ร้านไหนเด็ด มือถือยี่ห้อไหนดี หนังเรื่องไหนสนุก ที่เที่ยวไหนน่าไป 

สารพัดคำถาม… หาคำตอบได้บน Pantip

นี่คือชุมชนออนไลน์ในตำนานที่อยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนาน จากเดิมที่เป็นเพียงพื้นที่สื่อสารเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขยับขยายสู่กระดานสนทนาที่มีการพูดคุยแทบทุกประเด็น ทั้งการเมือง กีฬา บันเทิง ท่องเที่ยว หนังสือ วิทยาศาสตร์ ภาพถ่าย หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง มีคนดังและกูรูจากแขนงวิชาต่างๆ มาร่วมกันแบ่งปันความรู้และประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง

ไม่แปลกเลยว่าเหตุใด Pantip จึงกลายเป็นคีย์เวิร์ดที่ทุกคนใช้สืบค้นข้อมูลต่างๆ ยามต้องการความช่วยเหลือ

แต่กว่าที่เว็บไซต์แห่งนี้จะเติบโต มียอดผู้ใช้งานนับล้านดังทุกวันนี้ มีเรื่องราวและเหตุการณ์นับไม่ถ้วนที่ทีมงานต้องเผชิญ ทั้งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมถึงพฤติกรรมของสมาชิกที่ต่างไปตามช่วงเวลา

อภิศิลป์ ตรุงกานน

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ชักชวน อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ โปรแกรมเมอร์คนแรกของ Pantip ที่ก้าวขึ้นมาคุมหางเสือเว็บไซต์ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่ผลิตภัณฑ์ บริษัท อินเตอร์เน็ต มาร์เก็ตติ้ง จำกัด มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องวันวาน วันนี้ และวันข้างหน้า ที่เกิดขึ้นในดินแดนมิตรภาพแห่งนี้ตลอด 24 ปี

01

เริ่มต้นจาก ‘อีเมล’ ฉบับหนึ่ง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 อภิศิลป์ นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับอีเมลปริศนาจากบุคคลที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนนามว่า วันฉัตร ผดุงรัตน์ เล่าถึงเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแมกกาซีนออนไลน์ นำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับแวดวงไอที ซึ่งหาอ่านได้ยากในเมืองไทยเวลานั้น

ด้วยความเป็นเด็กคอมฯ จึงไม่รีรอที่จะคลิกเข้าชม แล้วเขาก็พบเรื่องราวน่าสนใจเต็มไปหมด ทั้งบทความแปลจากต่างประเทศ เรื่องสนุกๆ อย่าง Joke@Today รวมถึงเซกชัน Market Place ซึ่งเปิดโอกาสให้คนนำคอมพิวเตอร์มือสองมาประกาศขาย

“ข้อดีของ Pantip คือเป็นเว็บแรกๆ ของเมืองไทยที่เป็นภาษาไทย เพราะแต่ก่อนเว็บภาษาไทยแทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่เป็นเว็บเมืองนอก แล้วยังเป็นอีคอมเมิร์ชยุคแรกๆ จำได้ว่า Amazon น่าจะเกิดก่อนสักสองปี Google ยังไม่เกิด ผมเองก็เข้ามาวันละครั้งเพื่ออ่านข่าว แต่ยังไม่ถึงขั้นติด พอช่วงปลายปี ใกล้สอบมิดเทอมเลยไม่ได้เข้าเท่าไหร่นัก”

กระทั่งต้น พ.ศ.2540 อภิศิลป์จึงหวนกลับมาเล่นอีกครั้ง ซึ่งพอเข้ามาก็อดรู้สึกประหลาดใจไม่ได้ เพราะ Pantip ไม่เหมือนเดิม แต่มีฟังก์ชันใหม่อย่างเว็บบอร์ดที่ชื่อ Technical Chat เกิดขึ้น

เว็บบอร์ด Pantip ได้แรงบันดาลใจจากนายแพทย์ท่านหนึ่งที่ส่งอีเมลตอบกลับมายังวันฉัตรว่า เว็บไซต์น่าสนใจ แต่รู้สึกว่าจะเงียบไปหน่อย หากมีเพลงมาประกอบก็คงดี แต่เพราะวันฉัตรเพิ่งเล่นอินเทอร์เน็ตได้ไม่นานเหมือนกัน จึงส่งข้อความกลับไปถาม ซึ่งท่านได้กรุณาชี้แนะว่าควรใช้โปรแกรมอะไร ดาวน์โหลดที่ไหน และติดตั้งอย่างไร

อภิศิลป์ ตรุงกานน

วันฉัตรรู้สึกว่าคำตอบง่ายๆ สั้นๆ แต่ชัดเจนนี้ ไม่ควรมีแค่เขาคนเดียวที่ได้อ่าน แถมคนที่ตอบก็ไม่ใช่นักคอมพิวเตอร์แต่เป็นคุณหมอ สะท้อนว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องของทุกคนที่สนใจ ฉะนั้น แทนที่จะทำนิตยสารออนไลน์ จึงควรทำอะไรที่ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมได้ เขาเลยไปค้นเว็บในต่างประเทศ จนเจอบอร์ดที่เกี่ยวกับเรือยอชต์ ซึ่งมีการพูดคุยที่หลากหลาย เช่น ควรซื้อโมเดลนี้มาติดดีไหม เวลาเจอปัญหาแบบนี้ต้องทำยังไง ซึ่งวันฉัตรคิดว่าน่าสนใจมาก จึงนั่งเขียนโปรแกรมเอง และเมื่อเปิดตัวเว็บบอร์ด ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับจากผู้ใช้งานท่วมท้น

“ความจริงก่อน Pantip มีเว็บบอร์ดแบบนี้อีกเว็บ แต่เป็นเว็บบอร์ดของคนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษคุยกันเลยไม่ค่อยแมส มีแต่กลุ่มคนไทยที่เรียนต่างประเทศ สื่อสารภาษาอังกฤษเก่งๆ เล่นกัน ต่างจาก Pantip ที่ใช้ภาษาไทย คนเลยเข้ามาเยอะ จำได้ว่าตอนที่ผมตั้งกระทู้แรกน่าจะเป็นกระทู้ที่หกสิบกว่าแล้ว พอตั้งก็มีคนมาคุย มาตอบกัน สนุกสนาน

“ผมจึงรู้สึกว่า Pantip มาถึงอีกขั้นหนึ่งแล้ว จากเดิมที่คุณวันฉัตรผลิตเนื้อหาอยู่คนเดียว ตอนนี้กลายเป็นผู้ใช้มาช่วยกันสร้างเนื้อหา คราวนี้ติดเลย เพราะเว็บมันอัปเดตทุกชั่วโมง ทุกนาที ผมก็นั่งกด F5 กดรีเฟรชตลอดวัน”

24 ปีเว็บไซต์คู่ใจคนไทย เรื่องเล่าจากโปรแกรมเมอร์คนแรกแห่ง Pantip, พันทิป, pantip.com
24 ปีเว็บไซต์คู่ใจคนไทย เรื่องเล่าจากโปรแกรมเมอร์คนแรกแห่ง Pantip, พันทิป, pantip.com

ช่วงแรกประเด็นที่คุยใน Pantip เน้นหนักไปที่เรื่องคอมพิวเตอร์ อย่างดาวน์โหลดฟอนต์ ดาวน์โหลดโปรแกรม เล่นเกม แนะนำเว็บที่น่าสนใจ รวมถึงวิธีเลือกซื้อสแกนเนอร์หรือพรินเตอร์ แต่พอเวลาผ่านไป การสนทนายิ่งคึกคัก และเริ่มมีคนหยิบประเด็นการเมืองมาตั้ง เพราะช่วงนั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำลังร่างอยู่พอดี จนเกิดปัญหาเพราะกลุ่มหนึ่งอยากคุยเรื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ขณะที่อีกกลุ่มบอกว่า การเมืองก็สำคัญทำไมจะคุยไม่ได้ วันฉัตรเลยตัดสินใจแยกบอร์ดออกเป็น 2 ห้อง โดยห้องที่เพิ่มมาใหม่ เรียกว่าสภากาแฟ

แต่ด้วยธรรมชาติของวงสนทนา เมื่อเป็นที่รู้จักมากๆ จึงมักมีตัวป่วนเข้ามาเสมอ เช่นเขียนข้อความหยาบคาย หรือพยายามปั่นกระทู้ตัวเอง นี่เองที่กลายเป็นจุดเชื่อมโยงอภิศิลป์กับวันฉัตรเข้าไว้ด้วยกัน

“สมัยก่อน Pantip ไม่ได้มีระบบล็อกอิน พิมพ์เสร็จส่งได้เลย จนวันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่มีคนเข้ามา Flood คือส่งกระทู้ซ้ำๆ เพื่อดันกระทู้อื่นให้ตกลงไปข้างล่าง จนคนอื่นเล่นไม่ได้ ด้วยความที่ตัวเองเรียนเขียนโปรแกรมมาตั้งแต่มัธยมแล้ว เลยรู้สึกว่าเราน่าจะแก้ปัญหานี้ด้วยโปรแกรม จึงเขียนโค้ดตัวหนึ่งขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้คนส่งข้อความแบบนี้ได้ แล้วส่งไปให้คุณวันฉัตรตามอีเมลที่แกเคยส่งมาให้ตอนแรก”

ตั้งแต่นั้นมาอภิศิลป์จึงกลายเป็นขาประจำของ Pantip คอยตอบปัญหา ช่วยดูแลเว็บบอร์ด และเมื่อมีการจัดงานมีตติ้งครั้งแรกที่ครัวตลิ่งชัน เขาก็ถูกชักชวนให้ไปร่วมงานด้วย

“เรามากันสิบกว่าคน ผมเด็กสุดเลย ซึ่งต่อมาพี่ๆ กลุ่มนี้กลายเป็น Founding Member เป็นอาสาช่วยดูแลคอมมูนิตี้ให้ Pantip แล้ววันนั้นคุณวันฉัตรก็เอ่ยปากชวนให้มาดูแลเรื่องโปรแกรม ตอนนั้นผมเรียนอยู่ปีสอง คิดว่าทำสนุกๆ จึงไม่ปฏิเสธ คือเราทำกันแบบสตาร์ทอัพเลย ไม่มีเงินเดือน ผู้ใช้ก็ยังไม่เยอะ น่าจะเป็นหลักพันหรือหมื่นต้นๆ”

24 ปีเว็บไซต์คู่ใจคนไทย เรื่องเล่าจากโปรแกรมเมอร์คนแรกแห่ง Pantip, พันทิป, pantip.com

Pantip ยุคแรกมีทีมงานทั้งหมด 3 คน โดย วันฉัตรดูแลภาพรวมและการขาย อภิศิลป์มีหน้าที่เขียนโค้ด เขียนโปรแกรมต่างๆ และ ฤทธิชาติ ศิริวงศ์ ณ อยุธยา รับผิดชอบเรื่องออกแบบเว็บ และงานกราฟิก แต่ละคนทำงานแบบ Work from home คือส่งอีเมลสื่อสารกันเป็นหลัก เดือนหนึ่งจึงจะเจอกันสักหน

นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกผู้ก่อตั้งคอยรักษาบรรยากาศการพูดคุยและดูแลความสงบเรียบร้อย อย่างกฎกติกาที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็ได้คนกลุ่มนี้ช่วยกันเขียน จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้ทุกอย่างจะเกิดขึ้นบนโลกเสมือน แต่ชุมชนออนไลน์แห่งนี้ก็แน่นเฟ้น เต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไม่แพ้สังคมทั่วไป กลายเป็นแรงดึงดูดผู้คนทุกเพศทุกวัยให้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ ยังมีสมาชิกทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย ไม่แปลกเลยว่า เหตุใดภายใน 3 ปี Pantip จึงขึ้นแท่นเว็บไซต์ที่มียอดผู้ใช้งานมหาศาล ถึงขั้นบริษัทเซิร์ฟเวอร์ที่สหรัฐอเมริกาไม่ยอมให้บริการ โชคดีที่อินเทอร์เน็ตไทยแลนด์เปิดโครงการเว็บไทยกลับบ้าน Pantip จึงสมัครเข้าร่วมด้วย

นับจากนั้น Pantip ก็เริ่มขยายงาน เปิดบริษัทและรับทีมงานจริงจัง ท่ามกลางกระแสดอทคอมที่เฟื่องฟูสุดขีด บริษัทยักษ์ใหญ่พากันเปิดตลาดนี้ เช่นเดียวกับแหล่งทุนต่างชาติที่หันมากว้านซื้อกิจการเว็บไซต์ดังๆ หลายเว็บ ซึ่ง Pantip เองก็ตกเป็นประเด็นเหมือนกัน แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่ขาย เพราะถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากสมาชิก ไม่ใช่ทีมงาน พวกเขาเป็นเพียงแค่คนสวนที่คอยทำหน้าที่ช่วยรดน้ำพรวนดินเท่านั้นเอง ส่วนต้นไม้จะเติบโต แตกกิ่งสาขาไปทางไหนถือเป็นเรื่องของสมาชิก

ด้วยความเชื่อนี้เองที่ผลักดันให้ Pantip กลายเป็นภาพจำหนึ่งของคนยุคนั้น เมื่อพูดถึงคำว่า ‘อินเทอร์เน็ต’

24 ปีเว็บไซต์คู่ใจคนไทย เรื่องเล่าจากโปรแกรมเมอร์คนแรกแห่ง Pantip, พันทิป, pantip.com

02

บทสนทนาที่ไม่มีวันจบ

หากถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ Pantip ยังคงกุมหัวใจของผู้คนได้ไม่เปลี่ยนแปลง คงหนีไม่พ้น การยึดเอา ‘สมาชิก’ และ ‘ชุมชน’ เป็นศูนย์กลาง อย่างห้องสนทนาแต่ละห้องก็มาจากความสนใจของสมาชิกเป็นหลัก

เดิมที Pantip กั้นพื้นที่พูดคุยไว้ 2 ห้องหลัก สำหรับคุยเรื่องคอมพิวเตอร์และคุยเรื่องอื่นๆ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ผู้คนรู้จักอินเทอร์เน็ตมากขึ้น หัวข้อสนทนาจึงเริ่มหลากหลายขึ้น พอไม่รู้จะไประบายตรงไหน จึงมาลงที่สภากาแฟแทน กระทั่งห้องนี้เต็มไปด้วยสารพัดเรื่อง ดูสะเปะสะปะไร้ทิศทาง ซึ่งหากปล่อยไว้คนอาจจะไม่อยากใช้

ในที่สุด พวกเขาจึงตัดสินใจรื้อโครงสร้างของเว็บบอร์ดใหม่ อย่าง Technical Chat เปลี่ยนชื่อ Technical Exchange และแตกหัวข้อย่อยๆ เป็น Hardware, Software, Game, Developer, Mac หรือคอมฯ มือใหม่ เพื่อรับรองผู้เล่นที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน

ส่วนสภากาแฟเปลี่ยนเป็น Pantip Cafe พร้อมแบ่งห้องชัดเจนตามกลุ่มความสนใจ ประกอบด้วย ‘เฉลิมไทย’ คุยเรื่องศิลปะบันเทิง ‘BluePlanet’ คุยเรื่องท่องเที่ยว ‘สยามสแควร์’ คุยเรื่องการเรียนและวัยรุ่น ‘รัชดา’ คุยเรื่องรถ เครื่องเสียง ‘ราชดำเนิน’ คุยเรื่องการเมือง ‘ศุภชลาศัย’ คุยเรื่องกีฬา ‘โทรโข่ง’ คุยเรื่องเตือนภัยและร้องเรียน และหากไม่รู้ว่าจะจัดหมวดหมู่ไว้ตรงไหนดีก็มารวมกันที่ห้อง ‘ไร้สังกัด’ ได้

24 ปีเว็บไซต์คู่ใจคนไทย เรื่องเล่าจากโปรแกรมเมอร์คนแรกแห่ง Pantip, พันทิป, pantip.com

การจัดห้องแบบนี้ทำให้บรรยากาศการคุยใน Pantip คึกครื้นอย่างยิ่ง เพราะทุกคนต่างเป็นคอเดียวกัน สนใจเรื่องที่เหมือนกัน จนนำไปสู่งานนัดรวมตัวพบปะสังสรรค์ของแต่ละห้อง เกิดการแบ่งปันข้อมูลความรู้ มีผู้เชี่ยวชาญแขนงสาขาต่างๆ เข้ามาช่วยตอบคำถาม อย่างสมาชิกท่านหนึ่งที่อภิศิลป์ประทับใจเป็นพิเศษคือ ศุภชัย ประเสริฐเวชทนต์ 

“หลายคนจะเรียกว่าอาจารย์ศุภชัย แต่ที่จริงแกไม่ได้เป็นอาจารย์ แกทำงานอยู่ที่โรงแรมซากุระที่หาดใหญ่ ดูเรื่องไอทีโรงแรม เป็นคนที่เก่ง มีความรู้หลายอย่าง ใครถามอะไรด้านไอที แกจะเข้าไปตอบ”

นอกจากนี้ ยังเกิดกระทู้รีวิวสินค้าหรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งฮิตมาถึงปัจจุบัน แหล่งท่องเที่ยวมากมายโด่งดังจากการแนะนำของสมาชิก เช่น ปางอุ๋ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเดิมทีไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อสมาชิกเอาภาพสวยๆ มาลง ทำให้เกิดกระแสคนแห่ไปเที่ยว ถึงขั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต้องประกาศจำกัดคนเข้าเลยทีเดียว

จากความนิยมที่ล้นหลาม ส่งผลเกิดเสียงเรียกร้องให้ Pantip เปิดห้องเพิ่มเติม อาทิ ‘ห้องสมุด’ คุยเรื่องหนังสือและปรัชญา ‘สวนลุมพินี’ คุยเรื่องสุขภาพ หรือ ‘หว้ากอ’ คุยเรื่องวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับบางห้องที่ใหญ่เกินไปอย่าง ‘เฉลิมไทย’ ทีมงานก็ใช้โอกาสนี้ซอยให้เล็กลงด้วย 

“วันแรกที่เฉลิมไทยเกิด เรารวมความบันเทิงทุกอย่างมาไว้ที่นี่ เราเลยแยกเพลงแยกดนตรีออกมาเป็น ‘เฉลิมกรุง’ ก่อน แต่เฉลิมไทยยังใหญ่อยู่ดี เลยมาคิดว่าแยกอะไรอีกได้ไหม จึงแยกศิลปะมาตั้งเป็น ‘หอศิลป์’ การ์ตูนกับหนังดูไม่ค่อยเข้ากัน ก็แยกการ์ตูนออกมา ทีนี่ก็เหลือหนังกับละคร แต่ละครถือเป็นตัวแมส เพราะเป็นสิ่งที่เข้าถึงชาวบ้านทุกคน ส่วนหนังเข้าโรงวันพฤหัสบดี แล้วศุกร์ เสาร์ อาทิตย์คนเข้าไปดู วันจันทร์เริ่มซา แล้วกลุ่มหนังเองก็รู้สึกไม่อยากอยู่กับละครแล้ว จึงแยกละครออกมาตั้งเป็น ‘บางขุนพรหม’ เฉลิมกรุงก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะตอนหลังคุย K-Pop เยอะจนคนบ่นว่า ไม่ใช่ห้องคุยเรื่องดนตรีแล้ว เราเลยแยก K-Pop ออกมาเป็น ‘กรุงโซล’”

นอกจากนี้ บางห้องที่แม้ไม่มีเสียงเรียกร้อง แต่มีโอกาสพัฒนาได้จึงกันพื้นที่ออกมา เช่น ‘ดิโอลด์สยาม’ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อรับรองสังคมสูงวัย โดยกลุ่มเป้าหมายไม่ได้จำกัดแค่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่มีพ่อแม่เข้าสู่วัยเกษียณด้วย

อีกห้องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ‘พรหมชาติ’ เนื่องจากเมื่อ 6 ปีก่อน มีกระทู้หนึ่งชื่อว่า ‘ดูดวงถาวรแบบญี่ปุ่น (แม่นมาก)’ ได้รับความนิยมสูง มียอดผู้เข้าชมกว่าล้านครั้ง สูงเป็นอันดับ 2 ของปี สะท้อนให้เห็นว่าโหราศาสตร์กับคนไทยเป็นของคู่กัน จึงสร้างห้องขึ้นมาโดยเฉพาะ

“ดูดวงเคยเป็นเซกชันเล็กๆ ฝังตัวอยู่ในห้องสยามสแควร์ เราเคยเชิญนักโหราศาสตร์มาเขียนบทความทำนายดวงให้ทุกสัปดาห์ โดยตอนแรกเรายังไม่ได้นึกถึงดูดวง คิดถึงพระเครื่องก่อน เพราะเป็นตลาดใหญ่ แต่โอกาสที่คนจะมาคุยพระเครื่องคงยาก เลยมองประเด็นที่เกี่ยวกับความเชื่อ ซึ่งดูดวงน่าจะหยิบมาขยายได้ แล้วเอาพระเครื่องมาอยู่ในนี้ด้วย

“แม้ไม่ใช่ท็อปฮิต แต่ห้องนี้ก็มีขาประจำ มีหมอดูหลายคนเข้ามาเล่น สมาชิกหลายคนขอให้ช่วยดูดวง ด้วยการถ่ายรูปมือตัวเองลงกระทู้ แล้วบอกช่วยดูลายมือให้หน่อย หมอดูบางคนบอกว่ารับดูดวงฟรีห้าคนค่ะ แต่ให้ไปบริจาคเงิน แล้วส่งใบเสร็จมาให้ดูแล้วจะดูให้ ถือเป็นคอมมูนิตี้ที่น่าสนใจมาก”

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกมากขึ้น เช่น การแยกห้องโทรโข่งออกมาเป็นเว็บไซต์ Torakhong.org (ปัจจุบันปิดตัวแล้ว) เพื่อให้ประชาชนมีช่องทางเพื่อการเรียกร้องหาความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น รวมถึงเปิดเว็บ Bloggang เพื่อเป็นช่องทางให้สมาชิกเขียนเรื่องราวและสร้างชุมชนของตัวเอง

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี ในฐานะโปรแกรมเมอร์ มีเรื่องท้าทายอีกไม่น้อยให้เผชิญ โดยเฉพาะตัวป่วนที่เข้ามาก่อความวุ่นวาย ซึ่งกฎที่วางไว้อาจช่วยจัดการได้ระดับหนึ่ง แต่ยังมีหลายกรณีที่แก้ไขลำบาก เช่นการปลอมตัวเป็นอีกผู้เล่นอีกคน แล้วไปตั้งกระทู้ 18+ 

อภิศิลป์กับวันฉัตรจึงคิดระบบจองชื่อขึ้นมา หากสมาชิกต้องการใช้ชื่ออะไรให้ไปลงทะเบียน และตั้งพาสเวิร์ดฝากไว้ พอจะตั้งหรือตอบกระทู้ก็พิมพ์ชื่อล็อกอินและพาสเวิร์ด หากถูกต้องระบบจะขึ้นรูป ‘อมยิ้ม’ ข้างหลังชื่อ ซึ่งเหตุผลที่เลือกใช้อมยิ้ม เพราะดูเป็นสากล ให้ความรู้สึกเป็นมิตร และยิ่งใช้ไปเรื่อยๆ สมาชิกก็เริ่มผูกพันและหวงแหนชื่อล็อกอิน และพยายามระมัดระวังไม่ให้ทำผิดกฎ ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกยึดอมยิ้มได้

ต่อมา Pantip ได้เริ่มพัฒนาระบบยืนยันด้วยบัตรประชาชน โดยช่วงแรกๆ นั้นถูกต่อต้านไม่น้อย เนื่องจากผู้ใช้บางส่วนมองว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่พวกเขายังต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อทำให้ Pantip กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้ามาใช้งานได้อย่างปลอดภัย 

24 ปีเว็บไซต์คู่ใจคนไทย เรื่องเล่าจากโปรแกรมเมอร์คนแรกแห่ง Pantip, พันทิป, pantip.com

“สมัยนั้นคนที่ไม่ได้อยู่ในออนไลน์มีเยอะ เวลาเสพสื่อจากหนังสือพิมพ์ เขาจะเห็นภาพอินเทอร์เน็ตเป็นสีดำ สีเทา เป็นเหมือนโลกใต้ดิน Pantip เองค่อนข้างถูกสปอร์ตไลต์เยอะเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้สังคมรู้ว่า เราไม่ได้เป็นแหล่งไม่ดีหรือเป็นอบายมุข การยืนยันตัวตนเพื่อให้รู้ว่าสมาชิก Pantip ไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ แล้วเลขบัตรประชาชนเราเข้ารหัสไว้อย่างดีถอดไม่ได้ ที่สำคัญถ้าคุณเสียล็อกอินไป คุณกลับมาสมัครไม่ได้แล้วนะ เพราะล็อกอินนั้นผูกกับเลขบัตรไว้แล้ว ทั้งหมดนี้เพื่อให้ทำให้ทุกคนเห็นว่าเราจริงจังเรื่องนี้

“ตอนที่เริ่มมีเสียงสะท้อนกลับมาเยอะ ช่วงหลังเราเลยเริ่มผ่อนคลาย ถ้าไม่สะดวกใจเรื่องบัตรประชาชน ใช้มือถือได้ อย่างน้อยเรามีเบอร์คุณแล้วเรายังติดต่อคุณได้ ต่อมาก็มีบัตรผ่าน ซึ่งสิทธิประโยชน์จะหย่อนลงมาอีกขั้นหนึ่ง บัตรผ่านทำอะไรได้น้อยสุด เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยสุดเช่นกัน”

03

‘แท็ก’ เปลี่ยนโลก

แม้จะอยู่ร่วมกับ Pantip ตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่อภิศิลป์ตัดสินใจออกจากชุมชนแห่งนี้

“พอทำได้เจ็ดปี ก็รู้สึกว่าอิ่มตัว อาจเพราะตอนนั้นมองว่า Pantip คือเว็บคอมมูนิตี้ที่คนมาคุยกันเท่านั้น วิสัยทัศน์เรามีแค่นั้น เลยขอคุณวันฉัตรออกไปหาโลกกว้าง ไปเรียนปริญญาโท ไปทดลองขายของใน eBay”

หลังค้นหาตัวเองนาน 7 ปี โลกออนไลน์เปลี่ยนแปลงเยอะมาก อินเทอร์เน็ตกลายเป็นของที่ใครๆ เข้าถึงได้ เกิดโซเซียลมีเดียใหม่ๆ ขึ้นเต็มไปหมด ทั้ง Hi5, Facebook, Twitter หรือ Instagram

ใน พ.ศ. 2554 เขาจึงกลับมาที่นี่อีกครั้ง พร้อมภารกิจสำคัญ คือพา Pantip ไปสู่ยุคใหม่

“ตอนนั้นเข้ามาสวัสดีปีใหม่คุณวันฉัตร ก็คุยกันว่าอยากกลับมาทำ Pantip ให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะงานที่ทำทิ้งไว้ แล้วเรารู้สึกว่ามันเก่าแล้ว ถึงเวลาต้องปรับ ซึ่งกลับมารอบนี้ เราไม่ได้เขียนโค้ดเองแล้ว แต่ทำหน้าที่เป็นเหมือน Leader โดยเราสร้างทีม Developer ขึ้นมาหกเจ็ดคน เอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใส่”

เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้เพื่ออุดช่องว่าง 2 เรื่องหลักที่ Pantip ประสบมาตลอด 

เรื่องแรก คือการเก็บกระทู้ เพราะแต่ก่อนฮาร์ดดิสราคาแพง หากต้องการเก็บกระทู้ก็ต้องลงทุนมหาศาล วิธีที่ Pantip ใช้ คือมีระบบคลังกระทู้เก่า โดยสมาชิกช่วยกันเลือกกระทู้ดีๆ มีสาระน่าสนใจเข้าคลังได้ ซึ่งกระทู้นี้จะถูกย้ายไปยังฮาร์ดดิสอีกตัวและเก็บไว้ตลอดกาล ส่วนกระทู้ที่ไม่ถูกเก็บ หากไม่มีใครมาอัปเดตเพิ่มเติมภายใน 1 เดือนจะถูกลบออกไป ทำให้มีกระทู้ดีๆ หายไปไม่น้อย เนื่องจากแต่ละวันมีคนตั้งกระทู้มหาศาล นับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง

อีกประเด็นหนึ่งคือ เวลาที่กระทู้นั้นมีผู้เข้ามาตอบเยอะๆ มักมีอาการ Error จนสมาชิกต้องแตกประเด็นไปตั้งกระทู้ใหม่ ซึ่งชาว Pantip เรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า ‘กระทู้ด๋อย’

“Pantip ยุคเก่าไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการสนทนาหลายร้อยคอมเมนต์ แต่ตอนมีกระแส AF แต่ละคนจะมีแฟนคลับเป็นบ้านๆ แต่ละบ้านก็คุยกันเยอะ แล้วพอกระทู้ยาวเป็นร้อยคอมเมนต์ก็เริ่มมีปัญหา เพราะสมัยนั้นข้อมูลไม่ได้เก็บลงดาต้าเบส แต่เก็บเป็นไฟล์ไฟบ์หนึ่ง พอไฟล์มันยาว สิ่งที่ระบบทำคือเปิดไฟล์นั้นขึ้นมาก่อน แล้วเอาคอมเมนต์ล่าสุดไปเสียบข้างท้ายแล้วปิด ทีนี่ถ้าเกิดคนสองคนเข้ามาเวลาเดียวกัน คนหนึ่งเปิดแล้วเขียนไฟล์ อีกคนมาเขียนทับ ทำให้ข้อมูลบางส่วนเสียหาย เพราะฉะนั้นพอถึงสองร้อยคอมเมนต์ สมาชิกจะรู้เองว่าว่าต้องหยุดแล้วไปตั้งกระทู้ใหม่”

อภิศิลป์ใช้เวลา 2 ปีเต็มจัดการปัญหาจนหมด ทั้งลงทุนซื้อฮาร์ดดิสเพิ่มเพื่อเก็บทุกกระทู้ ทำให้ทุกอย่างในเว็บไซต์ค้นหาง่ายขึ้น รวมถึงปรับระบบให้รองรับความเห็นจำนวนมหาศาลได้ เช่น กระทู้เรื่อง MH370 มีคนเข้าไปตอบกว่า 13,000 ความเห็น หรือกระทู้เกาะติดสถานการณ์เด็กติดถ้ำหลวงมียอดทะลุเกิน 17,000 ความเห็น

แต่ที่เรียกว่าพลิกโฉมและพา Pantip ยุคใหม่เรียกว่า Pantip 3G อย่างแท้จริง คือระบบแท็ก หรือการติดหัวข้อสนทนาในกระทู้นั้นๆ ว่าเป็นเรื่องอะไร ซึ่ง Pantip ถือเป็นเว็บไทยเจ้าแรกๆ ที่นำมาใช้งานอย่างจริงจัง

“ระบบแท็กถือเป็นผลพลอยได้ เพราะพอปรับแล้ว ทำให้รองรับอะไรใหม่ๆ ได้ด้วย โดยที่ผ่านมาเราแบ่ง Pantip ออกเป็นยุค อย่างยุค 1G ที่เราเรียกว่ายุคสตาร์ทอัพ เป็นช่วงที่เริ่มมีห้องต่างๆ พอยุค 2G เราเริ่มแนะนำกลุ่มย่อยให้กับผู้ใช้ เช่นห้องห้องเฉลิมไทยก็มีกลุ่มดารานักแสดง รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ต่างประเทศ เริ่มมีคลับต่างๆ แต่พอช่วงปลายๆ ยุค เราเห็นว่า ความสนใจของคนลงลึกกว่านั้น ถ้าคุยเรื่องบันเทิง คุณต้องลงไปถึงณเดชน์ ถึงญาญ่า ให้ได้ ซึ่งกลุ่มย่อยมันไม่มีทางรองรับได้ ต้องมีระบบที่เข้ามารองรับและตอบโจทย์นี้”

และเป็นธรรมดาของการปรับเปลี่ยนที่ต้องมีเสียงคัดค้าน ช่วงแรกหลายคนแอนตี้ไม่ยอมใช้ บางคนใช้งานไม่ถูก ไม่รู้ว่าติดแท็กอย่างไร จนต้องตั้งทีมรองรับขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่เมื่อผู้ใช้งานเริ่มคุ้นเคย ยอดผู้ใช้งาน Pantip ก็ก้าวกระโดด จากเดิมที่มีอยู่ราว 7 – 8 แสนคนต่อวัน พุ่งสูงสุดถึง 5 ล้านคนภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี

ที่สำคัญแท็กบางคำยังกลายเป็นที่นิยมแซงหน้าห้องสนทนา เช่น ความรักวัยรุ่น มีผู้ติดแท็กคำนี้เกือบล้านกระทู้ มีผู้ติดตามกว่า 17,000 คน ส่วนสโมสรฟุตบอลอังกฤษก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน โดยมีผู้ตั้งกระทู้เรื่องนี้มากถึง 1.5 แสนกระทู้ เช่นเดียวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ซึ่งเวลานี้มีผู้ตั้งกระทู้เฉียดหมื่นแล้ว โดยแท็กใหม่ๆ จะถูกเพิ่มขึ้นตามกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

นี่เองที่ทำให้ Pantip ไม่เคยล้าสมัย แม้จะมีอายุเกือบ 24 ปีแล้วก็ตาม

04

เว็บไซต์ ‘คู่ใจ’ คนไทย

หากว่า Pantip ให้อะไรกับคนไทย เชื่อว่าคงมีคำตอบเต็มไปหมด

บางคนเข้ามาตั้งกระทู้ขอความช่วยเหลือหรือร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ บางคนใช้หาข้อมูลเมื่อต้องตัดสินใจอะไรสักอย่างในชีวิต บางคนนำสิ่งที่อ่านเจอไปใช้ทำงาน ต่อยอดหาความรู้ หรือแม้กระทั่งวางแผนการเดินทาง

ที่สำคัญยังมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาเป็นสมาชิก คอยให้ข้อมูลและจัดการปัญหา เช่น ฝ่ายบริการลูกค้าของธนาคาร บริษัทมือถือ รวมทั้งโรงพยาบาล และศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (GCC1111)

ด้วยเหตุนี้ Pantip จึงกลายเป็นเว็บคู่ใจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเสมอมา

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือเว็บไซต์นี้ได้จุดกระแสต่างๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม อย่างคำศัพท์หลายๆ คำ อาทิ กระทู้ ปูเสื่อรอ กินเผือก หรือต้มมาม่า ต่างมีจุดเริ่มต้นจากที่นี่

“คำว่ากระทู้นี่คุณวันฉัตรเรียกขึ้นมาเอง เพราะเมื่อก่อนเวลาพูดถึงคำว่ากระทู้ ทุกคนจะนึกถึงการตั้งกระทู้ในสภา หรือโต้คารม แต่แกเอาคำนี้มาใช้แล้วมันสื่อความหมายดี ปูเสื่อรอ เหมือนว่ารอให้เจ้าของกระทู้มาเล่าต่อว่าเหตุการณ์เป็นยังไง ส่วนกินเผือกคืออยากรู้เรื่องของชาวบ้าน ต้มมาม่าคือเริ่มมีสองฝ่ายทะเลาะกันแล้ว เริ่มเดือดแล้ว”

แม้แต่บางเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยมีองค์ความรู้ อย่างโรคเอดส์ Pantip ก็เป็นตัวเปิดประตู โดยช่วงนั้นมีสมาชิกชื่อ ‘แก้ว’ เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีมาเขียนเล่าประสบการณ์ตั้งแต่รู้ตัวว่าติดเชื้อจากแฟนหนุ่ม วิธีรักษาตัว จนเกิดเป็น ‘Kaewdiary’ ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ และช่วยลบล้างความเชื่อเดิมๆ ว่าผู้ติดเชื้อเป็นบุคคลน่ารังเกียจออกไปจากความนึกคิดของผู้คน

ทว่าปรากฏการณ์หนึ่งที่ทุกคนจดจำได้ไม่ลืม คือ ‘นักสืบพันทิป’ ซึ่งมีส่วนเปิดโปงเรื่องโกหกมาไม่น้อย โดยเฉพาะกรณีของนักร้องคนหนึ่งซึ่งประกาศตัวว่าโกอินเตอร์ จนสร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่วงการบันเทิงไทย

“สมาชิกคนหนึ่งสงสัยว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีจริง เลยหาข้อมูลแล้วโพสต์แฉ ทีนี้ด้วยความที่ดาราท่านนั้นมีเรื่องราวเป็นคดีความและหนีการจับกุมของตำรวจ บังเอิญมีสมาชิกไปเจอตัวที่เชียงคาน จึงถ่ายรูปมาแล้วบอกว่าทำไมตำรวจไม่จับ เลยกลายเป็นกระแสนักสืบพันทิปว่าอยู่ที่ไหนก็มีคนไปตามดู”

ความจริงแล้ว นักสืบพันทิปมีมาตั้งแต่ยุค 1G  อภิศิลป์เชื่อว่าบุคคลแรกที่ได้รับบทบาทนี้คือตัวเขาเอง โดยช่วงนั้นมีเกรียนคีย์บอร์ดเข้ามาก่อความวุ่นวาย ทั้งใช้คำหยาบ ปั่นกระทู้ซ้ำ เขาจึงตามสืบจากไอพีแอดเดรส กระทั่งเจอตัว แล้วส่งข้อมูลต่อให้วันฉัตร เพื่อไปพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กคนนั้น จนเรื่องราวสงบลง

แต่ที่เป็นประเด็นเยอะๆ คงไม่พ้นกรณี ‘คุกกี้หลงป่า’ ซึ่งมีสมาชิกคนหนึ่งอ้างว่าหลงป่าที่ญี่ปุ่น หลังวิ่งออกกำลังกายช่วงกลางดึก

“ตอนนั้นเขาเขียนเล่าว่าวันนั้นหมอกลงเยอะ มือถือแบตกำลังจะหมด กลัวมาก ไม่รู้จะทำยังไงดี เลยใช้เฮือกสุดท้ายโทรหาคอลเซ็นเตอร์ของโอเปอเรเตอร์ที่เมืองไทย แล้วก็ลงรูปเรื่องเต็มไปหมด ลงพิกัดด้วย คนเข้ามากันสนุก จนมีสมาชิกคนหนึ่งรู้สึกว่าโกหกแน่ๆ เลยเดินทางไปยังญี่ปุ่น เพื่อไปค้นว่าพิกัดนั้นอยู่ตรงไหน ปรากฏว่าจุดที่บอกว่าหลงป่า คือสี่แยกที่มีร้านสะดวกซื้อ แล้วถ่ายรูปกลับมาให้ จึงรู้ว่ากระทู้นี้ไม่เป็นความจริง”

อย่างไรก็ดี แม้นักสืบพันทิปจะช่วยให้ประเด็นที่ผู้คนสงสัยคลี่คลาย แต่อภิศิลป์ย้ำว่า การกระทำใดๆ ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่วางไว้ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล ห้ามนำมาเผยแพร่เด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษ ทั้งหมดนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งเพื่อรักษาบรรยากาศการพูดคุยให้เรียบร้อยที่สุดด้วย

05

พื้นที่แห่งการแบ่งปัน

ตลอด 24 ปี Pantip มีสมาชิกกว่า 4 ล้านคน มีกระทู้เกิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 4,000 – 5,000 กระทู้ต่อวัน และถือเป็นเว็บไซต์สัญชาติไทยที่มียอดผู้ชมสูงสุดของประเทศ

เหตุผลหลักที่ทำให้ Pantip เป็นที่นิยมในยุคที่โซเซียลมีเดียครองเมือง มาจากการวางบทบาทของตัวเองชัดเจน

“ผมคิดว่าคนคนหนึ่งเล่นได้หลายโซเซียล เขาอาจเล่น Pantip เล่น YouTube เล่น Facebook หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเราเองก็ได้จากประโยชน์แพลตฟอร์มอื่นเช่นกัน อย่างคนที่เล่น Facebook บางทีเขาอาจไม่เคยเล่น Pantip มาก่อน แต่พอมีการเอากระทู้ไปหน้าฟีด เขาก็เริ่มรู้จักเรามากขึ้น

“แต่สิ่งสำคัญคือเราจะให้ Pantip ฉีกออกจากแพลตฟอร์มอื่นอย่างไร โพสต์หนึ่งที่คุณวันฉัตรขึ้นหน้าเว็บตั้งแต่ยุค 1G คือ ‘ไม่มีใครรู้ทุกอย่าง เรารู้ในบางสิ่งที่ผู้อื่นไม่รู้ เช่นเดียวกับที่ผู้อื่นรู้ในบางสิ่งที่เราไม่รู้’ เพราะฉะนั้น การทำพื้นที่ให้คนมาแชร์ความรู้กัน จึงเป็นจิตวิญญาณนับตั้งแต่มีเว็บบอร์ดขึ้นมาเลย สิ่งหนึ่งที่เราต่างจาก Facebook คือ เขาเน้นการ Connecting People ทำให้คุณเชื่อมกับเพื่อนได้ แต่ Pantip ไม่จำเป็น คุณไม่ต้องเชื่อมกับเพื่อนก็ได้ แต่คุณมาแชร์สิ่งที่คุณรู้ เพื่อให้คนอื่นๆ ที่เขาสนใจได้รู้เหมือนคุณ”

เพราะฉะนั้น การทำให้สมาชิกยังรู้สึกสนุกที่ได้เล่น Pantip จึงเป็นภารกิจสำคัญสุดของทีมงาน ด้วยเหตุนี้พวกเขาสร้างระบบ Pantip Pick เพื่อคัดเลือกกระทู้ดี น่าสนใจมาไว้ยังด้านบนสุดของแต่ละห้อง หน้าแรกของเว็บ หรือหน้าเพจ Facebook เพื่อให้ผู้คนมีโอกาสเข้าถึงกระทู้นั้นมากขึ้น รวมทั้งมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เช่น พวงกุญแจ ที่รองแก้ว มอบให้ หากได้รับการปักหมุดเป็นครั้งแรก เสมือนเป็นคำขอบคุณจากทีมงาน จะได้มีกำลังใจสร้างกระทู้ดีๆ ต่อไป 

พอสิ้นปีก็มีกิจกรรม Pantip Pick of the Year โดยทีมงานจะคัดเลือก 10 สุดยอดกระทู้แห่งปี จากนั้นจึงส่งข้อความไปยังเจ้าของกระทู้ เพื่อเชิญมารับประทานอาหารร่วมกับผู้บริหาร โดยมีของที่ระลึกเป็นป๊อปอัปการ์ดรูป ‘น้องเพี้ยน’ มาสคอตของ Pantip ตามเนื้อหาของกระทู้ที่สมาชิกเขียนขึ้น

24 ปีเว็บไซต์คู่ใจคนไทย เรื่องเล่าจากโปรแกรมเมอร์คนแรกแห่ง Pantip, พันทิป, pantip.com

“น้องเพี้ยนมีต้นแบบมาจากโลโก้เก่าคือต้นกระบองเพชร ซึ่งเป็นต้นไม้ที่อยู่ได้ในทะเลทราย มีน้ำอยู่ในตัว และสัตว์เข้ามาดื่มได้ เหมือนกับ Pantip ซึ่งเปิดตัวมาในช่วงใกล้ๆ กับวิกฤตต้มยำกุ้ง คนตกงานเยอะ ที่นี่จึงเป็นเหมือนแหล่งพักพิงใจ แหล่งปรับทุกข์กับเพื่อน แต่พอช่วง 3G เราดีไซน์โลโก้เอากระบองเพชรออก เปลี่ยนเป็นรูปอมยิ้มสองขด เราเสียดายเรื่องราวของกระบองเพชร เลยยกระดับขึ้นเป็นมาสคอตหรือตัวเพี้ยน และใช้เป็นสื่อกลางในการพูดคุยกับสมาชิก เริ่มทำคาแรกเตอร์หลายๆ อย่าง เช่น น้องเพี้ยนปูเสื่อรอ น้องเพี้ยนต้มมาม่า รวมถึงของรางวัลที่มอบให้สมาชิกด้วย”

24 ปีเว็บไซต์คู่ใจคนไทย เรื่องเล่าจากโปรแกรมเมอร์คนแรกแห่ง Pantip, พันทิป, pantip.com
24 ปีเว็บไซต์คู่ใจคนไทย เรื่องเล่าจากโปรแกรมเมอร์คนแรกแห่ง Pantip, พันทิป, pantip.com

นอกจากสานสัมพันธ์กับสมาชิกแล้ว Pantip ยังพยายามผลิตเนื้อหาที่ตอบโจทย์ความสนใจของสมาชิก เช่นสัมภาษณ์นักแสดงที่มีกระแส หรือรวบรวมโบรชัวร์จากงานไทยเที่ยวไทยมาสแกนเก็บไว้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากทีมงานเชื่อว่า สมาชิกส่วนใหญ่อาจไม่มีเวลาเพียงพอจะรวบรวมด้วยตัวเอง ซึ่งหลายกระทู้ก็เป็นที่นิยมและนำไปประโยชน์ได้จริง

สำหรับเป้าหมายในอนาคต อภิศิลป์ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่บอกว่า ยังคงยึดเป้าหมายเดิมคือ ‘ทุกคำถามของคนไทยต้องมีคำตอบที่น่าเชื่อถือ’ เพราะฉะนั้นโจทย์ต่อไป คือทำอย่างไรให้คนตั้งคำถามและเข้ามาตอบมีคุณภาพมากขึ้น

เขายกคำพูดของ เจฟฟ์ เบซอส (Jeffrey Preston Bezos) ซีอีโอ Amzon ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ถึงอนาคตของวงการอีคอมเมิร์ชว่า คุณไม่มีทางรู้ว่าอีก 10 – 20 ปีข้างหน้าวงการนี้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ 3 สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนคือ ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ราคาถูกลงเรื่อยๆ มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ Amazon ทำจึงไม่ใช่การปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว แต่คือการรักษาสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการไว้ให้ได้มากที่สุด

“Pantip ก็เหมือนกัน เราต้องกลับมาตั้งคำถาม อะไรจะไม่เปลี่ยนแปลงในอนาคต เรารู้ว่าคนยังมีคำถามมีปัญหาอยู่ และเขาต้องการคำตอบที่เชื่อถือได้ เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นได้ สิ่งที่เราเน้นมากขึ้น คือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งความจริงมีอยู่ตลอด อย่างแต่ก่อนสมาชิกคนไหนเป็นคุณหมอ ก็จะมีเครื่องหมายกากบาทกาชาดต่อท้ายล็อกอิน เพื่อให้คนรู้ว่านี่คือคุณหมอ แต่ตอนนี้เราจะพยายามเชิญบุคคลเหล่านี้เข้ามาในระบบมากขึ้น เพื่อมาช่วยตอบในเรื่องที่เซนซิทีฟ ไม่ใช่แค่หมอ แต่รวมถึงอาชีพอื่นด้วย เช่น ตากล้อง เชฟ หรือหมอดู

“อีกเรื่องคือ Pantip มักมีคำถามแนวเลือกซื้อสินค้ายี่ห้อไหนอยู่เรื่อยๆ เช่น ซื้อสมาร์ทโฟนงบไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซื้อรุ่นไหนดี ซึ่งมีคนเข้ามาตอบเรื่อยๆ แต่ปัญหาคือคนถามต้องนั่งไล่อ่านทีละคอมเมนต์ เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ไหม หากมีกระทู้รูปแบบใหม่ ให้คนมาโหวตว่ายี่ห้อไหนดี ชอบยี่ห้อไหนก็กดบวกหนึ่ง ยี่ห้อไหนเยอะกว่าก็ขึ้นอันดับแรก เท่านั้นไม่พอ บางทีคนไม่อยากรู้แค่อันไหนโหวตเยอะกว่า แต่อยากรู้ข้อดีข้อเสียของแต่ละยี่ห้อด้วย เราก็ให้คนมาบอกเลยว่ายี่ห้อ A จุดเด่นคืออะไร จุดด้อยคืออะไร แล้วให้โหวตด้วย คนจะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจว่าควรเลือกทางไหนดี ซึ่งเรื่องนี้เราประยุกต์ใช้กับฮาวทูอื่นได้ด้วย เช่น อ่างล่างมือตัน ขอวิธีจัดการหน่อย ซึ่งทำได้หลายวิธี แต่วิธีไหนดีกว่ากัน”

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะสำหรับอภิศิลป์แล้ว นี่คือความฝันอันยิ่งใหญ่ที่อยากส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อให้ Pantip เป็นที่พึ่งพิงของคนไทยตลอดไป


ข้อมูลประกอบการเขียน

  • บทสัมภาษณ์คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ วันที่ 5 มิถุนายน 2563
  • นิตยสาร ผู้จัดการ ปีที่ 16 ฉบับที่ 190 เดือนกรกฎาคม 2542
  • นิตยสาร UpDATE ปีที่ 15 ฉบับที่ 150 เดือนกุมภาพันธ์ 2543
  • นิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1378 วันที่ 12 – 18 มกราคม 2550
  • นิตยสาร ขวัญเรือน ปีที่ 39 ฉบับที่ 851 ปักษ์แรกเดือนพฤษภาคม 2550
  • บทความชุด ฉลอง 15 ปี Pantip.com เว็บไซต์ thumbsup.in.th
  • pantip.com/topic/31784179 (ภาพเลย์เอาต์เว็บ Pantip)

Writer & Photographer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว