24 กันยายน 2020
16 K

ช่วงบ่ายวันศุกร์นั้นมีเม็ดฝนหยดพรำลงไม่ขาดสาย อันเป็นอิทธิพลของพายุ ฉันพาตัวเองมาถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสนามไชย หมุดหมายคือการมาเดินเที่ยวย่านปากคลองตลาดกับกลุ่มสถาปนิกที่พลิกตัวเองมาทำโปรเจกต์อีเวนต์ที่พวกเขาเชื่อว่า น่าจะทำให้ย่านเก่าที่เคยคราคร่ำไปด้วยแม่ค้า รถเข็น เข่งสาน กลิ่นชื้นของดิน และดอกไม้ พลิกกลายเป็นพื้นที่ ‘เปิด’ ที่จะต้อนรับผู้คนใหม่ๆ เข้ามา โดยหวังใจว่าบุคลิกที่แปลกไปของพื้นที่แห่งนี้ที่ถูกสื่อสารผ่านกิจกรรมของพวกเขาจะสะกิดใจให้ใครต่อใครสงสัยถึงพลังที่ซ่อนอยู่หลังแผงดอกไม้ อีกทั้งยังแฝงไปด้วยความพยายามจะเชื่อมเมือง มนุษย์ ตลาด และดอกไม้ให้ใกล้กันกว่าที่เคย

ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง
ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง

หน่อไม้-สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน นักออกแบบหนุ่มเจ้าของร้านคาเฟ่ดอกทานตะวันที่อยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าไม่เกินระยะเดิน 5 นาที เปิดประตูไม้สีเขียวมินต์ปนเทาออกรับฉันอย่างเป็นมิตร ฉันเห็นผ่านบานกระจกตั้งแต่ยังไม่ย่างเข้ามาในร้านแล้วว่า หน่อไม้นั่งอยู่กับ หน่อง-ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ หรือที่เขาเรียกติดปากว่าอาจารย์หน่อง เพราะเป็นอาจารย์ที่เคยคุ้นกันตั้งแต่สมัยตัวเขายังเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ทั้งคู่คือผู้ดำริริเริ่มโปรเจกต์ ‘ปากคลองฯ Strike Back’ ที่มาดหมายอยากใช้กิจกรรมออนไลน์ในโลกเสมือน ชวนให้ผู้คนกลับมาเยี่ยมเยือนตลาดดอกไม้ในโลกความจริง สถานที่ที่หลายต่อหลายคนเข้าใจผิดว่าเลือนหายไปแล้วหลังเกิดการจัดระเบียบโดยรัฐเมื่อหลายปีก่อน

“ต้องรอพี่นุ้ยก่อนไหมคะ” ฉันถาม เพราะรู้ว่า นุ้ย-ศศมน รัตนาลังการ อีกหนึ่งกำลังสำคัญของโปรเจกต์นี้ยังมาไม่ถึง “นั่งคุยกันก่อนก็ได้ เดี๋ยวนุ้ยเขาตามมา” หน่องตอบฉันยิ้มๆ ขณะที่หน่อไม้ยื่นแผนที่กระดาษสีสันสะดุดตามาให้พร้อมบอกฉันว่า “นี่เป็นแผนที่ที่จะพาเที่ยวชมปากคลองฯ Strike Back ได้ทั้งโปรเจกต์”

ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง

ตาของฉันจับจ้องแผนที่พิมพ์ด้วยสีสะท้อนแสงอย่างใคร่รู้ แผนที่นี้จะพาฉันไปได้แน่หนอ… หน่องคงจับความสงสัยของฉันได้เลยเริ่มอธิบาย

“โปรเจกต์นี้มันเริ่มมาจากเราได้คุยกับพี่อ้อยในช่วง COVID-19 พี่อ้อยเป็นเหมือนตัวแทนแม่ค้าหัวก้าวหน้าของปากคลองตลาดที่สนิทชิดเชื้อและขอความคิดเห็นเขามาตั้งแต่ตอนทำ TEDxBangkok ปี 2018 พี่อ้อยเล่าว่า บางคนคิดว่าปากคลองตลาดไม่มีอยู่แล้วหลังจากที่โดนจัดระเบียบไป เคยมีฝรั่งมาถามพี่อ้อย ว่าตลาดดอกไม้อยู่ไหน ทั้งที่เขายืนอยู่ที่ปากคลองตลาดแล้วแท้ๆ หลังจากนั้นก็มาเจอช่วง COVID-19 อีก เราจึงบอกกับพี่อ้อยว่า อยากทำอะไรบางอย่างให้ปากคลองตลาดกลับมามีชีวิต”

เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงชื่อ Strike Back ฉันคิด กำลังสู้กับอะไรหลายอย่างเลยสินะ ชาวปากคลองฯ

ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง
ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง

“พี่อ้อยให้โจทย์มาว่า จะทำอะไรให้คนมาเดินก็ได้ แต่อยากให้ภาพลักษณ์ของปากคลองและแม่ค้าดูสมาร์ท เปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากขึ้น เลยออกแบบโปรเจกต์นี้ด้วยโจทย์ที่ว่านั้น

“ปากคลองฯ Strike Back มีกิจกรรมทั้งหมดสี่กิจกรรม ที่จะชวนเธอออกจากโลกออนไลน์มาเดินปากคลองกัน” หน่องเริ่มต้นไล่เรียง “แรกสุด คือ ‘แบบทดสอบออนไลน์’ ว่าเธอมีบุคลิกเป็นดอกไม้ประเภทไหน

“พอรู้แล้วว่าเธอเป็นดอกไม้อะไร เราก็มีลายแทงให้ไปซื้อดอกไม้ประจำตัวของเธอจากร้านต่างๆ ในปากคลองตลาดด้วย อยากได้ดอกอะไร ปากคลองมีให้ครบ ถ้าไม่สะดวกเดินทางมาซื้อดอกไม้เอง จะเข้าไปสั่งที่ flowerhub.space ก็ได้ เป็นเว็บไซต์ที่ลิงก์ให้เข้าไปคุยกับแม่ค้าตัวจริงเสียงจริง สั่งดอกไม้ได้โดยตรงไม่เสียค่านายหน้า

“ใครที่ซื้อดอกไม้ ไม่ว่าจะมาซื้อเองหรือสั่งออนไลน์ มีรางวัลให้ด้วยนะ” หน่องเผยถึงกิจกรรมต่อไป “นั่นคือ กิจกรรมที่สอง ‘ถ่ายภาพตัวเองคู่กับดอกไม้ที่ซื้อ’ ส่งมาในเพจ Human of Flower Market แล้วจะมีแอดมิน ซึ่งก็คือฉันเอง (หัวเราะ) ส่งของรางวัลคือฟิลเตอร์มงกุฎดอกไม้ไปให้โหลด มาถ่ายเซลฟี่กันเก๋ๆ”

ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง
ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง

ชี้ชวนกันขนาดนี้แล้ว จะไม่เล่น ไม่ซื้อ ก็ใจแข็งเกินไปกระมัง ฉันแอบรู้สึกในใจ

“แต่ถ้าพอมีเวลา ก็อยากจะชวนมาซื้อเองให้ถึงที่ มีกิจกรรมที่สามและสี่ไว้รอรับ” หน่อไม้รับช่วงต่อ “กิจกรรมที่สามของโปรเจกต์นี้ คือ ‘การตามหาดอกไม้ในโลกเสมือน’ ที่ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เข้ามาช่วย แค่ไปตามจุดที่ระบุไว้ในแผนที่ทั้งหมดสิบจุด แล้วใช้มือถือสแกนแผ่นป้าย QR Code ที่ติดไว้ที่นั่น ก็จะได้เจอกับโลกของดอกไม้ที่ซ่อนอยู่”

“จะมารับแผนที่ที่ Sunflower Cafe นี้เลยก็ได้ ถ้าผมอยู่ก็จะอธิบายเส้นทางให้ฟัง แต่คนที่เล่นควิซออนไลน์ก็โหลดแผนที่นี้ได้เช่นกัน เป็นการลดปริมาณ Waste ในโปรเจกต์ไปด้วยในตัว” หน่อไม้เล่าถึงความบรรจงคิด

ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง

ฉันตาลุกวาวและเซ้าซี้ให้คู่สนทนาทั้งสองเล่าต่ออีกนิด ว่าไอเดียปลูกดอกไม้ในจินตนาการนี้ได้แต่ใดมา

“แนวคิดแรกสุด คืออยากไปปลูกดอกไม้บนทางเท้าจริงๆ เพื่อสื่อสารว่าพื้นที่ตรงนี้เคยมีคนขายดอกไม้อยู่ คนเหล่านั้นคือ Sense of Space ที่หายไปหลังจากปากคลองฯ ถูกจัดระเบียบ อีกนัยหนึ่งเราก็อยากสร้างประสบการณ์ในพื้นที่จริง แต่การทำอะไรบนพื้นที่เชิงกายภาพที่ปากคลองตลาดมันซับซ้อน ต้องขออนุญาตหลายฝ่าย ทางออกก็เลยเป็นดิจิทัล คือใช้ AR เข้ามาช่วย” หน่องอธิบาย พลางพเยิดหน้าไปให้หน่อไม้รับช่วงต่อ

“ผมกับทีมในสตูดิโออีกสามคนช่วยกันหาทางแก้ที่พอจะทำได้ ปากคลองฯ เป็นพื้นที่ที่มีการจราจรแน่นขนัดแทบตลอดเวลา ดังนั้น โจทย์ในการเลือกจุดเล่นกิจกรรม AR ก็คือต้องมีทั้งจุดที่เดินง่าย จุดที่ลึกลับเพื่อพาคนเข้าไปเห็นมุมแปลกใหม่ของปากคลองฯ และอยากให้มีอยู่ริมถนน เพื่อสร้างชีวิตชีวาให้กับทางเดินริมถนนปากคลองตลาด ที่สำคัญคือต้องเป็นพื้นที่เจ้าของที่เขาเข้าใจและอนุญาตให้เราติดตั้งป้าย QR Code

“เราพยายามทำโปรเจกต์ที่จะส่งผลกระทบต่อคนพื้นที่น้อยที่สุด และไม่สร้างความคาดหวังผิดๆ กับเขา ถ้ามันออกมาดี เขาจะเห็นเอง” ระหว่างที่กำลังฟังหน่อไม้เล่าเพลินๆ เสียงประตูเปิดเอี๊ยดอ๊าดก็เรียกร้องความสนใจให้ฉันหันไปมอง เป็นนุ้ยนั่นเองที่เดินเข้ามา

นุ้ย ผู้มีบทบาทหลักเป็นช่างภาพที่สร้างสรรค์งานสตรีทอาร์ตในกิจกรรมที่ 4 ของโปรเจกต์ ตามหา ‘ภาพถ่ายมนุษย์ปากคลองตลาด’ ซึ่งเป็นสตรีทอาร์ตขนาดใหญ่ 3 – 5 เมตรที่จะนำไปติดตั้งในจุดต่างๆ ของปากคลอง 

ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง
ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง

“ขอส่งภาพไปโรงพิมพ์ประเดี๋ยวนะ” นุ้ยพูดพลางวางของที่หอบหิ้วมา ก่อนจะนั่งลงข้างฉันและกางแล็ปท็อปออกเพื่อเตรียมจะทำงานต่อ “วันนี้ต้องไฟนอลแล้ว เดี๋ยวพิมพ์ไม่ทัน” เธอเล่ายิ้มๆ

“นุ้ยน่าจะเป็นคนที่ใกล้ชิดกับพี่ๆ แม่ค้าที่สุดแล้วเพราะต้องไปขอเขาถ่ายภาพ” หน่องส่งบทให้ นุ้ยเงยหน้าขึ้นมาจากจอก่อนจะตอบด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ “ยังไม่ค่อยรู้เท่าไหร่เลย ไปขอเขานัดเขาถ่ายภาพหลายคนก็จริง แต่ได้มาตามนัดแค่คนเดียว พวกพี่เขายุ่งมาก บางคนถ้าหยุดให้ถ่ายภาพนี่อาจถึงขั้นไปส่งของไม่ทัน

“เราเลยต้องอิมโพรไวซ์หน้างาน เจอใครก็ถ่าย คนที่เราถ่ายก็เป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ คนเข็นดอกไม้ คนขายที่อยู่หน้าร้าน เอาเขามา Bold ให้ใหญ่ขึ้น” นุ้ยเล่าต่อไป “หลังถ่ายเสร็จก็มาทำคอลลาจเพิ่มให้ดูสดใส ตอนที่เราไดคัทงานได้เห็นรายละเอียด เช่น ถุงสาลี่ที่พี่รถเข็นแขวน รองเท้าที่มนุษย์รถเข็นนิยมใส่ พี่บางคนเอาถุงพลาสติกยัดในรองเท้าบูต เราก็ไดคัทไปคิดไปว่าเขาทำเพื่ออะไร ซึ่งรายละเอียดแบบนี้บางที่เราก็แอบไฮไลต์สีไว้ด้วย

“คนที่เข็นรถอยู่ในปากคลองฯ ยังมีชนชาติอื่นๆ อย่างลาว เขมร เราก็ถ่ายด้วย เพราะเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของปากคลองฯ เหมือนกัน เจอพี่คนหนึ่งยิ้มหวาน สดใสมาก ไม่ถ่ายไม่ได้ (ยิ้ม)

“สุดท้ายออกมาทั้งหมดแปดจุด จะทำแค่ที่เดียว ผนังเดียวก็ได้ แต่ไหนๆ ก็ถ่ายเขาแล้ว พรินต์ออกมาหน่อยเขาก็น่าจะดีใจ ส่วนมากพี่เขาทำงานอยู่แถวจุดที่จัดแสดงภาพนั่นแหละ ไปเดินดูภาพก็อาจจะได้เจอ” ฟังเสียงที่นุ้ยเล่าก็รู้แล้วว่าอินกับงานขนาดไหน ว่าแล้วนุ้ยก็หันหน้าจอมาทางพวกเราที่เหลือในวงสนทนาเพื่อโชว์ผลงาน

ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง
ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง

“เห็นแล้วชอบนะ” หน่องว่า สีหน้าแววตาเป็นประกาย ก่อนจะหันมาทางฉันแล้วเล่าให้ฟังต่อว่า “เธอรู้ไหมทำไมต้องสีสันสดใสขนาดนี้ ใครอาจจะบ่นว่าเราโลกสวยอีกก็ได้ แต่นี่คืออีกโจทย์หนึ่งจากทางแม่ค้าปากคลองตลาดเลย”

“บางทีเทสต์ของเราจะชอบความเรียล ดูเยินๆ เพราะมองว่ามันดูเท่ แต่คนพื้นที่เขาไม่ได้อยากได้อย่างนั้น อยากให้ดูสดใส เขาไม่อยากให้ภาพเขาดูจน ไม่มีการศึกษา เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาดีลกับเงินเป็นหลักแสนต่อวัน ไม่ได้ไก่กาเลย” หน่องชี้แจง

ฉันพยักหน้ารับอย่างเห็นด้วย ฟังทั้งหมดนี่แล้วก็แทบอยากจะขอตัวออกไปเดินตามรอยในปากคลองฯ เองคนเดียวเสียเดี๋ยวนั้น เพราะโปรเจกต์นี้กำลังชวนฉันมาทำความรู้จักกับปากคลองตลาดในแบบที่ไม่ตรงกับภาพในจินตนาการ 

“มีกิจกรรมเยอะขนาดนี้ ตอนคิดตอนทำยากไหมคะ” ฉันถามต่อเพื่อรอเวลาให้นุ้ยได้จัดการธุระของเธอให้เสร็จก่อนจะกวนให้เธอออกไปเป็นไกด์นำเที่ยว

“สำหรับผม ความยากคือการเกลี่ยให้เป็นกิจกรรมที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้” หน่อไม้ตอบ “พวกเราเป็นกลุ่มนักออกแบบก็จริง แต่อะไรที่มันอาร์ตเกินไป หลายคนอาจจะเข้าไม่ถึง การทำให้กิจกรรมทั้งหมดมีเลเวลที่พอดี และตอบโจทย์โปรเจกต์คือความท้าทายชิ้นใหญ่”

“ทั้งหมดทั้งมวล พวกเราอยากให้คนกลับมาเดินปากคลองตลาดกันนั่นแหละ” หน่องขยายความคำว่าโจทย์ของโปรเจกต์ “กลับมาซื้อดอกไม้ ดอกเดียวก็ได้ แล้วก็อยากให้ระยะห่างระหว่างคนทั่วไปกับแม่ค้าและปากคลองตลาดมันแคบลง การจะได้ดอกไม้สักดอกมันสนุกและไม่ได้ยากอย่างที่คิด แม่ค้าปากคลองเขาเปลี่ยนไปเยอะแล้ว หลายคนอาจจะติดภาพเขาดุ ถ้ามาถามราคาแล้วไม่ซื้อจะโดนว่า แต่เขามีการปรับตัว เปิดขึ้นเยอะมาก พร้อมจะรับอะไรใหม่ๆ เพราะ COVID-19 เข้ามาท้าทายเขาด้วย การปรับตัวคือทางเดียวที่จะอยู่รอด”

ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง
ปากคลองฯ Strike Back ชวนคนกลับมาเดินปากคลองตลาด ชมโปรเจกต์ดอกไม้ AR ในตลาดดอกไม้จริง

“ผมมองปากคลองตลาดว่าเป็นย่านที่มีศักยภาพจะเติบโตไปเป็นที่ที่น่าสนใจได้ไม่ต่างจากซอยนานาหรืออารี ที่นี่มีครบพร้อมทุกอย่าง ทั้งวิถีชีวิตเก่าแก่ที่น่าหลงใหล ชุมชนที่เข้มแข็ง คนกลุ่มใหม่ที่ค่อยๆ เข้ามาสร้างความน่าสนใจ โปรเจกต์นี้เลยไม่ได้กำลังจะบอกว่า ปากคลองตลาดต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่นี่คือคำเชิญชวนให้เข้ามารู้จักพื้นที่นี้ด้วยตาของคุณเอง” หน่อไม้กล่าวปิดท้าย ก่อนจะชี้ชวนออกไปดูสถานที่จริงด้วยกัน

“ไม่ค่ะ ไม่อยากรอแล้วค่ะ” ฉันคว้ากระเป๋าผ้าแคนวาสขึ้นสะพายบนหลัง เมื่อเล็งเห็นว่านุ้ยส่งงานให้โรงพิมพ์เสร็จเรียบร้อย พร้อมกับแอคท่ากางแผนที่ที่หน่อไม้ยื่นให้มาก่อนหน้านี้ออกดู

ฉันก็อยากจะแบ่งแผนที่และภาพที่ถ่ายมาทั้งหมดให้คุณดูอยู่หรอก… แต่คิดอีกที ชวนให้คุณมารับแผนที่นี้และมาดูชีวิตของชาวปากคลองด้วยตาตัวเองดีกว่า ให้บทสนทนานี้เป็นแค่อินโทรก็น่าจะเพียงพอ

ขอตัวก่อนนะ ไกด์ทัวร์ปากคลองตลาดทั้งสามของฉันออกไปยืนกางร่มรออยู่แล้ว

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กฎบัตรแห่งชาติและกฎบัตรรัตนโกสินทร์

ไปเดินชมผลงานโปรเจกต์ปากคลองฯ Strike Back ได้ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน – 11 ตุลาคม 2563
การเดินทางที่แนะนำ : ออกจาก MRT สนามชัย เดินไปรับแผนที่ได้ที่ร้าน Sunflower Cafe หรือหากนำรถไป จอดได้ที่ลานจอดรถตลาดยอดพิมาน

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล