พื้นฐานของภาพยนตร์คือการบันทึก การบันทึกเพื่อเล่าเรื่อง เพื่อให้ถูกนำมาฉายใหม่ หรือเมื่อย้อนกลับไป เราอาจต้องการเพียงบันทึกเพื่อจดจำ

หากพิจารณาดู โลกภาพยนตร์เคลื่อนที่ลื่นไหลไปได้ทุกช่วงเวลา เมื่อมีแสงหรือไฟฟ้า ภาพก็จะกำเนิด แม้ว่าเรื่องราวบนแผ่นฟิล์มหรือในไฟล์ดิจิทัลจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาแล้ว ผ่านไปแล้ว หรือตายจากไปแล้วก็ตาม

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

ไม่ต่างจาก Hope Frozen ภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกของ ไพลิน วีเด็ล (Pailin Wedel) ผู้กำกับและนักข่าวชาวไทย-อเมริกัน เล่าเรื่องราวของครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ที่ตัดสินใจกระทำการไครออนิกส์ หรือการแช่แข็งเซลล์สมองของ น้องไอนส์-เด็กหญิงเมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ ลูกสาววัย 2 ขวบที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสมอง จนกลายเป็นบุคคลอายุน้อยที่สุดในโลกที่อยู่ในกระบวนการไครออนิกส์ เผื่อว่าวันหนึ่งวันใดเทคโนโลยีจะฟื้นคืนชีวิตให้เธอได้อีกครั้ง 

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์
การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

ภาพยนตร์ เรื่อง Hope Frozen คว้ารางวัลชนะเลิศสารคดีนานาชาติยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์ Hot Docs ประเทศแคนาดา ไม่เพียงได้ฉายภาพลักษณ์ใหม่ของคนไทย แต่ Hope Frozen กลายเป็นหนึ่งในรายชื่อของภาพยนตร์ที่มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์สารคดีอีกด้วย

เรื่องราวดำเนินให้เห็นชีวิตภายในครอบครัวผ่านกล้องหลักของไพลิน เผยชีวิตของครอบครัวที่ตัดสินใจทำกระบวนการไครออนิกส์ และบางส่วนเป็นภาพจากกล้องของ ดร.สหธรณ์ เนาวรัตน์พงษ์ ผู้เป็นพ่อร่วมกับ ดร.นารีรัตน์ เนาวรัตน์พงษ์ ผู้เป็นแม่ที่พูดกับกล้อง หวังใจอยากให้ลูกสาวได้ฟัง หากเธอมีโอกาสมาเปิดดูในอนาคตข้างหน้า

ทำไมถึงต้องเป็นเรื่องนี้

ตอนแรกเราไปกับสามี สามีเป็นนักข่าว แล้วก็เป็นไอเดียเขา เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นไวรัลจากรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ แล้วมีคนติเยอะมาก แต่ก็น่าสนใจเพราะว่าน้องเขาอายุน้อยที่สุดในโลก มันเลยมีประเด็นความที่สุดอยู่ 

อะไรทำให้ความตั้งใจจากเดิมที่อยากทำสารคดีข่าว 20 นาที กลายเป็นทำสารคดีที่ตามติดชีวิตครอบครัวนี้ถึง 4 ปี

มีจุดที่ทำให้เราเปลี่ยน พอไปพบเขามันทำให้เราเปลี่ยนใจ แต่คนจะเปลี่ยนใจมันไม่ง่ายนะ ถ้าเรามีความคิดของเราเอง เราเข้าไปแล้วอยู่ดีๆ เราเปลี่ยนใจแบบร้อยแปดสิบองศาเลย เขาเป็นพ่อแม่ที่มีปริญญาเอก มี Ph.D. ทางวิทยาศาสตร์ทั้งสองคน คิดถึงปรัชญาความเป็นความตาย คิดถึงเทคโนโลยี แล้วก็มีความเชื่อทางเทคโนโลยีสูง นอกจากนั้น คือเขารักน้องจริงๆ ไม่ได้รักแบบหลงใหล มันคือรักแบบความเป็นพ่อแม่

มันบริสุทธิ์

บริสุทธิ์มาก เรามีคำถามหลายคำถาม เขาเป็นครอบครัวเดียวที่จะตอบได้ เหมือนกับเรากลับไปถามทุกอย่างที่เราอยากจะถาม กลับไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะไม่มีคำถามเหลือ มันเลยใช้เวลา จริงๆ ใช้เวลาถ่ายทำแค่สองปีครึ่ง ตัดต่ออีกปีหนึ่ง แล้วก็กว่าจะทำโพสต์โปรดักชันอะไรเสร็จก็เกือบปี

ตอนทำสารคดีเรามีความสัมพันธ์พิเศษกับเขาไหม พอได้ไปอยู่ด้วยกัน ได้คุย กับเขา หรือว่าเราวางตัวเองในฐานะผู้สังเกตมากกว่า 

ตอนนี้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีมาก ตอนแรกเริ่มต่างคนต่างไม่รู้จักกัน แล้วช่วงแรกทางครอบครัวก็โดนผู้สื่อข่าวมาเยอะ แต่เราต้องให้เกียรติครอบครัวนี้มากๆ เขาเป็นนักวิชาการทั้งสองคน เป็นครอบครัวที่เปิด เพราะความคิดหลักๆ ของเขาคืออยากจะเปิดให้ข้อมูล การเปิดเผยทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งคุณไม่ต้องมาเชื่อเหมือนเราก็ได้ ไม่ต้องมาคิดเหมือนเรา แต่ว่าดีกว่าที่เราจะพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ การโต้ตอบหรือการเสวนาอะไรก็แล้วแต่ที่จะมาพูดคุยกันเป็นสิ่งที่ดีหมด เพราะไม่อย่างนั้นสังคมก็จะไม่พัฒนา ถ้าเราคิดเหมือนๆ กัน สังคมจะไม่ Healthy เขายอมเปิด ถึงแม้มันจะทำให้เขาช้ำ จุดเริ่มต้นมันดีอยู่แล้ว

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

มันก็มีกระบวนการของมัน

มันมีความระแวงอยู่ตลอดเลยทั้งสองปีว่า เราถ่ายมากไปไหม เริ่มมีผลกระทบในทางร้ายกับครอบครัวไหม มันเป็นสิ่งที่ดีไหมหากเขาต้องเล่าเรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า เราก็เริ่มมีความเกรงใจมากขึ้น ซึ่งคือทางนู้นก็เข้าใจ ทางนี้ก็เข้าใจ แต่เราไม่รู้จักกัน จนเกือบหนึ่งปีก่อนที่ครอบครัวจะไว้ใจพอให้ Hard Drive ที่มีไฟล์ภาพและวีดีโอของน้องไอนส์ตั้งแต่ประมาณสองขวบ ตอนที่รู้ว่าน้องไอนส์เป็นมะเร็งสมอง เขาคงพอทราบว่าการเก็บภาพครั้งนี้อาจจะเป็นโมเมนต์สุดท้ายที่จะได้เก็บภาพของน้องที่ทำอะไรก็แล้วแต่ มันคงมีความสำคัญมากขึ้น เขาก็คงเก็บภาพมากขึ้น

อย่างตอนที่ถ่ายรู้สึกว่ามันมี Sensitive Issue เกิดขึ้นบ้างไหม เราจะถ่ายส่วนนี้ดีหรือเปล่า เราจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไร 

วิธีทำงานของเราคือถ่ายไว้ก่อนค่อยไปตัดสินใจในห้องตัด เพราะว่าพอเราทำงานในระยะยาว เราไม่รู้ว่าอะไรจะเปลี่ยนไป แต่เราก็บอกครอบครัวว่ามีอะไร ไม่อยากให้ถ่ายเลยก็บอกได้ เราจะให้เกียรติเขา

วันที่ถ่ายวันแรกคือถ่ายอะไร จำได้ไหม 

ครั้งแรกที่ถ่ายเลยคือเขาชวนไปบ้านที่อยู่ใกล้ๆ หัวหิน เขาก็ชวนมาที่บ้านสวนของเขา 

แล้ววันสุดท้ายที่เราถ่าย 

วันสุดท้ายคือบ้านของเขาที่กรุงเทพฯ ถ่ายน้องไอนส์ไอนส์ (ลูกสาวคนที่สอง)

ตอนที่เราตัดสินใจครั้งแรกว่าจะทำเรื่องนี้กับวันสุดท้ายที่มันเสร็จ เราคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ไหม

มีหลายครั้งมากที่ท้อ เพราะการหาทุนมันยากมากๆ เราถ่ายเท่าที่เราถ่ายได้เองด้วยทุนตัวเองไปแล้ว บัญชีเงินฝากเกลี้ยงเลย ก็เกือบสองปี เราสมัครไปเกือบสิบสี่ทุน ไม่ได้เลย ในสิบสี่ทุนนั้น เจ็ดเป็น Pitching ก็ไป Pitch เจ็ดครั้ง หกครั้งไม่ได้ ครั้งสุดท้ายเลยเราไม่ได้ถ่ายทำแล้ว รอทุนอย่างเดียว เพราะมันไม่มีอะไรจะถ่ายแล้ว เพื่อนที่ทำงานมาเขาก็ไม่มีแรงแล้วเหมือนกัน จบเท่าที่มันได้ ก็ไป Pitch ที่เชฟฟิลด์ อังกฤษ จึงได้ทุนก้อนใหญ่พอที่จะเดินต่อไปได้ 

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์
การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

เคยถามตัวเองไหมว่าทำไมต้องทำต่อ

(ถอนหายใจ) มีคนถามอยู่เยอะ หลายคนคิดว่ามันเป็นแรงบันดาลใจที่ Positive เหมือนเราทำเพื่อความสุขของเรา แต่มันไม่ใช่นะ มันเป็นโรคจิตมากกว่า (หัวเราะ) คือเริ่มมาแล้ว เราไม่รู้จักการยอมแพ้ ถ้าเรายอมแพ้ มันแย่กว่าที่เราจะอดทนเดินต่อไป เพราะเราเป็นคนที่ถ้าทำอะไรไม่เสร็จจะอึดอัดมากๆ อึดอัดแบบเกลียดตัวเองเลย เราเดินต่อไปเพราะว่าเราไม่อยากมีความรู้สึกนั้น เราไม่อยากเป็นคนที่ทำอะไรไม่เสร็จ มันก็บาลานซ์กันไป มีบางวันที่เรามีแรงบันดาลใจ เพราะว่าเราไปเห็นโมเมนต์น่ารักในครอบครัว หรือว่าโมเมนต์ที่แบบเราเข้าใจเขาร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ฉากนี้เราเริ่มเข้าใจว่าเขาคือใคร เริ่มมีความผูกพัน เราก็เริ่มคิดออกว่าจะตัดอย่างไร

นี่เราเพิ่งไปสอนที่หลวงพระบางมาหนึ่งอาทิตย์ สอนการ Pitching ก็มีคนถามว่าพอไม่ได้ทุนสิบสี่ครั้ง หลังจากมีความผิดหวัง คุณเอาแรงจากไหนไปทำต่อ ทุกครั้งที่ไม่ได้ เราอาจจะไปเดินเล่น เดินในป่า ต้องใช้การเดินเพราะว่าเราชอบเดินไปคิดไป เราถอดความคิดออกมาให้หมดว่า ไม่ได้ไม่เป็นไร ชีวิตเราไม่ได้มีอยู่แค่นี้ ครอบครัวเรายังอยู่ มันต้องดูภาพกว้างของชีวิตเรา เราอาจจะหมกมุ่นกับเรื่องนี้มานาน จนเราไม่เห็นสิ่งดีๆ อย่างอื่น ก็จะไปทำอะไรที่มันให้ของขวัญตัวเองนิดหนึ่ง สักพักก็ทำงานเป็นนักข่าว ต้องทำอะไรที่มันไม่เหมือนกับสารคดีเลย ให้เราออกไปสักหนึ่งถึงสองอาทิตย์ แล้วไอเดียการตัดต่อหรือไอเดียสำหรับสารคดีมันจะเริ่มกลับมาใหม่

เพราะสารคดีมันมีอารมณ์มากกว่าข่าว เราเลยถอดถอนใจได้บ่อยครั้งกว่าหรือเปล่า

ใช่ค่ะ พอเราทำข่าวเราจะเน้นการให้ข้อมูล เหมือนกับเป็นการศึกษาสำหรับสังคม มันก็มีสารคดีข่าวที่อยู่ตรงกลาง มีอารมณ์เหมือนกัน ถึงจะเป็นสารคดีข่าวเจาะลึกมันก็ยังมีอารมณ์อยู่ แต่พอทำสารคดีแบบ Creative Non-fiction หรือ Character Driven (ให้คาแรกเตอร์เป็นตัวดำเนินเรื่อง) ซึ่งสารคดีแบบเทศกาลโดยเฉพาะมันคือการเล่าเรื่องแบบไม่ได้เน้นการให้ข้อมูล แต่คือเน้นการให้ความเข้าใจ ถ้าเราจะให้ความเข้าใจกับคน เราต้องไปดึงอารมณ์เขา ต้องไปแตะใจเขา ต้องมีความอินกับเรื่องนี้ระดับหนึ่ง เพราะว่าถ้าเขาไม่อินกับคาแรกเตอร์ในสารคดี เขาก็จะไม่มีวันเข้าใจ 

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

ชีวิตในเรื่องแตกต่างจากสายตาของฝรั่งที่ใครๆ ก็ตามที่มองเห็นสารคดีไทย เขาไม่รู้ว่ามันมีแบบนี้ด้วย ซึ่งจริงๆ มี แต่แค่ไม่เคยได้รับการพูดถึง

อีกอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้เราทำขนาดนี้ คือพอเราทำข่าว เราเน้นเนื้อหาที่ให้ความรู้ ส่วนใหญ่เพราะว่าเราทำให้ต่างประเทศ เราต้องทำข่าวเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนบ้าง เผด็จการบ้าง การค้ามนุษย์บ้าง เป็นการนำสิ่งที่ไม่ค่อยดีมาเปิดเผย แต่มันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นสิ่งที่เราจะทำต่อไป แต่พอเราทำเยอะมากๆ เวลาไปคุยกับเพื่อนที่เป็นคนต่างชาติ เขาจะมีภาพพจน์เมืองไทยว่าเราเป็นเหยื่อตลอดเวลา เขาจะคิดว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่แตกต่างจากเขา ยากจน มีปัญหาเยอะ ประเทศเขาจะไม่มีวันเป็นอย่างนั้น 

แต่พอเรามานำเสนอคาแรกเตอร์ที่คล้ายเขาหน่อย มีปรัชญาความเป็นความตาย มีเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของเขาไป มันก็เลยเป็นเรื่องที่คนเริ่มคิดว่า คาแรกเตอร์นี้ไม่ได้ด้อยกว่าเขา คล้ายเขา ฐานะก็คล้ายเขา ความคิดก็คล้ายๆ กัน เขาก็เริ่มคิดว่าเราเท่าเทียมกันนะ เราไม่ได้แตกต่างจากเขามากขนาดนั้น กลายเป็นว่ามันก็ไม่ได้ทำแค่เรื่องสารคดีของน้องคนเดียว แต่ไปทำให้เขาเห็นว่าเมืองไทยก็มีนักวิทยาศาสตร์นะ (หัวเราะ) เราถามทุกครั้งเลย พอไปฉายหนังที่เทศกาล เราก็จะถามว่าครั้งสุดท้ายที่เห็นนักวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยคือเมื่อไหร่ เขาบอกว่าไม่เคยเห็นเลย

มองความตายในเรื่องเป็นอย่างไร เอาตัวเองก่อนก็ได้ อย่างในเรื่องมันไม่ใช่การตายแล้วหายไป แต่ถูกแช่ไว้ก่อน

มันก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่เรายกคำถามขึ้นมา หลายๆ คนอาจจะคิดว่าการไม่ปล่อยวางเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ว่าพอเรามาทำความเข้าใจกับครอบครัวนี้ ถามตัวเองว่าถ้าเป็นเรา เราจะปล่อยวางได้ไหม แล้วทุกคนควรที่จะปล่อยวางไหม ซึ่งศาสนาพุทธก็บอกว่าควร แต่เราต้องถามกลับไปว่าแต่ละคนนับถือศาสนาอะไร เราถูกสั่งสอนมาจากพ่อแม่ว่าอะไร เรามีประสบการณ์ชีวิตว่าอย่างไร ไม่ใช่ว่าการปล่อยวางเป็นสิ่งที่ดีไปหมด ความรักมันมีหลายรูปแบบ นี่คือวิธีที่ครอบครัวนี้รักลูกเขา เราเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบวิจารณ์ความคิดของคนอื่น ถ้ามันไม่ใช่เรื่องที่มีผลกระทบร้ายๆ ต่อใคร มันอยู่ที่ว่าเราเติบโตมาอย่างไร มันอยู่ที่ว่าตัวเราเองเชื่ออะไร แต่ละคนมันก็เชื่อไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด

ความตายของครอบครัวนี้มันคือสิ่งนี้ มันคือความทรงจำ มันคือการแช่แข็ง มันคือความไม่ปล่อยวางระดับหนึ่ง นี่คือความรัก นี่คือความตายสำหรับเขา หลายคนก็จะถามว่า แล้วไพลินเชื่อไหมว่าไครออนิกส์ทำได้หรือไม่ได้ แล้วอยากจะแช่แข็งตัวเองไหม เราบอกว่าเราไม่สำคัญพอที่จะแช่แข็ง เราจะแช่แข็งไปทำไม มันมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างไร มันไม่มี เราเป็นแค่นักทำสารคดี แต่ว่าถ้าเราเป็นพ่อแม่ เราไม่รู้เลยเพราะเราไม่มีลูก เราไม่รู้ว่าเราจะเป็นเหมือนครอบครัวนี้ไหม

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์
การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

เราชอบประโยคหนึ่งที่คุณพ่อเขาพูด เขาไม่ได้พูดแค่ว่าเขาจะแช่ลูกเขา แต่เขาพูดว่าลูกเขาก็อาจจะเป็นความหวังของคนอื่น ถ้ามันสำเร็จ มันจะไม่ใช่แค่ลูกเขาจะได้อยู่ต่อ แต่มันอาจจะหมายถึงการที่คนอื่นได้เห็นกระบวนการนี้ว่ามันสำเร็จจริงๆ 

ก็มีอยู่ระดับหนึ่งที่เขาคิดว่าการใช้เงินไปทำไครออนิกส์กับลูกเป็นการช่วยผลักดันให้เทคโนโลยีนี้ได้มีการวิจัยมากขึ้น เพราะว่าเงินที่เขาใช้เป็นสมาชิก ALCOR (The Alcor Life Extension Foundation) มันก็มีส่วนหนึ่งที่เข้าไปใช้ทำวิจัย ตอนนี้มีหลักฐานอยู่ในระดับแรกเริ่มว่ามันแช่แข็งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ยังอยู่ขั้นต้นๆ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะไปได้ถึงไหนหรือว่าเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งถ้าถามครอบครัวนี้ เขาคิดเลยว่ามันต้องเป็นไปได้

ต้องเล่าถึงตัวคุณพ่อว่าเขาเป็น Medical Engineer เขาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังว่าเขาทำรายงานเรื่อง AI เมื่อสามสิบปีที่แล้ว แล้วก็พรีเซนต์ที่งานเสวนาในมหาวิทยาลัย ทุกคนหัวเราะใส่เขา เหมือนกับว่า AI จะมีเหรอ มันเป็นไปไม่ได้หรอก นี่คือ Science Fiction ปรากฏว่ามันก็อยู่ในมือถือเราหมดเลย Google ก็เป็น AI Facebook ก็เป็น AI พวกอัลกอริทึมก็เป็น AI เขาเลยรู้สึกว่าเขาถูกมาครั้งหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น เขาก็จะมีความเชื่อในตัวเอง ถ้าคิดว่าเป็นไปได้ มันก็มีส่วนที่เป็นไปได้ว่าคนอื่นผิด เขาจึงมั่นใจกับความคิดของเขามาก

การทำหนังที่เกี่ยวกับความตาย แม้มันจะให้ความรู้สึกปล่อยวางหรือดูไม่ฟูมฟาย แต่จริงๆ แล้วมีคนบอกว่า พอคุณเลือกที่จะทำหนัง มันคือการไม่ปล่อย มันก็คือการเก็บต่างหาก คุณคิดว่าถูกไหม

ส่วนหนึ่งใช่ แต่ว่าขั้นตอนของการทำหนังคล้ายๆ ไปหาหมอจิต (หัวเราะ) เหมือนเป็นการริเริ่มของการปล่อยวาง ถ้าเราเก็บไว้ในใจโดยเฉพาะ มันก็จะอยู่อย่างนั้นแหละ มันไม่มีการทยอยเอาออกไป แทนที่จะเก็บในใจเราก็มาเก็บในเทป แล้วเทปเนี่ยเราเอาไปวางที่อื่นได้ เราไม่ต้องเห็นมันก็ได้ เราลืมมันได้ แต่ถ้ามันอยู่ในใจเรา มันไม่มีวันลืมหรอก เราก็คิดว่ามันคือการทยอยเอาคอนเทนต์นั้นออกมาไว้ที่อื่น ซึ่งใช่ ขั้นตอนนั้นคือ การเก็บ พอทำจบเราว่ามันปล่อยวางได้มากกว่า สำหรับครอบครัวนี้ก็เหมือนกัน เขาคงไม่ได้คิดว่าสารคดีเรื่องนี้จะเก็บไว้เพื่อไอนส์ เพราะเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันจะออกมาอย่างไร แต่พอเห็นภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกเขาก็ขอเอาไปไว้ที่ ALCOR ได้ไหม ไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวหนัง แต่รวมถึงพวกฟุตเทจทั้งหลายก็เอาไปด้วย เขาหวังว่าพอน้องไอนส์ตื่นขึ้นมา น้องจะได้เห็นว่าครอบครัวเขาเป็นใคร 

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

ตอนที่ไปเทศกาลภาพยนตร์ Hot Docs เป็นอย่างไรบ้าง แล้วก็นำพาไปสู่ออสการ์ 

ทุกอย่างมันเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดไว้เลย เพราะว่าทุกขั้นตอนของการทำสารคดีมันยาก ขั้นแรกเราสมัครหลายๆ เทศกาล Tribeca, Sundance ก็เข้าไม่ได้เลย แต่ว่า Sundance เขาน่ารักมาก เขาบอกว่าคุณได้เข้าไปถึงรอบสุดท้าย เราชอบมากแม้ยังไม่ถึงระดับที่เราเอาเข้าเทศกาลได้ แต่อยากจะคุยด้วย เขาก็นัดคุยผ่าน Skype แล้วให้คำติมาว่าเราไม่ได้เพราะอะไร เขาบอกว่าเขาไม่เข้าใจคาแรกเตอร์ คือตอนนั้นพวก Archive เราไม่มีเวลาที่จะดูให้หมด เราก็เลยใช้น้อยมาก เขายังไม่ค่อยมีความอินกับคาแรกเตอร์พวกนี้ คือยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นโมเมนต์ที่ใกล้ชิดของครอบครัวนี้ พอเรามานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าเราไปถ่ายหลังน้องเสีย โมเมนต์ที่อยู่กับน้องมันไม่มีแล้ว เราเลยกลับไปดู Archive อย่างละเอียด แล้วก็เพิ่ม Archive เข้าไปเยอะมาก รู้สึกว่าอย่างนี้ช่วยให้พอเข้าสมัคร Hot Docs ก็เข้าได้

แต่พอเข้าไปช่วงแรกเขาบอกว่า ได้เข้าไปในเซกชัน World Showcase ซึ่งเป็นเซคชันที่ไม่ได้เป็นการแข่งขัน เราก็ผิดหวังนิดหน่อย ตั้ง World Premiere เราก็อยากได้เซคชันที่แข่งขันนิดๆ มันจะมี Exposure มากกว่า แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็เป็นเทศกาลที่ใหญ่ที่สุด มันไปไกลเท่าที่เราจะทำได้แล้ว ประมาณสามอาทิตย์ก่อนเทศกาล เขามาบอกว่าเปลี่ยนใจ เอาเข้าการแข่งขันด้วย เราไม่รู้เพราะอะไรแต่ดีใจมากๆ ที่แคนาดาคนดูหนังเก่ง เราไม่ต้องโปรโมตอะไรมากก็มีคนมาเต็ม โรงหนังเขาประมาณสองร้อยคน ใหญ่มาก Q&A ก็ไปได้ราบรื่น คนอินกับหนังเรา สิ่งที่เราชอบมากคือเราชอบดูคนดู มันก็ชื่นใจระดับหนึ่ง

ตอนประกาศรางวัล พอถึงรางวัล Best International Feature Documentary เป็นรางวัลสุดท้าย ได้ยินชื่อ Hope Frozen ขึ้นมา จับมือนีน่า (Editor) ลากกันขึ้นเวที อึ้งมากๆ ไม่รู้จะขอบคุณใครอย่างไร มั่วไปหมด เบลอมาก จำไม่ได้ว่าพูดอะไรไป พอขึ้นไปถ่ายรูป รางวัลของเขาเป็นแก้ว ก็ทำตกบนเวที (หัวเราะ) ตื่นเต้นมาก ทุกอย่างเหมือนเราอยู่ในความฝัน เหมือนไม่ได้เป็นจริง แล้วเพิ่งมารู้วันต่อมาว่าเป็นปีแรกหรือปีที่สองที่ Hot Docs เป็นเทศกาลหนึ่งที่เขาอนุมัติว่าถ้าได้รับรางวัลนี้ก็เข้าออสการ์ได้ ซึ่งปกติการมีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์ต้องไปฉายที่ LA กับ New York ต้องมีคนเขียนวิจารณ์ มันถึงจะมีสิทธิ์เข้าชิง แล้วในอเมริกามีอยู่เทศกาลเดียวที่อนุมัติ ถ้าชนะก็ให้เข้าได้โดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นครอบครัวก็ดีใจกับเราทุกอย่าง เพราะสนับสนุนมาตลอด

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

แล้วตอนที่ได้รางวัล รู้สึกอย่างไรกับมัน

คือพอได้รับรางวัล มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในมือ มันคือสิ่งที่อยู่ในใจ ถ้าเขาไม่ได้มีรางวัลที่เป็นสิ่งของให้ เราก็ดีใจพอๆ กัน เพราะเรามีทีมงานที่พยุงเรามาตลอด แล้วเราเป็นทั้ง Director กับ Producer คัทแรกยี่สิบนาทีเราก็ตัดเอง เหมือนเราทำมาเอง เหมือนมีลูก แต่ถ้ามีลูกที่เป็นคนก็เหมือนมีได้สี่คนแล้วนะ สี่ปี คือมันมากกว่านั้นด้วยซ้ำ ก็เลยรู้สึกว่าเหมือนถอนหายใจ มันเริ่มรู้สึกคุ้มแล้ว เหมือนสี่ปีที่ทำมา เหมือนเรารู้สึกว่าเราบ้าไหม เรามีความคลั่งไหม

ซึ่งคำตอบคือ บ้าแหละ

แต่อย่างน้อยก็มีเหตุผล สมมติว่าถ้าอยู่แค่ World Showcase ไม่ได้แข่ง ไม่ได้เข้าเทศกาลอะไรอีก เราก็รู้สึกว่าโอเค นี่คือเท่าที่เราทำได้ นี่คือฝีมือของเรา ก็เป็นความภูมิใจระดับหนึ่ง แต่พอชนะถึงระดับนี้ เรารู้สึกว่ามีแรงทำต่อ เหมือนกับว่าเรามีอะไรสักอย่างที่คนอื่นก็เห็นเหมือนกันนะ ไม่ใช่แค่เราคิดว่าเราทำได้นะ คนอื่นก็คิดว่าเราทำได้ ทีมเล็กๆ ที่พยุงเรามากลายเป็นทีมใหญ่มาก เหมือนมีอีกหลายๆ คนที่เห็นด้วยว่าเราควรที่จะทำแบบนี้ต่อ

รางวัลจริงๆ สำหรับพี่ไพลินคืออะไรในการทำเรื่องนี้

รางวัลคือการให้คนรู้ว่ามันมีเรื่องนี้อยู่ เพราะถ้าเราไม่ได้รับรางวัล มันก็จะนิ่งๆ เงียบๆ คนอาจไม่รู้จัก มันไม่ใช่ว่าเขาต้องรู้จักเรานะ แต่เขาต้องรู้จักเรื่องนี้ คนในนี้ แล้วก็สิ่งที่ทำให้คนดูรู้สึก เราชอบที่สุดเลยพอเราดูคนดูแล้วเห็นเขาหัวเราะ ร้องไห้ ในจุดที่เราดีไซน์ให้เขาหัวเราะ แล้วก็ร้องไห้ เหมือนกับเราดีไซน์ประสบการณ์ให้เขาแล้วมันมีผลจริงอย่างที่เราอยากได้ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีพลังขึ้นมา

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

พออยู่กับมันมา 3 – 4 ปี แล้วไปเทศกาล ตอนนี้ก็เป็นช่วงพักจากการทัวร์แล้ว เรามีได้อะไรบางอย่างกลับมาจากการทำเรื่องนี้เพิ่มเติมไหม 

ไม่ค่อยมีมาก แต่หนึ่งคือมีความมั่นใจมากขึ้น ช่วงแรกทุกครั้งที่ฉาย เรากลัวว่าจะมีใครคอมเมนต์อะไรมาบ้าง เราชินกับการที่มีคนมาคอมเมนต์เยอะเพราะเราเป็นนักข่าว ทุกครั้งที่ทำข่าวก็จะมีคนมาคอมเมนต์เพียบเลย ซึ่งเราไม่ได้กลัวแบบนั้น เรากลัวเขาคอมเมนต์มาแล้วมันแย่ แต่เขาถูก ซึ่งสองถึงสามครั้งที่ฉายครั้งแรกเรานึกว่าจะมีอะไรมากกว่านี้ แต่พอไม่มีเราก็เริ่มมั่นใจ พอไปฉายก็เริ่มสบายใจมากขึ้น เริ่มสนุกกับมัน ไม่ต้องมานั่งเครียดทุกวันๆ แล้วนะ พอถูกถามมาทุกอย่างแล้ว เราก็เริ่มรู้ว่าต้องตอบอย่างไรให้เขาเข้าใจ

ย้อนไปสมัยวัยรุ่นคุณเริ่มจากการเป็นพิธีกรรายการ Teen Talk มาเป็นนักข่าวหลายสำนัก ก่อนจะเติบโตทางด้านสื่อสารมวลชนจนมาเป็นผู้กำกับสารคดี ยังรู้สึกว่าอยากไปไหนต่อหรืออยากลองสำรวจอะไรใหม่ๆ อีกไหม

ก็มีอยู่นะ เพราะว่าการทำสารคดีนี่ใช้เวลายาวมาก กว่าจะไปเจอ Subject ที่เราอยู่กับเขาได้หลายๆ ปีมันยาก เราก็เลยมาลอง Fiction ดูไหม แต่ก็ยังไม่มีอะไรจริงจัง มีคนเสนอซีรีส์มา กำลังพิจารณาอยู่ว่าเราจะตอบไปอย่างไร เราจะเดินต่ออย่างไร เราก็ยังอยากทำข่าวต่อเพราะเป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันสำคัญแล้วก็มีรายได้ (หัวเราะ) ถ้าเราทำแค่สารคดีก็ไม่มีอะไรไว้กินไว้ใช้ ก็ Money Frozen ไปด้วย เราคงจะทำข่าวต่อไป แล้วก็ดูว่าไปเจออะไร

มีหลายคนที่อยากให้เราไป Produce นั่นคืออีกงานที่เราคิดว่าควรจะทำ เพราะว่าเหมือนกับเราสมัครไปทุกทุน แล้วไปเจอกับโปรแกรมเมอร์เกือบทุกเทศกาล ไปเจอกับนักลงทุนหลายๆ คน ก็เริ่มมีความรู้ที่ไม่รู้จะถ่ายทอดให้ใคร ตอนนี้กำลังคุยกับ พี่ลี (ลี ชาตะเมธีกุล) ว่ามีโปรเจกต์ไหนก็ให้คำแนะนำได้นะ อยากไปช่วยนะ โดยเฉพาะโปรเจกต์ไทย เราอยากจะชูงานไทยให้มันมีโปรไฟล์ที่ใหญ่กว่านี้ แล้วก็มีหนังพม่าที่อยากให้เรา Produce เป็นสารคดีเหมือนกัน นอกจากนี้ ก็มีหนังที่อเมริกาเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนที่เราก็ช่วยอยู่

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

เรายังมีความหวังกับสารคดีไทยอีกไหมคะ

มีสิ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาที่คอนเทนต์ พรสวรรค์อยู่ที่นี่หมด เราทำอะไรเราเก็บมาหมด มันอยู่ที่การสนับสนุนซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเทียบกับสี่ปีก่อน มันมีการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็ยังยาก เพราะแม้จะมีเงินทุน มีกองทุนอะไรมามากกว่าเดิม แต่ก็มีคนสมัครมากกว่าเดิมเหมือนกัน การแข่งขันสูง เรื่องนี้เราก็สมัครทุกทุนที่มี ทั้ง DMZ, Busan, Purin, กระทรวงวัฒนธรรม แค่ทุนในทวีปเรายังไม่ได้เลย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรื่องนี้เป็นความฟลุกๆ หมดเลย รู้สึกว่ามัน…

เป็นจังหวะบางอย่าง

หลายคนบอกว่าทำเรื่องที่สองจะง่ายขึ้น แต่เราไม่แน่ใจนะ (หัวเราะ)

เราพูดคุยถึงความหวังของภาพยนตร์กันต่อ ไม่ใช่เพียงสารคดี ไพลินยังมีโปรเจกต์อีกมากมายที่รอคอยเธอเข้าไปศึกษาและทำความเข้าใจ เพราะว่าสุดท้ายแล้วพื้นฐานของภาพยนตร์มันคือการบันทึกเรื่องราวชีวิตหลากหลายรูปแบบ

ชีวิตที่ดำเนินต่อไป แม้ร่างกายหรือเรื่องราวของใครๆ ได้จากไปแล้ว แต่เมื่อไหร่ที่มีแสงบนหน้าจอ พวกเขาจะกลับมาอีกครั้ง

และความหวังของเราก็ยังคงไม่สูญสลาย ใช่ หากเราเพียงแค่ได้บันทึก

การเดินทางของผู้กำกับ ไพลิน วีเด็ล และ Hope Frozen สารคดีไทยที่ติดลิสต์ออสการ์

Writer

Avatar

พวงสร้อย อักษรสว่าง

นักเล่าเรื่อง ที่สลับไปมาระหว่างงานเขียนและภาพเคลื่อนไหว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ