25 มิถุนายน 2018
2 K

วันหนึ่งที่ปารีสอากาศร้อนอบอ้าว ผู้เขียนชวนเพื่อนไปเดินเล่นในสวนแก้ร้อน แต่สุดท้ายกลายเป็นร้อนกว่าเดิมเพราะสวนที่เราตั้งใจจะชวนกันไปดูต้องเข้าคิวรอชมกลางแดดจ้า สวนนี้เป็นสวนในทำเนียบนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส ซึ่งปกติไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสวนที่สวยที่สุดของฝรั่งเศสและเป็นหนึ่งในสวนที่ใหญ่ที่สุดของปารีส

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

Credit : Chatsam gallery

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

Credit : Frédéric de Goldschmidt (www.frederic.net)

โอแตล เดอ มาตินญง (Hôtel de Matignon) หรือทำเนียบนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส เป็นที่พักประจำตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามชื่อ (ตามคำศัพท์ถึงจะมีคำว่าโรงแรม (hôtel) อยู่ แต่อาคารนี้เป็นอาคารประเภท hôtel particulier หมายถึงที่พักอาศัยของผู้มีอันจะกิน ไม่ได้หมายถึงโรงแรมอย่างที่เราเข้าใจกันตามปกติ) แต่เดิมที่นี่เป็นที่พักอาศัยของขุนนางมีตระกูลสมัยศตวรรษที่สิบแปด (ค.ศ. 1719) ก่อนจะถูกยึดและรัฐบาลทำการซื้อต่อในปี ค.ศ. 1934  ปัจจุบันผู้ที่อาศัยอยู่ในโอแตล เดอ มาตินญง คือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน นาย เอดูอาร์ ฟิลิปป์ (Édouard Philippe)

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

Credit : Perguillaume

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน มีนิทรรศการสวนต่างๆ ในปารีสประจำปี คณะรัฐบาลจึงเปิดให้ประชาชนเข้าชมสวนนี้เป็นกรณีพิเศษในวันที่ 2 และ 3 มิถุนายนเท่านั้น เมื่อผู้เขียนได้ข่าวจึงได้รีบชวนเพื่อนไปดังว่า แต่วันนั้นปารีสอากาศร้อนเกือบสามสิบองศา สูสีกับที่ไทยทีเดียว ยังไม่นับการยืนเข้าคิวกลางแดดจ้าในยามบ่าย จะหยิบร่มมากางบังแดดก็ไม่ได้ เพราะธรรมเนียมฝรั่งปัจจุบันจะถือร่มกันก็ตอนฝนตกเท่านั้น อีกทั้งการรักษาความปลอดภัยอันเข้มงวดทำให้ต้องใช้เวลากว่าเจ้าหน้าที่จะยอมให้เข้าไปได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานกันอย่างขะมักเขม้นแม้อากาศร้อน ทุกคนใส่เสื้อกันกระสุนเดินตรวจตราไปมา ตรงประตูทางเข้าขั้นตอนการรักษาปลอดภัยมีตั้งแต่การนำกระเป๋าเข้าเครื่องแสกน ตามด้วยการแสกนตัวบุคคล เจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋าถืออย่างละเอียด ซึ่งทั้งหมดมีความคล้ายสนามบิน แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้นจนได้

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

“นี่อะไรครับ”

เจ้าหน้าที่ตำรวจชูขวดชารสพีชของผู้เขียนขึ้นมาแล้วทำหน้าเคร่ง เมื่อตอบไปว่าเป็นชา เจ้าหน้าที่ก็พูดต่อว่า “ช่วยดื่มให้ดูด้วยครับ”

ผู้เขียนก็ดื่มไปอย่างงงๆอึกสองอึก จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ทำหน้าวางใจ และยิ่งวางใจเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อเห็นว่าผู้เขียนพกสเปรย์น้ำแร่ยี่ห้อของฝรั่งเศสติดกระเป๋าไว้ด้วย (จริงๆนั่นไม่ใช่เหตุผลที่ดี อาจจะมีผู้ร้ายที่รักสวยรักงามอยู่บนโลกนี้ก็ได้)
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนค่อยสังเกตเห็นว่า ทุกคนที่จะเข้ามาในสวนและมีขวดน้ำติดตัว (ซึ่งเกือบทุกคนมี เพราะอากาศร้อนมาก) จะต้องดื่มน้ำให้เจ้าหน้าที่ดูคนละอึกทั้งนั้น เลยค่อยเข้าใจว่าน่าจะเป็นวิธีพิสูจน์ว่าของเหลวที่พกติดตัวเป็นน้ำดื่มจริงๆ ไม่ใช่สารทำระเบิด แต่กระนั้นนี่ก็น่าจะเป็นมาตรการใหม่ที่เพิ่งมี ผู้เขียนและเพื่อนเลยเรียกขั้นตอนนี้กันเล่นๆ ว่าการดื่มน้ำสาบานตนก่อนจะเข้าชมสวน    

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

ในที่สุดก็ได้เข้าสวนแห่งมาตินญง สวนแห่งนี้มีพื้นที่ราวสามหมื่นตารางเมตร เป็นพื้นที่สีเขียวกว้างขวางใจกลางเขตเจ็ดของปารีส ทางเดินร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ หากสังเกตดีๆ ต้นไม้หลายต้นจะมีป้ายโลหะติดเอาไว้ พร้อมชื่ออดีตนายกรัฐมนตรี เพราะทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเข้ารับตำแหน่ง ก็จะปลูกต้นไม้หนึ่งต้นภายในสวนที่ทำเนียบนี้ โดยจะเลือกปลูกต้นไม้พันธุ์ใดก็ได้ ธรรมเนียมนี้มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 นับถึงปัจจุบันมีต้นไม้ที่นายกรัฐมนตรีปลูกทั้งสิ้น 13 ต้น รวมต้นแอปเปิลที่นายเอดูอาร์ ฟิลิปป์ ปลูกในปี 2017 ด้วย นอกจากนี้ใต้ต้นแมกโนเลียกลางสนามหญ้ายังมีป้ายหลุมศพสุนัขและแมวของอัครราชทูตแห่งออสเตรีย-ฮังการี เพราะโอแตล เดอ มาตินญงเคยเป็นทำเนียบอัครราชทูตออสเตรีย-ฮังการีมาก่อน

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

Credit : Yves Malenfer/Matignon

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

Credit : Yves Malenfer/Matignon

สวนนี้มีนักจัดสวนชื่อดังของยุคมาออกแบบภูมิทัศน์ถึง 2 คน แต่ละคนก็มีผลงานโดดเด่นในแต่ละยุคสมัย คนแรก โกลด แดสโก (Claude Desgots) หลานชายของนักจัดสวน นักจัดวางภูมิทัศน์และสถาปนิกชื่อก้อง อังเดร เลอ นอตร์ (André Le Nôtre) ญาติของเขา เลอ นอตร์ หรือ “บิดาแห่งสวนแบบฝรั่งเศส” เป็นนักจัดสวนประจำพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ผลงานของเขาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือสวนเรขาคณิตในพระราชวังแวร์ซาย ซึ่งโกลด แดสโก เป็นหนึ่งในทีมงานของเลอ นอตร์ จนกระทั่งมามีชื่อเสียงในศตวรรษที่สิบแปด

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

Credit : André Le Nôtre โดย Carlo Maratta

ร่องรอยของสวนสไตล์ฝรั่งเศสที่เขาออกแบบและยังหลงเหลือจนปัจจุบันคือต้นไม้ประดับในบางจุดที่ตกแต่งเป็นรูปกรวย และทางเดินกลางสวนเป็นเส้นตรงยาวและสองข้างประดับด้วยต้น tilleul (พืชตระกูลไลม์) เขียวชอุ่ม ต้นไม้ถูกตัดแต่งให้เป็นทรงเหลี่ยมปลายยอดเท่ากัน หากมองจากด้านบนอาคาร จะเห็นเป็นบล็อกต้นไม้หนาขนาบซ้ายขวาสีเขียวสวย แต่หากลงไปเดินเล่นในสวน ต้นไม้นี้จะถูกเล็มในระดับเหนือศีรษะ ทำให้ยังคงให้ความร่มรื่นแก่ผู้อาศัย แดสโกยังคงสืบทอดรสนิยมในการจัดสวนของเลอ นอตร์ กล่าวคือ ใช้เส้นตรงและการตัดแต่งต้นไม้เป็นทรงเรขาคณิต สะท้อนถึงความนิยมศิลปะคลาสสิคในศตวรรษที่สิบเจ็ด มนุษย์ยึดมั่นในเหตุผล ความมีระเบียบ และแสดงผ่านเส้นตรงและการแบ่งพื้นที่สวนอย่างสมมาตร การตัดแต่งต้นไม้เป็นรูปทรงที่แปลกประหลาดแสดงให้เห็นความสามารถของมนุษย์ที่มีอำนาจควบคุมธรรมชาติ

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

ในช่วงศตวรรษที่สิบเก้า ที่นี่ได้ถูกปรับภูมิทัศน์ด้วยการแต่งสวนแบบอังกฤษ ซึ่งมีรูปแบบตรงกันข้ามกับการแต่งสวนแบบฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง แต่ในปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยของสวนอังกฤษในทำเนียบแล้ว  (หากอธิบายโดยคร่าว สวนแบบอังกฤษเริ่มขึ้นในศตวรรษที่สิบแปดในอังกฤษตามชื่อ ลักษณะสวนเป็นการต่อต้านการจัดสวนแบบคลาสสิคอย่างรุนแรง เพราะสวนแบบอังกฤษจะเต็มไปด้วยต้นไม้ พุ่มไม้ บ่อน้ำที่จัดวางอย่างไม่สมดุล จนดูเสมือนว่าทั้งหมดมีอยู่ตามธรรมชาติ สิ่งที่มนุษย์สร้างกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ซึ่งตามความรู้สึกของผู้เขียน สวนแบบอังกฤษมีความเป็น “สวนป่า” อยู่มาก ยิ่งสุมทุมพุ่มไม้ที่มักจะปล่อยให้ขึ้นรกตามธรรมชาติ ช่างเป็นสวนที่เรียกงูได้เป็นอย่างดี แม้สวนอังกฤษจะเป็นที่นิยมในฝรั่งเศสอยู่บ้าง แต่เจ้าของโอแตล มาตินญง คิดถูกแล้วที่ทำการปรับภูมิทัศน์ในตอนต้นศตวรรษที่ยี่สิบ)

ในปีค.ศ. 1905 นักจัดสวนคนที่สองได้เข้ามาปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เป็นแบบสมัยใหม่ อาชิล ดูแฌ็น (Achille Duchêne) นักจัดสวนชื่อดังของยุคได้รื้อถอนแนวต้นไม้ยาวสองฝั่งด้านหน้าสุดออกทั้งหมดและปรับเป็นสนามหญ้า ไว้สำหรับจัดงานเลี้ยงในสวน เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย รับรองแขกของทำเนียบได้มากขึ้น ทำให้บนสนามหญ้ามีพื้นที่สำหรับวงออร์เคสตราและไว้วางอาหาร

จวบจนปัจจุบัน พื้นที่สวนในทำเนียบมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สะท้อนแนวคิดและนโยบายที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ปัจจุบันมุ่งเน้นในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายและการรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเรือนกระจกด้านข้างสวนที่ขุนนางเจ้าของเดิมในศตวรรษที่สิบเก้าเคยใช้เก็บพืชเมืองร้อน จึงถูกเปลี่ยนมาเป็นที่เก็บน้ำแข็งไว้ใช้ในหน้าร้อน ก่อนที่ปัจจุบันจะถูกปิดร้าง น้ำพุในสวนเหลือเพียงไม่กี่จุดและจะเปิดน้ำเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น

ตามทางเดินสวนมีเจ้าหน้าที่ของทำเนียบมาตั้งเต็นท์ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน ไม่น่าเชื่อว่ามีทั้งพื้นที่ปลูกผักสวนครัวและส่วนผลิตน้ำผึ้งไว้ใช้ภายในทำเนียบ พื้นที่ในสวนถูกปรับเป็นสนามหญ้ามากขึ้นในปัจจุบันเพื่อให้รองรับคนได้มากขึ้น มีอรรถประโยชน์ใช้สอยต่างๆ มากขึ้นตามที่ฝรั่งเศสตั้งใจจะวางตนเป็นแบบอย่างแก่ยุโรปในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงประชาชน สวนมิได้ถูกจำกัดไว้ให้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวอีกต่อไป

จากป้ายประกาศตามจุดต่างๆในสวนทำเนียบนายกรัฐมนตรีนั้น น่าสนใจมากว่ามิได้เห็นแค่เพียงสวนและต้นไม้ใบหญ้า หากแต่ยังมีแนวคิดและจุดมุ่งหมายต่างๆ ของผู้เป็นเจ้าของที่สอดแทรกอยู่อีกด้วย สมดังที่ชาวฝรั่งเศสถือกันว่าศิลปะแห่งการจัดสวนนี้เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ สวนถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของชาติ การที่รัฐบาลฝรั่งเศสเปิดสวนทำเนียบนายกรัฐมนตรีให้สาธารณชนเข้าชมมิได้เป็นเพียงการนำเสนอประวัติศาสตร์และมรดกทางวัฒนธรรม ยังเป็นการประกาศจุดยืนในอนาคตของตนอีกด้วย

สวนทำเนียบนายกฯ ฝรั่งเศส ที่ออกแบบโดยหลานนักออกแบบสวนพระราชวังแวร์ซาย

Credit : dominiopublico.gov.br

อ้างอิงจาก

  • https://www.gouvernement.fr/le-jardin-de-matignon
  • ป้ายประกาศในสวนที่จัดทำโดยทำเนียบ
  • https://www.sortiraparis.com/arts-culture/balades/articles/41326-rendez-vous-aux-jardins-2018-a-lhotel-matignon
  • https://www.fayard.fr/andre-le-notre-9782213661599
  • https://www.britannica.com/art/English-garden

Writer & Photographer

Avatar

Petite Penpusher

มนุษย์คนหนึ่ง ผู้เสพติดการเขียน การอ่าน การสังเกตผู้คนและการดื่มชาไข่มุก