ไม่กี่วันก่อน เราได้รับข่าวว่าบริษัทออกแบบภูมิทัศน์และเมืองสัญชาติไทยที่ออกแบบงานเจ๋งๆ มาแล้วมากมายอย่าง Shma เพิ่งชนะการประกวดแบบ โครงการ Pasir Ris Central ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูย่านชานเมืองริมทะเลของประเทศสิงคโปร์

โดยตอนนี้รัฐบาลสิงคโปร์กำลังดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ล่าสุด ที่พยายามกระจายการพัฒนาและความเจริญออกไปยังพื้นที่รอบนอกเมืองมากขึ้น

หลังจากดำเนินการพัฒนาพื้นที่ศูนย์กลาง ย่านธุรกิจ ไปจนถึงย่านท่องเที่ยว จนประสบความสำเร็จไร้ข้อกังขาในความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอันดับหนึ่งในอาเซียน ที่ทั้งเศรษฐกิจ เมือง และต้นไม้ เติบโตไปพร้อมกันอย่างร่วมมือร่วมใจ

นอกจากงานออกแบบล้ำๆ แล้ว ความเจ๋งของ Pasir Ris Central คือการเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนที่มอบพื้นที่สาธารณะคุณภาพดี พื้นที่สีเขียวที่สอดคล้องกับระบบนิเวศพื้นถิ่น และเชื่อมโยงการสัญจรด้วยการเดินและจักรยานให้ชุมชนโดยรอบ

โครงการ Pasir Ris Central จึงเป็นหนึ่งในหลายๆ พื้นที่ชานเมืองที่ตอนนี้รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเริ่มดำเนินการพัฒนาฟื้นฟู เพื่อคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปที่เรียกว่าดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

เกริ่นมาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า ชานเมืองริมทะเลของสิงคโปร์จะหน้าตาเป็นยังไงและโครงการ Pasir Ris Central นี้ซ่อนแนวคิดเท่ๆ อะไรไว้อีกบ้าง คำตอบอยู่ในบทสนทนากับ ประพันธ์ นภาวงศ์ดี ภูมิสถาปนิกแห่ง Shma ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบสุดล้ำโครงการนี้

01

แผนพัฒนาที่มาจากข้อคิดเห็นประชาชน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองของสิงคโปร์เมื่อ 10 ปีก่อนจะเน้นไปที่ภูมิภาคส่วนกลางของประเทศ นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ จึงได้เห็นแลนด์มาร์กสุดเท่อย่าง Marina Bay Sand ไปจนถึง Garden by the Bay ตั้งเด่นอยู่อย่างสง่างาม

ประพันธ์เริ่มอธิบาย “แน่นอนว่าการพัฒนาศูนย์กลางดึงดูดการลงทุนจากนานาประเทศและนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลไปเยี่ยมชม แต่ชาวสิงคโปร์เองไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์จากการพัฒนาเหล่านั้นโดยตรง เพราะที่ดินในย่านกลางเมืองนั้นแพงระยับ คนที่สามารถจ่ายเพื่ออาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติเสียมากกว่า

“เมื่อได้ข้อคิดเห็นจากประชาชน ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงปรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้ Nation Wide มากขึ้น โดยกระจายความเจริญออกไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ของเกาะ”

02

เมืองที่คนรวยโหนรถไฟฟ้า

“แผนล่าสุดของสิงคโปร์คือกำลังจะสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้า MRT (Mass Rapid Transit) เพิ่มครอบคลุมทั่วประเทศ ให้ทุกบ้านสามารถเดินมาถึงระบบขนส่งมวลชนได้ และไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนในประเทศก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาถึงกลางเมืองสิงคโปร์ได้ใน 45 นาที”

หน่วยงานพัฒนาเมืองที่สำคัญของสิงคโปร์คือ กระทรวงพัฒนาแห่งชาติ (Ministry of National Development หรือ MND) เป็นกระทรวงสำคัญของรัฐบาลในการรับผิดชอบต่อการใช้ที่ดินระดับชาติ โดยมีหน่วยงานในสังกัดคือ องค์กรพัฒนาเมืองสิงคโปร์ (The Urban Redevelopment Authority หรือ URA) เพื่อดูแลแผนด้านการพัฒนากายภาพเมืองทั้งหมด

ประพันธ์เสริมต่อว่า “เพราะพื้นที่มีจำกัด การพัฒนาแต่ละครั้งจึงต้องผ่านการคิดมาอย่างละเอียด รอบคอบ และคุ้มค่าต่อการลงทุน

“และเมืองที่ดีไม่ใช่เมืองที่คนจนสามารถซื้อรถยนต์ใช้ได้ แต่คือเมืองที่คนรวย (และคนทุกระดับชั้น) ยินดีใช้บริการระบบขนส่งมวลชนของประเทศต่างหาก” 

03

เสรีภาพเพื่อความเสมอภาค

“Pasir Ris เป็นชื่อย่านตากอากาศริมทะเลทางฝั่งภูมิภาคตะวันออกของเกาะ เพราะไม่ใช่ย่านที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนิยมไปกันนัก ย่านนี้จึงมีที่พักราคาเป็นมิตรที่คนท้องถิ่นนิยมไปพักผ่อนกันช่วงวันหยุด เทียบให้เห็นภาพก็คงประมาณหาดบางแสนบ้านเรา

“หนึ่งในแผนกระจายการพัฒนาและความเจริญไปยังพื้นที่รอบนอกภูมิภาคส่วนกลางของสิงคโปร์ก็คือ ผังแม่บท (Masterplan) การพัฒนาย่าน Pasir Ris ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา URA เปิดให้เหล่าชาวสิงคโปร์เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางกันอย่างเสรี เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของทุกคนในประเทศ

“เช่น คนจำนวนมากบอกว่าอยากเก็บทางเดินและทางจักรยานไว้ให้มากที่สุด ไม่อยากให้เน้นการใช้รถ URA ก็บรรจุความต้องการเหล่านั้นลงไปในผังแม่บท โดยเหล่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์เอกชนซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด” ประพันธ์เล่าพร้อมเปิดภาพงานออกแบบโครงการ Pasir Ris Central ให้เราดู

04

Put the Right Man On the Right Job

“ในผังแม่บทพัฒนาย่าน Pasir Ris แบ่งพื้นที่การพัฒนาออกเป็นหลากหลายส่วน แต่ละส่วนมีช่วงเวลาดำเนินการต่างกัน และส่วนแรกที่จะถูกพัฒนาขึ้นคือโครงการ Pasir Ris Central ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้า MRT Central Green Way ทำให้ต้องพัฒนาส่วนนี้ก่อน

“การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (Transit Oriented Development หรือ TOD) เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะเป็นพื้นที่รองรับและแจกคนไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของย่าน” 

ประพันธ์อธิบายต่อว่า “Allgreen Properties Limited ร่วมกับ Kerry Properties Limited และ Shma ชนะการประกวดแบบโครงการ Pasir Ris Central เพื่อพัฒนาเป็นอาคาร Mixed Use โดยด้านบนจะถูกพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้อยู่อาศัย ที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขายเพื่อเอากำไร

“ในขณะที่พื้นที่ด้านล่างทั้งหมดจะต้องเปิดเป็นสาธารณะ ประกอบไปด้วยพื้นที่พาณิชยกรรมร้านรวงต่างๆ Bus Terminal พื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจรจากทางรางไปยังรถยนต์ จักรยาน การเดินเท้า นอกจากนี้ ยังมีสวนเขียวและพื้นที่กิจกรรมอีกนับไม่ถ้วนที่แม้จะเป็นอาคาร Mixed Use ของเอกชน แต่คนทั่วไปต้องสามารถเข้ามาใช้งานได้เฉกเช่นพื้นที่ของรัฐบาลที่คนทั่วไปสามารถใช้งานได้อย่างเสรี

“นี่ไม่ใช่ตัวอย่างแรกของความชาญฉลาดของรัฐบาลสิงคโปร์ ในการบริหารความร่วมมือกับภาคเอกชน ที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างในโครงการทั้งหมด แต่ภาครัฐและประชาชนก็ได้พื้นที่อำนวยความสะดวกคุณภาพดีมาด้วยเป็นของแถม” ประพันธ์เล่ายิ้มๆ

05

เชื่อมโยงจากป่าในเมืองสู่มหาสมุทร

อีกหนึ่งแผนการพัฒนาที่สิงคโปร์กำลังทำอยู่อย่างขะมักเขม้นคือ การเชื่อมสวนเขียวน้อยใหญ่บนเกาะเข้าหากันเป็นโครงข่ายด้วยเส้นทางเดินและทางจักรยาน (Park Connector Network หรือ PCN)

ประพันธ์เล่าต่อว่า “Pasir Ris ถือเป็นหมุดหมายปลายทางของโครงข่าย PCN ภูมิภาคตะวันออก ก่อนจะออกไปสู่ป่าโกงกางและชายทะเล มีการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นคลองเส้นยาวซึ่งยังอุดมสมบูรณ์มาก จนสามารถพบเห็นตัวนากและหิ่งห้อยแวะเวียนมาทักทายผู้คนในพื้นที่อยู่เสมอ

“สิงคโปร์ไม่พัฒนาประเทศแผ่ออกทางราบเยอะ เพราะรู้ดีว่าที่ดินของตัวเองมีอยู่อย่างจำกัด แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว หนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าการสร้างอาคารจะไม่ไปเบียดเบียนพื้นที่สีเขียวคือ Landscape Replacement Area

“ซึ่งมีหลักการคือ พื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นในโครงการทั้งหมดจะต้องมีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ดินโครงการก่อนการก่อสร้าง พูดง่ายๆ ก็คือแม้จะสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ทับที่ดิน แต่พื้นที่สีเขียวจะมีมากกว่าเดิม ซึ่งคำว่าพื้นที่สีเขียวในที่นี้นับรวมตั้งแต่สวน ไปจนถึงกระบะต้นไม้ในโครงการ”

06

ปลูกป่าและปลูกการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน

ประพันธ์อธิบายต่อว่า “โครงการ Pasir Ris Central เป็นการพัฒนาที่ดินทางตั้งที่สอดแทรกสวนเขียวไว้ทุกอณู โดยคืนพื้นที่สีเขียวตามมาตรการ Landscape Replacement Area ไปถึง 11 เปอร์เซ็นต์จากพื้นที่ดินโครงการ

“ในแต่ละชั้นของอาคารมีการดึงคาแรกเตอร์ธรรมชาติมาจากพื้นที่ย่าน Pasir Ris โดยให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งาน และในการเลือกพันธุ์ไม้แต่ละชนิดมาใช้ในโครงการ ต้องมีเอกสารรับรองว่าสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกด์ไซได้ในปริมาณเท่าไหร่

“ชั้นล่างที่มีความเป็นสาธารณะที่สุด ออกแบบแลนด์สเคปโดยได้แรงบันดาลใจจาก Coastal Forest ซึ่งมีความชุ่มชื้น ในขณะที่ชั้นต่อมาซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งกิจกรรมมีร้านรวงมากมาย ออกแบบด้วยคอนเซปต์ Beach Forest ซึ่งลักษณะทางกายภาพตามธรรมชาติจะแห้งกว่า และถัดขึ้นมาที่ชั้นสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้อยู่อาศัยในโครงการ รายล้อมไปด้วยแลนด์สเคปคอนเซปต์ Estuarium ซึ่งชุ่มชื้นที่สุด

“โครงการ Pasir Ris Central ใช้ประโยชน์จากการที่อาคารมีลักษณะซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ และมีต้นไม้อยู่ตามขอบตึก ในการดูดซับและบำบัดน้ำฝนมากักเก็บไว้ต่อในโครงการ เป็นระบบการดูแลรักษาต้นไม้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน”

ขอขอบคุณ : Allgreen Properties Limited, Kerry Properties Limited, Shma Company  Limited และ HDB Singapore
อ้างอิง: บทความ  Looking Back to the Future for Singapore City Strategy 2014 – 2030
โดย 
อาจารย์ศิวพงศ์ ทองเจือ

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน