โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร เป็นนักออกแบบอารมณ์ดีที่รักการดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ ถ้าถามว่าเขารักขนาดไหน ก็ขนาดที่ว่าออกแบบและสร้างเคาน์เตอร์ชงกาแฟที่ออฟฟิศตัวเองอีกหนึ่งห้อง ถ้าคิดจะเปิดรับลูกค้าก็เปิดได้เลย แต่ที่ทำเพราะแค่ชอบ รวมถึงอยากให้น้องๆ ในออฟฟิศได้มาหัดชงกาแฟเพียงเท่านั้น

หากให้แนะนำอย่างเป็นทางการขึ้นอีกสักนิด โต คือ Design Director & Founder แห่ง party / space / design ที่ทุ่มเทกับงานมาก มีผลงานการออกแบบร้านอาหารและคาเฟ่กว่า 100 แห่งทั้งในไทยและต่างประเทศ เช่น นิวยอร์ก คูเวต และจีน ถ้านับที่เคยออกแบบทั้งหมด เขาว่ามีมากกว่า 300 โครงการเลยทีเดียว

โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร นักออกแบบประสบการณ์กินแห่ง party / space / design

ทุกความความสำเร็จที่โตได้รับไม่ใช่เรื่องบังเอิญ (ถึงแม้ระหว่างพูดคุยกัน เขาบอกว่าตัวเองนั้นค่อนข้างโชคดีอยู่บ่อยๆ ก็ตาม) เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ก่อตั้งบริษัท การทำงานของเขาไม่เคยง่ายเลย ด้วยความที่ลูกค้ามักเข้ามาพร้อมความคาดหวังว่าร้านของตัวเองจะมีชื่อเสียงเช่นเดียวกับร้านอื่นๆ ที่เขาเคยออกแบบไว้ นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้เส้นทางการออกแบบของโตท้าทายอยู่เสมอ

“party / space / design อยู่ในอุตสาหกรรม Creativity Business โดยเราเป็น Specialist ด้านการออกแบบประสบการณ์การกิน ฟังดูอาจเหิมเกริมไปนิด แต่ถ้าต้องการให้คนจดจำร้านได้ ต้องเน้นตรงไปที่การสร้างประสบการณ์ระหว่างลูกค้ากับอาหารและเครื่องดื่ม แล้วค่อยพูดถึงองค์ประกอบอื่นๆ อย่างงานออกแบบที่ต้องให้เป็นเรื่องรอง อาจจะดู Abstract นะ แต่เราทำอย่างนี้จริงๆ” เขาเริ่มต้นเล่าก่อนขยับแก้วในมือขึ้นมาจิบ

เลิกออกแบบ กลับมาออกแบบ

โตเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทันทีที่จบการศึกษา เขาสมัครเข้าทำงานที่ DBALP บริษัทออกแบบของ ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดังอันดับต้นๆ ของไทย

ด้วยใจรักและแพสชันที่มีให้กับวิชาชีพ โตได้ทุ่มเทอย่างหนัก เริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า เลิกงานตี 3 เครื่องดื่มอะไรก็ตามที่กระตุ้นให้ทำงานหนักได้ สถาปนิกหนุ่มดื่มได้ไม่เคยเกี่ยง เขาใช้ชีวิตเช่นนั้นต่อเนื่องนานถึง 2 ปี จนในที่สุดร่างกายก็ส่งสัญญาณเตือนว่าถึงขีดจำกัดแล้ว

โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร Design Director & Founder แห่ง party / space / design หรือ p / s / d.

แม้รู้สึกว่าตัวเองตายได้แล้วที่ได้ทั้งฝึกงานและทำงานกับไอดอล แต่เอาเข้าจริงยังเร็วไปนักที่จบจะชีวิตด้วยปัญหาสุขภาพ เขาเลือกหันหลังให้วิชาชีพสถาปนิก แต่ยังคงโลดแล่นอยู่ในวงการออกแบบแขนงอื่นๆ ทำกราฟิกดีไซน์ เป็นโปรแกรมเมอร์ และทำโฆษณา จนกระทั่งเวลาผ่านไปถึง 10 ปี จังหวะและเวลาเป็นใจให้โตได้รับการติดต่อให้ออกแบบร้าน Wine Republic ทองหล่อ ที่มีข้อจำกัดไม่ธรรมดา ซึ่งหลังพิจารณาแล้ว อดีตสถาปนิกจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทโฆษณา แล้วมาก่อตั้ง party / space / design เพื่อกลับมารับงานออกแบบที่รัก

จากเจ๊งเป็นเจ๋งด้วย 5 ศาสตร์

“พี่โตทำได้ไหม”

“ออกแบบร้านเหรอ” โตตอบลูกค้าด้วยคำถาม

“ไม่ใช่ ให้ร้านมันไม่เจ๊ง”

Wine Republic ทองหล่อ
Wine Republic ทองหล่อ

“อืม…” ดีไซเนอร์อุทานเมื่อคิดถึงโจทย์ยากในวันนั้น 

“เราต่างรู้กันว่าทำเลที่ตั้งของร้าน Wine Republic เรียกว่าปราบเซียน เราเป็นคนที่เจ็ดที่ออกแบบตรงนั้น ก่อนหน้านั้นเจ๊งมาหกเจ้ารวด พอตัดสินใจรับออกแบบ ก็ออกแบบทั้งห้าศาสตร์ Architecture, Interior, Branding, Furniture และ Lighting ซึ่งตอนนั้นก็บอกลูกค้าว่า ถ้าไม่ได้ทำห้าอย่างนี้ไม่ทำนะ

“เราออกแบบสเปซใหม่ ขอเปลี่ยนตัวตึก ออกแบบให้เก้าอี้เหมือนขวดไวน์ ทำโลโก้ ทำเมนู ถ่ายรูปด้วย แล้วเพิ่งมารู้ตอนบริษัทจะครบสิบปี ว่าสิ่งที่ทำมันเป็นการ Consultant คือเป็นคนเลือกทิศทางให้ธุรกิจที่ลูกค้าจะทำ ตั้งแต่ช่วยคิดชื่อ ตั้งชื่อให้เลย”

ความพยายามและการตัดสินใจลาออกจากงานก็เกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เพราะไม่เพียงแต่ Wine Republic ไม่เจ๊ง ยังทำกำไรได้จนขยายร้านไปอีก 2 สาขาในเวลาต่อมา

Wine Republic ทองหล่อ
Wine Republic ทองหล่อ

ความสำเร็จของ Wine Republic ส่งผลให้โตมีงานออกแบบชิ้นต่อไป หนึ่งในหุ้นส่วนของร้านอย่าง ต่าย-นัฐฐพนท์ ลียะวณิช คิดอยากทำคาเฟ่แถวสามย่านให้นักศึกษามานั่งอ่านหนังสือ โดยตั้งใจให้เป็นร้านที่เปิดบริการตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน 

“พี่โตทำร้านไวน์แล้วรอดนี่ ไม่เจ๊ง ผมมีโปรเจกต์เหมือน Wine Republic เลยอยากให้พี่โตช่วยออกแบบ” ต่ายพูดกับโตก่อนมอบทุกอย่างให้ดูแล โปรเจกต์ Too Fast To Sleep จึงเป็นงานออกแบบที่คิดให้ทุกอย่างครบ 5 แขนงเช่นกัน ตั้งแต่ออกแบบอาคาร คิดชื่อ ตกแต่งภายใน ดูแลชุดพนักงาน ดูแลเพลง ดูแลเฟอร์นิเจอร์ 

Too Fast To Sleep
Too Fast To Sleep
ร้าน Too Fast To Sleep 

ทั้ง 5 ศาสตร์ (Architecture, Interior, Branding, Furniture และ Lighting) กับความเชื่อว่าร้านที่ว่าถ้าได้ออกแบบครบ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จของโตนั้น ต้องเล่าย้อนไปสมัยเด็ก เขาเติบโตมากับกิจการร้านข้าวต้มและอาหารทะเลชื่อ ‘อ้วนเฮฮา’ ในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยรสชาติอร่อยเลิศ จึงได้รับการการันตีฝีมือจากเชลล์ชวนชิม รวมถึงรายการอาหารมากมาย

สิ่งที่เด็กชายโตขัดใจอยู่เสมอไม่ใช่เรื่องรสชาติ แต่เป็นเรื่องความไม่สวยงามของร้าน ตั้งแต่การเลือกใช้เต็นท์แทนการใช้หลังคาแบบทั่วไป การใช้จานชามพลาสติกที่ดู Look Cheap แบบสุดๆ ไปจนถึงเมนูอาหารที่จัดเรียงอย่างไม่เป็นระเบียบ แน่ล่ะว่าโตไม่พอใจมาก ด้วยความเป็นเด็กและไม่มีประสบการณ์ ทำให้คำร้องที่ส่งไปถึงคุณพ่อคุณแม่เป็นอันถูกปัดตกทุกข้อ นั่นจึงเป็นแรงผลักดันที่เขาตั้งมั่นเอามากๆ ว่า ถ้าวันหนึ่งได้ออกแบบร้านอาหารจะขอทำทั้ง 5 ศาสตร์นี้ให้ได้ และยังเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้โตตัดสินเลือกรับงานออกแบบ Wine Republic และ Too Fast To Sleep เพื่อพิสูจน์ความเชื่อที่มีว่า การออกแบบที่ดีทำให้ร้านอาหารประสบความสำเร็จได้

ปรากฏการณ์น้ำตาลที่เปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล

แม้ว่า Too Fast To Sleep จะเริ่มทำให้หลายคนรู้จักโตและบริษัทบ้างแล้ว แต่หากจะกล่าวถึงงานที่ใช้คำว่า ‘เรียกแขก’ จริงๆ (ในความหมายที่ดี) ซึ่งทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั้งในและนอกประเทศเช่นทุกวันนี้ โตเล่าว่ามีอยู่ 2 โปรเจกต์ คือ งานออกแบบออฟฟิศ party / space / design ของตัวเอง และร้าน SHUGAA

ออฟฟิศ party / space / design

“โปรเจกต์แรกคือออฟฟิศเรานี่แหละ ก่อนหน้านี้เราย้ายมาห้ารอบนะ ล่าสุด เล็กมาก ขนาดแค่สิบตารางเมตร พอได้ที่ตรงนี้ก็เลยจัดเต็ม (ออฟฟิศปัจจุบันอยู่ที่ซอยเอกมัย 21) เอากำไรสามล้านบาทที่สะสมตลอดห้าปีมาลงทุนทำ ตอนออกแบบรู้สึกว่าถ้าจะต้องลงเงินเองขนาดนี้ก็ขอทุกอย่างที่ชอบเลยแล้วกัน หลังจากนั้นมีโอกาสไปลงใน designboom.com พอลงหนังสือรวมเล่ม Office Space ต่างๆ ก็มีหลายคนติดต่อให้ไปออกแบบงาน Co-working Space เยอะขึ้น ส่วนงานออกแบบที่เรียกว่าเป็นสปอตไลต์ส่องไปในเส้นทางการออกแบบร้านอาหารมาจนถึงปัจจุบันเลย คือ SHUGAA ครับ”

ร้าน SHUGAA
ร้าน SHUGAA

SHUGAA เป็นโปรเจกต์ออกแบบคาเฟ่ที่ทำให้คนรู้จัก party / space / design แบบก้าวกระโดด เพราะตัวร้านให้ความรู้สึก Feminine มากจนโดนแซวถึงความเข้าอกเข้าใจจริตผู้หญิง และถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีในทุกๆ ตารางนิ้ว 

ปรากฏการณ์ของ SHUGAA หลังได้รางวัลที่อังกฤษและฝรั่งเศส ได้ลงหนังสือต่างประเทศจำนวนมาก ความสนใจก็มากตามมา มากขนาดที่ว่า ภายใน 1 เดือนมีอีเมลเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ส่งมาหาเขาเป็นร้อยฉบับ โตเล่าติดตลกว่างานนี้น่าได้จะลงในสื่อของทุกทวีปบนโลกแล้ว

ร้าน SHUGAA

“เราว่าที่ประสบความสำเร็จ เพราะมันสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับแวดวงการออกแบบคาเฟ่ เป็นโปรเจกต์แรกที่ทำให้รู้สึกว่าเวลาทำงานดีไซน์แล้วปล่อยออกไปในโซเชียลจะเป็นกระแสได้มาก”

ร้าน SHUGAA

ทำงานแบบ party / space / design 

เพราะร้านที่ออกแบบไปนั้นประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก (แต่โตแย้งว่าก็มีเจ๊งบ้าง) ทุกครั้งที่รับโจทย์ใหม่ๆ โตเองยอมรับว่าความยากและความกดดันที่ได้รับนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งทำให้หลายคนเปลี่ยนนามสกุลให้เขาเป็น ‘นักออกแบบร้านอาหาร’ แต่โตกลับอยากวางตัวเองเป็น Specialist ด้านการออกแบบประสบการณ์การกิน มากกว่านักออกแบบงานสถาปัตยกรรมหรือตกแต่งภายในให้ร้านอาหารหรือคาเฟ่

ในอนาคตเขาตั้งใจเสริมทัพผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอาหารด้านต่างๆ มาเข้าทีม ทั้งเชฟ บาริสต้า บาร์เทนเดอร์ เพราะโตมองว่าทิศทางหรือการวาง Positioning ของร้านลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญกว่า และต่อไปทุกงานออกแบบของ party / space / design ต้องอาศัยแต่คนรู้จริงในด้านนั้นๆ

โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร นักออกแบบประสบการณ์กินแห่ง party / space / design

SHUGAA เป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกอย่างของโตในการเลือกรับงานชิ้นต่อๆ มา ด้วยเห็นว่าในระดับสากลให้ความสำคัญกับดีไซน์เป็นอย่างมาก รวมถึงคอนเทนต์เรื่องการออกแบบและรายละเอียดต่างๆ ควรได้รับการถ่ายทอดอย่างตั้งใจ จากจุดนี้ นักออกแบบประสบการณ์จึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่รับทำงานที่ไม่อิน ทั้งตัวเขาเองและลูกค้า หรือถ้างานไหนที่อิน ทุกคนในทีมก็ต้องอินไปในทิศทางเดียวกัน 

ถ้าถามว่าอินหรือไม่อินยังไงนั้น โตบอกว่าอยู่ที่การพูดคุยเป็นหลัก ถ้ามีคนเข้ามาแล้วบอกว่า “ผมอยากเปิดร้านมากเลย ใช้ร้อยล้านพอไหมครับ” ถ้าพูดคำนี้ โตจะไม่รับ เพราะรู้สึกว่าเจ้าของยังไม่เข้าใจและหลงใหลในสิ่งที่ทำมากพอ

ถ้าเป็น “พี่ ผมไม่มีเงินนะ แต่ผมกินกาแฟ อินมากเลยตอนนี้ กำลังเก็บเงินซื้อเครื่องทำอยู่ ผมจองคิวพี่ล่วงหน้าปีหนึ่ง ผมจะหาเงินมาให้ได้ห้าแสน ผมจะปั้นของผมให้ดังที่สุดในซอย” กรณีแบบนี้ โตกล่าวว่าเขาอยากจะออกแบบให้

หลังจากผ่านการเลือกงานที่ ‘อิน’ และเซ็นสัญญากันแล้ว โตจะบอกลูกค้าว่าอีก 2 อาทิตย์เจอกัน จากนั้นก็จะแอบไปกินที่ร้านอาหารของลูกค้าและทำ Blind Test ให้ โดยวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเพื่อหาทางแก้ปัญหาได้ถูกจุด เช่น ครัวซองต์คุณรสชาติยังสู้ที่อื่นไม่ได้  หรือหมาหน้าร้านขวางทางเข้าสุดๆ ไปจนถึงน้ำที่ร้านของคุณมีกลิ่นนะ โดยสรุปออกมาเป็นพาวเวอร์พอยต์ ก่อนจะพูดคุยถึงแนวทางการออกแบบต่อไป

โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร นักออกแบบประสบการณ์กินแห่ง party / space / design

“เรารีเสิร์ชให้หมด บางครั้งเขาขอบคุณเราด้วยซ้ำว่าจริงเหรอ เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลย เราจะไปทั้งหมดประมาณสามครั้ง หลังจากนั้นก็จะนำเสนอว่า เราจะพาเขาไปจุดไหน เทียบกับสิ่งที่เขาให้โจทย์เราตอนต้น”

ขั้นตอนสำคัญของการออกแบบร้านอาหาร คือการค้นหา Identity ของลูกค้าเพื่อนำออกมาใส่ในงาน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่โตถนัดและทำได้ดีเป็นอย่างยิ่ง

“เวลาเราบิวต์คน ให้นึกถึงร้านที่ดี ต้องมีรสชาติที่ดี มีบรรยากาศมวลรวมของร้าน หรือประสบการณ์กินอาหาร ร้านสวยไม่สวยไม่เกี่ยวนะ แล้วเรื่องประสบการณ์การกิน เมืองนอกมีมานานแล้ว ที่นิวยอร์กข้นขลั่กมาก ญี่ปุ่นก็เยอะ แต่เมืองไทยเพิ่งมาให้ความสำคัญกันไม่ถึงสิบปี  เรามองภาพรวมเป็นแล้ว ว่าธุรกิจมันไม่ใช่ร้านสวย หลังบ้านมันมีอีกหลายสิ่งมากที่ทำให้ร้านประสบความสำเร็จได้ อย่าให้ความสำคัญของนักออกแบบมากขนาดนั้น มันมีอีกหลายอย่างมากที่มันสำคัญกว่าการออกแบบ

โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร นักออกแบบประสบการณ์กินแห่ง party / space / design
โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร นักออกแบบประสบการณ์กินแห่ง party / space / design

ขอยกเป็นตัวอย่างเคสหนึ่งเป็นลูกค้ามาใหม่ โจทย์ของเขาคืออยากเปิดร้านกาแฟให้ดังเท่านั้น เริ่มต้นมาแบบนั้น เลยยอมนัดให้เข้ามาคุย เพราะอยากเคลียร์ (หัวเราะ) คุยกันไปสี่ชั่วโมง เรื่องคุณชอบกินอะไร ถ้าชอบกินข้าวต้ม จัดเลยอาหารเช้า ข้าวต้ม แต่คุณต้องชอบจริงๆ นะ สุดท้ายกลายเป็นทำร้านกาแฟ ได้ร้านข้าวต้มเป็น Brunch ตอนเช้า พอคุยเรื่องที่เขาอิน ผมรู้สึกว่าเขาตาเป็นประกายมากเลย เขาบอกจะกลับไปลงลึกในสิ่งที่ชอบ ไปตกตะกอน และจะมาคุยใหม่ปีหน้า คือถ้าเราผลักลูกค้าไปจนเจอว่าเขาชอบอะไรได้ และเราทำร้านในสิ่งที่เขาชอบได้ ก็เป็นวิธีรับมือกับความคาดหวังอย่างหนึ่ง”

ความสุขเกิดจากบาลานซ์ที่ดี

“ถ้าย้อนกลับไปได้อยากจะบอกว่า มึงโอเค ไม่ต้องเครียดมาก” โตตอบคำถามสุดท้ายของเราอย่างยิ้มๆ 

แม้วันนี้ชายตรงหน้าจะพา party / space / design มาไกลจากบันไดขั้นแรกไปมาก บางช่วงเป็นการก้าวช้าๆ หรือบางช่วงจะเร็วจนเหมือนวิ่ง หลายคนมองเห็นเพียงความสำเร็จของเขาในวันนี้ และอาจจินตนาการว่าทุกย่างก้าวคงง่ายดาย แต่โตรู้ดีกว่าใครว่าเขานั้นอดทนและผ่าฟันอุปสรรคระหว่างทางมาไม่น้อย โดยเฉพาะกับช่วงแรกในการก่อตั้งบริษัทที่เผชิญกับเครียดในหลายด้าน 

โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร Design Director & Founder แห่ง party / space / design หรือ p / s / d.

“เอาจริงๆ ก็ถ้าย้อนกลับไปได้และพูดได้เรื่องเดียว อยากให้กำลังใจตัวเองและบอกว่าที่ทำมานั้นถูกหมดเลย ถึงแม้ว่ามันฟลุ๊กหลายเรื่อง โชคดีหลายอย่างมาก ระหว่างที่ตั้งบริษัทแรกๆ มันเครียดมาก รู้สึกว่าตัวเองเครียดและจริงจังกับงานเกินไป ทำให้คนรอบตัวเป็นห่วง ปีแรกที่ก่อตั้งบริษัทนี่กินแกลบของจริง (หัวเราะ) ตอนนั้นเหมือนขาดกำลังใจ ถ้ากลับไปได้ก็อยากไปให้กำลังใจตัวเองครับ”

โตที่กำลังก้าวย่างเข้าสู่เลข 4 นั้นยังคงอารมณ์ดี และใช้ธรรมะเป็นหน้าต่างในการมองความเป็นจริงของชีวิต ส่วนเรื่องงานออกแบบ เขาให้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตแต่ไม่ใช่ทั้งหมดเหมือนเมื่อก่อน เพราะตอนนี้โตวางตัวเองเป็นเพียงนักออกแบบที่หากินกับอาชีพนี้เท่านั้น

“ตอนตั้งบริษัทเราเต็มที่กับมันไปหน่อย รู้สึกว่าเราไม่ค่อยดูแลคนรอบตัวเท่าไหร่ คนพอมาปีหลังๆ พยายามตื่นมาแล้วอยากชวนน้องๆ ทำกาแฟกินกันตอนเช้า ช่วงนี้ใครมาออฟฟิศเช้าๆ ไม่ต้องทำงานก็ได้นะ มาทำกาแฟดริปกัน หรือไปเจอข้างนอกกันบ้างไหม เราเริ่มเบื่อการอยู่ออฟฟิศ เลยทำให้ทุกวันมันแฮปปี้

“อยากเจอคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน อยากทำงานดีๆ ให้ข้อผิดพลาดมันน้อยที่สุด

แล้วก็อยากกลับบ้าน อยากอยู่กับแม่ นี่คือความสุขง่ายๆ ที่อยากมีในช่วงนี้นะ” นัก (จะ) ออกแบบประสบการณ์ชีวิตตัวเองทิ้งท้าย

โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร นักออกแบบประสบการณ์กินแห่ง party / space / design

5 ผลงานที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ party / space / design

1. Wine Republic ทองหล่อ 

Wine Republic ทองหล่อ

ดีที่หยุดเรื่องเจ๊งไว้ได้ มันไม่เจ๊งแล้ว และทำให้รู้ว่าเปิดร้านอาหารเนี่ยมันรวยไม่รู้เรื่องนี่หว่า (หัวเราะ) คือเราเริ่มรู้ทริคของวงการร้านอาหาร รู้เรื่อง +7 +10 (Vat, Service Charge) จากที่นี่เลย”

2. Too Fast To Sleep

Too Fast To Sleep

“ที่นี่เป็นโปรเจกต์โจ๊ะๆ ลั่นๆ แต่ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำ แล้วคนก็เริ่มรู้จักเราจากงานชิ้นนี้”

3. SHUGAA

น้ำตาลลิน, SHUGAA

“มันเป็นปรากฏการที่เหมือนเดินอยู่ดีๆ ไฟก็ส่องเรา ตอนแรกที่ได้โจทย์จากลูกค้าซึ่งก็คือ ‘น้ำตาลลิน’ ว่าต้องการทำ Fondant อยู่ชั้นล่าง คาเฟ่ต้องอยู่ชั้นบน เราฟังเสร็จคิดเลยว่า ‘ก็เจ๊งสิ’ เพราะคนอยากมาคาเฟ่ เลยคุยกันในทีมดีไซน์ว่า พวกเราทำยังไงก็ได้ให้เขาปั้น Fondant ด้านบน แล้วเอาคาเฟ่ไว้ด้านล่าง แต่ต้องหลอกล่อให้คนรู้สึกว่าด้านบนเจ๋งกว่า อยากขึ้นไปดูต้องมีอะไรแน่ๆ  ผลก็เลยปั้นบันไดเท่ๆ ซึ่งตีความมาจากขั้นตอนทำน้ำตาล เหมือนตอนมันร้อนๆ แล้วเอาด้ายหย่อนลงมา พอดึงขึ้นน้ำตาลมันจะเกาะเป็นโมเลกุลพิเศษ กลายเป็นโคมไฟคริสตัล แล้วก็เล่นกับความเป็นมินิมอล และให้มันมีเงาเวลาโดนแสง”

4. party / space / design office

party / space / design office
party / space / design office

เมื่อสั่งสมประสบการณ์ในการออกแบบ รวมถึงได้กลั่นกรองทุกอย่างในชีวิตจนเลือกจะใส่ทุกความชอบลงในออฟฟิศของ party / space / design ที่โตบอกว่าที่นี่เป็นเขา 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีห้องนอนที่แอบไว้ด้านหลังชั้นวางหนังสือที่สูงจรดฝ้าเพดาน นอกจากนั้นยังตระหนักถึงความไม่จีรังของสิ่งต่างๆ ผ่านการศึกษาธรรมะ ด้วยการออกแบบให้ทุกอย่างเข้าใจง่าย คนที่เข้ามาก็รับรู้ถึงความชอบกาแฟของโต ผ่านเคาน์เตอร์ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยสารพัดเครื่องชงอย่างตรงไปตรงมา แต่ในความไม่ซับซ้อนกลับเต็มไปด้วยความพิถีพิถันช่างเลือกและมีที่มาที่ไป

party / space / design office
โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร Design Director & Founder แห่ง party / space / design หรือ p / s / d.

“ที่นี่คือสิ่งที่ชอบทั้งหมดแล้ว รวมของที่ไม่เกี่ยวกับงานออกแบบไว้ตรงนี้ด้วย ชอบฟังเพลง ชอบกระจกบานใหญ่ๆ ชอบแสงแดด เป็นคนชอบอยู่กับแดด แล้วก็ชอบเก้าอี้ ชอบพื้น ที่นี่เป็นของชอบหมดเลย ชอบเล่นสเก็ตบอร์ด ชอบทำกาแฟกิน แล้วก็ถ้าเดี๋ยวเริ่มเบื่อกาแฟก็จะเปลี่ยนอันนี้เป็นบาร์ และกำลังศึกษาเกี่ยวกับไซรัป อยากทำพวกค็อกเทลที่ไม่ต้องเป็นเหล้า กำลังเริ่มศึกษาอยู่ อาจจะปีนี้ ปีหน้า ให้ว่างก่อน ค่อยเริ่มศึกษา แล้วก็ชอบบันไดวน ทางขึ้นนอกออฟฟิศมากเลย เพราะนี่เป็นตัวพิสูจน์ว่าพี่ด้วงเจ๋งจริง และมาจากตอนที่เขาพูดกับเราสมัยฝึกงานว่า

“โต มึงเชื่อกูไหม ถ้ามึงทำลูกตั้ง 17.5 ลูกนอน 25 เนี่ย มึงทำบันไดโดยที่ไม่มีราวกันตกได้

“จริงเหรอพี่ด้วง”

“จริง มึงเชื่อสิ มึงไปทำบ้านมึงเลย”

ซึ่งมันทำได้จริง!”

5. NANA Hunter Coffee Roasters

NANA Hunter Coffee Roasters

“ท้าทายที่สุดต้องยกให้ NANA Hunter Coffee Roasters มันไม่ใช่ท้าทายในเรื่องการดีไซน์ เพราะเรื่องนั้นเราทำตั้งแต่ร้านเดิม ทั้งเปลี่ยนโลโก้ เปลี่ยนร้าน  แต่มันคือการประคับประคองทีมงานเราทุกคน ทั้งตัวเราเอง ทีมบาริสต้า ทีมพี่กุ้ง NANA (วรงค์ ชลานุชพงศ์ และ กานดา โทจำปา เจ้าของรางวัล Thailand Barista Champion 2013, Cup Taster Thailand 2017 และ Thailand Aational Barista Championship 2019) แล้วก็ทีมเจ้าของด้วย

“เราตั้งใจจะทำปรากฏการณ์บางอย่างให้เกิดขึ้นในประเทศ เพราะภาพรวมธุรกิจกาแฟอยู่ในช่วงขาลง COVID-19 ก็กำลังมา คนก็รู้สึกว่าไม่สามารถสู้ร้านเชนได้ เหมือนทุกคนเริ่มหมดหวัง แล้วอยู่ดีๆ NANA Hunter Coffee Roasters ก็มา เราชอบโมเมนต์นั้นมากเลยตอนที่ต้องให้กำลังใจกัน ทุกครั้งที่ไปไซต์ ผมต้องตอบคำถามเรื่องงานออกแบบประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ อีกเก้าสิบเปอร์เซ็นต์คือโน้มน้าวทีมว่าเรามาถูกทางแล้ว ถ้าทำทั้งทีมันต้องดีที่สุด คือมันจูนกัน ถ้าจะทำแบบนี้ต้องแบบนี้เท่านั้นและความ Speacialty มันขายได้” 

โต-ศุภรัตน์ ชินะถาวร Design Director & Founder แห่ง party / space / design หรือ p / s / d.

ด้วยความที่หลงใหลกาแฟ จากผู้ออกแบบร้าน NANA Hunter Coffee Roasters เขายังข้ามสายไปดีไซน์พรีเซนเทชันให้กับกุ้ง (กานดา โทจำปา) แชมป์ Thailand National Barista Championship 2019 ในการแข่งขันรายการ World Narista Championship 2019 ที่เมือง บอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา 

“พอเขาได้แชมป์ประเทศ แล้วต้องไปแข่งต่อ เราเลยเสนอตัวว่า พี่กุ้ง อย่าให้คนอื่นทำนะ ขอทำเอง พี่กุ้งเล่ามาว่าจะทำอะไร จะโชว์เรื่องอะไร จะช่วยดีไซน์พรีเซนเทชันทั้งสี่แก้ว โดยเราวาดเป็นรูปเส้นทางกระบวนการทำกาแฟ แล้วให้เขาลองซ้อมกับบท ทำประมาณสามเวอร์ชัน เลือกอันที่เขาพูดแล้วเป็นเขาที่สุด” 

Writer

Avatar

เอกธิดา นาคเวช

สถาปนิกที่เลือกผันตัวมาถ่ายทอดงานดีไซน์ผ่านตัวอักษรแทนการตี cad และขึ้น SketchUp

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล