เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน คุณอาจจะเคยได้ยินเรื่องศิลปินไทยที่ตระเวนวาดภาพคนไร้บ้านในมหานครนิวยอร์ก ผลงานของเขาโดดเด่นทั้งในด้านสไตล์งานที่เป็นเอกลักษณ์ และไอเดียตั้งต้นที่อยากช่วยคนไร้บ้านให้ได้รับการจดจำ 

ชายคนนั้นคือ ป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล บัณฑิตจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ย้ายไปใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาเพราะอยากเห็นโลกกว้าง และเชื่อว่านั่นจะทำให้งานศิลปะของเขามีความหมายมากยิ่งขึ้น

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

ชีวิตในสหรัฐฯ ของป๊อกไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดไว้ตั้งแต่แรก การแสดงงานครั้งแรกในนิวยอร์กทำให้เขาหยุดวาดภาพไปพักใหญ่ เขาลาออกจากการเรียนปริญญาโทกลางคัน ต้องทำงานในร้านอาหารพร้อมสอนพิเศษวิชาศิลปะเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่าย และก็คงเหมือนศิลปินคนอื่นๆ ที่ใช้เวลาหลายปีเพื่อตามหาความหมายของศิลปะในรูปแบบของตัวเอง

คำตอบครั้งแรกมาพร้อมกับเหตุการณ์วันหนึ่งในซานฟรานซิสโก ป๊อกเจอคนไร้บ้านถูกทำร้าย เขาตัดสินใจเดินผ่านไปเพราะกลัวเป็นอันตรายต่อตัวเอง แต่คืนนั้นเขากลับนอนไม่หลับ วนเวียนอยู่กับคำถามว่าคนไร้บ้านคนนั้นจะเป็นอย่างไร และตั้งใจกับตัวเองว่าจะช่วยคนเหล่านี้ในแบบที่ตัวเองทำได้และทำได้ดี จึงเกิดเป็น Hope โปรเจกต์วาดภาพคนไร้บ้านขึ้น

ป๊อกตระเวนวาดภาพ Homeless ทั่วซานฟรานซิสโกและนิวยอร์ก โดยแบกอุปกรณ์ไปตามจุดสำคัญๆ อย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน ไทม์สแควร์ บรุกลิน เมื่อวาดภาพเสร็จก็ยกให้คนไร้บ้านคนนั้นโดยไม่สนใจว่าเขาจะเอาไปทำอะไรต่อ 

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาโดนจับเป็นสิบๆ ครั้งจากการนำเฟรมขนาดใหญ่ไปวางในพื้นที่สาธารณะ แต่นั่นก็ทำให้คนที่เดินผ่านหยุดดูและเริ่มสังเกตเห็นคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ทั่วเมืองมากขึ้น เกิดเป็นบทสนทนาพูดคุยจนกลายเป็นความเข้าใจซึ่งกันและกัน 

หลายครั้งคนเดินถนนเหล่านี้ก็ลงมือช่วยวาดภาพเล็กๆ น้อยๆ ฝากไว้บนผลงานของป๊อก มีครั้งหนึ่งคนไร้บ้านที่เขาวาดภาพให้ได้งานที่บริษัทชื่อดังจากโปรเจกต์นี้ และได้แสดงงานที่ New Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยบนเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ก

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

นั่นคือจุดเริ่มต้นของศิลปินที่มีสตูดิโอเป็นท้องถนน มีอาจารย์เป็นคนที่เจอ และอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของมุมมองที่เขามีต่อศิลปะ ศิลปะในวันนี้สำหรับป๊อกไม่ใช่ภาพวาดไร้ที่ติที่แขวนอยู่ในแกลเลอรี่เหมือนที่เคยคิดสมัยเพิ่งเรียนจบอีกต่อไป ศิลปะของเขาคือวิธีการคิดที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนอื่น เขากลับมาประเทศไทยถาวรเมื่อปีก่อน พร้อมกับกำลังทำโปรเจกต์ใหม่ที่เรือนจำกลางราชบุรี

และนี่คือบทสัมภาษณ์มุมมองชีวิตของเขาในฐานะศิลปิน หรือแม้กระทั่งคนคนหนึ่ง

ความชอบในศิลปะเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่

เราชอบดูการ์ตูน ดราก้อนบอล แล้ววาดภาพตาม วาดพิคโกโร่ ซุนหงอคง ก็เลยขอตังค์แม่ไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนสอนศิลปะดินสอสี น่าจะอายุประมาณเก้าขวบสิบขวบ พอไปเรียนก็เริ่มชอบมากขึ้น เริ่มอยากเขียนหุ่นนิ่ง เริ่มอยากเขียนแลนด์สเคป อายุสิบสี่ก็เลยไปเรียนเพื่อติวเข้าช่างศิลป์ฯ 

ตอนนั้นถ้าไม่ได้ช่างศิลป์ฯ เราต้องเรียนต่อมอปลายสายสามัญที่โรงเรียนเดิม ซึ่งใครจะต่อมอสี่ต้องไปลงชื่อที่ห้องทะเบียน เราไม่ไปลงเลย เพราะไม่เรียนอยู่แล้ว อาจารย์ก็แนะนำให้ไปลงไว้ก่อนเผื่อสอบช่างศิลป์ฯ ไม่ติด แต่เราไม่เอา เราอยากเรียนที่โน่นอย่างเดียว ถ้าสอบไม่ติดก็จะสอบใหม่ปีหน้า

การเรียนที่ช่างศิลป์ฯ เปิดโลกคุณแค่ไหน

ตอนแรกจะไปเรียนเพื่อวาดภาพอย่างเดียว วาดการ์ตูน แต่จริงๆ มันมีทั้งปั้น มีภาพพิมพ์ เริ่มแกะ Wood Cut แกะไม้ เริ่มเขียนลายไทย พวกหนุมาน ลายกนก ช่างศิลป์ฯ เปิดให้เราเห็นว่าศิลปะไม่ได้มีแค่การ์ตูน มันมีอย่างอื่นอีก แต่สิ่งที่สนใจที่สุดก็ยังเป็นการวาดภาพ เพราะรู้สึกว่าถนัดมากที่สุด

ตอนเรียนงานปั้นได้เกรด C ประจำ มันเป็นปริมาตร เป็นสามมิติ เรามองภาพปริมาตรไม่ออก เห็นแต่สองมิติ พอทำ Wood Cut ขูดออกไปทีเดียวบางทีมันเลยเส้น คุมมือไม่ได้ อย่างแกะเป็นภาพไก่ ก็ตีโค้งไม่ได้เพราะมือต้องนิ่งมากๆ เลยไม่ชอบ แต่เพ้นติ้งถ้าวาดแล้วไม่ชอบก็แค่เอาสีลบทิ้ง เขียนใหม่ได้ 

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

ยุคนั้นถ้าอยากเป็นศิลปินก็ต้องเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร

ใช่ เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว พอเข้าช่างศิลป์ฯ ได้เขาบอกว่าต้องเข้าศิลปากรต่อ ก็เริ่มติวเพื่อสอบเข้าศิลปากรดู เขาสอนเขียนทหาร จะมีหุ่นทหารมายืนใส่แค่กางเกงตัวเดียว เราก็เขียนทุกวันๆ เขียนแค่ทหารอย่างเดียว ไม่เขียนอย่างอื่น ตอนจะเข้ามหาลัยฯ ก็เหมือนตอนจะเข้าช่างศิลป์ ถ้าไม่ติดก็จะไม่เรียนเหมือนกัน จะสอบใหม่ ตอนยื่นคะแนนก็ยื่นที่ศิลปากรที่เดียว 

20 ปีก่อน การเรียนศิลปะน่าจะไม่ได้รับความนิยมเท่าวันนี้

ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าเรียนศิลปะแล้วจะไปเป็นอะไร ที่บ้านบอกว่าอยากเรียนอะไรก็เรียนไป อาจเป็นเพราะเราลูกชายคนโตด้วยมั้ง เรามีเจ้อยู่คนหนึ่ง ลูกชายอยากทำอะไรก็ทำ อยากได้อะไรก็ให้ เป็นสไตล์บ้านคนจีน 

แต่พอดีไปเจองานนิทรรศการหนึ่งของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จัดแสดงที่ชั้นหนึ่งของธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ แกเอางานไปแสดงประมาณสามสิบกว่าชิ้น ชิ้นหนึ่งราคาล้านกว่าบาท มูลค่าสูงมาก แล้วขายหมดเกลี้ยงทุกชิ้น เลยคิดกับตัวเองว่า ถ้าเราเป็นศิลปินที่อยู่ Top 10 ของประเทศไทย มันก็น่าจะอยู่ได้ในมุมมองของคนยุคนั้น คงไม่ลำบาก

 ซึ่งวิธีคิดนั้นก็ยังคิดมาถึงตอนนี้ เวลาทำอะไรก็ทำให้มันสุดทางไปเลย ไม่อยากทำหลายๆ อย่างเรียนศิลปะด้วย ทำกับข้าวด้วย เล่นดนตรีด้วย เออ ตอนที่เรียนศิลปากรเราเคยตั้งวงดนตรีด้วยนะ

เล่นตำแหน่งอะไร

เราเล่นเบส เพื่อนอีกสองคนเล่นกลองกับเป็นนักร้อง อยู่ๆ ก็คิดว่าตั้งวงดีกว่า ตอนนั้นเล่น Green Day เป็นช่วง American Idiot ห้องซ้อมอยู่แถวท่าช้างฝั่งตรงข้ามวัดระฆัง เราก็นั่งเรือข้ามไป ไปอยู่เจ็ดวัน จนวันที่เจ็ดมองหน้ากันสามคน เฮ้ย เรามาทำอะไรกันอยู่วะเนี่ย กลับไปวาดภาพดีกว่าไหม ก็เลยตัดสินใจยุบวงทิ้ง (หัวเราะ)

สภาพแวดล้อมในศิลปากรเปลี่ยนมุมมองของคุณต่อวงการศิลปะไหม

ตอนเรียนศิลปากรเรามีความคิดแบบหนึ่ง พอไปอยู่อเมริกาความคิดถึงเปลี่ยนไป สมัยเรียนเราติดอีโก้ คิดว่าเราเจ๋ง ยุคนั้นมันเป็นยุคของศิลปากร รู้สึกว่าเราเข้าที่นี่ได้ เราจบจากที่นี่ได้ ยังไงเราก็ต้องมีงานทำ ต้องมีคนมาซื้องานเราเรื่อยๆ ต้องมีแกลเลอรี่มาชวนเราไปแสดงงาน 

แต่พอจบมามันไม่มีไง กลายเป็นเราต้องไปรับจ้างทำพร็อปตามห้างฯ เป็นเหมือนคนทำฉาก คนทำกำแพงให้เขา เราต้องไปของานเขา ไปง้อเขา แล้วรายได้ต่ำมาก ต่ำกว่าช่างที่มาทาสีอีกนะ เพราะเขาไม่จำเป็นต้องให้เราทำก็ได้ เขาให้ช่างทำง่ายกว่า

เราทำอย่างนี้อยู่ปีหนึ่งได้แล้วก็เริ่มคิด นี่มาทำอะไรอยู่วะเนี่ย ไหนที่เราเรียนมาจะเป็นศิลปิน อาจารย์เฉลิมชัยขายภาพได้เป็นล้าน ศิลปินเมืองนอกอย่างแวน โก๊ะ ขายทีได้เป็นร้อยๆ ล้าน แล้วเรามานั่งรับจ๊อบบางทีได้สองพันบาท

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

เปอร์เซ็นต์นักศึกษาในแต่ละรุ่นที่ได้เป็นศิลปินคือเท่าไหร่

ปีหนึ่งได้เป็นศิลปินรุ่นละคนสองคนแค่นั้นเอง น้อยมาก มันเป็นอาชีพที่ไม่ต้องมีก็ได้ในเมืองไทย เพราะไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เมืองไทยเราปากท้องต้องมาก่อน ศิลปะมันกินไม่ได้ มันได้แค่สำหรับคนที่เขารวยและเหลือแล้ว เขาถึงจะซื้อภาพมาแขวนบ้าน 

ความคิดเราก็เปลี่ยนอีก เราเรียนศิลปะมาห้าปีแต่ได้แค่นี้ เลยอยากจะทำอย่างอื่น อยากไปชุบตัว อยากไปอยู่เมืองนอก ตอนนั้นมีรุ่นพี่ที่จ้างงานเราเป็นครีเอทีฟ เป็นกราฟิก เขาจบมาจากลอนดอน จบมาจากปารีส แล้ววิธีคิดของเขากว้างกว่าของเรา 

กว้างกว่ายังไง

เวลาเราพูด เราพูดได้แค่เรื่องเทคนิคอย่างเดียว แต่เวลาเขาพูดมันจะมีไอเดียมาด้วย เหมือนเวลาเราดูโฆษณาดีๆ สักอันหนึ่ง มันขายไอเดียหมดเลย เรายังมองไม่ถึง มองไม่ออก เลยรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมคนคนนี้วิธีคิดเขากว้าง เขาคงเห็นอะไรมาเยอะแน่ เลยอยากไปบ้าง

ตอนแรกคิดไว้ว่าจะไปออสเตรเลีย แต่เปลี่ยนใจไปนิวยอร์กตอนหลังเพราะเพลง Empire State of Mind แค่นั้นเลย อยากไปดูบันไดแดง อยากไปเดินสะพานบรุกลิน รู้สึกว่าถ้าไปทั้งทีก็ไปเมืองใหญ่ไปเลยดีกว่า 

เมืองแรกที่ไปคือนิวยอร์ก อยู่สองปีครึ่ง แล้วย้ายไปซานฟรานฯ ปีหนึ่ง ส่วนระหว่างนั้นท่องเที่ยวตลอดเลย ไปดูดีซีเดือนหนึ่ง ไปบอสตันเดือนหนึ่ง ไปฟิลาเดลเฟียเดือนหนึ่ง แล้วก็กลับมาอยู่นิวยอร์กอีกห้าปี เป็นทั้งหมดเก้าปีที่อยู่อเมริกา เริ่มจากเรียนภาษาก่อน ซึ่งสนุกที่สุดแล้วเพราะได้เจอคนหลากหลาย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย 

แล้วได้ทำงานศิลปะบ้างไหม

ช่วงสามสี่เดือนแรกยังวาดภาพอยู่ เขามีกลุ่ม Thai Artists In New York (TANY) เราได้ไปแสดงงานกับเขา หลังจากนั้นอีกเป็นปีก็ไม่ได้เขียนภาพอีกเลย เพราะตอนแสดงงานเราพบว่าตัวเองยังไม่เข้าใจว่างานศิลปะคืออะไร เราพยายามยัดเยียดว่าเราเป็นคนไทย เราเลยเขียนหนุมาน แต่เราไม่เข้าใจว่าแก่นของความเป็นไทยคืออะไร 

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

เราเข้าใจแค่เปลือกว่าหนุมานน่าจะเหมาะกับที่บรุกลิน แต่ปรากฏไม่ค่อยมีคนสนใจงานเราเลย เพราะพอเราไม่เข้าใจ เราก็ถ่ายทอดอธิบายออกมาไม่ได้ 

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

แปลว่านิทรรศการแรกในชีวิตศิลปินของ ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล คืองานหนุมาน

ใช่ๆ สวนทางมากเลย แล้วเราไม่เคยเขียนหนุมานมาก่อนเลยนะ เพิ่งมาเขียนตอนนั้น คิดว่าฝรั่งยังไม่เคยเห็น แต่ครั้งหนึ่งเราได้คุยกับฝรั่งในงาน เราถามว่ารู้สึกยังไงกับงานเรา เขาตอบว่า เขาไม่ได้อยากเห็นหนุมานที่เขาเห็นมาแล้วห้าหกสิบปี เขาเห็นตามอินเทอร์เน็ต เขาเห็นตอนมาเที่ยวประเทศไทย 

แต่เขาอยากรู้ว่าความเป็นไทยของเราในวันนี้ ในปี 2011 คืออะไร แต่เราตีไม่ออก เราก็เลยหยุดวาดภาพไปเลย พยายามจะหาคำตอบให้ได้ ไปดูงาน Abstract ดูงาน Conceptual Art ตามแกลเลอรี่ ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เราอยากเห็นให้เยอะๆ ก่อน แล้วค่อยลงมือทำ

คุณเลือกเรียนต่อปริญญาโท สาขาเพ้นติ้ง ที่ซานฟรานซิสโกเพื่อหาคำตอบนี้ด้วยหรือเปล่า

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่เรียนอยู่ปีหนึ่งแล้วก็ลาออกมา เพราะรู้สึกว่ามันเรียนเหมือนไม่ได้เรียน แล้วเราก็ไม่ได้อยากเป็นศิลปินแบบนั้น อารมณ์เหมือนตอนที่เราเรียนอยู่ศิลปากรปีห้า มีห้องเปล่าให้ อยู่กันประมาณยี่สิบสองคน เก้าคนเป็นอเมริกัน ที่เหลือเป็นต่างชาติ เขาก็ให้มาแชร์ไอเดียกัน แชร์วัฒนธรรมกัน 

จริงๆ เหมือนเรียนภาษาเลย แต่เปลี่ยนมาวาดภาพแทน เราตั้งคำถามว่าทำไมเรามาเรียนปริญญาโท เขาพยายามให้เราค้นหาตัวเอง แต่ในมุมมองเรา ถ้าจะค้นหาตัวเองจากการอยู่แต่ในห้อง มันอาจจะยังไม่พอ เพราะเรายังเห็นโลกไม่พอ โรงเรียนของเราน่าจะเป็นโลกใบนี้ 

สมมติว่า ทำไมคนนี้ถึงพูดแบบนี้ได้ เพราะเขาเดินทางมารอบโลก เขาตกตะกอนแล้ว เขาไปเจอยีราฟที่สูงที่สุดมา ไปเจอเสือชีตาห์ที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกมา ไปอยู่ค่ายตาลีบัน ไปอยู่อิรัก อิหร่านมาหมดแล้ว พอเขามาทำอะไรมันเลยง่าย แต่เรายังไม่เคยเห็นอะไรเลย แล้วเราต้องเข้าไปอยู่ในห้องนี้ 

คนจีน คนญี่ปุ่น คนเวียดนาม ในคลาสเขาจบโทมาแล้ว มีประสบการณ์มาแล้ว ส่วนเราแค่อยากไปเรียน จุดประสงค์มันเลยไม่เหมือนกัน 

เราไปเรียนเพราะอยากรู้ว่า จริงๆ แล้วงานศิลปะคืออะไร แต่เราไปฝากความหวังไว้กับมหาลัยฯ ว่ามหาลัยฯ ต้องตอบเราได้ว่าศิลปะคืออะไร ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ต้องเรียนก็ได้ ศิลปินที่ดีคือคนที่ไม่ต้องเรียนศิลปะเลย แต่สร้างงานที่ดีออกมาได้

แต่ถ้าไม่เคยเรียนจะสร้างงานที่ดีออกมาได้เหรอ

ตอนเรียนมีเพื่อนคนหนึ่งจบธุรกิจมา เราก็ถามอาจารย์ว่าทำไมถึงรับคนนี้เข้ามาเรียน เพราะนี่มันคือสาขา Fine Art แล้วเขาไม่มีประสบการณ์เลย อาจารย์บอกว่า สิ่งที่เขาส่งมาสมัครคือใบเสร็จ 365 ใบ สำหรับหนึ่งปีที่เขากินข้าว 

เราเลยเพิ่งเข้าใจว่านี่แหละงานศิลปะ เวลามาเรียน เขาเอาตู้เย็นมาตั้งเรียงสามตู้ ตู้หนึ่งเป็นของเขา อีกสองตู้ให้เพื่อนสองคนดูแล โดยตั้งโจทย์ว่า มีงบร้อยห้าสิบเหรียญฯ จะซื้ออะไรเอามาใส่ตู้นี้ก็ได้

เพื่อนคนแรกซื้อเบียร์ซื้อเหล้า ร้อยห้าสิบเหรียญฯ ก็ได้ไม่กี่ขวด อีกคนเป็นชีวจิตซื้อผักผลไม้ ส่วนเขาซื้อของทั่วไป 

สิ่งที่เขาทำมันน่าสนใจกว่าที่เรากำลังทำอีก เรายังนั่งเขียนสตรีทอาร์ต เขียนกราฟฟิตี้ โดยที่ไม่รู้ว่าเขียนไปทำไมด้วยซ้ำ ก็เลยเริ่มกลับมาถามตัวเองว่าเรียนไปทำไม เราจ่ายค่าเทอมทีละเป็นหมื่นๆ เหรียญฯ ไปทำไม 

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

ศิลปะของคุณเลยเปลี่ยนจากผลลัพธ์มาเป็นกระบวนการคิด

ใช่ มันอยู่ที่วิธีคิด คุณไม่จำเป็นต้องวาดภาพเลยก็ได้ เหมือนคุณเป็น Conductor คุณคุมวงดนตรีได้ทั้งวงเลย ทิศทางของวงอยู่ที่คุณควบคุมมัน เพลงจะออกมาดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่คุณมี คุณเล่นมากี่เวทีแล้ว คุณเห็นอะไรมาบ้างแล้ว

เคยคุยกันว่า โปรเจกต์คนไร้บ้านเกิดขึ้นตอนที่คุณเจอเหตุการณ์คนไร้บ้านถูกทำร้าย แล้วไม่ได้เข้าไปช่วย เลยตัดสินใจช่วยในแบบที่ตัวเองทำได้

อันนั้นเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ตอนหลังๆ โปรเจกต์คนไร้บ้านเดินทางไปไกลมาก เราไม่เคยคิดว่าจะได้ช่วยคนอื่น อยู่ที่อเมริกาเราเป็นคนชั้นสาม เราต่างหากที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ เราก็ไม่มีตังค์เหมือนกัน ลำบาก ต้องทำงานร้านอาหาร ต้องเขียนภาพคนไร้บ้านด้วย ต้องไปเรียนด้วย 

เราไม่คิดว่าวันหนึ่งภาพวาดของเราจะช่วยคนได้ เราแค่ชอบวาดภาพไปเรื่อยๆ กลับกลายเป็นว่าเราไม่ได้ช่วยเขา เขาต่างหากที่ช่วยเราให้เรามองเห็นว่าการทำงานศิลปะมันเป็นแบบนี้ มันสร้างเราขึ้นมาให้เป็นคนแบบนี้ 

เราว่ามันอยู่ที่การทำเยอะ ยิ่งทำเยอะมากๆ เหมือนกับว่าวันนี้เราออกไปวาดภาพ มีคนเดินมาเหยียบเพ้นติ้งเรา เรารู้สึกว่ามันสวยจังเลย เราเริ่มมองเห็น เริ่มปล่อยวาง เราไม่ยึดติดว่ามันจะต้องสวยไร้ที่ติ

ทำไมคนจะเหยียบไม่ได้ ก็เรามาใช้พื้นที่ข้างถนน มันคือพื้นที่ของเขา มีคนไม่ชอบงานเรา ไม่ยอมเอาไปด้วย เรากลับชอบมาก ตำรวจมาไล่จับ เฮ้ยยู มาวางเฟรมใหญ่ๆ ข้างถนนได้ไง มันเริ่มท้าทาย เริ่มสนุกกับการทำงานศิลปะแล้ว ไม่น่าเบื่อ ทำให้เราอยากวาดภาพ 

วันรุ่งขึ้นก็ลุ้นอีกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ไปเจอคุณป้าคุยกันเรื่องรักครั้งแรก ก็เขียนภาพนั้น เจอหมาเขียนหมา ไปเจอแมวก็เขียนแมวได้ เปลี่ยนไปตามสิ่งที่เราเจอด้วย

ที่บอกว่าเริ่มปล่อยวาง แปลว่าเคยหวงงานมาก่อนเหรอ

มีครั้งหนึ่ง เราเขียนภาพคนบ้า แล้วเราคอนโทรลให้เขามาชอบงานเราไม่ได้ อยู่ดีๆ เขาก็ฉีกงานเราทิ้งแล้วโวยวาย แต่กลายเป็นว่าเราชอบเพ้นติ้งชิ้นนั้นมากที่สุด มันปลดล็อกเราทันทีเลยว่า คุณจะยึดติดกับสิ่งนี้ไม่ได้ มีคนชอบพูดว่า ภาพวาดถ้าดังจะแพง ถ้าไม่ดังจะไม่แพง เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เราตั้งใจเขียนภาพวาดทุกอันหมดแล้ว มันมีคุณค่าของมันแล้วโดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมูลค่าว่าแพงไม่แพง 

ถ้าสังเกตงานเรา​ โดยเฉพาะเซ็ตยาวๆ จะมีรอยเท้าคนเดินผ่าน มีเด็กมาวาดไดโนเสาร์ มีหัวใจช่วงวาเลนไทน์ ช่วง Thanksgiving มีภาพไก่ หรือบางทีไปวาดแถวบรุกลิน ก็มีคนมาวาดสะพานบรุกลินให้ มันเป็นการบันทึกเหตุการณ์และสถานที่ให้เราไปด้วยในตัว 

คนไร้บ้านแต่ละที่ก็ต่างกัน เหมือนเราคุยกับคนเหนือและคนใต้ คนละวิถีชีวิตกัน แต่เราไม่ได้ตัดสินว่าอันไหนดีกว่ากัน มันมีบริบทที่แตกต่างกัน รู้ไหมว่าเรามาคิดแบบนี้ตอนที่โดนจับเยอะๆ น่าจะประมาณยี่สิบเอ็ดครั้ง 

21 ครั้งใน 5 ปี เฉลี่ยปีละ 4 ครั้งเลยนะ

เป็นเทศกิจบ้าง ตำรวจบ้าง มีขึ้นศาลสองครั้งเพราะไปพ่นกำแพงที่บรุกลิน แล้วตำรวจมาเร็วเหมือนในหนังเลย เขาดันเราเข้ากำแพงตอนเรากำลังพ่นคำว่า “พ่อมึงตาย” เพราะกำแพงตรงนั้นมันมีทั้งภาษารัสเซีย จีน อังกฤษ เยอรมัน แล้วเป็นคำหยาบๆ หมดเลย

มีรถตำรวจสีขาวดำที่มีกรงมารับ พอไปถึงสถานีตำรวจเขาก็ให้ถือป้ายวัดส่วนสูง สแกนหน้าสแกนตา จับขังตั้งแต่ห้าทุ่มถึงเจ็ดโมงเช้า ตอนนั้นมีคนเม็กซิกัน มีพี่ผิวสีอยู่สองคน เขาก็ถามว่าเราทำอะไรมา เราก็บอกว่าพ่นกำแพง เขาเลยบอกว่า อ้าว เป็นอาร์ติสต์นี่ ของไอปล้นร้านสะดวกซื้อมานะ มาอวดๆ

พอโดนแบบนี้บ่อยๆ ทำให้เราเรียนรู้ว่า ความแน่นอนมันคือสิ่งไม่แน่นอน ถ้าอันไหนเราอยู่กลางๆ ได้ ก็อยู่กลางๆ ดีกว่า

ช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกามีอำนาจมาก พอมาวิกฤตวันนี้อเมริกาโดนหนักสุดเลย ถ้าวันนี้เราขึ้นสูง วันหนึ่งเราอาจจะลงต่ำก็ได้ มันไม่มีใครใหญ่ตลอด เราเลยอยู่กลางๆ ปล่อยวางได้ก็ปล่อยวาง เรื่องชาวบ้านก็ไม่ค่อยอยากยุ่ง เราจะยุ่งแค่เรื่องเราเองว่าจะทำอะไรต่อไป เราต้องดีขึ้นกว่าเดิม 

และเราก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นศิลปินทั้งชีวิต วันหนึ่งอาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ การเป็นศิลปินมันคือการใช้ชีวิตในการทำงานศิลปะ ช่วงสามเดือนที่ผ่านมาที่ออกไปวาดภาพข้างนอกไม่ได้ เราก็หันมาทำเพจ สัมภาษณ์เพื่อนศิลปินที่ให้แรงบันดาลใจคนได้ วันหนึ่งอาจจะไปทำอาหารก็ได้นะ (หัวเราะ)

ชื่อของป๊อก ไพโรจน์ ถือว่าดังไหมในนิวยอร์กตอนนั้น

ไม่ได้ดังอะไรหรอก พอมีคนรู้จักบ้าง ซึ่งมันก็ช่วยให้เราทำอะไรได้ง่ายขึ้นจากวันแรกที่เริ่มทำ จน New Museum มาขอให้แสดงงานคนไร้บ้านที่ซานฟรานฯ แต่เราไม่มีเพราะให้เขาไปหมดแล้ว เขาก็เลยให้ไปอยู่ใน Shelter ยี่สิบเอ็ดวัน สามอาทิตย์ โดยที่เราปลอมเข้าไปเป็นเชฟ หั่นผัก ต้มข้าว ซึ่งเราไม่เคยต้มข้าวให้คนสองร้อยห้าสิบคนกินมาก่อน

ต้องต้มสามหม้อใหญ่สำหรับเจ็ดโมงเช้า เที่ยง ห้าโมงเย็น และเราต้องไม่ให้เขารู้ว่าเราเป็นศิลปิน อาทิตย์แรกไม่ได้วาดภาพเลย เป็นการนั่งคุยกับเขา มาจากไหน มาจากฟลอริดาเหรอ แล้วมาอยู่นี่ได้ไง

เจอคนจีนคนหนึ่งเป็นผู้หญิงอายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว เขาเก็บขวดขาย แต่ตอนกลางคืนเขาจะมานอนที่เชลเตอร์ และทุกหกโมงเช้าก็ต้องมาลงชื่อใหม่ ถ้าไม่มาคนอื่นก็จะเข้ามาแทน 

ครั้งนั้นวาดมาสักสามสิบภาพ ชิ้นเล็กๆ มีชิ้นใหญ่หน่อยสักหกภาพ วันเปิดงานนิทรรศการเราก็ชวนคนที่เป็นแบบไปทั้งหมด พอเขามาเห็น เขาก็ดีใจ

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

เจอแบบนี้แล้วตอบตัวเองได้หรือยังว่าศิลปะสำหรับคุณคืออะไร

ตอนที่วาดภาพคนไร้บ้านที่นิวยอร์กก็ไม่ได้คิดเรื่องนี้แล้ว สนุกอยู่ พอกลับมาบ้านปุ๊บจะคิดแล้วว่าพรุ่งนี้ไปย่านไหนดี เดอะบร็องซ์ ถ้าไปจะไปยังไง หนียังไง หนีทันไหม เพราะหลังจากหกโมงเย็นจะไม่มีคนกล้าเข้าไปย่านนี้แล้ว มันมืดๆ เงียบๆ มีคนผิวสียืนสูบบุหรี่เป็นกลุ่มๆ 

เราจะวางแผนแล้วว่า ถ้าไปต้องออกเจ็ดโมงเช้า ไปถึงแปดโมง เขียนตั้งแต่เก้าโมงจนถึงบ่ายสาม ช่วงสี่โมงค่อยกลับ คำตอบของคำถามนั้นเพิ่งได้มาคิดหลังจากกลับมาอยู่ไทยแล้วว่า สุดท้ายแล้วเราวิ่งหาอะไรอยู่ ซึ่งจริงๆ การได้ทำในสิ่งที่เรารักก็โอเคแล้ว 

ตอนนั้นเราไปเมืองนอกเพราะอยากแสดงงานที่แกลเลอรี่ในอเมริกา เราอยากไปรัฐโน่นไปรัฐนี่ ไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ มันทำไปหมดแล้ว ได้มาแล้วมันก็ไม่ตื่นเต้นอีกต่อไป เราเลยเลือกที่จะอยู่กับปัจจุบันดีกว่า พยายามมองแผนคร่าวๆ ไว้สิบปี ห้าปี หนึ่งปี แต่ไม่โฟกัสกับมันมาก เราจะโฟกัสแค่วันนี้ อย่างวันนี้เรามีนัดสัมภาษณ์กับ The Cloud ที่บ้าน เราก็จะอยู่บ้านเพื่อคุยกับ The Cloud ทั้งวัน จะไม่คิดว่าเย็นนี้จะไปไหนต่อ

ฟังดูปล่อยวางมากแล้วเมื่อเทียบกับเด็กม.ปลาย ที่ตั้งใจเป็นศิลปิน Top 10 ของเมืองไทยคนนั้น

สุดท้ายคนซื้องานเราเพราะชื่อ ยกตัวอย่างว่า หินสองก้อน หินเมืองไทยกับหินที่นาซ่าเพิ่งไปเอามาจากอวกาศ หินเหมือนกันแต่มูลค่าไม่เหมือนกัน หรืออย่างภาพที่เราวาดกับภาพที่ขายที่จตุจักร เหมือนกันเลยนะ เรามองอย่างนั้น ที่ขายที่จตุจักรไม่ใช่ไม่สวยนะ สวยเหมือนกัน แต่คนมาตีค่าให้ชิ้นของเราแพงกว่า เราอุปโลกน์กันขึ้นมาเอง

อย่างนี้ก็ไม่ต้องซื้องานป๊อก ไพโรจน์ แล้วสิ

ซื้อ ซื้อเถอะ (หัวเราะ) ถ้าให้เราแนะนำคือซื้องานนักศึกษา เพราะเป็นการช่วยให้เขามีเงินไปซื้ออุปกรณ์สี ให้เขาสร้างงานต่อได้ เด็กส่วนมากไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ ต้องขอพ่อแม่ แล้วอุปกรณ์มันแพง เวลามีคนมาขอซื้องาน เราจะบอกให้เขาไปซื้องานนักศึกษาก่อนแล้วค่อยมาซื้อของเรา

ตอนนี้คุณกลับมาอยู่ไทยถาวรแล้ว ทำไมถึงเลือกทำโปรเจกต์เรือนจำ

เรือนจำทั้งประเทศไทยมีทั้งหมดห้าสิบเรือนจำ เกือบทุกจังหวัดมีหมด เขาจะมีกลุ่มไลน์ที่ไว้รายงานสถานการณ์ต่างๆ ในเรือนจำ เช่น เจ็ดโมงเช้า นักโทษวิดพื้นไปเท่าไหร่ ต้องส่งยอดไปให้ส่วนกลางตรวจ คุณวิ่งรอบสนามบอลครบยี่สิบรอบหรือยัง ขัดฉากหรือยัง กินข้าวกี่โมง เหมือนเป็นทหารเลย

เราเข้าไปเจอแล้วรู้สึกว่ามันไม่ควรเป็นอย่างนี้ พี่เอาคนที่ฆ่าคนมาบังคับ มาอยู่ในกรง ตื่นเช้ามาวิ่ง เข้ากรง ตื่นเช้า วิ่ง เข้ากรง มันไม่ได้เป็นการบำบัดเขา มันไม่ช่วยให้เขาดีขึ้น เขาออกไปวันหนึ่งก็ฆ่าคนอยู่ดี คนที่ติดคุกเพราะฆ่าคนอยู่ในคุกแค่ยี่สิบสี่ปี เพราะมีการลดโทษ ยังไงเขาก็ได้ออกมา 

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

เราน่าจะมีวิธีอย่างอื่นที่มันดีกว่านี้ มันมีอันหนึ่งที่พอร์ตแลนด์ เขาไปเอาแมวที่ไม่มีคนเลี้ยงไปให้ที่คุมขังนักโทษ นักโทษตื่นมาหกโมงเช้าก็เลี้ยงแมว ลูบหัวแมว พาแมวไปฉี่ พาแมวไปอึ เย็นเข้าคุกก็แยกกัน ตื่นเช้ามาเขาก็ทำเหมือนเดิมอีก เราเอาหลักนี้มาใช้กับการวาดภาพของตัวเอง

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

ไอเดียของโปรเจกต์นี้คืออะไร

เราเริ่มจากคุกเก้าแดนที่จังหวัดราชบุรี กำแพงคุกน่าจะสูงเกือบๆ บ้านหลังข้างๆ ได้ ข้างบนเป็นสายไฟ กันคนปีน เป็นคุกแดนหนึ่ง แดนสอง แดนสาม แดนสี่ เรียงไปเรื่อยๆ เก้าแดน คนฆ่าคนตายพันคนอยู่ด้วยกัน 

นักโทษเล่าให้เราฟังว่า “ตอนพี่ฆ่าคน สมมติจะฆ่าคนนี้ พี่จะดูก่อนเดือนหนึ่ง ยังไม่ลงมือ เซอร์เวย์ก่อนว่า หกโมงเย็น คนนี้จะไปกินก๋วยเตี๋ยวร้านป้าคนนี้ กินมายี่สิบวันแล้ว แสดงว่าวันที่หนึ่งเดือนหน้า เขาจะต้องมากินอีก” ก็เลยขับสิบล้อมา ชนเลย 

ลองคิดดู แค่นี้หนีออกมาได้อยู่แล้ว เราเลยเอาการวาดภาพเข้าไปช่วยบำบัดจิตใจ แล้วรู้สึกว่าในเรือนจำควรมีพระ ก็เลยวาดไตรภูมิ เปลี่ยนคุกให้กลายเป็นวัด แล้วก็พยายามเอาเรื่องเล่าของคนในนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของภาพ 

อย่างมีคนหนึ่งเป็นคนใต้มาติดคุกที่ราชบุรี ปกติเลี้ยงเต่า แต่เขาไม่ได้เห็นเต่ามาสิบกว่าปีแล้ว เราก็เลยชวนวาดทะเลอันดามัน กลายเป็นว่าตอนนี้ทุกคนอยากอาสาสมัครมาวาดภาพกับเรา 

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

แต่เข้าไปตอนแรกยากมากๆ เราเข้าไปอยู่ในเรือนจำ คนฆ่าคนมา เขาจะมาฟังเราเหรอ มันยากเหมือนกันนะ มันต้องโน้มน้าว ต้องคุย แล้วเราไม่มีอะไรติดตัวเข้าไป จะเอาภาพที่เคยวาดไปให้เขาดูก็ไม่ได้ ข้างในก็ไม่มีกระดาษดินสอให้เราวาดโชว์ได้ มันไม่มีอะไรการันตีเลย 

แล้วการบำบัดจิตใจแบบที่คุณว่ามันช่วยได้จริงไหม

ตอนนี้มีนักโทษสองคนเพิ่งพ้นโทษ คนหนึ่งเพิ่งเปิดร้านสัก แล้วช่วงโควิดที่ผ่านมา เราชวนเขามาวาดภาพประมูลเงินบริจาคให้โรงพยาบาลศิริราช เขาก็ส่งมาให้ ตอนไปช่วยหมาเขาก็วาดมาให้ ซึ่งคนนี้ไม่เคยวาดภาพเลยนะ เขาเรียนกับเราข้างใน ใช้กำแพงคุกนี่แหละสอนเขา ไม่ต้องซื้อกระดาษ ซื้อสีกับพู่กันเข้าไปอย่างเดียว

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

ตอนนี้เข้าไปสิบกว่าครั้งแล้ว สองครั้งแรกเข้าไปสอนก่อน พี่วาดภาพอย่างนี้นะ ครั้งแรกให้วาดสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยมขึ้นมาก่อน ครั้งที่สองวาดโครงสร้างก่อน แล้วค่อยใส่รายละเอียดข้างใน ใส่ตา จมูก ปาก ครั้งที่สามถึงลงมือจริง

คนเรียนเก่งเร็วเพราะกำแพงมันใหญ่และยาว ฝึกแบบยากก่อนเลย แล้วมันเป็นโมเดลที่ดี เราบอกพี่ผู้คุมเรือนจำว่า พี่ไม่ส่งวิ่งเข้าไปในกลุ่มไลน์แล้ว พี่ไม่ต้องส่งทำกับข้าว ขัดฉาก พี่ส่งภาพกำแพงพวกนี้เข้าไป กำแพงที่หนึ่ง กำแพงที่สอง จนตอนนี้เรือนจำที่เชียงใหม่ ที่ระยอง เรือนจำบางขวางอยากให้เราไปทำ แต่เราคงไม่ทำแล้ว ที่ระยองก็คงให้น้องอาชีวะที่นั่นไปช่วยกันทำ

คุณลองเอาลูกบอลโยนไปสักร้อยลูกข้างในเรือนจำสิ เขาเดาะทั้งวันเลยเพราะไม่มีอะไรทำ ยังไงก็ต้องเดาะ เผลอๆ จะเก่งระดับนักกีฬาทีมชาติด้วยซ้ำไป นักกีฬาทีมชาติซ้อมเหนื่อยเขาก็พัก แต่นักโทษพักไม่ได้เพราะผู้คุมยืนดูอยู่ ตอนวาดกำแพงก็เหมือนกัน ไม่มีใครหยุด วาดไปเรื่อยๆ
เรือนจำราชบุรีที่เราไปมีนักโทษ 6,900 คน นี่แค่ที่เดียวนะ บางขวาง 9,600 คน ถ้าเราฝึกเขาให้ทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้น่าจะดี เผลอๆ ได้คนเก่งขึ้นมาอีกเยอะแยะ วันหนึ่งออกมาเขาอาจจะได้ทำอะไรแบบการเปิดร้านสักอีก

คนเหล่านี้สอนอะไรคุณบ้าง

เรารู้ทันทีเลยว่า วันหนึ่งเราอาจจะไปอยู่ในนั้น 

หมายความว่ายังไง

เพราะหลายคนบอกว่า พี่ก็ไม่รู้ พี่ไม่ได้ทำอะไร วันหนึ่งมีคนเอาถุงมาให้พี่ถือ แต่ในถุงนั้นมีสิบกิโลฯ หรืออย่างพี่ผู้หญิงคนหนึ่งก็บอกว่าเขาไม่รู้เรื่องเลย วันหนึ่งตำรวจบุกมาบ้าน ปรากฏแฟนเขาค้ายามาสิบกว่าปีแล้ว แต่เขาอยู่ในบ้านด้วยเลยถือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ความแน่นอนมันคือสิ่งที่ไม่แน่นอน ก็เลยทำวันนี้ให้ดีที่สุด

มีโปรเจกต์อื่นๆ ที่อยากทำอีกไหม

ถ้าโปรเจกต์เรือนจำเสร็จ เรามีแผนใหม่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีโรงพยาบาลศิริราชที่ทั้งตึกเป็นเด็กที่เป็นโรคมะเร็งระยะสี่ เด็กอายุไม่เกินสิบสี่ปี เข้าไปครั้งแรกได้เจอน้องๆ เข้าไปครั้งที่สองไม่เจอแล้ว เพราะคนที่อยู่ในตึกนี้มีเวลาแค่ สิบห้าวันถึงหนึ่งเดือน 

หลังจบเรือนจำเราเลยอยากทำโปรเจกต์นี้ต่อ ให้คนรู้เยอะๆ จะได้ระดมทุนได้มากกว่านี้ ไปคุยกับคุณหมอเขาบอกว่าไม่มีเงินซื้อยาคีโม แม้ซื้อมาก็อาจจะไม่หายอยู่ดี 

เราว่าจะเข้าไปทำละครเวทีเล็กๆ มีพร็อป มีมาสคอต เด็กๆ ใส่หัวจระเข้ เป็นสัตว์อื่นๆ เป็นซูเปอร์แมนมาสู้กัน เล่นกับเรา มาสู้ มาช่วยฮีโร่ เพราะเด็กไม่ควรอยู่บนเตียง เด็กไม่รู้อยู่แล้วว่าเขาจะตาย อย่างน้อยวันที่เราเข้าไป แม้เขาจะเหนื่อยจากอาการป่วยแค่ไหน แต่เขาลุกจากเตียงมาเล่นกับเรา

เราอยากปรับโรงพยาบาลให้มีบรรยากาศสนุกสนาน โรงพยาบาลปกติจะเป็นสีขาว ตึกสร้างยังไงมาวันนี้ก็อยู่เหมือนเดิม มันเป็นสถานที่ที่ไม่ค่อยน่าอยู่ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แค่กับตัวเด็ก เป็นเรื่องของพ่อแม่เขาด้วย เพราะพ่อแม่คือคนที่ต้องอยู่ต่อ

เราต้องหาวิธีการเยียวยาพ่อแม่ด้วย ซึ่งก็ไม่รู้จะทำได้ขนาดไหน เพราะมันเป็นเรื่องใหญ่ สุดท้ายอยากให้เกิดโมเดลเพื่อให้คนท้องที่ที่เรียนศิลปะ ดุริยางค์ การศึกษา ธุรกิจ เอาไปทำต่อ

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้
ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

ทุกวันนี้คุณนิยามว่าตัวเองเป็นอะไร

ถ้าให้นิยามนะ สิ่งที่เราชอบที่สุดคือท่องเที่ยว เราอยากเดินทางรอบโลก คงไม่เป็นศิลปินอะไร อยากเป็นนักท่องเที่ยวมากกว่า ระหว่างทางก็อาจจะมีโปรเจกต์บ้าง วาดคนไร้บ้านที่รัสเซีย หรือวาดสัตว์เลี้ยง แต่คงไม่ได้ออกมาบอกใครแล้ว

ถ้ามองตัวเองเป็นนักท่องเที่ยว ผลงานที่ออกมาจะเรียกว่าศิลปะได้หรือเปล่า

มันน่าจะเป็นไดอารี่ เราอิจฉาคนที่ได้เดินทางไปเรื่อยๆ อยู่บ้านก็ไม่ได้อยากคิดเรื่องนักโทษหรือน้องที่เป็นมะเร็ง เลยเสิร์ชหาว่ากระทิงที่สเปนเขาชนกันยังไง ดู Mr Jiro Chan บนยูทูป ที่อิตาลีมีร้านพิซซ่าอายุร้อยกว่าปี ก็จดไว้จำไว้ก่อน ถ้ามีโอกาสได้ไปก็จะไปกิน ในหัวมีแต่แพลนท่องเที่ยว แต่ก็ต้องหาตังค์ด้วยนะ จริงๆ ไอ้วาดภาพต้องวาดอยู่แล้ว อยู่ที่ไหนก็คงวาดภาพ ก่อนเราเจอกันก็นั่งวาดภาพใหม่อยู่

คุณไม่ได้มองว่าการทำงานศิลปะคือการแสดงออกความคิดความรู้สึกของศิลปินอีกต่อไปแล้ว

มันคือการไปทำงานกับชุมชน ทำเพื่อสังคมมากกว่า

ถ้าอย่างนั้นคุณค่าของงานอยู่ที่ไหน ในเมื่อผลงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่คุณด้วยซ้ำ

คุณค่ามันคือเรื่องเล่า คือประสบการณ์ แต่จริงๆ ผลงานที่อยู่กับเราก็เยอะนะ เพราะคนที่ไม่เอาก็เยอะเหมือนกัน ช่วงแรกๆ รู้สึกว่า กูตั้งใจวาดให้มึงนะเว้ย ตั้งห้าหกชั่วโมง จะไม่เอาหน่อยเหรอ ทั้งๆ ที่นั่งอยู่ด้วยกันข้างถนน นั่งคุยกันดีๆ เหมือนที่เราคุยกันนี่แหละ 

แต่หลายคนก็มีเหตุผล ของเขาเยอะอยู่แล้ว ดูข้างหลังฉันสิ คุณจะเอาขยะมาให้ฉันอีกทำไม หรือบางคนเขาเอาไปแต่เอาไปรองนั่ง เอาไปห่มกันหนาว ใช้ได้หลายฟังก์ชัน มันมีประโยชน์นะ 

เราเลยจะไม่ไปบอกเขาว่า ถ้ามันอยู่ในมิวเซียมหรือแกลเลอรี่มูลค่ามันจะสูงกว่านี้นะ สุดท้ายคุณค่ามันอยู่ที่ว่าคนที่ได้รับไปตีค่ายังไง

มีคนไร้บ้านคนหนึ่งเคยมาขอบคุณที่เราให้เพ้นติ้งเขา เพราะมีคนมาขอซื้อ เราถามว่าเขาขายเท่าไหร่ เขาบอกว่ายี่สิบเหรียญฯ เงินไม่เยอะแต่เขาได้ข้าวตั้งสองกล่อง ทำให้เขาอิ่มไปได้อีกวัน

หรืออย่างโปรเจกต์เรือนจำ การได้เห็นพี่ติพ้นโทษไปแล้วเปิดร้านสัก เราก็รู้สึกภูมิใจแล้ว เราอยากให้เขาเป็นตัวอย่างว่า เขาออกมามีวิชาชีพได้จริงๆ และคนในสังคมยอมรับจริงๆ 

อยากเดินทางไปอยู่ที่ไหนนานๆ อีกไหม

อยากไปช่วงสั้นๆ มากกว่า ปีนี้ตั้งใจจะไปหลายประเทศเลย จะไปรัสเซีย เบอร์ลิน โตเกียว อียิปต์ จะไปอยู่ที่ละเดือน ถ้าไปจะไปช่วงที่คนไม่ค่อยไปกัน อย่างรัสเซียจะไปช่วงมกราฯ กุมภาฯ อุณหภูมติดลบ 

เราอยากไปรู้ว่าถ้าหนาวสุดมันหนาวขนาดไหน หรืออียิปต์ก็คงไปช่วงเมษาที่สี่สิบ สี่สิบห้าองศาเซลเซียส จะต้องอยู่ยังไง ถ้าเราได้อยู่ในพื้นที่ที่โดนบีบนิดหนึ่ง มันจะเรียกความสามารถบางอย่างของเราออกมา เราจะต้องคิดว่าทำยังไงเราถึงจะอยู่ได้ มันจะแอคทีฟกว่าเราไปเที่ยวสบายๆ

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

แปลว่างานของคุณจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะสตูดิโอของคุณเปลี่ยนตลอด

เรารู้สึกว่าแต่ละที่คือสตูดิโอของเรา มากกว่าที่เราจะอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมนั่งเขียนภาพ เราไม่ค่อยเชื่อว่าจะหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในห้องสี่เหลี่ยมได้เสมอ ถ้าวันนั้นเราไม่ได้ออกไปข้างถนน ก็คงไม่ได้เจอคนไร้บ้านถูกทำร้าย 

ตอนไปเขียนคนไร้บ้านที่ปารีสก็ไม่เหมือนกับที่นิวยอร์กนะ เขาไม่พูดภาษาอังกฤษเลย เลยต้องใช้ภาษามือ พอเป็นภาษามือปุ๊บ เรากลับรู้สึกว่าสนุกกว่าเดิม ท้าทายกว่าเดิม You. You. I drawing painting. 

เอาภาพให้เขาดู คนก็คนละวัฒนธรรมกันเลย ได้เจอคนอเมริกันที่เป็นคนไร้บ้านที่ปารีสด้วย เขาเป็นแบกแพ็กเกอร์ ไปถึงวันแรกโดนขโมย พาสปอร์ตก็หายไปด้วย เงินก็ไม่มี ส่งเรื่องไปกงสุลอเมริกาในปารีสแล้ว ต้องรอสิบห้าวัน

ตอนเราไปก็โดนขโมยนะ พอโดนโขมยแล้วชอบปารีสเลย เพราะตอนแรกไปมันก็สวยในแบบที่เรารู้อยู่แล้ว ไม่มีอะไรนิ่งๆ ถ่ายมุมไหนก็สวย จะถ่ายยังไงก็สวย 

พอไปลูฟร์มันก็มีงานซ้ำๆ ที่เราเคยเห็นที่ MET มาแล้วเหมือนกัน มีแค่โมนาลิซ่า แล้ววันนั้นไปนั่งทานข้าวที่แมคโดนัลด์ ของอยู่ใต้โต๊ะ พอกินเสร็จ ไอ้เหี้ย กระเป๋าหายว่ะ เลยขอดูกล้องวงจรปิด โจรเอาเท้าเขี่ยออกมาแล้วอีกคนเดินมาหยิบ เราไม่รู้ตัวเลยต้องไปดูกล้อง ทึ่งมาก คนนั่งอยู่ห้าคนไม่มีใครรู้เลย แล้วคนที่สามเดินปิดหลังไม่ให้เราเห็น พอโดนขโมยของปุ๊บ เชี่ยแม่งดีมากเลยประเทศนี้ มันทำให้เราจำ

ภาพจำศิลปะของคุณคือภาพ Portrait โปรเจกต์คนไร้บ้าน แต่หลังจากนั้นงานของคุณมีหลายรูปแบบมาก ทั้งเพ้นติ้ง วาดกำแพง ทำพร็อป ลายเซ็นจริงๆ ของป๊อก ไพโรจน์ ในวันนี้คืออะไร

มันน่าจะเป็น (คิดนาน) ทุกวันนี้มีมูลนิธิติดต่อมาทุกวันเลย ช่วงโควิดสองสามเดือนที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับเจ็ดมูลนิธิศิริราช รามาฯ เชียงใหม่ น้องหมาแมว กลุ่มศิลป์เพื่อสังคม ลายเซ็นจะกลายเป็นคนทำบุญหรือเปล่าไม่รู้นะ (หัวเราะ)

โควิดมันไม่เหมือนน้ำท่วมอีสาน คนทั้งประเทศไทยรวมตัวกันไปช่วยอีสาน แต่โควิดมันโดนทั้งโลก เราก็โดนด้วย แล้วเราก็ไม่ได้มีพลังขนาดนั้นที่จะต้องบริจาคทุกอย่าง ทุกครั้งที่ทำมันมีค่าใช้จ่าย ไม่มีใครมาจ่ายให้เรา พอทำเยอะคนก็จะบอกว่าสร้างภาพ

ทุกวันนี้เราไม่ค่อยกล้า อันนี้จะเอาภาพไปช่วยได้ไหม หรืออันนี้ไม่ต้องวาด ถ้าให้ตอบคงเป็นผลลัพธ์และไอเดียมากกว่าจะเป็นผลงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นเพ้นติ้ง แต่เป็นอะไรก็ได้ที่ผ่านกระบวนการคิดมาก่อนว่ามันจะเป็นอะไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

แล้วจัดการกับความคิดเห็นเชิงลบของคนอื่นยังไง

หลังๆ นี้ไม่ค่อยฟังแล้ว เวลาสื่อเอาเรื่องของเราไปลงหลายๆ อันก็มีโดนด่า เรื่องว่าไปสร้างภาพนี่แหละ ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน พยายามไม่อ่าน ไม่ทำก็โดนด่านะ

ช่วงโควิดแรกๆ มีคนว่าว่า ไหนศิลปินนักบุญไม่เห็นออกมาช่วยเลย เราก็เลยระวังตัวมากๆ ศิริราชติดต่อมาถึงตัดสินใจทำ กลับมาเมืองไทยแล้วเป็นแบบนี้ ตอนอยู่เมืองนอกไม่มีเลย หน้ามือกับหลังมือ 

ตอนที่เราทำโปรเจกต์ New Museum แล้วบริจาคให้มูลนิธิทั้งหมด มีสื่อไทยเอาเรื่องเรามาลง คนก็มาคอมเมนต์ด้านล่างว่า “ทำไมไม่เอาเงินมาช่วยคนไทย” พอมีคนเปิดก็ตามมาอีกเป็นร้อยเลย จนน้องที่สัมภาษณ์ต้องลบบางอันที่แรงๆ ออกให้ 

พอกับมากรุงเทพฯ ก็ทำงานกับ BACC บริจาคให้มูลนิธิ มีหลักฐานทุกอย่าง ค่าเฟรมเราออกเองด้วย โดนอีก บอกกลับมาทำสร้างภาพ เราก็ทำเท่าที่เราทำไหว อย่างโปรเจกต์เรือนจำก็เกินกำลังตัวเอง ค่าใช้จ่ายเยอะมาก มีค่าที่พักที่อยู่มาแปดเดือน มีค่าพู่กันที่ซื้อเข้าไปน่าจะห้าพันด้ามได้แล้ว ค่ากินค่าอะไรเราก็ออกของเราเอง ถ้าเราไม่แคร์ไม่สนใจ เราเอาเงินไปเที่ยวดีกว่า

ถ้าต้องตามไปเอาใจทุกคนก็คงไม่ไหว

ไม่ทำก็โดนอยู่ดี ถ้างั้นเราทำของเรา ทำเท่าที่เราสบายใจกับมันก็พอแล้ว

ป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินที่ใช้งานศิลปะช่วยคน ผู้มีสตูดิโอเป็นท้องถนนและโลกใบนี้

ติดตามผลงานของ ป๊อก ไพโรจน์ ได้ที่ Facebook : Pairoj Pichetmetakul

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล