คำขวัญของหมู่บ้านป่าน้ำใสคือ ‘Freedom of Life’ หรือชีวิตที่เลือกได้
จากเทรนด์ที่อยู่อาศัยยุคนี้ที่คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น เมืองถูกจำกัดจำเขี่ยกันถึงที่สุด จนบางคนตระหนักรู้แล้วว่านี่อาจไม่ใช่ชีวิตที่เลือกได้เท่าใดนัก แถมยังตกอยู่ในสภาวะที่ไม่สุขกายและไม่สบายใจ กลายเป็นว่าสุดท้าย เรากลับยังคงโหยหาอิสรภาพจากธรรมชาติอยู่เมื่อเชื่อวัน
เราเลยอาสาพาขับรถมุ่งหน้าจากเซนทรัลปิ่นเกล้าราว 50 นาที สู่ผืนดินกว่า 435 ไร่ที่ตั้งต้นจากความอยากอยู่กับธรรมชาติในทุก ๆ วัน และขยายเป็นหมู่บ้านในฝันแห่งใหม่เพื่อสร้างชีวิตที่เลือกได้ แถมการดำรงอยู่ของหมู่บ้านกลางป่าแห่งนี้ คือ Social Enterprise ที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไรเป็นที่ตั้ง เพราะเลือกทำบนดุลยภาพของวิถีธรรมและวิธีทุน เพื่อให้โครงการเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน
เบื้องหลังแนวคิดทั้งหมดของผืนดินที่รายล้อมด้วยสุนทรียะแห่งการใช้ชีวิตแห่งนี้เป็นอย่างไร คอลัมน์หมู่บ้านรอบนี้ ชวนตามไปหาคำตอบกับ ชูชัย ฤดีสุขสกุล ที่วันนี้ขอวางบทบาทนักธุรกิจและนักขับเคลื่อนสังคม มาพูดคุยกันในฐานะผู้คิดริเริ่มโครงการ ถึงอาณาจักรในฝันที่อยากอยากปลุกปั้นชุมชนทางเลือกให้เกิดขึ้นจริง

ความสบายกายและสบายใจ
ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 35 ปีก่อนต้นไม้จะกลายเป็นป่าปลูกและทะเลสาบอย่างทุกวันนี้ มีจุดตั้งต้นที่ชูชัยนั่งลงเล่าให้เราฟัง ว่ามาจาก 2 คำคือ ‘สบายกาย’ และ ‘สบายใจ’
“ตอนผมทำงานอายุประมาณ 31 ปี มันเกิดความขัดแย้งในใจเยอะเหมือนกัน ในฐานะคนทำงานภาคธุรกิจ เราใส่สูทผูกเนกไท ไปนั่งประชุมแถวหน้า ตอนนั้นกลับรู้สึกไม่ชอบเลย ทำไมชีวิตคนเรามันต้องเป็นอย่างนี้ด้วย ทำไมต้อง VIP แล้วความสุขจริง ๆ ของคนมันเป็นอย่างนั้นจริงเหรอ สุดท้ายพอกลับมาหาคำตอบกับตัวเอง ก็พบว่าการอยู่ให้ไม่ทุกข์หรืออยู่แล้วสุขมีแค่สองอย่างเท่านั้นเอง” เขาเว้นจังหวะให้เราคาดเดา
“อยู่ในที่ที่อากาศดี ได้ออกกำลังกาย กินอาหารดี ๆ ซึ่งชีวิตที่อยู่กับป่าอยู่กับน้ำก็ตอบคำถามเหล่านี้ได้” ชูชัยเฉลยถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ฉุกคิดขึ้นมา เรื่องความฝันกับการสร้างอาณาจักรที่อยากอยู่

และเมื่อเพื่อนเขาออกปากบอกว่ามีที่ดินหลายผืนในจังหวัดนครปฐมที่มาต่อเติมความฝันได้ ผนวกกับเป็นจังหวัดที่หลงรักเป็นทุนเดิม ทำให้เขากลายมาเป็นเจ้าที่ดิน 285 ไร่ และเริ่มจุดประกายความสุขที่กำลังตามหา และเพียรปลูกต้นไม้เอาไว้ก่อนนับตั้งแต่นั้น
“ด้วยเป็นพื้นเพของครอบครัวฝั่งคุณแม่ ผนวกกับความเป็นบ้านนอกในเมืองที่มีพร้อมสรรพทุกสิ่ง เลยเป็นเหตุผลที่เลือกนครปฐม ด้วยวิถีชีวิตบางอย่างที่คงอยู่ เรายังพูดเหน่อ ๆ ยังขายของแบบบ้าน ๆ เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราตกหลุมรัก แล้วอาหารดี ๆ แถวนี้เยอะมากเลย เพราะนครปฐมเป็นแหล่งอาหารของแผ่นดินอยู่แล้ว ทั้งปศุสัตว์และเกษตรกรรมทั้งหลาย ก็ส่งออกจากที่นี่น่าจะเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ แน่นอนว่าสร้างสุขภาวะสบายกาย กินดี อยู่ดี แล้วก็สบายใจได้” เจ้าของที่ดินย้ำถึงแนวคิดริเริ่มที่เขาเรียกว่าโดยรวมว่า ‘ชุมชนสุขภาวะ’

สานต่อความฝัน
เมื่อตกผลึกทางความคิดดิบดีและถึงเวลาอันเหมาะสม เขาก็ว่าจ้างสถาปนิกให้มาออกแบบพื้นที่ให้ โดยจุดเด่นที่ทำให้เป็นอย่างที่เขาตั้งใจไว้คือ มีที่อยู่น้อย ๆ แต่มีป่ากับน้ำมาก ๆ
“เดิมที ผมตั้งใจทำไว้อยู่เองกับเพื่อน ๆ ญาติ ๆ และหุ้นส่วน ในเมื่อเราอยากอยู่กับป่ากับน้ำ ก็ออกแบบให้เป็นที่อยู่สัก 28 เปอร์เซ็นต์พอ แล้วก็เว้นพื้นที่ไว้ด้วยสำหรับทำกิจกรรมอื่น ๆ พอวางแปลนเสร็จ เราก็ขุดดินเอามาถม ทำเป็นทะเลสาบ ระหว่างขุดดินไปก็ปลูกต้นไม้ไปด้วย หมดไปเป็นล้านเฉพาะต้นไม้ เพราะตายไปเกือบครึ่ง” ชูชัยเล่าขำ ๆ ก่อนเพิ่มว่าบทเรียนนี้นำมาซึ่งการเรียนรู้เพื่อวางระบบน้ำให้ขึ้น
จากที่ดินที่ไม่มีอะไรและตั้งใจแวะมาอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว พื้นที่แห่งนี้กลับต้องมนต์จนเขาเลือกโยกย้ายจากหมู่บ้านจัดสรรขนาด 200 ไร่ มาใช้ชีวิตในบ้านกลางป่า

“ตอนแรกลังเลอยู่เหมือนกันว่าจะมาอยู่เลยดีไหม พอมานอนได้คืนสองคืน มันเข้าท่านี่หว่า ก็เลยเข้ามาอยู่ อยู่ไปอยู่มา เฮ้ย มันสนุกว่ะ สนุกทุกวันแล้วก็มีความสุขด้วย ก็เลยอยู่จริง ๆ จัง ๆ จนถึงตอนนี้น่าจะ 15 ปีได้แล้ว” เขาเล่าไปยิ้มไป พร้อมบอกต่อว่าความสนุกที่เขาพูดถึงคือการปลูกต้นไม้ วางโครงสร้างต่าง ๆ และสารพัดงานดูแลพื้นที่ ไป ๆ มา ๆ ก็ขยายเพิ่มขึ้นจนกลายเป็น 435 ไร่ในที่สุด
พออยู่เองแล้วชอบ ก็กลายเป็นว่าอยากให้คนอื่นมาอยู่ด้วย
“ผมอยากเปิดให้คนมาอยู่ก็ตอนเริ่มอายุเยอะขึ้น เรารู้ว่าความฝันของเราใหญ่มาก พื้นที่ก็ใหญ่ เดี๋ยวเราแก่ตายไปทำยังไงดี เลยคิดว่าน่าจะต้องหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่มาสานต่อได้”
สุดท้าย ก็ตกตะกอนกลายเป็น 3 กลยุทธ์หลักเพื่อขยายแนวคิดในสเกลที่กว้างขึ้นสู่หมู่บ้านป่าน้ำใส ตั้งแต่การตามหาคนที่ใช่มาอยู่ด้วย การเคารพธรรมชาติ และข้อสำคัญคือสร้าง Living Community ให้เกิดขึ้น

ตามหาคนเผ่าเดียวกัน
แล้วคนแบบไหนคือคนที่ใช่ เราถามเพื่อคลายข้อสงสัย เขาก็ตอบให้ว่าคือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เป็น ‘คนเผ่าเดียวกัน’
“ใหม่ ๆ ก็จับกฎเกณฑ์ไม่ค่อยได้เท่าไรนะ แต่พอมาตกตะกอนก็พบว่า ข้อแรกคือเป็นคนมีจริตที่ใช่ อัตตาหรือการยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนน้อย ๆ ต่อไปจะมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่ได้ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่คิดถึงคนอื่นด้วย
“ข้อที่สองคือใจกว้าง-จิตใหญ่ เขาจะยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้ เมื่อเขาเปิดรับฟังความคิดเห็น พอเข้ามาอยู่ในชุมชนจะช่วยสร้างสรรค์คุณภาพใหม่ ๆ ได้ด้วย พอใจกว้าง ก็นำมาซึ่งการเคารพความเป็นมนุษย์
“และข้อสามที่สรุปได้คือ คนที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ชอบก็บอกว่าชอบ ไม่ชอบก็บอกว่าไม่ชอบ ฉะนั้นพออยู่ด้วยกัน จะไม่ทะเลาะกันเลย เพราะต่างคนต่างรู้กัน แล้วฉันก็ไม่บังคับคุณให้ชอบเหมือนฉัน อย่างนี้ก็เรียกว่าการเคารพกัน”
ทั้งหมดนี้ ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์อย่างเขา ยึดมาจาก 3 คำสำคัญที่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ปลูกฝังเอาไว้ นั่นคือ ‘เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ’
“ถ้าคุณมีอีโก้เยอะ ก็ไปจำกัดเสรีภาพคนอื่น คนอีโก้น้อยจะทำให้บรรยากาศของเสรีภาพมันมากขึ้น ความใจกว้าง-จิตใหญ่ เป็นเรื่องของภราดรภาพ คือการอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้อเฟื้อ ส่วนเรื่องของการเคารพคุณค่าของความเป็นมนุษย์คือความเสมอภาค เลือกยอมรับฟังความเห็นต่างได้”

หลังอธิบายจบ ชูชัยก็ชี้ชวนเราให้หันไปดูที่ซุ้มประตูทางเข้า เขาเล่าต่อว่านี่คือประติมากรรมที่ถูก 3 คำนี้กำหนดให้เป็นคอนเซ็ปต์ของการออกแบบเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วยแท่งไม้ 10 แท่งที่มีความอ้วนผอมไม่เท่ากัน แสดงถึงความแตกต่างของสถานภาพของมนุษย์ แต่ว่าทุกแท่งสูงเท่ากันหมด เป็นตัวแทนของความเสมอภาค แท่งไม้ไม่มีการยึดโยงและเป็นอิสระจากกัน คือการให้เสรีภาพกับทุกตารางนิ้ว แต่ทั้งหมดนี้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มได้ด้วยความเป็นภราดรภาพ เช่นเดียวกับป่าน้ำใสที่อยากสร้างเสรีภาพบนพื้นที่ทุกตารางนิ้ว
ฉะนั้น ถ้าคุณสนใจอยากมาสร้างบ้านที่หมู่บ้านแห่งนี้ ด่านแรกจะไม่ใช่การซื้อ-ขายในทันที แต่เป็นการพูดคุยกัน
“เราต้องบอกก่อนว่านี่ไม่ใช่หมู่บ้านจัดสรรนะ เราต้องการสมาชิกที่เป็นคนมีจริตเดียวกัน มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันมาอยู่ร่วมกันมากกว่า ถ้าดูแล้วไม่ใช่ เราก็จะบอกเลยว่าอย่าซื้อเลย คุณอยู่ที่นี่จะไม่มีความสุขนะ แต่ถ้าคุยไปแล้วยังไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ ก็ต้องชวนเขากินข้าว หนัก ๆ เข้าก็ชวนข้างคืนเลย” ชูชัยเล่าถึงกระบวนการออกตามหาชาวป่าน้ำใส เพื่อให้ได้คนเผ่าเดียวกันอย่างที่ตั้งใจ
ป่า ดิน น้ำและที่อยู่ 30 เปอร์เซ็นต์
นอกจากแนวคิดการออกตามหาคน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญของโครงการนี้คือการเคารพธรรมชาติ โดยการทำให้ป่า ดิน และน้ำสมบูรณ์ ซึ่งต้องวางโครงสร้าง กฎกติกา รวมทั้งการบริหารจัดการที่ยั่งยืนเพื่อไม่ไปเบียดเบียนกันและกัน
ตัวอย่างกฎของที่นี่ ก็มีทั้งเรื่องธีมของสิ่งปลูกสร้าง ที่ถูกคุมด้วยรูปแบบ โทนสี Earth Tone เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศโดยรอบ ต้องมีความสูงไม่เกิน 7 เมตร และต้องเว้นระยะร่นจากคลอง และมีเงื่อนไขต้องสร้างบ้านหลังจากซื้อที่ดินภายใน 2 ปี เพื่อตอบหมุดหมายการสร้างชุมชน โดยแม้จะขายเฉพาะผืนที่ดิน แต่โครงการก็มีผู้ให้คำปรึกษาด้านการสร้างบ้าน ต้องส่งแบบให้ช่วยดู เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบโครงการ และข้อสำคัญที่สุดในการสร้างบ้าน คือจะไม่มีการตัดต้นไม้เลยสักต้น


“เราพยายามหลีกเลี่ยงที่สุด นอกจากจำเป็นจริง ๆ ถึงจะล้อมออก แต่คนที่มาอยู่ที่นี่เขาชอบต้นไม้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาก็ไม่อยากตัดกันสักคน กลับอยากได้เพิ่มเสียอีก อย่างบางแปลง ลูกค้าถึงกับบอกว่าต้นไม้น้อยไปหน่อยนะ เราก็บอกว่าไม่ต้องห่วงเดี๋ยวเติมให้ ให้ฟรีเลย เพราะว่าเราต้องการให้มีต้นไม้เยอะ ๆ อยู่แล้ว”
ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ชูชัยก็เล่าให้ฟังว่าที่นี่ยังคิดถึงนิเวศน์ของน้ำด้วย ทั้งการวางโครงสร้างทะเลสาบอย่างดี มีมวลน้ำจำนวนมากพอ ความลึกที่เพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดขี้แดด หรือพวกแพลงก์ตอนที่โดนแดดแล้วตายลอยขึ้นมา จึงมีการห้ามปล่อยน้ำทุกชนิดลงทะเลสาบ และปลาที่มีอยู่ในทะเลสาบ สามารถตกกินได้แต่ห้ามนำไปขายหรือตกเล่น ส่วนน้ำที่ใช้ในครัวเรือนทั้งหมดต้องลงบ่อบำบัดก่อน ซึ่งถ้ามีน้ำปริมาณมากพอ ระบบก็จะนำน้ำไปรดต้นไม้ในโครงการ และทั้งหมดนี้อยู่ในบันทึกข้อตกลงก่อนทำการซื้อขาย
หากย้อนกลับไปยังความตั้งใจแรกที่เปิดให้คนมาอยู่ได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีพื้นที่มากมาย เหตุผลที่เป็นส่วนประกอบ คือ “มาจากคอนเซ็ปต์เรื่องสเปซที่ทำให้อยู่ดี กินดี และสบายใจ และที่ว่างที่ว่าเกิดขึ้นจากป่าที่เพียงพอ อีกอย่าง เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกข้างนอก ถ้าเราเปิดให้คนมาอยู่เยอะ ๆ พื้นที่ป่าลดลง อากาศก็แย่ อุณหภูมิสูงขึ้น ถ้ามีคนน้อยหน่อย อย่างน้อยเราก็รักษาธรรมชาติที่มีเอาไว้ได้”
อีกข้อต่างของหมู่บ้านนี้ คือการไม่มีพื้นที่ส่วนกลาง แต่จะกลายมาเป็นพื้นที่กิจกรรมแทน เพื่อส่งเสริมทั้งด้านสุขภาพ ศิลปะ จนถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติต่อไป
“ที่ไม่เรียกว่าพื้นที่ส่วนกลาง เพราะเดี๋ยวสมาชิกเข้าใจผิดว่าเป็นเจ้าของ เราจะบอกตั้งแต่แรกว่าพื้นที่กิจกรรมพวกนี้เป็นของโครงการนะ แต่คุณมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในอนาคตอาจเป็นหน่วยธุรกิจต่าง ๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร รีสอร์ต โรงแรม พิพิธภัณฑ์ หรือถ้าสมาชิกอยากเปิดอะไรของตัวเองขึ้นมา โครงการเองก็จะสนับสนุน”


จากนั้น เขาก็พาเราล่องแพและชี้หมุดหมายหน่วยธุรกิจที่พูดถึง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นบนพื้นที่เฟส 3 และ 4 จนถึงบริเวณอาคารโรงทอผ้าเก่า ที่จะถูกแปลงโฉมให้กลายเป็น Art Gallery & Market ในลำดับถัดไป
สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง
อาณาจักรแห่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดกลุ่มคน ซึ่งชูชัยนิยามมันว่าชุมชนที่มีชีวิต
“เราต้องทำให้ชุมชนมีชีวิตเป็นคอมมูนิตี้ขึ้นมา เพราะไม่อย่างนั้นมันก็เหมือนโครงการในฝันที่ร้าง หนึ่งคือต้องมีผู้คนเพื่อสร้างระบบเปิด เราต้องการปฏิสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่มีชีวิต ไม่อย่างนั้นเราก็เหมือนโรงงานกับเครื่องจักร
“แล้วชุมชนที่จะเกิดขึ้นต้องมีชีวิตชีวา หรือเป็น Living Community คือมีพลวัตความเคลื่อนไหว ซึ่งข้อนี้ยากมาก อย่างสมัยก่อนเรารู้จักเพื่อนบ้านข้าง ๆ เวลาแกงหม้อหนึ่ง ก็ตักแบ่งไปแจกกัน แต่เดี๋ยวนี้พอเป็นวัฒนธรรมของสังคมเมืองเข้าไปครอบมากเข้า ก็เริ่มไม่ค่อยเห็นบรรยากาศแบบนั้น”
วิธีการที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ เขามองว่าต้องมาจากการออกแบบทั้งทางกายภาพและการสร้างระบบ
“ทางกายภาพคือชวนเหล่าคนที่ใช่ที่มาอยู่ด้วย พวกเขาอาจเป็นพาร์ตเนอร์ ผู้ช่วยจุดประกายความรู้หรือผลักดันสังคมให้เกิดได้ง่ายขึ้น พอคนจำนวนหนึ่งสร้างเกิดวัฒนธรรมขึ้นมา ชุมชนมีความเข้มแข็ง เขาก็อาจตั้งนิติบุคคลมาดูแลพื้นที่ในบริเวณโซนของตัวเองเพื่อช่วยกันดูแลรับผิดชอบพื้นที่ ต่อไปถ้ามีหน่วยธุรกิจสุขภาวะเกิดขึ้น ก็จะไม่มีคนนอกที่ผ่านเข้ามาโดยไม่ผ่านกลไกนี้ของเรา ระบบเหล่านี้ก็ทำให้คนกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนและอยู่ได้ด้วยตัวเอง”
ปัจจัยอีก 2 ส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการสร้างการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ ชุมชนถึงจะมีชีวิตชีวา
“หัวใจของทฤษฎีการเรียนรู้ เกิดจากการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของมนุษย์ ไม่ว่าหน่วยธุรกิจอะไรที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กิจกรรม เราอยากให้มนุษย์มามีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จนได้เรียนรู้ระหว่างกันทั้งด้านธุรกิจ สังคม สติปัญญา หรืออย่างน้อยที่สุด คือได้เรียนรู้ตัวเองจนยกระดับจิตใจ และคลี่คลายปัญหาบางอย่างไปได้”
เมื่อชุมชนภายในถูกตั้งขึ้นแล้ว แผนงานต่อไปจะเป็นกลไกการมีส่วนร่วมที่ขยายออกไปถึงชุมชนภายนอก “ตัวโครงการดูเหมือนผืนป่าก็จริง แต่มีถนนและชาวบ้านล้อมรอบเราไปหมด ดังนั้นเลยจำเป็นต้องเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมไปสู่มิติสังคมข้างนอกด้วย ไม่งั้นเราจะโดดเดี่ยวมาก เราก็ใช้วิธีช่วยเหลือเกื้อกูลให้กับชุมชน เขาก็จะเกรงใจเรา มีอะไรเขาก็จะคอยเป็นยามระวังภัยและเป็นคนช่วยเหลือเราด้วยเช่นกัน”
เจ้าของที่ดินผืนใหญ่ย้ำตลอดการสนทนาว่า การสร้างชุมชนไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งนี้จึงไม่ใช่ข้อผูกมัดที่โครงการป่าน้ำใสจะสร้างคอมมูนิตี้ได้ด้วยตัวคนเดียว “เคยได้ยินไหมว่า ‘สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง’ เพราะฉะนั้นโครงการนี้ไม่ได้จะสร้างสังคมดีให้กับคุณนะ คุณต้องมาร่วมสร้างกับเรา ถึงได้สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมเอาไว้เยอะมาก เพราะมันไม่มีทางสำเร็จเลย ถ้าไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและคนจริง ๆ”

ชุมชนสุขภาวะแห่งอนาคต
ทิศทางต่อไปที่เราจะได้เห็น นอกจากต้นไม้ที่มากขึ้น คือผู้ร่วมชุมชนอีกหลายหลัง ที่อยากเชื้อเชิญให้มาอยู่ด้วยกัน
“อนาคตอันสั้น เราก็คงอยากชวนสมาชิกที่ใช่มาสร้างบ้านและอยู่กับเราจริงจัง ส่วนในระยะยาวก็คงอยากเห็นชุมชนสุขภาวะที่มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น ระบบสาธารณูปโภคก็จะถูกพัฒนามากขึ้น อาจมีรีสอร์ตหรือห้องสัมมนาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างกันเพื่อสรรค์สร้างไอเดียใหม่ ๆ เพิ่มเติม อยากให้ป่าน้ำใสเป็นป่าในเมืองที่คงอยู่อย่างนี้ ซึ่งเชื่อว่าสมาชิกเราคงหวนแหนธรรมชาติกันแน่นอน และหวังว่าจะยิ่งเป็นป่าที่สวยขึ้นเรื่อย ๆ” เขาพูดพลางอมยิ้มว่า ถ้าชุมชนนี้ไปถึงฝันอย่างที่คิดได้จริง นี่คงเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่น่ารักมาก และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมบางอย่าง ที่อาจเปลี่ยนแปลงสังคมได้อนาคต
“ไม่แน่ว่าป่าน้ำใสของเราอาจผุดบังเกิดความคิดและคุณภาพใหม่ ๆ ขึ้นได้ ก็หวังว่าทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้จากที่นี่ในแบบที่คิดไว้” ชูชัยกล่าวทิ้งท้าย
ตอนนี้หมู่บ้านป่าน้ำใสยังเปิดรับสมาชิกสำหรับเฟส 2 อีกหลายครอบครัว สามารถนัดหมายเข้าชมโครงการแบบ Private Visit ได้แล้ววันนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ป่าน้ำใส Paa Namsai หรือโทร. 08 1495 9269
