“บัดนี้ ทั่วโลกต่างตระหนักว่า ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นหายนะภัยที่คุกคามการดำรงอยู่ของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ถ้าหากไม่มีการแก้ไขให้เข้าสู่ภาวะสมดุล มนุษยชาติอาจถึงกาลอวสาน นั่นคือสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ได้สูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น โดยหน้าที่และจิตสำนึกของพวกเรา ผมจึงขอประกาศให้พวกเราทุกคนรับทราบว่า บริษัทจะทำโครงการ Zero Emission ยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และโครงการ Net Zero ปลดปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไปจนถึงวันบรรลุเป้าหมาย ภายในปี 2050”
ชเล วุทธานันท์ ประธานกรรมการ บริษัท เท็กซ์ไทล์แกลเลอรี่ จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์สิ่งทอ PASAYA กล่าวในงานเปิดตัวภารกิจขององค์กรครั้งสำคัญที่สุดต่อสาธารณชนในรอบหลายปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจหลายแห่งได้เริ่มสนใจปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีไม่กี่บริษัทที่กล้าประกาศและตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนเหมือนกับองค์กรแห่งนี้
PASAYA เป็นแบรนด์ผ้าม่าน พรม เครื่องนอน และผ้าคลุมเตียงระดับพรีเมียม โดดเด่นด้วยการออกแบบ การใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้เป็นแบรนด์ไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกมายาวนาน
“ภารกิจที่เราทำ ไม่มีใครบังคับ แต่เป็นดีเอ็นเอขององค์กรที่ทำมาตั้งแต่ก่อตั้งแล้ว ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” รติยา จันทรเทียร หรือ พี่โต้ง กรรมการผู้จัดการ พาผู้เขียนเดินเข้าไปในบริเวณของโรงงานบนเนื้อที่ร่วมร้อยไร่ในจังหวัดราชบุรี แปลกใจตรงที่ไม่มีรั้วรอบขอบชิด กำแพงกั้นอาณาเขตเหมือนโรงงานทั่วไป
“เราอยากทำให้ที่นี่เป็นโรงงานของชุมชน พนักงาน 400 คนกว่าคนส่วนใหญ่คือคนแถวนี้ทั้งนั้น” พี่โต้งเอ่ยปากขึ้น
ในอดีตเวลาเรานึกถึงโรงงานทอผ้า โดยเฉพาะแหล่งผลิตสำคัญในจังหวัดสมุทรปราการ สิ่งที่เห็นคือ โรงงานเก่าแก่ เครื่องจักรคร่ำครึ ผู้คนแออัด อากาศอุดอู้ กลิ่นเหม็น น้ำเน่า ขยะสกปรกรอบโรงงาน
“เราเคยมีโรงงานอยู่แถวพระประแดง แต่ได้ตัดสินใจย้ายโรงงานมาอยู่ที่นี่ในปี 1995 สิ่งที่เราทำก่อนคือปลูกต้นไม้และสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย เพื่อวางรากฐานของการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีก่อนไม่ให้กระทบคนในชุมชนรอบ ๆ ไม่มีการใช้สารเคมีที่เป็นพิษและกำจัดไม่ได้ มีการบำบัดน้ำเสียครบวงจรเพื่อไม่ให้เกิดการสะสมสารเคมีในชั้นใต้ดิน รีไซเคิลน้ำได้ทั้งหมด และนำน้ำกลับใช้ได้ในขบวนการผลิตถึง 30 เปอร์เซ็นต์”
คุณรติยา จันทรเทียร เป็นลูกสาวของ อาจารย์รตยา จันทรเทียร อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงได้ซึมซับสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก ๆ
อาคารแต่ละหลังล้อมรอบไปด้วยน้ำ จนดูเหมือนอาคารกลางพื้นที่ชุ่มน้ำหรือ Wetland น้ำเหล่านี้เป็นน้ำที่ได้รับการบำบัดมาก่อน และหมุนเวียนไปตามท่อระบายน้ำที่เชื่อมต่อกัน ก่อนจะนำกลับมาใช้ใหม่ สถาปัตยกรรมอาคารโดดเด่นในความเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ จนดูไม่ออกว่าภายในคือโรงงานอุตสาหกรรม แต่สะอาด เย็นสบายจากน้ำที่ล้อมรอบและระบบระบายอากาศที่ไหลเวียนตลอด
อาคารย้อมผ้า ซึ่งมีอุณหภูมิร้อนกว่าปกติ จึงได้รับการออกแบบให้ทั้งอาคารเปิดโล่ง ไม่มีกำแพงหรือผนังจริง ช่วยทำให้พนักงานรู้สึกได้ว่า อากาศถ่ายเทเย็นสบาย ขณะที่อาคารทอผ้า มีระบบดักจับฝุ่นในอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมเศษเส้นด้าย เพื่อสุขภาพปอดของพนักงาน
“ผลิตภัณฑ์สิ่งทอของเราปราศจากสารพิษฟอร์มาลดีไฮด์ อันเป็นสารก่อมะเร็งที่พบในในกระบวนการผลิตสิ่งทอ ซึ่งเราใส่ใจเป็นพิเศษ จนได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์ฉลากสีเขียวมาสิบกว่าปีแล้ว”
โรงเย็บผ้าหรืออาคาร ZigZag เป็นอาคารโดดเด่นด้วยรูปทรงที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยม แต่พื้นที่ตรงกลางปลูกเป็นต้นไม้ราวป่าเขียวขจี ตัดกับกองผ้าที่รายล้อมอยู่โดยรอบอย่างน่าสนใจ
“ช่างตัดเย็บผ้าเป็นพนักงานที่ต้องใช้สายตา ใช้สมาธิเยอะ เพราะเป็นงานละเอียด การที่พวกเขาได้เงยหน้า พักสายตาขึ้นมาเห็นต้นไม้สีเขียว จะช่วยลดความเมื่อยล้าได้เป็นอย่างดี”
เหตุผลง่าย ๆ เพื่อให้พนักงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้อาคารแห่งนี้มีชีวิตชีวาและสดใสขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด
เราสังเกตเห็นสถาปัตยกรรมรูปทรงคล้ายปลาหมึกหรือแมงมุม หรือ Octospider ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นกลางบึงบัว จนน่าจะเป็นแลนด์มาร์กสำหรับโรงงานแห่งนี้ที่มีความสำคัญยิ่ง แต่พอสอบถามแล้วเป็นโรงอาหาร
“เราตั้งใจจะสร้างห้องอาหารกลางน้ำเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน จึงให้เพื่อนสถาปนิกชาวอิตาลีออกแบบให้พนักงานได้รับประทานอาหารอย่างสบายตา มีความสุขกลางน้ำที่ผ่านการบำบัด เห็นบึงบัว ปลาและนกหลายชนิดที่มาหากินในบึงน้ำ” พี่โต้งเล่าสาเหตุเล็ก ๆ มาจากสวัสดิการของพนักงาน และการใช้พื้นที่กลางน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เราตั้งเป้าหมายว่า จะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นโรงงานในป่าสีเขียว เราปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เริ่มตั้งโรงงาน ทุกวันนี้ก็ปลูกต้นไม้ทุกวัน แต่จะจริงจังมากขึ้นร่วมกับชุมชน โดยตั้งเป้าหมาย ปลูกต้นไม้พื้นถิ่น อาทิไม้ยางนา ตะเคียนทอง มะค่าโมง สัก จามจุรี ให้ครบร้อยไร่ ภายใน 3 ปี เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 300 ตันต่อปี” พี่ชเล ประธานบริษัทเข้ามาร่วมวงสนทนา
บนอาคารกลางริมน้ำแห่งนี้ เขาได้เล่าถึงภารกิจในอนาคตอันท้าทายว่า
“จากการทำคาร์บอนฟุตพรินต์เมื่อปีที่แล้ว โรงงานของเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละประมาณ 13,000 ตัน ปล่อยเองจากการผลิตประมาณ 6,500 ตัน จากการใช้ไฟฟ้า 3,500 ตัน ที่เหลือ 3,000 ตัน มาจากการผลิตวัตถุดิบที่เราซื้อมา ดังนั้น เราได้วางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการติดตั้งพลังงานโซลาร์เซลล์ขนาด 2 เมกะวัตต์ ซึ่งติดตั้งเสร็จเมื่อต้นปีนี้ และเปลี่ยนระบบเตาไอน้ำจากเชื้อเพลิงถ่านหินเป็นก๊าซแอลพีจีที่ให้ความร้อนสูงกว่าสำหรับงานฟอกย้อม สองส่วนนี้เราจะลดการปล่อยก๊าซไปได้ประมาณ 3,000 ตันในสิ้นปีนี้
“เช่นเดียวกันในอนาคต ก๊าซเรือนกระจกจากผู้ผลิตวัตถุดิบภายนอกที่เราสั่งเข้ามา ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตด้วย หรือไม่เราจะเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งอื่นที่ค่อย ๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” พี่โต้งเสริมต่อว่า
“เราจะทำระบบแลกเปลี่ยนความร้อนกับน้ำทิ้งหลังฟอกย้อมผ้า เพื่อนำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการใช้ก๊าซลงอีกราว 25-30 เปอร์เซ็นต์ และสร้างระบบประหยัดพลังงานให้แก่สายการผลิต เช่น อาคารสามารถจำกัดบริเวณการทำความเย็น เฉพาะบริเวณที่ต้องมีคนดูแล หรือสร้างผนังกันความร้อน เพื่อลดพลังงานในการทำความเย็น และปรับปรุงระบบรีไซเคิลต่าง ๆ ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น”
ภายในปี 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า พวกเขามั่นใจว่า โรงงานจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งหมดหรือเป็นศูนย์ Net Zero ตามที่ได้ประกาศไว้
“ผมเป็นคนคิดนอกกรอบเสมอ ตอนตั้งชื่อ PASAYA ก็สร้างความแปลกใจให้กับคนทั่วไป เพราะผมคิดมาจากคำว่า แพศยา ซึ่งเป็นคำที่แรงมาก แต่เชื่อไหม คนที่จะถูกเรียกว่าเป็นหญิงแพศยาได้มีไม่กี่คนหรอก เพราะต้องเป็นคนที่โดดเด่นมาก คือทั้งสวย มีเสน่ห์ ฉลาด และวางแผนเป็น พอตั้งชื่อนี้ได้ไม่นาน คนก็จดจำแบรนด์นี้ได้อย่างรวดเร็ว… เช่นเดียวกันการประกาศเรื่องนี้ก็เป็นการคิดนอกกรอบล่าสุดของเรา”
ก่อนกลับ เราแวะไปดูนิทรรศการ การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ หรือ The Six Extinction ภายในโรงงาน เพื่อให้การศึกษาแก่พนักงานว่า สิ่งมีชีวิตบนโลกหลายร้อยล้านปีที่ผ่านมา เคยสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ไป 5 ครั้งแล้วจากภัยธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว ดาวหางชนโลก แต่ครั้งที่ 6 จะเกิดขึ้นอีกไม่นาน หากเราไม่ทำอะไร ด้วยน้ำมือของมนุษย์ จากปัญหาโลกร้อนที่มนุษย์เป็นคนก่อขึ้น
“คนรุ่นผมเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อปัญหานี้ หากเราไม่ทำอย่างจริงจัง คนรุ่นต่อไปก็หมดหวังกับโลกใบนี้แน่ มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นสูญพันธุ์แน่ จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ เมื่อเราตั้งความฝันไว้ เราจะต้องมุ่งมั่นไปให้สำเร็จ”
พี่ชเล หัวเรือใหญ่แห่ง PASAYA กับภารกิจครั้งสำคัญในชีวิตกล่าวทิ้งท้าย