11 มิถุนายน 2018
1 K

ไม่อยากไปโรงเรียน ทะเลาะกับเพื่อน ที่บ้านไม่เข้าใจ สารพัดปัญหาวุ่นใจยอดฮิตที่เราๆ ซึ่งล้วนเคยผ่านช่วงเวลาของวัยเด็กมาต้องเคยเจอ

เพราะมันคือช่วงวัยของความว้าวุ่น ซีรีส์ฮอร์โมนส์ก็บอกเอาไว้แบบนั้น

วุ่นทั้งตัวเอง ทั้งคนรอบข้าง ดีไม่ดีก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินแก้

ยิ่งโดยเฉพาะกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ การเลี้ยงดูและทำความเข้าใจเด็กสักคนคงไม่ใช่เรื่องง่าย ขนาดเราย้อนมองตัวเองในวัยเด็ก ยังอดนึกไม่ได้เลยว่าพ่อกับแม่จะปวดหัวสักแค่ไหน เพราะแบบนี้ในบางครั้งการมีใครสักคนที่จะเข้าใจและพร้อมให้คำปรึกษาในทุกการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน ก็คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อย

พอดีกับที่เราได้ทำความรู้จักกับเพจจิตวิทยาเด็กในชื่อ เข็นเด็กขึ้นภูเขา เพจที่เราในฐานะคนไม่ได้เป็นพ่อเป็นแม่และเพิ่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ไปหมาดๆ ชนิดที่ว่าคงไม่ตรงทาร์เก็ตเพจเลยแม้แต่น้อย ก็ยังอ่านเนื้อหาได้เพลินๆ เพราะเรามักจะเจอกับคอนเทนต์เบาสมองแบบละครยอดฮิตและสถานการณ์ทันด่วนที่ผ่านมาในรอบสัปดาห์ เชื่อมโยงกับหลักจิตวิทยาแบบเข้าใจง่าย ไม่มีภาษาวิทยาศาสตร์ซับซ้อนมารบกวนใจ

และเราก็ได้มารู้ทีหลังว่าเบื้องหลังเพจยอดไลก์หลักแสนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของแอดมิน คือ ‘หมอมินบานเย็น’ หรือ คุณหมอ ‘เบญจพร ตันตสูติ’ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่หลงใหลในการเขียน

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

01 เราต่างเคยเดินขึ้นเขา

การเป็นหมอเด็กไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำความเข้าใจเด็กและวัยรุ่นเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า

“เลี้ยงเด็กไม่เหมือนการทำอาหาร เลี้ยงเด็กแต่ละคนเราต้องใช้วิธีที่ต่างกัน เราใช้วิธีเดียวกันจัดการกับเด็กทุกคนไม่ได้ เด็กบางคนเลี้ยงง่าย บางคนเลี้ยงยาก บางคนกล้าแสดงออก บางคนขี้อายเราก็ต้องเข้าใจปัญหาและธรรมชาติของเขาด้วย เราจะไปเปลี่ยนธรรมชาติของเด็กไม่ได้ แต่ต้องช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเขาเอง”

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก จิตแพทย์คนนี้เองก็เติบโตมาไม่ต่างจากเด็กคนอื่นๆ นัก หมอมินเล่าให้เราฟังว่าเธอผ่านปัญหาชีวิตยอดฮิตในวัยเด็กเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ทั้งร้องไห้ตอนไปโรงเรียน โดนเพื่อนแกล้ง ผิดหวังจากการสอบไม่ติดโรงเรียนมัธยมปลาย แม้กระทั่งในวันที่ต้องตัดสินใจเรียนต่อ ชีวิตของเธอก็ยังคงคอนเซ็ปต์ของวัยรุ่นทั่วไปที่ต้องเจอทั้งความคาดหวัง ความไม่แน่ใจในตัวเองและแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง

สุดท้ายเธอคิดอยากทำความเข้าใจปัญหาเหล่านี้ให้มากขึ้น จนทำให้ตัดสินใจสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะแพทยศาสตร์และเลือกเรียนเกี่ยวกับจิตแพทย์เด็ก

“หมออยากเป็นหมอเด็กค่ะ แต่ว่าถ้าเป็นกุมารแพทย์ทั่วไปก็จะมีพวกเคสฉุกเฉินทางร่างกาย เราไม่ได้ชอบตรงนั้นมาก ชอบพูดคุยมากกว่า ก็เลยมาเรียนทางด้านจิตแพทย์เด็ก”

ด้วยความสนใจด้านงานเขียนเป็นทุนเดิม (ชนิดที่ว่าเธอเองเกือบจะเลือกเรียนอักษรมาแล้ว) บวกกับสิ่งที่ได้เรียนมาและประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมา ทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งคนที่เข้าใจเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างดี หมอมินจึงตัดสินใจใช้ความชื่นชอบและทักษะการสื่อสารมาเปิดเพจออนไลน์ ถ่ายทอดความรู้ที่เธอเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ที่ได้ผ่านมาอ่านไม่มากก็น้อย

หลายปีผ่านไป ความรู้เรื่องเลี้ยงเด็กและวัยรุ่นที่แพร่กระจายบนโซเชียลมีเดีย พิสูจน์ชัดเจนว่าหมอคนนี้ไม่ได้ช่วยเหลือคนได้เพียงแค่ในห้องตรวจเพียงอย่างเดียว

02   ต้องช่วยเขา

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

คุณหมอเล่าให้เราฟังว่าช่วงวัยของเด็กแบ่งง่ายๆ ได้เป็น 3 ช่วง แต่ละช่วงมีปัญหาแตกต่างกันไปตามวัย อย่างเด็กเล็กช่วง 0-5 ปี มักพบปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรม การกินยากหรือนิสัยที่ยากจะควบคุม พอโตมาหน่อย เด็กประถมช่วง 6-12 ปี ปัญหามักจะเปลี่ยนเป็นเรื่องที่โรงเรียน โดนเพื่อนแกล้งบ้าง มีปัญหากับครูบ้าง หรือว่าเรียนตามเพื่อนไม่ทัน พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหรือช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเจอกับเรื่องอารมณ์ที่ผันผวนง่าย ความไม่เข้าใจกันระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ยาวไปจนถึงปัญหาติดเกม ติดเพื่อน ยิ่งในปัจจุบันปัญหาจากโลกออนไลน์ก็เป็นอีกเรื่องน่าห่วงที่คุณหมอเล่าว่ายังมีพ่อแม่อีกหลายคนที่ตามไม่ทันและไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงนี้

“พ่อแม่ส่วนหนึ่งเข้าใจเรื่องนี้ แต่ว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยรู้เท่าทันเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ บางคนยังคิดว่าการที่เขายื่นสมาร์ทโฟน เปิดแทบเบล็ตให้ลูกต่อยูทูปได้ตามสบายมันไม่เป็นไร เหมือนกับการให้ของเล่นเด็กชิ้นหนึ่ง แต่จริงๆ มันไม่ใช่ค่ะ”

จิตแพทย์คนนี้เห็นปัญหาเกี่ยวกับเด็กในปัจจุบันอย่างชัดเจน เธอพบว่าความรู้จากทั้งประสบการณ์การเป็นหมอและสิ่งที่ได้เรียนมาน่าจะเป็นประโยชน์หากได้นำมาบอกเล่าอย่างถูกวิธี เพราะน่าสังเกตว่าเราต่างรับรู้ถึงภัยอันตรายจากโลกออนไลน์ แถมยังเข้าใจกันดีด้วยว่าผู้ปกครองจำนวนหนึ่งยังตามไม่ทันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ แต่เราก็พบคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เหล่านี้หรือวิธีการรับมืออย่างถูกต้องสำหรับพ่อแม่ยุคใหม่ได้น้อยเหลือเกิน

สารพัดเพจเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กอาจเป็นสิ่งที่เราพบเห็นอยู่บ้าง แต่ในหลายๆ ครั้งเราก็พบว่าเพจเหล่านั้นมักเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมาเหมือนกับอ่านบทความวิชาการ หรือบางทีก็เป็นการโพสต์คำคมเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กสั้นๆ

แล้วเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้คอนเทนต์ที่ดูจริงจังเหล่านั้น สามารถเชื่อมโยงและเข้าใจง่าย เข้าถึงได้ทั้งเด็กและผู้ปกครอง — นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

“จริงๆ คิดว่าอยากทำเพจมาสักพักแล้ว”

คุณหมออธิบายที่มาที่ไปของการเกิดเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา เธอเองอยากลองทำเพจเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กตามที่ได้เรียนมาเพื่อสื่อสารกับพ่อแม่และเด็กๆ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีไม่น้อย จากวันนั้นถึงวันนี้เพจนี้มีอายุได้ 5 ปีแล้ว ถ้าเทียบกันก็คงจะเป็นเด็กตัวน้อยที่คงอยู่ในวัยช่างพูดช่างคุย

“ตัวที่เป็นตัวกระตุ้นจริงๆ น่าจะเป็นตอนไปทำโครงการจิตแพทย์รุ่นเยาว์ของสมาคมจิตแพทย์ เราอยู่ในโครงการนี้ด้วย แล้วอาจารย์เขาให้คิดโครงการอะไรก็ได้ที่คิดว่าจะทำเพื่อสังคม เราเลยเอางานนี้ที่เราอยากจะทำกันตั้งนานแล้วมาทำ จับกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่เป็นจิตแพทย์เด็กอีก  3 คน”

ปัจจุบันด้วยภาระหน้าที่ แอดมินเพจคนอื่นๆ จำเป็นต้องแยกย้ายกันไปตามเส้นทางงานของตนเอง ทำให้เหลือเพียงคุณหมอมินที่ยังคงดูแลเพจอย่างสม่ำเสมอ และตั้งใจจะช่วยเข็นเด็กขึ้นภูเขาต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

03   เอาใจเขา มาใส่ใจเรา

อะไรคือสิ่งที่ผู้ปกครองมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก

นี่เป็นสิ่งที่เราสงสัยหลังจากได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กในปัจจุบัน ไม่น่าเชื่อว่าคำตอบที่ได้รับคือเรื่องเบสิกที่นึกดูดีๆ ก็คือเรื่องที่เราละเลยไป หรือถ้าหากย้อนมองกลับไปตอนที่ยังเป็นเด็ก เราคงจะเข้าใจเรื่องขัดใจเหล่านั้นได้ดีทีเดียว อย่างการต้องเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันต่อหน้า นี่อาจเป็นเรื่องที่มักจะถูกละเลยจากผู้ปกครองเป็นอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้

“พ่อแม่มักจะรู้สึกว่าการเลี้ยงลูก ถ้าเด็กยังเล็กอยู่เขาจะไม่รู้เรื่องอะไรหรอก อย่างเช่นถ้าเป็นเด็กทารก พ่อแม่บางทีจะทะเลาะกันต่อหน้า ตะโกนเสียงดัง แต่ความจริงเด็กเขาสัมผัสได้จากบรรยากาศของความน่ากลัว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้ใหญ่มักเข้าใจผิดคือคิดว่าเด็กเล็กมักจะไม่รู้เรื่องอะไร แต่สิ่งเหล่านั้นมันจะติดตัวเขาไปจนโตเลย”

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

หรือปัญหาอย่างการโดนบังคับแบบไม่ถูกช่วงวัย ก็ตามมาสู่ปัญหาเรื้อรังยาวไปจนเด็กโตเป็นวัยรุ่น

“บางครั้งพ่อแม่จะเข้าใจว่าให้อิสระลูกก่อนแล้วค่อยไปจำกัดขอบเขตตอนที่เขาโตขึ้น แต่มันไม่ใช่ กลับกัน เราต้องให้ขอบเขตกับเด็กเล็กว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ แล้วตอนโตเขาจะรู้เอง พอลูกโตขึ้นก็ต้องลดการบังคับลงบ้าง บางครั้งพ่อแม่เลี้ยงลูกวัยรุ่นแบบเด็กเล็กๆ คือ ชอบสั่ง เด็กจะต่อต้าน ต้องเปลี่ยนเป็นฟังเขาให้มาก บังคับให้น้อย เอาที่จำเป็น คุยกับเขาให้เหมือนเพื่อนมากขึ้น คืออาจจะไม่ใช่เพื่อนแต่ต้องเป็นพ่อแม่ที่เป็นเพื่อนเขาได้ด้วย”

รวมถึงปัญหาประเภทพ่อแม่ไม่เข้าใจฉันที่ก็ดูจะเป็นเรื่องยอดฮิตไม่แพ้กัน ด้วยความแตกต่างระหว่างช่วงวัยที่นำไปสู่การทะเลาะกันอยู่บ่อยๆ

“ผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่าเด็กก็จริง แต่ว่าบางครั้งประสบการณ์หรือความคิดของผู้ใหญ่มันก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป หรือการที่ผู้ใหญ่คิดไม่ตรงกับเด็กจะต้องแปลว่าผู้ใหญ่ถูกเสมอ”

หลายคนคงเข้าใจเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี ในฐานะคนที่เคยเป็นทั้งเด็กและวัยรุ่นมาก่อน เราคงสามารถตอบได้อย่างเต็มปากว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบการโดนสอนหรือบังคับแบบไหนจากพ่อแม่ แต่เอาเข้าจริงเมื่อกลายเป็นพ่อแม่เสียเอง เราอาจหลงลืมความรู้สึกในวัยเยาว์และเข็นเด็กไปอีกทาง

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

04   ตรงกลาง ระหว่างเขา

หมอมินใช้เวลาอยู่พอสมควรเพื่อทำความเข้าใจการเล่าเรื่องในโลกออนไลน์ และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเนื้อหารวมไปถึงวิธีการเล่าเรื่อง จนนำมาสู่คอนเทนต์ที่เข้าใจง่ายทั้งกับเด็กและผู้ปกครองแถมยังแฝงไปด้วยความบันเทิงอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

“แต่ก่อนก็จะเขียนแบบทั่วไปแนวเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความพยายาม ความรับผิดชอบตรงๆ เลย บางทีก็เอาคำคมการเลี้ยงลูกของคนอื่นมาโพสต์ ตอนนั้นยังเขียนไม่ค่อยเก่งก็จะเขียนสั้นๆ ตรงไปตรงมา หลังๆ เราก็เอาสื่อเข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางระหว่างเรากับคนอ่าน”

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

งานใหญ่เลยคือการนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจ ใกล้ตัวมาเล่าด้วยเทคนิคหลักคือการใช้ภาษาเข้าใจง่าย อย่างการยกเคสตัวละครต่างๆ จากซีรีส์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่นขึ้นมาจนทำให้เพจกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ปกครองในโลกออนไลน์ เพราะคุณหมอมองว่าเรื่องบางเรื่องอาจเป็นประเด็นที่เด็กๆ สนใจ แต่จะไม่ดีกว่าหรือถ้าข้อความเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่คนเป็นพ่อแม่ควรจะเข้าถึงด้วยเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับที่ในช่วงหลังๆ เราจะเห็นคอนเทนต์ยอดฮิตจากหนังเรื่อง น้องพี่ที่รัก ประเด็นการสอบแอดมิชชั่นไปจนถึงเคสต่างๆ ที่คุณหมอเจอในชีวิตประจำวันที่นำมาดัดแปลงและเล่าสู่กันฟัง

ถึงแม้คุณหมอจะบอกว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเพจจะเป็นกลุ่มพ่อแม่ที่อยากจะทำความเข้าใจกับลูกๆ ให้มากขึ้น แต่หลังจากที่คอนเทนต์เกี่ยวกับซีรีส์ดังกล่าวถูกปล่อยออกไป ก็มีเด็กๆ และผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่หลังไมค์เข้ามาเพื่อปรึกษาปัญหาที่ใกล้เคียงกับเรื่องของตัวเอง

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

แบบนี้เราจึงอดสังสัยไม่ได้ว่าการทำงานในฐานะจิตแพทย์ที่ดูจะมีงานหนักพอตัว และการเป็นแอดมินเพจที่ต้องเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตาที่เข้ามาพร้อมปัญหาในแต่ละวัน การรับมือจะเป็นเรื่องยากสักแค่ไหน เธอตอบเราได้ในทันทีว่าการเป็นที่ปรึกษานั้นไม่ใช่เรื่องยาก ตราบใดที่เรายังคงสามารถวางอุเบกขาไว้ได้

“หลักของจิตแพทย์คือเราเข้าใจเขา แต่ไม่มีอารมณ์ร่วมไปกับเขา เพราะเราช่วยเขาได้เต็มที่ในส่วนของเราเท่านั้น”

  หมอมินยิ้มอย่างใจดี ความใจเย็นของเธอ เราเองยังสัมผัสได้ทั้งจากการพูดคุยกันและข้อความในแต่ละครั้งที่เธอโพสต์ลงในเพจ แม้คุณหมอไม่ได้มีลูก แต่ช่วงวัยที่อยู่ระหว่างวัยรุ่นกับวัยพ่อแม่ ทำให้เธอเอื้อมไปทำทั้งสองช่วงวัยด้วยความเข้าใจเต็มเปี่ยม เคล็ดลับความสำเร็จของเธอคือความเชื่อที่ว่าความเข้าใจไม่ได้เกี่ยวกับอายุ แต่อยู่ที่ความตั้งใจต่างหาก

05   สู่ยอดเขา

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

“อย่างน้อยการมีเพจนี้ก็คิดว่าน่าจะทำให้ผู้อ่านสามารถจัดการกับตัวเองและคนใกล้ตัวของเขาได้ไม่มากก็น้อย และอาจจะทำให้เกิดการป้องกันก่อนที่จะมีปัญหา เช่นเรื่องสัมพันธภาพระหว่างพ่อ แม่ ลูก ปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก คือพ่อแม่ส่วนใหญ่รักลูกแต่เขาก็จะขาดความรู้ความเข้าใจบางอย่างในการดีลกับลูก บางทีมันก็เลยกลายเป็นปัญหาปลายทางไปแล้ว เลยคิดว่าถ้าเราทำเพจคอนเทนต์เราอาจจะช่วยไปดักที่กลางทาง หรือว่าต้นทางก่อน”

คุณหมอปิดท้ายถึงความคาดหวังที่เธอคิดว่าอยากจะทำให้เป็นจริง

“แล้วแบบนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์โดยตรง” นี่เป็นความสงสัยที่เกิดขึ้นจากเรา

“อาจจะไม่ได้มีเส้นแบ่งชัดเจนว่าต้องมาเมื่อไหร่ บางทีลูกไม่ได้มีปัญหา แต่ลูกอาจจะย้ายโรงเรียน กลัวมีปัญหามาปรึกษาก่อนก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าเมื่อไหร่ที่คิดว่าควรจะมา ก็ต้องดูเกณฑ์กว้างๆ ว่าอาการของเด็กเริ่มมีผลต่อชีวิตไหม เช่น ชีวิตการเรียน ชีวิตประจำวัน มีผลต่อชีวิตคนอื่น เช่น เด็กดื้อมากจนพ่อแม่เครียดปวดหัว นอนไม่หลับ แบบนี้ก็ติดต่อมาเถอะ”

ในที่สุดแล้วเราก็พบว่าความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการทั้งหมดที่จะสร้างให้เด็กหนึ่งคนเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่คุณภาพในตัวเด็กเองเท่านั้น แต่นี่หมายรวมถึงคุณภาพภายในครอบครัวด้วย

“ถึงแม้โลกมันจะโหดร้ายอย่างไร แต่ถ้าเขากลับมาเจอพ่อแม่ที่เป็นที่พึ่งทางใจ หมอว่าเด็กก็จะค่อยๆ ผ่านอะไรๆ ไปได้”

บทสนทนาของเราที่ลากยาวมาจนถึงเรื่องความกดดันและประเด็นสังคมยอดฮิตอย่างการสอบที่ดูจะเกิดขึ้นในเด็กทุกยุคทุกสมัยกับเรื่องของแรงกดดันที่พวกเขามักได้รับจากครอบครัว ถึงจะเป็นเรื่องยาก (มากๆ) ในการปรับเปลี่ยนความคิด แต่ก็เป็นเรื่องน่าลองที่จะทำความเข้าใจ เพราะในเสี้ยวหนึ่งของชีวิต เราก็เคยผ่านมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น

พอได้ยินแบบนี้เราว่าความจริงแล้วการเข็นเด็กคนหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องยาก แต่ยอดเขาก็คงอยู่ไม่ไกลสักเท่าไหร่

เข็นเด็กขึ้นภูเขา : เพจเลี้ยงลูกของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่เยาวชนอยากให้พ่อแม่อ่าน

Writer

Avatar

เอม มฤคทัต

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ที่อยากจะลองทำงานเขียน หลงรักทุกอย่างที่เป็นสีพีชและภาพยนตร์จิบลิ มีความสามารถพิเศษในการกินข้าววันละ 5 มื้อ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล