คุณภากร ปีตธวัชชัย คือกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนล่าสุด

ตลอดระยะเวลา 44 ปีที่ผ่านมา นอกจากเป็นศูนย์กลางระดมทุนของผู้ประกอบการธุรกิจ เป็นช่องทางออมและลงทุนของประชาชน งานของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือส่งเสริมและยกระดับบริษัทจดทะเบียนให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่สร้างความเข้าใจและเป็นต้นแบบแนวคิดการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจซึ่งส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม

ความท้าทายใหม่ๆ ของภาคตลาดทุน และโลกที่พบกับความไม่แน่นอนตลอดเวลา ทำให้เราสนใจวิธีคิด วิธีบริหาร และการรับมือกับช่วงเวลาต่างๆ ของกัปตันทีมคนนี้

ไม่ใช่โลกเท่านั้นที่เปลี่ยน เขาเองก็อยากเปลี่ยน 

เปลี่ยนความเข้าใจความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนของคนไทย โดยเฉพาะเรื่องการบริหารความเสี่ยง ซึ่งคุณภากรเล่าเรื่องนี้ได้สนุกมาก

เปลี่ยนให้คนทั้ง 760 คนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ๆ 

เปลี่ยนบริษัทใหญ่ให้คิดถึงการช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการที่ยั่งยืนกว่า

จากนักเรียนวิศวกรรมศาสตร์ สู่จุดสูงสุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

ลำพังประสบการณ์ทำงานที่มีมายาวนานในแวดวงตลาดทุนอย่างเดียวคงไม่พอ แต่เป็นเพราะวิธีคิดที่แสนนอกกรอบ ทั้งการวางพิมพ์เขียวในองค์กรเพื่อสร้างคนให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงแทนการสร้างผลงานที่ใช้เวลาน้อยกว่า หรือการกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จของงานแต่ละส่วนงานให้แตกต่างกันตามหน้าที่และโจทย์ที่ต้องการไปถึง แทนการกำหนด KPI เดียวสำหรับทั้งองค์กรซึ่งบังคับใช้ง่ายกว่า

สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยุคนี้ ไม่เพียงการยอมรับในวงการตลาดทุนทั่วเอเชีย คนนอกวงการอย่างเรายังมีโอกาสเห็นความร่วมมือกับภาคสังคม สร้างนักธุรกิจเพื่อสังคม โดยล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังจะมีงาน SET Social Impact Day ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จะมีงานวันที่ 17 – 18 กรกฎาคม ภายใต้แนวคิด ‘Partnership for Impact Co-creation ออกแบบ ทางออก มหาชน’ พบกับการเสวนากว่า 10 หัวข้อจาก 35 วิทยากรชั้นนำ ครอบคลุมประเด็นปัญหาสังคม 5 ด้าน ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม กลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเกษตรและพัฒนาชุมชน ทั้งยังเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมกว่า 60 แบรนด์นำเสนอแนวคิดธุรกิจที่สร้างผลลัพธ์แก้ไขปัญหา แลกเปลี่ยนความรู้กับบริษัทจดทะเบียนระดมไอเดียพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกัน

แนวคิดการบริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันนี้น่าสนใจเพียงใด คุณภากรรอเล่าให้เราฟังอยู่แล้ว 

คุณภากร ปีตธวัชชัย คือกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนล่าสุด

จากนักเรียนวิศวกรรมศาสตร์ มาสู่จุดสูงสุดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อย่างไร

จริงๆ ผมอยากเป็นสถาปนิกมาก่อนนะ แต่ที่บ้านเป็นวิศวกรกันหมด หลังจากเรียนจบวิศวะการไฟฟ้าจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เกือบไปสมัครเป็นนักบิน แต่ไปเรียนบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เป็นครั้งแรกที่รู้จักศัพท์การเงินและศัพท์ทางกฎหมาย พอเรียนไปก็เริ่มสนุก มองว่าการเงินเป็นเส้นเลือดของการทำธุรกิจ ได้เข้าใจว่าการใช้ความรู้เรื่องการเงินในทางที่ดีทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจลดลงหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถ้าต้องสอนวิชาการเงินและการลงทุน 101 เนื้อหาคาบแรกที่จะสอนคืออะไร

ผมเคยสอนวิชานี้ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT โดยเริ่มจากภาพรวมของระบบนิเวศการทำธุรกิจ ทำให้เห็นว่าเรื่องของการเงินเข้าไปเกี่ยวข้องตรงส่วนไหนบ้าง ก่อนเริ่มเข้าสู่เรื่องระดมทุน การบริหารความเสี่ยง ซึ่งคุณจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าภาคธุรกิจเขาใช้ระบบการเงินทำอะไรบ้าง ต่อด้วยเรื่องการระดมทุนว่าต้องทำอย่างไร มีข้อมูลอะไรบ้าง และหากนักลงทุนจะลงทุนในบริษัท เขาใช้ข้อมูลอะไรในการตัดสินใจบ้างเพื่อที่จะเข้าใจว่าทำไมต้องเรียนเรื่องพวกนี้

มีเรื่องไหนเกี่ยวกับการเงินที่คนไทยมักเข้าใจผิด และคุณอยากแก้ไขให้ถูกต้องบ้างไหม

เรื่องความเสี่ยงกับความคาดหวังในผลตอบแทน 

คนมักจะมองว่าอะไรที่แน่นอนคือ ไม่มีความเสี่ยง แต่ในความเป็นจริง ความไม่แน่นอนเองก็ให้ผลตอบแทนที่น้อย ยกตัวอย่าง ถ้าฝากเงินในธนาคารหรือซื้อตราสารหนี้ของภาครัฐที่คุณมั่นใจว่าโอกาสล้มละลายหรือไม่ได้เงินต้นคืนมีน้อย 

ลองคิดตามนะว่าซื้อพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี คุณจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ 

2.9 เปอร์เซ็นต์ ด้วยผลตอบแทนเท่านี้ คุณคิดว่าคุณอยู่ได้ไหมในวันที่เกษียณ

เราจะทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าเก็บเงินได้ดอกเบี้ยแค่ 2.9 เปอร์เซ็นต์ อยู่ไม่ได้ 

เราก็ต้องเริ่มรับความเสี่ยงสูงขึ้น โจทย์คือแล้วจะรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน เราจะเลือกลงทุนในอะไรดี

คุณก็ต้องกระจายความเสี่ยง โดยเริ่มคิดก่อนว่า หนึ่ง ในระยะกี่ปีต่อจากนี้ คุณอยากได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ การได้ผลตอบแทนเท่านั้นต้องกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง อาจจะเป็นตราสารหนี้ 20 เปอร์เซ็นต์ เงินฝาก 10 เปอร์เซ็นต์ หุ้นตัวใหญ่ๆ ในประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ ต่างประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ หุ้นตัวเล็กๆ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ คุณจะรู้ได้ยังไง ก็ต้องศึกษา ซึ่งมีคนมากมายรอให้ความรู้คุณ ที่ปรึกษาทางการเงินตามธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญผ่านกองทุนรวม บอกเขาไปเลยว่าอยากได้ค่าตอบแทน 5 เปอร์เซ็นต์ใน 10 ปี เขาช่วยคุณคิดได้เลย

ถ้าคิดเองไม่ได้ ก็จงให้คนอื่นช่วยคิด?

ใช่ ทั้งหมดนี้เป็นวิทยาศาสตร์เพราะใช้ข้อมูล ยิ่งไปกว่านั้น ผมเชื่อว่าถ้าคุณบริหารความเสี่ยงได้ดี จากเดิมที่มั่นใจว่าของที่แน่นอนไม่มีความเสี่ยง คุณมั่นใจได้เลยว่ามีเงินไม่พอ ทำไมไม่กระจายความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงนั้นให้ได้ผลตอบแทนที่คุณคาดหวังได้ บางปีมีขึ้น-ลง แต่ในระยะยาวให้ผลตอบแทนที่แน่นอนกว่าเยอะ

เราจะทำยังไงให้คนเริ่มคิดว่า ถ้าอยากมีเงินพอต้องยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหนในการลงทุนระยะยาว

ศึกษาหาความรู้ คุณเชื่อไหมว่าตอนผมทำงานปีแรกๆ เงินฝาก 3 เดือน ดอกเบี้ย 27 เปอร์เซ็นต์ เพราะเศรษฐกิจโตมหาศาล จากนั้นก็เกิดวิกฤต โอกาสแบบนั้นไม่มีอีกแล้ว พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีตอนนั้นดอกเบี้ย 12 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ไม่มีแล้ว มีแต่ 2.9 เปอร์เซ็นต์ อาจจะมีบางคนที่คิดว่าเศรษฐกิจจะกลับไปดีแบบนั้นได้ แต่คุณก็เห็น เศรษฐกิจ 10 ปีที่ผ่านมามันไม่เกิดขึ้น

นี่คือสิ่งที่อยากฝาก ว่าคนเราต้องเปลี่ยน อย่าไปคิดว่าเรื่องเคยเป็นจะต้องเป็น

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนไทยทั้งประเทศเรามีความรู้เรื่องการเงินเยอะขึ้น

เขาจะอยู่ดีกินดี 

ผมขอถามคุณกลับ ถ้าคุณอยากเป็นเจ้าของบริษัท คุณว่ายากไหม

ยากมาก

ยากมาก จริงไหม ยากที่บริษัทจะเติบโต อีกวิธีหนึ่งคือลงทุนในหุ้นซึ่งถือเป็นเจ้าของธุรกิจ ไม่ต้องซื้อเป็นตัวๆ ก็ได้เพราะเราไม่รู้ว่าบริษัทไหนจะดี การซื้อกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น คุณจะเป็น 1 ในเจ้าของโดยที่มีคนเป็นตัวแทนคุณ คอยดูว่าเขาบริหารดีหรือเปล่า

นี่คือสิ่งที่อยากเปลี่ยน ซื้อหุ้นมีความเสี่ยงนะ แต่จะบริหารความเสี่ยงนั้นอย่างไร คุณอย่าไปดูระยะสั้น ของพวกนี้แปบเดียวไม่เห็นผล

คุณเชื่อในตัวเลขมากแค่ไหน

ถ้าคุณไม่มีตัวเลข คุณจะตัดสินใจไม่ได้เลย แต่ต้องตรวจสอบตัวเลขที่ได้มาให้ดีนะว่าถูกต้องหรือเปล่า ถ้าตัวเลขผิด ที่มาผิด สมมติฐานผิด ยิ่งผิดทางเข้าไปกันใหญ่ สำคัญที่สุดคือ ตัวเลขนั้นได้มาอย่างไร ถูกต้องไหม จากนั้นวิเคราะห์ เพราะความเชื่อเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน สิ่งที่เกิดก็เปลี่ยน

นอกจากตัวเลข เราใช้ความรู้สึกเข้ามาร่วมตัดสินใจบางเรื่องด้วยได้ไหม

ต้องระวัง เพราะความรู้สึกในอดีตเกิดจากสถานการณ์ในอดีต ผมมักจะเรียกว่า Legacy Believe ความเชื่อนั้นยังอยู่ได้ไหม พฤติกรรมของคนยังเหมือนเดิมหรือเปล่า ยิ่งเดี๋ยวนี้พฤติกรรมคนขึ้นกับสภาวะตลอด อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนมีพฤติกรรมแบบนั้น ต่อให้เวลาเดิมแต่ช่วงนี้อารมณ์ดีไม่ดี ก็ไม่เหมือนกัน

มีเรื่องไหนที่คุณใช้ความรู้สึกตัดสิน

เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว มันไม่ใช้ความรู้สึกนะ เป็นเรื่องเหตุและผลมากกว่า ความรู้สึกใช้กับการบริหารคน และการสร้างความร่วมมือระหว่างกัน กับเรื่องที่ต้องตัดสินใจผมใช้ข้อมูล เหตุผล และความรู้สึกประกอบกัน แล้วแต่เรื่อง

คุณเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

เป็นคนที่ลุยเอง เพราะต้องการทำให้เขาเห็นว่ามีวิธีการอะไรบ้างที่ทำได้บ้าง เหตุผลที่เราไม่ปล่อยให้เขาลุย เพราะเขายังไม่มีประสบการณ์และคอนเนกชัน นอกจากนี้ ผมจะชวนคิดหาวิธีการที่เหมาะกับแต่ละเรื่องก่อนเริ่มทำกัน

คุณใช้อะไรวัดผลความสำเร็จของงานที่ทีมทำ

ก็แล้วแต่ว่าทีมนั้นรับผิดชอบดูแลอะไรในส่วนงานไหน ถ้าทีมทำเกี่ยวกับสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ หน่วยวัดผลของเขาคงต้องเกี่ยวกับความสำเร็จของผลิตภัณฑ์ใหม่ จำนวนลูกค้าใหม่ หรือผลกำไร ขณะที่ทีมที่ทำงานเกี่ยวกับ ESG หรือ Environmental Social and Governance หน่วยวัดผลคือ การทำให้บริษัทจดทะเบียนเห็นด้วยกับการลงทุนประกอบกิจการโดยคำนึงถึงเรื่อง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล จะเห็นว่าวิธีวัดผลก็ต่างกัน

ผมจะบอกคนที่ทำงานกับผมเสมอว่า อย่าทำอะไรเยอะ แต่ขอ 3 เรื่องที่สำคัญที่สุดก่อน 

เขาว่าคิดว่าอะไรสำคัญที่สุด แล้วจึงสร้างตัววัดผลจาก 3 เรื่องสำคัญนั้น โจทย์คือ ทุกคนต้องเล่า 3 เรื่องสำคัญของตัวเองให้แต่ละส่วนงานทราบพร้อมกัน แล้วมาดูกันว่าเหล่านั้นเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร เพื่อให้เขาทำงานเป็นทีม

วิธีการนี้ได้ผลดีแค่ไหน

ถ้าเขาทำสิ่งที่ตอบ 3 เรื่องสำคัญเสร็จก็ทำเรื่องอื่นๆ ต่อไป ไม่ตายตัว แต่ถ้าผิดพลาดไปจากที่ตั้งใจ ก็ให้หยุดเพื่อเรียนรู้ แล้วหาเรื่องใหม่มาทดแทน ผมคิดว่าโลกสมัยนี้มีความไม่แน่นอนเยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องปรับตัวตลอด

การเป็นผู้จัดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในยุคนี้แตกต่างจากยุคก่อนอย่างไร

บทบาทหน้าที่หลักๆ ในเรื่องระดมทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินยังเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปคือขอบเขตการทำงานจากแค่ทำในประเทศ ขยายไประดับภูมิภาคสู่ระดับโลก มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา เราก็ต้องเริ่มปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

สำหรับคุณเรื่องนี้ยากแค่ไหน

คุณเชื่อไหมล่ะ ว่ามันจะเกิดขึ้นเร็ว ถ้าคุณไม่เชื่อคุณก็รอ แต่ถ้าคุณเชื่อและอยากเตรียมตัว คุณก็ต้องเริ่มลงมือแล้ว ความยากคือ เราจะทำอย่างไรให้คนของเราเริ่มคิดที่จะปรับตัว

อะไรคือเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของการปรับตัวในวันนี้

การขยายตลาดไปต่างประเทศ 

คุณรู้ไหม คุณอยากซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม คุณมาซื้อผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้นะ มี ETF (กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Exchange Traded Fund) ชื่อ VN30 ประกอบด้วยหุ้นเวียดนาม 30 ตัวที่ดีที่สุด คุณเปิดบัญชีซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ไหนก็ได้ บรรยากาศเหล่านี้เกิดการเชื่อมกันของ 2 ตลาด โดยตลาดหลักทรัพย์ที่เวียดนามมียอดการซื้อขายเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยกว่าครึ่งเป็นการซื้อขายที่มาจากประเทศไทย คิดดูว่าถ้าเราเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ที่กว้างขึ้นจะเป็นอย่างไร

เท่ากับว่าตลาดหลักทรัพย์ทำงานหนักขึ้น?

แน่นอน คำถามคือแล้วเราจะทำให้คนทั้ง 760 คนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลุกขึ้นมาทำงานอะไรใหม่ๆ หรือต่อยอดสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วอย่างไร สำหรับผม สิ่งที่ท้าทายคือเรื่องคน เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีคนเก่ง คุณจะทำอย่างไรให้คนเก่งเขียนระบบ เขียนขั้นตอนหรือกระบวนการทำงานของตัวเองเพื่อออกแบบระบบได้ และระบบที่ดี ทำให้ทุกคนทำงานง่ายขึ้น ตรวจสอบง่ายขึ้น

อะไรคือเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงนั้น

การเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงิน เพื่อเปิดโอกาสให้คนในอุตสาหกรรมทำธุรกิจได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

แต่เพราะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือเปล่า ถึงทำสิ่งเหล่านี้ได้

ไม่ต้องเป็นตลาดหลักทรัพย์คุณก็ทำ FinTech หรือกลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้การบริการที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ 

ทุกวันนี้ผู้เล่นในตลาดกำลังเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์ม เพราะอยากเป็นโครงสร้างพื้นฐาน อยากทำสินทรัพย์ดิจิทัลกันทั้งนั้น แต่เวลาเราคิดทำอะไร เราไม่ได้มองเป็นส่วนๆ เราคิดถึงการสร้างระบบนิเวศที่ดีแล้วเลือกส่วนที่ทำได้ก่อน

คุณภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนล่าสุด

นอกจากตลาดการเงินและการลงทุนต่างประเทศ ในประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องแข่งขันกับใคร

บริษัทที่ไม่ได้เป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ทำธุรกิจเหมือนเรา ในอนาคตไม่จำเป็นว่าต้องมีตลาดหลายแห่ง แค่เป็นบริษัทหรือธุรกิจที่ให้บริการเหมือนกันกับเราก็ถือว่าเป็นคู่แข่งแล้ว เช่นถ้าคุณฝากเงินและอยากได้ผลตอบแทนในอนาคต คุณทำอะไรได้บ้าง ฝากธนาคาร ซื้อหุ้น ซื้อกองทุนรวม ซื้อตราสารหนี้ นี่ไงคู่แข่งเต็มไปหมด ธนาคารเอย บริษัทประกันเอย ใครก็ตามที่ให้บริการใดที่เหมือนกันคือคู่แข่งทางธุรกิจทั้งนั้น

มีเหตุการณ์หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งไหนบ้างที่เปลี่ยนความคิดของคุณครั้งใหญ่

ในชีวิตผ่านวิกฤตการเงินมาหลายรอบมากและแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลย บ้างเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจ บ้างเกิดจากองค์กรบางองค์กรแต่ส่งผลต่อภาพรวม วิกฤตแต่ละครั้งสอนให้รู้ว่า ที่เคยคิดว่ารู้ แท้จริงเราไม่เคยรู้ครบ 

สิ่งที่ต้องระวังคือ คุณจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอย่างไร ถ้าป้องกันไว้ไม่ได้ จะปรับตัวหรือบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง และกับเรื่องที่จัดการไม่ได้ ให้ซื้อประกัน 

คุณรู้ไหมว่าทำไมประเทศในตะวันออกกลางตั้งใจทำธุรกิจสายการบินมาก?

ลดความเสี่ยงจากธุรกิจน้ำมัน?

ใช่แล้ว! ในเวลาที่น้ำมันแพง สายการบินขาดทุนแต่บริษัทขายน้ำมันมีกำไร ในเวลาที่น้ำมันถูก สายการบินมีกำไรแต่บริษัทขายน้ำมันเจ๊ง เป็นการบริหารความเสี่ยงในแบบของเขา

ปรัชญาหรือหลักที่คุณยึดถือในการทำงานคืออะไร

ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ในจุดที่สู้คนอื่นไม่ได้หรืออยู่ในจุดที่ทำได้ดีอยู่แล้ว ก็อย่าหยุด จงทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ สมัยที่ผมทำงานในองค์กรที่ต้องปรับตัวและแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ทุกสิ้นปีผมจะบอกทีมซึ่งมีกันอยู่เพียง 70 – 80 คน ว่าปีหน้าเราจะทำอะไรเพิ่มเติม หรือจะเสริมสิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วให้ยิ่งขึ้นได้อย่างไร เท่านี้เลย ผมมีหน้าที่ผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนเก่งที่สุด แต่คุณผลักดันคนเก่งของคุณให้ทำงานให้ได้ 

ยังไง

ผมมองแค่นั้น มันคือการทำให้ดีขึ้นเสมอ ถ้าทำเหมือนเดิมอยู่ที่เดิม มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 

ของใหม่ๆ แบบไหนที่คุณเห็นศักยภาพ ตอบโจทย์ลูกค้า เกิดตลาดหรือแผนธุรกิจใหม่ๆ แน่นอนว่าบางโครงการใช้เวลา แต่ควรตกลงร่วมกันว่าอยากจะเห็นหรือให้เกิดไปในทางไหน ถ้าผิดพลาดจากที่คิดก็ถือว่าเรียนรู้และทำเรื่องใหม่ ซึ่งถ้าสำเร็จแล้วคุณจะต่อยอดอย่างไรบ้าง เหล่านี้สำคัญ การที่คุณคิดและทำสิ่งใหม่ๆ ในวันนี้อาจจะทำให้ยังไม่เห็นภาพ แต่เมื่อคุณทำต่อไปเรื่อยๆ คุณจะเริ่มเห็นว่าทั้งหมดต่อเนื่องกันอย่างไร อย่ามองแค่ว่าเมื่อสิ่งใดสำเร็จแล้วต้องจบไป

ประสบการณ์ทำงานหรือความสำเร็จในอดีตที่คุณภูมิใจ

ภูมิใจทุกงาน และไม่มีเรื่องไหนที่เกิดจากการลงมือทำคนเดียวเลย ทุกความภูมิใจเกิดขึ้นจากคนของเราช่วยกันทำ ตอนอยู่ธนาคารไทยพาณิชย์ จากที่เราสู้ธนาคารต่างชาติไม่ได้ เราเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นที่หนึ่งของตลาดเงิน หรือวันนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เหล่านี้คือผลของการเปลี่ยนแปลง

อะไรขับเคลื่อนคุณให้ทำสิ่งเหล่านี้

ผมมีความคิดว่าถ้าจะทำอะไร ผมจะทำให้ดีที่สุด โดยไม่ได้มองว่าจะทำสิ่งนี้ยาวนานต่อไปแค่ไหน แค่อยากทำหน้าที่ในวาระ 4 ปีให้เต็มที่ 

หน้าที่ของผม 50 เปอร์เซ็นต์ คือเรื่องคน ผมต้องการสร้างคน เพราะถ้าอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องปรับตัว เรามีคนพร้อมรับช่วงต่อในแต่ละเรื่องแล้วหรือยัง หน้าที่ที่เหลือคือการกำหนดพิมพ์เขียวขององค์กรในอนาคต บางอย่างอาจจะถูกหรือผิด แต่เราต้องระบุให้ได้ว่าจะเดินไปทางไหน จะทำหรือไม่ทำ จะทำก่อนหรือทำหลัง ต้องมีพิมพ์เขียวไว้เลย ยิ่งแผนงานครอบคลุมส่วนที่เกี่ยวข้องมากเท่าไหร่ คนที่มาทำธุรกิจหรือใช้ประโยชน์จากตลาดทุนก็ยิ่งมีมากซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ

รวมถึงประโยชน์ที่นอกเหนือไปจากเรื่องของธุรกิจ

ใช่ โจทย์คือเราจะทำให้ระบบธุรกิจคำนึงถึงเรื่อง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลได้อย่างไร

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วสร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรให้การพัฒนากระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ปัญหาความแตกต่างที่มีในสังคม เราจะทำยังไงให้คนใหญ่ช่วยคนเล็ก หรือคนใหญ่ทำงานร่วมกับคนเล็ก 

ทำยังไงให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบ เปิดเผยข้อมูลให้ถูกต้องและทันเวลา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราเริ่มออกหลักดูแลบรรษัทภิบาลตั้งแต่ก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ช่วงเวลาที่นักลงทุนในตลาดโลกไม่เชื่อข้อมูลเรา เขาบอกว่ามีการบิดเบือนเยอะเพราะไม่มีบรรษัทภิบาล เราจึงร่วมกับสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน ตั้งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ให้ความรู้ความเข้าใจแก่บริษัทไทยตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว จนวันนี้บริษัทจดทะเบียนไทยมีคะแนนบรรษัทภิบาลเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน

งานด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ฯ แตกต่างจากองค์กรอื่นๆ อย่างไร

เราเริ่มพูดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียน แต่ความยากคือ สิ่งที่หลายองค์กรทำนั้นไม่ยั่งยืน โจทย์ใหญ่ของเราคือทำอย่างไรให้เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปอยู่ในขั้นตอนการทำงานของบริษัท จึงเริ่มทำ ESG หรือ Environmental Social and Governance เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงทำกับบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เรายังผลักดันให้เกิดบรรยากาศในบริษัทขนาดเล็กด้วยการตั้ง Thailand Sustainability Investment เพื่อบอกว่านี่เป็นกลุ่มบริษัทเล็กที่ทำทุกอย่างเหมือนบริษัทใหญ่เลย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อะไรจากการลุกขึ้นมาสร้างช่องทางและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคม

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มทำ SET Social Impact Platform มาตั้งแต่ปี 2559 เพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเพื่อสังคมเข้าถึงเงินทุนหรือทรัพยากรของธุรกิจจดทะเบียน และสร้างแรงบันดาลใจให้บริษัทจดทะเบียนเห็นตัวอย่างของการทำกิจการเพื่อตอบโจทย์ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่มากกว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคม นอกจากสร้างชุมชนนำพาคนที่เชื่อเหมือนกันมาเจอกัน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านหลักสูตรนักธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีบริษัทจดทะเบียนเป็นพี่เลี้ยงธุรกิจ ยังสร้างสรรค์ให้เกิดบรรยากาศการระดมความคิดสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่นในงาน SET Social Impact Day ที่จัดเป็นประจำทุกปี โดยปี 2562 นี้งานจะมีขึ้นวันที่ 17 – 18 กรกฎาคมภายใต้แนวคิด ‘Partnership for Impact Co-creation ออกแบบ ทางออก มหาชน’ 

ทำไมเราถึงไม่ควรพลาดงาน SET Social Impact Day ในปีนี้

ไม่ใช่โอกาสง่ายๆ ที่จะได้ฟัง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล พูดเรื่องทางออกอนาคตการศึกษาไทย เห็นรายชื่อวิทยากรทั้งสองวันแล้วผมอยากจะอยู่รอฟังทั้งวันเลย เพราะทั้ง 10 หัวข้อจาก 35 วิทยากรชั้นนำ ครอบคลุมประเด็นปัญหาสังคม 5 ด้าน ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม กลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเกษตรและพัฒนาชุมชน นอกจากเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเพื่อสังคมกว่า 60 แบรนด์นำเสนอแนวคิดธุรกิจที่สร้างผลลัพธ์แก้ไขปัญหา วันงานยังเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจเพื่อสังคมพบกับบริษัทจดทะเบียนระดมไอเดียพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ร่วมกัน

10 Questions Answered

by President of The Stock Exchange of Thailand

  1. หากมีโจทย์ให้ธุรกิจเพื่อสังคมของตัวเอง กิจการของคุณจะเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมเรื่องอะไร : เรื่องสิ่งแวดล้อม คงเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ช่วยบริหารขยะ สำคัญคือ ชวนบริษัทที่ได้รับประโยชน์ร่วมกันมาทำด้วย 
  2. มุมโปรดในออฟฟิศ : รูปสวยๆ ในตึกนี้ เดี๋ยวผมพาเดินได้เลย ชั้น 26 ที่เป็นห้องประชุมก็รูปสวย 
  3. หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน : หนังสือชุด Jack Ryan ของ Tom Clancy เล่มที่รุ่นลูกของตัวเอกขึ้นมาเป็นสายลับแทนเขา
  4. ชมรมสมัยเรียนมหาวิทยาลัย : หลายชมรมเลยส่วนใหญ่เป็นกีฬา
  5. ความรู้ใหม่ล่าสุด : เรื่อง Libra สกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก เราเคยคิดจะทำสิ่งนี้เหมือนกัน แต่เพื่อใช้ในตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาคนี้เท่านั้น เช่น อยากซื้อหลักทรัพย์ของเวียดนาม ค่าเงินนี้จะลดความเสี่ยงในราคาอัตราแลกเปลี่ยน เรื่องของ Libra สอนว่า เห็นมั้ยว่าต่อให้มีไอเดียที่เจ๋งแค่ไหน คุณมีโอกาสไม่ได้ทำเพราะมีคนทำได้เจ๋งกว่า คุณก็ต้องปรับตัวว่าจะแข่งกับเขาหรือใช้ของเขาเลย 
  6. ประสบการณ์ลงทุนในตลาดทุนครั้งแรก : คุณแม่ซื้อหุ้นให้ตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่เคยดูและไม่เคยขาย ผมเลิกซื้อหุ้นมาตั้งแต่ทำงานเป็น Treasure ที่ไทยพาณิชย์ เพราะเป็นจรรยาบรรณของอาชีพ หลังจากนั้นเป็นต้นมาผมซื้อแต่กองทุนรวม ถ้าเป็นหุ้นจะเป็นหุ้นต่างประเทศเท่านั้น
  7. คำพูดติดปากที่พูดกับทีมงาน : “Come on มันต้องมีไอเดียดีกว่านั้นหน่า” อีกคำคือ “Let’s discuss”
  8. ถ้าต้องเขียนหนังสือการบริหารสไตล์คุณภากร เนื้อหาส่วนใหญ่จะพูดเรื่องอะไร : การบริหารคน จะทำยังไงให้คนของเราใช้ศักยภาพที่มีในตัวเองได้ดีที่สุด
  9. บ่ายวันอาทิตย์จะบังเอิญพบคุณได้ที่ไหน : สนามกอล์ฟ
  10. ถ้าให้เขียนจดหมายหาตัวเองในอดีต เนื้อความส่วนใหญ่ของจดหมายจะบอกว่า… : จงเป็นสถาปนิก

www.setsocialimpact.com

facebook : Set Social Impact

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographers

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู