21 กุมภาพันธ์ 2019
33 K

“ความจริงเราเป็นคู่แข่งยาโยอิ คุซามะ เขาบ้าลายจุด เราบ้าลายตาราง”

พาฉัตร ทิพทัส ภัณฑารักษ์ประจำมิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Museum Siam: Discovery Museum) ยอมรับว่าเขาเป็นคู่แข่งกับคุณป้าลายจุด ศิลปินหญิงจากประเทศญี่ปุ่น เพราะเขาคลั่งไคล้ลายตารางหมากรุกมากพอกับยาโยอิคลั่งไคล้ลายจุดจุดจุดบนสารพัดข้าวของ แต่ลายตารางหมากรุกของพาฉัตรอยู่บนผ้าขาวม้าไทบ้านจากโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทย

เอกลักษณ์ของผ้าขาวม้าแบบ Thailand Only นอกจากราคาแสนถูก ลายตารางหมากรุกยังมีขนาดช่องเท่ากันเป๊ะแนวตั้งจรดแนวนอน สีสังเคราะห์จากเคมีก็สดแปร๊ดจนคนมองว่าเชย แต่พาฉัตรกลับมองว่าสวย ยิ่งผ้าขาวม้าสีแดงสลับสีขาว สีขาวสลับสีน้ำเงิน บอกได้คำเดียวเลยว่า คลาสสิก!

ผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้า

ผ้า (ไม่) ขาว (ไม่) ม้า

ผ้าขาวม้าไม่ได้มีความเชื่อมโยงอะไรกับผ้าสีขาวหรือม้าเลยสักนิด แต่รากศัพท์ของ ‘ผ้าขาวม้า’ มากจากภาษาเปอร์เซียคำว่า ‘กะมัรบันด์’ (Kamar band) กะมัร แปลว่า เอว และ บันด์ แปลว่า พัน  คาดว่าคนไทยรับวัฒนธรรมการทอและการสวมใส่ผ้าขาวม้าจากผ้าคาดเอวลายตารางของขุนนางและพ่อค้าชาวเปอร์เซียสมัยอยุธยา และพ่อค้าโมกุลสมัยอยุธยาตอนปลาย มากกว่าฟังก์ชันคาดเอว ยังเป็นเครื่องหมายบ่งบอกสถานะของผู้สวมใส่ด้วย

ถ้าตามรอยบรรพบุรุษผ้าขาวม้าไปไกลถึงประเทศเปอร์เซีย แล้วถามหา ‘กะมัรบันด์’ อาจจะได้เข็มขัดเส้นยาวมาแบบคาดไม่ถึง เพราะว่ายุคสมัยเปลี่ยน ความหมายกะมัรบันด์ก็เปลี่ยน และคนเปอร์เซียเองก็เลิกใช้ผ้าคาดเอวกันแล้ว แต่คำว่ากะมัรบันด์ก็ยังมีความหมายว่า ผ้าคาดเอว ผ้าขาวม้า ซึ่งกลายเป็นคำศัพท์โบราณในปัจจุบัน

ผ้าขาวม้า

ผ้าขาวม้าผืนแรกของพาฉัตร

ผ้าขาวม้าผืนแรกในชีวิตของเด็กชายพาฉัตร ต้องย้อนกลับไปสมัยเขาเป็นลูกเสือสำรอง จำเป็นจะต้องเข้าค่ายลูกเสือ แต่ยังขาดผ้านุ่งสำหรับอาบน้ำ คุณพ่อเลยจัดหาผ้าขาวม้ามาให้เขา 1 ผืน เป็นผ้าฝ้ายทอมือ ยิ่งใช้ยิ่งนุ่มสบาย

จากเด็กชายกลายเป็นนาย ผ้าขาวม้าผืนแรกถูกใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะนุ่งอาบน้ำ พกติดกระเป๋าไว้อุ่นใจ หรือบรรเทาอาการหนาวกาย เรียกว่าสมบุกสมบันทุกการใช้งาน จนถูกปลดประจำการเพราะขาดจนเป็นช่องขนาดใหญ่

ผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้า

ก่อนจะลงลึกไปถึงผ้าขาวม้าอีกหลายสิบผืน เขาออกตัวว่าไม่ใช่นักสะสมผ้าขาวม้า เพียงแต่เป็นชายหนุ่มผู้ชื่นชอบลายตารางหมากรุกและมองฟังก์ชันแท้จริงของผ้าขาวม้า มากกว่าจะเก็บสะสมเป็นของเลอค่าจนยากจะจับต้อง

“เราชอบแนวคิดของผ้าขาวม้าในการเป็นผ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องสนใจรักษาอะไรมาก ยิ่งซัก ยิ่งใช้ ยิ่งนุ่มกว่าเดิม เราเลยไม่อยากเรียกว่าสะสม เพราะเราใช้มันสารพัดประโยชน์เลย สมมติเราจะต้องไปค้างบ้านคนนั้นคนนี้ อย่างน้อยเราก็มีผ้าสำหรับอาบน้ำของเราแล้ว หรือเราซื้อแกงถุงกลับบ้าน ก็จะบอกแม่ค้าว่าไม่ต้องใส่ถุงก๊อบแก๊บนะ เราเอาแกงถุงมาเรียงบนผืนผ้าขาวม้าแล้วห่อเป็นกระเป๋าถือ”

ฉะนั้น คอลเลกชันผ้าคาดเอวลายตารางหรือผ้าขาวม้าของเขาแสนจะธรรมดา มีสีสันโดดเด่นเป็นพิเศษจากการผสมกันของสีสังเคราะห์จากเคมี และมักจะได้มาจากตลาดประจำจังหวัด ซึ่งผลิตจากจังหวัดราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ เพราะจังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดผลิตผ้าขาวม้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

“เวลาไปทำงานต่างจังหวัด ถ้ามีเวลาเหลือเราจะแวะไปตลาดประจำจังหวัด ด้านล่างจะขายของสด ส่วนด้านบนจะขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เราชอบไปหยิบผ้าเล่นซึ่งก็ไม่ใช่ผ้าขาวม้าไฮโซหรือทอมืออย่างดี แต่เป็นผ้าขาวม้าทอจากโรงงานในซองพลาสติกแปะตราสินค้าด้วยกระดาษสติกเกอร์

“ไม่ว่าเราจะซื้อผ้าขาวม้าจากส่วนไหนของประเทศก็มักจะมาจากราชบุรี ผ้าขาวม้าเหล่านั้นจะไม่นุ่มละเอียดแบบผ้าฝ้าย แต่จะเป็นผ้าฝ้ายผสมใยสังเคราะห์ ทอด้วยเครื่องจักร บางทีการผสมคู่สีก็สวยบ้าง แปลกบ้าง มีความเท่ปนความเสี่ยวอยู่ในนั้น เราจะเลือกจากสีสันเป็นหลัก เพราะลายก็เป็นลายตารางเหมือนกันหมด” พาฉัตรเล่า

ผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้า

ผ้าขาวม้าไทบ้านยุคแรก

หากนับผ้าขาวม้าผืนแรกสมัยประถม 3 ของพาฉัตรเป็นผ้าขาวม้ายุคแรก แน่นอนว่าทำมาจากผ้าฝ้ายทอมือในระบบอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง จากการสัมผัสด้วยมือมันเนียนนุ่มเสียจริง

“ผ้าขาวม้าผืนแรกของเราเนื้อผ้าดีมากจนต้องขอกราบ เมื่อเทียบกับผ้าขาวม้าปัจจุบันจากจังหวัดราชบุรี ลายสวยมาก เล่นสีน้ำเงินเข้มกับเหลือง

“แต่มีผ้าขาวม้าผืนนึงจากโรงงานที่ราชบุรี เป็นสีน้ำเงินโคบอลต์สลับสีขาว เราว่ามันเท่มากเลยเอามาใช้ที่ออฟฟิศ ปรากฏว่าผ้าไม่ซับน้ำเลย ไม่มีแม้แต่น้ำติดอยู่บนเส้นใยของผ้า เรายืนสะบัดอยู่นานจนโกรธมาก (หัวเราะ)

“บังเอิญมีคุยงานกับน้องดีไซเนอร์ เพราะจะมีงานแสดงกลางแจ้งเป็นโครงเหล็กรูปช้างหุ้มด้วยผ้า ด้วยแนวคิดว่าสมัยก่อนเราเอาช้างไทยไปแลกกับผ้าอินเดีย ฉะนั้น วัสดุของผ้าจะต้องไม่ยืด เพราะโดนความร้อนจะเหลืองจนกรอบ ผ้าฝ้ายก็ไม่ได้ เมื่อไหร่ที่ผ้าฝ้ายอุ้มน้ำราจะขึ้นทันที จึงต้องใช้ผ้าใยสังเคราะห์เท่านั้น

“เรานึกขึ้นได้รีบกลับไปคว้าผ้าขาวม้าผืนนั้นมาจากออฟฟิศเลย บอกน้องว่าเอาแบบนี้นะ เลยมารู้ว่าผ้าผืนนั้นทำมาจากใยสังเคราะห์ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากจะไม่อุ้มน้ำแล้ว ยังใส่ไม่สบายตัวอีกด้วย” พาฉัตรแบ่งปันประสบการณ์ผ้าขาวม้า และเสริมอีกว่า “ผ้าขาวม้าจากโรงงานราชบุรีก็มีหลายเกรดนะ ขึ้นอยู่กับว่าล็อตนั้นเขาผสมสัดส่วนของผ้าฝ้ายหรือใยสังเคราะห์มากกว่ากัน แต่ปัจจุบันเราก็ยังใช้ผ้าขาวม้าโรงงานผลัดอาบน้ำอยู่”

ผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้า

ผ้าขาวม้ายุคถัดจากผ้าขาวม้าไทบ้านยุคแรก

ผ้าขาวม้าไทบ้านผ่านร้อน ผ่านร้อนมาก และร้อนมากๆ ของประเทศไทยมานาน จากผ้าฝ้าย เป็นฝ้ายผสมใยสังเคราะห์ และผ้าใยสังเคราะห์แท้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะบางยุคบางช่วงคนไทยแทบจะไม่เหลียวมองผ้าผลิตจากฝ้าย เพราะการเลือกซื้อผ้าขาวม้าหรือผ้าสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรมแสดงถึงความก้าวหน้าทันสมัย และราคาถูกกว่ากันมาก

ปัจจุบัน บ้างก็ว่าผ้าขาวม้าหายากเหลือเกิน บ้างก็ว่าเปลี่ยนไปเสียจนจำหน้าค่าตาไม่ได้ ช่วงระยะเวลา 5 ปีให้หลัง เรามักเห็นคนไทยนิยมส่วมใส่ผ้าขาวม้ามากขึ้น พยายามนำมาใส่ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นแฟชั่น

รวมถึงผู้ประกอบการหัวคิดดีนำผ้าขาวม้าแปลงเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หมวกหลากสไตล์ แม้กระทั่งเด็กรุ่นใหม่ไฉไลที่เบื่อชีวิตคนเมืองบวกกับอาการโหยหาอดีตก็กลับบ้านไปพัฒนาของดีชุมชน ไม่เว้นแต่ผ้าขาวม้า!  

“เราว่าปัจจุบันผ้าขาวม้ากลายเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกของความเป็นไทยไปแล้ว ถูกนำมาใช้เป็นของที่ระลึกมากกว่าการใช้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างม็อบที่ต้องการแสดงความเป็นไทย เขาใช้ผ้าขาวม้ามาพันคอเพื่อบ่งบอกว่าฉันรักประเทศไทยนะ หรือแบรนด์ Pakamian เราเห็นเขาครั้งแรกในงานแสดงสินค้าโอท็อป

“ทราบมาว่าเขาเป็นลูกสาวโรงงานผ้าขาวม้าในจังหวัดราชบุรี เขาทำแบรนด์เพราะผ้าขาวม้าเดินทางมาถึงทางตัน ถูกลดค่าจนคนมองว่าเป็นของใช้สำหรับคนชนชั้นล่างสุด เขาเลยคิดวิธีเพิ่มมูลค่าด้วยการแปลงเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า แต่ที่เราชอบมากคือเทดดี้แบร์ เขาเอาผ้าขาวม้าที่เป็นสัญลักษณ์ของกรรมาชีพ มาทำเป็นตุ๊กตาหมีที่เป็นของเล่นเด็กสากล เรารู้สึกว่าความคิดเขาดีมาก เพิ่มมูลค่าแล้วยังร่วมสมัย และกล้าที่จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของครอบครัว”

พาฉัตรเล่าวิธีพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยสีหน้าปลื้มปริ่มจนเราแอบดีใจกับบรรดาผ้าขาวม้าไทบ้านไปด้วย

ลายชนลายเดียวกัน

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ดูเหมือนว่าพาฉัตรจะเป็นเจ้าพ่อผ้าขาวม้าทุกสถาบัน แต่ความจริงแล้วเขาไม่ได้เลือกหาเลือกซื้อแต่ผ้าขาวม้าไทบ้านเท่านั้น ยังขยับขยายไปถึงผ้าลายตารางหมากรุกของไทยและต่างแดน หากจะเปรียบลายตารางหมากรุกของไทยกับลายสกอตของเทศ ก็คือคือกัน พาฉัตรเฉลยให้เราฟังว่า

“เรามองว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในการทอผ้าจะต้องมีเส้นยืนกับเส้นนอน ถ้าทำลายข้าวหลามตัด ลายดอกพิกุล คงจะยาก เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติของเส้นนอน จะเห็นว่าทุกวัฒนธรรมจะมีเส้นยืนกับเส้นนอนหรือลายสกอตนั่นแหละ แต่ลายของประเทศเราทอง่ายที่สุดแล้ว เป็นลายตารางหมากรุกขนาดช่องเท่ากันและมีขนบของการทอผ้า เพราะผ้าจะต้องมีท้องผ้าที่เป็นลายตารางหมากรุกและเชิงผ้า”

ผ้าขาวม้า

จากคำบอกเล่าของพาฉัตร เราเชื่อว่านักอ่านคงจะอดใจรอแทบไม่ไหว ลองนั่งสังเกตสีสัน เพ่งให้ถึงเนื้อผ้า และเปรียบเทียบลวดลายตารางของคอลเลคชันผ้าลายตารางหมากรุกฉบับคัดพิเศษทั้ง 24 ผืน 17 เรื่องราวของเขาพร้อมกัน!

01

ผ้าขาวม้าผืนแรกจากคุณพ่อ

ผ้าขาวม้า

“ตอน ป.3 เราจะต้องไปเข้าค่ายลูกเสือ แล้วยังไม่มีผ้าสำหรับอาบน้ำ คุณพ่อก็ซื้อผ้าขาวม้าให้ 1 ผืน สีสวยมาก เนื้อผ้าเป็นฝ้าย กลายเป็นว่าโตแล้วเรายังพกติดกระเป๋าตลอด ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม อาจจะเพราะเราเป็นคนขี้หนาวการจะพกเสื้อกันหนาวมันก็เทอะทะ เราจะมีผืนนี้ติดกระเป๋าไว้พันคอ ห่มตัว พกแล้วอุ่นใจดี”

02 

ผ้าขาวม้าผืนโปรดจากเกาะยอ จังหวัดสงขลา

ผ้าขาวม้า

“ผืนนี้เป็นผ้าฝ้ายแท้ทอมือแบบพื้นบ้าน ทอที่เกาะยอ ขายที่ตลาดกิมหยง (หาดใหญ่) เขาเลือกสีเก่งมาก เป็นสีเคมีที่ไม่สดจนเกินไป เป็นผ้าขาวม้าเกรดดีที่สุดที่เราเคยซื้อในราคาหลักร้อย เวลาเราใช้ผืนนี้พันคอ ทุกคนจะมาขอจับแล้วถามว่า ‘แบรนด์อะไร’ เพราะมันดูไม่เหมือนผ้าขาวม้าพื้นบ้าน”

03

ผ้าขาวม้าคู่สีสวยจากกราฟิกดีไซเนอร์ไทบ้าน

ผ้าขาวม้า

“เราชอบสีมาก สีสวย แล้วคู่สีของเขาเหมือนมีกราฟิกดีไซเนอร์มืออาชีพมาคิดให้ แต่ความจริงเป็นชาวบ้าน”

04

ผ้าขาวม้าจากโรงงานไม่ได้เชยอย่างที่คิด

ผ้าขาวม้า

“ผ้าผืนนี้เป็นผ้าขาวม้าจากโรงงาน พอคนเห็นสีจะคิดว่ามันเชย แต่ไม่ได้เชยอย่างที่คิด มันสวยดี แม้คุณภาพจะไม่ดีเท่าไหร่เพราะสีตกไปแล้ว”

05

ผ้าขาวม้าสุดคลาสสิกจากโรงงานในจังหวัดราชบุรี

ผ้าขาวม้า

“ผืนนี้มาจากโรงงานทอผ้าขาวม้าแท้ๆ จากจังหวัดราชบุรี เนื้อผ้าเป็นใยสังเคราะห์ 100 เปอร์เซ็นต์ ผ้าไม่ซับน้ำเลย แต่เราซื้อเพราะมันเก๋มาก มันเป็นลายตารางหมากรุก ขณะเดียวกันก็ยังร่วมสมัยอยู่”

06

ผ้าขาวม้าฉบับหลวงพระบางจากประเทศลาว

ผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้า

“ตอนนั้นเราไปหลวงพระบาง อยากได้ผ้าขาวม้าของเขามาก เลยไปถามคนพื้นเมือง เขาบอกว่าให้ไปตลาดพูสี ซึ่งเป็นตลาดประจำเมืองของเขา แต่เพราะไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวเราจึงไม่เจอจากหนังสือนำเที่ยว พอไปถึงตลาดเราก็ตามหาจนเจอร้านขายผ้าขาวม้าแต่ปรากฏว่ามีแค่สีเดียวและลายเดียวเท่านั้น ซึ่งเขาเล่นสีเก่งมาก ท้องผ้าเป็นลายตารางหมากรุกขาวดำ เชิงผ้าเป็นสีแดง มีขลิบริมแซมสีเหลือง เป็นผ้าทอพื้นบ้านที่ยังคงขนบและจารีตของผ้าครบถ้วน จำได้ดีว่าคนขายบอกว่าเอกลักษณ์ของผ้าขาวม้าหลวงพระบางต้องลายแบบนี้เท่านั้น เราจึงภูมิใจมากที่ได้มา”

07

ผ้าขาวม้าลายตารางเล็กจากผองเพื่อน

ผ้าขาวม้า

“ผืนนี้เป็นของขวัญวันเกิดที่เพื่อนให้มาปีที่แล้ว เราจำไม่ได้ว่ามาจากโรงงานอะไร แต่ราคาถูก และลายตารางเล็กแปลกตาดี”

08

ผ้าขาวม้าจากของชำร่วย สวยจนอยากตัดเสื้อ

ผ้าขาวม้า

“สองผืนนี้เราเพิ่งได้มาล่าสุดจากของชำร่วยเหลือแจกในงานของมิวเซียมสยาม เราเลยขอแล้วกัน (หัวเราะ) ถ้าเอามาตัดเสื้อสวยเลย สีก็สวยมาก แล้วเนื้อผ้าเป็นผ้าฝ้ายอย่างดี”

09

ผ้าขาวม้าที่ไม่เหมือนผ้าขาวม้า

ผ้าขาวม้า

“ทั้งสามผืนเป็นผ้าคลุมไหล่ สีและลายทำให้เรารู้สึกก้าวข้ามภาพจำว่าผ้าขาวม้าจะต้องเชยหรือล้าหลัง”

10

โสร่งลายตารางจากประเทศพม่า

ผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้า

“เราไปพม่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นพม่าเพิ่งเปิดประเทศเป็นปีแรก เราก็ไปเดินตลาดอีกเหมือนเคย แต่เขาไม่มีผ้าขาวม้า เราจึงซื้อผ้าโสร่งมาแทน ซื้อเสร็จนุ่งไม่ได้ต้องให้เขาเย็บเป็นโสร่งให้ จะเห็นชัดเจนว่าสมัยนั้นพม่ายังไม่มีผ้าฝ้ายทอมือ มีแต่ผ้าโทเรจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผ้าใยสังเคราะห์ใส่ไม่สบายตัว แต่ยอมรับว่าแห้งเร็วมาก

“ผ้า 2 ชิ้นเป็นผืนออริจินัล เป็นลายตาราง คู่สีเคมีไม่ค่อยสวย อีกอันเป็นผืนที่น้องออฟฟิศซื้อมาฝาก ผ่านไป 30 ปี ไม่มีความแตกต่างเลย (หัวเราะ) ยังเป็นลายตารางพื้นฐานของโสร่งพม่า คล้ายกันกับลายผ้าโสร่งของอินเดีย”

11

กางเกงเลลายตารางจากด้ามขวานของประเทศไทย

ผ้าขาวม้า

  ตัวนี้เป็นกางเกงเลที่ตัดจากผ้าขาวม้า เจ้าของจบจากช่างศิลป์ เขาเลยมีวิธีพลิกแพลงที่จะเอาผ้าท้องถิ่นมาทำตอนแรกเขาใช้ผ้าปาเต๊ะ แล้วก็มีผ้าขาวม้าหลายสีมากที่เขาเอามาทำกางเกงเล เราใส่จนขาดแล้วก็ทิ้งไปเยอะเหมือนกัน”

12

เสื้อเชิ้ตลายตารางจากชาวบ้านจังหวัดลำพูน

ผ้าขาวม้า

“เราไปทำงานในลำพูน แล้วมีเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงในการแวะพระธาตุหริภุญชัยและช้อปปิ้งนิดหน่อย ก็เลยเดินไปร้านขายสินค้าโอท็อปแถวพระธาตุ เจอเสื้อเชิ้ตตัดจากผ้าขาวม้า แม้จะซื้อเพราะราคาถูก แต่เราชอบมาก เพราะแสดงถึงความตั้งใจของชาวบ้านที่ปรับตัวด้วยการนำผ้าขาวม้ามาแปรรูปเป็นเสื้อผ้า”

13

หมวกชาวสวนสุดเท่จากคุณป้าในออฟฟิศ

ผ้าขาวม้า

“หมวกใบนี้คุณป้าที่ออฟฟิศซื้อมาให้ เขาบอกเราว่า ‘เธอบ้านักหรอ’ แล้วยื่นหมวกชาวสวนมาให้ เราคิดว่านอกจากฟังก์ชันจะดีมากแล้ว ยังเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ผ้าขาวม้าอีกด้วย”

14

ผ้าพันคอลายตาราง ราคามือสอง คุณภาพมือหนึ่ง

ผ้าขาวม้า

“ผืนนี้เป็นผ้าฝ้ายทอมือของแบรนด์จิม ทอมป์สัน แต่เราซื้อมือสองมาในราคา 100 บาท”

15

ผ้าพันคอลายตารางแบบแมสๆ จากประเทศกัมพูชา

ผ้าขาวม้า ผ้าขาวม้า

“ผ้าขาวม้าของกัมพูชาหายาก เพราะเราเองยังเข้าไม่ถึงตลาดพื้นเมืองของเขา และเรายังสืบค้นไม่พบว่าประเทศกัมพูชามีผ้าขาวม้าหรือเปล่า เห็นแต่เพียงสินค้าที่ทำมาเพื่อขายนักท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งที่หายไปอาจเป็นเพราะผลกระทบหลังสงครามกลางเมือง แต่ในที่สุด เราก็ได้ผ้าพันคอลายตารางนี้มาซึ่งชอบนะ มันแมสดี

“ส่วนอีกผืนเป็นผ้าพันคอเหมือนกัน เจ้านายซื้อมาฝาก เป็นผ้าที่ทอจากผ้าไหม จะเห็นว่ามีการผสมสีเยอะ ดูแล้วไม่น่าจะเป็นการผสมสีของชาวบ้าน เราคิดว่าคงมีชาวต่างชาติมาช่วยปรับสีให้เขา”

16

ผ้าพันคอทอมือสี Shocking Pink จากชาวกะยัน

ผ้าขาวม้า

“เราต้องทำโครงการเกี่ยวกับกะเหรี่ยงคอยาว ด้วยเวลาและงบจำกัดเราจึงส่งพี่ดีไซเนอร์ไปเก็บข้อมูลตอนเช้า และตอนเย็นเขากลับมาพร้อมของขวัญมอบให้เรา เป็นผ้าพันคอทอลายตารางของชาวกะยัน ซึ่งตรงกับธีมงานของนิทรรศการไฉไลไปไหน ที่เป็นสี Shocking Pink พอดี นอกจากนี้ ผ้าทอยังแสดงให้เห็นว่าลายตารางเป็นลายพื้นฐาน ทอง่าย ใครก็ทอได้”

17

ผ้าพันคอมัดย้อมลายตารางจากประเทศเนปาล

ผ้าขาวม้า   “ผ้าพันคอจากประเทศเนปาล ดูแล้วคล้ายกับแบรนด์ Burberry มาก แถมมีการทำพลีตด้วย เราเดาว่าสมัยก่อนผ้าคาดเอวก็คงมีการทำพลีตเหมือนกัน เพื่อความสวยงาม โดยสมัยโบราณมีเทคนิคพิเศษในการทำผ้ายืดก่อนจะมีผ้าสเปนเดกซ์ใช้กันแพร่หลาย ด้วยการมัดย้อมเป็นปมขนาดเล็กทั้งผืน พอทำเสร็จแล้วผ้าจะยืดได้ มาจากการทำชิโบริของประเทศญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยจะเรียกว่า ผ้าหนามขนุน เพราะปมขนาดเล็กเมื่อคลี่ออกจะมีลักษณะคล้ายหนามของเปลือกขนุน”

Writer

Avatar

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล