“ปล่อย ชีวิตจริงทิ้งไป วางไว้ข้างทาง…”

คือเนื้อท่อนแรกของเพลง Vacation Time ถ้าเดาทางภาษาเพลงแล้วก็คงหมายถึง เหนื่อยก็พัก เอาภาระแวะวางทิ้งไว้ข้างทางเสียก่อน

แต่…ถ้าเราจะต้องแวะพักรถข้างทางล่ะ

เมื่อหมุนเพลงปิดและเริ่มหันซ้ายจากหลังพวงมาลัยเพื่อหาที่พักรถริมทาง เราก็มักจะพบสีแดงคาดขาวห้ามจอดที่ถูกทาอยู่ริมฟุตปาทที่มีมากและไม่สัมพันธ์กับปริมาณพื้นที่ริมทางทั้งหมด

จนสุดทางแพตเทิร์นของเขตห้ามจอดแล้ว ตอนนั้นเราก็มักจะเจอวัตถุต้องสงสัยสักชิ้นวางเป็นอุปสรรคสุดท้ายในการแวะพักรถของเราเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้กั้น หรืออะไรใดๆ ซึ่งวัตถุนั้นก็ไม่ใช่ของใครที่ไหน ก็จะเป็นของเจ้าของที่ตรงนั้นนี่แหละ

ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด

หลายครั้งเราจำต้องขับรถเลยไปอีกเพื่อหาที่พักรถที่อื่น หรือไม่ก็ต้องแอบยกวัตถุนั้นเขยื้อนหรือยกหลบ ซึ่งถ้าเรารู้จักเจ้าของที่ตรงนั้นเราก็จะรอดไป

การจอดริมทางฟรีๆ ในบ้านเรา เพียงวางวัตถุใดๆ ลงไปที่ข้างทาง พื้นที่ตรงนั้นก็จะกลายเป็นที่จอดที่ฟรีไม่จริงในทันที เป็นฟรีพาร์กกิ้งแบบไทยๆ ที่…ห้ามจอด ห้ามพัก ห้ามลักหน้าบ้าน

จะว่าไปแล้ว การสร้างพื้นที่ให้เกิดสัญญะโดยไม่มีตัวอักษรว่า ตรงนี้ห้ามจอดนะครับ (ทำเสียงดุๆ) มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจในเชิงการสร้างพื้นที่มากๆ ในรูปแบบหนึ่ง เพียงวางของลงไปที่หน้าบ้านเฉยๆ นั้น มันทำให้เรากลายเป็นเจ้าที่เจ้าของข้างทางได้ขนาดนี้เลยหรือ

มาลองดูสิว่าใน อาคิเต็ก-เจอ รอบนี้เราจะมาหาคำตอบอะไร จากการใช้พื้นที่ฟรีพาร์กกิ้งได้บ้างครับผม

ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด

 

ห้ามจอด ห้ามพัก..

ผมโตมาในบ้านพักตึกแถว 1 คูหาเล็กๆ ที่มีหน้ากว้างพียง 4 เมตร ความทรงจำวัยเด็กของผม ในบ้านจะมีรถ Toyota Corona ปี 1985 คันสีขาวสะอาดไร้รอย ข้างในเบาะทั้งหมดกรุด้วยผ้ากำมะหยี่ จอดเทียบชิดริมฝั่งขวาที่เว้นระยะชิดให้พอเปิดประตูคนขับออกมาได้

ในทุกครั้งที่จะต้องออกเดินทางไปโรงเรียนในยามเช้าตรู่ ผมจะงัวเงียเดินออกไปหน้าบ้าน หยิบแท่งไม้ที่ทาด้วยสีขาวแดงสลับกัน ปลายด้ามปักไปที่ก้อนคอนกรีตตรงพื้นเท้า

ด้วยน้ำหนักที่แรงเด็กยกไม่ไหว แต่ด้วยก้อนคอนกรีตเองนั้นถูกฝนขอบกลมมน ทำให้เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งสามารถจับปลายไม้กลิ้งก้อนคอนกรีตนั้นอย่างง่ายดาย จนขยับไม้นั้นออกไปจนได้

ทันใดนั้น เสียงสตาร์ทรถจากในบ้านก็ดังกระหึ่มไปทั้งซอย และแล้วแม่ก็ขับรถสีขาวคันนั้นพุ่งออกมาจากคูหาเล็กๆ เลี้ยวรถออกไปเทียบบนถนนสาธารณะแคบๆ ใกล้บ้าน

หลังจากนั้นผมก็จะกลิ้งไอ้เจ้าไม้นั้นกลับเข้าไปที่เดิม และก็วิ่งต้อยๆ ขึ้นรถไปโรงเรียนก่อนที่จะไปเข้าแถวสาย ซึ่งเมื่อไปถึงที่โรงเรียนแล้ว กิจกรรมแบบนี้ก็จะถูกทำซ้ำอีกรอบหนึ่ง ณ ที่ลานจอดที่โรงเรียนนี่เอง

ผมเคยถามแม่ว่า บ้านเรามีเจ้าไม้ห้ามจอดได้อย่างไร แม่ก็ตอบกลับง่ายๆ ว่า เห็นที่โรงเรียนเขามีใช้กันก็เลยอยากได้บ้าง เลยไปหาซื้อตาม

ในเมื่อเราต้องขับรถออกจากบ้าน หากใครมาแอบมาจอดขวางหน้าบ้านในตอนเช้า เราก็ไปโรงเรียนไม่ได้สิ แน่นอนว่าหากไม่ทำแบบนั้น ก็จะเกิดสถานการณ์ดราม่าในซอยแน่นอน และคำตอบจากแม่นั้นก็ทำให้ผมนึกขึ้นได้อีกว่า ไอ้เจ้าไม้ที่หน้าบ้านเรากับที่โรงเรียนมันคือแบบเดียวกัน ทั้งการทาสีและขนาด (?!)

ซึ่งสมัยก่อนเวลาใครจะมาเที่ยวบ้าน ผมก็มักจะบอกว่าหน้าบ้านฉันหาไม่ยาก สังเกตได้จากไอ้เจ้าไม้สีขาวแดงนี่แหละ นี่คือสัญลักษณ์บ้านฉันเอง ญาติๆ เองที่มาที่บ้านก็จะรู้กัน เขาก็จะกล้ายกไอ้ไม้นั้นออก แล้วจอดรถตัวเองเทียบแบบสบายๆ แตกต่างกับคนที่ไม่รู้จักหรือเพื่อนบ้าน ที่จะไม่กล้ายกมันจนกว่าจะได้รับการอนุญาตจากพ่อหรือแม่ของผม

เป็นที่น่าสนใจว่าเพียงแท่งไม้เล็กๆ อันเดียวนั้นสามารถสร้างอาณาเขตเชิงพื้นที่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม้ขนาดความกว้างคูณยาวไม่เกิน 30×30 เซนติเมตร กลับมีความสามารถครอบครองพื้นที่ได้ถึง 12 ตารางเมตร หรือ 2.40×5.00 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่จอดรถมาตรฐาน

และแล้วผมก็มาพบในตอน ม.ปลาย ตอนติวความถนัดทางสถาปัตย์พื้นฐานอีกทีว่า ทฤษฎีการสร้างพื้นที่ว่างนั้นไม่จำเป็นต้องสร้างระนาบผนังหรือก่อกำแพง เพียงเราสร้างจุดบางอย่างตามมุมพื้น หรือว่ายกพื้นมาสัก 10 เซนติเมตร หรือว่าการที่เราวางโต๊ะตัวหนึ่งไว้กลางที่โล่ง เราก็สามารถเห็นขอบเขตและกรอบการใช้งานพื้นที่ว่างขึ้นมาเองทันที เห็นว่าเก้าอี้จะต้องมีกี่ตัว คนยืนล้อมโต๊ะได้กี่คน จะต้องเว้นให้คนเดินตรงไหน โดยไม่ต้องสร้างผนังกำหนดอะไรเลย

ผมว่าไอ้ไม้สีขาวแดงหน้าผมกำลังทำหน้าที่ในการสร้างพื้นที่ที่ไร้ผนังอยู่นั่นเอง

กระทั่งผมเรียนจบสถาปัตย์จากมหา’ลัย ไอ้เจ้าไม้แท่งนั้นก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมหน้าบ้านของมันที่เคยเสียแล้ว รถคันใหม่ถูกจอดทับไปแทนมันที่หน้าบ้าน บ้านผมมีรถ 2 คัน ซึ่งกลายเป็นว่าตอนนี้เวลาต้องเอารถคันที่อยู่ในบ้านออกมาใช้ ต้องมีอีกคนเอารถอีกคันวิ่งออกตาม เวลาใครจะมาเที่ยวบ้านก็จะต้องเอารถหน้าบ้านขับวนไปจอดที่อื่นก่อน

เสมือนว่าไม้ห้ามจอดเล็กๆ ที่ทำหน้าที่อยู่ที่หน้าบ้านมาช้านาน กลับถูกแปรสภาพกลายเป็นพื้นที่ของที่จอดของรถคันหนึ่งจริงๆ ไปเสียอย่างนั้น

 

ห้ามลักหน้าบ้าน

เมื่อกลับมาดูว่าอะไรคือการห้ามจอดของบ้านเมืองเราจริงๆ แล้ว พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 หมวด 4 การหยุดรถและจอดรถ ได้มีมาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้หยุดขับขี่เป็นประเด็นไว้ 8 แบบลักษณะไว้ดังนี้

(1) ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง (2) บนทางเท้า (3) บนสะพานหรือในอุโมงค์ (4) ในทางร่วมทางแยก (5) ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ (6) ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ (7) ในเขตปลอดภัย (8) ในลักษณะกีดขวางการจราจร

พอลองดูในทุกลักษณะข้อห้ามแล้ว มันก็จะมีหัวข้อ (6) ที่ดูจะเกี่ยวข้องกับกรณีการห้ามจอดบริเวณหน้าบ้านที่มีเจ้าที่เจ้าของ และ (5) ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุด ที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับการห้ามจอดด้วยที่กั้น เพียงแต่ว่าสำหรับในกฏหมายตัวนี้น่าจะเป็นพื้นที่ในกรณีของเจ้าหน้าที่จราจรและในทางกฎอาคารจอดรถ

จริงๆ แล้วที่วางกั้นการฟรีพาร์กกิ้งแบบบ้านๆ นั้น อาจจะไม่ได้เข่าข่ายใดๆ เลย กล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการพื้นถิ่นแบบนอกลู่ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการถูกยึดพื้นที่หน้าบ้านจากรถใครก็ไม่รู้

จากปัจจัยการที่ต้องเอารถของตนออกมาจากบ้าน ในขณะที่พื้นที่ทางเท้าตามกฎหมายไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งในทางเทคนิคเราก็จะเห็นโดยทั่วกันว่าสามารถทำได้ แต่ในทางกฎหมายก็ไม่แน่ชัดนัก

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับการได้เห็นที่กั้นในการป้องกันการฟรีพาร์กกิ้งโดยทั่วไปแล้ว เราจะพบว่าวิธีออกแบบนั้นจะมีลักษณะเป็นการใช้อุปกรณ์มาประยุกต์ ซึ่งมีความค่อนข้างหลากหลายและมีความครีเอทีฟประมาณหนึ่ง

จากการที่ผมได้ไปสำรวจและสังเกตมา ทำให้เราแบ่งประเภทได้ ดังนี้

1. แท่งไม้หรือท่อ PVC ที่ด้านฐานหล่อเป็นก้อนคอนกรีตในถัง-รูปแบบนี้จะเป็นลักษณะการกั้นที่จอดแบบเบสิก นอกจากดูเข้าใจง่ายว่าตรงนี้ห้ามจอด ด้วยตัวคอนกรีตก้อนที่ปลายพื้นเองค่อนข้างมีน้ำหนัก ทำให้คนที่คิดจะมายกออกเมื่อมาจับยกแล้ว จะต้องคิดอีกทีว่าควรยกไหมเพราะมันหนัก ซึ่งวิธีการทำอาจจะดูเหมือนง่าย จริงๆ ต้องบอกให้รู้ไว้ว่า การหล่อคอนกรีตก้อนหนึ่งนั้นไม่ง่าย แต่เราก็จะเห็นรูปแบบที่คนทั่วไปเขาทำกันเองจริงๆ เยอะมาก (แบบขายสำเร็จรูปก็มีนะ)

ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด

2. แท่นกั้นประกอบแบบ DIY – เป็นที่กั้นอีกรูปแบบที่เจอบ่อยๆ โดยคาดว่าเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องจากข้อ 1. เพราะว่าจะเป็นการประดิษฐ์อุปกรณ์ขึ้นมาเอง เพียงว่าไม่ได้เลือกวัสดุเป็นคอนกรีต แต่จะเป็นการประกอบเศษไม้เหลือใช้หรือเศษเหล็กต่างๆ และนำสร้างหน้าที่ใหม่ที่ทรงคุณค่า

ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด

3. เก้าอี้ไม้หรือเก้าอี้พลาสติก – นอกจากเก้าอี้จะมีไว้นั่งแล้ว ทั้งเก้าอี้ไม้และเก้าอี้พลาสติกยังสามารถเป็นทุกอย่างให้เธอแล้วอย่างตอนเก่าๆ ที่ผมเคยเขียนไว้ ซึ่งในการสร้างพื้นที่ห้ามจอดเอง เราก็จะพบการใช้เก้าอี้พลาสติกนี่แหละบ่อยมากๆ เข้าใจได้ว่ามันเบาและก็ยกไปมาง่าย ตอนไหนไม่ให้จอดก็เอามานั่ง นึกใจดีตอนไหนก็ยกมันไปเก็บละกัน 

ป้ายห้ามจอด

4. อุปกรณ์เบ็ดเตล็ด – ในเมื่อจาก 3 ข้อที่ผ่านมานั้นยากไป เราก็เอาของที่ใกล้ๆ ตัวเรานี่แหละนำมาใช้ ไม่ว่าจะราวตากผ้า กระถางต้นไม้ ถังปี๊บ เศษไม้พาเลท ยางรถยนต์ หรืออะไรก็ได้ที่จะพอคิดออกละกัน

ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด

จากทั้งหมดที่ผมได้ออกไปสำรวจและเจอมานั้น เข้าใจได้ว่ารูปแบบเหล่านี้มักจะถูกพัฒนาและลอกเลียนวิธีการใช้งานมาจากพวกรั้วกั้นและกรวยจราจรนี่แหละครับ

แม้ว่าด้วยกรอบองค์ความรู้ของผมเองอาจไม่สามารถเคาะได้ว่าวิธีการใช้วัตถุกั้นรถเหล่านี้มีความชอบธรรมแค่ไหน และด้วยวัฒนธรรมรถยนต์ส่วนตัวของบ้านเราที่มีปริมาณมาก ก็คงไปสัมพันธ์กับเหตุของการเกิดขึ้นของพื้นที่ห้ามจอดเหล่านี้ทั่วบ้านเมืองของเรา

แต่ในเชิงรูปแบบการใช้พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมแล้ว นี่นับเป็นรูปแบบการใช้สเปซที่น่าสนใจและควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาทางออกของงานดีไซน์ที่ดีต่อใจของทุกฝ่าย ทั้งคนอยากจอดและคนที่ห้ามจอด ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องมานั่งถกกันในหลากประเด็นเลยเชียว

สุดท้าย…ท้ายสุด ผมได้เจอบทคัดย่อจากผลงานภาพถ่ายศิลปะของ คุณอัครา นักทำนา ในผลงานภาพถ่ายชุด Landlords (เจ้าที่) ซึ่งเป็นผลงานตั้งคำถามในเรื่องที่คล้ายกับสิ่งที่ผมตั้งไว้ ก็คือเรื่องการวางสิ่งของริมทางจนเป็นเจ้าที่เจ้าของพื้นที่ตรงนั้นๆ

บทคัดย่อกล่าวไว้ว่า “การวางสิ่งของริมข้างทางในเมืองไทยสามารถสังเกตเห็นได้โดยง่ายเพียงออกไปตามริมถนน หรือในตรอกซอกซอย ตั้งแต่สิ่งธรรมดาสามัญไปจนถึงสิ่งแปลกพิสดาร..เหล่านี้อาจเป็นเพียง ‘วัฒนธรรมแบบไทยไทย’ ที่สั่งสมกันมานานจนผนวกรวมเข้ากับวิถีชีวิตในทุกวันนี้ได้อย่างไร้ที่ติ หรือเป็นเงาสะท้อนถึงการใช้อำนาจแบบไทยไทยที่เริ่มต้นจากเข้ายึดพื้นที่เล็กๆ น้อยๆ จนสามารถแผ่อำนาจเข้าครอบครองพื้นที่ราวกับเป็นเจ้าของที่ที่แท้จริง และท้ายที่สุดเจ้าของเดิมก็ยอมรับอำนาจนั้นอย่างไร้ถ้อยคำโต้แย้ง”

จริงแท้แล้ว พื้นที่ห้ามจอดด้วยการวางสิ่งของที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้อำนาจไทยๆ ระดับท้องถิ่นประเภทหนึ่งนั่นเอง

ขอให้สามารถหาที่จอดพักรถได้รวดเร็วตามที่ต้องการ และได้ที่ร่มไม่ให้เบาะข้างในรถต้องตากแดดนะครับ

สำหรับตอนนี้ สวัสดีครับ

ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด ป้ายห้ามจอด

บรรณานุกรม

https://car.kapook.com/view188677.html
http://www.akkaranaktamna.com/series/Landlord/
http://web.krisdika.go.th

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น