พสุธา แปลว่า ผืนดิน 

ธารา แปลว่า ผืนน้ำ

‘พสุธารา’ เรียกความสนใจจากเราตั้งแต่ได้ยินชื่อ มันเป็นชื่อที่ทั้งเพราะและมีความหมายชวนให้จินตนาการถึงคนที่พอใจในชีวิตเรียบง่ายตามวิถีธรรมชาติ อันเป็นความหรูหรารูปแบบใหม่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้แบบไร้ขีดจำกัด สำหรับวงการการทำแบรนดิ้ง ถือว่าน่าอิจฉาความเก่งในการทำให้คนตกหลุมรักได้ตั้งแต่ยังไม่รู้จักกัน  

เมื่อตกหลุมรักแล้ว การนัดพบกันจึงเป็นเป้าหมายถัดมา

บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา

เรานัดพบกับ บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์พสุธารา ในบ่ายวันหนึ่งซึ่งเป็นช่วงที่เขาขนทีมงานและข้าวของจากสวนผึ้งเข้ากรุงเทพฯ มาเปิดป๊อปอัพสโตร์ เพื่อชวนผู้คนให้รู้จักความรื่นรมย์แบบธรรมชาติที่เขาหลงใหล ผ่านผลิตภัณฑ์อาหารของพสุธารา 

บาสดูไม่ใช่นักธุรกิจแบบที่เราจินตนาการ เขามีทีท่าสบายๆ ในเสื้อเชิ้ตลวดลายเก๋ๆ เรื่องที่คุยกันก็มีแต่เรื่องโปรเจกต์สนุกๆ และสิ่งที่เขาไปเรียนรู้มา มากกว่ากลยุทธ์ทางธุรกิจในการทำกำไร ว่ากันตรงๆ เขาดูเป็นนักเดินทางมากกว่านักธุรกิจ

“ผมคิดว่าโลกนี้เป็นสนามเด็กเล่น มันมีเรื่องน่าสนใจเยอะแยะเต็มไปหมด” บาสบอกเราพร้อมยิ้มกว้าง เหมือนแดดยามเช้าที่สวนผึ้ง

พสุธารา แบรนด์ไทยที่ชวนให้ผู้คนดื่มด่ำคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรีและสวนผึ้งด้วยการกิน

พสุธาราเป็นแบรนด์เล็กๆ ที่สนใจเรื่องใหญ่ๆ อย่างการมีชีวิตบนโลกนี้อย่างมีความสุข และการชื่นชมความละเอียดลออของธรรมชาติผ่านการกินอาหารดีๆ แล้วยังห่วงไปถึงการดูแลผืนดิน ผืนน้ำ และปราชญ์แห่งชีวิต เพื่อส่งต่อโลกใบนี้ให้แก่ลูกหลานในอนาคต

“ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติร่วมสมัยที่ถ่ายทอดความงามและคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรี” เป็นคำนิยามบนการ์ดแนะนำตัว พิมพ์ด้วยหมึกธรรมชาติ ที่บาสเอาไว้แนะนำพสุธารากับใครๆ และเรื่องราวด้านล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่มาที่ไปและแนวคิดจากดินและน้ำในการทำธุรกิจแบบประนีประนอมต่อโลกที่เขาเล่าให้เราฟัง

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

บาสเล่าว่า แบรนด์นี้เกิดจากแรงบันดาลใจที่ใช้ธรรมชาติดูแลตัวเอง และแบ่งปันให้คนใกล้ตัว แล้วก็เลยเถิดมาเป็นการอยากผลิตอาหารดีๆ ด้วยวิธีการที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ให้ตัวเองและคนรุ่นหลัง

ด้วยความเป็นคนที่รักจะอยู่กับธรรมชาติมาแต่ไหนแต่ไร ธุรกิจนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นกิจการในฝันที่เขาได้ใช้ทั้งพลังสร้างสรรค์และทุกความรู้ที่เขาเก็บเกี่ยวจากทุกเรื่องราวในชีวิต

บาสเรียนจบปริญญาตรีจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบมากที่สุดแต่เขาก็เรียนจนจบ แล้วก็ได้ทดลองทำงานในตำแหน่งเซลส์ขายยา ที่ถึงจะไม่ใช่ความฝันของเขาแต่เขาก็รับผิดชอบอย่างมืออาชีพ

บาสเล่าว่า “การเรียนสัตวแพทย์ทำให้รู้จักเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบครอบคลุม และการเป็นเซลส์ก็ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจ เพิ่งรู้นี่แหละว่าอะไรที่ทำมาถึงจะดูไม่ตรงสาย แต่มันก็ให้ประสบการณ์เรา” 

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ความสนใจเรื่องของธรรมชาติทำให้บาสไปออกค่ายร่วมกับชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจเรื่องของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่พฤติกรรมและจิตสำนึก ที่ค่ายนี้เอง ทำให้เขาได้รู้จักกับวลี ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’

“ตอนเด็กๆ เราก็เข้าใจคำนี้แค่ในบริบทของสิ่งแวดล้อม แต่พอโตขึ้นจึงได้เข้าใจว่ามันคือการกระทำและผลของการกระทำ ไม่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไร มันก็ยังคงมีผลกับเรื่องอื่นๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” บาสเล่าถึงความหมายที่วลีนี้มีต่อเขา อาจจะเป็นคำที่ใครก็ไม่รู้พูดขึ้นมาในค่าย แต่มันได้ทิ้งละอองความหมายไว้ในใจของบาส ทำให้เขามีทัศนคติที่คิดถึงผู้อื่นเสมอ และยังเป็นแนวคิดในการทำเรื่องต่างๆ ของพสุธารามาจนถึงทุกวันนี้

บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา
พสุธารา แบรนด์ไทยที่ชวนให้ผู้คนดื่มด่ำคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรีและสวนผึ้งด้วยการกิน

สัตวแพทย์ที่หันมาทำการเกษตร

พสุธาราปลูกเลมอนกับเคลเป็นผลผลิตเพื่อขาย และปลูกผักเพื่อกินบ้างแจกบ้าง ส่วนโรสแมรี่ ปลูกตามฤดูกาลเพื่อเอามาสกัดน้ำมัน การดูแลพืชพันธุ์ต่างๆ ในไร่ของชายหนุ่มผู้ไม่เคยเป็นเกษตรกรมาก่อนอย่างบาสก็อาศัยการหาข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และนำมาต่อยอดทำความเข้าใจตามแบบที่ตัวเองรู้ โชคดีที่บาสได้เรียนวิชาการดูแลสิ่งมีชีวิตมาก่อน

“แม้จะรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเป็นสัตวแพทย์ แต่การเรียนสัตวแพทย์ก็เป็นประโยชน์กับการทำธุรกิจนี้ เพราะได้เรียนชีววิทยาแบบครบองค์ ทั้งแมลง เซลล์ เคมี ยา สรีระวิทยา ก็เรียนมาแล้ว เขาพูดอะไรมาเราก็ทำความเข้าใจและเอาไปต่อยอด เช่นเปรียบเทียบว่าแปลงผักเหมือนฟาร์มหมูตรงที่ผลิตเร็วๆ ตัดเร็วๆ ขาย รอบการเก็บเกี่ยวต้องเป๊ะ แต่เลมอนจะเหมือนฟาร์มวัว ต้องประคบประหงมแม่พันธ์ุให้มีลูก ฉะนั้น การจัดการจะไม่เหมือนกัน” บาสเล่าให้ฟังอย่างสนุกสนาน ใครจะเชื่อว่าเรียนสัตว์แพทย์มาปลูกผักขายก็ได้

ทำเท่าที่ไหว

แม้จะอยู่เคียงข้างคุณแม่มาตั้งแต่วันแรกที่คุณแม่เริ่มทำแบรนด์พสุธาราเมื่อ 3 ปีก่อน แต่บาสเพิ่งจะได้รับบทบาทในการบริหารแบรนด์เต็มตัวเมื่อต้นปีมานี้เอง

บาสเล่าให้ฟังว่า “ความกดดันก่อนหน้านี้คือพยายามหากำไรให้ได้มากที่สุด เพราะธุรกิจแบบนี้มันไม่ได้เงินเยอะ คิดอยู่ตลอดว่าทำงานบริษัทได้เงินเยอะกว่า” 

เมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลแบรนด์เต็มตัว บาสจึงเริ่มแต่งเนื้อแต่งตัวให้พสุธาราใหม่ ผ่านความเชื่อและความตั้งใจใหม่ๆ ของบาส คืออยากทำอะไรให้เรียบง่าย มีเท่าไหนก็ทำเท่านั้น

“ทุกวันนี้ที่ทำคือ ทำงานเท่าที่ไหว จะไม่สร้างอะไรขึ้นใหม่ แต่ทำจากของเดิมที่มีให้ดีที่สุด อย่างบริการที่พัก จริงๆ มีทั้งหมดสิบสองหลัง แต่เราเลือกเปิดรับแค่หกหลัง เพื่อที่จะบริการคนที่มาพักด้วยอาหาร บรรยากาศ และการบริการ ที่ดีที่สุด เราเชื่อว่าเมื่อเราเน้นคุณภาพ ปริมาณก็จะตามมาจากการบอกต่อหรือการมาซ้ำเอง”

หลักการคือปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างธรรมชาติ และเดินเคียงคู่ไปกับธรรมชาติ

พสุธารา แบรนด์ไทยที่ชวนให้ผู้คนดื่มด่ำคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรีและสวนผึ้งด้วยการกิน
พสุธารา แบรนด์ไทยที่ชวนให้ผู้คนดื่มด่ำคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรีและสวนผึ้งด้วยการกิน
พสุธารา แบรนด์ไทยที่ชวนให้ผู้คนดื่มด่ำคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรีและสวนผึ้งด้วยการกิน

“ตอนแขกเยอะหรือมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะ ก็เคยมีคนบอกให้ใช้ยาเร่งผลผลิต แต่เราไม่ทำ เพราะถ้าใช้มันก็จะต้องใช้ไปเรื่อยๆ คุณภาพอาจจะไม่ดีเท่าเดิม ดังนั้น เรามีเท่าไหร่เราก็ขายเท่านั้น ที่ไร่มีต้นเลมอนหนึ่งพันต้น ดูแลดีๆ ได้แค่หกร้อยต้น อีกสี่ร้อยต้นก็ต้องฝากเทวดาช่วยดูแล” 

บาสเชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เขายืดระยะธุรกิจ ความฝัน และโลก ให้น่าอยู่ไปด้วยกันยาวๆ

ชิมและชมสวนผึ้ง

คงมีน้อยคนที่รู้ว่าจริงๆ แล้วอำเภอสวนผึ้งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ดีมาก เพราะอยู่ตรงแนวเทือกเขาตะนาวศรีที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีภูมิประเทศที่มีทั้งแม่น้ำ ทุ่งหญ้า และเทือกเขา 

ความดีงามเหล่านี้จะสื่อสารออกมาด้วยภาพหรือบทกวี คงจะทำให้คนดื่มด่ำได้ในระดับหนึ่ง แต่สำหรับบาส วิธีการที่จะทำให้คนดื่มด่ำกับความเป็นสวนผึ้ง ไม่มีอะไรดีไปกว่าการกินเข้าไป

“ที่ทำพสุธาราก็เพราะอยากจะนำเสนอว่าสวนผึ้งเป็นพื้นที่ที่ดี ผ่านอาหารจากธรรมชาติของที่นี่ ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก น้ำ แดด ดิน ฝน แมลง ทุกอย่างมีผลกระทบต่อผลผลิตหมดเลย เราเลยตั้งใจว่ารสชาติของอาหารจะต้องสะท้อนรสชาติดั้งเดิมและคงคุณค่าของวัตถุดิบนั้นๆ เอาไว้ให้ได้มากที่สุด”

พสุธารา แบรนด์ไทยที่ชวนให้ผู้คนดื่มด่ำคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรีและสวนผึ้งด้วยการกิน

บาสเลือกใช้ส่วนประกอบจากพืชในการแปรรูปเพื่อให้อาหารมีสารเคมีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้คนกินเข้าไปแล้วได้รับรสชาติจริงๆ ของวัตถุดิบ แม้จะต้องผ่านการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ได้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่ลงตัว แต่บาสก็ทุ่มเทกับมัน เพราะเขาเชื่อว่ามันจะดีต่อทั้งธรรมชาติและคนกิน 

พสุธารานำเสนอรสชาติของสวนผึ้งผ่านผลิตภัณฑ์ที่วางขายตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ไปจนถึงร้านค้าอิสระ แต่ถ้าใครได้ไปเยือน Bed & Breakfast ที่ไร่ของพสุธารา ก็จะยิ่งได้รสชาติที่ว่าแบบเต็มลิ้น เพราะจะได้ฟังเรื่องราวของวัตถุดิบเหล่านี้ผ่านทีมงานที่ทั้งรักและหลงใหลในความเป็นสวนผึ้ง พร้อมๆ กับบรรยากาศดีๆ อันเป็นที่มาของรสชาติทั้งหมด 

พสุธารา แบรนด์ไทยที่ชวนให้ผู้คนดื่มด่ำคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรีและสวนผึ้งด้วยการกิน

ผลิตภัณฑ์ไฮไลต์ของพสุธาราที่จะหากินได้จากที่ไร่เท่านั้นก็คือ วุ้นผลไม้รสชาติต่างๆ ที่ล้วนแสดงรสชาติและตัวตนอย่างตรงไปตรงมา บาสเล่าให้เราฟังว่า ที่เขาเลือกเอาวุ้นมาสื่อสารรสชาติที่แท้จริง เพราะวุ้นเป็นผลผลิตจากธรรมชาติที่ไม่รบกวนกลิ่น สี และรส ของวัตถุดิบ มันเป็นมิตรและกินง่าย 

พสุธารา แบรนด์ไทยที่ชวนให้ผู้คนดื่มด่ำคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรีและสวนผึ้งด้วยการกิน

ความพิเศษสุดๆ ของวุ้นพสุธารา คือการมิกซ์แอนด์แมตช์รสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบเอาไว้ด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ และการนำเสนอที่สวยงามผ่านสีสันและชื่อเรียกเพราะๆ เช่น วุ้นน้ำตาลมะพร้าวกินกับมะพร้าวขูดที่เรียกว่า Land Legacy วุ้นฝรั่งที่โรยหน้าด้วยเคลชื่อ Green Valley วุ้นเลมอนผสมน้ำผึ้งป่าที่โปะหน้าด้วยแอปเปิ้ลเขียวและใบมินต์ เรียกว่า Can we grow lemons? แล้วก็ยังมีอีก 4 รสชาติ ที่ทั้งสวยและอร่อยแบบไร้สารปรุงแต่ง

ไอศครีมเลมอนที่พสุธาราก็ไม่เหมือนใคร บาสเล่าว่า “ผมตั้งใจเก็บรสขมของเลมอนไว้ ไม่เอาน้ำตาลมากลบ อยากให้เลมอนได้แสดงรสชาติของมันจริงๆ” ความคิดนี้ของบาสจะต้องทำให้เลมอนไร่พสุธาราภูมิใจแน่ที่ได้รับเกียรติขนาดนี้

พสุธารา แบรนด์ไทยที่ชวนให้ผู้คนดื่มด่ำคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรีและสวนผึ้งด้วยการกิน

นอกจากเรื่องอาหารแล้ว บาสก็ยังจัดกิจกรรมพาคนไปรู้จักสวนผึ้งทุกวันเสาร์ตอน 4 โมงเย็น โดยจัดเป็นกิจกรรมบริการแก่แขกที่มาพักที่ Bed & Breakfast แบบไม่คิดค่าใช้จ่าย

“อยากให้คนรู้ว่าสวนผึ้งไม่ได้มีแค่แกะ นอกจากจะได้พักในที่บรรยากาศดีๆ กินอาหารอร่อยๆ ที่ดีต่อสุขภาพแล้ว เรายังมีกิจกรรมพาแขกที่มาพักไปรู้จักกับสวนผึ้งแบบที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักมาก่อน” 

กิจกรรมจะสลับๆ กันอยู่ใน 4 เรื่องคือ ประวัติศาสตร์สวนผึ้ง ระบบนิเวศของสวนผึ้ง วัฒนธรรม และอาหาร ด้วยคอนเซปต์ที่เป็นการพาคนไปเรียนรู้ บาสจึงชวนทุกคนเดินทางด้วยรถโรงเรียน ซึ่งเป็นรถโรงเรียนจริงๆ ของโรงเรียนใกล้ๆ พสุธารา โดยไม่บอกจุดหมายปลายทาง และทุกครั้งเขาจะชวนเด็กในโรงเรียน 1 คนมาเป็นผู้ช่วยด้วย

บาสเล่าว่า “ความตั้งใจเพิ่มเติมคืออยากให้เด็กๆ ที่นั่นได้รู้จักและรักบ้านตัวเอง อยากให้เขารู้ว่าสวนผึ้งมีอะไรหลากหลาย และมีความเป็นไปได้มากมายสำหรับเขา”

ภาพ : ธาวัน อุทัยเจริญพงษ์
ภาพ : ธาวัน อุทัยเจริญพงษ์

สร้างโลกที่เราอยากจะอยู่

ปรัชญาการทำธุรกิจของบาสคือ “เราไม่บ่น เราสร้าง”

แต่จะสร้างธุรกิจที่มีทั้งสินค้าและบริการแบบนี้ด้วยตัวคนเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ เราเลยถามบาสถึงวิธีการสร้างทีมงานที่ฝันถึงโลกใบเดียวกันกับเขา เขาบอกว่า “เราทำได้แค่เป็นตัวอย่าง แล้วก็ให้แรงบันดาลใจ เราไปบังคับความเชื่อใครไม่ได้หรอก” 

บาสยกตัวอย่างให้ฟังว่าคุณแม่ของเขาคือแรงบันดาลใจชั้นดีของทีมงานพสุธารา

“พอทีมงานเห็นว่าการกินของแม่ทำให้ตอนนี้แม่ก็ยังสวย เขาจึงเชื่อว่าอาหารดีๆ มีผลต่อชีวิตจริงๆ และอยากจะทำตาม หรืออย่างคนทำอาหารที่ก่อนหน้านี้ถ้าไม่ใส่ผงชูรสจะไม่มั่นใจ ตอนนี้ก็มั่นใจมากขึ้น เพราะคนบอกว่าอาหารของเขาอร่อย เราสนับสนุนเรื่องพวกนี้ ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีความหมาย ให้เขารู้สึกภูมิใจในตัวเอง”

บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา

Lesson Learned

ไม่ว่าคุณจะทำหรือไม่ทำอะไรในวันนี้ มันจะมีผลตามมา เหตุการณ์ต่างๆ เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง มันอาจจะไม่ส่งผลวันนี้แต่มันอาจมีผลในภายภาคหน้า ไม่ว่าจะกับคนใกล้ตัวคุณ ที่ที่คุณอยู่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ดังนั้น เมื่อเกิดมาแล้วให้ตั้งใจใช้ชีวิต อย่ามักง่าย มองอะไรให้รอบ อะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะส่งผลถึงสิ่งใหญ่ๆ ได้

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ