‘จะบอกว่าเท่ หรือน่ารักดี ?’

นี่คือความรู้สึกแรกตอนเห็นเสื้อแจ็กเก็ตลายตารางสีสดใส แต่แฝงไปด้วยความเรียบเก๋ พอรู้ว่าเสื้อตัวนี้เป็นหนึ่งในคอลเลกชันที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง PAINKILLER Atelier แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายสไตล์มินิมอล กับ Good Goods แบรนด์ที่ตั้งใจจะพัฒนาสินค้าจากชุมชน แถมเสื้อผ้าแต่ละตัวมียังเพียงชิ้นเดียวในโลก ยิ่งทำให้เราใจเต้นรัว ตาเป็นประกาย

The Cloud พบกับ อร-สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ PAINKILLER Atelier และอาร์ตไดเรกเตอร์ของแบรนด์ Good Goods เพื่อพูดคุยเรื่องราวเบื้องหลังการ Collaboration ในครั้งนี้ 

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล
PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

โจทย์หลักของคอลเลกชันนี้ คือการนำผ้าขาวม้าทอมือจากชุมชนบ้านกุดจิก จังหวัดสกลนคร ที่แต่ละชิ้นลวดลายสีสันไม่เหมือนกัน มาออกแบบให้ดูทันสมัยและดีต่อใจคนใส่ ทั้งหนุ่มๆ ที่อยากจะเติมความอ่อนโยน หรือสาวๆ ที่อยากจะเสริมลุคสุดเท่

นอกจากสีสันและลวดลายที่ดูสนุกแล้ว เรื่องราวเบื้องหลังของคอลเลกชันนี้สนุกยิ่งกว่า เพราะการทำงานของอรทั้งในฐานะเจ้าของแบรนด์และอาร์ตไดเรกเตอร์ ได้ผ่านการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งแต่ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ไทย ไปจนถึงชุมชนต่างๆ ที่ห่างไกลจากเมืองกรุงเชียวล่ะ

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

คือเรื่องมหัศจรรย์ที่เราได้พบกัน

PAINKILLER Atelier เริ่มต้นขึ้นเมื่อหญิงสาวอายุ 17 เก็บแพสชันและความฝันใส่กระเป๋า ออกเดินทางสู่ปารีสเพื่อไปเรียนแฟชั่นที่ ESMOD โรงเรียนแฟชั่นแห่งแรกของโลก ด้วยความหวังอยากจะฝึกงานกับดีไซเนอร์ระดับโลกอย่าง อีฟว์ แซ็ง โลร็อง (Yves Saint Laurent) 

“เราชอบอีฟว์ แซ็ง โลร็อง มาก อยากฝึกงานกับเขา เพราะเขาเป็นผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงใส่กางเกง แล้วทำสูทให้ผู้หญิงเป็นคนแรกๆ เราเชื่อว่าทุกคนเท่ากัน เราเลยชอบเสื้อผ้าที่บิดให้ผู้ชายเป็นผู้หญิง ผู้หญิงเป็นผู้ชายได้”

อรเล่าถึงความตั้งใจแรกเมื่อเดินทางไปเรียนที่ฝรั่งเศส แต่เมื่อเรียนไปจนถึงปี 2 กลับต้องใจสลายคล้ายกับตอนศิลปินเกาหลีประกาศแต่งงาน เพราะอีฟว์ แซ็ง โลร็อง ประกาศลาออกจากแบรนด์ของตัวเอง 

“วันนั้นเขามีแถลงข่าวการลาออกที่ปอมปิดูเซ็นเตอร์ (the Pompidou Centre) พร้อมจัดงานปาร์ตี้ แต่เราเป็นนักเรียน เข้าไปไม่ได้ เลยนั่งดื่มไปร้องไห้ไปอยู่หน้าปอมปิดูเซ็นเตอร์ พอเมาแล้วหกล้ม กลิ้งๆ ไปอยู่ตรง Atelier Brâncuși Studio ซึ่งเขาเป็นเหมือนตัวพ่อของวงการมินิมอลเลย ตอนนั้นเป็นช่วงกลางคืน ทุกอย่างมืดไปหมด พอเงยหน้าขึ้นมาเจอแสงกับรูปปั้น ก็คิดว่า นี่สินะ เราไม่ได้มาที่นี่เพื่ออีฟว์ แซ็ง โลร็อง แต่เรามาที่นี่เพื่อความมินิมอล ตอนนั้นก็ได้คำตอบ เรารู้สึกเหมือนเป็นพรจากสวรรค์ เรารู้สึกจริงๆ นะ ด้วยความเมาด้วยล่ะมั้งทุกอย่างมันดูเกินจริงไปหมดเลย (หัวเราะ)”

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น อรจึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะทำเสื้อผ้าผู้ชาย เพราะรู้สึกว่ารูปร่างของผู้ชายสอดรับกับสไตล์มินิมอลมากกว่าผู้หญิง ก่อนจะสานต่อออกมาเป็นทีสิส ที่ทำให้อรได้รับเลือกเป็นนักเรียนดีเด่นในรอบหลายปีของโรงเรียนแห่งนี้ และต่อยอดออกมาเป็นแบรนด์ PAINKILLER Atelier ในปัจจุบัน

Let’s kill this pain! 

ตอนเด็กๆ เรามักจะได้ยินสำนวน ‘ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า’ ทำให้รู้สึกว่าการเป็นผู้ชายจะต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำตลอดเวลา แต่อรกลับคิดว่าผู้ชายอ่อนโยนไม่ใช่เรื่องผิด แถมยังเป็นความเจ๋งที่กล้าแสดงความอ่อนโยนอีกต่างหาก 

“อยากให้คนใส่เป็น Modern Gentleman คือผู้ชายที่อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมทั้งเป็นยาแก้ปวดสำหรับผู้ชาย เหมือนกับเรารักษาเขา ไปตบไหล่เขาเบาๆ ว่าชีวิตไม่ต้องซีเรียสมากก็ได้ อ่อนโยน อ่อนไหวบ้างก็ได้ และอยากให้เขาหยิบ PAINKILLER Atelier ขึ้นมาใส่แล้วรู้สึกสบายใจว่าหล่อแน่” อรบอกกับเราเมื่อถามถึงที่มาของชื่อ PAINKILLER Atelier แบรนด์เสื้อผ้าที่ดูเรียบง่าย ละมุนและสดใสกว่าเสื้อผ้าผู้ชายทั่วไป 

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล
PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

“ตอนแรกเราตั้งใจให้กลุ่มลูกค้าเป็นผู้ชายสายครีเอทีฟ เพราะเขาน่าจะเปิดใจได้มากที่สุด แต่กลายเป็นว่าพอเปิดไปสักพัก คนที่มาซื้อเริ่มมีหลากหลายกว่าที่คิด อย่างคุณหมอที่ใส่ชุดกาวน์แล้วเหนื่อยมาก เสาร์อาทิตย์เขาอยากจะใส่อะไรสดใสร่าเริง ก็ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เรา กลายเป็นว่าเราเป็น PAINKILLER จริงๆ นะ เพราะใส่แล้วคลายเครียด มันทำให้เขารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแมนตลอดเวลา พอช่วงหลังๆ คนแต่งตัวเป็นทางการน้อยลง ก็เริ่มใส่ PAINKILLER ไปทำงาน เพราะรู้สึกว่าชีวิตรีแล็กซ์มากขึ้น”

แน่นอนว่าการเป็นผู้หญิงที่ทำเสื้อผ้าผู้ชายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างและผิวที่แตกต่างกัน หรือการเลือกสีและดีไซน์ให้ผู้ชายรู้สึกสบายใจที่จะใส่ ทำให้อรต้องเรียนรู้ในส่วนนี้เพิ่มเติม ขณะเดียวกันความท้าทายนี้กลับเป็นจุดแข็งของ PAINKILLER Atelier ด้วย

“เราทำสิ่งที่ผู้หญิงอยากเห็น สิ่งที่ผู้ชายใส่แล้วป๊อป เหมือนดอกไม้ที่ผีเสื้อต้องบินมาตอม เรารู้ว่าจะทำยังไงให้ผู้ชายดูอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ เข้มแข็งแต่ไม่ก้าวร้าว ตอนแรกเราไม่คิดว่าเป็นจุดแข็ง เราแค่มีมุมมองต่อผู้ชายแบบนี้ จนเราทำงานไปสักสามปี The Fader นิตยสารของนิวยอร์กติดต่อมาว่า เขาจะเลือกเราเป็น 1 ใน 10 Menswear Designers ที่เป็นผู้หญิงของโลก และบอกว่าการที่ผู้หญิงทำเสื้อผ้าผู้ชายเป็นสิ่งที่ยากมาก เราก็เพิ่งรู้ตอนนั้นว่านี่คือจุดแข็งของเรา และเป็นโอกาสตรงที่แบรนด์อื่นๆ ไม่กล้าทำ เพราะเขาอยากจะทำให้ผู้ชายเป็นผู้ชาย แต่แบรนด์เราทำให้ผู้ชายมีความละมุน ตอนแรกก็อาจะไม่กล้าซื้อ แต่ถ้าลองซื้อไปแล้ว เขาก็จะซื้อต่อไป เพราะเขาจะได้รับฟีดแบ็กจากผู้หญิง อย่างวันนี้พี่คิวต์จังเลยค่ะ อะไรแบบนี้ เพราะเรารู้ว่าผู้หญิงชอบผู้ชายแบบไหน”

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

แบรนด์ไทย คนไทยต้องได้ใช้

เชื่อไหมว่าช่วงแรกๆ PAINKILLER Atelier ฮิตในญี่ปุ่นมากกว่าไทยเสียอีก เพราะทางญี่ปุ่นได้มาติดต่อซื้อไปขายในช็อป 

“ตอนนั้นเขาบอกว่า PAINKILLER Atelier มีความสวยงามแบบที่ดูไม่ออกว่าเราเป็นชาติอะไร เพราะเราเรียนที่ฝรั่งเศส พอกลับมาอยู่เมืองไทยเราก็ใช้ผ้าไทยบ้าง เลยดูเป็นเอเชียด้วย แล้วก็มีความละมุนผสมอยู่” อรเล่าถึงเหตุผล

แม้การจำหน่ายที่ญี่ปุ่นจะไปได้สวย แต่ระยะหลังสาขาที่ญี่ปุ่นเริ่มขยับขยายและราคาแพงกว่าไทยถึง 4 เท่า ขณะที่ไทยมีเพียงสาขาเดียว อรจึงตัดสินใจยกเลิกการขายที่ญี่ปุ่นไป

“เราอยากเป็นแบรนด์ไทย ไม่ได้อยากเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น เราไม่ได้ไม่โอเคที่เขาขายแพง แต่เราไม่โอเคที่คนไทยไม่มีใส่ ตอนจบมาใหม่ๆ เคยมีสัมภาษณ์เหมือนเป็นคนเก่งของรุ่น เขาก็ขอว่า เราเป็นคนไทยที่เกิดอยู่ฝรั่งเศสได้ไหม เพราะว่าความเป็นคนไทยมันไม่ขาย ตอนนั้นเรารู้สึกไม่โอเคจริงๆ ไหนๆ ก็จะสร้างแบรนด์แล้ว เราอยากจะสร้างแบรนด์ไทยที่ทำให้ให้คนไทยรู้สึกภูมิใจไปกับมันจริงๆ แม้บางทีสไตล์จะคล้ายกัน แต่ไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว อย่างเรื่องความพอดีของหุ่น ผู้ชายญี่ปุ่นตัวเล็กกว่า แขนสั้นกว่า และอยากดูรีแลกซ์ เลยต้องการเสื้อผ้าที่หลวม ขณะที่ผู้ชายไทยอยากดูผอม อยากดูสูง พอใส่แบบเดียวกันก็อาจจะไม่พอดีได้”

สิ่งเหล่านี้ทำให้อรเลือกที่จะทำ PAINKILLER Atelier เพื่อจำหน่ายเฉพาะในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน

Good Goods : สินค้าที่ดีต่อใจทั้งคนซื้อและชุมชน

หลังจากทำ PAINKILLER Atelier มาได้พักใหญ่ อรได้เป็นที่ปรึกษาให้กับกระทรวงพาณิชย์เรื่องการทำธุรกิจ SMEs ซึ่งทำงานกับชาวบ้าน และด้วยความตั้งใจอยากจะทำอย่างต่อเนื่อง อรจึงตอบรับการทำหน้าที่อาร์ตไดเรกเตอร์ของแบรนด์ Good Goods หนึ่งในหน่วย CSV ของเซ็นทรัลกรุ๊ปที่ตั้งใจพัฒนาสินค้าท้องถิ่นและรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งอรมองเห็นจุดแข็งว่าเซ็นทรัลกรุ๊ปมีศักยภาพในการพัฒนาสินค้าท้องถิ่นครบวงจร ทั้งการประสานงาน การผลิตจากท้องถิ่น และพื้นที่สำหรับการขาย 

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล
PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

Good Goods เป็นคอนเซปต์สโตร์ (Concept Store) ที่พัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้ดูทันสมัย เข้าถึงง่าย และจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า โดยมีโจทย์ว่า “ทำยังไงให้ของที่ชาวบ้านทำ ไม่ดูน่าสงสาร” ซึ่งอรแก้โจทย์นี้โดยนำงานดีไซน์มาจับกับงานฝีมือ เพื่อให้คนซื้อเพราะดีไซน์ที่สวยและงานฝีมือแสนประณีต ไม่ใช่ซื้อเพราะอยากอุดหนุนงานฝีมือชาวบ้าน แต่สุดท้ายไม่ได้นำไปใช้จริงๆ 

หัวใจสำคัญไม่ใช่การออกแบบ แต่เป็นการแก้ปัญหา 

สิ่งที่ Good Goods ทำ ไม่ใช่แค่การพัฒนาโดยเข้าไปออกแบบสินค้าให้ใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชาวบ้าน แต่เป็นการสำรวจ ทำความเข้าใจปัญหา และให้ความรู้กับชาวบ้าน อย่างหมู่บ้านที่ทำผ้าฝ้ายในจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องสี แทนที่จะออกแบบและเลือกสีให้เลย อรกลับเลือกที่จะทำชาร์ตสีให้ชาวบ้านเก็บไว้ เพื่อจะได้สื่อสารถูกว่าสีที่ต้องการคือสีอะไร ซึ่งเรียกว่าเป็นการแก้ปัญหา มากกว่าการออกแบบให้สวยเพียงอย่างเดียว 

นอกจากนี้ อรยังให้ความรู้เรื่องธุรกิจกับคนชุมชน เพราะการทำขายในห้างฯ กับการทำขายในชุมชนย่อมแตกต่างกัน อรจึงต้องสื่อสารให้คนในชุมชนเข้าใจเรื่องนี้ด้วย 

“เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเขาว่าเปลี่ยนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก สิ่งที่เราเจอคือ Good Goods ขายในห้างสรรพสินค้า มีต้นทุนทำให้ราคาขายแพงกว่าชาวบ้านขายเอง เราต้องไปบอกให้เขารู้ว่า สิ่งที่เขาทำให้กับเรา เขาจะปรับไปขายเองได้ยาก เพราะ Good Goods มีอัตลักษณ์ของแบรนด์ ส่วนชาวบ้านก็มีอัตลักษณ์ของตัวเอง 

“และเราก็ต้องบอกเขาด้วยว่าเขามีจุดเด่นอะไรบ้าง เวลาทำแบรนด์ของตัวเอง ขายของตัวเอง ต้องขายอะไร คนเมืองซื้ออะไร ก็ต้องทำความเข้าใจกับเขาก่อน บางครั้งที่เขาคิดว่าทำออกมาแล้วมันสวย เห็นเราขายได้แล้วอยากจะทำขายบ้าง มันก็ไม่ได้ เพราะจริงๆ มันมีเงื่อนไขที่แตกต่าง ถ้าเขาไม่รู้เขาก็จะเสียแรงทำ สุดท้ายเขาก็อาจจะขายไม่ได้ และถ้าลูกค้าเราไปเห็นในราคาที่เขาขายเป็นราคาทุน ก็จะมีปัญหาอีก”

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

นี่เป็นวิธีการทำงานร่วมกับชุมชนที่ฟังแล้วเราก็อิ่มใจ เพราะทำให้เรารู้สึกว่าการทำงานของ Good Goods เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระหว่างชาวบ้านและ Good Goods มากกว่าการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว

PAINKILLER Atelier x Good Goods 

จากการเป็นนักแก้ปัญหาข้างต้น ทำให้อรในฐานะอาร์ตไดเรกเตอร์ของ Good Goods มองเห็นปัญหาหนึ่งที่คิดว่า PAINKILLER Atelier น่าจะช่วยได้ นั่นคือ ผ้าขาวม้าที่นำมาทอเป็นผ้าพันคอของชาวอีสาน ณ หมู่บ้านกุดจิก จังหวัดสกลนคร ซึ่งผ้าขาวม้าสีสันสดใสเหล่านี้ ไม่ค่อยมีคนอุดหนุน และหากนำมาขายในตลาดของ Good Goods ก็อาจจะยังขายได้ไม่เยอะ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบเสื้อผ้าสีสดใส 

“ถ้าโปรเจกต์นี้ Good Goods ทำเอง มันจะไม่ได้อิมแพ็ก แต่ถ้า PAINKILLER Atelier เข้ามาทำ อย่างน้อยจะมีฐานลูกค้า PAINKILLER Atelier ที่พร้อมรับอะไรใหม่ๆ เข้ามา” อรเล่าถึงโอกาสของการทำธุรกิจ พร้อมกับเสริมว่า

“จริงๆ บ้านกุดจิกเขาเด่นเรื่องผ้าคราม ไม่ได้เด่นเรื่องผ้าพันคอหรอก แต่คนที่ทำผ้าครามต้องเป็นช่างฝีมือจริงๆ แล้วจะมีคนรอบๆ หมู่บ้านที่ไม่ได้ทำงานฝีมือขนาดนั้น แต่ว่าทอผ้าขาวม้าเป็น บ้านกุดจิกก็เลยต้องสนับสนุนทั้งสองอย่าง คือ ผ้าครามที่คราฟต์มากๆ ซึ่งมีตลาดอยู่แล้ว กับชาวบ้านที่ทำผ้าขาวม้าเป็น แต่ยังไม่มีตลาดรองรับ

“ด้วยความที่ผ้าขาวม้าที่ว่านี้ เป็นผ้าผืนเล็ก ชาวบ้านนิยมนำมาทอเป็นผ้าพันคอ แต่พอใช้พันคอแล้วสวมใส่ไม่สบาย บวกกับสีที่สด ทำให้ไม่มีคนซื้อ แต่เราไม่อยากเปลี่ยนเขา เราก็เลยหาทางทำให้ผ้าขาวม้าสีสดที่ทอแล้วเล็กเกินไปมันขายได้”

อรเล่าถึงปัญหาและกระบวนการแก้ไขอันเป็นที่มาของการสร้างสรรค์คอลเลกชัน PAINKILLER Atelier x Good Goods ที่ทำมาจากผ้าขาวม้าซึ่งมีทั้งเสื้อ กางเกงเล และเสื้อแจ็กเก็ต แบบที่ผู้ชายใส่แล้วสดใส ผู้หญิงใส่แล้วดูเท่ ซึ่งสิ่งที่เราประทับใจอย่างหนึ่งของการ Collaboration ครั้งนี้ คือส่วนใหญ่เรามักจะเห็นการพัฒนาร่วมกับร้านที่มีชื่อเสียงของหมู่บ้าน หรือร้านที่เคยออกสื่อบ่อยๆ ทำให้ชาวบ้านที่มีฝีมือแต่อาจไม่ได้โดดเด่นยังคงเจอปัญหาการไม่มีตลาดรองรับสินค้าเหมือนเดิม แต่ PAINKILLER Atelier x Good Goods ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ เลยกลายเป็นเหมือนการรวมพลังของนักสร้างสรรค์และนักแก้ปัญหาในเวลาเดียวกัน

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล
PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

ทำการใหญ่ ใจต้องนิ่ง (และเร็ว)

จริงๆ ตอนแรกที่เริ่มทำ Good Goods เรารู้สึกว่าทักษะเรามีมากกว่าที่จะทำแบรนด์เล็กๆ แต่เราไม่สบายใจที่จะขยายแบรนด์ของเราเอง ก็เลยไปทำ Good Goods เพราะถ้าเป็นแบรนด์ PAINKILLER Atelier การเป็นเจ้านายคนคือการจ้างงานให้พัฒนาชีวิตครอบครัวเขา เพราะฉะนั้นคนที่ได้รับประโยชน์จากเงินของเราอาจจะมีร้อยคน แต่ Good Goods ชาวบ้านหนึ่งกลุ่ม มีตั้งแต่สิบถึงร้อยคน เพราะมันไม่ใช่แค่สินค้าปลีก แต่เป็นแบบขายส่งด้วย ก็จะช่วยคนได้วงกว้างมากกว่า” 

อรเล่าถึงความตั้งใจที่จะขยับขยายไปทำงานร่วมกับ Good Goods ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับชุมชนที่ต้องประสานงานกับคนจำนวนมากขึ้น แน่นอนว่าวิธีการทำงานย่อมต้องแตกต่างไปไปจากการทำ PAINKILLER Atelier เพียงอย่างเดียว ซึ่งอรเล่าว่า

“ความยากอย่างแรกคือ เราต้องแบ่งภาพตัวเองออกเป็นสองคน เพราะเราเป็นทั้ง PAINKILLER Atelier และเป็น Good Goods เราต้องคิดว่าทั้งสองฝ่ายให้อะไรต่อกันได้บ้าง ซึ่งเรามองว่า ในมุมธุรกิจ เราให้ Good Goods มากกว่า แต่ Good Goods พาเราไปเปิดโลกกว้าง ว่าจริงๆ แล้วคนไทยใช้ชีวิตกันยังไง เพราะเราไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็ก 

“อย่างสมัยก่อน เวลามีคนพูดว่า อย่าเอาความจนมาเป็นข้ออ้าง พอไปลงพื้นที่เรารู้สึกว่ามันเป็นข้ออ้างได้จริงๆ มันไม่ถูกนะ ไม่ใช่สิ่งดี แต่มันเข้าใจได้ ในสถานการณ์นั้นเรารู้สึกว่ามันอ้างได้จริงๆ เราอะลุ่มอล่วยมากขึ้น เพราะจะมีบางคนที่ฉวยโอกาสจากเรา แต่เราไม่โกรธแล้ว เราเคยไปชุมชนที่สานกระติ๊บ แล้วถามว่าอันนี้เท่าไร เขาก็บอกว่าร้อยแปดสิบ แต่พอเปิดมา มีราคาเขียนว่าร้อยเดียว เราก็ต้องมานั่ง มาคุยกันนะ แล้วต้องบอกไปตรงๆ เลยว่า พี่หลอกอรครั้งเดียว แล้วได้ร้อยแปดสิบ หรือพี่จะขายในราคาส่งที่พี่มีกำไรไปตลอด พี่เลือกเอา อะไรอย่างนี้ แต่ก็มีบางชุมชนที่ไม่ยอมรับ บอกว่าเขาแปะราคาผิด แบบนั้นเราก็ต้องออกมาจริงๆ”

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

“ส่วนความยากอย่างที่สอง คือต้องเป็นคนที่เร็วมาก เพราะเวลาลงพื้นที่เราต้องใช้งบประมาณ ใช้เวลา เราเลยต้องลงแล้วเห็นโอกาส มีไอเดีย แล้วร่างแบบทันที อย่างการลงพื้นที่ไปดูไร่ป่านศรนารายณ์ ซึ่งมีโจทย์ว่า ป่านศรณ์นารายณ์ขึ้นที่เพชรบุรี ซึ่งเป็นเมืองทะเล เราก็นึกถึงความสดใส แล้วเขาเย็บด้ายเป็นวงกลมขดไปมา เพราะเขาจะถนัดเย็บหมวกขายตามชุมชน เรานึกถึงการเย็บขดๆ ทำเป็นไวนิล ดิสโก้สดใส อะไรแบบนี้ เราคิดได้ในตอนนั้น ก็ขึ้นแบบส่งตัวอย่างมาแล้ว Approved เลย”

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล
PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

PAINKILLER Atelier เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความเก๋แบบผ้าขาวม้าไทย

นอกจากความยากของกระบวนการทำงานแล้ว สิ่งที่เราสงสัยเสมอเมื่อมีการ Collaboration กัน ระหว่างแบรนด์ต่างๆ คือการบาลานซ์ยังไงให้ยังมีความเป็น PAINKILLER Atelier แต่ก็มีความเป็น Good Goods ได้อย่างลงตัว ซึ่งอรให้คำตอบกับเราว่า

“ถ้า PAINKILLER Atelier ไม่ Collaborate กับ Good Goods แล้วหยิบผ้าขาวม้ามาทำเลย ลูกค้าอาจไม่เข้าใจว่าทำอะไรอยู่ แต่พอ Collaborate กับ Good Goods แล้ว เขาก็พอจะเข้าใจได้” อรชี้ไปที่เสื้อแจ็กเก็ตที่เราสะดุดตาตั้งแต่ต้น พร้อมอธิบายต่อ

PAINKILLER Atelier x Good Goods : เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายมาออกแบบผ้าขาวม้าสีสดใสให้ดูมินิมอล

“เสื้อหนึ่งตัวเราใช้ผ้าประมาณสี่ห้าผืน โดยผสมสีสดกับสีตุ่นเข้าไปด้วยกัน อย่างอันนี้ก็หลังสีสด เพราะถ้าเป็นผู้ชาย ใส่สีสดเกินไปก็อาจจะเหมือนนักร้องลูกทุ่ง มันมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ แต่เรื่องการเลือกสีนี่ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ อย่างชุดนี้ผู้ชายใส่กับยีนส์ขาวก็ได้ หรือผู้หญิงใส่ก็เป็นโอเวอร์ไซส์ได้เหมือนกัน มันจะมีรุ่นที่สีตุ่นทั้งตัว สำหรับคนที่ไม่กล้า แล้วก็รุ่นที่มีสีสดใสทั้งตัวสำหรับคนที่กล้า เราก็จะแมตช์ให้ได้หลายๆ แบบ ให้เหมาะกับหลายๆ คน”

ความน่ารักของคอลเลกชันนี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่ของสีสันและดีไซน์เท่านั้น แต่ยังน่ารักไปถึงกระบวนการสร้างสรรค์งานแต่ละชิ้นที่อาศัยความร่วมมือของคนแทบจะทั้ง PAINKILLER Atelier เพราะอรจะเลือกผ้ามา 4 – 5 ผืน แต่ไม่ได้เจาะจงว่าอยากให้ตรงไหนเป็นสีอะไร หลังจากนั้นช่างตัดจะเป็นคนเลือกและออกแบบลาย เหมือนการด้นสดทีละตัว และเมื่อพาเสื้อแสนน่ารักเดินทางไปถึงหน้าร้าน อรบอกว่า

“เราต้องบอกลูกค้าให้รู้ด้วยว่า มันมีชิ้นเดียวนะ ถ้าเธอเจอชิ้นที่ชอบแล้วเธอไม่ซื้อเนี่ย มันก็จะไปนะ แล้วก็อยากให้คนรู้สึกว่าผ้าไทยมันไม่เชย และอย่างที่เราบอกว่า ผู้ชายมีความเครียดอยู่แล้ว พอเขาเห็นอันที่มีสีสดบ้าง ก็อยากจะลองแมตช์กับยีนส์ที่มีอยู่ หรือบางคนที่เป็นแฟน PAINKILLER Atelier จริงๆ เขาอาจจะซื้อเพื่อเก็บก็ได้ เพราะมันเป็นมีแค่ชิ้นเดียว แล้วถ้าตลาดผู้ชายเริ่มเปิดรับมากขึ้น กล้ามากขึ้น เดี๋ยววันหนึ่งเขาก็อาจจะกล้าหยิบมาใส่” อรเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มใจดีที่มอบให้เราตั้งแต่ก้าวเข้ามาในห้อง

‘จะบอกว่าเท่ หรือน่ารักดี ?’

เราว่าตอนนี้คงไม่ต้องเลือกแล้วล่ะ

Writer

Avatar

ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

มนุษย์ที่กำลังเติบโตในทุกๆ ด้าน ยกเว้นความสูง ชอบเดินเป็นงานอดิเรก หลงรักเสียงเพลงและเป็นแฟนหนังสือมูราคามิ

Photographer

Avatar

ช่อไพลิน โคบายาชิ

ช่างภาพและแม่บ้านญี่ปุ่นฝึกหัด Facebook : สะใภ้โคบายาชิ Instagram : Chopailin