หากปารีส เมืองหลวงแห่งแดนน้ำหอมมีคำขวัญประจำจังหวัดแบบไทยๆ คงเป็นอะไรประมาณ “หอไอเฟลคู่ธานี บารมีนอทเทรอดามฯ งานศิลป์งามเลิศล้ำ ครัวซองต์ปังบาเกตต์เด่น เเซนน์ไหลเย็นคู่หล้า หรูหรางานแบรนด์แนม” เพราะสิ่งที่กล่าวถึงนี้ ล้วนเป็นภาพจำของชาวโลกที่มีต่อมหานครอันเป็นอมตะแห่งนี้ทั้งสิ้น 

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
ตราประจำกรุงเทพมหานคร
ภาพ : logo-th.com
ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม

ต่างไปกับชาวปารีเซียง พวกเขาสืบทอดส่งต่อตราสัญลักษณ์ประจำเมืองมาเป็นเวลากว่าพันปี และปรับปรุงรูปลักษณ์ให้เข้ากับกาลสมัยอยู่เสมอ

ใน ค.ศ. 2019 เมืองปารีสได้เผยแพร่ตราสัญลักษณ์ของเมืองที่เป็นโลโก้รูปเรือในรูปแบบกราฟิกร่วมสมัย โลโก้ดังกล่าวออกแบบโดยสตูดิโอออกแบบชื่อ Carré Noir เทศบาลเมืองปารีสบรีฟ Carré Noir ว่าอย่างไรก็ตาม อัตลักษณ์ใหม่ของปารีสต้องเป็นรูปเรือที่ใช้สืบทอดเป็นตราประจำเมืองมายาวนาน สตูดิโอออกแบบแห่งนี้จึงเนรมิตนาวาแห่งปารีสขึ้นใหม่ จากกราฟิกเส้นเดียวที่โค้งตวัดฉวัดเฉวียน ทว่ายังคงไว้ซึ่งความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
ภาพ : carrenoir.com

Carré Noir เชื่อว่า “Paris is proud, Paris is beautiful, Paris is plural” ความเป็นพหูพจน์ของปารีสที่ไม่ได้ผูกโยงกับใครหรือคนกลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียวนี้เอง เป็นแรงบันดาลใจให้สตูดิโอออกแบบโลโก้ที่เรียบง่ายและเป็นมิตร
Carré Noir เลือกใช้สีน้ำเงินเข้มเป็นสีหลักของโลโก้ ด้วยเหตุผลที่ว่าสีเฉดนี้สื่อถึงความเป็นสมัยใหม่ และคู่ควรกับความสง่างามของเมือง ซึ่งก็ดูจะเหมาะสมอยู่ เพราะสีน้ำเงินเฉดนี้ก็เป็นหนึ่งในสีของธงชาติฝรั่งเศสด้วย

ส่วนตัวอักษร Carré Noir เลือกใช้แบบอักษรที่ดูธรรมดาสามัญ แต่ก็ไม่ลืมใส่ลูกเล่นที่สื่อความหมายเอาไว้ด้วย ขีดกลางที่เชื่อมตัวอักษร A ถูกปรับให้เป็นเส้นโค้ง สอดรับกับจังหวะโค้งของกราฟิกรูปเรือ สตูดิโอยังให้ความหมายว่าโค้งระหว่าง A นี้คือรอยยิ้ม เพราะการต้อนรับผู้มาเยือนอยู่ในดีเอ็นเอของปารีส (ตรงนี้ เอมิลี่ จากซีรีส์ Emily in Paris คงเบ้ปากมองบน)

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
ภาพ : carrenoir.com

ยกเครื่องแบรนดิ้งใหม่หมดจดขนาดนี้ก็ต้องใช้ให้คุ้มค่า ทุกวันนี้โลโก้เรือปรากฏอยู่บนหัวเอกสารทางการ ในสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมดที่ออกโดยเทศบาลเมืองปารีส ประดับเด่นเป็นสง่าบนอาคารที่ทำการและสาธารณะสมบัติต่างๆ ของเมือง เรียกได้ว่าเราจะเห็นโลโก้นี่ในแทบทุกมุมถนนของปารีส อัตลักษณ์ใหม่นี้ค่อยๆ ได้รับการมองเห็น ผู้คนเริ่มจดจำได้ และกลายเป็นอัตลักษณ์ของเมืองไปในที่สุด

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
ภาพ : carrenoir.com
ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม

ถึงตรงนี้หลายคนอาจฉงนสนเท่ห์ว่าทำไมตราสัญลักษณ์ของปารีสจึงต้องเป็นรูปเรือ ผู้เขียนก็เช่นกัน เมื่อนึกถึงปารีสแล้ว เรือดูจะเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากความนึกคิดของเราอยู่เหมือนกัน

ก่อนจะมาถึงยุคโลโก้กราฟิก เมืองปารีสเลือกใช้รูปเรือในลักษณะต่างๆ เป็นตราอาร์มประจำเมืองมายาวนานเกือบพันปี ทุกวันนี้บนท้องถนนของกรุงปารีส เราอาจสังเกตเห็นสัญลักษณ์รูปเรือประดับอยู่ตามสิ่งปลูกสร้าง และซุกซ่อนอยู่ตามสาธารณะสมบัติเก่าแก่ของเมือง

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม

ที่มาที่ไปของเรือย้อนไปสู่จุดกำเนิดของมหานครแห่งนี้ เมื่อราว 3 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช ชาว Parissi ซึ่งเป็นเผ่าย่อยหนึ่งของชาว Gaul ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบน Île de la Cité เกาะกลางแม่น้ำแซนน์ ซึ่งต่อมาจะเป็นที่ตั้งของมหาวิหาร Notre-Dame de Paris และเป็นหมุดหมายของหลักกิโลเมตรที่ 0 ของกรุงปารีสในกาลต่อมา

ด้วยชัยภูมิอันล้ำเลิศ ชาว Parissi จึงประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักในฐานะเผ่าผู้ชำนาญการค้าทางเรือ เมืองของพวกเขาปรากฏชื่อครั้งแรกว่า Lutetia หรือในภาษา Gaul ว่า ลูแตส (Lutèce) และในการต่อมาได้รับการขนานนามว่า ‘ปารีส’ ตามชื่อของเผ่าที่ก่อร่างสร้างชีวิตให้กับเมืองนั่นเอง

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
แผนที่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 เสดงภาพเมือง Letèce เมื่อเเรกสร้าง 
ภาพ : Gallica Digital Library หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสส

ข้ามเวลามาถึงยุคกลาง ในยุโรปมีการจัดตั้งสมาคมวิชาชีพ (Guild) ซึ่งเป็นการรวมตัวของพ่อค้าหรือช่างฝีมือในแขนงต่างๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก สมาคมเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง แต่ละสมาคมก็จะมีตราอาร์มของตนเองที่บ่งบอกถึงวิชาชีพของตน 

กลางคริสตศตวรรษที่ 14 ในกรุงปารีส สมาคมการค้าทางเรือ (La Hanse parisienne des marchands de l’eau) บริหารกิจการทางเศรษฐกิจทั้งหมด ซึ่งมีแม่น้ำแซนน์เป็นเส้นทางสัญจรสายหลัก และมีบทบาทในการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมระหว่างปารีสและดินแดนอื่น สมาคมนี้มีบทบาทสูงสุดและเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารเมือง ตรารูปเรือของสมาคมนี้จึงได้นำมาใช้เป็นตราประจำเมืองปารีสนับตั้งแต่นั้น

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
ตราประทับของสมาคมการค้าทางเรือแห่งปารีส ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายแห่งชาติฝรั่งเศส 
ภาพ : fr.wikipedia.org

เป็นที่น่าสังเกตว่า สัญลักษณ์รูปเรือยังย้อนกลับไปสู่ความเชี่ยวชาญทางการเดินเรือและความรุ่งโรจน์ของกิจการพาณิชย์นาวี ในสมัยที่ชาว Parissi ได้เริ่มสร้างบ้านแปงเมืองบนเกาะ Cité และรูปร่างของเกาะ Cité ผืนดินแผ่นแรกของปารีส ก็มีลักษณาการคล้ายกับเรือใหญ่ขนาบข้างด้วยสายน้ำแซนน์ทั้งสองฟาก

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
เกาะ Cité กลางเมืองปารีส ที่มีลักษณะคล้ายเรือใหญ่ 
ภาพ : www.amc-archi.com

ตราเรือแห่งปารีสมิได้คงรูปแบบตายตัว ทว่าวิวัฒน์ไปตามสมัย ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตรานี้ได้รับการประดับด้วยสัญลักษณ์ Fleur de lys อันเป็นสัญลักษณ์คำสัญที่เกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์ฝรั่งเศส และเมื่อมาถึงยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ในปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ได้มีการยกเลิกบรรดาศักดิ์ขุนนาง ตราอาร์มประจำตระกูลต่างๆ หรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันกับศักดินาไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อีกต่อไป เทศกาลเมืองปารีสก็ได้ยกเลิกการใช้อาร์มรูปเรือไปโดยปริยาย

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
ภาพ : carrenoir.com

ตรารูปเรือฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในยุคจักรวรรดิ โดยจักรพรรดินโปเลียน ได้รื้อฟื้นสัญลักษณ์เรือแห่งปารีสขึ้นมาอีกครั้ง โดยถอด Fleur de lys สัญลักษณ์ของราชวงศ์เก่าออก และใส่รูปผึ้ง สัญลักษณ์หนึ่งของตนเข้ามาแทน เมื่อมีการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ขึ้นมาเป็นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ตรารูปเรือพร้อม Fleur de lys ก็กลับมาอีก และเมื่อฝรั่งเศสกลับไปเป็นสาธารณรัฐอีกครั้งในช่วงสั้นๆ เครื่องหมายรูปดวงดาวได้เข้ามาแทน Fleur de lys

สุดท้ายเมื่อเข้าสู่ยุคจักรวรรดิที่ 2 จักพรรดินโปเลียนที่ 3 โปรดฯ ให้รื้อฟื้นตราดั้งเดิมที่ประดับด้วย Fleur de lys ขึ้นมาใช้อีกครั้ง เรียกได้ว่าเปลี่ยนตรากันจนปวดหัว ตามความผันผวนทางการเมืองหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ถึงกระนั้นสัญลักษณ์นาวาแห่งปารีสก็ยังดำรงอยู่ และปารีสก็ยังยืดหยัดอยู่ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง

ในยุคจักพรรดินโปเลียนที่ 3 นี้เองที่มีการเพิ่มคำขวัญภาษาละติน “Fluctuat nec merigitur” ลงไปในสัญลักษณ์ของเมือง คำขวัญดังกล่าวแปลความได้ประมาณว่า “ถูกคลื่นซัดพัดพา ทว่าไม่จม” ที่ทั้งสอดรับไปกับตรารูปเรือและจิตวิญญาณการยืดหยัดท่ามกลางปลี่ยนแปลงของกรุงปารีส 

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
ตราเรือแห่งปารีสพร้อมคำขวัญ 
ภาพ : www.heraldry-wiki.com

ตลอดคริสศตวรรษที่ 20 เรื่อยมาถึง 21 แม้คลื่นกาลเวลายังคงซัดพัดพาถาโถม คำขวัญที่อยู่คู่กับตราประจำเมืองปารีสยังดำรงอยู่คู่ใจชาวปารีเซียงเสมอ หลังการก่อการร้ายครั้งใหญ่ในกรุงปารีสเมื่อเดือนพฤจิกายน ค.ศ. 2015 หรือหลังอัคคีภัยที่มหาวิหาร Notre-Dame de Paris ใน ค.ศ. 2019 หรือแม้กระทั่งวิกฤตการณ์โรคระบาดยังคงดำเนินอยู่อยู่ในขณะนี้ คำขวัญ “Fluctuat nec merigitur – ถูกคลื่นซัดพัดพา ทว่าไม่จม” นี้เองที่ช่วยปลุกขวัญเมืองปารีสให้ยืนหยัดดำรงอยู่อย่างทรนง ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของโลกร่วมสมัย

ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
Graffiti คำขวัญประจำกรุงปารีส หลังเหตุการณ์การก่อการร้ายใน ค.ศ. 2015 
ภาพ : www.paris.fr
ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
คำขวัญประจำกรุงปารีสฉายบนหอไอเฟล หลังเหตุการณ์การก่อการร้ายใน ค.ศ. 2015 
ภาพ : Flickr
ทำไมโลโก้ประจำกรุง Paris เป็นรูปเรือ ดีไซน์ที่แฝงประวัติศาสตร์หลายพันปีของเมืองน้ำหอม
สโมสรฟุตบอล Paris Saint Germain ใช้ภาพมหาวิหาร Notre-Dame de Paris ร่วมกับคำขวัญประจำกรุงปารีส เพื่อร่วมแสดงความเสียใจเหตุการณ์อัคคีภัยที่มหาวิหาร เมื่อ ค.ศ. 2019 
ภาพ : www.lefigaro.fr

บทความนี้เขียนเมื่อผู้เขียนได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ Institut français ให้เป็นศิลปินพำนัก ณ กรุงปารีส ขอขอบคุณหน่วยงานทั้ง 2 มา ณ ที่นี้

ข้อมูลอ้างอิง

Dominique Lesbros, Curiosities of Paris. New York: The little book room, 2017.

Jacques Garance and Maud Ratton, Secret Paris. Versailles: Jonglez, 2018

Lorànt Deutsch, Metronome illustré. Paris: Michel Lafon, 2010.

www.paris.fr

www.carrenoir.com

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง