30 มิถุนายน 2021
4 K

“ช่วยถือไม้พายไหมคะ” 

ขณะยืนรอไฟแดงที่สี่แยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน เราถาม เขียด-รัฐสภา มหาชน เขายื่นไม้พายมาให้ แขนอีกข้างยังคงแบก SUP ยาว 14 ฟุต ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นศูนย์รวมความสนใจของผู้คนที่สัญจรไปมาและติดไฟแดงอยู่ในขณะนั้น ทุกสายตาจับจ้องมาที่เรือ คุณและพวกเขาคงสงสัยคล้ายๆ กันว่าแบกเรือมาทำอะไรที่ราชดำเนิน 

ก่อนจะตอบข้อสงสัยนั้น เราขอพาคุณไปรู้จักเขียดก่อนก็แล้วกัน

เขียดรักการพายเรือ และรักการชวนผู้คนไปพายเรือ

พาไปพาย : เพจสายพายที่พร้อมพาคนไปสนุกกลางสายน้ำในหลากหลายเส้นทางทั่วไทย

เขียดคือเจ้าของเพจ Pa Pi Pie พาไปพาย เพจที่จัดกิจกรรมพาคนไปพายเรือท่องเที่ยวแบบใกล้ชิดธรรมชาติพร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามเส้นทางสายน้ำต่างๆ ทั่วทุกภาคในเมืองไทย 

วันนี้ เรามานั่งคุยกันถึงสิ่งที่เขียดกำลังบรรจงสร้างผ่านเพจพาไปพาย มุมมองและประสบการณ์พายเรือหลากหลายรสชาติ และเสน่ห์ของการพายเรือที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรพลาด 

วันนี้ เขียดเลยตั้งใจนำเรือมาด้วย พายให้เราดูแบบเรียลๆ ในคลองกลางกรุงเก่า 

สัญญาณไฟเขียวปรากฏขึ้น และนี่คือเรื่องราวที่เราคุยกันก่อนหน้านั้น

พาไปพาย

“คำว่า ‘เวนิสตะวันออก’ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะว่าบ้านเราเครือข่ายโยงใยเยอะกว่าเขาเยอะ เป็นบางกอกตะวันออกดีแล้ว” เขียดเปรยถึงฉายากรุงเทพฯ “แต่ว่าเราแค่หันหลังให้เขาอยู่”

ครั้งหนึ่ง กรุงเทพฯ เคยเป็นเมืองแห่งสายน้ำ เป็นเมืองที่มีคูคลองมากมายจนได้รับฉายาว่าเป็นเวนิสตะวันออก วันเวลาผ่านไป คูคลองถูกถมทำถนน คลองบางส่วนที่เหลืออยู่ก็ถูกใช้เป็นคลองระบายน้ำ จากน้ำใสเริ่มกลายเป็นน้ำเสีย จากที่เคยเป็นหน้าบ้านก็กลายเป็นหลังบ้านของใครหลายคน ประตูน้ำที่กั้นลำน้ำหลายสาย เมื่อปิดไว้นานๆ ก็ทำให้น้ำเน่าเสีย และประชาชนใช้สัญจรไม่ได้ 

ด้วยความตั้งใจที่อยากเห็นแม่น้ำกลับมาเป็นหน้าบ้าน บวกกับความชอบในการพายเรือ เขียดออกพายในหลากหลายเส้นทางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทุกครั้ง เขาจะบันทึกเรื่องราวการเดินทางในเฟซบุ๊กส่วนตัว จนช่วงที่ผ่านมา มีคนสนใจพายเรือมากขึ้น มีเพื่อนหลังไมค์มาสอบถามข้อมูล และอยากให้เขียด ‘พาไปพาย’ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเพจที่มีพายเป็นตัวขับเคลื่อน ทำหน้าแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์การเดินทางผ่านสายน้ำตามเส้นทางต่างๆ ทั่วทุกภาคในเมืองไทย และเป็นศูนย์รวมเรื่องราวการพายเรือทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ 

“เราอยากเห็นเพื่อนที่ชอบในสิ่งเดียวกัน ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ขอฝากเพจนี้ เป็นสื่อกลางเชื่อมต่อกันไว้” 

พาไปพาย : เพจสายพายที่พร้อมพาคนไปสนุกกลางสายน้ำในหลากหลายเส้นทางทั่วไทย
พาไปพาย : เพจสายพายที่พร้อมพาคนไปสนุกกลางสายน้ำในหลากหลายเส้นทางทั่วไทย

นักพายสายดำ 

ก่อนสวมหมวกผู้ก่อตั้งเพจพาไปพาย เขียดยังดำเนินธุรกิจที่พักในจังหวัดราชบุรีและเป็นนักกีฬาไตรกีฬา ซึ่งถึงไม่บอกก็สังเกตได้จากหุ่นกำยำและกล้ามขาแข็งแรง ก่อนมาพายเรือเขียดเล่นกีฬาทางบกและทางน้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทุกวันนี้เขียดพายเรือทุกอาทิตย์ แต่จะเปลี่ยนชนิดเรือไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้รสชาติการพายที่หลากหลาย 

ผู้ไม่เคยพายเรืออาจสงสัยว่าเรือที่เราใช้พายมีกี่ชนิด และแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร เราขออธิบายแบบนี้ เรือที่เราใช้พายโดยมากจะมี 2 ชนิด คือ เรือคายัค และ กระดานยืนพาย Stand Up Paddle Board (SUP) เรือคายัคจะเป็นเรือนั่งพาย มีทั้งแบบ 1 คนพายและ 2 คนพาย ใช้งานได้ทั้งในน้ำนิ่งและน้ำเชี่ยว ส่วน SUP เป็นเรือยืนพาย เหมาะกับการพายในน้ำนิ่งอย่างเดียว

พาไปพาย : เพจสายพายที่พร้อมพาคนไปสนุกกลางสายน้ำในหลากหลายเส้นทางทั่วไทย
พาไปพาย : เพจสายพายที่พร้อมพาคนไปสนุกกลางสายน้ำในหลากหลายเส้นทางทั่วไทย

“ผมเปลี่ยนไปเรื่อย ไปล่องแก่งบ้าง ไปพายคายัคบ้าง พาย SUP บ้าง ไปทะเลบ้าง แต่หลักๆ ผมอยากพายในคลอง อยากพายตรงนี้ เพราะเราอยู่ตรงนี้ เราอยู่กรุงเทพฯ อยู่ราชบุรี อยู่อยุธยา พอเราไปพายเรารู้เลยว่าผู้คนหันหลังให้แม่น้ำ ถ้าคนหันหลังให้ แม่น้ำจะสะอาดได้ยังไง ไม่มีทาง เราคงเคยได้ยินคำว่าหน้าบ้านน่ามอง อันนี้หลังบ้าน ในน้ำมีแต่ของเหลือ ของไม่ใช้ ของทิ้งแล้ว ขยะก็ลงไปบ้าง แต่ผมก็พายไปหมดเลย น้ำเน่าผมก็พาย จนได้ฉายาว่า นักพายสายดำ (หัวเราะ)” 

คงมีไม่กี่คนบนโลกที่อยากเอาตัวเองไปพายเรือในน้ำเน่า แต่เขียดเลือกไปพายเพื่อที่จะเห็นปัญหา เข้าใจในสิ่งที่เป็นอยู่แล้วยังหาทางออกไม่ได้ และเขาเชื่อว่าการไปพายเรือในน้ำดำๆ ที่เป็นหลังบ้านของคนริมน้ำ ก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่กระตุ้นพวกเขาให้อยากดูแลแม่น้ำมากขึ้น เพราะเขาเห็นว่ายังมีคนมาใช้ ยังมีใครมาพายเรือ

“ถ้าถามว่าสนุกตรงไหน ก็ไม่ได้สนุก มันก็เหม็น ใครบอกว่าผมหอม ผมไม่หอม ผมพายไปเหม็นไป แต่ว่าเราไปเห็น แล้วเราไปรู้ คุณบอกได้ว่าถนนตรงไหนไม่ดี เพราะคุณนั่งรถผ่านใช่ไหม แต่ฟุตปาธที่ถ้าคุณไม่เดิน คุณก็ไม่เคยเห็นความสำคัญ จนคุณไปใช้มัน เหมือนกันเลย อะไรใกล้ตัวที่คุณไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมัน คุณไม่เห็นคุณค่าของมัน คุณก็ไม่ได้อยากทำให้มันดี 

 “ผมคิดว่าถ้าภาครัฐหรือเอกชนบางหน่วยงาน หรือประชาชน นักศึกษา วัยรุ่นเห็นคุณค่าของมัน ไปใช้มันเยอะๆ หน่วยงานภาครัฐหรือใครไปบ่นบ่อยๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องของนโยบายสาธารณะขึ้นมาได้” เขียดเชื่อในพลังของมวลชน “เหมือนกับโยนหินลงในน้ำแล้วมันก็ขยายวงไปเรื่อยๆ แล้วในท้ายที่สุดวันหนึ่งแม่น้ำจะดีขึ้น โดยที่ไม่ได้มาจากการท็อปดาวน์อย่างเดียว”

ไม่พายถือว่าพลาด

เมื่อเดินไปถึงท่าน้ำริมคลอง เขียดค่อยๆ หย่อนเรือสีขาวแดงลงน้ำ พลางเล่าถึงเสน่ห์ของการพายเรือ เรื่องราวที่คนไม่เคยลงน้ำพลาดไปในชีวิต

เสน่ห์อย่างแรกคือความช้า ในความคุ้นเคยกับโลกที่หมุนเร็วแบบนี้ ความช้าคงเป็นสิ่งที่เราไม่พึงปรารถนาเท่าไหร่ แต่บางครั้งมันอาจทำให้เราได้รู้จักจังหวะที่ไม่เคยสังเกตมาก่อนหรือลืมไปแล้ว 

“การที่เราเดินทางช้าลง เราจะเห็นอะไรชัดขึ้น ไม่เชื่อคุณลองเดินออกจากบ้าน คุณจะเห็นเพื่อนบ้าน คุณจะเห็นตัวเองชัดขึ้น เฮ้ย บ้านนี้เขาเลี้ยงไอ้นี่ เขาปลูกสายหยุดนะ กลิ่นหอม เราจะเห็นผู้คน เห็นสภาพแวดล้อม เห็นอดีต เพราะว่าเมื่อเราไปเร็วๆ บางทีเราก็ข้ามบางอย่างที่เราควรจะเห็นไป”

ความช้าทำให้เราได้กลับมามองตัวเอง มองรอบข้าง และมองเห็นธรรมชาติในมุมใหม่ที่ชัดเจนและใกล้ชิดมากขึ้น การได้ใกล้ชิดธรรมชาติจึงถือเป็นเสน่ห์ข้อถัดไป 

“ผมเห็นธรรมชาติที่มันเปลี่ยนผ่าน คุณเคยรู้ไหมว่าน้ำทะเลมันหนุนถึงปทุมธานีได้เลยนะ เป็นน้ำกร่อย พอเราพายเรือเรารู้ด้วยตัวชี้วัด คือมีต้นจาก มีต้นลำพู เหมือนบางลำพูอย่างนี้ บางลำพูก็น้ำทะเลหนุนมาได้ แล้วผมเห็นธรรมชาติที่มันสวยงามในแต่ละเวลาของช่วงวัน ตั้งแต่พระอาทิตย์สีชมพู สีส้ม สีแดงร้อน จนเย็น ค่อยๆ เปลี่ยนสี เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ”

ในยุคที่ทุกคนเชื่อมต่อถึงกันได้ตลอดเวลา เชื่อว่าบางครั้งเราก็อยากใช้เวลาอยู่กับตัวเอง อยู่กับความว่าง ปล่อยใจไปกับความงามและความสงบของธรรมชาติรอบตัว เสน่ห์อีกอย่างที่ผู้พายจะได้สัมผัส คือความว่างที่พบได้แบบไม่ต้องไปไหนไกล 

“เรารู้สึกว่ามันสงบ เรามีระยะห่าง ไม่ได้ต้องเชื่อมต่ออะไรกับใคร เราแค่ดูแลเรือของเราให้ดี น้ำไม่เข้า แค่นั่งแล้วเห็นความว่าง ไม่ต้องเอาเงินไปจ่ายเพื่อการเดินทางเยอะๆ บางคนต้องไปทะเลเพื่อเห็นความว่าง แต่ไม่ลงน้ำ แล้วไปทะเลทำไม ถ้าจะไปให้ลมกระแทกหน้าเล่น ไปเห็นที่โล่งๆ แม่น้ำนี่ไง มีเยอะแยะเลย ไปได้ ต้นทุนต่ำมาก ราคาถูก เดินทางง่าย”

สุดท้าย เสน่ห์ที่สร้างสีสันและเพิ่มรสชาติให้การพายเรือที่เขียดแนะนำ คือการได้ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ 

“ยิ่งเราไปพาย เรายิ่งอยากค้นคว้าเพิ่ม เราก็เริ่มต่อภาพ ต่อภาพปัจจุบัน ต่อภาพอดีต” ระยะทางพายเรือหลายกิโล ทำให้ผู้พายได้เห็นทัศนียภาพที่ผลัดเปลี่ยนจากเมืองสู่ป่า จากป่าสู่เมือง จนเขียดบอกว่าเหมือนเป็นการพายเรือย้อนอดีต

“อย่างคลองบางกอกใหญ่ สมัยก่อนคือแม่น้ำเจ้าพระยาจริงๆ แต่เส้นที่ผ่านจากศิริราช ผ่านท่าพระจันทร์ ผ่านท่าพระอาทิตย์ ไปวัดระฆัง เป็นคลองขุดเพื่อที่จะลัด ให้เรือสำเภาลัด เรือสำเภาที่จอดเทียบท่าที่ปากอ่าว ขนถ่ายสินค้าจากปากอ่าวขึ้นมาอยุธยา การที่ต้องอ้อมคลองบางกอกใหญ่ต้องใช้เวลาสองสามวัน ขุดคลองแป๊ปเดียวถึง ก็คือย่นระยะเวลาในเรื่องของทางเศรษฐกิจ เรื่องการขนส่ง คือย้อนไปถึงในสมัยอยุธยาได้เลย อย่างนี้เลยเริ่มสนุกไปใหญ่”

เขายกตัวอย่างเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่ได้จากการพายเรือให้ฟังอย่างกระตือรือร้น

พายสู่เส้นชัย

เขียดลงน้ำพร้อมสาธิตวิธีการพายเรือให้เราดูอย่างคล่องแคล่ว เขาพายวนไปรอบๆ ก่อนจะกลับขึ้นฝั่งมาครั้งหนึ่งพร้อมกับขยะขวดพลาสติกสองสามชิ้น 

ภาพใหญ่ของเพจพาไปพายในตอนนี้ คือการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมเรื่องพายเรือให้คนมีประสบการณ์ร่วมและเข้าถึงได้ง่าย “ผมอยากทำให้มันเป็นการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่ซึมลึกเข้าไปจนได้รู้สึกจริงๆ แล้วท้ายที่สุด คนก็จะรักแม่น้ำมากขึ้น อนุรักษ์มากขึ้น”

ในคลองรอบกรุงที่ไร้เส้นชัย จุดหมายของเขียดไม่ใช่คุณค่าที่สร้างระหว่างการเดินทาง เส้นชัยของเขียดคือการสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นเส้นชัยที่ใช้ ‘คน’ และ ‘น้ำ’ เป็นตัวชี้วัด 

แม้เขียดอยากเห็นแม่น้ำใสสะอาดขึ้น เขาก็ออกตัวว่า เพจพาไปพาย ไม่ใช่เพจอนุรักษ์ที่จัดทริปพายเรือเก็บขยะอย่างเดียว แต่เขาตั้งใจใช้พื้นที่ตรงนี้พาคนไปสนุก ไปออกกำลังกาย ไปท่องเที่ยว ไปเรียนรู้ธรรมชาติ ไปรู้จักชุมชน เพราะเขาเชื่อว่าการพายเรือสามารถช่วยสังคมในด้านอื่นได้อีก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ 

เขายกตัวอย่างทริปพายเรือในสวนพฤกษศาสตร์ที่ทะเลน้อย “ผมไปพายที่พัทลุง ทะเลน้อยสวยมาก ถัดเข้าไปตรงนั้นจะเป็นสวนพฤกษศาสตร์ ผมไปพาย SUP ไปดูนกถ่านหิน ควายน้ำ ถ้ามีเรือคายัคหรือ SUP ตรงนั้น มันจะเป็นการท่องเที่ยวอีกแบบที่ไม่มีคาร์บอน ไม่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง แล้วคนก็จะใช้เวลาตรงนั้นมากขึ้น จะจับจ่ายใช้สอยตรงนั้นมากขึ้น พายเรือเหนื่อยก็ต้องกิน ต้องอยู่นาน ช่วยกระจายเศรษฐกิจได้ดีเลย

“เรารู้สึกว่าเราเป็นจุดเล็กๆ ทำอะไรได้เราก็ทำ วันหนึ่งถ้ามีคนมาสนใจต่อยอด ทั้งวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ได้ลองมาพายเรือ เขาก็จะได้เริ่มเข้าใจ เริ่มเห็นดีเห็นงามกับมัน เพราะว่าจริงๆ แหล่งน้ำเป็นของทุกคน”

พายคนละไม้คนละมือ

พลังของทุกคนมีความหมาย เขียดอยากชวนฟื้นฟูสายน้ำทั่วไทยให้สะอาดอย่างที่ใครเห็นก็ต้องอยากมาพายเรือเที่ยว และการพายเรือไม่ได้ยากอย่างที่คิด เริ่มต้นด้วยการหาให้เจอว่าเราชอบพายแบบไหน แม่น้ำหรือทะเล ถ้ายังไม่รู้ เขียดแนะว่าให้ไปลองก่อน ยังไม่ต้องรีบซื้อเรือ 

“ไปลองก่อน ไปเปลี่ยนเวลา เปลี่ยนสถานที่ ดูว่าเราจริตแบบไหน เราชอบอะไร เราชอบหวาน เราชอบเค็ม เราชอบรสจืด หรือเราชอบน้ำทะเล” 

ถ้ายังลังเล เจ้าของเพจพาไปพายอยากให้นึกถึงก่อนหน้านี้ที่คนไม่วิ่งมาราธอนเพราะเหนื่อย แต่หลังๆ กลับกลายเป็นกีฬาท้าทายของคนหลายช่วงวัยและอาชีพ

“การที่คนรู้สึกว่าการออกไปตากแดดเป็นเรื่องเหนื่อยๆ แย่ๆ ผมว่าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว ยิ่งในกรุงเทพฯ แผนที่มี กูเกิลมี ร้านอาหารริมน้ำ ร้านกาแฟน่ารักๆ เยอะ ไม่ต้องกลัวว่าของกินจะหมด ท่าน้ำขึ้นลงสะดวก มีสถานที่สาธารณะอำนวยความสะดวกเยอะ เวลาที่ดีมีทั้งเช้าเย็น” 

เขียดรับรองว่าการพายเรือในเมืองไม่มีอดแน่นอน และนอกจากจะสนุกกับการชมเมืองในมุมที่ต่างแล้ว ยังได้รูปถ่ายสวยๆ กลับมาอีกเพียบ

สำหรับมือใหม่ที่อยากลองไปประเดิมการพายเรือครั้งแรก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ไปเริ่มที่เส้นทางบางกะเจ้าก่อน เพราะเดินทางสะดวก ทั้งยังได้สัมผัสธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ สนุกเหมือนได้พายผจญภัยในป่าน้อยๆ กลางกรุง 

  หลังจากฟังเขียดเล่าจบ เรานึกถึงไม้พายที่อยู่ในมือเมื่อครู่ อยากจะจ้วงตามไปพายกับเขาด้วยเสียตอนนี้เลย

ภาพ Facabook : Pa Pi Pie พาไปพาย

Writer

Avatar

ศิรประภา แลนแคสเตอร์

นักเขียนฝึกหัดที่กำลังเรียนรู้โลกผ่านตัวอักษร เรื่องเล่า และการเดินทาง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน