ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ผมลืมสังเกตไปว่าในชื่อเพจ Sundae Kids มีตัวอักษร ‘s’ ต่อท้าย ซ้ำร้ายยังลืมสังเกตว่าในโลโก้แสนน่ารัก มีเด็กหญิงและเด็กชายอยู่ในนั้น

Sundae Kids

ผมจึงแปลกใจไม่น้อยที่เมื่อนัดพบเจอกันแล้วเจอหนึ่งหนุ่มและหนึ่งสาว ด้วยไม่เคยรู้มาก่อนว่าเพจที่ปัจจุบันมียอดคนไลก์กว่า 7 แสนนั้นสร้างโดยคนสองคน

โป๊ยเซียน-ปราชญา มหาเปารยะ และ กวิน เทียนวุฒิชัย คือคนทั้งสองที่ว่า

หากเรามองว่างานที่ออกสู่สายตาสาธารณะสะท้อนตัวตนคนทำคนวาด เท่าที่ติดตามเพจคอมิกไม่กี่ช่องจบทำให้ผมเดาล่วงหน้าว่าผู้ที่เป็นเจ้าของ Sundae Kids น่าจะเป็นคนขี้เล่นและมีอารมณ์ขันแบบเด็กๆ ทั้งยังเป็นคนสนใจและใส่ใจเรื่องความสัมพันธ์

ช่่วงหนึ่งของการพูดคุยโป๊ยเซียนบอกว่า เธอเป็นคนจำอะไรด้วยภาพ ผมจึงอยากลองวาดภาพชีวิตเธอด้วยตัวอักษรบ้าง  และหวังว่าคนอ่านคงเพลิดเพลินกับความ kid ของเขาและเธอ

Sundae Kids

ช่องที่ 1

“เราเป็นคนจำอะไรด้วยภาพ”

หากมองชีวิตของโป๊ยเซียนเป็นคอมิก ช่องแรกๆ ที่บอกเล่าชีวิตที่ผ่านมาน่าจะเป็นรูปเธอกำลังนอนอ่านการ์ตูนอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว และไม่ว่าเธอจะรู้ตัวหรือไม่ เราย่อมเห็นตรงกันว่าสิ่งที่เธออ่านที่ผ่านมามีส่วนหล่อหลอมเธอไม่น้อย

“สำหรับเราการ์ตูนไม่ได้ไร้สาระนะ” เธอเล่าเมื่อชวนเธอย้อนมองสื่อที่เรียกว่าการ์ตูน “จริงๆ เราเป็นคนอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก ต่อให้อ่านหนังสือสอบหรืออะไรก็ตาม เราเป็นคนจำอะไรด้วยภาพ เราจะชอบดูภาพมากกว่าอ่านตัวหนังสือ การ์ตูนเราอ่านมาหมดเลยนะ ตั้งแต่การ์ตูนตาหวาน Slam Dunk ก็อ่าน หรือหลายๆ เรื่องของ ไอ ยาซาว่า หนึ่งในนักเขียนการ์ตูนที่เราชอบ เพราะว่ามันไม่ได้หวานใส เขาจะมีความดาร์ค มันทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น รู้สึกว่าชีวิตมันไม่ได้สวยหรูนี่หว่าผ่านการ์ตูน

“เราชอบคิดว่าเขาทำได้ยังไงที่ให้มันสามารถเล่าอารมณ์ได้เยอะมากทั้งที่มันเป็นแค่ภาพ ทุกคนสามารถรับรู้ได้ แล้วอีกอย่างคือ มันได้ความรู้สึก ได้อารมณ์ ได้เห็นบรรยากาศ คือการ์ตูนมันไม่ใช่สำหรับเด็กอย่างเดียว ผู้ใหญ่ก็อ่านได้ เราเชื่อว่าอย่างนั้น” หญิงสาวย้ำหนักแน่นถึงการ์ตูนบนโลก ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปเพียงคอนเทนต์ในเพจของเธอ

ตอนนั้นมีความฝันอยากเป็นนักวาดเลยไหม” ผมสงสัย

“เรายังไม่ได้มีความฝันจะเป็นคนวาดการ์ตูน แค่ชอบอ่าน ชอบวาดรูป แต่ไม่ได้คิดถึงขนาดว่าวันหนึ่งฉันจะเป็นนักเขียนการ์ตูน เราแค่ชอบวาดรูป รูปไหนสวยก็ลองวาดตาม เราแค่รู้สึกสนุก”

‘แค่รู้สึกสนุก’ ผมได้ยินคำนี้มาบ่อยครั้ง และพบว่ามันคือสิ่งสำคัญของการเริ่มต้นบางอย่าง

เมื่อชีวิตเคลื่อนมาถึงทางแยกหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เชื้อความชอบการ์ตูนและทักษะในการวาดภาพประกอบในคอมพิวเตอร์ของเธอก็ได้ใช้งาน โดยกวินเป็นผู้เห็นว่าสิ่งที่อยู่ในตัวเธอนั้นน่าสร้างบางสิ่งบางอย่างที่หล่อเลี้ยงชีวิตได้โดยไม่ต้องพาตัวเองเข้าสู่ระบบงานประจำ จึงแนะนำว่าให้สร้างเพจ โดยชายหนุ่มจะทำหน้าที่คล้ายบรรณาธิการ คอยช่วยคิดเนื้อหาและแนะนำเรื่องลายเส้น ส่วนหญิงสาว นอกจากคิดแล้วเธอยังเป็นคนวาดภาพทุกภาพที่เราเห็น

และนั่นคือที่มาของเพจที่ใครหลายคนกดไลก์อยู่แล้ว-บางคนอาจกด See First ด้วยซ้ำ

เพจนั้นชื่อ Sundae Kids

Sundae Kids Sundae Kids

ช่องที่ 2

“มันเกี่ยวกับความรัก”

นับตั้งแต่วันแรกที่มีคนตามหลักหน่วยจนถึงวันนี้ที่มีคนตามหลักแสน เนื้อหาในเพจของเธอเล่าหลายๆ เรื่อง แต่เรื่องที่ผ่านตาผมบ่อย ผ่านเพื่อนๆ สาวๆ ที่แชร์มาในไทม์ไลน์มักเป็นเรื่องความสัมพันธ์

เธอและเขาสนใจอะไรในสิ่งนั้น ผมก็สงสัย

“ตอนแรกไม่ได้สนใจเป็นพิเศษ” กวินออกตัวก่อนที่โป๊ยเซียนจะเสริม “ไม่หรอก เหมือนเราอยู่กับเรื่องความสัมพันธ์ เราเจอทุกวัน ไม่ว่าจะกับตัวเองหรือกับคนรอบข้าง แม้เราไม่ได้ตั้งใจหรือวางไว้ว่าเราจะเน้นเล่าแต่เรื่องนี้ก็ตาม เราแค่คิดว่าเจอเรื่องราวที่เราชอบเราก็จะเขียน แต่พอวาดออกมามันดันเป็นความสัมพันธ์เยอะ ความจริงก็คิดนะว่าอยากเขียนเรื่องอื่นบ้าง ซึ่งถ้าวันหนึ่งเราเจอเรื่องถูกใจอื่นๆ เราก็อาจจะเขียนแหละ”

Sundae Kids Sundae Kids

เขาและเธอบอกว่าถ้าให้ย้อนวิเคราะห์ อีกสาเหตุหนึ่งที่เรื่องความสัมพันธ์กินพื้นที่ในไทม์ไลน์มากกว่าเรื่องอื่นเป็นเพราะสิ่งที่ทั้งสองเสพ ไม่ว่าจะเป็นหนังที่ดู เพลงที่ฟัง หรือหนังสือที่อ่าน

“ส่วนใหญ่ทั้งหนัง เพลง หนังสือ หลายๆ อย่างที่เราเสพมันพูดถึงความรัก เราคงเสพอะไรแบบนี้เยอะในชีวิตประจำวัน มันเลยมีส่วน เพราะมันมีอัตราส่วนเยอะกว่าในชีวิต”

หากเจาะลึกลงไปในคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์เราจะพบว่ามันถูกแบ่งเป็นความสัมพันธ์ที่สมหวังและผิดหวัง ซึ่งหากเราเชื่อว่าตัวเลขบ่งบอกความจริงบางอย่างได้ เราจะพบว่ายุคสมัยนี้เป็นยุคที่คนจำนวนไม่น้อยชื่นชอบความเจ็บปวด เสียใจ ผิดหวัง เมื่อยอดไลก์ของคอนเทนต์เหล่านั้นมันมักพุ่งทะยานอย่างมีนัยสำคัญ

Sundae Kids Sundae Kids

“จริงๆ เราไม่ใช่คนฟูมฟาย ไม่ใช่คนตั้งสเตตัสเวลาผิดหวังอะไรเลย แต่เราก็คิดว่าการที่โพสต์ซึ่งเกี่ยวกับความเศร้ามีคนชอบ อาจจะเป็นเพราะว่าเขาก็เป็นคนแบบเรา เขาอาจจะไม่ฟูมฟายในเฟซบุ๊กของตัวเอง แต่พอเขาเห็นเมสเสจที่เขาชอบ เขาก็เลยไลก์และแชร์โดยที่เขาไม่ต้องพูดด้วยตัวเอง

“อาจจะเป็นแบบนั้น เพราะเราก็เป็นแบบนั้นโป๊ยเซียนลองวิเคระห์

“แล้วต้องคำนึงถึงความจริงไหมในโลกของการ์ตูน” ผมสงสัย เพราะบางเหตุการณ์ในคอมิกของเธอก็ทำเอาคนสงสัยว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ

“ไม่ เราไม่ได้คาดหวังให้คนอ่านเชื่อ เราอยากให้คนอ่านรู้สึกมากกว่า สำหรับคนที่รู้สึกนะ อย่างตอนที่วิ่งสะดุดหินล้ม ถ้าคนที่ไม่อินเขาก็จะรู้สึกว่า อะไรเนี่ย คนเขาทำอย่างนี้กันด้วยเหรอ ซึ่งเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนที่เขาไม่เข้าใจเขาจะต้องมาเชื่อว่ามันมีอย่างนี้จริงๆ แต่เราชอบที่จะให้คนรู้สึกไปด้วย คนที่อินเขาก็จะคิดว่ามีโมเมนต์แบบนี้ด้วย

Sundae Kids

“บางคนก็อินบ็อกซ์มาบอกว่ามันตรงกับชีวิตเขามากเลยก็มี เราก็รู้สึกว่า จริงๆ แล้วเรื่องที่เราคิดว่ามันไม่มีจริงๆ คนก็เจอกันเยอะเหมือนกัน การที่คนมาไลก์เพจเราอาจจะเป็นเพราะว่าเขาก็เจอเรื่องราวคล้ายๆ กับเรามาเยอะเหมือนกัน”

ช่องที่ 3

“โรแมนติกยุคใหม่”

แม้ด้วยสถานะเขาและเธอจะเป็นคนไทย แต่สิ่งที่เธอทำไม่ได้ตั้งใจจะทำให้แค่คนไทยอ่าน

ทั้งสองบอกว่าเพจ Sundae Kids ทำเพื่อนำเสนอสู่สายตาคนอีกโลก ซึ่งโลกนั้นในความหมายของเขาและเธอคือโลกออนไลน์ ซึ่งไร้เส้นแบ่งทางภูมิศาสตร์ นักอ่านในต่างประเทศอาจจะเห็นคอมิกของเธอพร้อมๆ (หรือก่อน) เพื่อนเธอที่นั่งอยู่ข้างๆ กันด้วยซ้ำ

Sundae Kids

“เราคิดว่ามันเป็นเครื่องมือที่มีพลังเยอะมากในปัจจุบัน อย่างเราเขียนการ์ตูนเราก็ไม่ได้เขียนให้เฉพาะคนไทยอ่าน” กวินตอบเมื่อผมชวนคุยถึงเครื่องมือในโลกออนไลน์ “เราว่าโลกเดี๋ยวนี้มันไมได้แบ่งว่าคนไหนอยู่ประเทศไหนแล้ว มันกลายเป็นแค่โลกในอินเทอร์เน็ตกับโลกนอกอินเทอร์เน็ตเท่านั้นแหละ ซึ่งเราทำให้คนในโลกอินเทอร์เน็ตอ่าน โดยไม่จำกัดว่าเขาจะเป็นใครมาจากไหน”

“ทั้งในโลกจริงและในคอมิกของคุณก็มีการสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์ คุณมองการสื่อสารแบบนี้ยังไง คิดว่ามันฉาบฉวยไหม” ผมชวนเขาคิด

“เรามองว่าจริงๆ มันก็โรแมนติก” กวินตอบหลังจากนิ่งคิดไม่นาน “การที่เราคุย Skype กันมันก็เป็นโรแมนติกยุคใหม่ คือเราไม่ได้มองว่าการเขียนจดหมายจะโรแมนติกกว่าการคุยสไกป์ แค่มันคนละยุคกัน ถ้าต่อไปมีเครื่องมือสื่อสารที่ดีกว่านี้ คนรุ่นหน้าก็อาจจะมองว่าการคุยสไกป์โรแมนติกจังเลยก็ได้ เหมือนที่เรามองว่าจดหมายโรแมนติก หรือการที่เรากลับไปนึกถึงเวลาที่เราแชท MSN แล้วบอกว่าเราอยากมีเวลาโมเมนต์นั้นจังเลย ที่การรอคนออนไลน์เราก็คิดว่ามันก็โรแมนติก

“คือสุดท้ายมันก็แค่คนยุคต่างกันไม่เข้าใจกันแหละ คนที่เป็นพ่อแม่เราเขาไม่เคยเล่น MSN ไง ก็เลยบอกว่ามันไม่โรแมนติกเหมือนจดหมายหรอก แต่เราถือว่าทุกอย่างมันก็มีเสน่ห์ในยุคของมัน”

ช่องที่ 4

“มันเป็นเหมือนสถานที่ที่เราเติบโต”

ล่าสุด-หลังจากวาดคอมิกไม่กี่ช่องจบลงเพจมา 3 ปี เต็ม-เขาและเธอก็ลุกขึ้นมาเปิดเว็บไซต์ readsundaekids.com เพื่อวาดเรื่องยาวลงในนั้น

Graphic Novel เรื่องแรกที่ออกสู่สายตาแฟนๆ ในโลกออนไลน์ชื่อว่า CLOSE TO YOU

CLOSE TO YOU

“อย่าง CLOSE TO YOU ตอนแรกเราแค่เล่าเรื่องถึงโมเมนต์นั้นของชีวิต มันเป็นจุดต่ำสุดในชีวิตของคนนั้น ตัวละครเอกมันผิดหวัง ซึ่งเราคิดว่าทุกคนมันเคยผิดหวัง ทุกคนก็น่าจะเคยมีจุดต่ำสุดของชีวิตแน่นอน ไม่ว่าเรื่องการงาน ความรัก หรืออะไร มันต้องเคยผ่าน ณ โมเมนต์นั้น

“เราเชื่อว่าคนเขาน่าจะเข้าใจตัวละคร ที่บอกว่าความสุขอาจจะขายไม่ดีเท่าความเจ็บปวด เราว่าบางทีคนเราตีความคำว่าความสุขไม่เหมือนกัน การที่พูดเรื่องความสุขออกมา บางคนอาจจะไม่ได้คิดว่านี่คือความสุขก็ได้ สมมติคนเขียนเรื่องความสุขมาอย่างหนึ่ง เราอ่านเราอาจจะคิดว่ามันไม่ใช่นี่นา แต่เรื่องความผิดหวังเราว่าทุกคนคล้ายๆ กัน เป็นอะไรที่ใกล้เคียงกัน เรารู้สึกเข้าใจกัน จะอกหักหรือตกงาน มันคือความผิดหวัง” เขาและเธอช่วยกันเล่า

หากนับจากวันแรกจนถึงวันนี้ คงไม่เกินเลยไปถ้าจะบอกว่าพวกเขาและเธอมาไกลกว่าที่คิด จากที่อาศัยแรงเพื่อนๆ ช่วยแชร์กัน ปัจจุบัน แต่ละภาพของพวกเขามีคนเต็มใจแชร์และเชียร์ให้เขาทำต่อไปวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นคือสิ่งสำคัญที่ช่วยยืนยันว่าสามารถเลี้ยงปากท้องด้วยอาชีพนี้ได้แล้ว

“ต้องบอกว่าอาชีพวาดภาพประกอบมันแทบจะไม่มีอยู่จริงในไทย เพราะถ้าไปถามนักวาดภาพประกอบส่วนใหญ่เขาต้องมีอาชีพอื่น แล้วเขาจะได้รายได้หลักจากอาชีพนั้น เพราะฉะนั้น อาชีพนักวาดภาพประกอบก็จะเหมือนเป็นอาชีพเสริม เพราะว่าเมืองไทยยังไม่ค่อยเห็นค่าสิ่งนี้เท่าไหร่ แต่พอเราทำเพจแล้วมีการติดต่องานเข้ามา อาจจะไม่ได้เงินเยอะอะไรนะ แต่มันทำให้เราอยู่ได้ และเป็นอาชีพหลัก ซึ่งเท่านี้เราก็แฮปปี้แล้ว คือเราสามารถเรียกได้เต็มปากว่าเราเป็นนักวาดภาพประกอบ” กวินพูดด้วยรอยยิ้ม

CLOSE TO YOU

“จริงๆ เพจมันเป็นเหมือนสถานที่ที่เราเติบโต เป็นที่ทำงานแรกของเรา” โป๊ยเซียนเปรียบเปรย “ถ้าย้อนไปดูตั้งแต่เด็กๆ จะเห็นว่าเราพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ พอมาดู CLOSE TO YOU ก็อีกลายเส้นหนึ่งแล้ว อีกอย่างมันก็คือความภูมิใจ ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดหรอกนะว่ามันจะมาถึงตรงนี้ได้ เราไม่เคยคิดเลยนะว่าทำสิ่งนี้แล้วคนจะมาชื่นชม จะได้เงิน คิดแค่ว่าอยากทำมั้ย อยากทำก็ทำ คือทำ CLOSE TO YOU มันไม่ได้อะไรเลยนะ ไม่ได้เงิน แต่ถามว่าทำทำไม คือคุณค่าของเพจเราก็คือมันเติมเต็มฝัน เติมเต็มความต้องการของเรา แล้วได้ทำทุกอย่างที่เราอยากทำในนามปากกา Sundae Kids เราไม่ได้อยากจำกัดตัวเองด้วยว่ามันจะกลายเป็นอะไรแล้วมันจะสิ้นสุดที่ไหนในวันข้างหน้า”

“แต่ถึงยังไงโตไปก็ยังเป็น kid อยู่” ผมแซวเขาและเธอ

“ใช่ ยังเป็นเด็กอยู่ในร่างผู้หญิงแก่ๆ” ว่าถึงตรงนี้ หญิงสาววัยขึ้นต้นด้วยเลข 2 ตรงหน้าก็หัวเราะแบบเด็กๆ

ภาพ : Sundae Kids

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล