เรากดแชร์รีวิวตลาดผ้านิปโปริที่โตเกียวตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นโพสต์นี้ผ่านหน้าไทม์ไลน์

แล้วก็อดไม่ได้ที่จะกดเข้าไปส่องต้นตอของโพสต์ดังกล่าวจนมาพบว่า เพจรีวิวผ้าสวยงามที่เราเข้าใจในครั้งแรกมีชื่อว่า ‘ทำ-มา-หา-กิน’ และมากกว่าการแนะนำแหล่งซื้อผ้าสวยๆ ‘ทำ-มา-หา-กิน’ ยังสามารถพาเราไปเดินดูดอกไม้ที่ปากคลองตลาด เลือกเคสโทรศัพท์ที่สนามเสือป่า หรือแม้แต่ชวนเราไปเวิร์กช็อป Silk Screen ก็ทำมาแล้ว

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

เรามีนัดกับ แพรว-พรรณระพี พุกกะเจียม หญิงสาววัย 24 ปี เจ้าของเพจและเจ้าของธุรกิจโรงงานสกรีนเสื้อเล็กๆ ที่ทำอย่างจริงจังแห่งหนึ่งในย่านฝั่งธน

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

ใช่! แพรวอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น แต่ก่อนหน้านั้นเธอยังคลุกคลีกับการขายของออนไลน์และอุตสาหกรรมงานฝีมือต่างๆ มาตั้งแต่ชั้นมัธยม จนถึงวันนั้นที่ความรักในงาน Textile ทำให้เธอตัดสินใจหันมาทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมผ้าอย่างจริงจัง

การพาตัวเองเข้าไปคลุกคลีในอุตสาหกรรมนี้อย่างใกล้ชิดมายาวนาน ทำให้แพรวที่เรียกตัวเองว่า ‘แม่ค้า’ มาเกือบครึ่งชีวิต มีโอกาสเห็นเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการที่น้อยคนนักจะเข้าใจ และคงน่าเศร้า ถ้าหากเรื่องเหล่านั้นจะไม่สามารถส่งต่อให้ไกลออกไปจนสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ นี่เองคือเหตุผลที่ทำให้แม่ค้าอย่างแพรวตัดสินใจสร้างเพจ ‘ทำ-มา-หา-กิน’ ขึ้นมาด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าของเธอ

คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ

ในฐานะคนที่หลงใหลการค้าการขายถึงขั้นลงทุนซื้อเครื่องสกรีนมาเพื่อทำเคสโทรศัพท์ขายและเป็นแม่ค้าตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม จนถึงวันที่เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาดูแลโรงงานสกรีนเสื้อของตัวเองอย่างเต็มตัว รวมทั้งได้รับโอกาสให้ทำงานละเอียด หรืองานยากๆ ที่โรงงานอื่นไม่รับทำอยู่เสมอ จากตัวอย่างงานตรงหน้า คงไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามถึงความเข้าอกเข้าใจวงการอุตสาหกรรมผ้าของเธอว่า มีมากมายขนาดไหน

“เราแค่อยากให้รู้ว่า มีคนทำงานแบบนี้อยู่ เพราะฉะนั้น ตอนไปซื้อของจะได้รู้ว่า บางทีก็อย่าไปต่อเขาเลย หรือก่อนที่จะซื้อเสื้อสักตัวก็ลองคิดดูว่ามันคุ้มมั้ย อย่างน้อยเราก็อยากให้รู้ว่า งานปักพวกนี้มาจากฝีมือเด็ก มีแรงงานอยู่เบื้องหลัง ไม่ใช่ซื้อไปแล้วสุดท้ายเสื้อก็ถูกส่งกลับมาที่บังกลาเทศ กัมพูชาหรือลาว ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตแล้วบอกว่าเป็นเสื้อบริจาค เพราะมีหลายครั้งที่คนออกมาพูดถึงเรื่อง Fast Fashion กับ Slow Fashion แต่ไม่มีอะไรคืบหน้าเลย”

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

สิ่งสำคัญหากวันหนึ่งผู้บริโภคอย่างเราๆ อยากจะผันตัวไปเป็นผู้ผลิตเสื้อบ้าง แพรวยังเสริมว่า การศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญมากๆ ในระบบอุตสาหกรรม เพราะทุกวันนี้เธอได้พบกับแม่ค้าวัยใสที่อายุน้อยลงทุกที

“เรายินดีกับความสำเร็จตอนอายุยังน้อยนะ เพราะเราก็ขายของตั้งแต่ยังเด็กเหมือนกัน แต่ว่าเด็กมักจะไม่เข้าใจกลไกราคาจึงตั้งราคาต่ำมาก บางทีก็อยากขายขำๆ เอากำไรแค่ 5 บาท เจ๊งก็เลิก จนทำให้ในอินสตาแกรมตอนนี้มีแบรนด์หลายแบรนด์ที่เปิดมาขายแค่ล็อตเดียวแล้วต้องเลิก เพราะสู้ราคาเด็กเหล่านี้ไม่ไหว” แพรวเล่าให้เราฟังว่า นอกจากสิ่งที่เธอเจอตามร้านค้าออนไลน์อยู่ทุกวันแล้ว เธอเองก็ยังเจอเรื่องเหล่านี้กับตัว เมื่อบางครั้งก็มีเด็กๆ ที่นึกสนุกอยากจะขายเสื้อผ้า จึงมาสั่งทำแต่เกิดล้มเลิกความตั้งใจเสียก่อน ในที่สุดก็ไม่มารับของจนต้องทิ้งไว้ที่โรงงานอย่างนั้น

ยิ่งไปกว่านั้นแพรวยังย้ำกับเราตลอดว่า การเปิดเผยความจริงเรื่องคุณภาพสินค้าก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่น้อยคนนักจะกล้าทำ “เราไม่ได้ว่าคนที่ไม่มีกำลังซื้อนะ แต่จะดีกว่าไหมถ้าผู้ประกอบการผลิตใส่ใจคุณภาพมากขึ้น แม้จะเป็นของราคาถูกแต่ควรมีคุณภาพโอเคในระดับหนึ่ง ผู้บริโภคควรมีสิทธิ์รู้นะ ว่าเสื้อที่ไปใส่สัก 3 – 4 ครั้ง มันจะเริ่มย้วย คนจะชอบคิดว่าก็ใส่ๆ ไปเหอะ 3 วันแล้วค่อยทิ้งก็ได้ แต่มันไม่ใช่”

ช่างตัดเสื้อ ช่างสกรีน ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย

“หลายคนจะติดภาพการทำงานในวงการแฟชั่นว่า ต้องฉายภาพลักษณ์สวยหรูเสมอ แต่มันไม่ใช่เลยนะ นี่คืออุตสาหกรรม นี่คือการทำมาหากิน เพราะเราก็ต้องการเงินเหมือนกัน” แพรวเล่าต่อถึงที่มาที่ไปของชื่อ ทำ-มา-หา-กิน ให้เราฟัง เพราะเธอมองว่านอกจากเสื้อผ้าสวยๆ บนราวแขวนตามห้างร้านต่างๆ แล้ว ลึกลงไป งานแฟชั่นแต่ละชิ้น ล้วนต้องอาศัยทั้งฝีมือและพลังของคนอีกนับสิบชีวิตในการช่วยสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดขึ้นจริง แต่หลายๆ ครั้ง พวกเขากลับถูกมองข้ามและละเลยไปยังปลายทางซึ่งก็คือเสื้อผ้าสวยงามที่ถูกพับเรียบร้อยอยู่ในถุง

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

ในฐานะเด็กคนหนึ่งที่เติบโตในฝั่งธน ย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องวัสดุอุปกรณ์และการตัดเย็บทุกรูปแบบทำให้แพรวคลุกคลีกับภาพของแรงงานฝีมือเหล่านี้เป็นอย่างดี แถมโรงงานของเธอในตอนนี้ ที่เราได้โอกาสเดินวนอยู่หลายรอบก็ยังอยู่ในย่านที่บ้านหลังเล็กหลังน้อยยังคงติดป้ายประกาศรับงานตัดเย็บและขายสินค้ายกโหลสำหรับการทำงานแฟชั่นอยู่เต็มไปหมด

เธอเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจไปกับเธอ

“ข้างบ้านแพรวเป็นชุมชนแออัดเล็กๆ ที่เย็บผ้าส่งไปหลายที่แต่รายได้ต่ำมาก เย็บเสื้อตัวหนึ่งได้เงินแค่ 3 บาท แล้ววันหนึ่งเกิดไฟไหม้บ้านทั้ง 70 หลังตรงนั้น ไฟลามไปเร็วจนไม่เหลืออะไรเลย เราเห็นคนที่เสียใจและคนที่ต้องขนจักรซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตเขาออกมา”

จากเหตุการณ์ในวันนั้นบวกกับเรื่องต่างๆ ที่เธอพบเจอทั้งในฐานะคนในชุมชนและแม่ค้ามาตลอดหลายปี แพรวคิดอยากจะนำเสนอเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการผ้าซึ่งก็คือ ชุมชนรอบบ้านและโรงงานของเธอ ที่มีมากกว่าภาพลักษณ์กับดีไซน์สวยหรู เพราะกว่าจะออกมาเป็นภาพสวยงามแบบที่เราเห็นกันตามท้องตลาด ความสำเร็จของแบรนด์เสื้อผ้าไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กขนาดไหนต่างต้องแลกมาด้วยแรงกายและแรงใจของพนักงานตัวเล็กๆ มากมาย ตั้งแต่คนปลูกฝ้าย คนออกแบบคัตติ้ง คนเย็บผ้า และอีกสารพัดชีวิตที่เราคงไม่สามารถไล่นับให้ครบได้ง่ายๆ เรื่องน่าเศร้าก็คือพวกเขาเหล่านั้นล้วนมีคุณภาพชีวิตที่ต่างกันลิบลับจากภาพของงานเสื้อผ้าส่วนใหญ่ที่เราได้เห็น

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มทำคอนเทนต์แนะนำสถานที่ลึกแต่ไม่ลับสำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเริ่มต้นการทำธุรกิจเกี่ยวกับงานผ้าด้วยตัวเอง อยากซื้อผ้าต้องไปที่ไหน อยากซื้ออุปกรณ์ต้องทำยังไง วัดสน สำเพ็ง หรือเจริญรัถ ‘ทำ-มา-หา-กิน’ บอกเราได้ทุกอย่าง “ในวงการแฟชั่นจริงๆ ไม่มีใครมาบอกเราหรอก เพราะเรื่องแบบนี้เขาไม่พูดกัน แต่เรากลับรู้สึกว่า จะกลัวไปทำไมในเมื่อความจริงเราควรจะแข่งกันที่แพทเทิร์นหรือดีไซน์มากกว่าลายผ้า นั่นเป็นเหตุผลที่เราอยากจะแนะนำร้านเหล่านี้ให้คนได้รู้ เพราะเขาก็ต้องขายของ เขาต้องการรายได้เหมือนกัน”

พา-มา-หา-ผ้า

ถ้าติดตามอ่านคอนเทนต์ของแพรวไปเรื่อยๆ สักวันเราก็คงทำมาหากินกับธุรกิจแฟชั่นได้ไม่ยากนัก

แต่ก่อนที่จะไปไกลขนาดนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาไม่แพ้คอนเทนต์ที่แพรวสรรหามาเล่าให้เราฟังและรับรองได้เลยว่าคงไม่ได้เจอที่ไหนอีกแล้ว (เพราะไม่มีใครกล้าเล่า) ก็คงหนีไม่พ้นกราฟิกสวยๆ ฝีมือของ ดาส-อติรุจ ผาอ่อน ดีไซเนอร์คนเดียวของเพจที่เป็นทั้งเพื่อนและผู้ร่วมก่อตั้งเพจขึ้นมาพร้อมกับแพรว

“เดิมทีดาสเขาตักไอติมขายทั่วไป งงใช่มั้ย” ใช่ เรางง

“ดาสเรียนมหาวิทยาลัยแล้วก็ออกไป แต่ตอนนี้ดาสทำกราฟิกได้เลิศหรูอลังการประหนึ่งคนจบปริญญาตรี ซึ่งเรารู้สึกว่า คนแบบนี้มันเจ๋ง ถึงนี่จะเป็นเรื่องปกติมากๆ แต่เรามองว่ามันเป็นอะไรที่จริง เราเชื่อในคนที่เมื่อถึงจุดที่แย่ที่สุดแล้วเขาสู้ชีวิตขึ้นมา เพราะซอยที่เราอยู่ก็มีคนแบบนี้เยอะมาก” แพรวเสริมว่านี่คือจุดเด่นที่ทำให้เพจสามารถเล่าเรื่องได้สมจริงและเป็นอิสระมากๆ เพราะเธอไม่มีกรอบในการทำงานพร้อมทั้งยังเปิดกว้างให้กับไอเดียของเพื่อนร่วมงานเสมอ

นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้ในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา เพจ ‘ทำ-มา-หา-กิน’ สามารถเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านเนื้อหาเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเสื้อผ้า แนะนำร้านผ้าที่เราอาจไม่เคยรู้ว่า มีอยู่ในพาหุรัด หรือพาเราบินไปไกลถึงร้านขายผ้าที่ประเทศจีน ซึ่งเธอคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่อยากจะทำงานด้านแฟชั่นหรืออย่างน้อยก็สำหรับคนที่ผ่านไปผ่านมาแล้วกดแชร์โพสต์เล่าประสบการณ์ของตัวเองบนหน้าไทม์ไลน์

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

เพราะแพรวเชื่อว่างานอุตสาหกรรมคือ งานฝีมือดีๆ ที่จะสามารถเชื่อมโยงผู้คนที่มีแนวคิดเหมือนเธอเข้าไว้ด้วยกันจากคอนเทนต์รูปภาพธรรมดาๆ เราจึงเริ่มมีโอกาสได้เห็นงานวิดีโอสัมภาษณ์ดีไซเนอร์ หรือผลงานครีเอทีฟที่แพรวลงมือไปสัมภาษณ์ด้วยตัวเองอีกหลายชิ้น เพื่อนำไปสู่งานเวิร์กช็อปน่าสนใจที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ ลากยาวไปถึงงานปลายปีที่เธอบอกว่า มันคือบทสรุปของการทำเพจ ‘ทำ-มา-หา-กิน’ มาตลอด 1 ปี

“ปลายปีเราจะจัดงานเพื่อโชว์ว่า งานแฟชั่นหนึ่งชิ้นต้องมีอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่การปลูกคอตตอนเลย ที่ไทยปลูกฝ้ายที่ไหนบ้าง แล้วถ้าไม่ใช่ที่ไทยเราใช้ของที่ไหน ใช้เคมีอะไร คอตตอนของจริงกับปลอมต่างกันยังไง มีผลยังไงเวลาเอาไปใช้บ้าง ไปดูการสเกตช์ภาพ การทอผ้า ดูการคิดงาน เหมือนเป็นนิทรรศการให้คนมาดูขั้นตอนในการทำอุตสาหกรรม

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

“จริงๆ แล้ว งานแต่ละแบบมีมาตราฐานราคาของตัวเอง คนเย็บ คนพ้ง คนขึ้นจีบ ราคาเขาต่างกันนะ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าพวกเขาเหล่านั้นโดนรับเหมาให้ทำทุกอย่าง พอให้ราคาถูกก็ยังไปขอกดราคาลงอีก เพราะคิดแต่จะแข่งขันกัน ดังนั้น เราจะโชว์สิ่งเหล่านี้ให้เห็นเลย คนจะได้รู้ว่าพื้นที่ไหนมีคนเชี่ยวชาญด้านการทำอะไร เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้ชุมชน”

ไม่เพียงแค่คนธรรมดาที่อาจจะแวะเวียนมาเยี่ยมชมงาน แต่แพรวคาดหวังไปถึงผู้ประกอบการและดีไซน์เนอร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับวงการแฟชั่นโดยตรง ที่แพรวย้ำกับเราหลายครั้งว่า พวกเขาเหล่านี้ต่างหากล่ะที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักและจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการช่วยผลักดันวงการแฟชั่นให้เกิดความเกื้อกูลกันมากขึ้นไปในอนาคต เธอบอกกับเราว่า เพียงแค่ตระหนักคิดให้ดีก่อนผลิตสินค้าสักชิ้นออกมา ว่ สิ่งเหล่านั้นจะคุ้มค่าทั้งต่อตัวผู้ผลิตและผู้บริโภคไหม และมองย้อนกลับไปถึงต้นตอว่ามีแรงงานใดที่กำลังเดือดร้อนกับค่าแรงที่โดนกดต่ำลงเรื่อยๆ บ้างหรือเปล่าเท่านั้นก็มากพอแล้ว

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

เพราะรักจึงเข้าใจ

“ความสนุกของเราคือการได้บอกหลายๆ แบรนด์ที่เวียนเข้ามาทำงานกับเราว่า เห้ย แก เข้าใจด้วย” แพรวพูดติดตลกกับเราในตอนที่เราถามว่า เธอได้อะไรจากการทำเพจนี้ เพราะงานประจำก็มี เงินก็ไม่ได้ แถมยังต้องลงแรงไปสัมภาษณ์และทำเองหมดทุกอย่าง ซึ่งพอเราถามเธออีกรอบว่า แล้วสิ่งที่เธอทำเหนื่อยขนาดไหนกัน เธอตอบเราได้ทันทีว่าเหนื่อยมาก แต่แพรวก็อยากจะให้เรื่องเหล่านี้ไปได้ไกลที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้ เพื่อให้คนอีกมากมายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจว่า ยังมีชีวิตอีกหลายพันชีวิตที่เหนื่อยยิ่งกว่า

แต่ถึงจะเหนื่อยขนาดไหน แพรวบอกกับเราว่าสิ่งที่เธอได้กลับมาก็คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม เพราะจากความแม่นยำเรื่องผ้าที่แพรวมีเป็นทุนเดิมแล้ว ทุกวันนี้เธอยิ่งมีโอกาสเปิดโลกให้กว้างออกไปอีก หรือบางครั้งการออกไปเจอผู้คนในวงการอุตสาหกรรม ก็ทำให้เธอได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องดีๆ กับคนที่มีแนวคิดใกล้เคียงกัน มากไปกว่านั้นแพรวยังพูดกับเราด้วยความภูมิใจว่า

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

“เราได้พัฒนาคนในพื้นที่ด้วย เพราะเราคิดว่าคนทำงานฝีมือกับคนใช้แรงงานไม่ได้ต่างจากคนปั้นเซรามิกหรือทอผ้านี่หน่า ดังนั้น เขาจะจบปริญญาตรีไม่ได้เหรอ เพราะว่าถ้าเขาจบปริญญามา เขาจะเก่งขนาดไหนกันนะ ซึ่งพนักงานของเราได้มีโอกาสเห็นงานจากหลายๆ คน ทั้งผ่านการไปพูดคุยตอนทำเพจ หรือคุยกับซัพพลายเออร์อื่นๆ ถ้าวันหนึ่งเขาอยากจะไปทำอะไร เราก็แฮปปี้กับเขาหมดเลย” แพรวยิ้ม

คงไม่ต้องถามถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เพราะทั้งหมดนั้นก็คงจะวัดได้จากยอดไลก์เกือบ 20,000 ที่เป็นเครื่องการันตีถึงผลตอบรับตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา แต่มากไปกว่านั้น เราสัมผัสได้ถึงความสนุกสนานและความตั้งใจอันแรงกล้าที่เริ่มต้นจากความใส่ใจในสายอาชีพของแพรวที่อยากจะเห็นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่

จนเราเองยังรู้สึกว่า บางทีในฐานะผู้บริโภค การคิดดีๆ อีกสักครั้งก่อนจะหยิบเสื้อออกจากราวไปจ่ายเงินก็เป็นเรื่องที่น่าลองทำอยู่เหมือนกัน

ทำ-มา-หา-กิน, page, แฟชั่น

Writer

Avatar

เอม มฤคทัต

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ที่อยากจะลองทำงานเขียน หลงรักทุกอย่างที่เป็นสีพีชและภาพยนตร์จิบลิ มีความสามารถพิเศษในการกินข้าววันละ 5 มื้อ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ