“นี่เป็นภาพที่ 89 แล้ว”

เจมส์-อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ บอกเราเมื่อได้พบกันบริเวณไม่ห่างจากพระที่นั่งอนันตสมาคมมากนัก เหตุผลที่เรานัดเจอกันที่นี่เพราะเจมส์ตั้งใจมาถ่ายภาพแต่เช้า วิธีการของเขาคือ วางบันไดเหล็กที่นำมาจากบ้านลงด้านหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม หยิบกล้องพร้อมภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จออกมหาสมาคมในพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี อันเป็นภาพในความทรงจำคนไทยขึ้นมา ปีนขึ้นบันได ถือภาพให้ได้ระดับใกล้เคียงจุดเดิมที่สุด แล้วกดชัตเตอร์

นี่เป็นเทคนิคที่เรียกว่า Dear Photograph หรือการรำลึกอดีตผ่านการนำภาพเก่าไปถ่ายเทียบกับสถานที่เดิม ปกติคนมักใช้สิ่งนี้ย้อนความทรงจำวัยเรียนหรืออดีตของตัวเอง แต่ช่างภาพหนุ่มหยิบมันมาใช้เพื่อรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านการกลับไปบันทึกที่ที่พระองค์เคยเสด็จฯ ไป

‘ที่ที่พ่อไป’ คือชื่อเพจที่เจมส์ตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่ภาพถ่ายแสนมีค่านี้

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 1 ปีก่อน หลังรู้ข่าวการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 นอกจากความเศร้าโศกไม่ต่างจากคนไทยคนอื่นๆ สิ่งที่ผุดขึ้นในใจของช่างภาพหนุ่มคือแรงบันดาลใจในการออกเดินทางตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ก่อนหน้านี้เขาเคยถ่ายภาพแนว Dear Photograph อยู่แล้ว ครั้งนี้เจมส์จึงตั้งใจจะเดินทางและบันทึกภาพที่ที่รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ ไปในสภาพปัจจุบัน เทียบเคียงกับภาพถ่ายเก่า เพื่อเห็นความเปลี่ยนแปลง การพัฒนาที่เกิดขึ้น หลังจากพระองค์เสด็จฯ ไปถึงเมื่อนานมาแล้ว

โปรเจกต์ที่ที่พ่อไปจึงเกิดขึ้น โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เจมส์คุ้นเคย นั่นคือบริเวณต้นหางนกยูงในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งเป็นที่เรียนของเขาในอดีต ต่อด้วยอ่างเก็บน้ำทุ่งมะขามหย่องซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก แล้วเมื่อเจมส์โพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อนก็ขอให้ตั้งค่าอัลบั้มเป็นสาธารณะ ก่อนที่อัลบั้มนั้นจะถูกแชร์ต่อไปนับหมื่นครั้ง จนชายหนุ่มตัดสินใจเปิดเพจ ‘ที่ที่พ่อไป’ ขึ้นมาในที่สุด

จากสถานที่คุ้นเคย ในพื้นที่ใกล้ตัว การตามรอยที่ที่พ่อไปของเจมส์ก็เขยิบไกลขึ้นเรื่อยๆ โดยคัดสรรสถานที่จากภาพถ่ายที่ระบุพิกัดได้แน่ชัด และเป็นสถานที่จากพื้นที่โครงการพระราชดำริ รวมถึงภาพที่คนไทยจดจำได้ดี เช่น ภาพที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เสด็จประพาสน้ำตกพรหมโลก จังหวัดนครศรีธรรมราช

ถ้าถามว่าเขาไปมาแล้วถึง 89 ที่ได้อย่างไร คำตอบคือ เจมส์ใช้เวลาสุดสัปดาห์และวันหยุดยาวที่ว่างเว้นจากงานประจำออกเดินทางด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวล้วนๆ และไม่ใช่แค่ลงแรงลงใจเดินทาง เมื่อเราคลิกไล่ดูแต่ละภาพ ก็พบว่าเขาไม่ได้กดชัตเตอร์แล้วโพสต์ลงเพจเฉยๆ หากมีการค้นและเผยแพร่ข้อมูลข้างหลังภาพเหล่านั้นสู่คนดู

“ถ้าโพสต์แค่ภาพถ่ายกับสถานที่มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เราอยากให้คนดูรู้ด้วยว่าที่ที่ท่านไป ในจุดนั้นพสกนิกรได้อะไรบ้าง” ช่างภาพหนุ่มอธิบาย “เราก็จะค้นข้อมูลด้วยว่า ท่านทรงทำอะไรในภาพนี้ และทรงทำอย่างไร รวมถึงมีใครพูดถึงภาพนี้ยังไงบ้าง ซึ่งนอกจากการหาข้อมูลจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต ก็มีคนในภาพถ่ายที่เราได้คุย เช่น ภาพที่ในหลวงทรงลาตรงดอยผาหมี จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นการเข้าไปเปลี่ยนอาชีพชาวเขาจากการปลูกฝิ่น ให้ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น เราก็ไปคุยกับพ่อหลวงของที่นั่นตรงดอยผาหมีเลย ให้เขาพาไปหาว่าภาพนี้ถ่ายตรงไหน แล้วก็คุยว่าในหลวงเสด็จฯ มาทำอะไร เขาก็บอกว่าตอนที่ในหลวงยังไม่มา ไม่มีถนนเข้าหมู่บ้าน เขาต้องเดินทะลุป่าออกไปที่ถนนใหญ่ ใช้เวลาหลายชั่วโมง จนในหลวงและพระราชินีเสด็จฯ ครั้งแรก ทางการก็เริ่มตัดถนน แล้วจากพื้นที่แห้งแล้งเป็นเขาหัวโล้น ปลูกฝิ่น ในหลวงก็ทรงขอให้ปลูกอย่างอื่น ภูเขาก็เขียวชอุ่มขึ้น ถ้าเทียบจากภาพจะเห็นชัดเจนว่าเปลี่ยนไปจริงๆ ซึ่งการได้ไป ได้พูดคุยแบบนี้ ช่วยให้เราได้รู้สิ่งที่อาจเคยรู้เผินๆ ได้เข้าใจสิ่งที่ในหลวงทรงทำมากขึ้น”

      แน่นอนว่าการเดินทางตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้เจมส์ได้พบเจอเรื่องราวน่าประทับใจมากมาย และเขาก็ยกมาเล่าให้เราฟังอยู่ไม่ขาด จนเราต้องขอยกหนึ่งตัวอย่างมาเล่าต่อ นั่นคือ เมื่อช่างภาพหนุ่มไปถ่ายภาพ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เขาได้ไปเห็นมุมหนึ่งของศูนย์ศึกษาฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ว่างไม่มีอะไรเลย แต่จุดนี้เองคือจุดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพฯ เคยเสด็จฯ มาทดสอบหินดินดาน

“เจ้าหน้าที่ที่พาเข้าไปบอกว่าตอนในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มา พื้นที่ตรงนี้ยังไม่เป็นป่า แต่เป็นที่โล่งๆ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ต้นหญ้าก็ไม่มี แต่รัชกาลที่ 9 ท่านก็เสด็จฯ มา บางทีก็เสด็จฯ มาเองเลย มาทอดพระเนตร แล้วก็ทรงหาวิธีว่าทำยังไงให้พื้นที่มีพืชขึ้นได้ ซึ่งที่ตรงนั้นถ้าใครไปคงไม่รู้ว่าตรงนี้คือที่ที่ในหลวงเคยเสด็จฯ คือไม่มีอะไรบอกเลยว่าทำไมในหลวงของเราต้องเสด็จฯ มาตรงนี้ ตรงพื้นที่ซึ่งไม่มีอะไร นี่เป็นสิ่งที่เรารู้สึกอิ่มใจที่ได้มีโอกาสไปเห็น” เจมส์เล่าให้เราฟัง

ณ ปัจจุบัน เพจที่ที่พ่อไปตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 มาได้กว่า 11 เดือนแล้ว เมื่อเราถามถึงสิ่งที่เจ้าของเพจหนุ่มได้เรียนรู้ คำตอบของเขาคือ ได้พบหลักคิดเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป

“เราได้หลักคิดเยอะมากจากการได้ไปเห็น ได้อ่าน แล้วมาเรียบเรียงเล่าต่อ คือมันเป็นการประมวลข้อมูลที่ครบขั้นตอนมาก” ช่างภาพหนุ่มบอก “อย่างภาพที่ท่านทรงเรือใบจากหัวหินมาหาดเตยงามที่สัตหีบ เราเพิ่งเห็นภาพเมื่อไม่นานและยังไม่เคยอ่านจริงจังว่าท่านทรงทำอะไร เลยไปหาอ่านแล้วพบพระราชดำรัสว่า การทรงเรือใบให้หลักคิดหนึ่งคือ ให้เราคิดเองทำเอง หมายความว่าเวลาที่แล่นเรือใบคนเดียว ไม่มีใครช่วยเราได้ ฉะนั้น เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม แล้วก็คิดเองทำเองว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร อย่างบางจังหวะที่มันไม่มีลม เรือก็แล่นต่อไปไม่ได้ เราก็ควรรอ พอมีลม ถึงชักใบต่อ เราต้องรู้จังหวะในการที่จะทำอะไร แล้วก็คิดเองทำเอง สิ่งนี้ก็เป็นหลักคิดที่เราเอามาใช้ได้จริง”

และไม่ใช่แค่ตัวเขาที่ได้ประสบการณ์ล้ำค่าจากทำเพจ เพราะตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา เจมส์บอกว่าเขาพาภรรยาและลูกชายตัวน้อยไปด้วยเสมอ

“เราพาลูกและภรรยาไปด้วยตลอด ปีที่แล้วลูกอายุประมาณ 3 ขวบ เราก็ได้พาเขาไปแล้วเล่าเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เขาฟังเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง อยู่ดีๆเขาก็พูดว่า ในหลวงเป็นฮีโร่ แล้วก็บอกว่าในหลวงอยู่ไหน อยากเจอในหลวง เราก็อธิบายให้เขาฟังว่าในหลวงขึ้นสวรรค์ไปแล้ว” เจมส์ย้อนเล่าถึงลูกชาย

ขณะที่คนทั่วไปซึ่งได้เห็น ได้เรียนรู้เรื่องราวในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านเพจ ต่างชื่นชอบและ inbox เข้ามาแนะนำสถานที่ที่กันมากมาย ซึ่งชายหนุ่มก็ตั้งใจว่าอยากไปให้ครบทุกจังหวัดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ และในอนาคตก็อยากพัฒนาข้อมูลเหล่านี้จากการเป็นภาพในเพจสู่แอปพลิเคชัน ที่ถ้าเราเดินทาง ก็กดดูได้ว่า รอบตัวมีที่ไหนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ เยือนบ้าง

เพราะที่ที่พ่อไปและสิ่งที่พ่อเคยทำไว้ให้ประชาชน คือสิ่งที่เจ้าของเพจไม่อยากให้เลือนหายตามกาลเวลา

“เราอยากให้ทุกคนได้รู้ ที่เหล่านี้ดูเหมือนไปง่ายในปัจจุบัน แต่ไปได้ลำบากมากในอดีต หลายที่ต้องนั่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไป ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ถ้าเกิดไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ก็เหมือนประวัติศาสตร์ตรงนี้หายไป เราอยากให้มันอยู่ตราบนานเท่านาน เพราะสิ่งนี้คือการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงทำมา 70 ปี ไม่ใช่เพื่อตัวพระองค์เอง แต่เพื่อคนไทย” เจมส์ทิ้งท้าย

Facebook l ที่ที่พ่อไป

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ