20 มิถุนายน 2018
12 K

1.

ชายหนุ่มตรงหน้าบอกผมว่าในรอบปีที่ผ่านมาเขาเขียนบทความลงเพจทุกวัน

มีเพียง 1 วันที่ไม่ได้เขียน

หากมองที่ความถี่นี่นับว่าเป็นวินัยที่น่าทึ่งของคนทำเพจ โดยเฉพาะกับคนที่งานประจำแทบจะกินเวลาไปเกินครึ่งชีวิตอยู่แล้ว

“เป็นวิธีปลดปล่อยวิญญาณ”

วิศรุต สินพงศพร พิมพ์ประโยคนี้มาในกล่องแชทเฟซบุ๊กตอนที่เรานัดหมายกันเพื่อพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำเพจของเขา-เพจที่ชื่อ ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง’

แม้เขาไม่ได้ส่งอีโมติคอนตามมา แต่ผมเดาว่าเบื้องหลังประโยคนั้น เขาคงพิมพ์มันด้วยรอยยิ้ม

'วิเคราะห์บอลจริงจัง' เพจที่เล่าเรื่องฟุตบอลอย่างลึก+ซึ้ง จนคนไม่ดูบอลแชร์สนั่นโลกออนไลน์

2.

ย้อนหลังกลับไปช่วงเดือนเมษายน

ผมเห็นบทความหนึ่งจากเพจ ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง’ บนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก ผ่านการแชร์ของหญิงสาวที่ปกติเธอไม่ได้สนใจกีฬาฟุตบอลแต่อย่างใด บทความนั้นชื่อ ‘ทำไมเวนเกอร์ไม่มีวันโดนไล่ออก’ ซึ่งผู้เขียนเขียนตอนที่ยอดกุนซืออย่าง อาร์แซน เวนเกอร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมอาร์เซนอลหลังจากคุมทีมมาอย่างยาวนาน

'วิเคราะห์บอลจริงจัง' เพจที่เล่าเรื่องฟุตบอลอย่างลึก+ซึ้ง จนคนไม่ดูบอลแชร์สนั่นโลกออนไลน์

นาทีนั้นผมรู้สึกประหลาดใจปนทึ่งที่เพจเพจหนึ่งสามารถเขียนเรื่องฟุตบอลให้คนที่โดยเนื้อแท้ไม่ได้สนใจฟุตบอลกดแชร์ กดไลก์ และบางคนถึงขั้นกดรัก

ย้ำตรงนี้ว่าบทความในเพจมีความยาวเฉลี่ย 4 – 5 หน้า A4 ไม่ใช่บทความสั้นๆ ไม่กี่บรรทัดจบแบบที่ผู้คนนิยมกัน เพจของเขาล้มล้างความเชื่อที่ว่า ‘ยาวไปคนไม่อ่าน’ ด้วยยอดไลก์หลักพันเป็นเรื่องปกติ ยอดไลก์หลักหมื่นเป็นเรื่องชินตา และในช่องคอมเมนต์เต็มไปด้วยคำชื่นชมและขอบคุณ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมนัดพบเจอเขาในบ่ายวันหนึ่งที่ออฟฟิศของเขาย่านรามอินทรา

เมื่อได้นั่งพูดคุยกันจึงรู้ว่าเพจนี้เขาทำเพียงลำพัง เป็นงานอดิเรกที่จริงจังไม่แพ้งานประจำที่ทำอยู่

เขาหาข้อมูลเอง เขียนเอง ทำกราฟิกเองเท่าที่ฝีมืออันจำกัดจะอำนวย แต่ความสวยงามของรูปประกอบไม่ใช่ปัญหาอยู่แล้ว บทความของเขาเอาคนอ่านอยู่หมัดด้วยตัวอักษร

แต่ใครจะรู้ว่ากว่าที่งานเขียนเขาจะได้รับการยอมรับอย่างวันนี้ เขาต้องเฝ้ารอมานานกว่า 12 ปี

3.

หลักไมล์ในชีวิตของวิศรุตคล้ายถูกปักหมุดไว้ที่ฟุตบอลโลกแต่ละหน

ฟุตบอลโลกปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกา เขาเริ่มดูฟุตบอลครั้งแรกตามผู้เป็นพ่อ

ฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ฝรั่งเศส เขาเริ่มมีความฝันอยากเป็นนักข่าวกีฬา

“ตอนฟุตบอลโลกปี 1998 ตอนนั้นเราอยู่ ม.3 เราอ่านหนังสือพิมพ์ สตาร์ซอคเก้อร์ แล้วเห็นคนที่เขาไปทำข่าวที่ฝรั่งเศสและเขียนคอลัมน์กลับมาให้คนไทยอ่าน เราคิดว่ามันมีพลังมาก แล้วอีกเหตุการณ์ที่สำคัญคือตอนเอเชียนเกมส์ปีเดียวกันที่จัดที่กรุงเทพฯ ครั้งนั้นทีมชาติไทยเข้ารอบรองชนะเลิศ

“นัดที่ชนะเกาหลีใต้ผมก็ไปรอซื้อตั๋วด้วย แล้วตอนนั้นเราต้องต่อแถวยาวมาก แต่มันมีช่อง Press ที่เขาไม่ต้องรอซื้อตั๋วเหมือนเรา เขาเข้าได้เลย เราก็เลยคิดว่าทำไมนักข่าวพวกนี้มีอภิสิทธิ์จัง ทำไมเขาได้รับการปฏิบัติดีกว่าแฟนบอลทั่วไป เราก็เลยคิดว่าถ้าเกิดเราไปอยู่จุดนั้นได้ทางใดทางหนึ่งคงดี ก็เลยเป็นแรงกระตุ้น”

นับตั้งแต่นั้น ความฝันที่เขามีเพียงอย่างเดียวคือการเป็นผู้สื่อข่าวกีฬา

และขณะที่เขาเรียนอยู่ชั้นปี 4 ฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนีก็เวียนมาบรรจบ ช่วงนั้นมีการจัดประกวดเขียนบทความจากทั่วประเทศโดยสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง สยามกีฬา และ TOT เพื่อคัดเลือกเพียง 3 ชีวิตที่จะได้รับสิทธิ์บินไปเป็นเกาะติดขอบสนามที่เยอรมนีเพื่อเขียนบทความมาเล่าในฐานะคอลัมนิสต์เฉพาะกิจ

ท่ามกลางผู้คนหลักพันที่ส่งบทความเข้าร่วมคัดเลือก วิศรุตคือหนึ่งในนั้น

เขาสามารถฝ่าฟันจนเข้ารอบ 12 คนสุดท้าย

“ผมยังจำได้เลยว่าตอนเขียนรอบชิงชนะเลิศผมก็เขียนแบบนี้แหละ เขียนแบบที่เขียนเพจในวันนี้” ว่าถึงตรงนี้ชายหนุ่มเว้นวรรคก่อนพูดต่อด้วยน้ำเสียงเรียบเฉย

“แต่เขาไม่เลือกผม”

'วิเคราะห์บอลจริงจัง' เพจที่เล่าเรื่องฟุตบอลอย่างลึก+ซึ้ง จนคนไม่ดูบอลแชร์สนั่นโลกออนไลน์ 'วิเคราะห์บอลจริงจัง' เพจที่เล่าเรื่องฟุตบอลอย่างลึก+ซึ้ง จนคนไม่ดูบอลแชร์สนั่นโลกออนไลน์

4.

ความผิดหวังในวันนั้นทำให้เขาทั้งมั่นใจในบางสิ่งและไม่มั่นใจในบางอย่าง

เขามั่นใจว่าตัวเองมีดีพอที่จะเป็นนักข่าวกีฬาได้ เพราะสุดท้ายเขาก็สามารถคว้าที่ 6 มาครองจากผู้เข้าแข่งขันหลักพัน แต่ในอีกมุมเขาก็ไม่มั่นใจว่าวิธีการเขียนแบบที่ตัวเองอยากอ่านมีคนอยากอ่านกับเขาหรือเปล่า

หลังจากความผิดหวังนั้นผ่านพ้น เขาเลือกเดินเข้าสู่เส้นทางสื่อมวลชนตามที่ฝัน โดยเริ่มเป็นเจ้าหน้าที่พิสูจน์อักษรที่หนังสือพิมพ์ คิกออฟ ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็นตำแหน่งนักข่าวตามที่เขาเคยฝันไว้ในวัยเด็ก จนกระทั่งปัจจุบันเขาย้ายมาเป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ที่ สยามกีฬา

“ผมรู้สึกสนุกทุกวันเลย คือการเป็นนักข่าวฟุตบอลต่างประเทศต้องอยู่ดึกเพราะฟุตบอลเตะตอนกลางคืน ตอนนั้นเราเข้างานสองสามทุ่มออกตีห้า เงินเดือนก็ไม่มาก แต่เราไม่เคยบ่นเรื่องเงินเลย เรามีความสุขที่ได้ดูบอล ได้เขียนเกี่ยวกับบอล แค่แปลข่าวก็สนุกแล้ว ตอนนั้นกว่าที่คุณจะมีคอลัมน์ของตัวเองได้คุณต้องโชว์ผลงาน ต้องแปลข่าวอย่างเดิมย้ำๆ เป็นปี กว่าจะได้เขียนคอลัมน์สักคอลัมน์ มันก็เป็นความท้าทายของวัยนั้น”

ระหว่างสนทนา วิศรุตเล่าว่า ครั้งหนึ่งสมัยทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ คิกออฟ เขาเคยได้รับความไว้วางใจให้บินไปเป็นผู้สื่อข่าวประจำเกาะอังกฤษอยู่ 1 ปี และเมื่อชีวิตได้คลุกคลีกับบ้านเมืองที่หายใจเข้าออกเป็นฟุตบอลยิ่งทำให้มุมมองของเขากว้างขวางขึ้น

ไม่เฉพาะมุมมองที่มีต่อฟุตบอล แต่ยังรวมถึงมุมมองที่มีต่อชีวิต

“ผมชอบอย่างหนึ่งตอนที่อยู่อังกฤษ คือตอนเด็กๆ เราซื้อหนังสือพิมพ์ก็จะมีแต่ สตาร์ซอคเก้อร์ มันเป็นทางเลือกเดียวของเรา แต่ว่าพอไปอยู่ที่นั่น สื่อของบ้านเขาที่เขียนได้ดีในระดับเดียวกันมีเยอะมาก ทั้ง Daily Mail, The Sun, Daily Mirror แทบทุกสื่อเขียนดีหมด คุณภาพสูงมาก เขาแข่งขันกันแบบไม่มีใครยอมใคร ผมเลยเข้าใจว่าทำไมคนบ้านเขาถึงมีความรู้ในเชิงฟุตบอลเยอะมาก เพราะว่าเขามีตัวเลือกในการเสพเยอะ”

“แล้วการไปอยู่ที่อังกฤษทำให้คุณมองอาชีพสื่อเปลี่ยนไปไหม” ผมชวนเขาทบทวนเหตุการณ์ในครั้งก่อน

มีเรื่องหนึ่งก็คือ สื่อที่ผมเจอที่นั่นเขาไม่มีความพยายามที่จะผลักดันตัวเองไปอยู่สื่อหัวใหญ่ๆ เลย อย่างที่ไทย ถ้าคุณจะทำข่าวกีฬาเมื่อก่อนคุณก็ต้องไปอยู่ สยามกีฬา ใช่ไหม หรือถ้าเกิดคุณเป็นนักข่าวคุณก็อยากจะไปอยู่ไทยรัฐ ช่อง 3 ช่อง 7 แต่อย่างผมมีเพื่อนที่เป็นนักข่าวที่อังกฤษ หรือตอนไปฟุตบอลโลกที่บราซิลก็มีเพื่อนเป็นนักข่าวที่อยู่บราซิล พวกเขาภูมิใจในสื่อตัวเองแม้ว่าจะเป็นสื่อเล็กๆ ก็ตาม แม้จะเป็นสื่อท้องถิ่นเขาก็อยากจะนำเสนอมุมมองของเขาผ่านสื่อให้ดีให้ได้

ในประเทศไทยผมยังนึกไม่ออก ถ้าเป็นนักข่าวคนหนึ่งก็อาจจะไม่อยากอยู่สื่อท้องถิ่นไปตลอด อาจจะอยากผลักดันตัวเองให้ไปอยู่แถวหน้าของวงการ หรืออาจจะอยากได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่เหมือนนักข่าวที่นั่นเขาดูมีความสุขดีแล้ว อย่างเพื่อนนักข่าวที่มาจากบราซิล เขาบอกว่าเคยได้รับข้อเสนอจากสื่อใหญ่แต่ว่าสุดท้ายเขาก็อยู่ประจำเมืองของเขาต่อ เขาอยากจะพัฒนาที่นั่นให้ดีที่สุด มันเลยจุดประกายเรานิดหนึ่ง

“ตอนเด็กๆ เราจะคิดว่าเราต้องผลักดันตัวเอง แต่พอเราได้เห็นแนวทางของบางคนแล้วเราเลยคิดว่า ความสำเร็จอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าเราอยู่จุดไหน แต่อยู่ที่ว่าเราได้ทำอะไรมากกว่า”

'วิเคราะห์บอลจริงจัง' เพจที่เล่าเรื่องฟุตบอลอย่างลึก+ซึ้ง จนคนไม่ดูบอลแชร์สนั่นโลกออนไลน์

5.

อาจจะเป็นอย่างที่เขาว่า ความสำเร็จอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่าเราอยู่จุดไหน แต่อยู่ที่ว่าเราได้ทำอะไรมากกว่า

แม้ด้วยงานหลัก วิศรุตจะเป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ในสื่อหัวใหญ่อย่าง สยามกีฬา อยู่แล้ว แต่เขาก็ยังตัดสินใจลุกขึ้นมาเปิดเพจเล็กๆ ที่ชื่อ ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง’ เมื่อกว่า 2 ปีก่อน

“ช่วงแรกที่เริ่มต้นผมเขียนเดือนหนึ่งแค่ 3 – 4 ครั้ง เขียนตามอารมณ์เลย มีคนไลก์ไม่กี่คน ทีนี้มันมีจุดเปลี่ยนคือตอนนั้นมีนักเตะลิเวอร์พูลคนนึงชื่อ ริคกี้ แลมเบิร์ต (Rickie Lambert) เขาแขวนสตั๊ด ผมก็เลยเขียนเรื่องของเขา คือใครๆ ก็บอกว่าถ้าแลมเบิร์ตอยู่เซาแธมป์ตันทีมเดิมต่อ เขาคงจะเป็นตำนานของทีม แต่เขาก็เลือกย้ายมาอยู่ลิเวอร์พูลทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะไม่ได้ลงสนาม แต่สุดท้ายแลมเบิร์ตก็ไม่เสียใจ เพราะลิเวอร์พูลเป็นทีมในฝันของเขาตั้งแต่เด็กๆ

“ผมก็เลือกเล่าเรื่องความฝันวัยเด็กของแลมเบิร์ต แล้วก็โยงไปประเด็นเรื่องความรัก คือคนบางคนก็อยากจะลองดู ขอแค่มีความสุขแค่สั้นๆ ก็พอ คือตอนนั้นเพิ่งดู แฟนเดย์ฯ มา (หัวเราะ) ที่ตอนจบเต๋อได้คบกับมิวแค่วันเดียว ผมก็คิดว่า เฮ้ย คนแบบนี้ก็มี อยากมีความรักสักวัน แลมเบิร์ตก็คงอยากจะอยู่กับทีมที่เขารักสักครั้งหนึ่ง ต่อให้อนาคตไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่เป็นไร ซึ่งพอเขียนเรื่องนี้มาแล้วคนไลก์เป็นพันเลย ทีนี้ก็เลยคิดว่า คนเราชอบอะไรแบบนี้เหรอ แล้วทำไมสื่อหลักเขาไม่เขียนกัน เพราะอะไร เราก็เลยเขียนแบบนี้มาเรื่อยๆ”

หลังจากนั้นเขาจึงเขียนโดยการเชื่อมโยงฟุตบอลกับเรื่องที่ใหญ่กว่าผลการแข่งขัน อย่างเช่นเรื่องความสัมพันธ์หรือความรัก

งานเขียนหลายๆ ชิ้นของเขาทำให้เรารู้ว่าบทความกีฬาก็ทำให้คนอ่านมีน้ำตาได้

จากยอดไลก์เพจ 2,000 เมื่อกันยายนปีที่แล้ว วันนี้เพจของเขามียอดคนติดตามกว่า 90,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คล้ายเป็นการตอกย้ำความเชื่อของเขา

“คนชอบคิดว่ากีฬามีแต่ผลการแข่งขัน ทีมเอทีมบีเจอกันแล้วใครชนะ แต่จริงๆ แล้วกีฬามันลุ่มลึกกว่านั้น มันมีเรื่องราวมากกว่านั้น มันมีเรื่องราวของประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวความรู้สึก มีความสัมพันธ์ของคนสองคน มีสิ่งที่ครอบมันอยู่เยอะมาก ในเมื่อมันไม่มีคนเล่าเราก็อยากเป็นคนเล่าให้ฟัง

“ผมอยากให้การเชียร์ของคนมีความหมายขึ้น” เขาเน้นที่ประโยคนี้คล้ายว่ามันมีความสำคัญ

'วิเคราะห์บอลจริงจัง' เพจที่เล่าเรื่องฟุตบอลอย่างลึก+ซึ้ง จนคนไม่ดูบอลแชร์สนั่นโลกออนไลน์

6.

เขาไม่ได้แค่เอาความรักเข้ามาอยู่ในงานเขียน แต่เขายังเขียนงานด้วยความรัก

ชายหนุ่มบอกผมว่า การทำเพจคล้ายสถานที่ปลดปล่อยวิญญาณของเขา

“ในชีวิตผมเพจที่ทำมันเหมือนโอเอซิสเวลาเราเดินอยู่กลางทะเลทราย เพจเป็นที่เดียวที่ไม่มีใครแตะต้องมันได้ ไม่ว่าจะเขียนอะไรหรือไม่เขียนอะไร เราตัดสินใจได้เด็ดขาด เราสามารถตอบสนองสิ่งที่เราอยากจะทำได้ทั้งหมด ไม่ว่าใครจะคิดยังไง คนจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่เรื่องของเรา หมายถึงว่าเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด ถ้าเขาไม่ชอบก็แค่นั้น เราก็ทำได้เท่านั้น

“อย่างเวลาเราเขียนเราเขียนยาวใช่ไหม ถ้าเกิดเอาเทกซ์ไปแปะใส่กระดาษ A4 ต้องมี 4 – 5 หน้า แล้วก็มีคนเขียนมาบอกเราว่า ‘ยาวไปใครจะอ่าน’ แต่ว่าผมทำให้สั้นลงไม่ได้ เพราะเรื่องที่ผมเขียนผมทำให้มันกระชับที่สุดแล้วแต่มันก็ยังยาว จนสุดท้ายคนก็อ่าน

“ผมคิดว่าที่คนบอกว่ายาวไปไม่อ่าน เป็นเพราะพอคนอ่านอ่านยาวๆ แล้วเขาผิดหวัง คือเด็กยุคนี้มีอะไรให้ทำเยอะใช่ไหม เขาอุตส่าห์เสียเวลา 10 นาทีในการอ่านบทความของเรา แล้วสมมติสุดท้ายมันเป็นบทความที่ห่วย มันน่าผิดหวังสำหรับเขา เขาก็จะคิดว่ามันไม่คุ้มค่ากับการอ่าน เพราะฉะนั้น ทุกชิ้นที่ผมเขียนผมเลยคิดว่าต่อให้ยาว เขาต้องรู้สึกคุ้มค่ากับการอ่าน เขาต้องได้อะไรสักอย่างกลับไป”

ในทุกค่ำคืน เขาจะสละช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังหลับฝันหวานไปกับการหาข้อมูลและลงมือเขียนบทความลงเพจ

“ชีวิตต้องสละอะไรไปเยอะเหมือนกันนะ” เขาพูดด้วยรอยยิ้ม “ผมทำงานประจำเลิก 5 ทุ่ม กลับบ้านไปมีเวลาอยู่กับภรรยาสักชั่วโมงสองชั่วโมง พอตีหนึ่งก็ต้องเริ่มเขียนงาน จนถึงประมาณ 6 โมงเช้า

“ก่อนจะเริ่มเขียนทุกชิ้นผมจะหาข้อมูลก่อน สมมติว่างานชิ้นหนึ่งใช้เวลาสัก 5 ชั่วโมง ผมก็จะใช้เวลาหาข้อมูลสัก 3 ชั่วโมง แล้วเอาวัตถุดิบทั้งหมดมาวางไว้บนโต๊ะ เหมือนเอาเนื้อหมู เอาไข่ไก่ มาวางบนโต๊ะ พอเราคิดว่าวัตถุดิบมากพอจึงจะเริ่มปรุง เริ่มหยิบจับมาทีละอย่าง ปะติดปะต่อให้มันเป็นเรื่อง ซึ่งถือเป็นส่วนที่ยาก เพราะว่าบางเรื่องเราอาจจะมีข้อมูลก็จริงแต่ไม่รู้ว่าจะร้อยเรื่องยังไง เราก็ต้องใช้ความพยายามเหมือนกัน”

แล้วทำไมต้องเขียนทุกวัน ทั้งที่วันใดหยุดไปก็คงไม่มีใครว่าเขาได้-ผมแอบสงสัย

“ผมเคยอ่านประวัตินักเขียนของอเมริกันคนหนึ่ง เขาจะตื่นเช้าทุกวัน กินกาแฟแก้วหนึ่ง แล้วพอ 6 โมงเช้าไม่ว่าเขาจะคิดอะไร เขาจะต้องเขียน ไม่ว่าวันนี้เขาจะหัวไม่ไบรท์หรือคิดว่าตัวเองเขียนไม่ได้ เขาก็จะนั่งบนโต๊ะแล้วก็จะเริ่มพิมพ์ ผมก็เป็นอย่างนั้น คือเราไม่รู้หรอกว่าเราจะเขียนอะไรได้หรือเปล่าถ้าเราไม่นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ผมว่าความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญนะในการทำเพจ ผมเลยคิดว่าจะเขียนให้ได้ทุกวัน”

อย่างที่ว่าไว้ตั้งแต่ย่อหน้าแรก, ชายหนุ่มตรงหน้าบอกผมว่าในรอบปีที่ผ่านมาเขาเขียนบทความลงเพจทุกวัน

มีเพียง 1 วันที่ไม่ได้เขียน

“จนถึงวันนี้ก็เขียนได้วันละชิ้น ยกเว้นวันแต่งงานที่ไม่ได้เขียน” ชายหนุ่มหัวเราะเสียงดังหลังบอกเล่าความจริงข้อนี้

ส่วนผมได้แต่นั่งยิ้ม เหมือนเวลาอ่านบทความของเขา

'วิเคราะห์บอลจริงจัง' เพจที่เล่าเรื่องฟุตบอลอย่างลึก+ซึ้ง จนคนไม่ดูบอลแชร์สนั่นโลกออนไลน์

ขอขอบคุณ: นัทธมน แก้วแป้นผา

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล