11 สิงหาคม 2018
7 K

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัต​น์ ประทานสัมภาษณ์ในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี 2553 ว่าด้วยกรุงปารีส ตรัสถึงสวนบากาแตล (Jardin de Bagatelle) ว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 โปรด เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนผู้เขียน (อีกคนหนึ่ง) ที่พำนักอยู่ที่ปารีส จึงถือโอกาสชักชวนกันไปตามหาสวนแห่งนี้

บากาแตลเป็นชื่อสวนที่เราไม่คุ้นเคยนัก เมื่อพูดถึงสวนสาธารณะในกรุงปารีส หลายคนน่าจะคุ้นชื่อสวนตุยเลอรี (Jardin des Tuileries) หรือสวนลุกซ็องบูร์ (Jardin du Luxembourg) ที่กว้างใหญ่และตั้งอยู่ใกล้สถานที่ท่องเทียวในศูนย์กลางเมืองมากกว่า สวนบากาแตลตั้งอยู่ในอาณาบริเวณของสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เรียกว่าป่าบูลอญน์ (Bois de Boulogne) ในเขต (Arrondissement) ที่16 ทางทิศตะวันตกของกรุงปารีส

 

ที่เรียกว่าป่าบูลอญน์ก็เพราะสมัยก่อนที่แห่งนี้เป็นป่าใหญ่สำหรับบรรดาบูรพกษัตริย์ฝรั่งเศสเสด็จมาทรงล่าสัตว์ แต่เมื่อเวลาผันผ่าน สังคมเมืองขยายตัว ผืนป่าแห่งนี้ก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเมื่อถนนตัดผ่าน ผู้คนจึงเริ่มมาเดินเล่นวิ่งเล่นชมนกชมไม้ กระนั้นความเป็นป่าก็ยังไม่สูญสลายหายไป เมื่อเข้ามาถึงเขตป่าบูลอญน์ ผู้เขียนคนที่ไม่ได้พำนักอยู่ที่ปารีสถึงกับตกอกตกใจว่านี่เราอยู่ที่ไหนกัน ช่างไกลจากภาพอารยธรรมปารีสที่เคยรู้จัก ด้วยความกว้างใหญ่ไพศาลของสวนและความครึ้มตะหง่านสุดลูกหูลูกตาของต้นไม้นานาพันธ์ุจะเรียกว่าป่าก็สมควรอยู่

ปราสาทบากาแตล,arc de Bagatelle,พระราชินี,สวนบากาแตล,Jardin de Bagatelle

อาณาบริเวณกว่า 9.45 ตารางกิโลเมตรของป่าเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้ง Villa Windsor ที่ประทับจวนจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ของอดีตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักรผู้สละราชย์มาเป็นดยุกแห่งวินด์เซอร์, ลานการละเล่น (Plaine de Jeux de Bagatelle-ที่คณะละครสัตว์ชื่อก้องโลก เซิร์ก ดู โซเลย (Cirque Du Soleil) มักมาเช่าเพื่อตั้งเต็นท์การแสดงทุกปี), อาคารมูลนิธิหลุยส์ วิตตง ที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย, อาคารและสวนมูลนิธิกู๊ด แพลเน็ต, สนามม้า (Hippodrome de Longchamp) ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จฯ ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อปี 2440 (และทรงพระอักษรไปถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ว่า “กลับมากินเข้ากลางวันแล้วไปดูแข่งม้า ไม่เกิดความสนุกเลย”)

ปราสาทบากาแตล,arc de Bagatelle,พระราชินี,สวนบากาแตล,Jardin de Bagatelle

พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) ผู้จดบันทึกจดหมายเหตุการเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนั้น บันทึกถึงป่าบูลอญน์ไว้ว่า “วะนะใหญ่ บัวเดอบูลอญ เป็นที่สำราญของชนชาวกรุงปาริศในเวลาบ่ายทุกๆ วัน คือเป็นที่ป่าละเมาะเต็มไปด้วยสนามหญ้าเตียน มีต้นไม้ร่มรื่นเปนละเมาะๆ แลมีสระน้ำในป่าละเมาะนี้ มีถนนใหญ่ไปมาได้สบาย มีชายหญิงแต่งกายงามมาเที่ยวเตร่” ผ่านไปกว่า 120 ปีภาพเดิมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก

ปราสาทบากาแตล,arc de Bagatelle,พระราชินี,สวนบากาแตล,Jardin de Bagatelle

 

 

แม้จะมีแผนที่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องนำทางไปยังจุดหมาย แต่ด้วยความวกวนของป่าประกอบกับความหลงทิศหลงทาง กว่าจะถึงสวนบากาแตล เราหลงผ่านสวนเล็กสวนน้อยที่ประกอบไปด้วยชะง่อนชะแง่นหินตะหง่านงุ้ม เมื่อไปเจอภาพในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ป่าแห่งนี้ในนิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจกที่หอศิลป์เจ้าฟ้าเมื่อเดือนที่แล้ว เลยทั้งตื่นเต้นและคาดเดาแบบมโนๆ ว่าเป็นตรงนี้ใช่ไหมหนอ ที่พวกเราไปเดินหลงกันมา

และเราก็ถึงสวนสาธารณะบากาแตล (Parc de Bagatelle) ที่ประกอบไปด้วยปราสาทบากาแตล (Château de Bagatelle) และสวนบากาแตล (Jardin de Bagatelle)

คำว่าบากาแตล (Bagatelle) เป็นคำนามเพศหญิง ตามพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส-ไทย โดย น.อ. ศิริ พงศทัต ร.น. ได้ให้คำแปลไว้ว่า ‘ของถูก’ ‘ของไม่สำคัญ’ ในพจนานุกรมฝรั่งเศส-ฝรั่งเศสลารูซก็ได้เสนอคำแปลไปในทำนองเดียวกันว่า ‘สิ่งไร้สาระ ของที่ไม่สำคัญ’ ‘ของไม่มีค่าและไม่สำคัญ’ แต่ในขณะเดียวกันก็ปรากฏการใช้คำนี้ในหมู่ชนชั้นสูงในแบบอวพจน์ (การกล่าวน้อยกว่าความเป็นจริง) เมื่อพูดถึงสิ่งของราคาแพงมากเช่นกัน  พื้นที่ตรงบากาแตลเป็นทั้ง ‘ของไร้สาระ’ และ ‘ราคาแพงมาก’ ตามชื่อ

บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ เชื้อพระวงศ์ และขุนนางฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18 ได้รับที่ดินบริเวณนี้ตกทอดมาตามการพระราชทานจากกษัตริย์ ทว่าต้องเสียเงินไปเป็นจำนวนมากเพื่อปรับปรุงพื้นที่ป่ารกชัฏและสิ่งก่อสร้างขนาดเล็กรอบๆ ที่แสนจะผุพัง อาคารสำคัญในบริเวณนี้ย่อมไม่พ้นปราสาทบากาแตล เจ้าของที่มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นผู้สร้างปราสาทขึ้นใหม่จนสวยงามดังที่ปรากฏเค้าในปัจจุบันคือ ท่านเคานต์แห่งอาร์ตัว (ชาร์ล-ฟิลิปป์แห่งฝรั่งเศส) พระเชษฐาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ผู้ซึ่งในอนาคตได้ขึ้นครองราชย์ในลำดับต่อมาเป็นพระเจ้าชาร์ลที่ 10  

ปราสาทบากาแตล,arc de Bagatelle,พระราชินี,สวนบากาแตล,Jardin de Bagatelle

ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา พระนางมารี-อังตัวแนตได้พนันกับท่านเคานต์ว่าหากท่านเคานต์ทำการบูรณะตกแต่งปราสาทบากาแตลแสนเก่าโทรมนี้จนสวยงามได้ภายในเวลา 2 เดือน ก็จะได้เงินรางวัลไป 100,000 ปอนด์ 2 เดือนหลังจากพระนางเสด็จฯ กลับมาจากแปรพระราชฐาน อาคารเดิมถูกทุบ และปราสาทบากาแตลใหม่ก็สร้างเสร็จสวยงามดังเนรมิต ภายในอาคารตกแต่งอย่างละเอียดลออ ทั้งภายนอกอาคารยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นประดับและมีรูปปั้นสฟิงซ์อีก 2 ตัวสวยเก๋ตามสมัยนิยม ด้วยขัตติยมานะท่านเคานต์ก็ชนะพนันไปได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะท่านได้จ้างช่างฝีมือดีจำนวนมากทำงานบูรณะและตกแต่งปราสาทอย่างหามรุ่งหามค่ำ หมดเงินค่าบูรณะไปทั้งสิ้น 1 ล้านปอนด์ มองเป็นมูลค่าเงินย่อมต้องว่าขาดทุน แต่เรื่องของศักดิ์ศรี เป็นเรื่องทำนอง ‘ฆ่าได้ หยามไม่ได้’

ปราสาทบากาแตล,arc de Bagatelle,พระราชินี,สวนบากาแตล,Jardin de Bagatelle

ปราสาทบากาแตลเป็นปราสาทขนาดเล็กกะทัดรัด สมกับประโยคภาษาละตินที่จารึกไว้เหนือประตูว่า ‘parva sed apta’ แปลความได้ว่า ‘(แม้จะ) เล็ก หากแต่เหมาะสม (กับข้า) แล้ว’ ปราสาทบากาแตลมีเพียงไม่กี่ห้องเท่านั้น เช่น ห้องดนตรี ห้องทานอาหาร แม้จะได้ชื่อว่าปราสาท แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ที่ไว้อาศัยอยู่ เป็นเหมือนอาคารรับรองแขกของชนชั้นสูงมากกว่า (จึงมีคำเรียกปราสาทชนิดนี้ว่า Folie ที่แปลตรงตัวว่า ความบ้าคลั่ง หรือความขาดสติ

เพราะการซื้อหรือสร้างปราสาทอาคารสักหนึ่งหลังเพียงเพื่อไว้แทนห้องรับแขกก็ออกจะเป็นความฟุ่มเฟือยที่คนธรรมดาเข้าไม่ถึง ปราสาทบากาแตลเลยมีอีกชื่อหนึ่งว่า Folie d’Artois หรือปราสาท / ความบ้าคลั่งชองท่านเคานต์แห่งอาร์ตัว) เจ้าของปราสาทบากาแตลแต่ละคนซื้อปราสาทและใช้สถานที่นี้ไว้ทำเรื่องไร้สาระตามชื่อ คือเป็นที่ให้มาพักผ่อนระหว่างวัน เล่นไพ่เล็กๆ น้อยๆ พบปะสังสรรค์ หรือนัดพบกับชู้รัก  

อีกไฮไลต์ของสวนแห่งนี้เห็นจะเป็นสวนกุหลาบซึ่งเป็นสวนใหญ่อยู่ตรงข้ามกับสวนส้มหลังปราสาทบากาแตล สวนกุหลาบบากาแตลเป็นสวนแบบฝรั่งเศสที่เต็มไปด้วยทางเดินเรียบ ยาว ตรง เป็นระเบียบ แบ่งผืนที่สวนเป็นบล็อกทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและวงกลม ในแต่ละแถวมีกุหลาบงามหลายพันธุ์ หลากสีสัน พร้อมป้ายปักที่ให้ความรู้แก่ผู้มาเยี่ยมชม ป้ายบอกทั้งชื่อพันธุ์กุหลาบแปลกใหม่ต่างๆ สายพันธุ์ที่ใช้ผสมและชื่อเกษตรกรผู้ปลูก ตรงสุดสวนสี่ทิศมีซุ้มโค้งให้กุหลาบชนิดเถาพันเลื้อยสวยงาม ราวกับอยู่ในฝัน

ปราสาทบากาแตล,arc de Bagatelle,พระราชินี,สวนบากาแตล,Jardin de Bagatelle

สวนกุหลาบนี้ที่จริงแล้วเป็นโครงการของทางสภาเทศบาลกรุงปารีส มีการริเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1880 ใช้เวลา 25 ปีกว่าจะได้รับการอนุมัติในปี1905 โครงการสวนกุหลาบเรียกได้ว่าเกิดขึ้นจากความเป็นอริระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ ฝรั่งเศสต้องการจะทำสวนพฤกษศาสตร์ที่มีความทัดเทียมกับสวนคิว (Kew  Gardens) ของอังกฤษและได้ไปศึกษาดูงานเบื้องต้นที่สวนคิวมาแล้ว

แต่เมื่อเริ่มจัดสวนบากาแตลจริงใน ค.ศ. 1906 สวนกลายเป็นสวนที่รวบรวมแต่เพียงพันธุ์กุหลาบเพียงอย่างเดียว โดยทางเทศบาลได้เชิญนายฌูล กราเวอโร (Jules Gravereaux) ผู้เชี่ยวชาญด้านกุหลาบและพืชสวนมาเป็นผู้รับผิดชอบ นายกราเวอโรเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของห้างสรรพสินค้าบงมาร์เชที่มีมาจนปัจจุบัน เมื่อกิจการค้าเฟื่องฟู นายกราเวอโรหันมาสนใจการทำสวนในคฤหาสน์ของตนที่ไลย์ (L’Haÿ) ชานกรุงปารีส

โดยเฉพาะสวนที่มีเพียงพืชชนิดเดียวคือกุหลาบ จึงนับเป็นสวนกุหลาบแบบทันสมัยแห่งแรก นายกราเวอโรได้รวบรวมกุหลาบทุกสายพันธุ์บนโลกไว้ในสวนของตน ทั้งกุหลาบป่า 800 สายพันธุ์ และกุหลาบบ้าน 6,000 สายพันธุ์ แต่ในพื้นที่ปัจจุบันที่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์กุหลาบเหลือเพียงไม่กี่สายพันธุ์ เพราะถูกขโมยและเกิดไฟไหม้ขึ้น นับตั้งแต่ ค.ศ. 1914 พื้นที่ตรงคอมมูนไลย์ถูกเรียกว่า ‘ไลย์เล-รอส’ (L’Haÿ les-Roses) นำคำว่ากุหลาบมาต่อท้ายเพื่อเป็นการให้เกียรติสวนกุหลาบของนายกราเวอโร

ปราสาทบากาแตล,arc de Bagatelle,พระราชินี,สวนบากาแตล,Jardin de Bagatelle

เมื่อได้ผู้เชี่ยวชาญมาดูแลโดยตรง สวนกุหลาบบากาแตลจึงแสนพิเศษ เพราะเป็นทั้งสถานที่รวบรวมพันธุ์กุหลาบต่างๆ หลากสายพันธุ์ ซึ่งเหล่าผู้เพาะพันธุ์กุหลาบและผู้เชี่ยวชาญด้านไม้พุ่มได้คัดเลือกพันธุ์ที่สีสวยงามและโดดเด่นที่สุดจากสวนกุหลาบไลย์ (L’Haÿ) ทั้งจากกุหลาบป่า 800 สายพันธุ์ และกุหลาบบ้าน 6,000 สายพันธุ์ จนเหลือ 170 สายพันธุ์ หลายพันธุ์เป็นกุหลาบที่เคยอยู่ในสวนกุหลาบของพระจักรพรรดินีโฌเซฟีนในจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต ที่ปราสาทมาลเมซง

ซึ่งกุหลาบเหล่านั้นได้สูญหายไปตามกาลเวลาเมื่อ 100 ปีก่อน นายกราเวอโร ผู้เชี่ยวชาญด้านกุหลาบ สามารถเพาะพันธุ์กุหลาบที่สูญหายไปเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ สวนจึงมีทั้งคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (พฤกษศาสตร์) นอกจากนี้ที่แห่งนี้ยังยังเป็นเวทีประกวดเพื่อเฟ้นหากุหลาบงามสายพันธุ์ใหม่ประจำปีในระดับนานาชาติ นับตั้งแต่ ค.ศ.1906 นายกราเวอโรและนายฟอแรสตีเย (Forestier) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ปรากฏว่านักจัดสวน นักเพาะพันธุ์กุหลาบ และประชาชนทั่วไป ต่างสนใจการประกวดนี้เป็นอย่างมาก มีผู้เข้าแข่งขันมากกว่า 58 คน และเป็นชาวต่างชาติถึง 31 คนด้วยกัน

ปัจจุบันสถานที่นี้จึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบดอกไม้และธรรมชาติอันสวยงาม สวนแห่งนี้ยังเลี้ยงนกยูงไว้ด้วยและปล่อยให้พวกมันได้เดินเฉิดฉายในสวนสวยได้อย่างอิสระเสรี วิธีมายังสวนบากาแตลที่สะดวกที่สุดเห็นจะเป็นการหาทางมาลง Metro สาย 1 ที่สถานี Pont de Neuilly และต่อรถเมล์สาย 43 หรือ 93 มาลงที่สถานี Place de Bagatelle แล้วเดินต่อเข้ามาที่สวน สวนมีค่าเข้าชม 2.5 ยูโร ซึ่งรับรองได้ว่าเป็นเม็ดเงินที่แสนคุ้มค่าน่าประทับใจ

ปราสาทบากาแตล,arc de Bagatelle,พระราชินี,สวนบากาแตล,Jardin de Bagatelle

เรื่องและภาพ: Petite Penpusher, นักรบ มูลมานัส

อ้างอิงจาก

  • QUELLERN, L de, Le Château de Bagatelle étude historique et descriptive suivie d’une notice sur la roseraie, Paris: Charles Foulard, 1909, 93 p.
  • พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชทานแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ในเวลาที่ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. 2440
  • จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.116 พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ)
  • นิตยสารแพรว ฉบับที่ 733 10 มีนาคม 2553
  • www.parisinfo.com/musee-monument-paris/71484/Chateau-de-Bagatelle
  • jardin-secrets.com/jules-gravereaux-article-603,964,fr.html
  • www.linternaute.com/ville/l-hay-les-roses/ville-94038
  • www.jardinsdefrance.org/jules-gravereaux-une-vie-pour-les-roses/

Writer

Avatar

Petite Penpusher

มนุษย์คนหนึ่ง ผู้เสพติดการเขียน การอ่าน การสังเกตผู้คนและการดื่มชาไข่มุก

Photographer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง