หากนักอ่านจดจำใบหน้าคมคายของชายคลั่งลายตารางจากบทความ ข้างหลังผ้า คงเห็นคำชมจากใจที่มีให้ แอน-ณัฐวรรณ โกมลกิตติพงศ์ ลูกสาวโรงงานทอผ้าขาวม้า เจ้าของแบรนด์ Pakamian สาวผู้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนสัญลักษณ์ของชนชั้นกรรมาชีพให้เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย อาทิ หมอนอิง ตุ๊กตาหมี สมุดบันทึก ป้ายแขวนกระเป๋า เคสใส่หนังสือเดินทาง ฯลฯ จนเพิ่มมูลค่าให้ผ้าขาวม้าหลายเท่าตัว

แบรนด์ของเธอยังเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนไทยหันกลับมาใช้ผ้าขาวม้าอีกครั้ง ด้วยสีและลายที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด ไม่ซ้ำกันและไม่ซ้ำใครแน่นอน รวมถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์หลากหลายที่ครองใจคนไทยและต่างชาติ แถมชื่อแบรนด์ยังเชื่อมโยงกับผ้าขาวม้า ปรับนิดเพิ่มหน่อยให้ดูอินเตอร์และจดจำง่ายกลายเป็น Pakamian (พาคาเมี่ยน) หมายความว่า ชุมชนคนชอบ รัก และคลั่งไคล้ ผ้าขาวม้า

  ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดผลิตภายใต้โรงงานทอผ้าขาวม้าของครอบครัว ทำให้คนทั่วไปจับต้องสินค้าได้ในราคาเป็นมิตร มั่นใจคุณภาพได้เลย สมราคาแน่นอน!

ธุรกิจ โรงงานทอผ้าขาวม้ายิ่งเจริญ, Pakamian (พ.ศ. 2553)
ประเภทธุรกิจ โรงงานทอผ้าขาวม้, ผลิตภัณฑ์แปรรูปผ้าขาวม้า
อายุ มากกว่า 40 ปี และ 8 ปี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง อากง
ทายาทรุ่นที่สอง คุณพ่อยุทธนา โกมลกิตติพงศ์
ทายาทรุ่นที่สาม แอน-ณัฐวรรณ โกมลกิตติพงศ์

ออกจากงานประจำได้ แต่ต้องมีรายได้

แอนเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ แต่เลือกเบนสายมาทำงานวงการโฆษณา นั่งตำแหน่งเออีคอยประสานงานและทำมาร์เก็ตติ้ง ส่วนแฟนหนุ่มของเธอเป็นครีเอทีฟอยู่ออฟฟิศเดียวกัน

เป็นเวลากว่า 6 ปีในวงการโฆษณา ความอิ่มตัวทำให้เธอและเขาตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แล้วชวนกันหาธุรกิจเล็กๆ ทำด้วยกันสองคน จากโจทย์ ‘ออกจากงานประจำแต่ต้องมีรายได้’

ด้วยครอบครัวของแอนเปิดโรงงานทอผ้าขาวม้าอยู่ในจังหวัดราชบุรีนานกว่า 40 ปี เธอจึงหยิบจับสิ่งใกล้ตัวมาทำประโยชน์ ด้วยการนำผ้าขาวม้าจากโรงงานของครอบครัวไปเสนอขายตามร้านค้าในสวนจตุจักร

“เราเอาผ้าขาวม้าแบบเดิมไปเสนอขายเป็นกิโลฯ ถ้าเขาสั่งผ้าขาวม้าจากเราเราก็จะได้เงินหัวคิวจากตรงนั้น ทำเงินง่าย แต่มันไม่ท้าทายและไม่สนุก ขายได้สักพักเรากับแฟนเครียดมาก ถามว่าขายได้มั้ย ขายได้นะ แต่เราไม่ชอบงานแบบนี้เลย เหมือนเราต้องเอาของของเราไปให้เขาดูว่าผ้าขาวม้าเราดีนะ ทำไมเราไม่ทำให้เขาเห็นว่าของเราดี แล้วเขาเข้ามาหาเราเอง เหมือนเป็นการสร้างคุณค่าตั้งแต่ก้นบึ้ง เพราะผ้าขาวม้าของเรามีเรื่องราวเยอะอยู่แล้ว” แอนเล่าด้วยสีหน้าเอาจริง

ผ้าขาวม้าเชย แต่สารพัดประโยชน์

เมื่อตัดสินใจจะหยิบสิ่งที่มีในโรงงานทอผ้าขาวม้าอยู่ในจังหวัดราชบุรีนานกว่า 40 ปีมาต่อยอด แอนและแฟนหนุ่มตกลงกันว่าจะแปรรูปผ้าขาวม้าเป็นสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์

เหมือนกิ่งทองกับใบหยก เหมือนลอดช่องกับน้ำกะทิ เมื่อสาวเออีจับคู่ทำธุรกิจกับหนุ่มครีเอทีฟ อีกคนคิดอีกคนทำ อีกคนทำอีกคนคิด บวกกับประสบการณ์การทำงานแอนเริ่มจากรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลก่อนลงมือทำจริง

“เราทำวิจัยเล็กๆ ด้วยตัวเองก่อนเพราะอยากรู้ว่าคนทั่วไปมองผ้าขาวม้ายังไงบ้าง เหมือนตอนทำเอเจนซี่ เวลาจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เขาจะทำข้อมูลการตลาดก่อนว่าคุณเห็นผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้แล้วคุณนึกถึงอะไร ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เป็นคนแก่ เป็นผู้ชาย ผู้หญิง หนุ่มสาว หรือเด็ก เขามีนิสัยแบบไหน แล้วมาวิเคราะห์ต่อว่าอะไรทำให้คนรู้สึกแบบนั้นต่อโฆษณาหรือผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้น มันเป็นการใช้ความรู้และประสบการณ์จากการทำงานของเรา”

  ‘เชย โบราณ เก่า’ เป็นข้อเสียของผ้าขาวม้าจากผลสำรวจ

ขณะที่ ‘แห้งไว สารพัดประโยชน์ เห็นผ้าขาวม้าแล้วรู้ทันทีว่ามาจากประเทศไทย’ เป็นข้อดีของผ้าขาวม้าจากผลสำรวจ

ข้อดีเธอเก็บไว้ ส่วนข้อเสียเธอเอามาวิเคราะห์ต่อว่าทำไมคนถึงลงความเห็นว่าผ้าขาวม้าเชย โบราณและเก่า จนได้คำตอบว่า หนึ่ง วิถีการใช้ผ้าขาวม้าแบบเดิมๆ สอง สีและลายไม่ได้รับการพัฒนา

“แล้วผ้าขาวม้าสำหรับลูกสาวโรงงานทอผ้าขาวม้าเชยหรือเปล่า” เราถาม

“เชยสิ ส่วนตัวก็ไม่ใช้เหมือนกัน” เธอตอบทันที ก่อนจะเสริมต่อว่า “เพราะเรารู้สึกเขินและอายตลอด เวลาคุณครูถามว่า ‘คุณพ่อคุณแม่ทำอะไรหรือบ้านทำกิจการอะไร’ ผ้าขาวม้ามันเชยมาตั้งแต่เราเด็กๆ เชยมา 30 ปี ถ้ากลับบ้านเราใช้นะ เราชอบกางเกงผ้าขาวม้าที่แม่เย็บให้ เราชอบนอนหมอนยัดนุ่นผ้าขาวม้าที่แม่ทำให้ แต่ถ้าให้เอาไปใช้ข้างนอกเราไม่เอา ฉะนั้น เราจะทำยังไงให้คนกล้าใช้มากขึ้น กล้าจับต้องมากขึ้น เพราะผ้าขาวม้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่ใช่ผ้าของคนแก่ สิ่งนี้เป็นโจทย์ในการทำแบรนด์ของเรา”

เปลี่ยนวิถีการใช้ผ้าขาวม้าแบบเดิมๆ

วิถีการใช้ผ้าขาวม้าแบบเดิมมักเหมือนในละครหลังข่าว นุ่งอาบน้ำบางล่ะ พันคอโพกหัวบ้างล่ะ ผูกเป็นเปลบ้างล่ะ แต่วิถีเหล่านั้นถูกแทนด้วยผ้าขนหนู หมวกสารพัดแบบ และเปลไกวระบบอัติโนมัติ กลายเป็นว่าคนใช้ผ้าขาวม้าน้อยลง ไม่ผิดหากไลฟ์สไตล์จะเปลี่ยนตามเทคโนโลยีและสมัยนิยม

แต่แอนจะทำอย่างไรให้คนหันมากลับมาใช้ผ้าขาวม้าเพิ่มขึ้น หากย้อนไป 8 ปีก่อนพอดีกับเธอเริ่มทำแบรนด์ จะเห็นว่าพ่อค้าแม่ค้าหัวดีเอาผ้าขาวม้ามาแปลงเป็นเสื้อผ้ากันมากมาย แต่เป็นผ้าขาวม้าแบบเดิมไม่เพิ่มเติมสีและลาย ผ้าขาวม้ามาอย่างไรก็อย่างนั้น ตัดเย็บแบบง่าย เน้นขายสะดวก

อย่าลืมว่าแอนยังมีสายเลือดเอเจนซี่เข้มข้นพอๆ กับลูกสาวโรงงานทอผ้าขาวม้า

เธอเปลี่ยนวิถีและฐานการใช้งานผ้าขาวม้าด้วยการทำการบ้านก่อนว่าเธอจะขายให้กับใคร ไลฟ์สไตล์แบบไหน ใช้ผลิตภัณฑ์ใดบ้างในชีวิตประจำวัน ประจวบกับกระแสตอนนั้นคนหนุ่มสาวมักจะย้ายออกมาอยู่ตัวคนเดียว คอนโดบ้าง ห้องเช่าบ้าง เธอเลยฟันธงว่าสินค้าประเภทแรกจะต้องเป็นของตกแต่งบ้าน อาทิ หมอนอิง เบาะรองนั่ง ฯลฯ ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ความไม่จำเจและออกนอกกรอบทำให้คนสนใจอย่างล้นหลาม

ปัจจุบัน Pakamian มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกช้อปถึง 6 ประเภท ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์เครื่องเขียน กระเป๋า ตุ๊กตาผ้า ผ้าขาวม้าสำเร็จรูป และเสื้อผ้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่เธอเลือกทำหลังจากเปิดตัวแบรนด์ได้ 2 ปี เพราะทำง่าย คนทำกันเยอะ เธออยากให้คนติดแบรนด์ก่อนถึงจะแปรรูปผ้าขาวม้าเป็นเครื่องแต่งกาย

เปลี่ยนสีและลายที่ไม่ได้รับการพัฒนา

ลายและสีสันสดใสเป็นเอกลักษณ์และจุดแข็งของ Pakamian ฉีกและแหวกจากผ้าขาวม้าแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการออกแบบใหม่ทั้งหมด แอนกระซิบว่า เธอได้ลายและสีแปลกตามาจากคุณพ่อ

“พ่อเราเป็นคนชอบเอาวัตถุดิบมาจับเป็นลาย ด้วยความที่วัตถุดิบมีไม่พอ การจะสร้างตารางขนาด 1 นิ้ว มันก็ทำไม่ได้ พ่อเป็นคนชอบทดลอง จะมีแพตเทิร์นประหลาดๆ ออกมาเสมอ

“เราไม่รู้ว่าเขาเป็นมาตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ หรือเปล่า แต่เท่าที่เราเห็นในปัจจุบัน พ่อไม่เคยปิดหูไม่เคยปิดตาในการทำความรู้จักวัสดุใหม่ๆ เขาจะเปิดใจยอมรับ เขาใจถึงมากในการขึ้นผ้าผืนใหม่จากเส้นด้ายที่เขาไม่รู้จักมาก่อน ยอมลงทุนย้อม เพื่อทดลองทำผ้าแบบใหม่ๆ พ่อเหมือนคนทำงานเป็น เขาจะดิ้นไปเรื่อยๆ พอถึงทางตันเขาจะไม่เป็นอะไร พ่อเก่งแหละ บางทีเรามองเห็นพ่อทำแล้วบังเอิญสวย พอบังเอิญสวยเรามองแล้วว่าผ้าขาวม้าสามารถทำแบบนั้นได้ เราเลยวางแผน ออกแบบสีและลายเพื่อเอาไปคุยกับคุณพ่อ จากนั้นก็จูงเส้นด้ายขึ้นมา ลองทอจริง แล้วค่อยแปรรูปเป็นสินค้า”

นอกจากคุณพ่อ แฟนหนุ่มของแอนก็เป็นมือวางอันดับหนึ่งในการออกแบบสีและลาย ส่วนแอนจะดูแลเรื่องเทรนด์และแฟชั่น ปีไหนสีส้มมา ก็เล่นสีส้ม แต่จะไม่ใช้สีสันเยอะจนกลบสีหลักของแบรนด์

  “สีและลายเราพยายามออกจากกรอบของผ้าขาวม้า ก่ำกึ่งระหว่างความคสาสสิกและความโมเดิร์น ส่วนการออกสีใหม่ไม่ตายตัว เราจะดูว่าชินกับสีนั้นหรือยัง แล้วสีไหนควรเก็บเป็นสีลายเซ็นของแบรนด์ สีที่เป็นลายเซ็นของแบรนด์มีเกือบ 10 สี อย่างสีและลายของตุ๊กตาหมีตัวใหญ่ พอคนเห็นก็รู้ทันทีว่าพาคาเมี่ยนแน่นอน เวลาเห็นสินค้าเราไปอยู่บนตัวใคร มันจะเหนือกว่าการสร้างแพตเทิร์นออกมาแล้วคนลอกแพตเทิร์นของเรา เพราะสีและลายเป็นสิ่งที่เขาลอกไม่ได้ เท่าที่ทำมายังไม่เคยเห็นใครเหมือนเป๊ะๆ

“เราว่าดีไซน์ลอกกันได้แต่สไตล์ลอกไม่ได้ เพราะมันเป็นตัวตนของแบรนด์” แอนย้ำ

รู้จักจนรู้ใจทำอะไรก็ง่าย

ผ้าขาวม้าทุกผืนของแบรนด์ Pakamian ผลิตจากโรงงานทอผ้าขาวม้าของครอบครัว เธอเลือกใช้เนื้อผ้าเดียวกับผ้าขาวม้าเชียงใหม่มาทำผ้าพันคอ เพราะเนื้อผ้าเนียนนุ่มมีน้ำหนักจากฝ้ายเส้นใหญ่ ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นจะใช้ผ้าขาวม้าเนื้อเดียวกับผ้าขาวม้าบ้านไร่ ผ้าบาง ระบายอากาศดี เหมาะกับอากาศร้อน“จริงๆ ผ้าขาวม้าก็มีข้อเสียเหมือนกัน อย่างซองใส่บัตรพร้อมสายคล้อง เวลาทำเราต้องใช้กาว ถ้าช่างดึงไม่ตึงเบี้ยวแน่นอน ยิ่งเป็นลายตารางยิ่งนำสายตา เราเลยเลือกทำเป็นแนวทะแยงแทน ออกมาก็ยังน่ารักอยู่ เราว่าการทำงานกับผ้าขาวม้ามันสนุก เหมือนเราคุยกับคนรู้จัก เพราะเห็นกันมาตั้งแต่เด็ก

“การแก้ปัญหามันเลยง่าย พอเรารู้จักเขา เขาก็คุยกับเราดี ถ้าเราไม่รู้จักเขา เขาก็จะทะเลาะกับเราตลอดเวลา ถ้าถามว่าเคยทะเลาะมั้ย ก็มี อย่างการเคลือบเราจะไม่ค่อยทำ ถ้าเราไม่รู้จักสินค้าของเรา ไม่รู้จักวัสดุของเรา เอาเขาไปเคลือบ กลายเป็นเพิ่มข้อด้อยให้ผลิตภัณฑ์แทน”

ความภูมิใจจากรุ่นสู่รุ่น

“ย้อนกลับไป 8 ปีที่แล้ว พ่อไม่เข้าใจว่าเราทำอะไร เขารู้สึกว่าอยู่ดีๆ เราไปสั่งคนงานเขาให้ขึ้นแบบนั้น แล้วสั่งพ่อว่าอยากได้สีแบบนี้ มันยุ่งยาก พ่อรำคาญ เขาไม่เข้าใจ แต่พอเราทำมาจนถึงทุกวันนี้พ่อภูมิใจ เขาก็สนับสนุนเรามาตลอด” ลูกสาวโรงงานทอผ้าขาวม้าเล่า ก่อนจะเสริมด้วยความภูมิใจว่า

“เราคิดว่าพาคาเมี่ยนเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างหนึ่งที่ทำให้ผ้าขาวม้ากลับมามีชีวิตอีกครั้ง เราบอกไม่ได้ว่าคนรู้จักผ้าขาวม้าเพราะเรา แต่เรารู้สึกว่า 30 คนที่ชอบผ้าขาวม้า น่าจะมีสัก 5 คนขึ้นไปที่รู้จักพาคาเมี่ยน เราว่าแนวโน้มของผ้าขาวม้าดีขึ้นนะ ถ้าจะวัดจากตัวเงินก็พอวัดได้ แต่เราไม่ได้วัดจากตรงนั้นอย่างเดียว เราวัดจากความแข็งแรงของแบรนด์ สินค้าเรามีคุณภาพมากขึ้น ฐานเสียงเราเพิ่มขึ้น คนเห็นคุณค่าของผ้าขาวม้ามากขึ้น คนไม่มองว่าผ้าข้าวม้าเป็นผ้าราคาถูก

“เราได้ยินมาตลอดว่าผ้าขาวม้าราคาถูก เคยขายของแล้วลูกค้าขอลดราคา เราก็บอกว่าลดไม่ได้

เขาก็พูดกลับมาประมาณว่า ทำไมลดไม่ได้ เป็นใครมาจากไหนเชียว แค่ผ้าขาวม้าธรรมดาเอง หรือบางทีของเราไปตั้งผิดที่ผิดทาง คนเห็นผิดคน คุณค่าก็ต่างกันแล้ว คนไม่รู้หรอกว่ากว่าจะเป็นหมอนต้องย้อมเท่าไหร่ ต้นทุนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ การทอสูญเสียไปเท่าไหร่ เขาไม่เข้าใจ เขาไม่เห็นคุณค่า

“ผ้าขาวม้าเป็นสิ่งที่ชูความเป็นไทยได้ เราถึงทำแบรนด์ขึ้นมา เรารู้สึกว่าการทำงานมา 8 ปีกว่ามันไม่สูญหาย คุ้มนะ โรงงานทอผ้าขาวม้าของพ่อก็ยังอยู่ได้ โรงงานของคนอื่นก็ยังอยู่ได้”
แอนเล่าด้วยแววตาเปี่ยมความสุข เธอเป็นเพียงคลื่นลูกเล็กในมหาสมุทรกว้างใหญ่ ที่ยังคงกระทบฝั่งและกระทบใจคนไทยผู้หลงรักผ้าขาวม้าเสมอมา

โรงงานทอผ้าขาวม้ายิ่งเจริญ

ย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน โรงงานทอผ้าขาวม้ายิ่งเจริญ จังหวัดราชบุรี ก่อตั้งโดยอากงของ แอน-ณัฐวรรณ โกมลกิตติพงศ์ สมัยนั้นยังทอผ้าขาวม้าด้วยมือ พอความต้องการมากขึ้นอากงเลยเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร 4 กระสวย เป็นเครื่องจักรสำหรับทอผ้าขาวม้าโดยเฉพาะ เพราะเครื่องจักรจะเย็บริมผ้าขาวม้าโดยอัติโนมัติ ภายหลังส่งต่อกิจการสู่รุ่นลูก โรงงานขยายใหญ่ขึ้น เพิ่มจักรเป็น 300 ตัว เพราะจำนวนการผลิตมากขึ้น และแบ่งประเภทการทอผ้าขาวม้าตามภาคและสภาพภูมิอากาศ

ผ้าขาวม้าแต่ละภาคจะต่างกันตามสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม เช่น ภาคเหนือและภาคอีสานอากาศหนาว จะทอด้วยฝ้ายเส้นใหญ่ เนื้อผ้าจะหนาและแน่น สีจะอ่อนเพราะฝ้ายเส้นใหญ่ย้อมสีติดยาก ภาคกลาง อากาศร้อนชื้น เหมาะกับผ้าขาวม้าบ้านไร่ ระบายอากาศดี สีสันสดใส ส่วนภาคใต้จะทอเป็นโสร่ง เน้นสีโทนเข้มและทึม เช่น สีดำ สีแดงเข้ม สีน้ำเงินเข้ม

จนกระทั่ง พ.ศ. 2554 ยุคฟองสบู่แตก โรงงานทอผ้าขาวม้าในจังหวัดราชบุรีหายไปเยอะมาก ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10 โรงงาน แต่โรงงานทอผ้าขาวม้ายิ่งเจริญกลับผ่านวิกฤตนั้นมาได้อย่างสง่างามด้วยความกล้าได้กล้าเสียของคุณพ่อ โดยการนำเส้นด้ายค้างสต็อกที่ซื้อจากโรงงานในราคาถูกลง เอามาทอและขายในราคาเดิม หรือการทดลองจับเส้นด้ายสีต่างๆ มาผสมกันโดยไม่ยึดตามแพตเทิร์นเดิม

“คุณพ่อและน้องชายยังคงดูแลกิจการโรงงานทอผ้าขาวม้า ส่วนเราเป็นการต่อยอดออกมา เรามีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้ให้ผ้าขาวม้าไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา ด้วยการทำสินค้าใหม่ๆ กระตุ้นความต้องการของตลาด ทางโรงงานก็จะผลิต เหมือนเราโฆษณาให้เขาอีกทีหนึ่ง เพื่อกิจการจะดำเนินต่อไปได้”

 

Facebook Pakamian Thailand

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล