามและสนับสนุนขึ้นไปอีก

“เราเชื่อว่าธุรกิจนี้สร้างคุณค่าให้มนุษยชาติได้” แฮมเอ่ยหนึ่งในเหตุผลที่เขาตัดสินใจรับช่วงต่อกิจการตั้งแต่สมัยเรียน โดยไม่หันเหใจไปทำงานที่อื่นใดเลย ยิ่งทำให้เราสนใจขึ้นไปอีกว่า อะไรเป็นแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดความเชื่อเช่นนี้

ธุรกิจตู้แช่เย็นอายุ 40 ปีนี้พิเศษอย่างไร ทำไมถึงต้องมุ่งมั่นพัฒนาให้ไปคูลระดับอินเตอร์

แฮมพร้อมดับความร้อนใจในความอยากรู้คำตอบของเราด้วยเรื่องราวของเขาแล้ว

แฮม-เอกพงษ์ ตั้งสิริมานะกุล กรรมการผู้จัดการและทายาทรุ่นสองของพัฒนาอินเตอร์คูลทันที

ธุรกิจ : พัฒนาอินเตอร์คูล (พ.ศ. 2523)

อายุ : 40 ปี

ประเภท : ผู้ผลิต ออกแบบ และจำหน่ายตู้แช่เย็น

เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : คิม ตั้งสิริมานะกุล

ทายาทรุ่นที่สอง : เอกพงษ์ ตั้งสิริมานะกุล

01

เริ่มต้นจากธุรกิจผลิตตู้เก๊กฮวยและตู้เขียงหมู สู่ตู้แช่มินิมาร์ท

ก่อนเป็นโรงงานขนาดใหญ่อย่างทุกวันนี้ พัฒนาอินเตอร์คูลเริ่มมาจากห้องแถวขนาดสองคูหาย่านอารีย์มาก่อน

ด้วยฐานะครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย คุณคิมลาออกจากโรงเรียนเพื่อทำงานหารายได้และเรียนรู้การทำธุรกิจผลิตตู้เก๊กฮวยและตู้เขียงหมู เพราะเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ในประเทศที่สภาพอากาศร้อนอย่างไทย จนเมื่อเก็บเกี่ยววิชาได้พร้อม จึงตัดสินใจเปิดกิจการของตนเอง โดยมีภรรยาเข้ามาช่วยดูแลด้านการเงินในภายหลัง

ในยุคแรก ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของบริษัท คือตู้แช่มินิมาร์ท ‘Chilled Foods & Drinks’ ทรงเหลี่ยมสีขาวมีบานประตูกระจก ซึ่งคุณคิมเห็นต้นแบบมาจากไต้หวัน และนำมาทดลองพัฒนาต่อในไทยเป็นเจ้าแรกๆ

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด
ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

ตู้แช่นี้ขายดีเป็นปรากฏการณ์จนต้องขยายกำลังการผลิต ด้วยการจับมือกับบริษัทใหญ่ที่รับจ้างผลิต โดยการแลกเปลี่ยนกับความรู้ของพัฒนาอินเตอร์คูล แต่กลับกลายเป็นว่ามีการนำไปผลิตภายใต้แบรนด์ของตัวเองโดยไม่บอกกล่าวจนเสียส่วนแบ่งในตลาดและกระทบต่อธุรกิจ

“ครอบครัวเราไม่ค่อยปิดบังกันเท่าไหร่ วิกฤตก็บอกวิกฤต ทำให้เรารับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจตั้งแต่เด็ก จนถึงช่วงเข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวอุตสาหการ (Industrial Engineering) จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ่อกับเราก็เจอที่ดินใกล้ๆ ขนาดเก้าไร่พอดี เลยคิดว่าถึงเวลาสร้างโรงงานที่ผลิตและดูแลเองทั้งหมดแล้ว” แฮมเล่าถึงการตัดสินใจครั้งนั้นที่เขามีบทบาทในฐานะทายาทกิจการ

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

“พ่อหันมาถามเราว่าจะทำธุรกิจต่อไหม ถ้าทำ พ่อจะใช้เงินที่เหลือซื้อที่ดินและสร้างโรงงานเลย ข้อแม้คือต้องทำจริงจังเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่ทำ เขาจะเก็บเงินไว้ให้เราเรียนสูงๆ แล้วเกษียณแทน”

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

คำถามนี้อาจต้องใช้เวลาใคร่ครวญนานสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับแฮม เขารู้คำตอบดีอยู่แล้ว

“ทำ” แฮมตอบคุณพ่อกลับไปอย่างมั่นใจ

02

เริ่มจากพื้นฐานและลงมือทำให้หนักกว่า

แม้ไม่มีประสบการณ์บริหารมาก่อน แต่แฮมมองเห็นปัญหาที่สมควรได้รับการแก้ไขมาตั้งแต่เด็ก และอยากเริ่มลงมือทำทันที

“เราเชื่อว่าทำได้ก็ทำเลย ถ้าเราไม่ทำ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป กลายเป็นเรียนๆ อยู่ ถ้ามีปัญหาหรือลูกค้าเข้ามา เราก็ออกจากห้องเรียนมาช่วยที่โรงงานเลย” แฮมเล่า พร้อมบอกว่าช่วงแรกที่เข้ามาทำงาน พ่อไม่ได้คาดหวังอะไรเป็นพิเศษ แค่ไม่ทำให้ธุรกิจล่มก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

แฮมได้รับความไว้วางใจอย่างรวดเร็วจากพนักงานคนอื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาคลุกคลีอยู่ในโรงงานมาตั้งแต่ยังเล็ก คอยช่วยพี่ๆ พิมพ์งานและห่อของเท่าที่ทำได้ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาเลือกที่จะทำงานเหมือนพนักงานทั่วไป โดยไม่ถือตัวเป็นทายาทแต่อย่างใด 

“เราเริ่มทำงานพื้นฐานเหมือนคนอื่นก่อน ทำใบเสนอราคา ขับรถพาพี่ๆ ไปพบลูกค้าด้วยกัน เข้างานเร็ว เลิกงานดึก ทำทุกอย่างให้เหมือนเขา แต่ทำให้หนักกว่า เราจะได้เข้าใจว่าเขารู้สึกกันอย่างไรและเกิดความเชื่อใจ”

เมื่อฝีมือพัฒนาขึ้น แฮมจึงค่อยขยับไปทำหน้าที่บริหาร

สิ่งแรกๆ ที่เขาทำ คือพัฒนาระบบการทำงาน แบ่งหน่วยงานภายในให้ชัดเจน เพื่อผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพและปริมาณ โดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา พร้อมปรึกษารับคำแนะนำจากอาจารย์และผู้รอบรู้อยู่เสมอ จนบริษัทเข้าที่เข้าทางมากขึ้น และได้รับการรับรองมาตรฐานสากลเป็นเครื่องยืนยันความสามารถ

03

แก้ธุรกิจให้ถูกจุดด้วยการสร้างแบรนด์และตลาดใหม่ให้วงการตู้แช่

โจทย์หนึ่งที่แฮมเร่งทำในช่วงแรก คือแก้ปัญหาธุรกิจที่ติดค้างอยู่ ด้วยการรับจ้างผลิตตู้แช่เย็นให้แบรนด์น้อยใหญ่อื่นๆ แทนการผลิตเป็นแบรนด์ตัวเองเพียงอย่างเดียวในรุ่นพ่อ 

“พอเราเสียลูกค้าไปเยอะจากการโดนแย่งตลาด โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ลูกค้ากลับมาเร็วที่สุดด้วยกำลังที่มี เลยตัดสินใจว่าจะรับจ้างผลิตและทำแบรนด์ให้คนอื่นเพิ่ม คุณมีช่างกี่คนก็ส่งมาฝึกวิธีดูแลตู้ที่โรงงานเราได้เลย ไม่เก็บค่าบริการเพิ่ม” แฮมอธิบาย

วิธีนี้ตอบโจทย์ธุรกิจรายย่อยที่ต้องการสร้างแบรนด์ตัวเองในราคาย่อมเยา เมื่อตู้แช่มีติดโลโก้แบรนด์ตัวเองอยู่ เจ้าของแต่ละรายจะดูแลรักษาตู้อย่างดีโดยอัตโนมัติ ทำให้แฮมไม่ต้องมาคอยกังวลเรื่องบริการดูแลรักษามากเหมือนเคย ด้วยการติดต่อเข้าหาลูกค้ารายเก่าๆ อย่างสุภาพของแฮม พวกเขาเริ่มกลับมาจ้างผลิตมากขึ้น จนธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงินและควบคุมต้นทุนให้ถูกลงได้

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

ในขณะเดียวกัน แฮมเร่งค้นคว้าพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อผลิตขายให้ลูกค้าหลากหลายกลุ่มไปด้วย เช่น ตู้เค้ก ตู้แช่เคาน์เตอร์สเตนเลส ตู้แช่เบียร์วุ้น ตู้แช่ยาในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล รวมถึงเครื่องครัว ทำให้ชื่อของพัฒนาอินเตอร์คูลเข้าไปอยู่ในสถานที่หลากหลาย และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

ส่วนกลุ่มลูกค้าเดิมที่ค้าขายกันมานานอย่างโชห่วยและร้านค้าปลีก คุณพ่อก็ยังคงช่วยแฮมดูแล ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของคนสองรุ่นอย่างแท้จริง

04

ตู้แช่เย็นออกแบบได้โดยไม่มีข้อแม้

ความโดดเด่นสำคัญที่ทำให้พัฒนาอินเตอร์คูลโดดเด่นเหนือผู้เล่นรายอื่นๆ อีกประการ คือแนวคิด ‘ไม่มีข้อแม้’ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบโมเดลตู้แช่เย็น

“เราค่อนข้างยืดหยุ่นในการผลิตมาก บางโรงงานอาจบอกว่าผลิตให้คุณไม่ได้นะ เพราะปริมาณไม่มากพอ หรือมีเงื่อนไขอื่นๆ มากมาย แต่ของเราทำได้หมด ลูกค้าเลยไว้วางใจ เพราะคุยกับเราที่เดียวแล้วจบทุกเรื่อง” แฮมอธิบายความหมาย

แฮมออกแบบการผลิตตู้แช่เป็น 3 ระดับ

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

ระดับแรก คือการปรับแต่งรูปแบบใหม่ให้พิเศษโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะใช้ตู้ทรงเหลี่ยมหรือโค้ง ขนาดเล็กหรือใหญ่ เปลี่ยนสีวัสดุ ทำใช้ในร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ โรงแรม พัฒนาอินเตอร์คูลยินดีออกแบบและผลิตให้ใหม่ แม้จะสั่งเพียงตัวเดียวก็ตาม ด้วยศักยภาพของวิศวกรและเครื่องจักรทันสมัยที่ผลิตได้แม่นยำ และออกแบบระบบความเย็นให้ควบคุมอุณหภูมิได้ตามต้องการ

หากต้องการตู้แช่ยาในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลที่ต้องควบคุมอุณหภูมิเป็นพิเศษ ตู้แช่เบียร์วุ้นตั้งอุณหภูมิลบ 7 องศาคงที่ หรือตู้แช่ไวน์แดงอุณหภูมิ 19 ถึง 20 องศาแบบไร้เสียง พวกเขาออกแบบให้คุณได้หมด

ระดับที่สอง คือการผลิตแบบเน้นจำนวนหรือ Mass Production 

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

ส่วนระดับที่สามเรียกว่า Semi-mass Production คือการผลิตชิ้นส่วนหนึ่งจำนวนมากแบบเจาะหลุมหรือฝาทิ้งไว้ แล้วออกแบบชิ้นส่วนอื่นๆ ที่จะเข้ามาประกบตามความเหมาะสม ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสลับสับเปลี่ยนชิ้นส่วนนี้เอง

“จริงๆ เราชอบด้านการออกแบบด้วย เลยมองตู้แช่เป็นเหมือนการออกแบบงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ส่วนในทางธุรกิจ เราเชื่อว่าถ้าคนชอบตัวต้นแบบตัวแรก เดี๋ยวตัวต่อไปก็ตามมา” แฮมเล่า ไม่แปลกใจที่ธุรกิจหลากหลายประเภทติดต่อมาหาเขาเมื่อนึกถึงตู้แช่เย็น

05

จากความเย็นระดับห้องแถวสู่เวทีระดับอินเตอร์

เมื่อเป็นที่รู้จักในเวทีระดับประเทศ ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองมาเป็นเวลานานจนเชี่ยวชาญและมีบริการที่ตอบโจทย์ รวมถึงความโชคดีทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่อยู่ในบริเวณที่ขนส่งสินค้าไปยังประเทศแถบอาเซียนได้ง่ายด้วยต้นทุนต่ำ บริษัทนานาชาติจึงเริ่มเข้ามาติดต่อร่วมงานกับพัฒนาอินเตอร์คูล ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายโอนความรู้ทางเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก 

ด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งขึ้น พัฒนาอินเตอร์คูลสามารถติดต่อไปเสนอขายกับประเทศต่างๆ รวมถึงจีนง่ายขึ้น ทำให้แฮมเริ่มมองเป้าหมายขั้นถัดไปเป็นระดับโลก สอดคล้องกับความตั้งใจของรุ่นพ่อที่อยากเห็นธุรกิจด้านการผลิตของไทยมีที่ยืนระดับสากล

ปัจจุบัน พัฒนาอินเตอร์คูลส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศกลุ่มอาเซียน จีน เอเชียตะวันออกกลาง และวางแผนเข้าตลาดยุโรปและอเมริกาในไม่ช้า ด้วยกำลังการผลิตที่มากถึง 5,000 ตู้ต่อเดือน และมุ่งมั่นจะผลิตให้ได้ถึง 15,000 เครื่องต่อเดือนในเร็ววันนี้ 

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

06

ดีด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หากผลิตตู้แช่เย็นด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม ด้วยจำนวนเท่ากับที่โรงงานแฮมผลิตได้ คงต้องใช้พลังงานมหาศาล และไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแน่ๆ 

แต่ด้วยพลังเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่แฮมนำมาปรับใช้กับโรงงาน ตู้แช่เย็นก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน โดยไม่ทำให้ธุรกิจขาดทุนแต่อย่างใด

“เราพัฒนาฉนวนโฟมและสารความเย็นภายในเครื่องให้เป็นชนิดที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศและประหยัดพลังงาน ซึ่งข้อเสียโดยปกติคือต้องลงทุนสูง แต่เพราะเราผลิตขายจำนวนมากจนลดต้นทุนได้ดี และทำงานร่วมกับธนาคารโลกที่ช่วยสนับสนุนด้านเงินทุน โดยแลกกับการสัญญาว่าเราจะเลิกใช้วัตถุแบบเก่าที่ทำลายโลกทั้งหมด ทำให้เราเปลี่ยนตัวเองได้” แฮมอธิบาย พร้อมชี้ให้เราเห็นโรงงานการผลิตด้านหลังสำนักงานที่เป็นไปตามแนวคิดโรงงานสีเขียวเช่นกัน โปร่งโล่งเดินสะดวก ไม่ต้องเปิดพัดลมและไฟสักหลอดก็ทำงานได้สบาย แถมดีต่อสิ่งแวดล้อม 

วิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีของแฮมยังไม่หยุดเท่านี้ เพราะเขากำลังทดลองสร้างตู้แช่เย็นที่มีส่วนประกอบของเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ที่ทำให้เขาดูแลรักษาตู้แช่เย็นจำนวนมากจากมุมใดของโลกก็ได้

“ปัญหาหลักของตู้แช่เย็นคืออุณหภูมิ ถ้าระบบข้างในชำรุดบกพร่องจะทำให้ตู้ไม่เย็น ซึ่งระบบ IoT ที่ติดอยู่กับตู้ จะรายงานสถานะของตู้เย็นแต่ละตู้เข้ามาทางสมาร์ทโฟน และคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้าได้ หรือถ้าต้องปรับอุณหภูมิเครื่องจำนวนมากให้เท่ากัน เราสามารถกดบนคอมพิวเตอร์เพียงเล็กน้อย ทุกตู้ก็จะปรับอุณหภูมิพร้อมกัน ช่วยแก้ปัญหาให้องค์กรต่างๆ ได้ง่ายมาก” แฮมเผยโครงการใหม่ที่เราน่าจะได้เห็นกันภายในปีหน้าให้เราฟังก่อนใคร

07

ธุรกิจคือการให้พื้นที่ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ก็เพราะมีผู้คนที่ดี

400 คือจำนวนชีวิตพนักงานของพัฒนาอินเตอร์คูล ทั้งหมดอยู่ร่วมกันภายในสำนักงานและโรงงานแห่งใหม่หน้าตาทันสมัยขนาด 40 ไร่ที่พวกเขาย้ายมาพักพิงเมื่อปีก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้น

“เมื่อก่อนหน้าตาบริษัทเราดูไประดับโลกไม่ไหว คนดูภายนอกแล้วไม่แน่ใจว่าเราจะไปรอดไหม พอมีโอกาสได้ทำบริษัทใหม่ เราจึงเนรมิตให้ดูทันสมัยด้วยต้นทุนที่มี เพื่อทำให้คนรู้สึกน่ามาทำงาน” แฮมเล่า

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด
ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

นอกจากตอบโจทย์คนภายในแล้ว สำนักงานแห่งใหม่นี้ยังมีเปิดสตูดิโอให้คนภายนอกเข้ามาทดลองใช้เครื่องครัวทำอาหารและอบเบเกอรี่ พร้อมให้ถ่ายรูปเพื่อโปรโมตอย่างเสร็จสมบูรณ์ มีคนภายในพร้อมช่วยเหลือ จบครบภายในที่เดียว เรียกได้ว่าวางแผนพื้นที่และการทำงานมาเป็นอย่างดี

ทายาทรุ่นสอง Patana Intercool ผู้ต่อยอดตู้แช่เก๊กฮวยสู่ธุรกิจบริการออกแบบตู้แช่ไม่จำกัด

แต่แน่นอนว่า การตกแต่งพื้นที่สวยงามอาจไม่เพียงพอให้คนมีความสุขในการทำงานได้ แฮมจึงตั้งใจแสดงให้พนักงานรับรู้ถึงความใส่ใจในชีวิตของพวกเขาเสมอมาผ่านการกระทำ

“ทุกครั้งเวลาสัมภาษณ์คนเข้าทำงาน เราถามเสมอว่าเป้าหมายในชีวิตคุณคืออะไร แล้วที่นี่จะตอบโจทย์คุณได้อย่างไร เพราะเราอยากให้ทุกคนทำงานแล้วรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้แสดงความสามารถ มีพื้นที่ให้เขาได้เติบโตและได้รับการชื่นชม เราอยากให้คนจดจำธุรกิจได้ไม่ใช่ด้วยหน้าตาของเรา แต่เป็นผู้คนในบริษัท 

“เพราะบริษัทนี้มีชีวิตขึ้นมาถึงทุกวันนี้ได้จากการช่วยเหลือกันของทุกคน เป็นสิ่งที่เราไม่มีทางทำคนเดียวไม่ได้” แฮมย้ำความเชื่อที่เขามีต่อผู้คนและการสร้างบริษัท

08

เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่คนรุ่นต่อไป

“เชื่อไหม ไม่มีขาลงสำหรับเราตอนทำธุรกิจนี้เลยนะ” แฮมตอบ เมื่อเราถามว่าเขามีช่วงเวลาทุกข์ใจบ้างหรือเปล่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ทำงานมาในฐานะทายาทรุ่นสอง

“อาจเป็นเพราะเราเห็นพ่อเป็นตัวอย่าง พ่อขยัน อดทน ทำงาน เวลามีแรงกดดัน พ่อจะรีบปล่อยวางและทำต่อทันที เราก็ตั้งใจจะเป็นแบบนั้นเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนอื่นด้วย เหนื่อยหรือเครียดมีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรารู้เสมอว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร” แฮมเล่า พร้อมบอกว่าถึงทุกวันนี้คุณพ่อไม่ได้ชมเชยตามธรรมชาติของครอบครัวคนจีน แต่เขาได้พิสูจน์ตัวเองด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี และนำพาบริษัทให้เติบโตจนคุณพ่อไว้วางใจ

09

ความภาคภูมิใจของคุณพ่อ

ก่อนเราแยกจาก คุณคิมในวัย 63 ปีเดินกลับเข้ามาในบริษัทหลังติดต่องานกับลูกค้าเสร็จพอดี ทำให้เราได้มีโอกาสสนทนากับบุคคลต้นแบบตัวจริงที่แฮมเอ่ยถึงมาตลอด

“ผมสนุกกับงานนี้มาก ยังเคยบอกแฮมเลยว่าไม่อยากเกษียณ เพราะอาชีพนี้ไม่ธรรมดา” คุณพ่อต้อนรับเรา โดยเล่าให้ฟังว่างานนี้มีความหมายสำหรับเขาอย่างไร

แฮม-เอกพงษ์ ตั้งสิริมานะกุล กรรมการผู้จัดการและทายาทรุ่นสองของพัฒนาอินเตอร์คูลทันที

“อาชีพนี้ได้ผลิตของที่ทำให้คนสร้างอาชีพ จะเปิดห้าง เปิดร้านอาหาร สำนักงาน ต่างต้องมีตู้แช่ทั้งนั้น แต่คนไทยไม่ค่อยผลิตให้ได้คุณภาพดีเท่าไหร่หรือทำแล้วไปไม่รอด เมื่อก่อนคนเลยต้องไปซื้อของต่างประเทศมาใช้ เราเห็นอย่างนั้นก็ประกาศเลยว่าจะทำตู้แช่คุณภาพดี หน้าตาทันสมัย ราคาถูก ส่งไปขายต่างประเทศให้ได้ นั่นถือเป็นความภาคภูมิใจของเรา” คุณพ่อเล่าอย่างยิ้มแย้มเหมือนชื่นชมรุ่นสองไปในตัว ทำให้เราเข้าใจทันทีว่าเป้าหมายและความเชื่อของแฮมได้รับอิทธิพลมาจากใคร

สุดท้าย คุณคิมฝากบทเรียนจากประสบการณ์ทำธุรกิจของเขา ที่พบเจอปัญหาความเหน็ดเหนื่อยมามากมายตั้งแต่เป็นธุรกิจห้องแถวสองคูหา แต่ยังคงหลงรักการทำงานอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

เป็นประโยคสั้นๆ ที่ทรงพลัง

“คุณจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องใจรักและสู้เท่านั้น คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ต่อสู้มาเยอะมาก จะมีวันที่เราเหนื่อย ขอให้ลุยต่อ เมื่อคุณก้าวผ่านไปได้และเจริญก้าวหน้า คุณจะภูมิใจและมีความสุขกับตัวเอง”


พัฒนาอินเตอร์คูล (พ.ศ. 2523)

ครอบครัวของแฮมเริ่มสร้างรากฐานทางธุรกิจจากคุณปู่ที่นั่งเรือสำเภาจากจีน ย้ายถิ่นฐานมาทำงานรับจ้างทั่วไปในประเทศไทย ก่อนที่รุ่นคุณพ่อจะพยายามหล่อเลี้ยงชีวิตตัวเอง ด้วยการเปิดธุรกิจผลิตตู้เก๊กฮวยสเตนเลสและตู้เขียงหมูที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น โดยแรกเริ่มใช้ชื่อว่า ‘พัฒนาเครื่องเย็นไทย’ 

เดิมคุณพ่อไม่ได้คาดหวังอะไรนอกเหนือกว่าการเลี้ยงชีพให้อยู่รอด แต่ปรากฏว่าธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี จึงค่อยๆ ขยายโรงงานและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘พัฒนาอินเตอร์คูล’ เพื่อให้ดูเป็นสากลมากขึ้น เป็นธุรกิจรายแรกๆ ที่นำคำว่า ‘อินเตอร์คูล’ มาใช้ในชื่อ ต่อมาได้รับการต่อยอดให้สอดคล้องกับยุคสมัยในรุ่นของแฮม จนเป็นธุรกิจผลิตและออกแบบตู้แช่เย็นครบวงจรที่ครองตลาดใหญ่ในไทย และมีแบรนด์ต่างชาติมากมายเข้ามาร่วมทำงาน ด้วยความไว้ใจในคุณภาพและบริการที่ดีตลอด 40 ปีที่ผ่านมา

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน