แจ้งเกิดในโลกใบใหม่ ใหญ่กว่าเดิม 

“นี่ครับ ห้องเก็บงานของผม” โน้ต-วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ ไม่ได้เปิดประตูให้เราเดินเข้าไปในห้องเก็บสะสมงานศิลปะตามปกติ แต่ระรัวนิ้วเคาะแป้นพิมพ์ป้อนรหัสผ่านอย่างรวดเร็ว และกดปุ่ม Enter หันหน้าจอมาทางเราเพื่อแสดงภาพแกลเลอรี่ขนาดใหญ่ ผนังสีขาว แขวนผลงานศิลปะหลายชิ้น โดยมีชื่อ Mr.Palette เป็นเจ้าของสถานที่ ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ Oncyber 

เส้นทางของ Palette Artspace จากแกลเลอรี่ย่านทองหล่อ สู่ดินแดนซื้อขายศิลปะ NFT

ในขณะเดียวกัน เราก็กำลังนั่งอยู่ (ในเชิงกายภาพ) กับคุณโน้ตที่แกลเลอรี่ Palette Artspace ในอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น แม้เป็นแกลเลอรี่น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดมาไม่นาน แต่ Palette Artspace ก็ดึงดูดสายตาของผู้คนที่ผ่านไปมาด้วยที่ตั้งทำเลทอง และการตกแต่งเรียบง่ายดูเป็นมิตร อีกทั้งโซนคาเฟ่พร้อมเสิร์ฟเครื่องดื่มน่านั่ง 

การทำงานซื้อขายงานศิลปะทั้งในพื้นที่และในโลกเสมือนควบคู่กันไปเช่นนี้ ถือเป็นเทรนด์การทำงานของแกลเลอรี่หลายแห่งในปัจจุบัน ว่าแล้วเราเลยถือโอกาสชวนคุณโน้ตพูดคุยถึงกระบวนการและประสบกาณ์ของเขา ให้เราได้รู้จักกับทิศทางของการซื้อขายศิลปะในโลกดิจิทัลมากขึ้น การขยับขยายจากภาพแขวนบนผนัง ไปสู่การเปิดประมูล NFT บนอินเทอร์เน็ตนั้น จะเป็นโอกาสทองอย่างที่หลายๆ คนฝันหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการฆ่าเวลาในช่วงโควิด-19 กันแน่  

เส้นทางของ Palette Artspace จากแกลเลอรี่ย่านทองหล่อ สู่ดินแดนซื้อขายศิลปะ NFT

สรรพสีสันบน Palette  

คุณโน้ตบอกเราว่า เขาใกล้ชิดศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากคุณพ่อ (อุทัยพันธุ์ จารุวัฒนกิตติ) เป็นนักสะสม Erotic Art หลังจากรับช่วงดูแลธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของทางบ้าน คุณโน้ตคิดว่าสักวันหนึ่งเขาจะเป็นศิลปิน ภายหลังเขาได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ทำให้เขาได้พบเจอหลากหลายศิลปินที่รุ่นใหม่และรุ่นเก่าในวงการ จนได้ต่อยอดมาเปิดแกลเลอรี่ Palette Artspace เมื่อ ค.ศ. 2019 ในที่สุด 

เส้นทางของ Palette Artspace จากแกลเลอรี่ย่านทองหล่อ สู่ดินแดนซื้อขายศิลปะ NFT
เส้นทางของ Palette Artspace จากแกลเลอรี่ย่านทองหล่อ สู่ดินแดนซื้อขายศิลปะ NFT

“ผมอยากให้พื้นที่ของ Palette Artspace ต่อยอดและสนับสนุนศิลปินคนไทยรุ่นใหม่ที่ตั้งใจสร้างงาน ได้มีโปรไฟล์ ทำพอร์ตไปสมัครงาน ไปเรียนต่อต่างประเทศ พอได้เห็นความสำเร็จของน้องๆ ผมก็มีความสุขไปด้วย” 

เส้นทางของ Palette Artspace จากแกลเลอรี่ย่านทองหล่อ สู่ดินแดนซื้อขายศิลปะ NFT

คุณโน้ตมักสนใจคัดสรรและติดต่อศิลปินรุ่นใหม่ๆ มาแสดงงาน จากนิทรรศการจบการศึกษา รวมไปถึงช่องทางโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram สลับไปกับหยิบยืมผลงานของศิลปินระดับใหญ่ๆ มาจัดแสดงเพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าถึงผลงานระดับมาสเตอร์พีซของไทยด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อเปิดพื้นที่ได้ไม่นานนัก วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้คุณโน้ตต้องขบคิดวิธีการไปต่อในฐานะแกลเลอริสต์อย่างเลี่ยงไม่ได้ และในขณะที่มาตรการของรัฐทำให้ไม่สามารถเดินดูงานในพื้นที่กายภาพได้ คุณโน้ตก็ได้แรงบันดาลใจจากโลกออนไลน์อย่างน่าอัศจรรย์

การสร้างแกลเลอรี่ในโลกเสมือนจริง

“ครั้งแรกที่ผมเข้าไปเห็นคลิปใน YouTube ผมมั่นใจมากว่าผมต้องมี ผมเชื่อว่ามาถูกทาง” 

คุณโน้ตเล่าถึงวิดีโอคลิปหนึ่งที่อธิบายถึงการสร้างแกลเลอรี่ที่สามารถเอา ‘ตัวเรา’ เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง และในอนาคต ผู้ใช้จะสื่อสาร คุยกันได้เหมือนที่เราแชตกันในเกม อาจมีการเลือกใส่เสื้อผ้า การซื้อไอเท็ม หรือมีบัตรผ่านเข้าสถานที่แต่ละแห่งในรูปแบบต่างๆ ลองจินตนาการว่า ถึงจะมีโควิด แต่เราก็มางานเปิดนิทรรศการศิลปะแบบสบายๆ ในมือถือกระป๋องเบียร์ เดินดูงานศิลปะอยู่ที่บ้าน กดลิงก์เพื่อเข้าไปสู่เว็บไซต์ของศิลปิน อ่าน Wall-Text แม้แต่จะซื้อหรือประมูลงานศิลปะก็ยังทำได้ และสำหรับเขา นั่นคือการทำลายกำแพงของโลกศิลปะในรูปแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง 

“เราอาจยังไม่รู้เส้นทางของมันมากนัก แต่นับว่าเราเป็นคนแรกๆ ในไทยที่กล้าเดินเข้าไปในโลกใบนั้น” 

เส้นทางของ Palette Artspace จากแกลเลอรี่ย่านทองหล่อ สู่ดินแดนซื้อขายศิลปะ NFT

คุณโน้ตเล่าต่อว่าต้องขอบคุณแอปพลิเคชันชื่อดังอย่าง Clubhouse ที่กลายเป็นแหล่งความรู้นอกกระแสจากทั่วทุกมุมโลกสำหรับเขา โดยวันหนึ่งตัวเขาเองได้มีโอกาสอยู่ร่วมในห้องแชตที่กำลังพูดถึงข่าวดังในสหรัฐอเมริกา นับเป็นการกระชากหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะให้เปลี่ยนบทใหม่ อย่างการเผางานที่จับต้องได้และเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของ NFT (Non-fungible Token) โดยผู้ครอบครองผลงาน Morons (2006) ของ Banksy ได้จุดไฟเผาผลงาน และอัดคลิปวิดีโอเผยแพร่ลงใน YouTube จุดประสงค์เพื่อให้งานออริจินัลที่จับต้องได้หายไป และนำผลงานชิ้นนี้ไปแขวนไว้ในเว็บไซต์ Opensea ในรูปแบบ NFT อีกด้วย

และนั่นคือครั้งแรกที่คุณโน้ตได้ยินคำว่า NFT

ศิลปะในฐานะทรัพย์สินดิจิทัล

เราขอให้คุณโน้ตอธิบายตลาดการวางขายงาน NFT ด้วยการเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจง่าย ซึ่งคุณโน้ตอธิบายอย่างกว้างๆ ให้เห็นภาพว่า “เว็บไซต์ตลาดขายงานศิลปะ NFT ที่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ปูเสื่อขายได้คือ Opensea ต่อมาตลาดที่เรียกว่าเป็นห้างประจำจังหวัด คือต้องได้รับเชิญ (Invite) ศิลปินคือ Foundation และตลาดขายงานไฮเอนด์ที่ต้องได้รับเลือกจากภัณฑารักษ์ คือ SuperRare” 

เส้นทางของ Palette Artspace จากแกลเลอรี่ย่านทองหล่อ สู่ดินแดนซื้อขายศิลปะ NFT

คุณโน้ตอธิบายว่าจุดเปลี่ยนของวงการนั้นมาจาก Blockchain ที่ทำให้งานดิจิทัลอาร์ตมีมูลค่า เพราะการซื้อขายต้นฉบับนั้นจะถูกส่งต่อโดยตรวจสอบที่มาที่ไป และยืนยันกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้ เรียกว่ามีความโปร่งใสและไม่สามาถทำสำเนาได้ ประกอบกับ Tokenization คือกระบวนการสร้างตัวแทนของทรัพย์สินต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดยสร้าง Token เป็นตัวแทนของสิทธิหรือทรัพย์สิน อย่างงานศิลปะ Digital Artwork ก็แปลงเป็นโทเคนได้ 

NFT แปลตรงตัวว่าเป็นโทเคนในรูปแบบที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนแทนด้วยสิ่งอื่นได้ (Non-fungible Token) เหล่าแพลตฟอร์มตลาดการขายงานศิลปะอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น Opensea, Foundation และ SuperRare จะทำการ Tokenize งานศิลปะดิจิทัลบนระบบ Ethereum Blockchain โดยผู้ครอบครองโทเคน จะได้รับใบรับรองความเป็นเจ้าของในชิ้นงานนั้นๆ 

ส่วนสกุลเงินดิจิทัลที่นำมาซื้อผลงาน NFT นั้น จะถูกกำหนดโดยตลาดแต่ละแห่งด้วย (ส่วนใหญ่ที่ใช้คือ Ethereum)    

“ในเชิง Business เอาจริงๆ ผมตอบไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องการเก็บสะสม ผมว่าใช่สำหรับยุคนี้” เขาเล่าถึงเส้นทางการขยับขยายสู่วงการศิลปะออนไลน์ด้วยความตื่นเต้น เริ่มจากทดลองเปิดงานนิทรรศการ 8 Bits จัดแสดงผลงานของนักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดีย สาขาดิจิทัลอาร์ตส์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตบางเขน โดยใช้แพลตฟอร์ม Cryptovoxels และอีกทั้งนิทรรศการ Love Distancing จัดแสดงผลงานของศิลปินนักเคลื่อนไหว วสันต์ สิทธิเขตต์ โดยการติดตั้งจอ LED ฉายภาพงานศิลปะจากในแกลเลอรี่ หันออกด้านนอกตัวอาคาร หวังให้ผู้ที่เดินขึ้นลงบันได BTS สถานีทองหล่อ มองเห็น แม้ว่าในช่วงเวลานั้น แกลเลอรี่จะเปิดให้เข้าชมตามปกติไม่ได้ แต่เมื่อเดินลงมาด้านล่าง ข้างหน้า Palette Artspace ก็จะพบกับ QR Code ที่ยกสมาร์ทโฟนกดเข้าไปชมนิทรรศการเต็มรูปแบบได้ทางออนไลน์ 

 “พอเราทำนิทรรศการออนไลน์ งานศิลปะถูกส่งตรงไปถึงสายตาคนทั่วโลก มีคนสนใจ มีสื่อต่างประเทศมาสัมภาษณ์ พอเป็นข่าว ก็ยิ่งได้รับยอดเข้าชมมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนไทย แต่เป็นคนทั้งโลกที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้” คุณโน้ตเล่าให้ฟังถึงผลตอบรับของนิทรรศการล่าสุด คือ 2D Afterlife โดย แพน-จินห์นิภา นิวาศะบุตร นำเสนอภาพสีน้ำมันของตัวละครสมมติที่เสียชีวิตไปแล้วจำนวน 50 ภาพ ผ่านแนวคิดปฏิสัมพันธ์กึ่งมีส่วนร่วม และวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของแฟนคลับ โดยผู้เข้าชมมีส่วนร่วมในการระลึกถึงความทรงจำที่มีต่อตัวละครสมมติเหล่านี้ได้ ด้วยการวางดอกไม้หรือสิ่งของต่างๆ บนหิ้งหน้ารูปเคารพ และไว้อาลัยแก่การจากไปของผู้วายชนม์ ที่แท้จริงแล้วไม่เคยมีชีวิตอยู่

การแจ้งเกิดในโลกใบใหม่ใหญ่กว่าเดิม สู่ดินแดนที่ซื้อขายงานศิลปะทั้งในพื้นที่จริงและโลกเสมือน
การแจ้งเกิดในโลกใบใหม่ใหญ่กว่าเดิม สู่ดินแดนที่ซื้อขายงานศิลปะทั้งในพื้นที่จริงและโลกเสมือน

 นิทรรศการนี้จัดขึ้นในพื้นที่ของแกลเลอรี่ขนานไปกับนิทรรศการออนไลน์ มียอดการเข้าชมทางออนไลน์มากกว่า 8,000 ครั้ง ไต่ระดับขึ้นมาเป็นนิทรรศการที่มีผู้เข้าชมสูงสุดในสัปดาห์แรกที่เปิดงาน ตัวเลขนี้ทำให้คุณโน้ตมองเห็นว่า Palette Artspace ยังคงเป็นเวทีสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในโลกออฟไลน์และในโลกออนไลน์

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัล-The Sandbox 

งานเหล่านั้นคือจุดเริ่มของ Virtual Exhibition ที่คุณโน้ตสนใจ แต่ไม่นานนักเขาเรียนรู้ว่าแพลตฟอร์ม Artsteps.com มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนห้องจัดแสดง ต้องรื้อลบผลงานเก่าออกหากต้องการจะจัดแสดงงานครั้งใหม่ ซึ่งไม่ตอบโจทย์การแสดงผลงานศิลปะของคุณโน้ต เขาไม่ต้องการจะลบนิทรรศการใดๆ ออกจากโลกเสมือนจริงแม้แต่งานเดียว 

การแจ้งเกิดในโลกใบใหม่ใหญ่กว่าเดิม สู่ดินแดนที่ซื้อขายงานศิลปะทั้งในพื้นที่จริงและโลกเสมือน

“หลังจากที่เริ่มทำนิทรรศการออนไลน์บน Artsteps ผมเริ่มขยับไปซื้อที่ดินใน The Sandbox ผมอยากมีพื้นที่ของตัวเอง พอมาศึกษาดีๆ หลังจากที่ซื้อไปแล้วก็เพิ่งค้นเจอว่า กว่าเว็บไซต์จะเปิดใช้งานได้เต็มร้อยคือปีหน้า (ค.ศ. 2022) ผมเลยได้โอกาสซื้อที่ดินตอนราคายังไม่สูงมาก ล่าสุดได้ยินมาว่าราคาขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันเลยกลายเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไปในตัว ซึ่งพอถึงวันที่ใช้พื้นที่ได้จริงๆ ผมก็ยังไม่รู้ว่า จะได้ทำแบบที่ฝันไว้รึเปล่า” 

คุณโน้ตหัวเราะเบาๆ ใต้หน้ากากอย่างอารมณ์ดี แสดงถึงวิสัยทัศน์ระยะยาวที่ไม่หวังผลกำไรปุบปับ เขาบอกเราว่าในโลกออนไลน์นี้ทุกคนล้วนเป็นมือใหม่ ความเป็นไปได้นั้นยังอีกมาก และเราทุกคนคงต้องศึกษาลองผิดลองถูกกันไปอีกสักพัก

เรื่องที่ต้องรู้และความโปร่งใสในตลาดค้างานศิลปะ

การแจ้งเกิดในโลกใบใหม่ใหญ่กว่าเดิมของ Palette Artspace สู่ดินแดนที่ซื้อขายงานศิลปะทั้งในพื้นที่จริงและโลกเสมือน

เมื่อถามว่าเขามีอะไรจะบอกผู้สนใจเข้าวงการซื้อขายศิลปะออนไลน์บ้าง คุณโน้ตได้ให้คำแนะนำเรามากมาย อาทิ การซื้อขาย NFT นั้นมีทั้งการขายแบบเสนอราคาและการขายแบบประมูล ซึ่งการเสนอราคา ศิลปินสามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ตามความพอใจ แถมการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจะถูกบันทึกเอาไว้ ทำให้ผู้ที่สนใจงานศิลปะชิ้นนั้นและต้องการซื้อ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของราคางาน ซึ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลยในโลกศิลปะแห่งความเป็นจริง ที่การตั้งราคาซื้อขายชิ้นงานนั้นเป็นเรื่องลึกลับ ซับซ้อนตามกลไกของวงการตลาดศิลปะ ดีลเลอร์และภัณฑารักษ์ ยากที่คนภายนอกจะรู้

ทว่าในตลาดออนไลน์ เงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ ของงานศิลปะแต่ละชิ้นจะถูกกำหนดโดยตัวศิลปินเอง ซึ่งเงื่อนไขที่ว่าอาจไม่เปิดเผย หากผู้ซื้อยังไม่กดชำระเงิน การซื้องานศิลปะ NFT จึงคล้ายกับการเสี่ยงดวง อาจมีเรื่องเซอร์ไพรส์ปรากฏให้เห็นภายหลังการซื้อ เช่น ผู้ซื้ออาจได้รับผลงานชิ้นจริงไปด้วยหลังจากซื้อชิ้นงาน NFT 

นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่ต้องทราบคือค่าแก๊ส (Gas Fee) ซึ่งจะถูกเรียกเก็บไปพร้อมๆ กับการซื้อขายผลงานศิลปะ คล้ายกับค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ คุณโน้ตยกตัวอย่างว่า “งานศิลปะในรูปแบบ NFT บางชิ้น มีค่า Gas Fee สูงกว่าสองเท่าของราคางาน” ดังนั้น นอกเหนือจากรสนิยมในการสะสมงานแล้ว การซื้องานศิลปะ NFT จึงเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ให้แน่ใจว่าคุณรู้ว่าใครคือศิลปิน และเขามีทิศทางในการสร้างงานอย่างไร งานของเขาลอกใครมาหรือไม่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน

สิ่งที่ตามมาคือ ‘ห้องเก็บงาน’ พื้นที่ในโลกเสมือนจริงที่เปิดให้ใครก็ตามที่สนใจเข้ามาชมคอลเลกชันส่วนตัว หรือผลงานศิลปะ NFT ที่เราซื้อมาจากในตลาดดังกล่าว เราอาจสร้างเป็นช็อปเพื่อขายงานต่อ หรือจัดแสดงให้คนในโลกออนไลน์เข้ามาเที่ยวชม หรือสุดแล้วแต่ที่เราจะออกแบบ ภายใต้ข้อจำกัดของเทคโนโลยี ณ ขณะปัจจุบัน

The New Chapter of Digital Art 

ก่อนจากกัน เราถามคุณโน้ตถึงแนวคิดในอนาคตของวงการศิลปะ 

การแจ้งเกิดในโลกใบใหม่ใหญ่กว่าเดิม สู่ดินแดนที่ซื้อขายงานศิลปะทั้งในพื้นที่จริงและโลกเสมือน

“การกระจายอำนาจจากจุดศูนย์กลาง (Decentralize) กลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของยุคสมัย ทุกคนเป็นผู้ส่งสาร เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ เช่นเดียวกับที่ทุกคนเป็นศิลปินได้ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง”  คุณโน้ตตอบ “ในแง่หนึ่ง ข้อดีของ NFT คือการที่คนในโลกศิลปะได้ติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนความรู้มากขึ้น ได้เข้าใจมุมมองและจุดที่ต้องการการสนับสนุนและเชื่อมต่อสู่โลกภายนอก ที่สำคัญ งานศิลปะในรูปแบบ NFT เหมือนเป็นบัตรเชิญที่ชวนให้โลกทั้งใบหันมามองเห็นฝีมือของศิลปินไทยมากขึ้น และตามหารากของศิลปะไทยมากขึ้นกว่าเดิม” 

ใครสนใจชมนิทรรศการล่าสุดของ Palette Artspace แวะไปได้ที่พื้นที่ทางกายภาพ ติดทางออก 3 BTS ทองหล่อ เปิดตั้งแต่ 11.00 – 18.00 น. (นัดล่วงหน้าได้ที่ โทรศัพท์ : 06 1417 4000 ) หรือเข้าชมในโลกเสมือนที่นี่

รายละเอียดเพิ่มเติม www.palettebkk.com

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

ช่างภาพที่มีร้านล้างฟิล์มเป็นของตัวเอง แต่นานๆจะถ่ายฟิล์มที เพราะช่วงนี้ฟิล์มมันแพง