​ในบางค่ำคืน ระหว่างเดินไปบนถนนหนทางหรือนั่งเล่นอยู่ในสวนสาธารณะสักแห่ง คุณเคยเงยหน้ามองฟ้ามองดาวบ้างไหม แล้วสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่า

​เรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร แล้วไกลออกไปในความมืดมิดมีอะไร สงสัยเหมือนกันไหม

​เติ้ล-ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ กร-กรทอง วิริยะเศวตกุล คือสองคนที่ตั้งคำถามถึงสิ่งที่อยู่ห่างไกลออกไป

​นอกจากตั้งคำถาม เขาทั้งสองและเพื่อนพ้องวัยมัธยมยังพยายามหาคำตอบ และรวมตัวกันก่อตั้งเว็บไซต์ spaceth.co เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่คล้ายจะไกลตัวอย่างอวกาศ มาเล่าจนคนอ่านอย่างเรารู้สึกว่า เรื่องราวเหล่านั้นอยู่ใกล้ชิดตัวเรากว่าที่คิดและสำคัญกับชีวิตกว่าที่คาด

บางทีเราอาจเข้าใจว่า เรามีชีวิตนี้ได้อย่างไรจากการทำความเข้าใจเรื่องจักรวาล-พวกเขาว่าอย่างนั้น

และเว็บไซต์ที่สร้างโดยกลุ่มเด็กมัธยมก็คว้ารางวัล Best New Blog ในงาน Thailand Best Blog Award 2017 มาครองชนิดผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ในฮอลล์วันประกาศผลพร้อมใจกันปรบมือเสียงดัง ยอมรับ

​วงโคจรของเรามาบรรจบกันในเช้าวันหนึ่ง แน่นอน-เราสนใจสิ่งที่พวกเขาสนใจ บทสนทนาจึงหนีไม่พ้นเรื่องราวของดวงดาว จักรวาล ยานอวกาศ ไปจนกระทั่งการเกิดขึ้นของมนุษยชาติ

ว่าแต่ ในบางค่ำคืน ระหว่างเดินไปบนถนนหนทางหรือนั่งเล่นอยู่ในสวนสาธารณะสักแห่ง คุณเคยเงยหน้ามองฟ้ามองดาวบ้างไหม แล้วสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่า

spaceth.co, เพจ, ดาราศาสตร์, อวกาศ

คุณเคยพูดบนเวที TEDxKMITL ว่าคนสมัยก่อนไม่มีอะไรทำก็มองขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วตั้งคำถาม แล้วตอนเด็กๆ เวลามองขึ้นไปบนฟ้า คุณตั้งคำถามอะไรบ้างหรือเปล่า

เติ้ล: ไม่ตั้งคำถาม เพราะตอนเด็กๆ อยู่ในเมือง มองไม่เห็นอะไรเลย มองขึ้นไปไม่เห็นดาว ฉะนั้น เราก็จะเห็นดาวจากภาพถ่ายหรือว่าดูจากทีวี ตอนเด็กๆ ไม่เคยเห็นดาว ไม่เคยดูดาวเลย

มันเหมือนมีม่านอะไรบางอย่างมากั้นเรากับธรรมชาติเอาไว้ เราเกิดมา รอบตัวเราเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง เท้าของเด็กในเมืองบางคนไม่เคยสัมผัสกับดินไม่เคยสัมผัสกับหญ้าเลย สมัยโบราณเวลาคนไม่มีอะไรทำก็มองขึ้นไปบนท้องฟ้า แต่กลายเป็นว่าเด็กที่เกิดในเมืองเขาได้รับมลภาวะทางแสงทำให้มองไม่เห็น

แล้วการมองฟ้า มองดาว เดินบนพื้นดิน สำคัญอย่างไรกับชีวิตมนุษย์

เติ้ล: มันทำให้เราได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อาจจะฟังดูโลกสวยนะ ว่าใกล้ชิดกับธรรมชาติจังเลย แต่ผมมองว่าการได้สัมผัสกับดินหรือการได้มองเห็นดวงดาว มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราตั้งคำถามว่า ทำไมถึงได้มีสิ่งนี้อยู่ ทำไมต้นไม้ถึงเป็นสีเขียว ทำไมท้องฟ้าถึงเป็นสีดำ ทำไมบนนั้นจึงมีดวงดาว ซึ่งมันคือสิ่งที่เป็นอย่างนั้นมาตั้งนานแล้ว ธรรมชาติก็อยู่ของมันเฉยๆ แค่เรามองไปหาธรรมชาติ แล้วเราตั้งคำถามกับมัน ไม่เหมือนกับการที่เราดูทีวีหรือเล่นมือถือแล้วข้อมูลวิ่งมาหา

อยู่ในเมืองไม่เห็นดาว แล้วหลงใหลดาราศาสตร์ได้ยังไง

เติ้ล: ถ้าถามว่าชอบดาราศาสตร์ตอนไหน ก็ชอบตั้งแต่อนุบาล ผมเป็นเด็กเจเนอเรชันที่พ่อแม่จะทิ้งเอาไว้กับบ้าน ทิ้งไว้กับหนังสือกับโทรทัศน์ โชคดีที่ช่วงนั้นรายการโทรทัศน์มีสารคดีมาออกเยอะ ช่วงปี 2003 นาซาส่งยานไปลงที่ดาวอังคารแล้วมีถ่ายทอดสด เราเลยได้เห็นว่าเขามีวิธีการลงจอดยังไง ตอนนั้นเลยเริ่มชอบเรื่องอวกาศขึ้นมา

สมัยเรียนชั้นประถมผมชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เราได้รู้ว่าทำไมต้นไม้เป็นสีเขียว ทำไมน้ำถึงไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ เราได้รู้ในสิ่งที่เราอยากรู้จริงๆ น่าจะเป็นเพราะว่าเป็นเด็กที่ชอบตั้งคำถามด้วย

กร: ส่วนผมตอนนั้นนั่งดูทีวีอยู่ แล้วมีข่าวที่ว่าเขาตัดดาวพลูโตออกจากดาวเคราะห์ ตอนนั้นเลยสงสัยว่ามันโดนตัดเพราะอะไร ดาวพลูโตเป็นยังไง ทำไมเราถึงต้องไปตัดมัน ผมก็เลยไปหาอ่านเพิ่มเติมจึงรู้ว่ามันเคยเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในระบบสุริยะ แล้วคำถามต่อไปก็คือ ระบบสุริยะเป็นยังไง ตอนนั้นพวกโซเชียลมีเดีย พวกอินเทอร์เน็ต เพิ่งแพร่หลายเข้ามา ก็เลยลองค้นหาอ่านเพิ่มเติม ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าเราชอบเรื่องดาราศาสตร์ แต่ในหนังสือเรียนจะให้มาแค่ 3 หน้าสุดท้าย ผมก็เลยค่อยๆ หาอ่านเอง

spaceth.co, เพจ, ดาราศาสตร์, อวกาศ spaceth.co, เพจ, ดาราศาสตร์, อวกาศ

แล้วตอนเด็กๆ พวกคุณเรียนวิทยาศาสตร์เก่งกว่าคนอื่นไหม

กร: ไม่เลย ตอนนั้นวิกฤต จริงๆ ผมเคยได้วิทยาศาสตร์เกรด 1.5 ปัญหาที่เจอคือ เราต้องขยันทำแต้ม ขยันเก็บเกรด ซึ่งตอนนั้นเราเป็นเด็กกิจกรรม ต้องไปทำนั่นทำนี่ แต่เราไม่ได้มองว่าเกรดมันเป็นตัวตัดสิน เรามองว่าเกรดเป็นยังไงก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราสนใจจริงๆ ถ้าเราเข้าใจมัน มันก็โอเค

เติ้ล: ผมเรียนวิชาดาราศาสตร์ได้เกรด 2.5 นี่เป็นเหตุผลที่เราไม่เลือกเรียนต่อสายวิทย์ และเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ คือผมชอบเรียนรู้วิทยาศาสตร์ แต่ว่าไม่ได้ชอบเรียนวิทยาศาสตร์

เรียนรู้กับเรียนต่างกันยังไง

เติ้ล: เรียนรู้ มันเหมือนเราเรียนเพื่อตอบสนองความอยากอะไรบางอย่างข้างในของเรา แต่การเรียนมันเหมือนการทำให้ผ่านไปตามหลักสูตร คือเราไม่ชอบที่จะให้ใครมาบอกว่าคุณต้องเรียนอันนี้ เพื่อจะมารู้อันนี้ แล้วต้องมาสอบ ลักษณะของการออกแบบการศึกษาบ้านเรามันยังผิดสัดผิดส่วน มันเกิดจากการสอนให้จำก่อน ซึ่งถ้าวิธีการนี้มันเวิร์กจริง คนอื่นๆ ที่เขาเรียนแล้วเขาก็ต้องมาชอบดาราศาสตร์ด้วยสิ นี่ทำไมเรียนแล้วไม่ชอบ ทำไมเขาตั้งคำถามว่าเขาเรียนไปทำไม

ผมมองว่าวิทยาศาสตร์หรือศาสตร์อะไรก็ตามในโลก มันต้องเกิดจากการตั้งคำถามก่อน แล้วก็พอเราอยากรู้ เมื่อวันหนึ่งเรารู้เราจะจำได้ คือเราอาจจะเริ่มจากการสงสัยก่อน แล้วมันก็พัฒนามาเป็นการหาความรู้ แล้วมันก็กลายมาเป็นการจดจำ แต่ในห้องเรียนมันเหมือนย้อนกลับ ครูให้จำสมการก่อน จำวิธีการคิดก่อน ซึ่งทำให้เราไม่ได้ตั้งคำถาม

แล้วคุณตั้งคำถามเกี่ยวกับอวกาศหรือดวงดาวบ้างไหม

เติ้ล: ตอนเด็กๆ ช่วงประถมจะชอบถามแม่ว่าเราเกิดมาทำไม แม่ก็ตอบว่าไม่รู้ ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่มีใครรู้หรอก คำถามที่ว่า ‘เราเกิดมาทำไม’ มันเป็นคำถามเชิงปรัชญาใช่มั้ย แต่ตอนเด็กๆ เราก็ไม่ได้มีไอเดียเรื่องปรัชญา ไม่รู้จักหรอกว่าเพลโตคือใคร โสเครติสคือใคร แต่ว่ามันเกิดจากความรู้สึกของเราว่า เอ๊ะ ทำไมคนเราต้องเกิดมา ทำไมเราต้องมีชีวิต เรามีชีวิตไปทำไม พอโตไปเราก็เลยรู้ว่าเราไม่ได้ตั้งคำถามนี้อยู่คนเดียว ผมเชื่อว่าหลายคนก็กำลังถามอยู่เหมือนกันว่าคนเราเกิดมาทำไม คนเรามีชีวิตนี้ไปทำไม

spaceth.co, เพจ, ดาราศาสตร์, อวกาศ

การตั้งคำถามนี้ส่งผลกับชีวิตอย่างไรบ้าง

เติ้ล: พอเราตั้งคำถามว่าเราเกิดมาทำไม เราก็ศึกษาไปเรื่อยๆ แล้วพบว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มธรรมชาติให้คงอยู่ โห มันกลายเป็นว่าชีวิตเรามีความหมายมากเลยนะ

คือต้องย้อนไปก่อนว่าชีวิตเกิดขึ้นได้ยังไง ถ้าย้อนไปจริงๆ มันก็คือตั้งแต่บิ๊กแบง ก่อนเกิดเอกภพ บิ๊กแบงมันสร้างสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าความปั่นป่วน หรือในภาษาฟิสิกส์เขาจะใช้คำว่า ความไม่เป็นระเบียบ ลองนึกภาพว่าจากเดิมมันไม่มีอะไรเลย มีแต่ความว่างเปล่า แต่พอเกิดบิ๊กแบง มันก็เกิดความปั่นป่วน มันเกิดปฏิกิริยากันระหว่างอนุภาค เกิดเป็นแรงขึ้นมา เกิดเป็นโลก เกิดเป็นดวงอาทิตย์ สุดท้ายมันเกิดเป็นชีวิต เป็นตัวเรา อันนี้คือความปั่นป่วน

ผมก็เลยคิดว่าชีวิตคือความปั่นป่วน แล้วมันก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนสิ้นชีวิต แล้วหลังจากนั้นเหมือนกับว่าทุกสิ่งจะจบใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ พอเราตายไปร่างกายของเราก็จะกลายเป็นธาตุกลับคืนไปสู่โลก สุดท้ายมันก็จะเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด

เคยมีความฝันประเภทอยากเหยียบดวงจันทร์หรืออยากไปดาวอังคารอะไรแบบนั้นบ้างไหม

เติ้ล: คนจะคิดว่าคนชอบดาราศาสตร์ เป้าหมายคือจะต้องเป็นนักบินอวกาศ แต่ผมไม่คิดแบบนั้น เป้าหมายของผมคืออยากเป็นคนที่ส่งต่อเรื่องของวิทยาศาสตร์มากกว่า เพราะว่าตอนเราย้อนไปดูวิทยาศาสตร์มันเป็นเรื่องของการส่งต่อจากนักวิทยาศาสตร์คนนี้ ทำงานอะไรบางอย่างขึ้นมา เกิดสิ่งสิ่งหนึ่ง เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้เป็นนักวิทยาศาตร์ที่เก่งที่สุด ไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งที่สุด ไม่ได้เป็นนักบินอวกาศที่เก่งที่สุด แต่สิ่งที่เราทำได้ดีคือเรื่องของการสื่อสาร ก็เลยพอใจว่าฉันอยากจะเป็นนักสื่อสาร ฉันอยากจะเล่าเรื่องราวให้กับคนอื่นได้รู้

คุณและเพื่อนๆ เคยรู้สึกมั้ยว่าตัวเองกำลังสนใจเรื่องที่ใหญ่เกินตัว

เติ้ล: จริงๆ ทุกคนก็สนใจเรื่องที่ใหญ่เกินตัวอยู่แล้ว แค่การที่เรามานั่งคุยกันวันนี้มันก็เหมือนกับการสนใจเรื่องอื่นที่มันเกินตัวเราแล้ว ผมก็เลยมองว่ามนุษย์ถูกออกแบบมาให้เราสนใจเรื่องที่มันเกินตัวอยู่แล้ว ถ้าเราไม่สังเกตว่าพืชนี้กินได้ กินไม่ได้ เราก็คงไม่มีชีวิตรอดมาถึงทุกวันนี้หรอก

spaceth.co, เพจ, ดาราศาสตร์, อวกาศ spaceth.co, เพจ, ดาราศาสตร์, อวกาศ

ในมุมมองของคุณ คนไทยห่างไกลกับเรื่องอวกาศกว่าคนชาติอื่นๆ ไหม

เติ้ล: ไม่ ผมว่าคนทั่วโลกเหมือนกัน จริงๆ แล้วคนไทยเป็นชาติที่ค่อนข้างผูกพันกับเรื่องดวงดาวนะ คนสมัยก่อนเขาดูดาว เขารู้ว่าเมื่อตำแหน่งดาวมันเปลี่ยน ฤดูกาลเปลี่ยน สัตว์มันก็เปลี่ยนพฤติกรรม เขาก็เลยคิดว่ามันก็น่าจะทำให้มนุษย์เราเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน มันก็เลยเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า โหราศาสตร์

ผมเลยมองว่าโหราศาสตร์นี่แหละเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าคนไทยสนใจเรื่องดวงดาว แต่ว่าสมัยนั้นวิทยาการอาจจะยังไม่ก้าวหน้า แต่พอเวลาผ่านมาเรื่อยๆ เราก็ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เรียกว่าดาราศาสตร์ ซึ่งสองสิ่งนี้ก็จะอยู่ควบคู่ในพฤติกรรมของคนไทยมาตั้งนานแล้ว อย่างสมัยพระนารายณ์ ในเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่เราดูกัน นั่นเป็นยุคที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง แล้วพระนารายณ์ก็ทอดพระเนตรด้วย หรืออย่างตอนรัชกาลที่ 4 ทรงทำนายสุริยุปราคาที่หว้ากอ

แต่ว่าทุกวันนี้โอกาสที่เราจะได้ศึกษาเรื่องพวกนี้มันมีน้อย เลยทำให้เรารู้สึกว่าภาพรวมเรื่องดาราศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ของไทยมันลดต่ำลงหรือเปล่า แต่ว่าจริงๆ แล้วถ้าดูตามกราฟแนวโน้มความสนใจ ผมว่ามันค่อนข้างนิ่ง คือถามว่าทำไมคนอเมริกาถึงได้สนใจเรื่องดาราศาสตร์ คำตอบคือเพราะว่ามันมีเรื่องการเมืองผูกเกี่ยวเข้าไป กลายเป็นว่าคนอเมริกายุคคุณลุง คุณน้า คุณอา เขาอินเรื่องอวกาศมากกว่าเด็ก เพราะเขาอยู่ร่วมในสมัยที่ จอห์น เอฟ. เคนเนดี บอกว่าจะไปดวงจันทร์ เขาอยู่ในยุคที่แข่งกับโซเวียต เขาได้เห็นสิ่งนั้นกับตา เขาได้เห็นประกาศทางทีวี เขาเลยอิน ลองสมมติประเทศเพื่อนบ้านอยากแข่งกับไทยเรื่องอวกาศ ผมเชื่อว่าคนไทยก็จะอินกับเรื่องของอวกาศนะ

อย่างที่คุณว่า ในห้องเรียนเราอาจจะสงสัยว่าเรียนดาราศาสตร์ไปทำไม แล้วสิ่งที่ spaceco.th เอามาเล่าคนอ่านเขาจะรู้ไปทำไม ตอบได้ไหม

กร: ถ้าคำตอบส่วนตัวก็คือ เรารู้เรื่องดาราศาสตร์เพื่อให้เรารู้จักตัวเอง ถ้าถามถึงที่มาตั้งแต่ต้น ก่อนจะมีตัวเรา มันก็เกิดมาจากบิ๊กแบง เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าศึกษาดาราศาสตร์ไปทำไม คำตอบก็คือ มันคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง

เติ้ล: สิ่งที่เราทำมองเผินๆ อาจจะเป็นเหมือนเพจอวกาศ แต่ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นการจับอวกาศมาเล่าในมุมต่างๆ มากกว่า เช่น อวกาศมาเจอปรัชญา อวกาศมาเจอภาษา อวกาศมาเจอสังคม การเมือง วัฒนธรรม ผมเลยมองว่ามันเป็นอีกมุมหนึ่งที่ถ้าคนเขามาอ่าน มันจะไม่ใช่แค่การอ่านข้อมูล แต่มันจะเป็นการอ่านวิธีคิดที่มีข้อมูลมาประกอบ ซึ่งอ่านแล้วก็จะรู้สึกสนุก

ทำไมจึงพยายามเชื่อมโยงอวกาศกับเรื่องอื่น ทั้งปรัชญา ภาษา สังคม การเมือง วัฒนธรรม

เติ้ล: เรามองโลกทั้งใบ แล้วทุกอย่างในโลกมันเชื่อมโยงกันหมด ถามว่าทุกวันนี้ถ้ายกประเด็นมาหนึ่งประเด็นแล้วเอามาเชื่อมโยงกับเรื่องอวกาศ เราก็ทำได้ทุกเรื่องนะ

spaceth.co, เพจ, ดาราศาสตร์, อวกาศ

อย่างเรื่องฟุตบอลโลกที่เพิ่งจบไปเชื่อมโยงได้มั้ย

เติ้ล: เยอะแยะเลย รู้มั้ยว่ารัสเซียเขาเปิดตัวโลโก้อย่างเป็นทางการบนสถานีอวกาศ รัสเซียเขาจะเล่นใหญ่ทุกอย่างกับอวกาศ อย่างตอนโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่โซชิ เขาก็ส่งคบเพลิงไปวิ่งบนอวกาศ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่มีการวิ่งคบเพลิงบนนั้น

แล้วรู้ไหมว่าตอนนี้รัสเซียกลายเป็นประเทศเดียวที่สามารถส่งนักบินขึ้นสู่วงโคจรได้ เพราะว่าพอเมริกาเขาปลดระวางกระสวยอวกาศไปก็ไม่มียานรุ่นใหม่ๆ ที่จะส่งได้ อเมริกาก็เลยจะต้องจ้างรัสเซียส่งขึ้นไป จริงๆ แล้วรัสเซียเก่งเรื่องอวกาศมาก จนทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เวลาเขามีเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่สำคัญๆ ของประเทศ อย่างแรกที่เขาจะทำคือเขาจะจับส่งขึ้นอวกาศ เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ว่าเขาคือผู้นำด้านนี้

ข่าวอวกาศล่าสุดที่รู้แล้วรู้สึกตื่นเต้นคือข่าวไหน

กร: ที่ตื่นเต้นจริงๆ คือตอนที่ได้รู้จัก Exoplanet ครั้งแรก มันคือดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ทำให้เราแทบจะโยนตำราทิ้ง เพราะเราเข้าใจมาตลอดว่าดาวเคราะห์มีแค่ 8 ดวง แต่สรุปแล้วมีการยืนยันว่ามีตั้ง 1,648 ดวง แล้วก็ยังมีอีกประมาณ 5,000 ดวงที่ยังรอการยืนยันอยู่ ตอนแรกเราเข้าใจว่าเอ็กโซแพลเน็ตเป็นแค่ความคิดของนักดาราศาสตร์ แต่สุดท้ายมันก็มีอยู่จริง เหมือนกับที่ TRAPPIST-1 เจอดาวเคราะห์ 7 ดวง ทำให้เรารู้ว่าจักรวาลยังมีอะไรอีกมากมายที่เราต้องตามหา ซึ่งมันเป็นความมหัศจรรย์นะ เพราะความจริงเราอาจจะไม่ได้อยู่คนเดียวในจักรวาลก็ได้

เติ้ล: ของผมคือข่าวที่บอกว่า AI ค้นพบดาวนอกระบบสุริยะ เพราะเราเป็นเด็กโอลิมปิกคอมพิวเตอร์ เราเลยจะอินเรื่องของการเขียนโปรแกรมและเรื่องของ AI ตอนนั้นเราได้รู้ว่าเดี๋ยวนี้ AI ฉลาดถึงขั้นค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้แล้ว ซึ่งถือว่าฉลาดมากๆ ทุกวันนี้มีสองอย่างที่มีวิวัฒนาการคือ สิ่งมีชีวิต กับ AI แต่ AI สามารถพัฒนาได้ทุกๆ เสี้ยววินาที วันหนึ่งจะกลายเป็นมนุษย์หรือเปล่าเราก็ไม่รู้

แล้วทุกวันนี้ AI ก็ถูกเอามาใช้ในเรื่องของอวกาศเยอะมาก อย่างจรวด SpaceX ของอีลอน มัสก์ ก็ใช้ AI เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือยานฟัลคอน 9 (Falcon 9) ก็ใช้ AI เทรนจนเป็นจรวดที่ทันสมัยที่สุดในโลก อย่างล่าสุดรัสเซียก็ใช้ในการช่วยพัฒนาการเดินทางไปอวกาศให้เหลือเวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมง

spaceth.co, เพจ, ดาราศาสตร์, อวกาศ

การรู้เรื่องเกี่ยวกับอวกาศ จักรวาล เกี่ยวกับดวงดาว ทำให้มุมมองต่อมนุษย์ของคุณเปลี่ยนไปไหม

เติ้ล: เปลี่ยนไปเยอะเลย มันมีภาพภาพหนึ่งชื่อว่าภาพ Pale Blue Dot มันเป็นรูปอวกาศมืดๆ แล้วก็มีจุดๆ หนึ่ง เป็นภาพที่ถ่ายโดยยานอวกาศที่ชื่อว่า Voyager ขณะที่มันกำลังจะเดินทางออกนอกระบบสุริยะ แล้วนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งเขาก็ลองสั่งว่า ลองหันกล้องไปถ่ายภาพสุดท้ายก่อนที่จะออกจากระบบสุริยะดูซิ จากภาพนั้นเราก็เลยเห็นว่าโลกมันเป็นแค่จุดจุดหนึ่งในภาพ ซึ่งภาพนั้นมันเป็นภาพที่เหมือนจะไร้ประโยชน์มากในเชิงวิทยาศาสตร์ แล้วนักวิทยาศาสตร์ชื่อ คาร์ล เซแกน เขาก็บรรยายถึงเรื่องมนุษยชาติจากภาพนี้

เขาบอกว่า ลองมองจุดเล็กๆ จุดนี้สิ ทุกสิ่งที่เคยกิดขึ้น ทุกสิ่งที่คุณเคยรู้จัก คนที่เกิดมา คนที่ตายไปแล้ว คนที่เข่นฆ่ากัน ล้วนเกิดขึ้นในจุดเล็กๆ จุดนี้ ภาพนี้มันบ่งบอกเลยว่า ดาราศาสตร์มันเป็นศาสตร์ที่ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตัว คือมันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ตัวใหญ่ไปกว่าอะไรเลย เราเป็นแค่จุดเล็กๆ ที่ล่องลอยในอวกาศที่กว้างใหญ่ แล้วก็ไม่มีใครมาช่วยเรา ถ้าเกิดสงคราม ฆ่ากันตายไป สุดท้ายก็ไม่มีใครจากที่ไหนมาช่วยเรา แล้วก็ไม่มีดาวดวงไหนในปัจจุบันที่เราจะสามารถไปอยู่ได้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือการดูแลโลก ดูแลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อยู่ด้วยกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อันนี้เป็นมุมหนึ่งของการศึกษาเรื่องจักรวาลที่ส่งผลต่อชีวิตเราในแง่ของการมองเพื่อนมนุษย์

ถ้ามนุษย์เป็นเพียงจุดเล็กๆ ในจักรวาล ซึ่งเหมือนไม่มีค่าอะไร แล้วแท้จริงแล้วคุณค่าของมนุษย์อยู่ตรงไหน

เติ้ล: คุณค่าของเราคือการมองย้อนกลับไปถึงที่มาของตัวเรา เหมือนกับว่าเรากำลังมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของตัวเองว่า ชีวิตเราเกิดจากสิ่งนี้นะ เกิดจากธาตุนี้นะ แล้วสุดท้ายเมื่อเราศึกษาย้อนกลับไป เราพบว่าคาร์บอนที่อยู่ในตัวเรา แคลเซียมที่อยู่ในฟันเรา หรือว่าธาตุทุกอย่างที่อยู่ในกระดูก มันไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับโลก มันเกิดขึ้นมาในแกนกลางของดาวฤกษ์ที่อัดแน่นกันมากๆ แล้วสุดท้าย พอดาวฤกษ์มันตายมันก็ระเบิดออก แล้วสสารพวกนี้มันก็ฟุ้งกระจายไปทั่วจักรวาล แล้วมันก็เกิดมาเป็นตัวเรา เกิดมาเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นสัตว์ พอเรามองย้อนกลับไปว่าจริงๆ มนุษย์อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไม่มีค่า แต่ว่าคุณค่าของเราคือการที่เราได้ตั้งคำถามย้อนกลับไปถึงที่มาของตัวเอง

ทุกวันนี้เวลามองขึ้นไปบนท้องฟ้า ยังมีคำถามหรือรู้สึกอะไรกับมันบ้างมั้ย

เติ้ล: ผมก็ยังคงเป็นเด็กในเมืองอยู่นะ มองขึ้นไปบนท้องฟ้าก็ยังเห็นแต่สีดำเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เรารู้สึกคือเวลาเราเห็นดวงดาวแค่ดวงเดียว ดวงเล็กๆ เราก็รู้สึกดีแล้วนะ เรารู้ว่านี่คือสิ่งที่เราจะศึกษา สิ่งที่เราจะอยู่กับมันไปทั้งชีวิต

ท้องฟ้าก็มืดเหมือนเดิม แต่สิ่งที่สว่างขึ้นมาคือแรงบันดาลใจที่อยู่ข้างในเรา

spaceth.co, เพจ, ดาราศาสตร์, อวกาศ

Writers

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Avatar

เอม มฤคทัต

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ที่อยากจะลองทำงานเขียน หลงรักทุกอย่างที่เป็นสีพีชและภาพยนตร์จิบลิ มีความสามารถพิเศษในการกินข้าววันละ 5 มื้อ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan