“จิตรกรคนอื่นอาจประสบความสำเร็จด้วยการดัดแปลงตัวเองให้เขากับสังคม ทั้งทรยศกับสิ่งที่ตัวเองได้เริ่มไว้ แต่ปิกัสโซไม่ได้ทำอย่างนั้น เขาเชื้อเชิญความสำเร็จเข้ามาหาทีละน้อย ขณะที่แวนโกะห์เชื้อเชิญความล้มเหลว นำทางไปสู่ความสำเร็จในภายหลัง ทั้งสองคนนี้เหมือนกันและต่างกัน เหมือนกันในแง่ความสำเร็จทางศิลปะ นำมาซึ่งแบบฉบับของศิลปินแห่งยุคสมัยของเรา” จอห์น เบอร์เกอร์ นักวิจารณ์ศิลปะ กล่าวถึงความสำเร็จของปิกัสโซ่ในปี 1921

ปาโบล รุยซ์ ปิกัสโซ่ เป็นหนึ่งในศิลปินชั้นแนวหน้าผู้ยิ่งใหญ่และโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ภาพเขียนของเขาอาจไม่ใช่ภาพราคาแพงที่สุดในโลก (ภาพราคาแพงที่สุดในโลกคือภาพ Salvator Mundi ผลงานของของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ราคาประมูล 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 13,600 ล้านบาท) แต่ภาพของปิกัสโซติดอันดับภาพเขียนราคาแพง 1 ใน 10 มาแทบทุกครั้งที่มีการประมูลผลงานของเขาออกสู่ท้องตลาด

ตลอดชีวิตของเขาที่มีอายุยืนยาวถึง 91 ปี (ค.ศ. 1881 – 1973) ปิกัสโซ่ สร้างผลงานไว้ร่วม 50,000 ชิ้น แบ่งเป็น ภาพวาด 1,885 ชิ้น ประติมากรรม 1,228 ชิ้น งานเซรามิก 2,880 ชิ้น งานแกะสลัก 18,095 ชิ้น ภาพพิมพ์หิน 6,112 ชิ้น ภาพสลักนูน 3,181 ชิ้น ภาพลายเส้น 7,089 ชิ้น ประเมินว่าตอนเสียชีวิต ปิกัสโซ่ทิ้งทรัพย์สินไว้มีมูลค่าประมาณ 260 ล้านดอลลาร์ฯ ในราคาเมื่อ 50 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันคงมีมูลค่ามหาศาล

เยี่ยมพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของปิกัสโซที่สเปน ทำความรู้จักชีวิตและงานในทุกช่วงวัย

คงมีศิลปินไม่กี่คนผู้สร้างผลงานไว้ให้กับโลกได้อย่างมากมายถึงเพียงนี้ จนกลายเป็นบุคคลที่นิตยสาร ไทม์ ยกย่องให้เป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์มากที่สุดในคริสตศตวรรษที่ 20

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านเกิดของปิกัสโซ่ที่เมืองมาลากา ในแคว้นอันดาลูซิอา ทางภาคใต้ของประเทศสเปน ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

เยี่ยมพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของปิกัสโซที่สเปน ทำความรู้จักชีวิตและงานในทุกช่วงวัย
เยี่ยมพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของปิกัสโซที่สเปน ทำความรู้จักชีวิตและงานในทุกช่วงวัย

บริเวณหน้าบ้านเกิดของเขา มีรูปปั้นปิกัสโซ่ขนาดเท่าตัวจริงนั่งผ่อนคลายบนม้านั่งในสวนสาธารณะ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้าคิวไปนั่งถ่ายรูปคู่กับเขาอย่างเป็นกันเอง

บ้านเกิดของเขาเป็นตึกแถวเล็ก ๆ ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของปิกัสโซ่ (Museo Casa Natal de Picasso) ในวัยเด็กเขาใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ที่บ้านหลังนี้ ก่อนจะเดินทางไปพักอาศัยตามที่ต่าง ๆ ในสเปน และย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสเป็นการถาวรจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ตรงทางเข้ามีป้ายเขียนข้อความว่า “ปิกัสโซ่เกิดในบ้านหลังนี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 1881 เขาอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ในเมืองมาลากาจนอายุ 9 ขวบ และกลับมาเยี่ยมบ้านอีกหลายครั้ง บ้านเกิดหลังนี้อยู่ในงานของเขา ในความทรงจำ และในอารมณ์ความรู้สึกของเขาอย่างมิอาจลบเลือนได้”

เมื่อเดินขึ้นบันไดไปห้องจัดแสดงห้องแรก มีบันทึกเล่าเรื่องที่บ้านหลังนี้ว่า “พอคลอดออกมา หนูน้อยคนนี้เกือบตายเพราะไม่หายใจ ใคร ๆ ก็คิดว่าตายแล้ว เอาร่างไม่ไหวติงมาวางไว้บนโต๊ะครัว แต่ซัลวาดอร์ ลุงของเขาที่เป็นแพทย์ โน้มตัวลงและพ่นควันซิการ์มาที่จมูกของเด็ก ทำให้เด็กเริ่มไอและหายใจสำเร็จ”

ภายในห้องจะเห็นเสื้อผ้าสีขาวถักลูกไม้ในวัยเด็ก ใบประกาศนียบัตรการได้รับศีลล้างบาป รองเท้าหัดเดินคู่แรก ตุ๊กตาของเล่นเด็ก ภาพถ่ายครอบครัว พ่อแม่ ปิกัสโซ่ และน้องสาวในช่วงปี 1895 – 1896 สมุดบันทึกด้วยลายมือ และภาพวาดหลายรูปฝีมือโฮเซ รุยซ์ อี บลัส พ่อของปิกัสโซ่ ผู้เป็นครูสอนศิลปะ School of Fine Arts of Malaga ทำให้ลูกชายคนโตได้รับอิทธิพลการวาดรูปจากพ่อตั้งแต่เป็นเด็กน้อย

เยี่ยมพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของปิกัสโซที่สเปน ทำความรู้จักชีวิตและงานในทุกช่วงวัย

ปิกัสโซ่มีพรสวรรค์ด้านการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เขาฉายแววการเป็นศิลปินระดับโลกด้วยการพูดคำว่า “piz, piz” (มาจากคำว่า lápiz เป็นภาษาสเปน แปลว่า ดินสอ (Pencil) แทนที่จะพูดคำว่า แม่ เหมือนเด็กทั่วไป เขาชอบขีด ๆ เขียน ๆ มาตั้งแต่จำความได้ และพ่อได้ซื้อพู่กันและจานสีเป็นของขวัญวันเกิดให้เมื่อครบ 6 ขวบ

ในห้องหนึ่งมีคำพูดของปิกัสโซ่จัดแสดงว่า

“แม่เคยพูดกับผมว่า หากเจ้าเป็นทหาร เจ้าจะได้เป็นนายพล หากเจ้าเป็นนักบวช เจ้าจะได้เป็นโป๊ป แต่ผมเป็นแค่จิตรกร

และกลายเป็นปิกัสโซ่”

เยี่ยมพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของปิกัสโซที่สเปน ทำความรู้จักชีวิตและงานในทุกช่วงวัย

หากดูผลงานของปิกัสโซ่ตลอดชีวิต จะพบว่าเขาชอบวาดภาพนกพิราบเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก และครั้งหนึ่งตอนเด็กชายปิกัสโซ่อายุ 13 ขวบ ขณะที่พ่อกำลังวาดรูปนกพิราบ แต่วาดยังไม่เสร็จ ต้องออกไปทำธุระข้างนอก พอกลับมาปรากฏว่าลูกชายไปวาดรูปนกพิราบจนเสร็จเป็นรูปนกอย่างงดงามกว่าฝีมือตัวเองเสียอีก และเมื่อเขาอายุเพียงแค่ 15 ปีก็มีสตูดิโอเป็นของตัวเอง

Pablo Ruiz Picasso House Museum บ้านเกิดที่กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานของ ปาโบล รุยซ์ ปิกัสโซ

ในห้องหนึ่งที่เรียกว่า ห้องนกพิราบ จัดแสดงภาพวาดนกพิราบหลายภาพที่ปิกัสโซ่และพ่อของเขาวาด และต่อมาภาพลายเส้นนกพิราบเหล่านี้กลายเป็นสัญลักษณ์สากลของสันติภาพ ทุกครั้งที่มีการพูดถึงสันติภาพไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ภาพวาดนกพิราบของเขาจะปรากฏขึ้นควบคู่กันไป และปิกัสโซ่เองก็ได้เข้าร่วมขบวนการสันติภาพ ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์หลายครั้งในปี 1950 ที่ประชุมสภาสันติภาพในเมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ปิกัสโซ่ได้กล่าวสุนทรพจน์สั้น ๆ ว่า ภาพนกพิราบเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพ่อของเขาผู้ชอบวาดภาพนกพิราบ

ผู้เขียนเดินเข้าไปในห้องนั่งเล่น ห้องทำงานของพ่อปิกัสโซ่ ที่ยังจัดวางเฟอร์นิเจอร์โต๊ะ เก้าอี้ ชุดรับแขก ภาพถ่าย ภาพวาด และสมุดบันทึกวางบนโต๊ะไว้เหมือนเมื่อร้อยปีก่อน ย้อนอดีตให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีชีวิตเสมอ

Pablo Ruiz Picasso House Museum บ้านเกิดที่กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานของ ปาโบล รุยซ์ ปิกัสโซ

ระหว่างทางแต่ละห้อง จะมีคำพูดของปิกัสโซ่ชวนสะกิดใจเรา อาทิ

“สำหรับผม ไม่มีอดีตหรืออนาคตในงานศิลปะ ถ้างานศิลปะไม่สามารถดำรงอยู่เป็นปัจจุบันได้ตลอดกาล ก็ไม่ควรเป็นงานศิลปะ งานศิลปะของกรีก อียิปต์ หรืองานของจิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ที่ผ่านมา ไม่ใช่งานศิลปะในอดีต บางทีมันเป็นงานในขณะปัจจุบันยิ่งเสียกว่าที่เคยเป็นอีก”– ปิกัสโซ่ 1923

ห้องสุดท้ายที่ผู้เขียนแวะเข้าไป น่าจะเป็นห้องที่เป็นบทสรุปชีวิตของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นที่ทราบกันดีว่าปิกัสโซ่ฉายแววอัจฉริยะวาดภาพได้อย่างยอดเยี่ยมตั้งแต่เป็นเด็ก ประสบความสำเร็จในอาชีพตั้งแต่วัยหนุ่ม ภาพเขียนของเขาขายได้ในราคาดีมากมาตลอดชีวิต เขาเป็นนักทดลอง พยายามสร้างสรรค์งานศิลปะใหม่ ๆ แบบไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะงานศิลปะแบบคิวบิสม์ ที่กล่าวกันว่าเขาได้รับอิทธิพลจากหน้ากากแอฟริกัน นอกจากนั้นเขายังหยิบจับวัสดุทุกอย่างมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่างานปั้น งานแกะสลัก งานพิมพ์ไม้ พิมพ์หิน พิมพ์แผ่นโลหะ และภาพลายเส้น

Pablo Ruiz Picasso House Museum บ้านเกิดที่กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานของ ปาโบล รุยซ์ ปิกัสโซ

มีภาพชุดหนึ่งในห้องสุดท้าย แสดงภาพวาดในช่วงบั้นปลายชีวิต หลายภาพเขาตวัดปลายพู่กันราวกับเด็กน้อยเป็นผู้วาด ช่างเรียบง่าย ไร้เดียงสาแต่ทรงพลังยิ่ง และมีภาพชุดหนึ่งเป็นภาพวาดลายเส้นกระทิงที่เขาวาดในช่วงอายุต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่ม วัยชรา จนมาภาพสุดท้ายก่อนตายไม่กี่ปี จะเห็นพัฒนาการของภาพวาดกระทิงจากภาพเหมือนจริง มาเป็นภาพแบบคิวบิสม์ และค่อย ๆ ถอดรูป ลดรูป ลดรายละเอียดไปเรื่อย ๆ จนภาพสุดท้ายกลายเป็นภาพลายเส้นไม่กี่เส้น บริสุทธิ์เหมือนเด็กวาด แต่ชัดเจนในความเป็นกระทิง

Pablo Ruiz Picasso House Museum บ้านเกิดที่กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงงานของ ปาโบล รุยซ์ ปิกัสโซ

ครั้งหนี่ง ปิกัสโซ่เคยกล่าวในงานนิทรรศการศิลปะเด็กว่า

“ตอนผมอายุเท่าเด็กน้อยเหล่านี้ ผมวาดภาพเหมือนได้งดงามระดับเทพอย่างราฟาเอล แต่ผมต้องใช้เวลาเกือบตลอดชีวิต เพื่อจะกลับมาวาดภาพได้บริสุทธิ์เหมือนเด็กเหล่านี้”

จะมีสักกี่คนที่มีพลังทำงานสร้างสรรค์งานทรงคุณค่าทิ้งไว้กับโลกได้ตลอดเวลาแบบไม่เคยหยุดนิ่ง จนเกือบสุดท้ายของลมหายใจ

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว