ถ้าจะบอกว่า ‘เมกาบางนา (Megabangna)’ เป็นความภาคภูมิใจของชาวบางนาเนี่ยนก็ไม่น่าจะเกินจริงไปนัก เพราะแม้คุณจะไม่ใช่คนแถวนี้ เราเชื่อว่าคุณก็ต้องเคยได้ยินชาวบางนาพูดถึงที่นี่มาบ้างแน่ ๆ 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้านเก๋ ๆ แบรนด์ดัง ๆ หรือพื้นที่สนุก ๆ ที่ชาวบางนามักพูดถึงว่า “ที่เมกาบางนาก็มี”

การทำศูนย์การค้าในยุคนี้ไม่ง่าย เพราะนอกจากจะมีห้างน้อยใหญ่ผุดขึ้นมาแข่งกันเป็นดอกเห็ดแล้ว ผู้บริโภคยังมีตัวเลือกกิจกรรมอื่น ๆ มากมายให้ทำในวันว่าง แถมข้าวของต่าง ๆ ก็มาถึงมือได้เพียงแค่ปลายนิ้วจิ้มหน้าจอโทรศัพท์

แต่ศูนย์การค้าแห่งนี้ก็ยืนหยัดและเติบโตมาได้อย่างดี 

บนพื้นที่ 400 ไร่ เมกาบางนามีร้านค้าน้อยใหญ่กว่า 900 ร้าน มีพื้นที่สาธารณะกว้างขวาง ต้อนรับลูกค้ามาแล้ว มากกว่า 500 ล้านคน แถมพื้นที่ร้านค้ายังถูกจองเต็มแทบจะตลอดเวลา และแม้จะเป็นห้างที่มีโลเคชันเดียว แถมตั้งอยู่ชานเมือง แต่ก็มีผลงานโดดเด่นจนเป็นที่จับตาและถูกยกให้เป็นกรณีศึกษาอยู่เสมอ

วันนี้ The Cloud ไม่เพียงแต่ได้มาเดินเที่ยวห้างในเวลางาน แต่ยังได้มาคุยกับผู้บริหารที่เป็นเบื้องหลังเสน่ห์ของศูนย์การค้าแห่งนี้ด้วย

คุณดิว-พลินี คงชาญศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็น CEO ที่เป็นลูกหม้อของเมกาบางนา เธอบอกว่ารู้จักที่นี่จากการขับรถผ่านไปมาทุกวันตั้งแต่ลงเสาเข็ม จนห้างเสร็จเป็นรูปเป็นร่างก็มายื่นใบสมัครงาน ทั้งที่ตำแหน่งที่เธอมีประสบการณ์ยังไม่เปิดรับ แต่สุดท้ายก็ได้มาทำงานสมใจในปีที่ 2 ของการก่อตั้ง

พลินี คงชาญศิริ แฟนตัวยง ลูกค้าประจำ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Mega Bangna

 จากผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพื้นที่เช่า มีหน้าที่วางกลยุทธ์พื้นที่และผู้เช่าจนกลายเป็นที่รักของผู้เช่าและทีมงาน ทุกคนจึงไม่แปลกใจที่คุณดิวจะได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่ง CEO ต่อจากผู้บริหารคนเก่าที่หมดวาระไป

เป็น CEO มาเกือบ 2 ปี คุณดิวบอกว่าการบริหารเมกาบางนาคือเรื่องสนุก คือความสุขที่เธอไม่คิดอยากแยกมันออกจากชีวิตส่วนตัว

ความพิเศษของเมกาบางนา อาจจะมาจากความตั้งใจนี้ก็ได้

ว่าแล้วก็มารู้จัก CEO ที่เป็นทั้งผู้บริหาร แฟนตัวยง และลูกค้าประจำของเมกาบางนาคนนี้กัน

คนบ้านเดียวกัน 

คุณดิวเป็นบางนาเนี่ยน เธอและครอบครัวจึงเป็นลูกค้าของที่นี่มาตั้งแต่วันแรก ๆ เหมือนชาวบ้านใกล้คนอื่น ๆ 

แล้วเธอก็อดไม่ได้ที่จะเฝ้าดูศูนย์การค้าแห่งนี้ ผ่านทั้งสายตาผู้บริหารพื้นที่ศูนย์การค้ามืออาชีพ และผู้บริโภคที่ต้องการแหล่งแฮงก์เอาต์ดี ๆ ในวันหยุด

จากประสบการณ์การบริหารพื้นที่ในศูนย์การค้ากลางเมืองมา 8 ปี เธอตั้งข้อสังเกตว่า เมกาบางนามีแบรนด์อินเตอร์อย่าง IKEA มาเปิด เป็นแหล่งดึงดูดคนจากใจกลางเมืองให้มาช้อป แต่ร้านอื่น ๆ ในศูนย์กลับไม่ค่อยดึงดูดใจคนเมือง

และในฐานะชาวบางนา เธอตั้งข้อสังเกตว่า ครอบครัวของเธอและเพื่อนบ้านในย่านนี้ต้องขับรถเข้าเมืองเพื่อทำกิจกรรม จับจ่ายสินค้า หรือกินข้าวในร้านดัง เพราะไม่มีศูนย์การค้าที่ตอบโจทย์อยู่ใกล้บ้าน

พอได้โอกาสเข้ามาทำงานที่เมกาบางนา คุณดิวจึงเอาอินไซต์ที่สะสมไว้มาสร้างจุดแข็งให้ศูนย์การค้าใกล้บ้าน

“ไม่ว่าใครจะมา ก็จะรู้สึกว่าที่นี่เป็นที่ของตัวเอง” คุณดิวสรุปความตั้งใจตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ไว้ในหนึ่งประโยค

 10 ปีผ่านมา เราจึงได้เห็นเมกาบางนา โดดเด่นกว่าห้างชานเมืองอื่น ๆ ในหลายเรื่อง 

ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งโซนและออกแบบส่วนผสมของร้านค้าให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น ฝั่ง Big C มีตลาดนัด มีธนาคาร คนที่มาเดินแล้วใส่ขาสั้นลากแตะสบาย ๆ มาแล้วไม่รู้สึกอึดอัด มีที่จอดรถอยู่ใกล้ ๆ มาซื้อของ ทำธุระแบบใช้เวลาน้อย ๆ ได้ 

การมีช็อปของแบรนด์หรูต่าง ๆ ที่ห้างในกรุงเทพฯ บางห้างยังไม่มี

และแม้ว่าจะอยู่ชานเมือง แต่ที่นี่ก็เต็มไปด้วยร้านดังเหมือนกับที่มีในใจกลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นทองสมิทธ์, Coffee Academic, Nice To Meet You, Saemaeul, Sushiro, Carnival, Marimekko, ชงเจริญ, Terra เป็นต้น

“แล้วยอดขายในสาขาเมกาบางนาของร้านดังเหล่านี้ก็ติด 1 ใน 5 ของร้านที่ขายดีเสมอ” คุณดิวเล่าอย่างภาคภูมิใจ

แม้จะเป็นวันที่ไม่ต้องการซื้ออะไร หรือไม่ต้องการกินอะไร เมกาบางนาก็มีโซนเอาไว้ให้นั่งเล่น เดินเล่น พร้อมกันทั้งครอบครัวและสัตว์เลี้ยงได้อีก

“เราทำห้างสำหรับชาวบางนาทุกคน คนแถวนี้ต้องชอบที่นี่ ถ้าอยู่บางนาแล้วไม่ได้เดินที่นี่ก็ไม่ใช่คนบางนาแล้ว” คุณดิวยืนยันด้วยเกียรติความเป็นคนบางนา

พลินี คงชาญศิริ แฟนตัวยง ลูกค้าประจำ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Mega Bangna

กรีดเลือดมาเป็นเมกาบางนา

คุณดิวยอมรับว่าที่เธอย้ายมาทำงานที่นี่เพราะใกล้บ้าน แล้วก็ใช้ความเป็นตัวเอง ความเห็นจากลูก เพื่อนลูก และเพื่อนร่วมงาน มาเป็นข้อมูลเสริมจากการสำรวจความต้องการของลูกค้า ในการเลือกร้านต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในศูนย์การค้าแบบไม่เกี่ยงว่าต้องแยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัว

ผู้บริหารหญิงที่มีลูกสาว 2 คนและดูอารมณ์ดีตลอดเวลาคนนี้บอกเราแบบแทบไม่หยุดคิดว่า “ไม่เคยมีแนวคิด Work-life Balance มีแต่แนวคิดให้งานกับชีวิตมันเดินไปพร้อม ๆ กัน”

‘เมกาบางนายังขาดอะไรอีกไหม บอกได้นะ’ ‘ไปร้านนี้หรือยัง เปิดแล้วนะ ’ เป็นบทสนทนาที่คุณดิวมักใช้ชวนพ่อแม่ ผู้ปกครองคนอื่นคุยเวลาไปรอลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ 

“คนอื่นเขาคงคิดว่ากรีดเลือดมาเป็นเมกาบางนาแน่ ๆ ”คุณดิวบอกพร้อมหัวเราะร่วน

ความมีเมกาบางนาเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ คุณดิวจึงบริหารที่นี่ทั้งในฐานะแฟนตัวยง ลูกค้าประจำ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

คุณดิวเล่าว่า “ลูกสาว 2 คนเติบโตที่นี่ หลังเลิกเรียนมาทำการบ้านที่นี่ แล้วก็กลับบ้านด้วยกัน วันเสาร์อาทิตย์ก็พาลูกมาเล่นที่นี่ เราก็ได้ดูว่ามีอะไรที่ขาดตกบกพร่องอีก”

Mega Harbor Land น้ำพุกลางแจ้ง สวนสาธารณะที่พาสัตว์เลี้ยงมาเดินได้ ร้านหนังสือที่กำลังจะเปิด และร้านอาหารอีกหลายร้านก็เกิดจากความเห็นของถิงถิง และ ผิงอัน สองสาวพี่น้องที่มีเมกาบางนาเป็นห้างที่ดีที่สุดในโลก

การบริหาร ‘ศูนย์การค้าเมกาบางนา’ ให้เป็นความภูมิใจของชาวบางนา โดย พลินี คงชาญศิริ CEO ที่เป็นทั้งแฟนตัวยงและลูกค้าประจำ

บริษัทดี เราก็ดี

แต่ความรักแบบหมดจิตหมดใจของผู้นำก็ไม่อาจทำให้องค์กรขับเคลื่อนได้ การบริหารทีมงานให้มีทัศนคติความเป็นเจ้าของร่วมกันจึงเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทสร้าง

ตลอดเวลาที่คุณดิวและทีมงานพาทีม The Cloud เดินชมศูนย์การค้า เราได้เห็นทีมงานซึ่งเป็นฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ถ่ายรูปจุดที่น้ำสาด(ตอนนั้นฝนตก) ชวนกันเดินไปดูจุดที่เคยมีน้ำสาด

พอถามถึงเรื่องนี้ คุณดิวบอกว่า “เราพูดกันเสมอว่าให้คิดเสียว่าที่นี่เป็นบ้าน เดินไปที่ไหนเจอขยะก็หยิบทิ้ง เจออะไรไม่เรียบร้อยก็แจ้งให้คนมาดู เรียกแม่บ้าน ถ่ายรูปส่งในไลน์ ช่วยกันทำงาน ช่วยกันดู มันไม่ใช่แผนกใดแผนกหนึ่ง ให้คิดเหมือนว่าคุณเป็นเจ้าของที่นี่”

การจะทำให้ทุกคนรู้สึกอย่างนี้ ผู้บริหารต้องจริงจังในการสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานกล้าที่จะรู้สึกเป็นเจ้าของ

เมกาบางนามีวิธีการน่ารัก ๆ โดยให้ทุกคน ทุกแผนก มาประชุมร่วมกัน แล้วให้แต่ละฝ่ายเล่าว่าในเดือนที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง 

ทุกคนในบริษัทจะได้รู้รายละเอียดถึงขนาดว่า เดือนนี้ช่างเปลี่ยนหลอดไฟไปกี่หลอด เปลี่ยนท่อไปกี่อัน มีร้านไหนเข้าใหม่ ร้านไหนออกไปบ้าง เพราะมีเป้าหมายที่ทั้งบริษัทตกลงร่วมกันตั้งแต่ต้นปีว่าจะช่วยกันขับเคลื่อน และประชุมนี้ก็เป็นวาระที่จะมาติดตามผลร่วมกัน

“เป็นประชุมที่สนุกมาก เวลาใครทำอะไรดี ได้ยอดดี หรือแก้ปัญหาอะไรได้ เราก็จะปรบมือ ส่งเสียงเชียร์กัน เหมือนดูคอนเสิร์ต ถ้าเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องไปใช้เวลาประชุมเยอะ มันเครียด” คุณดิวเล่า

ทีมงานที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ ก็บอกด้วยว่าชอบประชุมนี้มากเช่นกัน “รู้สึกว่าผู้บริหารรับรู้สิ่งที่เราทำ เพราะ CEO มานั่งฟังและสนุกกับเราทุกเดือน”

คุณดิวเล่าอีกว่าในการประชุมประจำเดือน เธอจะเปิดทุกอย่างให้พนักงานทั้งบริษัทดู แม้กระทั่งกำไร ขาดทุน เดือนไหนดี เดือนไหนติดลบ เพื่อให้ทุกคนรับรู้สถานการณ์ไปพร้อม ๆ กัน ให้สมกับเหมือนเป็นกิจการของตัวเอง

เธอบอกว่า “วันที่ลำบากก็ให้เขาเห็นว่าลำบากไปด้วยกัน เจ็บก็เจ็บไปด้วยกัน ดีก็ดีไปด้วยกัน”

บริหารแบบวิน-วิน

เราเชื่อว่าอินไซต์ที่แม่นยำและการบริหารผ่านความรู้สึกเป็นเจ้าของนี้ เป็นปัจจัยต้น ๆ ซึ่งทำให้ที่นี่มีอัตราการเช่าอยู่ที่ 99% เสมอ 

คุณดิวเล่าว่า “การทำห้างที่มีพื้นที่น้อยมาก่อนทำให้เป็นคนเลือกมาก และต้องเน้นเลือกร้านที่ทั้งเราและเขาจะประสบความสำเร็จไปพร้อม ๆ กันได้”

คุณดิวยกตัวอย่างกรณีร้านชานมไข่มุกว่า เมื่อตอนชานมไข่มุกเป็นกระแส เธอให้ทีมไปเชื้อเชิญร้านต่าง ๆ ให้มาเปิดร้าน จัดเขาให้อยู่ในพื้นที่ที่คนผ่านเยอะ และมีสัญญาสั้น ๆ ประมาณ 1 ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระผูกพันกันทั้งศูนย์การค้าและผู้เช่า

คนที่มาเดินห้างได้ซื้อชานมไข่มุกเจ้าดังแบบไม่ต้องเข้าเมือง ส่วนร้านชานมไข่มุกก็ได้ยอดขายในช่วงที่เป็นกระแสแบบไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่าที่มากนัก

“เมื่อเขาขายดี เราก็ดีไปด้วย” คุณดิวบอกพร้อมรอยยิ้ม

เมกาบางนาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมกาซิตี้ ซึ่งมี SF Development Company Limited เป็นเจ้าของโครงการ 

ปัจจุบัน เมกาบางนามีผู้ร่วมทุนอยู่ 2 บริษัท คือ บริษัท อิคาโน่ รีเทล เอเชีย จำกัด และ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

แม้เซ็นทรัลพัฒนาจะเป็นเจ้าแห่งการทำศูนย์การค้าอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย ส่วนอิคาโน่ก็เป็นเจ้าของ IKEA ที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก แต่คุณดิวก็ได้รับอิสระในการบริหารเมกาบางนาอย่างเต็มที่

“ปัจจัยหลักน่าจะเป็นเพราะมันเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว เรามีคนมาเดินเยอะ มีร้านมาเช่าตลอดเวลา ร้านค้าขายของได้ดี ทำให้บอร์ดบริหารไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงมาก

“ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ไว้ใจด้วย เพราะมันทำให้เราทำที่นี่ให้เป็นที่ของทุกคนได้อย่างที่ตั้งใจ แล้วก็หวังว่าจะทำให้พนักงานทุกคนมีความสุข” คุณดิวย้ำความตั้งใจ

การบริหาร ‘ศูนย์การค้าเมกาบางนา’ ให้เป็นความภูมิใจของชาวบางนา โดย พลินี คงชาญศิริ CEO ที่เป็นทั้งแฟนตัวยงและลูกค้าประจำ

CEO แบบ DIY

พื้นที่ขนาด 400 ไร่นี้บริหารด้วยพนักงานเพียง 120 คน ไม่มีห้องทำงานส่วนตัว ไม่มีคอกกั้น พนักงานทุกคนรวมทั้งผู้บริหารจึงใกล้ชิดกันมาก

คุณดิวผู้เคยเป็นพนักงานมาก่อน จึงเป็นผู้บริหารที่มีความกันเองสูงมาก มีกิจกรรมร่วมกันเยอะ และหมั่นสร้างตำนานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ 

“ไม่มีอะไรหรอก ก็เป็นพี่ ๆ น้อง ๆ กัน” คุณดิวขอตัดบทเอาไว้ตรงนี้ 

แล้วบอกต่อว่า “เราเป็นกันเองเพราะรู้สึกว่าพวกเขาไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงาน เรียกว่าเป็นเพื่อนก็ยังน้อยไปนะ เราว่าพวกเขาเป็นครอบครัวด้วยซ้ำ”

การบริหารองค์กรขนาดใหญ่ด้วยทัศนคติเป็นกันเองแบบนี้ สะท้อนออกมาจากบุคลิกความเป็นผู้บริหารหญิงที่เห็นคุณค่าของทุกคนรอบตัว

แม้คุณดิวจะบอกว่าใช้ชีวิตและทำงานไปพร้อม ๆ กัน แต่เธอก็ยอมรับว่าการมีระบบสนับสนุนที่ดีจากเพื่อนและครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญมากที่ช่วยให้ทุกอย่างผ่านไปได้อย่างราบรื่น

เราถามว่าเธอรักษาสมดุลของมิตรภาพกับการงานเอาไว้ได้ยังไง 

คุณดิวบอกว่า “การรักษาคนดี ๆ เหล่านี้ไว้รอบตัว คือการเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำให้เรา แล้ววันหนึ่งที่เขาต้องการความช่วยเหลือ เราก็ต้องมีน้ำใจกับเขาเหมือนที่เขามีน้ำใจกับเรา” 

 และอีกปัจจัยคือความใจดีกับตัวเอง 

“วันที่ต้องขึ้นมาเป็น CEO รู้สึกกังวล แต่ก็ตั้งใจว่าได้รับมอบหมายอะไรมา เราจะทำให้มันให้โคตรดีที่สุด แล้วระหว่างทำก็ตบบ่าตัวเองตลอดเวลา

“คำชมของคนอื่นไม่สำคัญเท่าที่เรามองตัวเองนะ ถามตัวเองว่าวันนี้เราทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุดหรือยัง เราทำดีกว่าเมื่อวานไหม ดีกว่าปีที่แล้วหรือเปล่า เปรียบเทียบตัวเราเอง มองตัวเองแล้วก็บอกตัวเองว่า เก่งว่ะ ชมตัวเองก็ได้” คุณดิวบอกพร้อมเสียงหัวเราะ

มีอะไรที่อยากฝากไว้ทิ้งท้ายไหม

“จงทำงานอย่างมีความสุขเถอะ สุขและสนุกนำ แล้วมันจะดี” 

การบริหาร ‘ศูนย์การค้าเมกาบางนา’ ให้เป็นความภูมิใจของชาวบางนา โดย พลินี คงชาญศิริ CEO ที่เป็นทั้งแฟนตัวยงและลูกค้าประจำ

Questions answered

by Chief Executive Officer of Megabangna

1. เพลงประจำตัวเวลาไปปาร์ตี้

เจ้าตาก ของคาราบาว (ร้องพร้อมชูมือรูปเขาควาย) “ยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว” 

2. เชื่อเรื่องดวงไหม

ไม่เชื่อ เพราะเคยเชื่อแล้วไม่แม่น

3. เรื่องที่ลูกน้องมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรา

คิดว่าเป็นคนเครียด แล้วก็เป็นทางการ 

4. เรื่องที่ลูกสาวมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรา

ชอบคิดว่าแม่บ่น จริง ๆ แค่เล่าให้ฟัง พูดเฉย ๆ ไม่ได้บ่น

5. โซนที่ชอบที่สุดเวลาไปห้าง

ร้านหนังสือ

6. หลุมหลบภัยในออฟฟิศ

ห้องประชุมเล็ก ๆ ที่ทุกคนจะรู้ว่าถ้าอยู่ในนี้ห้ามเรียก 

7. อาหารจานเด็ดที่ทำเอง

แพนเค้ก

8. คำถามที่ใช้ถามพนักงานใหม่

วันหยุดทำอะไร ถ้าเจอคนที่ไม่ชอบเดินห้างก็จบกัน

9. วันหยุดจะเจอคุณได้ที่ไหน

บ้านแม่

10. อยากชวนใครมาเดินที่เมกาบางนามากที่สุด

พ่อ อยากให้เขาได้อยู่เห็นว่าวันนี้เราได้ทำงานที่รัก ได้เห็นเราออกทีวี เขาน่าจะชอบอะไรแบบนี้มาก

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ