เมื่อเห็นยอด COVID-19 เพิ่มขึ้นทุกวัน คุณหวังอะไรอยู่

ความหวังของฉันเรียบง่ายมาก แล้วคงหวังเหมือนคนไทยทุกคน แค่อยากให้ประชากรทุกคนในประเทศเข้าถึงวัคซีนคุณภาพอย่างเร็ววัน เพื่อรักษาชีวิตให้เดินไปข้างหน้า ค้าขาย เดินทาง ท่องเที่ยว ทำงาน เล่าเรียนกันในโรงเรียน และเดินทางไปหาคนรักใกล้ไกลได้อย่างปกติ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเอาโรคไปติดเขาหรือเปล่า แต่ยิ่งนานวัน เรายิ่งรู้สึกถูกริบความหวังไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ‘การมีชีวิตที่ดีนั้นยากจัง’

‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ หนังสือสารคดีที่รวมฝันอันกล้าหาญของผู้คน

นั่นเเหละ เเม้มันจะยาก เเต่ก็มีผู้คนมากมายในหนังสือสารคดี ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ ของ อีฟ-ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย นักเขียนสารคดีและบรรณาธิการเว็บไซต์ The101.world ที่ยืนยันว่าเราต่างไขว่คว้าความฝัน เพื่อหวังให้ครอบครัวสบายกว่านี้ เพื่อยืนยันว่าเราทุกคนต้องมีชีวิตที่ดี พลังของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยมันเเข็งเเกร่ง เเล้วชีวิตของคนก็อยู่ทุกบรรทัดในหนังสือสารคดีเล่มนี้ 

คนที่เราอาจเคยพบเห็นตามท้องถนน แต่ไม่เคยเข้าไปพูดคุย หรือยิ่งกว่านั้นคือ คนที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาอยู่ตรงนั้น ทั้งแรงงานชาวทวายในกรุงเทพฯ คนขายบริการทางเพศริมคลองหลอด คนไร้บ้าน หรือคนที่เคยมีบ้าน แต่ได้รับความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจจนไร้บ้าน พ่อค้าแม่ค้าริมทาง คนซื้อ-คนขาย หวยบนดินหรือใต้ดิน ตลอดจนอาจเป็นพวกเราเองด้วยซ้ำที่ออกไปสู้บนท้องถนน

ภายในหนังสือประกอบด้วยบทความสารคดี 12 ชิ้น ที่ปาณิสคัดสรรมาจากเว็บไซต์ The101.world และ 1 สารคดีชิ้นใหม่ที่เขียนขึ้นเพื่อตอกย้ำทุกความหวังว่ามันไม่มีทางได้มาเลย ถ้าไม่ออกมาเรียกร้อง และการออกมาเรียกร้องก็ไม่อาจการันตีว่าจะทันช่วงชีวิตเราด้วยซ้ำ น่าเศร้า

  การทำงานทุกชิ้นในสารคดีของปาณิสเกิดจากการลงพื้นที่ทำงานอย่างหนัก ไปบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พูดคุย เฝ้ารอ เฝ้ามอง สังเกต และเปิดใจด้วยสายตาที่ไม่ตัดสิน จนสามารถเข้าไปคุยกับส่วนลึกในจิตใจผู้คนออกมาได้ เช่น เปิดตา ‘ตีหม้อ’ สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด เรื่องเล่าจากการลงพื้นที่คลองหลอด เพื่อเปิดชีวิตคนขายบริการในมุมที่คนไม่ค่อยรับรู้ มุมที่ต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งโรคติดต่อ อาชญากรรม การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการตั้งคำถามว่าตราบใดที่ยังซุกปัญหาไว้ใต้พรม คุณคิดว่ามันจะดีขึ้นเหรอ

‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ หนังสือสารคดีที่รวมฝันอันกล้าหาญของผู้คน

50 ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม เรื่องราวชีวิตที่ยากลำบากของนักเรียน ที่สะท้อนภาพใหญ่ของการศึกษาไทยว่าความเหลื่อมล้ำไม่เคยหายไปไหน, ราษฎร์ลำเค็ญบนราชดำเนิน ชีวิตของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในย่านการท่องเที่ยว ในวันที่ไร้การท่องเที่ยว สะท้อนความแห้งแล้งของชีวิตที่นโยบายความช่วยเหลือของภาครัฐไม่เคยมาถึง, กลับตัวไม่ได้ เดินต่อไม่ถึง ชีวิตแรงงานพม่าในกรุงเทพฯ หลังโควิด เมื่อคนทวายไม่อาจกลับบ้าน เรื่องราวของแรงงานพม่าในชุมชมทวาย ตรงข้ามตลาด อตก. เมื่อพวกเขาต้องขาดรายได้ จากมาตรการล็อกดาวน์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งยิ่งอ่านก็ยิ่งปวดใจ เมื่อคิดว่าไม่กี่เดือนก่อนพวกเขาต้องเผชิญสายตาหวาดระแวง จากการถูกแปะป้ายว่าเป็นต้นตอ COVID-19 และปัจจุบันกับสถานการณ์ในเมียนมา ที่ชีวิตญาติพี่น้องเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะการทำรัฐประหาร

สารคดีบางชิ้นก็มาจากการเดินทางไปต่างประเทศ เช่น ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย บอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกว่า 196.5 ตารางกิโลเมตรในเมียนมาที่พลิกชะตาชีวิตของผู้คน จากสวนหมากทำกินกลายเป็นท้องถนนขลุกฝุ่น จากป่าชายเลนอุดสมบูรณ์กลายเป็นหาดทรายแห้งแล้ง ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ว่างเปล่าจนมองไม่เห็นว่าชีวิตที่ดีขึ้นจะอยู่ตรงไหน รวมถึงสารคดี ฮ่องกงปิดปรับปรุง : จนกว่าเสรีภาพจะมาถึง? ที่ปาณิสไปคุยคนหนุ่มสาว คนวัยทำงานเรื่องการเรียกร้องประชาธิปไตย ในฐานะสื่อมวลชนปาณิสเผชิญแก๊สน้ำตา และการปวดแสบปวดร้อนก่อนผู้ชุมนุมคนไทย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจ มันกลับช่วยตอกย้ำว่าไม่ว่าเราจะมีจุดยืนต่างกันแค่ไหน ความรุนแรงก็เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้

ทั้งหมดนี้ฉันไม่รู้จะบอกความรู้สึกหลังอ่านจบยังไงดี ถ้ามันเป็นหนังสือที่ทำให้รู้สึกมีหวังอยู่บ้าง หลายเรื่องราวมันก็เศร้ามาก จนบางวันชีวิตตัวเองก็เศร้าอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะอ่านหนังสือที่ซึมซับความเศร้าเข้าไปอีกทำไม การมองเห็นผู้คนที่โดนกดทับความสุขทุกวิถีทาง จนมองไม่เห็นความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้กล่อมให้ฉันเชื่อว่า อย่างน้อยชีวิตเราก็ดีกว่าเขา เห็นไหมมีคนแย่กว่าเราอีก แต่มันยิ่งทำให้ตั้งคำถามว่า 

ทำไม ทำไม ‘การมีชีวิตที่ดี’ ซึ่งเป็นความหวังพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนนั้นยากเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม งานเขียนสารคดีของปาณิสบอกกับฉันแบบนั้น… ไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เราต่างเกี่ยวข้องกันทั้งในทางตรงและทางอ้อม แรงงานต่างชาติคือคนที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อผู้ใหญ่บอกว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า แต่ก็มีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาถึง 670,000 คน เราทุกคนต่างเป็นแรงงาน เก็บเงินเพื่อหวังใช้ในยามเกษียณ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่ายามร่างกายไร้เรี่ยวแรง ทางม้าลายที่รถยนต์ไม่จอด มันทำให้กำลังขาของคนอายุมากไต่ขึ้นสะพานลอยอย่างอยากลำบาก ทั้งรัฐที่ไร้สวัสดิการก็ทำชีวิตแสนลำเค็ญ และไม่ว่าคุณจะซื้อหวยบนดินหรือใต้ดิน ทุกวันที่ 1 และ 16 คุณก็หวังจะรวยมิใช่หรือ

‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ หนังสือสารคดีที่รวมฝันอันกล้าหาญของผู้คน

ปาณิสให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์ thematter.co ช่วงหนึ่งซึ่งกระแทกความรู้สึกของฉันไว้ว่า 

“เราเคยตีต้นไมยราบไหม พอเราตีเสร็จมันจะหุบแล้วสักพักมันจะบานขึ้นมาใหม่ เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เราถูกตีแล้วเราหุบ ถ้าเราไม่คลี่ออกมาใหม่ คนตีมันก็สบายใจ ดังนั้น เราควรจะเป็นต้นไมยราบที่คลี่ออกเสมอ เราควรจะเป็นดอกไม้ที่ผลิดอกใหม่เสมอ เพื่อบอกโลกนี้ว่ามันยังมีความงามเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอ แค่คนยังมีหวัง คนที่มันอยู่ในอำนาจมันก็อยู่ไม่สุขแล้ว แต่ถ้าเราหมดหวัง คนพวกนั้นก็อิ่มเอม สบายใจ แม้แต่ประเทศไทยเราเอง มันดูอย่างไรก็ไม่มีทางสู้ได้เลย แต่ว่าความหวังในใจคนทุกคน สักวันหนึ่งมันจะเปลี่ยนแปลง อย่าเพิ่งหมดหวังกัน”

ถ้าปาณิสยังเขียนงานด้วยความหวัง ฉันก็อยากบอกเธออีกเสียงว่าจะมี ‘ความหวัง’ อยู่

อีกอย่างหนึ่งที่ฉันรู้สึกกับหนังสือเล่มนี้คือ หลายคนคงคิดว่าการอ่านสารคดีหนักและยาก ความจริงจังทำให้ไม่สนุก แต่อยากบอกว่าด้วยลีลาการเขียน ความเก่งกาจคมคายของปาณิส ทำให้ยิ่งอ่านสารคดีก็ยิ่งสนุก บางจังหวะตลกขบขัน บางจังหวะมีลูกล่อลูกชนกับคนที่ไปคุยด้วย บางจังหวะรวดร้าว บางจังหวะต้องวางหนังสือทิ้งไว้แล้วไปทำอย่างอื่น เพื่อให้ก้อนสะอื้นที่จุกอยู่ตรงลำคอหายไป

ไม่ว่าคุณจะอ่านด้วยความรู้สึกแบบไหน ในฐานะคนรักหนังสือ ฉันขอบคุณสำนักพิมพ์ Salmon Books ในช่วงเศรษฐกิจที่ง่อนแง่น การตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือสารคดีคงไม่ง่ายนัก แต่การพิมพ์หนังสือสารคดีเล่มนี้ช่วยตอบคำถามฉันว่า ทำไมถึงต้องมีนักเขียนสารคดี เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ให้ตีพิมพ์ เรื่องราวคนตัวเล็กๆ ก็ไม่รู้จะไปอยู่ในพื้นที่สื่อตรงไหน และความหวังเล็กๆ อีกอย่างของฉัน คืออยากให้คนเรียนสื่อสารมวลชนทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ มันคงช่วยตอบคำถามในใจเราที่โดนคนรอบข้างถามว่า ‘สื่อมวลชนยังจำเป็นอยู่ไหม’

ในฐานะเพื่อนคนหนึ่งของปาณิส อยากขอบคุณมากๆ ที่ยังเลือกเส้นทางการเป็นนักเขียนสารคดี การเขียนสารคดีเป็นงานที่หนัก ไม่ง่ายที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนแปลกหน้า แล้วให้เขาเปิดเผยความในใจ ความอึดอัด ความขับข้องใจ หรือแรงผลักดันในชีวิตให้ฟัง ยิ่งในแหล่งที่ยังผิดกฎหมายอยู่ด้วยนั้น การเข้าหาก็ยิ่งยากลำบาก บางประโยคในหนังสือเล่มนี้ คงไม่ได้มาในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ปาณิสคงใช้หัวใจการเป็นเพื่อนมนุษย์เข้าถึง และถ่ายทอดออกมาอย่างซื่อสัตย์ได้ในที่สุด 

หากจะนึกถึงเรื่องราวในวันวานอยู่บ้าง การอ่านหนังสือสารคดีเล่มนี้ ทำให้ฉันนึกถึงความทรงจำตอนเรียนคลาส การเขียนสารคดีเบื้องต้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากรกับปาณิส ตอนนั้นอาจารย์ยกสารคดีเรื่อง ‘ถนนสายสั้นที่มีความฝันยาวที่สุดในโลก’ ของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ มาให้อ่าน จำได้ว่าเป็นงานสารคดีที่อ่านแล้วมีความสุข มันมีความฝัน มีความหวังอยู่ทุกตัวอักษร ไม่ใช้การฝันเพียงลำพัง แต่พาคนอ่านร่วมฝันร่วมหวังไปพร้อมกันด้วย 

อยากบอกปาณิสว่างานของปาณิสก็เป็นแบบนั้น เป็นสารคดีที่หากคุณเปิดหัวใจอ่าน อ่านอย่างจริงใจ คุณจะพบว่า เรื่องราวของทุกคนเรียบง่าย ไม่ควรมีใครผูกขาดความหวังไว้แต่เพียงผู้เดียว… ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว

อย่างน้อยที่สุด ก็อย่าลิดรอนความหวังของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเลย

‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ หนังสือสารคดีที่รวมฝันอันกล้าหาญของผู้คน

Writer

Avatar

กมลพร สุนทรสีมะ

อดีตเติบโตมากับกองบรรณาธิการนิตยสารสำหรับเด็กเเละครอบครัว ชอบดอกไม้ พืชใบเขียว มีหอศิลป์เป็นที่ชุบใจ ติดชาเย็นหวานน้อย พอๆ กับกลิ่นกระดาษ อนาคตอยากเลี้ยงลาบราดอร์สีน้ำตาล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล