-1-

“โต๊ะตัวนั้นไงที่น้องจากอักษรฯ มาสั่งกาแฟแล้วนั่งอ่านหนังสือทุกวัน จนสอบได้ทุนปริญญาเอกอย่างตั้งใจ ตอนนี้น้องเขากลายเป็นอาจารย์สอนอยู่ต่างแดน”

“ชอบภาพถ่ายชุดนั้นหรือครับ นั่นเป็นงานสมัยที่ยังใช้ฟิล์มกันอยู่ของพี่นักเขียนคนหนึ่ง แกมอบภาพชุดนี้ไว้ตอนที่มาแสดงงานที่ร้านสมัยอยู่ถนนพระอาทิตย์”

“หนังสือที่มอบให้นักอ่านฟรี ๆ อยู่เสมอนั้น ต้องขอบคุณคุณหมอนักอ่านคนหนึ่ง แกมักซื้อหนังสือแล้วเอากลับไปส่วนเดียว ที่เหลือทิ้งไว้เพื่อให้ร้านยื่นให้ใครก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสม”

“ตรงบันไดใกล้เคาน์เตอร์นี่แหละที่ได้เช็ดน้ำตาให้กัน นี่มักเป็นที่ประจำของคนที่มาพร้อมความในใจ หนุ่มเจ้าของร้านกาแฟบางคนเคยนั่งลงแล้วเผยถึงรักที่เปลี่ยนไป พูด ๆ น้ำตาเขาก็ไหล นั่นทำให้ทุกอย่างเงียบหมด วันนั้นโยเอ่ยขึ้นว่า ทำไมเวลาผู้ชายเจ็บ มันดูเจ็บจัง”

“แต่เคยมีคนขอแต่งงานกันในร้านด้วย ที่แน่ ๆ มีแล้ว 2 คู่ ‘พี่ช่วยดูลูกค้าคนอื่นให้หน่อยนะครับ โล่ง ๆ เมื่อไรพี่รีบให้สัญญาณผมนะ’ ฝ่ายชายมักขอความช่วยเหลือ ลน ๆ หน่อยแต่ก็น่ารักดี”

เมื่อ ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ เดินทางมาร่วม 20 ปี มันเลยพอมีเรื่องเล่าอยู่บ้าง เป็นบทบาทที่ไม่เคยคาดคิด แต่คงเพราะเริ่มอยู่มานาน หลายวาระและโอกาสเลยได้รับไมตรีให้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับร้านหนังสือ และนั่นเอง เวลาเล่าสู่กันฟังว่า ‘ร้านหนังสือ’ ทำได้มากกว่าการเป็นเพียงสถานที่ซื้อขายหนังสือ คงไม่มีอะไรชัดเจนเท่าการยกเหตุการณ์ข้างต้นขึ้นมากล่าว

“ไม่มีใครอ่านหนังสือกันแล้ว ธุรกิจร้านหนังสือไม่มีอนาคตแล้วไม่ใช่หรือ” นี่เป็นอีกประเด็นที่หลายปีที่ผ่านมามักโดนถามให้ตอบ สิ่งที่คิดอยู่ในใจคือ คำถามนี้หากถามคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือ ก็จะได้ข้อสรุปว่า ไม่มีใครอ่านหนังสือกันแล้ว ทว่าถ้าถามคนที่ยังอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่กับร้านหนังสือ คำตอบจะเป็นอีกอย่าง สิ่งที่ตอบไปคือ “ร้านหนังสือยังอยู่ได้ครับ เพียงแต่การอยู่ให้ได้นั้นมีรายละเอียดสักหน่อย”

ซึ่งก็เป็น ‘รายละเอียดสักหน่อย’ นี่แหละที่ไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนกันในรายละเอียดสักเท่าไร

ทั้งที่สิ่งนี้สำคัญมาก สำคัญจนถึงขั้นว่า หากขาดไป ร้านคงไม่ก่อเกิดและยืนอยู่ได้อย่างแน่นอน

บันทึกถึง คน รัก หนังสือ ตลอด 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง’ ก่อนจะย้ายร้านปลายปีนี้
บันทึกถึง คน รัก หนังสือ ตลอด 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง’ ก่อนจะย้ายร้านปลายปีนี้

-2-
เขาไม่ได้ฐานะดีมาก่อน!

แปลกใจและสะท้อนอะไรได้มาก สมัยอยู่ถนนพระอาทิตย์ เมื่อร้านหนังสือเดินทางเปิดมา 3 – 4 ปี หนุ่มออกจากงานประจำมาทำร้านอย่างเดียว น้องลูกค้าคนหนึ่งมักกล่าวขึ้นว่า

“เพื่อน ๆ ของผมคิดว่าพี่ฐานะดีอยู่แล้วทั้งนั้น จึงทำร้านอย่างนี้ได้”

ประโยคนั้นสะกดให้หนุ่มนิ่งไปทุกครั้ง ถึงวันนี้ก็ยังฝังใจอยู่ ต้องฐานะดีมาก่อนเท่านั้นหรือจึงเป็นเจ้าของร้านหนังสือได้ ถ้าอย่างนั้นมันควรจะมีร้านหนังสือกันมากกว่านี้ไหม เนื่องจากมหานครอย่างกรุงเทพฯ ดูจะมีคนฐานะดีอยู่ไม่น้อย ถ้อยคำของน้องลูกค้ามีนัยชวนให้คิดได้มากมาย

หนุ่มเริ่มต้นทำร้านหนังสือตอนอายุย่าง 26 ทว่าฟังแล้วแสนจะโบราณ เมื่อในวัยเด็กนั้น เขาเกิดทันยุคที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

บนเส้นทางสู่ปักษ์ใต้ พอเลยเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชไป มีทางหลวงสายหลัก 2 เส้นโอบกอดทะเลสาบสงขลา เส้นขวาวิ่งผ่านจังหวัดพัทลุงแล้วเข้าอำเภอหาดใหญ่ เส้นซ้ายวิ่งผ่านอำเภอหัวไทร อำเภอระโนด และอำเภอสทิงพระ ถิ่นเกิดของเขาอยู่บริเวณนี้

คาบสมุทรสทิงพระเมื่อ 40 กว่าปีก่อนยังมีไฟฟ้าใช้กันไม่ทั่ว หนุ่มเลยมีประสบการณ์ปั่นจักรยานไปซื้อน้ำมันก๊าดจากร้านชำที่หัวถนนมาใส่ตะเกียง การหุงต้มนั้นใช้เตาถ่าน ซึ่งอาศัยรองเท้าฟองน้ำเก่า ๆ หรือยางในของล้อรถจักรยานเป็นเชื้อจุดไฟ กลางคืนก็นอนฟัง สังข์ทอง จากวิทยุ หนังสือนั้นไม่มีเลย จะมีก็แต่หนังสือเรียน ซึ่งสมัยนั้นโรงเรียนให้ยืมเรียน

ครั้นโลกเปลี่ยน จากบ้านที่ไม่มีหนังสือ หนุ่มกลายเป็นเด็กมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัด จากนั้นก็ถึงมหาวิทยาลัยย่านท่าพระจันทร์ ถึงองค์กรระหว่างประเทศ อันเปิดโอกาสให้เขาได้เห็นอีกหลายประเทศ

บันทึกถึง คน รัก หนังสือ ตลอด 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง’ ก่อนจะย้ายร้านปลายปีนี้

เพราะเริ่มต้นไกลสักหน่อย สมัยมัธยมหนุ่มถึงกับต้องเอาเท้าแช่น้ำในกะละมัง เพื่อไม่ให้หลับขณะอ่านหนังสือสอบ เมื่ออ่านแล้วได้ผลมันได้บ่มนิสัยรักการอ่านให้เขา มันทำให้เขาเห็นพลังอย่างเป็นรูปธรรมของการอ่าน เห็นว่าหนังสือทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้

โลกหนังสือของเขาเริ่มขยายไปกว่าแค่อ่านหนังสือเรียนเมื่ออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยมีประวัติศาสตร์ของสถานที่และประวัติศาสตร์มีชีวิตหลายคนเป็นตัวเร่ง หนำซ้ำเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน ได้ไปเห็นบ้านเมืองทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เขายิ่งเห็นความสำคัญของหนังสือ

ข้อสรุปของเขาคือ หนังสือเป็นภาชนะบรรจุความรู้ที่ดี เราต่างต้องการความรู้ เมื่อมีความรู้เราจะไม่จนเครื่องมือในการแก้ปัญหา ซึ่งสุดท้ายแล้วจะไม่จนทางเลือกและไม่จนมุมกับชีวิต นี่กลายเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้เกิดร้านหนังสือเดินทาง

เมื่อเริ่มทำร้าน บริบทชีวิตในอดีตมีผลไม่น้อย การชอบอ่านหนังสือทำให้หนุ่มพอรู้ว่า นักเขียนคนนั้นเขียนอะไรมาบ้าง พิมพ์กับสำนักพิมพ์ไหน และควรติดต่อใคร การที่วัยเด็กได้อยู่กับสายฝนและทุ่งหญ้ายังทำให้อยู่กับตัวเองได้ มีความสุขกับความเงียบเป็น ตระหนักว่าฤดูกาลมีเวลาเปลี่ยน ซึ่งช่วยได้ทีเดียวในการรับมือกับเหตุการณ์ในร้านหนังสือแต่ละวัน

ในแง่การจัดการ หนุ่มกับโย (คนใกล้ตัวของหนุ่ม) เริ่มต้นโดยการเอาเงินเก็บบางส่วนที่พอมีจากการทำงานประจำของแต่ละคนมารวมกัน แล้วบริหารจากจุดนั้น ไม่ได้รบกวนใคร เมื่อเรียนจบแล้วก็ไม่ควรทำให้พ่อแม่เดือดร้อนต่อไปแล้ว นั่นคือหนทางที่หนุ่มยึดถือ เขาบอกให้ทางบ้านรู้ว่าเปิดร้านหนังสือ หลังจากออกจากงานประจำมาทำร้านอย่างเดียวแล้วด้วยซ้ำ

หนุ่มออกจากงานประจำมาทำร้านอย่างเดียว เพราะต้องการทุ่มเทกับมันให้ถึงที่สุด ซึ่งอีกด้านหมายความว่า เขาเดิมพันกับมันแล้ว

ทำแล้วต้องรอด ไม่รอดไม่ได้ คือสิ่งที่เขาบอกตัวเอง ไม่เกี่ยวกันเลยว่าฐานะดีหรือไม่ดีมาก่อน

บันทึกถึง คน รัก หนังสือ ตลอด 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง’ ก่อนจะย้ายร้านปลายปีนี้
บันทึกถึง คน รัก หนังสือ ตลอด 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง’ ก่อนจะย้ายร้านปลายปีนี้

-3-
ไม่ง่าย แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้!

การที่ร้านหนังสือเดินทางอยู่มาร่วม 20 ปีนั้น ทำให้ต้องยืนยันว่า ในบริบทธุรกิจหนังสือแบบไทย ๆ และท่ามกลางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ร้านหนังสือโดยเฉพาะ ‘ร้านหนังสืออิสระ’ ยังอยู่ได้

ไม่ง่าย แต่ใช่ว่าจะอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้มีปัจจัยบางอย่าง ที่เป็นทั้งบททดสอบและองค์ประกอบให้ต้องคำนึง

ในเชิงธุรกิจ การทำให้นักอ่านเห็นภาพชัดว่า “เวลานึกถึงเราแล้วเขานึกถึงอะไร” ถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยภาพที่ว่ายังต้องเป็นสิ่งที่เราเป็นจริง ๆ ด้วย

เพราะตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือ ชอบและเห็นประโยชน์ของการเดินทาง ร้านหนังสือเดินทางจึงมีคำว่า ‘หนังสือเดินทาง’ เป็นเส้นเรื่อง ซึ่งนั่นทำให้ง่ายขึ้นในการกำหนดขอบเขตของสิ่งที่อยู่ข้างใน

หนังสือเดินทางในที่นี้ กินความตั้งแต่หนังสือที่กระตุ้นให้เราอยากออกเดินทางไกล หรือลงมือทำอะไรสักอย่าง จากนั้นก็เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลว่าควรไปไหน ไปอย่างไร ส่วนไปมาแล้วอยากรู้เพิ่มว่า ทำไมผู้คนที่นั่นจึงเชื่ออย่างนั้น ทำไมประเทศนั้นจึงมีการศึกษาดี ทำไมประเทศนี้จึงมีความขัดแย้ง ยังมีหนังสืออีกหมวดที่ให้ข้อมูลในเชิงลึก

ทั้งนี้ การเดินทางไม่ได้จำกัดอยู่แค่การไปเที่ยว การเดินทางอยู่กับที่ก็มี การเติบโตจากวัยหนึ่งสู่อีกวัยก็เป็นการเดินทางอย่างหนึ่ง นั่นทำให้ร้านมีตั้งแต่หนังสือเด็ก จนถึงหนังสือเตรียมรับมือกับการเดินจากโลกนี้ไป โดยเรื่องราวเหล่านี้ปรากฏอยู่ได้ทั้งในบทกวี สารคดี และวรรณกรรม ฯลฯ

ในแง่รูปลักษณ์ ร้านอยากให้นักอ่านได้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับหนังสือและการเดินทางจากทุกประสาทสัมผัส ได้ซื้อหนังสือในสภาพแวดล้อมที่มีบุคลิกเฉพาะตัว ทุกอณูของร้านเลยมีอะไรต่ออะไรก็ไม่รู้ตกแต่งอยู่มากมาย และเพื่อให้มาแล้วสบายกันทุกฝ่าย ในร้านจึงมีที่ให้นั่ง มีชากาแฟให้ดื่ม และมีเพลงให้ฟัง หากอยากสนทนากันก็อยู่ข้างล่าง ใครรักสงบก็ไปอ่านเขียนอยู่ชั้นบน

บันทึกถึง คน รัก หนังสือ ตลอด 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง’ ก่อนจะย้ายร้านปลายปีนี้
บันทึกถึง คน รัก หนังสือ ตลอด 20 ปีของ 'ร้านหนังสือเดินทาง’ ก่อนจะย้ายร้านปลายปีนี้

“ยังไม่อยากกลับ นาน ๆ ได้คุยกับคนสักที”

“หนังสือบางเล่มซื้อออนไลน์ก็มี สิ่งเดียวที่ไม่มีคือบรรยากาศ”

“การมีอยู่ของร้านนี้ดีอย่างหนึ่ง คือทำให้รู้ว่าเวลามาย่านนี้แล้วพี่จะเจอกับอะไร”

นี่เป็นเสียงสะท้อนจากนักอ่านบางส่วน เป็นเสียงที่ได้ยินในช่วงโรคระบาด อันเป็นห้วงที่ทุกธุรกิจถูกทดสอบความจำเป็น นักอ่านเหล่านี้ทำให้ร้านไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป แต่ก็นั่นแหละ นี่ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ดี ๆ แล้วได้มา

4 ปีแรกของร้านบนถนนพระอาทิตย์นั้น เป็นช่วงที่ทุกอย่างถูกทดสอบเลยทีเดียว ด้วยต้นทุนที่สูงทำให้ต้องเปิดร้านทุกวัน จันทร์-ศุกร์เมื่อหนุ่มอยู่ร้านคนเดียว บางคราวข้าวเที่ยงก็เน่าเสียเพราะไม่มีเวลากิน ตกค่ำต้องแหวกโต๊ะกาแฟบนชั้นสองแล้วล้มตัวลงนอน เพราะห้องเล็ก ๆ ที่อยู่ด้านหลังถูกข้าวของจองหมดแล้ว บางคืนหลับ ๆ ก็มีแมลงสาบปีนขึ้นใบหน้า ในบริบทเช่นนี้หนุ่มคิดอยู่อย่างเดียวคือ ต้องผ่านไปให้ได้ ซึ่งเขาคงทำไม่ได้เลยหากไม่มีโย

อาจเพราะหนุ่มออกจากงานประจำมาทำร้านอย่างเดียว เขาเลยเป็นเหมือนตัวแทนร้านไปโดยปริยาย ทั้งที่จริงแล้วโยคืออีกครึ่งหนึ่งของเขา

โยคือคนคอยดูแลงานบัญชีและเอกสาร ทั้งยังทำขนมนมเนยช่วงเสาร์-อาทิตย์ และตั้งแต่อยู่ถนนพระอาทิตย์แล้วที่โยทำร้านและทำงานอย่างอื่นไปด้วย

ช่วง 4 ปีแรกโยใช้บ้านราวกับโรงแรม ทุกคืนเมื่อร้านปิดเธอต้องขับรถกลับบ้านที่บางแค ไปถึงพ่อแม่ก็หลับหมดแล้ว เช้ามืดก็ไปทำงานที่ถนนวิทยุ เลิกงานก็มาช่วยร้าน เสาร์-อาทิตย์ก็มาที่ร้าน ช่วงหนึ่งชีวิตแบบนี้ถึงกับทำให้เธอไม่สบาย ที่โรงพยาบาลเมื่อต้องอยู่นิ่ง ๆ 3 – 4 วัน วันหนึ่งโยถามหนุ่มว่า “จะทำร้านไปอีกนานแค่ไหน”

นั่นเป็นช่วงเวลาที่กระอักกระอ่วนมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตหนุ่ม เขานิ่งเงียบ สมองสับสนไปด้วยความคิดว่า หากเราได้ทำในสิ่งที่เรารัก ควรไหมที่จะทำให้คนที่เรารักมาเจ็บป่วยเพราะเรา หรือหากเลิกทำร้าน ในมุมของโยเธอจะรู้สึกอย่างไรนับจากนี้ หากคนที่เธอรักได้ทำในสิ่งที่เขารัก แต่ต้องเลิกทำสิ่งนั้นเพราะเธอ สุดท้ายแล้วหนุ่มตอบไปว่า “ขอพยายามอีกหน่อยได้ไหม”

ต้องขอบคุณโยที่ยังเชื่อมั่น ต้องขอบคุณเธอที่ยังพร้อมเดินไปด้วยกัน

2 ทศวรรษร้านหนังสือเดินทาง - Passport Bookshop พื้นที่ของรอยยิ้ม น้ำตา ความทรงจำของคนมากมาย และ ‘ชีวิต’’ ของ หนุ่ม-โย เจ้าของร้าน

-4-
อาชีพที่ผลิตความสุขได้ทันทีก็มีนะ!

หลังจาก 4 ปีบนถนนพระอาทิตย์ เมื่อร้านได้ย้ายมาอยู่ถนนพระสุเมรุ โดยอยู่มาแล้ว 16 ปี คุณภาพชีวิตดีขึ้นมากมาย

เมื่อต้นทุนการทำร้านที่ถนนพระสุเมรุต่ำลง ร้านเลยมีวันหยุด เมื่อไม่ต้องรีบเปิดร้าน ทุกเช้าหนุ่มกับโยจึงมีเวลาทำมื้อเช้ากินเอง ได้ออกกำลังกาย อยากไปไหนนาน ๆ เมื่อไรก็ได้หากอยากไป ตอนนี้โยไม่ต้องเข้าออฟฟิศแล้ว แม้เธอเปรย ๆ บ้างว่ายังไม่สามารถมีวันหยุดที่แท้จริง แต่ก็ทำงานในเต็นท์ บนหลังช้าง หรือที่ไหนก็ได้ ที่สำคัญ มันทำให้พวกเขาได้อยู่ใกล้กันทุกวัน โยมีหนุ่มเป็นเพื่อนซี้ และหนุ่มก็มีโยเป็นคู่ใจ

ไม่เฉา ไม่เหงา แต่ละวันมีผู้คนและเรื่องราวเข้ามาเสมอ ซึ่งต้องขอบคุณทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ของแวดวงหนังสือ ที่หยิบยื่นความช่วยเหลือและกำลังใจ สื่อที่ให้ความสนใจ และตัวพวกเขาเองที่ไม่ถอดใจไปก่อนตั้งแต่สมัยอยู่ถนนพระอาทิตย์

เมื่อมองย้อนกลับไป ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีนี้ ลูกค้าที่ตามกันมาจากถนนพระอาทิตย์ได้ผูกพันกันมากกว่าแค่เป็นลูกค้าขาประจำ หลายคนก็ห่างหายไปเติบโต ทว่าก็มีลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาแทน แน่นอนว่าคนรักหนังสือเหล่านี้ไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ซึ่งนั่นก็ยืนยันความจริงว่า ร้านหนังสืออาจไม่ได้จำเป็นสำหรับทุกคน ทว่ามิตรไมตรีที่ถ่ายเทให้กันระหว่างคนที่เห็นว่าหนังสือนั้นสำคัญ และเดินเข้าร้านมาจนคุ้นเคยกันยังมีอยู่เหมือนเดิม

นี่เองที่ทำให้คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครเข้าร้านหนังสือกันแล้ว” ไม่จริง

คำกล่าวที่ว่า “ร้านหนังสือไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว” ก็ไม่จริง

“น้องจากอักษรฯ ที่มาสั่งกาแฟแล้วนั่งอ่านหนังสือทุกวัน จนสอบได้ทุนปริญญาเอก ยังกลับมาเยือนโต๊ะตัวโปรดของเธอทุกครั้งที่มาเมืองไทยครับ”

“น้องผู้หญิงอีกคนยังอำตัวเองเล่นว่า หนูมาที่นี่ตั้งแต่มัธยม จนจบมหาวิทยาลัย ทำงานมีลูก มีสามี เลิกกับสามีแล้วหนูก็ยังมาที่นี่”

2 ทศวรรษร้านหนังสือเดินทาง - Passport Bookshop พื้นที่ของรอยยิ้ม น้ำตา ความทรงจำของคนมากมาย และ ‘ชีวิต’’ ของ หนุ่ม-โย เจ้าของร้าน

“3 – 4 ปีก่อน หนุ่มสวิสคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ ADIDAS หลบความวุ่นวายของถนนข้าวสารเข้ามาหาความสงบ นั่นเลยให้เขาลองขนมไทยขณะดื่มกาแฟ จากนั้นไม่นานปรากฏว่า เขาส่งชุดกีฬาพร้อมลูกฟุตบอลที่ใช้ในนัดชิงชนะเลิศ Champions League มาให้หนึ่งลูก”

“พี่ที่ทำร้านอาหารปักษ์ใต้อยู่เชียงใหม่และเป็นเจ้าของ Cookbook เย็บมือเท่ ๆ ก็เพิ่งมาซื้อหนังสือ แกยังชวนว่าหน้าฝนตอนแกไปต่างประเทศ ขึ้นไปอยู่บ้านดินของแกสักเดือนได้นะ บ้านว่าง ๆ อยากให้มีคนมาใช้”

“พี่อีกคนที่เป็นเจ้าของโรงแรมเล็ก ๆ ที่สุโขทัยก็แวะมาอาทิตย์ที่แล้วเอง แกเอาขนมปังอบเองมาฝาก ทั้งยังคะยั้นคะยอเหมือนเคยว่า ควรหาเวลาไปพักกับแกสัก 2 – 3 วัน จากนั้นก็ขับรถไปด้วยกัน แกอยากเจอนักเขียนคนหนึ่งที่ย้ายไปอยู่น่าน”

ในสถานที่เล็ก ๆ อย่างร้านหนังสือนั้นยังมีสิ่งเหล่านี้อยู่ ในแง่หนึ่ง บางทีก็ต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการทำร้านหนังสือแล้ว หากคือการพยายามทำชีวิตให้ดี

และนี่เองที่ปลาย พ.ศ. 2565 แม้อาคารเก่าบนถนนพระสุเมรุที่ร้านตั้งอยู่จะถูกเวนคืน เพื่อเอาไปทำสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ร้านหนังสือเดินทางยังคงเดินทางต่อไป โดยเดินทางไปไหนสักที่หนึ่งในเขตเมืองเก่าของเกาะรัตนโกสินทร์

แต่แน่นอนว่า ยังคงเดินทางต่อไป!

2 ทศวรรษร้านหนังสือเดินทาง - Passport Bookshop พื้นที่ของรอยยิ้ม น้ำตา ความทรงจำของคนมากมาย และ ‘ชีวิต’’ ของ หนุ่ม-โย เจ้าของร้าน

หนังสือแนะนำ

1 ความสุขแห่งชีวิต : The Human Comedy

นักเขียน : William Saroyan 

นักแปล : วิภาดา กิตติโกวิท 

สำนักพิมพ์ : มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม

ราคา : 250 บาท

นี่คือหนังสือที่ทำให้หัวเราะกับร้องไห้สลับกัน เราจะมีภูมิคุ้มกันความทุกข์และมองเห็นความสุขได้ แม้ว่าเงื่อนไขในชีวิตจะไม่พร้อมแค่ไหนก็ตาม

ความสุขแห่งชีวิต : The Human Comedy นักเขียน : William Saroyan 

2 ก้าวเดิน Walking 

นักเขียน : Erling Kagge 

นักแปล : ธันยพร หงษ์ทอง 

สำนักพิมพ์ : OMG

ราคา : 320 บาท

เรื่องราวการเดินจากนักเดินทางที่ทั้งเดินเท้ามามากและอ่านหนังสือมาเยอะ พูดถึงการเดินได้กระชับ ทว่าตื่นตาไปด้วยข้อเท็จจริงที่เราเคยมองผ่าน อ่านแล้วเห็นความจำเป็นของการออกไปเดินให้มาก ก่อนที่วันหนึ่งเราอาจเดินกันไม่ไหว

 ก้าวเดิน Walking นักแปล : ธันยพร หงษ์ทอง 

3 Happy City: เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง

นักเขียน : Charles Montgomery 

นักแปล : พินดา พิสิฐบุตร

สำนักพิมพ์ : broccoli 

ราคา : 390 บาท

สารคดีที่ชี้ให้เห็นว่าเมืองน่าอยู่นั้นทำได้ ใจความหนึ่งของหนังสือบอกว่า หากอยากรู้ว่าเราได้อยู่ในย่านที่คุณภาพชีวิตดีหรือยัง ให้ลองถามตัวเองดูว่า หากเราทำกระเป๋าสตางค์หายจะได้คืนไหม คำตอบที่ได้สะท้อนเมืองได้ทั้งเมือง

Happy City: เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง นักเขียน : Charles Montgomery 

4 สะพรึง : Terror 

นักเขียน : Ferdinand von Schirach 

นักแปล : ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ 

สำนักพิมพ์ : Illuminations Editions 

ราคา : 240 บาท  

เรื่องราวการพิจารณาคดีนักบินรบคนหนึ่งที่ตัดสินใจยิงเครื่องบินพาณิชย์ที่ถูกจี้ทิ้ง เราเอาอะไรมาตัดสินว่าใครควรอยู่ ใครควรตาย และถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร หนังสือเล่มนี้อ่านจบได้ใน 3 ชั่วโมง แต่เหตุการณ์ในเรื่องจะทำให้เราเถียงกับตัวเองจนถึงแก่นไปอีกนานแสนนาน

 สะพรึง : Terror นักเขียน : Ferdinand von Schirach 

5 บัลซัค ชีวิต ความรัก และงาน ของจักรพรรดินักเขียน

นักเขียน : วัลยา วิวัฒน์ศร 

สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ

ราคา : 239 บาท

เรื่องราวของบัลซัค นักเขียนที่ไม่เคยหลงทาง คิดท้อถอย หรือยอมแพ้ในเป้าหมายหลักที่ตนอยากทำ แม้ว่าชีวิตด้านอื่นของเขาไม่ค่อยน่าเอาเยี่ยงอย่างสักเท่าไหร่ก็ตาม อ่านแล้วเข้าใจว่าทำไมเขาจึงได้ฉายาว่าเป็นจักรพรรดินักเขียน

บัลซัค ชีวิต ความรัก และงาน ของจักรพรรดินักเขียน นักเขียน : วัลยา วิวัฒน์ศร 

ร้านหนังสือเดินทาง (Passport Bookshop)

ที่ตั้ง ​: 523 ถนนพระสุเมรุ แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : 12.00 – 18.00 น. ปิดวันจันทร์

โทรศัพท์ : 0 2629 0694

Facebook : ร้านหนังสือเดินทาง – Passport Bookshop

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาร้านหนังสือเป็นแหล่งความรู้สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของ The Cloud และ OKMD

Writer

Avatar

หนุ่ม หนังสือเดินทาง

‘หนุ่ม หนังสือเดินทาง’ เป็นชื่อที่ได้มาจากการทำร้านหนังสือเดินทางของ ‘อำนาจ รัตนมณี’ เขามีความสุขดีกับการอ่านหนังสือ ขายหนังสือ พูดคุยเรื่องร้านหนังสือ และปฏิสัมพันธ์กับคนที่รักหนังสือ

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน