“วันนี้ ชั้นจะมารีวิว ไม้เท้าคนแก่”

สตรีสูงวัยในคลิปวิดีโอเริ่มต้นทักทายผู้ชมทางบ้าน ก่อนจะจัดแจงแนะนำไม้เท้าแบบที่ 1 แบบมีไฟฉายที่ลูกสาวซื้อให้

นับจนถึงวันนี้ มีคนดูคลิปคุณยายรีวิวของชิ้นแรกไปแล้ว 2 แสนครั้ง จะว่าไปตัวเลขนี้เป็นตัวเลขคนดูพื้นฐานของเพจรีวิวที่ทุกคนคุ้นเคย

แต่สำหรับ คุณยายแกะกล่อง เพจน้องใหม่ซึ่งเปิดทำการได้ไม่ถึงเดือน ถือเป็นตัวเลขที่ไม่ธรรมดา

แม้จะออกอากาศได้เพียง 3 ตอน ได้แก่ รีวิวไม้เท้า รีวิวแว่นขยาย และรีวิวยาสามอย่าง แต่นั่นก็มากพอที่ทำให้ The Cloud อยากพูดคุยกับสองยายหลานแอดมินเพจคุณยายแกะกล่องถึงวิธีคิดและวิธีทำเพจรีวิวให้ออกมาสนุกสนาน และเข้าอกเข้าใจคนสูงวัย จนดูแล้วยิ้มตามไปตลอด

คุณยายปราณี อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ แนะนำตัวกับเราว่าอีกนิดเธอจะมีอายุ 91 ปี ขัดกับภาพลักษณ์ที่เห็นตรงหน้า และความกระฉับกระเฉงขณะวางมือจากเกมทายคำตัวอักษรที่เล่นค้างไว้ตอนเช้า แล้วเดินไปหยิบข้าวของเครื่องใช้ที่ปรากฏในรายการมาเล่าให้เราฟังอีกครั้งด้วยตาที่เป็นประกายกว่าที่เห็นในจอ

นอกจากคุณยายแล้ว เราต้องยกความดีความชอบให้กับ ปัน-ปาณศานต์ พัฒนกุลชัย หลานชายวัย 23 ปี ฟรีแลนซ์กราฟิกดีไซเนอร์ และบัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอาล่ะ เวรี่กู๊ด!

https://www.facebook.com/unboxingwithgrandma/videos/1801718589879566/

ตอนเริ่มทำเพจ คุณยายเป็นคนขอให้ปันมาช่วยทำ หรือปันมาขอให้คุณยายทำคะ

คุณยาย : ปันปันเขาคงเห็นว่าดิฉันรู้สึกเหงา ทั้งๆ ที่ดิฉันไม่เคยบ่นนะ เขาก็มาถามว่า ‘ทำ เพจกันมั้ย’ เพราะเห็นว่าดิฉันมีเรื่องราวมากมายที่อยากจะพูด ดิฉันรู้สึกว่าก็ดีเหมือนกันนะ เพราะเดี๋ยวนี้ดิฉันอ่านหนังสือไม่ได้ ถือเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง เวลาว่างที่มีมันเยอะเกินไป ปกติดิฉันจะทำงานตลอด อยู่เฉยๆ ไม่ได้เลย ไม่ซ่อมเสื้อผ้า ก็ทำกับข้าว ออกไปช้อปปิ้ง และที่ชอบมากคืออ่านหนังสือ รับทำงานพิเศษแปลหนังสือบ้างนิดๆ หน่อยๆ ช่วงที่ตาไม่ดีดิฉันก็ต้องเลิกทำ

อะไรทำให้คุณปันรู้สึกว่าความเหงาของยายเป็นเรื่องสำคัญ

ปัน : ผมชอบเล่นสนุกกับคุณยายอยู่แล้ว จริงๆ ตอนที่ชวนท่านมาทำก็คิดภาพในใจไว้ว่าเราน่าจะทำเรื่องที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้บ้าง ท่านเป็นเหมือนนักวิชาการในบ้าน มีความรู้เยอะมาก ดังนั้น สิ่งที่ทำออกมาจึงไม่ได้มีแค่ความสนุก แต่มีเรื่องอื่นๆ ด้วย

คนสมัยใหม่ชอบมองว่าผู้ใหญ่เข้าถึงยาก เราก็เลยอยากใช้อีโมจิเข้ามาเพื่อให้รู้สึกเข้าถึงง่ายขึ้น ต้องการจะสื่อว่าเป็นคุณยายรุ่นใหม่ เป็นคุณยายที่เข้ากับยุคสมัย ส่วนชื่อรายการ ‘คุณยายแกะกล่อง’ กล่องในความหมายแรกคือข้าวของของคุณยาย กล่องในความหมายที่สองคือประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมากว่า 90 ปี การแกะกล่องในที่นี้ก็หมายถึงกล่องความรู้ของคุณยายที่เราหยิบมาเล่าให้ฟัง จริงๆ เป็นเพราะคุณยายความจำดีด้วยแหละ

คุณยาย : ความจำดีมากไป

คุณยายแกะกล่อง
คุณยายแกะกล่อง

ใครเป็นคนเริ่มต้นเสนอไอเดียรีวิวไม้เท้าคนแก่

คุณยาย : เป็นความตั้งใจที่จะพูดถึงของใช้เล็กๆ น้อยๆ ที่จำเป็นกับผู้สูงอายุ และของใช้ที่คนสมัยใหม่ไม่ค่อยรู้จัก เช่น เรื่องฝาชี ทำไมเราต้องใช้ฝาชี และฝาชีมีกี่แบบ สนุกมากนะ

ดิฉันเริ่มคิดจากตัวดิฉันเองว่าทำไมของเหล่านี้น่าใช้ รายการตอนแรกจึงเริ่มจากของใช้ที่จำเป็นที่สุดสำหรับคนแก่ ซึ่งก็คือไม้เท้า รวมไปถึงอาจจะมีเรื่องอื่นๆ ที่ดิฉันอยากพูดถึง เช่นตอนนี้กำลังสนใจการใช้ภาษาในสมัยนี้ ดิฉันรู้สึกว่าภาษาไทยยุคหลังมีสีสันมากเกินไป เช่น ฟุตบอลใช้ฟาดแข้ง ดิฉันคิดว่าเป็นคำที่แสดงความรุนแรง อาจจะเกิดทัศนคติที่ไม่ดี ทำให้คนเข้าใจว่าความรุนแรงเป็นของธรรมดา กลายเป็นเรื่องเคยชิน จะเห็นว่าคนไทยเดี๋ยวนี้อารมณ์เสียง่าย มีเรื่องนิดหน่อยก็ขึ้นต่อสู้กัน ดิฉันถึงบอกว่าเกี่ยวข้องกับภาษาและการสื่อสาร

จริงๆ แล้วเป็นเพจที่ทำขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับใครหรือกลุ่มไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า

คุณยาย : ดิฉันอยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นและเข้าใจว่าผู้สูงอายุคิดอะไรถึงทำอย่างนั้น ตอนเด็กๆ ดิฉันเองก็เคยรำคาญคนแก่และเคยนินทาในใจเหมือนกัน พอมาอายุมากเข้าเองก็ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง

คุณยายแกะกล่อง

ย้อนกลับไปตอนที่คุณปันชวนทำเพจ ตอนนั้นงงมั้ย แล้วเข้าใจว่าเพจคืออะไร

คุณยาย : ดิฉันรู้จักนะ เพราะลูกหลานเล่นกันเรื่อยเลย ตัวเองเล่นไม่ได้เพราะมองไม่เห็น ดิฉันมองว่าคนสมัยนี้ใช้เทคโนโลยีมากเกินไป ถ้าใช้เพื่อความบันเทิงเวลาว่างจริงๆ ก็ไม่ว่า แต่ถ้าตลอดเวลาก็คงไม่ไหว ดิฉันไม่เห็นด้วย

อีกอย่างที่ไม่ชอบเพราะว่ามันทำให้คนอ่านหนังสือน้อยลง ใช้ภาษาสั้นๆ จนมันเพี้ยนทำให้เมื่อต้องเขียนจริงๆ แล้วจะมีปัญหา เมื่อก่อนเวลาอยู่ไกลกันต่างแดน ดิฉันจะจดหมายถึงบ้านทุกอาทิตย์ นั่นทำให้เราเรียนหนังสือเป็น รู้จักเรียบเรียงความคิด แต่คนสมัยนี้ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ นานๆ จะได้รับโปสการ์ดจากหลานที่อยู่ต่างประเทศ

แต่รายการคุณยายอยู่ในเฟซบุ๊กนะคะ

คุณยาย : ก็ไม่เลว ถ้าเราใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าหากว่าใช้มากไปจนติด หรือใช้ส่งต่อเรื่องจุ๊บจิ๊บ เรื่องไม่เป็นเรื่องมันก็ไม่ดี

ไหนบอกไม่ใช้ แล้วทำไมคุณยายรู้คะว่าคนบนโซเชียลเขาคุยกันเรื่องอะไรบ้าง

คุณยาย : ดิฉันก็ฟังจากที่เขาพูดกันนี่แหละ ดิฉันคิดว่าการที่จะสร้างข่าวขึ้นมาจากคนหนึ่งคน ส่งต่อไปถึงอีกคน แล้วคนรับสารนั้นก็เชื่อและส่งต่อๆ ไป ซึ่งมันเสียหาย ดิฉันคิดว่ามันไม่เป็นธรรมกับคนที่เขาถูกกล่าวหา ดิฉันถูกสอนมาว่าอย่าเชื่อคนง่าย จะเชื่ออะไรต้องคิดให้แน่ใจดีๆ ก่อน คำแนะนำก็คือ ฟังได้นะ แต่ถ้าไม่แน่ใจอย่ากระจายข่าว คนเราไม่ควรทำร้ายกันโดยที่คนอีกฝั่งเขาตอบโต้ไม่ได้

ปาณศานต์ พัฒนกุลชัย
ปาณศานต์ พัฒนกุลชัย

การทำเพจกับคุณยายทำให้คุณต้องปรับตัวหรือวิธีการทำงานยังไงบ้าง

ปัน : นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเล่นสนุกแบบจริงจัง ก่อนหน้านี้ผมชวนยายมาแต่งตัวถ่ายรูปสำหรับทำงาน thesis สำหรับการทำรายการนั้น ตอนที่ชวนเสร็จก็ยกกล้องลงมาจัดไฟ แล้วตั้งกล้องถ่ายเลย ส่วนวิธีการทำงานร่วมกัน อย่างแรกเราคงต้องคิดว่าเขาไม่ใช่คนแก่ ปฏิบัติต่อเขาเหมือนคนที่อายุเท่ากัน ไม่ได้หมายว่าให้ไม่รู้จักเด็กรู้จักผู้ใหญ่นะ แต่เป็นการแสดงความใส่ใจและทำให้เขารู้สึกสนุกมากขึ้น เราเองก็จะทำงานสนุกขึ้น ไม่ว่าจะเล่นหรือจริงจัง

แล้วคุณยายล่ะคะ มีวิธีเข้าหาเด็กรุ่นใหม่ยังไงบ้าง

คุณยาย: ดิฉันไม่เห็นว่าวัยเป็นเรื่องสำคัญนะ เด็กหรือผู้ใหญ่ก็เหมือนกันนะ เราอยากคุยเราก็คุย บางทีก็มากไป (หมายถึงเด็กหรือผู้ใหญ่คะ) ดิฉันนี่แหละ เขาอาจจะคิดอะไรบางอย่าง หรือมีเรื่องที่ไม่รู้ แล้วไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราสามารถช่วยเขาได้ก็คงจะดี

คุณยายแกะกล่อง
คุณยายแกะกล่อง

แล้วคุณยายรู้จักคำวัยรุ่นๆ คำไหนบ้าง

คุณยาย : บางอย่างฟังไม่รู้เรื่อง อย่างฟรุ้งฟริ้ง ไม่รู้แปลว่าอะไร และไม่ชอบเท่าไหร่ ที่ไม่ชอบเพราะว่าราชบัณฑิตไปใส่เป็นคำศัพท์ ดิฉันรู้ว่าภาษาสแลงเปลี่ยนได้ตลอด ดังนั้น คำพวกนี้ไม่ควรนำมาบรรจุรวมไว้พจนานุกรม

พูดถึงเปิ๊ดสะก๊าดที่คนชอบมาคอมเมนต์ ทำให้นึกถึงคำที่ดิฉันใช้สมัยก่อน คนทำอะไรเปิ่นๆ เราเรียกว่า ‘เชย’ มาจากลุงเชยในเรื่อง สามเกลอ ของ ป. อินทรปาลิต สมัยนั้นเวลาขึ้นรถไฟหรือรถรางเขาจะคิดราคาตามเบาะที่นั่ง ชั้นหนึ่งจะมีเบาะ ดังนั้น เมื่อลุงเชยต้องขึ้นสามล้อแกก็เลยไม่ยอมนั่งที่เบาะ เลือกนั่งบนพื้นที่วางรองเท้าเพราะกลัวจะเสียสตางค์มาก หรืออย่างคำว่า ‘แห้ว’ มาจากเจ้าแห้วคนใช้ของเจ้าคุณปัจจนึกพินาศที่ชอบเก็บเหล้าที่เหลือของเจ้าคุณไว้กินเอง จนวันหนึ่งเจ้าคุณจับได้จึงโดนเอ็ดก็เลยอดกิน มีอีกๆ คำว่า ‘เต้ยเลย’ เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่า ‘เจ๋ง’

รู้ตัวไหมคะว่าคำว่า ‘เวรี่กู้ด’ ที่ใช้ในคลิปน่ารักมากเลย

คุณยาย : จริงๆ ไม่ชอบให้ตัวเองพูดไทยคำอังกฤษคำหรอกนะ เวลาทำรายการจริงๆ เราไม่ได้ทำสคริปต์ไว้ล่วงหน้า บางทีมันก็หลุดออกมา ไปๆ มาๆ ปันปันเขาบอกว่าดี แต่เราก็พยายามใช้ให้น้อยที่สุด

คุณยายแกะกล่อง

อะไรคือความงดงามของการเป็นคนแก่

คุณยาย : ดิฉันสารภาพว่าดิฉันไม่ค่อยรู้สึกตัวว่าตัวเองแก่ขึ้น รู้สึกเหมือนเดิม ยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม ตอนที่เริ่มเปลี่ยนจริงๆ คงเป็นตอนที่ตาเริ่มมองไม่ค่อยเห็น ดิฉันเลิกขับรถตอนอายุ 80 กว่าๆ แต่ก็ยังชอบเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถไฟฟ้าเพราะมันสะดวก ส่วนมากไปซื้อของที่เซ็นทรัลชิดลม ขึ้นรถไฟฟ้าเก่งเลยนะ แต่ลูกๆ ชอบห้าม

เมื่อก่อนดิฉันเป็นคนชอบทำอะไรเร็ว เดี๋ยวนี้พอลุกขึ้นจากที่นั่งก็ต้องเข้าเกียร์หนึ่งก่อน ถ้าเดินทันทีจะซวน เรื่องเดินเหินดิฉันก็เป็นคนเดินเร็ว เมื่อก่อนต้องใส่ส้นสูง 3 นิ้วเป็นอย่างน้อย ใส่ตั้งแต่เรียนอยู่ต่างประเทศจนกลับมาที่ไทย รู้ไหมถ้าให้เดินแข่งกับลูกศิษย์ดิฉันรับรองว่าเดินชนะ แต่พออายุมากขึ้นส้นก็ต้องเตี้ยลง คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ว่าผู้สูงอายุใส่รองเท้าราบๆ เลยไม่ได้นะ เพราะเขารู้สึกเหมือนเดินถอยหลังตลอดเวลา

แว่นขยาย

เรื่องร่างกายที่เปลี่ยนไปและความเจ็บไข้ เป็นเรื่องใหญ่แค่ไหนของคนวัยนี้คะ

คุณยาย : ดิฉันต้องพยายามไม่เป็นทุกข์ มองโลกในแง่ดี เวลาเราเจ็บไข้ขึ้นมา คนที่เดือดร้อนมากที่สุดไม่ใช่ลูกหลาน แต่เป็นเรา เพราะฉะนั้น ต้องพยายามรักษาตัวไม่ให้เจ็บให้ไข้ วิธีง่ายๆ ก็คือ เชื่อร่างกาย เวลาเราหิวเราก็ทาน กินเมื่อร่างกายต้องการ อิ่มแล้วก็อิ่ม เดินเร็วไม่ได้ก็ต้องยอมเดินช้าๆ

จะเรียกว่าความดีหรือเปล่านะ ดิฉันเชื่อเสมอว่าเวลาจะไปไหนมาไหนอย่าให้ใครเขารู้สึกสมเพช ถึงแม้เราจะกำลังเป็นทุกข์ เราก็ไม่ต้องทำท่าทางให้คนอื่นเห็นและเดือดร้อน เวลาใครถามว่าสบายดีมั้ย เราก็จะไม่ฟูมฟาย แต่ตอบสั้นๆ แค่สบายดี เพราะไม่ต้องการให้คนที่ฟังรู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนไปด้วย

ดีจังเลยค่ะ เพราะคนยุคนี้เราชอบแสดงความเศร้า ความทุกข์ ของตัวเองออกมามากมายเหลือเกิน

คุณยาย : อันนั้นมากไป

แล้วความสนุกของการเป็นคนวัยนี้ล่ะคะ

คุณยาย : แม้จะมีข้อเสียคือร่างกายไม่อำนวยให้ทำอะไรได้ดั่งใจ แต่ความสนุกของวัยนี้คือการพบปะเพื่อนฝูง นอกจากกลุ่มเพื่อน 3 กลุ่มที่พบกันทุก 1 – 2 เดือน ยังมีกลุ่มเพื่อนที่ทำงานด้วย ดิฉันชอบพบคน ชอบคุย สนุกที่จะได้พบคนแปลกหน้า ไม่นานมานี้ดิฉันไปซื้อของกับลูกสาว ระหว่างที่รอจ่ายเงิน ดิฉันก็เดินออกมารอข้างนอก ก็มีผู้หญิงฝรั่งและผู้ชายแขกเข้ามาขอถ่ายรูป คุยไปคุยมาจนรู้จักว่าเขามาจากที่ไหน แต่กิจกรรมที่สนุกมากคือการพบปะลูกหลาน อย่างน้อยต้องพบปะกินข้าวกันทุกเดือน สำหรับดิฉันการมีลูกหลานมากมายทำให้ชีวิตเรามีความหมาย

เบื้องหลังการทำงานร่วมกันของสองยายหลานแอดมินเพจ 'คุณยายแกะกล่อง' และแง่งามของความสดใสสูงวัย
เบื้องหลังการทำงานร่วมกันของสองยายหลานแอดมินเพจ 'คุณยายแกะกล่อง' และแง่งามของความสดใสสูงวัย

แล้วความว่างในวัยนี้มันเลวร้ายแค่ไหนคะ

คุณยาย : เลวร้ายมาก (ลากเสียง) นั่งๆ นอนๆ ดูละคร ดิฉันทนไม่ไหว ต้องหาอะไรทำ ชอบอะไรสนุก อย่างการเล่น Sudoku

ทุกวันนี้ ตื่นมาก็ออกกำลังกายบนเตียง ยกขา งอขา ถีบจักรยานอากาศ 40 ครั้ง ชกมวยบนฟ้าแล้วถึงจะลุกจากเตียง จากนั้นดื่มน้ำอุ่นถ้วยโตๆ เข้าห้องน้ำ อาบน้ำอาบท่า แต่งตัว ทำเตียง ลงมาทานข้าว ไข่ลวก 2 ฟอง ขนมปัง 1 – 2 แผ่น หมูทอด และมะเขือเทศ กินแบบนี้เพราะมันเร็ว ไม่ชอบกินข้าวต้มเพราะมันอ้อยอิ่ง จากนั้นกินยา วัดความดัน นั่งทำเกมปริศนาภาษาอังกฤษ เปิดวิทยุไปด้วย ดิฉันชอบฟัง 95.5 TRS รายงานจราจร มีเรื่องที่เป็นประโยชน์อยู่ ระหว่างนั้นก็นั่งทำ Sudoku อักษรไขว้ ลุกขึ้นเดินย่อยอาหาร แต่ละวันดิฉันคิดเมนูอาหารกลางวันเอง แล้วก็ถึงเวลาละครตอนบ่าย พยายามหาอะไรทำให้มากที่สุด

ในฐานะที่ผ่านโลกมาเยอะมาก คุณยายมีคำแนะนำกับคนยุคนี้ที่กำลังสิ้นหวังกับสังคม ประเทศ หรือโลกเรายังไงบ้าง

คุณยาย : ดิฉันไม่เชื่อ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากตัวเราเอง ถ้าเราเห็นว่าอะไรไม่ดีเราก็ไม่ทำ หรือถ้าเห็นคนอื่นทำเราก็พยายามบอกเขา อย่าดูดาย ถ้าหากทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือมันจะดีเอง ดิฉันจึงชอบเรื่องจิตอาสา มันน่ารัก คนเราต้องไม่คิดถึงแต่ตัวเองเป็นใหญ่ แต่ต้องคิดว่าเราเป็นหนี้โลก เป็นหนี้แผ่นดิน เราเกิดมาเป็นคนอย่าให้เสียชาติเกิด ถ้าทุกคนทำแบบนี้ได้ คนที่ผิดพยายามกลับตัวเราก็ต้องอภัยให้เขา แต่ว่าเขาก็ต้องรู้สำนึกนะ

คำถามสุดท้ายแล้วค่ะ รู้สึกยังไงกับการเป็นเนทไอดอลตอนอายุ 91 ปีคะ

คุณยาย : ดิฉันไม่เป็นไอดอลหรอก คำนี้มันอาจจะมากเกินไป น่าจะเหมาะกับคนดีที่น่านับถือมากกว่า ถ้าจะเรียก เรียกคุณยายเฉยๆ ดีกว่านะ

เบื้องหลังการทำงานร่วมกันของสองยายหลานแอดมินเพจ 'คุณยายแกะกล่อง' และแง่งามของความสดใสสูงวัย
https://www.facebook.com/unboxingwithgrandma/videos/1807981839253241/
https://www.facebook.com/unboxingwithgrandma/videos/1816178218433603/

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล