1

แสงแดดสายพาดลำผ่านผนังกระจกไม้มาคลอเคลียผ้าปูโต๊ะสีคราม ลมเย็นระรื่นโชยพัดชีวิตชีวาและหอมอุ่นอ่อนของชามะตูม อวลอายบริเวณใต้ถุนซึ่งเรียงรายด้วยเก้าอี้ที่นั่งและโต๊ะจัดแสดงผลงานออกแบบจากวัสดุหนังละลานตา บางชุดคลาสสิก บางชิ้นแหววหวาน คลายความสงสัยของผมเสียที หลังแอบชะเง้อมองหลายคราว พลางนึกเดาเอาว่า ‘Papacraft’ คงเป็นเพียงธุรกิจเกสต์เฮาส์อีกแห่งบนถนนตลาดเก่า ย่านชุมชนกาดกองต้า จังหวัดลำปาง 

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

แต่ความจริง บ้านไม้สองชั้นร่วมสมัยหลังนี้ คือแกลเลอรี่กึ่งคาเฟ่ของ ช้าง-ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล ช่างหนังมาดเท่ เจ้าของแบรนด์ Papacraft เครื่องประดับหนังดีไซน์เก๋ ที่หยิบยืมแรงบันดาลใจจากพันธุ์พฤกษาและเทคนิคบาติกมาต่อยอดสร้างสรรค์ จนโกอินเตอร์ไปอวดโฉมในงานแสดงสินค้าแฮนด์เมดระดับนานาชาติของเกาหลี Handarty Korea 2019 เมื่อปีกลาย 

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ช้างยังมีดีกรีเป็นถึงนักแปลดีเด่น รางวัลสุรินทราชา ผู้เชื่อมต่อวรรณกรรมโลกสู่ภาษาไทยหลายเล่ม เช่น แฟรงเกนสไตน์ หรือ โพรมีธีอัสยุคใหม่ – แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) ก่อนรัตติกาลจะดับสูญ – ซินัว อาเซเบ (Chinua Achebe) เดอะ ไทม์ แมชชีน – เอช. จี. เวลส์ (H.G.Wells) ถนนชีวิต – ซิลแคลร์ ลูอิ๊ส (Sinclair Lewis) ฯลฯ

หลังจากกล่าวทักทายกันสั้นๆ ช้างก็เดินนำผมทะลุหลังร้านมานั่งใต้ร่มเงาจามจุรี ริมแม่น้ำวัง พร้อมแย้มประเด็นชีวิตการงานที่ดูแตกต่าง ทว่ากลับลงตัว 

“งานแปลหนังสือกับงานคราฟต์คล้ายกันตรงเป็นงานสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ ซึ่งเราเป็นคนหลงใหลการ Creation อยู่แล้ว เลยทำให้รู้สึกสนุกและมีความสุขกับงานทั้งสองอย่าง จนคงทำใจยากหากต้องเลือกทิ้งงานใดไป”

‘Just a letter and leather craft.’ ช้างจึงปูนิยามตัวเองง่ายๆ ไว้เช่นนั้น ก่อนผมจะขอให้เขาช่วยร้อยเรียงเรื่องราวความสัมพันธ์ของสองสิ่งที่เขารัก และการปลุกปั้นแบรนด์เล็กๆ ซึ่งในวันนี้กำลังผลิดอกออกผลงาม จนเป็นที่รู้จักไปไกลถึงต่างแดน 

หลังสวมเสื้อช็อปได้ไม่นาน เด็กหนุ่มกรุงเทพฯ หัวดี ก็ตัดสินใจรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วออกมาใช้ชีวิตแบบฮิปปี้ กินอยู่กับเพื่อนฝูงที่ปักหลักทำเลริมถนนไนท์บาซาร์เป็นหน้าร้านขายเครื่องประดับทองเหลือง สร้อยข้อมือเชือกถัก และเครื่องหนัง ซึ่งในขณะ พ.ศ. 2530 นั้นยังคงคลาคล่ำไปด้วยบรรดาศิลปินพลัดถิ่นและนักเดินทางสะพายเป้ 

ที่นี่เองที่ช้างได้เรียนรู้กระบวนการผลิตเครื่องประดับจากวัสดุต่างๆ และตกหลุมรักวัสดุหนังเป็นครั้งแรก

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยสนใจเครื่องหนัง จนพอมารู้จักกลุ่มเพื่อนฮิปปี้จึงได้สัมผัสมัน แล้วตอนนั้นก็รู้สึกทันทีเลยว่า นี่แหละคือวัสดุของเรา เรื่องนี้มันอธิบายยากเหมือนกันนะ เพียงแต่เราชอบงานประดิดประดอยมาตั้งแต่เด็ก และโดยธรรมชาติก็เป็นคนที่ทำอะไรต่อเมื่อสิ่งสิ่งนั้นมันสัมผัสกับใจเราจริงๆ” 

เกือบปีที่ชีวิตวนเวียนอยู่ในวงโคจรแห่งความเมามาย กระทั่งถึงจุดที่ไม่อาจมองเห็นเส้นทางเดินต่อ ช้างก็ย้อนคืนสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง โดยเลือกเรียนเอกการสื่อสารมวลชนและโทด้านวรรณคดี ที่จุดประกายให้เขาค้นพบความสามารถในการแปลหนังสือ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากนิสัยรักการอ่านวรรณกรรม จนทำให้มีผลงานแปลเรื่องสั้นตีพิมพ์ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 

ต่อมาเมื่อช้างเริ่มจริงจังกับการหารายได้มากขึ้น เขาจึงลองต่อยอดวัสดุที่หลงใหลให้กลายเป็นไดอารี่ปกหนังผสมผ้า ก่อนนำไปฝากวางไว้ที่สบันงา ร้านขายงานคราฟต์ยุคแรกๆ ของเชียงใหม่ ซึ่งขายหมดเกลี้ยงในเวลารวดเร็ว เช่นเดียวกับผลงานชุดสองที่ช้างเปลี่ยนมาทดลองตกแต่งปกสมุดด้วยวัสดุธรรมชาติ

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

“ครั้งหนึ่งเรามีโอกาสไปเที่ยวไร่ของพี่ยอด (วีระศักดิ์ ยอดระบำ) แกเป็นคนแรกที่ยุให้เราลาออกมหาวิทยาลัย พร้อมกับชวนว่า มาอยู่ในป่าแบบแกดีกว่า ชีวิตโคตรสบาย อยากจะผลิตงานฝีมืออะไรก็ทำได้เพราะวัสดุมีให้ใช้เต็มไปหมด ตอนนั้นเราคิดว่าคำพูดเหล่านี้ตลก แต่อีกไม่กี่ปีคำพูดนี้แหละที่สะกิดเราให้หยิบกิ่งไม้แห้งและลูกเดือยมาแต่งแต้มไดอารี่จนขายดิบขายดี”

ช้างเล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ แล้วเสริมว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาก็เริ่มเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการผสมผสานวัสดุต่างๆ เข้ากับวัสดุหนัง และสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานจากการสังเกตแง่งามของธรรมชาติรอบตัว โดยเฉพาะเมื่อย้ายไปปักหลักที่อุตรดิตถ์ ในบ้านสวนหลังน้อยที่ห้อมล้อมด้วยสีสันพรรณไม้นานาชนิด ซึ่งหล่อหลอมให้เกิดสไตล์งานเอกลักษณ์ในอีกหลายปีให้หลัง

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

2

อาทิตย์เคลื่อนดวงจนเกือบทำมุมตั้งฉาก ขณะที่ช้างขอตัวออกไปทักทายลูกค้าประจำ ผมจึงจัดแจงย้ายสัมภาระและชุดน้ำชาที่เย็นชืดไปวางรอบนแคร่ไม้ไผ่ตัวยาวร่มรื่นริมรั้ว แล้วฆ่าเวลาด้วยการสำรวจสวนหลังร้าน สังเกตโค้งเว้า เรียวใบ ของไม้ประดับในกระถาง และดอกสีหม่นม่วงของพันธุ์ไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ซึ่งขึ้นปกคลุมหลังคาไม้ระแนง 

สักพักช้างก็กลับมา พร้อมตอบเรื่องที่ผมกำลังสงสัยว่า ลักษณะพันธุ์ไม้แบบไหนบ้างที่พอจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขา “ถ้าเอาในบริเวณนี้เราสนใจใบไผ่” คำตอบของเขาเรียบง่ายเกินกว่าที่ผมจินตนาการไว้ ช้างเสริมต่อว่า “ต้นไม้ใบไม้ที่นี่มีสีสันและรูปทรงหลากหลายน้อยกว่าที่อุตรดิตถ์มาก ที่นั่นทำให้เราตื่นเต้นทุกฤดูกาล และติดนิสัยชอบเด็ดใบต่างๆ มาเรียงบนโต๊ะทำงานเพื่อดูเล่นเพลินๆ” 

แล้วก็เป็นอุตรดิตถ์อีกเช่นกันที่ทำคลอดให้แบรนด์ Papacraft

จังหวะที่เริ่มรู้สึกว่าการทำงานฝากขายทั้งเหนื่อย หนัก รายได้แค่พอเลี้ยงครอบครัวแต่ไม่พอเก็บ ประจวบกับมีข้อเสนอชวนทำอสังหาริมทรัพย์ที่อุตรดิตถ์ ช้างจึงเห็นลู่ทางเก็บหอมรอมริบและเปิดแกลเลอรี่ตามความฝันของตัวเอง

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

แต่แล้วไม่ทันไรแผนการที่วางไว้ก็ล่มไม่เป็นท่าจากปัญหาน้ำท่วมและวิกฤตต้มยำกุ้ง ช้างจึงหันมาจับงานแปลอย่างต่อเนื่องในบทบาทคอลัมนิสต์ประจำ จุดประกายวรรณกรรม และ สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ โดยใช้นามปากกา ‘ลำน้ำ’ รวมถึงร่วมแปลหนังสือกับหลากสำนักพิมพ์ อาทิ คบไฟ มูลนิธิเด็ก และสมมติ 

 จนในที่สุดเขาก็คืนสู่สังเวียนงานฝีมืออีกครั้ง เมื่อเพื่อนบ้านไหว้วานให้สอนทำเครื่องหนัง การได้หวนจับวัสดุรักหลังห่างหายไปนานร่วม 20 ปี ทำให้ข้างในจิตใจของช้างปะทุ พักจากงานแปลก็หมกหมุ่นอยู่กับหนัง จนภรรยาและลูกๆ ต่างมีเข็มขัดและกระเป๋าฝีมือพ่อใช้กันหลายชิ้น กระทั่ง ขวัญ-ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล ลูกชายคนเล็กเห็นความเอาจริงเอาจัง เขาจึงลองชวนพ่อทำแบรนด์ 

แล้ว Papacraft แบรนด์เครื่องประดับหนังที่เกิดขึ้นจากความรัก ความฝัน และความใส่ใจของพ่อที่มีต่อครอบครัวจึงแย้มบาน

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

3

สองพ่อลูกขยายพรมแดนสายใยมิตรภาพสู่เพื่อนร่วมงานคู่คิด พวกเขาพากันทดลองเทคนิคใหม่ๆ จนค้นพบความน่าสนใจของกระบวนการทำผ้าบาติก ซึ่งถูกประยุกต์มาเป็นเทคนิคพิเศษ Papacrafture สร้างลวดลายพลิ้วไหว อิสระ สารพัดเฉดให้กับวัสดุหนัง กอปรกับดีไซน์ที่เกิดจากผสมผสานวัสดุในแนวทางใหม่ และรูปทรง เส้นสาย ที่ถ่ายทอดความงามของธรรมชาติอย่างอ่อนหวาน เหล่านี้จึงกลายเป็นลายเซ็นที่สะท้อนคาแรกเตอร์ของแบรนด์ออกมาได้อย่างชัดเจน ชวนประทับใจ

ยุคแรกของ Papacraft เปิดตัวด้วยโมเดล Simply กำไลเรียบง่ายที่ได้แรงบันดาลใจจากฝักเพกา ตามมาด้วย Leafy กำไลใบไม้คู่แสนละเมียดละไม Hearty กำไลที่ขัดเกลามนตร์เสน่ห์ของใบโพธิ์ Wavy กำไลอ่อนช้อยราวสวมใส่เกรียวคลื่น Ivory กำไลคลาสสิกเส้นกลมซ้อนชั้นมุกหนัง และ Woven Brass กำไลถักหนังที่หยิบจับวัสดุทองเหลืองมาเรียงร้อยเป็นลวดลายมองดูคล้ายงานจักสานโก้เก๋ 

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

“เราเชื่อเสมอว่างานที่จะออกมาดี มันต้องออกมาจากข้างในโดยธรรมชาติ ไม่ใช่การรีดเค้น ดังนั้น ผลงานส่วนใหญ่ของเราจึงเน้นถ่ายทอดความรื่นรมย์ที่ได้ซึมซับ สั่งสม กระทั่งตกผลึก ท่ามกลางแมกไม้ในบ้านสวนอุตรดิตถ์ 

“แม้มองเผินๆ จะดูเป็นแค่งานเลียนแบบรูปทรงธรรมชาติ แต่บางชิ้นกว่าจะเจอจุดที่รู้สึกลงตัวเราต้องใช้เวลาขัดเกลาเส้นสาย องศา และส่วนโค้งเว้าอยู่นานหลายเดือนทีเดียว อาจเพราะเราติดนิสัยมาจากการทำงานแปลที่ต้องใช้อารมณ์ ความรอบคอบ และคิดเยอะพอสมควรด้วย เลยทำให้พอมาจับงานคราฟต์ จึงต้องการพื้นที่ความเป็นส่วนตัวสูงและค่อนข้างละเอียดลออ”

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

ไม่เพียงใส่ใจในเรื่องของดีไซน์ ด้านฟังก์ชันผลงานกำไลทุกรุ่นยังถูกออกแบบด้วยเทคนิคซ่อนลวดอะลูมิเนียม เพื่อช่วยให้สวมใส่ง่าย ปรับให้กระชับได้ตามขนาดข้อมือของแต่ละคน ตลอดจนกระบวนการผลิตพิถีพิถันทำมือทุกขั้น และการคัดสรรใช้เฉพาะหนังฟอกฝาดคุณภาพ ซึ่งผลิตจากโรงงานฟอกหนังเก่าแก่ที่ฟอกแบบธรรมชาติ จึงมีความคงทน อายุการใช้งานยาวนาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“พอทำงานออกมาแล้วแน่ใจว่ามันเป็นออริจินัล เรามองว่ามันเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตใหม่ที่เราเป็นคนให้กำเนิด ฉะนั้น มันต้องมีเกียรติ มีชื่อเรียกของตัวเอง” ช้างบอกว่าเขาเปรียบผลงานอยู่ในฐานะเดียวกับลูก ไม่ใช่แค่วัตถุหรือสินค้า เหตุนี้เขาจึงคิดชื่อให้ผลงานของ Papacraft ทุกชิ้นว่า ‘บุปผากำลัย’

“คำว่า บุปผา มาจาก บุปผาชน ซึ่งถือเป็นราก เป็นความคิด และที่มาของหลายสิ่งในชีวิตเรา ส่วน กำลัย คือคำใหม่ที่เราตั้งใจประดิษฐ์ มาจาก กำไล บวก มาลัย สะท้อนคอนเซปต์การออกแบบของแบรนด์” ช้างยิ้มรื่น “แม้กระทั่งลูกค้าเราก็ให้เกียรติเสมือนเพื่อนคนหนึ่ง เราเรียกทุกคนว่า ‘กำลัยมิตร’ เหมือนที่สมัยก่อนใช้ ‘วรรณมิตร’ เรียกแฟนหนังสือ”

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

4

หากค่อยๆ ทอดน่องชื่นชมเหล่าบุปผากำลัยที่อวดโฉมในแกลเลอรี่ เราจะพบว่ามีมุมหนึ่งที่สะดุดตามากเป็นพิเศษ ด้วยดีไซน์อันโดดเด่น สดใส แตกต่างออกไป 

Bromy คอลเลกชันที่ต่อเติมจินตนาการจากต้นสับปะรดสีของแม่ Beya ที่แปลงไอเดียจากดอกกระจิริดน่ารักของพันธุ์ไม้ประเภทบีโกเนีย และ Ginkgo ที่เกิดจากความหลงใหลในรูปทรงพัดของใบกิงโกะหรือแปะก๊วย

ผลงานทั้งหมดนี้เป็นฝีมือขวัญ บัณฑิตรั้วสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่กลับมาลงขันความคิดร่วมกันกับพ่อ เพื่อสานต่อธุรกิจให้เติบโตเต็มวัย ด้วยการรังสรรค์คอลเลกชันเครื่องประดับหนังสุดไฉไล โดนใจกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ 

รวมถึงเติมเต็มช่องว่างในงานสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ อาทิ ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ ติดต่อประสานงานลูกค้า ออกงานแสดงสินค้า รวมถึงเป็นบาริสต้าประจำแกลเลอรี่กึ่งคาเฟ่แห่งนี้ที่เพิ่งเปิดทำการได้ราวๆ 3 ปีเศษ หลังผลตอบรับจากกำลัยมิตรทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ Papacraft กล้าตีตั๋วเดินทางต่อบนถนนสายนี้

ปัจจุบันบุปผากำลัยไปเบ่งบานไกลถึงตลาดเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน อีกทั้งได้รับเลือกให้เข้าร่วม Handarty Korea 2019 งานแสดงสินค้าแฮนด์เมดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ โดยล่าสุดผลงานกำไล Woven Brass หนึ่งในคอลเลกชันขายดีตลอดกาล ซึ่งถูกนำไปเปิดระดมทุนบนแพลตฟอร์มชื่อดังของญี่ปุ่น Makuake ก็ประสบความสำเร็จด้วยผลตอบรับทะลุยอดกว่า 350,000 เยน (ประมาณ 101,294 บาท) ไปเป็นที่เรียบร้อย 

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ช้างกล่าวว่า ในอนาคตเขาไม่ได้วาดภาพให้ Papacraft เป็นเพียงแบรนด์เครื่องหนัง คาเฟ่ หรือแกลเลอรี่เท่านั้น แต่ยังตั้งใจพัฒนาที่นี่ให้เป็นพื้นที่สำหรับสนับสนุนผลงานของศิลปินและช่างฝีมือท้องถิ่น ส่วนความฝันระยะไกลที่เขาวางแผนไว้ คือการเปิดโรงเรียนการช่างให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงงานฝีมืออย่างแท้จริง

ไอเดียและความฝันที่ฟังดูใหญ่โตของช้าง ฉุกผมให้นึกย้อนไปถึงช่วงหนึ่งระหว่างการสนทนา ที่เขาขอพักเบรกสั้นๆ ก่อนกลับมาพร้อมกีตาร์โปร่งสีปีกแมลงทับ พลันบรรเลงบทเพลงที่ขีดเขียนขึ้นเองในวัยหนุ่ม แล้วบอกกับผมว่า ท่อนโปรด “ผีเสื้อน้อยเก็บเสี้ยวจันทร์ มาเรียงร้อยเป็นสร้อยคอ” แทนตัวตนและหนทางของเขาได้เป็นอย่างดี เพียงผีเสื้อสีเหลืองตัวน้อย ผู้หวังมีชีวิตงดงามสว่างสวยแค่เศษเสี้ยวของจันทร์ทรา

เหตุนี้ผมจึงย้ำถามด้วยความสงสัยว่า ความสำเร็จและฝันใหญ่จะทำให้ผีเสื้อน้อยในจิตใจของเขาโบกบินไปแล้วหรือไม่

ไม่นะ เราก็ยังเป็นผีเสื้อน้อยตัวเดิม แค่วันเวลาและโอกาสทำให้ผีเสื้อตัวนี้เติบโตขึ้น และอยากแบ่งปันให้ทุกคนกลายเป็นผีเสื้อน้อยอีกตัวหนึ่งที่สร้างงานและสานฝันของตัวเองได้ ผีเสื้อน้อยมันไม่จำเป็นต้องเป็นผีเสื้อธรรมดา บ๋อแบ๋ แต่สามารถเป็นผีเสื้อเรียบง่าย ธรรมดา ที่มีความสง่างาม” 

Papacraft แบรนด์เครื่องหนังเก๋จากลำปางที่ได้แรงบันดาลใจจากพันธุ์ไม้ จนขายดีในหมู่ชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น

Papacraft

ที่ตั้ง : เลขที่ 268 ถนนตลาดเก่า ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง 52100 (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 9.00 – 17.00 น. (หยุดเฉพาะวันพุธ)

โทรศัพท์ : 06 5507 3699 และ 08 4049 3246

Facebook : PapacraftInstagram : papacraftfamily

Line ID : @papacraftfamily

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'