30 ตุลาคม 2018
10 K

เราอนุญาตให้คุณหาวันลาพักร้อนก่อนจะเริ่มอ่านบทความนี้

เพราะนับจากบรรทัดนี้ไป คุณจะรู้จักญี่ปุ่นในมุมใหม่

ญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีแค่งานชมดอกซากุระบานหรืองานใบไม้เปลี่ยนสี แต่มีงานเทศกาลสนุกๆ จำนวนมาก แถมมีงานทุกวัน ทั้ง 365 วัน ทุกเมือง ทุกหมู่บ้านทั่วญี่ปุ่น ไม่ว่าจุดหมายปลายทางของคุณจะเป็นที่ไหน

งาน Yogurt Summit ที่เมืองโคมิยามะ จังหวัดอิบารากิ

งานเทศกาลชุมนุมชาวเกาะ งานเทศกาลกินเห็ด งานเทศกาลเกี๊ยวซ่าแดงเดือดแห่งคิวชู

งานสำหรับสายขนมกรุบกริบที่จังหวัดนางาซากิ งานขนมปังแห่งฤดูใบไม้ผลิในสถานีรถไฟที่จังหวัดฮิโรชิม่า

เทศกาลงานเซรามิกท่ามกลางฤดูใบไม้เปลี่ยนสีที่เอฮิเมะ และอื่นๆ อีกมากมาย ด้วยกำแพงภาษาทำให้ที่ผ่านมางานเหล่านี้จำกัดอยู่เฉพาะชาวญี่ปุ่นและคนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น แต่วันนี้ทั้งหมดนี้ถูกบอกเล่าเป็นภาษาไทยแล้วใน パンフレット – Japan Brochure เพจที่เล่าเรื่องงานเทศกาลสร้างสรรค์ผ่านโบรชัวร์น่ารัก (กกกกกกกกก) ทั่วญี่ปุ่น

第10回 お寺de風土市 10th temple de climate city
ภาพ:  風土市

 

パンタスティック 2018 AUTUMN Panta Station
งานขนมปังแห่งฤดูใบไม้ร่วงในสถานีรถไฟ ที่จังหวัดฮิโรชิม่า
ภาพ:   www.facebook.com/papapapantastic/

 

第14回 東京蚤の市 Tokyonominoichi (Tokyo flea market)
ตลาดนัดของแต่งบ้านครั้งที่ 14
ภาพ:   tokyonominoichi.com/2018_autumn/

 

The Cloud มีนัดกับ แจ๊ค วรวุฒิ และ อ้อ เพ็ญนภา สองผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ Japan Brochure ในย่านที่เราตั้งใจให้ใกล้เคียงกับที่ญี่ปุ่นที่สุด

ในยุคที่ใครๆ ก็ทำเพจเฟซบุ๊กได้ ยิ่งถ้าเป็นเพจที่เรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นซึ่งมีอยู่เป็นร้อยเป็นพันเพจ เหตุผลที่เราพบกันมีมากกว่าโบรชัวร์สีสวย ใต้เรื่องเล่าของงานเทศกาลรื่นเริงบันเทิงใจมีหัวใจ และสุดยอดไอเดียแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงระดับชาติ

ยิ่งพูดคุย ยิ่งร้องในใจว่า ญี่ปุ่นนี่มันญี่ปุ่นจริงๆ

ไม่เพียงสายตาที่มีต่อญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไป สายตาที่มีต่อโบรชัวร์ภาษาญี่ปุ่นก็ด้วย

いらっしゃいませ (อิรัชชัยมาเสะ)

麦感祭2018
งานเทศกาลข้าวสาลี ประจำปี 2018 ที่ฮอกไกโด
ภาพ:   麦感祭

 

お知らせ Sake Festival ที่จังหวัดโอกายาม่า
ภาพ:   okayama-sakefes.com/

โบร(ชัวร์)รักสีดี

โบรชัวร์ คือเอกสารหน้าเดียวที่ให้ทั้งข้อมูลและความสนใจในเวลาเดียวกัน ซึ่งในที่นี้เราขอหมายรวมถึง ใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ ป้ายโฆษณา และหน้าปกหนังสือ

ในยุคสมัยที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกลด ละ เลิก สื่อสิ่งพิมพ์

โบรชัวร์กระดาษจะคงยังอยู่คู่คนญี่ปุ่นต่อไป เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลกับคนญี่ปุ่นไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ตั้งแต่รูปแบบของใบประกาศลดราคาอูด้งเจ้าอร่อย ไปจนถึงงานหิ่งห้อยที่หลายจังหวัดพร้อมใจกันจัดงาน และทุกคนที่ไปร่วมงานก็พร้อมใจเดินถือไฟฉายเรียงแถวอย่างน่ารัก ทั้งยังงดใช้เสียงและไม่มีการจุดบุหรี่ใดๆ

วันซอฟต์ครีมนานาชาติที่จังหวัดอิวาเตะ
ภาพ: JejejeIWATE

 

小説すばる SHOSETSU SUBARU
หนังสือรวมนวนิยาย-เรื่องสั้นของนักเขียนหน้าใหม่
ภาพ:   Shinsuke Yoshitake

 

แอดมินหนุ่มเล่าว่า ในบางกิจกรรมแม้จะมีการประชาสัมพันธ์ในเพจเฟซบุ๊กหรือช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ  แต่ผู้จัดงานก็ไม่ได้คาดว่าในจำนวนคน 200 – 300 ที่กดไลค์เพจนั้นจะเข้าร่วมงาน มากไปกว่าที่เขาสนใจว่าโบรชัวร์จะกระจายไปถึงมือกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึงหรือเปล่า

“เราคิดว่าโบรชัวร์ตอบโจทย์คนและสังคมญี่ปุ่น เพราะจับต้องได้เหมือนบัตรเชิญไปร่วมงาน อีกทางหนึ่งคือสื่อสารและทำให้เกิดอารมณ์ร่วมได้มากกว่าไฟล์ดิจิทัล เพราะต่อให้กด Going ก็อาจจะลืมไปร่วมงาน” แอดมินหนุ่มคนเดิมเล่าเสริมสิ่งที่เขาค้นพบ

森の音楽会2018  John John Festival
ภาพ:   Hokkaido Hotel

บัตรโดยสารขนาดกระดาษ A4

“น้ำหนักสัมภาระที่เราซื้อเพิ่มเติมจากราคาตั๋วเดินทางนั้น เราไม่ได้มีเพื่อซื้อของฝากนะ เรามีเพื่อเก็บโบรชัวร์กลับมา” แจ๊ค อดีตนักเรียนศิลปะ พนักงานประจำของบริษัทรับทำมุ้งลวด เหล็กดัด และอะลูมิเนียม ผู้ชื่นชอบศิลปะการจัดเรียงตัวอักษร ลายเส้น และการออกแบบ เล่าติดตลก

ขณะที่อ้อ นักเขียน นักแปล บรรณาธิการบริหารของนิตยสารฉบับหนึ่ง และผู้ร่วมก่อตั้งเพจเล่าโจทย์แรกของ Japan Brochure ว่า เกิดจากเธอและแจ๊คอยากรู้ข้อมูลในหน้าโบรชัวร์ จึงลองหาข้อมูลจากหนังสือนำเที่ยวประจำจังหวัด ซึ่งมักจะทำเป็นสองภาษา โดยผลัดกันแปลข้อมูลภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทยตามความสนใจ “ตอนแรกพวกเราชอบความน่ารักของมัน แต่ยิ่งหาข้อมูลเราก็ยิ่งตื่นเต้น รู้ตัวอีกทีเราก็มีเพจ มีเว็บไซต์ Japan Brochure อย่างทุกวันนี้”  

นอกเหนือจากโบรชัวร์ภาษาญี่ปุ่นที่หาดูยากเพราะห่างไกลจากวงโคจรของเรา ความพิเศษของเพจอายุปีกว่าๆ นี้คือ เนื้อหาที่สองแอดมินช่วยกันเล่าเรื่องเทศกาลงานต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การแปลเรียงอักษรอย่างทั่วไป แต่รวบรวมและเลือกหยิบเรื่องเบื้องหลังงานเทศกาลนั้นๆ ที่ได้จากเว็บไซต์ประจำจังหวัดมาเล่า

秋の砥部焼まつり Autumn Tobe-yaki Festival 2018
เทศกาลงานเซรามิกท่ามกลางฤดูใบไม้เปลี่ยนสีที่เอฮิเมะ
ภาพ:   www.tobe-kanko.jp

 

“โบรชัวร์แบบไหนที่สวย-ไม่สวย น่าสนใจ-ไม่น่าสนใจ” เราถาม

“พอเห็นแล้วเราจะเข้าไปดูก่อนว่าเป็นโบรชัวร์ที่พูดถึงเรื่องอะไร ส่วนความน่าสนใจนั้นจะต้องไม่ใช่แค่น่าไปเที่ยว แต่มีเรื่องราวหรือเรื่องเล่า สำคัญคือ เรารู้สึกตื่นเต้นไปกับมันจริงๆ” อ้อตอบ แม้จะมีโบรชัวร์ออกใหม่ในญี่ปุ่นวันละนับสิบๆ ฉบับ แต่เพราะรู้พฤติกรรมผู้ติดตาม สองแอดมินจึงคัดสรรโบรชัวร์น่าเล่ามานำเสนอเพียง 2 เรื่องต่อวันเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่พอดีกับแรงและเวลาที่เหลือจากงานประจำ

“การทำเพจทำให้เราเรียนรู้แง่มุมบางอย่างที่หาอ่านจากหนังสือไม่ได้ หรือไม่มีทางหาเจอในเว็บไซต์ทั่วๆ ไป บางเรื่องเป็นเรื่องที่เราไม่คิดว่าจะสนใจมาก่อน อย่างงานเทศกาลรถไฟของหมัดดาวเหนือ การหาข้อมูลทำให้เห็นมุมมองใหม่ๆ หรือเรื่องประวัติศาสตร์สนุกๆ จากนิทรรศการข้าวกล่อง งานตลาดนัดผีญี่ปุ่น เหมือนเรากำลังอ่านหนังสืออยู่จริงๆ ซึ่งโบรชัวร์นี่เองที่พาเราไปเจอเรื่องราวที่ไม่คาดคิด” อ้อเล่าถึงสิ่งที่ได้รับในฐานะคนทำเพจผู้อิ่มเอมใจ

海辺のカモメ市 2018 UMIBE NO KAMOME ICHI 2018
งานนกนางนวลแห่งเมืองท่าโมจิโกะ จังหวัดฟุกุโอกะ
ภาพ:   www.mojiko.info/kamome/

 

“บางโบรชัวร์เราใช้เวลาเรียบเรียงข้อมูลเกือบครึ่งวัน เพราะเราไม่คิดจะแปลข้อมูลตามตัวอักษร แต่ใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์หรือเพจต่างๆ นับ 10 แหล่ง ก่อนจะกลั่นกรองและเล่าให้ทุกคนฟัง” แจ๊คเสริม

สำหรับทุกคน โบรชัวร์อาจจะเป็นเพียงกระดาษภาพสวยที่เต็มไปด้วยข้อมูล แต่สำหรับอ้อ โบรชัวร์คือหนังสือ คลังข้อมูลเรื่องราวและประสบการณ์ที่สร้างพลังและความอิ่มเอมใจ และสำหรับแจ๊ค โบรชัวร์คือการเดินทาง

 

มามะ มาจอยกัน จอยกัน

第12回 まるたま市
งานขายของเบ็ดเตล็ดสีพาสเทล ใจกลางเมืองฮามามัตสึ จังหวัดชิซึโอกะ
ภาพ:   marutamaichi.jimdo.com/

 

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เวลาจังหวัดแต่ละจังหวัดมีงาน ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็จะมีเว็บไซต์สื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งหมด โดยแต่ละวันจะมีโบรชัวร์งานออกใหม่ตามเว็บไซต์ท้องถิ่น 30 – 50 งาน

“ถึงจะเป็นงานระดับหมู่บ้าน เขาก็มีโบรชัวร์นะเพื่อบอกให้คนในชุมชนออกมาทำกิจกรรมกัน เรื่องราวเหล่านี้ดึงดูดเรามากๆ ยิ่งเจองานยิ่งเล็กเท่าไหร่เรายิ่งรู้สึกสงสัยว่า ทำไมเขาต้องตั้งใจทำโบรชัวร์ขนาดนั้นด้วย ทำไมเขาใส่ใจกับการประกาศให้ชุมชนรู้ ลำพังเสียงตามสายหรือการโปรโมตอื่นๆ ก็เข้าถึงเพียงพอแล้วหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นบ้านเมืองเรา เราก็คงทำแค่แปะกระดาษเล่าเรื่องไว้ที่บอร์ดกลาง ด้วยเนื้อหาง่ายๆ แต่เขากลับวาดเส้นทำสีซะสวยหรู” อ้อเล่าก่อนชวนให้ดูโบรชัวร์ของงานกุยช่าย Expo ที่เมืองโคสะ จังหวัดคุมาโมโต้ ที่ทำให้อดคิดภาพตามไม่ได้ว่าคงจะดีไม่น้อยถ้าชุมชนเล็กๆ ในตำบลตำบลหนึ่งของประเทศไทยเราจะจัดงานรวมตัวหมู่บ้านที่ปลูกกระเทียม แล้วมีใบโบรชัวร์น่ารักแบบนี้บ้าง

甲佐ニラパワーEXPO 2018
งานกุยช่าย Expo ที่เมืองโคสะ จังหวัดคุมาโมโต้
ภาพ: www.facebook.com/kosa.rokujikan

 

อย่างที่อ้อและแจ๊คบอกไว้ การเดินทางผ่านโบรชัวร์ทำให้เราเข้าใจคนและสังคมญี่ปุ่นอีกมุมหนึ่ง เห็นปัญหาที่บ้านเมืองเราก็มี แต่ก็เห็นวิธีแก้ปัญหาที่มาจากคนตัวเล็กๆ ที่นั้นด้วย ยิ่งทำให้ทั้งอ้อและแจ๊คอยากเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊ก

“มีสมาชิกที่ติดตามเพจคนหนึ่ง เขาตั้งใจไปโตเกียวอยู่แล้ว ก่อนจะแวะไปเที่ยวงานที่เราแนะนำถึง 4 งาน เขาก็ถ่ายรูปบรรยากาศมาให้พร้อมข้อความขอบคุณ พวกเราเองก็รู้สึกขอบคุณเขาที่ทำให้สิ่งที่ทำอยู่มีความหมาย บางคนก็ส่งรูปโบรชัวร์เข้ามาให้เราช่วยหาข้อมูล สิ่งเหล่านี้ทำให้ Japan Brochure ในความรู้สึกของเราเป็นมากกว่าเพจเฟซบุ๊ก แต่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสื่อสารสิ่งที่เชื่อสิ่งที่สนใจเหมือนๆ กัน” อ้อเล่า

ニャハ市長選挙..!!!
งานเลือกตั้งนายกเทศมนตรีแมวประจำเกาะนาฮา ที่โอกินาว่า
ภาพ: www.makuake.com/project/nyaha28/

 

หนึ่งในงานที่เราชอบมากๆ คือ งานเลือกตั้งนายกเทศมนตรีแมวประจำเกาะนาฮา ที่โอกินาว่า จากโจทย์ที่ต้องการแก้ปัญหาแมวจรจัด แทนวิธีการเดิมๆ ที่ไล่จับไปทำหมัน หาคนเลี้ยง หรือสุดท้ายต้องกำจัดทิ้งเพราะไม่สามารถดูแลได้ทั้งหมด จึงมีคนกลุ่มเล็กๆ รวมตัวกันสร้างภาพยนตร์ระดมทุนช่วยเหลือน้องแมวจนประสบความสำเร็จ ก่อนจะตามมาด้วยกิจกรรมสุดน่ารัก ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมโหวตหาท่านนายกและรองนายก ซึ่งภารกิจของท่านนายกนั้น ได้แก่ ถ่ายรูปโปรโมต เดินสายออกสื่อประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักและมาเที่ยวเกาะแมวกันมากขึ้นหารายได้เข้ากองทุนดูแลเพื่อนแมวต่อไป

แจ๊คเล่ากระบวนการคิดงานเทศกาลเพื่อแก้ปัญหาชุมชน ซึ่งเขาค้นพบหลังศึกษาข้อมูลงานต่างๆ ให้ฟังว่า จากโจทย์ปัญหา ผู้แทนชุมชนจะเปิดรับสมัครครีเอทีฟโดยคัดเลือกจากไอเดียการแก้ไขปัญหา แล้วจึงประชุมหาวิธีแก้ปัญหาที่น่าจะเป็น ก่อนออกแบบโครงการ เทศกาล หรือกิจกรรมต่อไป

ภายใต้โบรชัวร์ที่สองแอดมินหลงใหลนั้นมีเรื่องของความร่วมมือร่วมใจของคนและชุมชนอยู่ในนั้น เหมือนตัวอย่างที่เราขอหยิบมาเล่าสั้นๆ ดังนี้

川内港から日帰りもできます KOSHIKI FISHERMANS FEST 2018
เทศกาลพบปะชาวประมงบนเกาะโคชิกิ จังหวัดคาโกชิมะ
ภาพ: www.facebook.com/koshikifes/

 

เทศกาลพบปะชาวประมงบนเกาะโคชิกิ จังหวัดคาโกชิมะ จากโบรชัวร์เราจะเห็นรูปคุณลุงชาวประมงกำลังเก็บปลาใส่ลัง ข้างๆ มีเด็กชายยื่นปลาสดในมือให้ เพราะอยากสื่อความกับพ่อแม่ยุคใหม่ว่า ผู้จัดงานและชาวประมงที่มีส่วนร่วมทุกคนอยากให้เด็กๆ มาร่วมงานนี้ เพราะนอกจากจะได้ใช้เวลาร่วมกันและกินอาหารทะเลสดๆ แล้วยังอยากให้ทุกคนซึมซับวิถีชีวิตและคุณค่าของท้องทะเล

 

ようま観光バスツアー
ทัวร์รถบัสสุดพิศวงที่เกาะซาโดะ จังหวัดนีกาตะ
ภาพ: youmakanko.com/

 

เทศกาลที่ชวนคนออกจากบ้านมาขึ้นรถบัสชมเมืองตอนกลางคืน ซึ่งเป็นหมู่บ้านในเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่ง โดยเล่าเรื่องราวพื้นบ้านผ่านสถาปัตยกรรมที่ประดับประดาด้วยไฟสวยงาม ซึ่งทุกที่นั่งถูกจับจองเต็มตั้งแต่เริ่มเปิดจำหน่าย

 

Kokeshi Festival Nationwide 2018
เทศกาลโคเคชิประจำปี 2018 ที่จังหวัดมิยางิ
ภาพ: kokeshimatsuri.com

 

ไม่ใช่แค่งานประจำปีของพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับตุ๊กตาไม้ที่คนญี่ปุ่นใช้นวดหลังในออนเซน แต่บรรยากาศของผู้คน การแต่งกายเป็นตุ๊กตาโคเคชิยักษ์ หรือประดับประดาทั้งเมืองด้วยโคเคชิ แค่คิดภาพตามแอดมินสาวก็สนุกจนตั้งใจอยากไปร่วมงานสักครั้งหนึ่ง

 

いす-1GP 岡山水島大会
ศึกราชันแรลลี่ เก้าอี้ออฟฟิศ ฟิศ ฟิศ
ภาพ: isu1mizushima.strikingly.com/

 

กิจกรรมแข่งขันไถเก้าอี้ออฟฟิศประเภททีม 3 คน 2 สนาม สนามสั้นและสนามยาว จัดครั้งแรกในปี 2015 โดยกติกาทั้งหมดเหมือนการแข่งขันรถยนต์ นั่นคือหากเปลี่ยนล้อหรือตัวผู้ไถรถต้องทำใน Cockpit ที่จัดไว้ให้เท่านั้น ซึ่งผู้ชนะจะได้รับเก้าอี้ออฟฟิศตัวใหม่และข้าวสาร 1 กระสอบ

 

なつかしの学校給食
รำลึกความหลังกับอาหารกลางวันที่โรงเรียนเก่าแก่ในจังหวัดโอคายาม่า
ภาพ: kuse-espace.jp/senkyou/kyuushoku/

 

งานระลึกความหลังในอาคารเรียนหลังเดิมที่เก็บรักษาทุกอย่างในสภาพเดิม พื้นไม้กระดานมันลื่น เพลงโรงเรียนและมื้อกลางวันที่ฝันถึง และยังมีชุดนักเรียนครบเครื่องให้เช่ายืมระลึกความหลังด้วย

คิดเล่นๆ ว่าหากเราอยากให้มีงานดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเราบ้าง ควรต้องเริ่มจากใครหรือโจทย์ว่าอะไร เราถาม

“โดยทั่วไปของงานออกร้านที่คุ้นเคย เช่น งานลองกองประจำปี เป็นต้น เรามักจะเห็นว่างานเหล่านี้เกิดขึ้นหรือมีโต้โผคือคนจากทางการ เขต หรือนายกเทศมนตรี ขณะที่ญี่ปุ่นงานเหล่านี้เกิดขึ้นจากคนเล็กๆ ในชุมชนนั้นจริงๆ เป็นชาวสวน ชาวประมง” คำตอบของแจ๊คชวนให้เราคิดต่อ

ระหว่างพูดคุยสองแอดมินเราก็ได้แต่คิดตาม ว่าถ้ามีใครได้เห็นและนำไปคิดต่อยอด สร้างสรรค์ออกมาเป็นงานเทศกาลของเราเองได้ก็คงจะดีไม่น้อย

アイランダー2018 I-lander
เทศกาลชุมนุมชาวเกาะ
ภาพ:   www.i-lander.com/2018/index.html

 

ヨーグルトサミット
Yogurt Summit  ที่เมืองโคมิยามะ จังหวัดอิบารากิ
ภาพ:   www.city.omitama.lg.jp/omitama/index.html

 

แม้ว่าบริบทและความคิด เช่นคิดว่าคนไทยไม่นิยมชวนกันออกมาใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมนอกบ้านมากเท่าต่างชาติ จะเป็นเหตุผลใหญ่ของการจัดกิจกรรมรูปแบบเดิมๆ แต่เราต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่อากาศร้อนหรอกที่ทำให้เราไม่ออกจากบ้าน เราแค่ขาดตัวอย่างที่ดีของงานที่สร้างสรรค์ในหลายๆ วาระ หรืองานที่เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากทางการ

บางทีคนตัวเล็กๆ อย่างเราก็เริ่มทำสิ่งนี้ได้ อย่างที่เห็นตัวอย่างจากหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกลในญี่ปุ่นทำให้เห็น ลงทุนลงแรงในส่วนที่ทำได้ เพื่อระดมทุนหรือสื่อสารคุณค่าที่มีให้คนท้องถิ่นร่วมกันภาคภูมิใจ หรือคนห่างไกลได้รับรู้และเรียกชวนให้มาสัมผัสบรรยากาศ เหมือนที่ตอนนี้สองแอดมินของ Japan Brochure กำลังทำอยู่

ภาพประกอบ: Jiranarong

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer