“ป่านาคำหอม เพิ่ง Soft Opening ไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ยังไม่ถึงเดือนเลย” อิ๋ม-รติกร ตงศิริ เจ้าของพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 43 ไร่ ที่พักเปิดใหม่ในจังหวัดสกลนคร แนะนำตัว พร้อมบอกเราด้วยรอยยิ้มถึงระยะเวลาเปิดทำการที่พักของเธอ
โดยใน 43 ไร่ ประกอบไปด้วยป่าดั้งเดิม ผืนนา แปลงผัก สวนผลไม้ สระน้ำ และที่อยู่อาศัย จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้อิ๋มตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่เธอจะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพและดูแลพื้นที่ทั้งหมด
นั่นเองคือตอนที่ ‘ป่านาคำหอม’ ซึ่งมีสถานะเดิมเป็นชื่อโครงการดูแลผืนป่า ก่อนกลายมาเป็นชื่อของที่พักที่ประกอบไปด้วย ‘โพน’ จำนวน 7 ห้อง ในเวลาต่อมา
หลักใหญ่ใจความของที่พักนี้ คือแนวคิดการออกแบบ จะทำอย่างไรให้อาคารไม่หงำป่า (หงำ เป็นภาษาอีสาน แปลว่า บัง ข่ม ครอบ) ให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ปล่อยลมหายใจได้อย่างไม่รู้สึกเสียดายเวลา นอนฆ่าเวลาบนเปลแล้วไม่รู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำอะไร พร้อม ๆ กับสังเกตธรรมชาติรอบตัว และสังเกตใจตัวเองเมื่ออยู่ท่ามกลางความสงบของผืนป่า
จากบ่าวคำหอม สู่ป่านาคำหอม
“โครงการป่านาคำหอม ทางกายภาพมีพื้นที่ราว 43 ไร่ เป็นป่าดั้งเดิมที่ยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นประมาณ 20 ไร่ โซนอื่นเป็นนาที่ชาวบ้านเข้ามาทำอยู่แล้ว 10 ไร่ พ่อซื้อที่ดินทั้งหมดตรงนี้ต่อจากคนกรุงเทพฯ เวลาผ่านไปคนที่เช่านาก็เลิกทำแล้วคืนที่ให้เรา เพราะแถวนั้นเป็นนาน้ำท่วม เป็นพื้นที่ลุ่มมาก ๆ ต้องลุยน้ำบ่อย ๆ นานเข้าคนก็สู้ไม่ค่อยไหว หาคนมาลงแขกเกี่ยวข้าวดำนาได้ยากขึ้น
“เรามีนาที่ทำอยู่เอง 3 ไร่ แต่อีก 7 ไร่จะให้ทำนาต่อคงไม่ไหว เพราะเกินความจำเป็น เลยถมที่ด้วยการขุดดินจากในตัวพื้นที่เองมาถมเป็นโคก ส่วนที่ถูกขุดขึ้นมาก็กลายเป็นสระ เราเลยมีโคกสำหรับปลูกต้นไม้ โคกสำหรับปลูกผัก และมีสระอยู่ในบริเวณ” อิ๋มเล่าถึงกายภาพของพื้นที่ให้พอเห็นภาพ
การทำนาล่วงเลยมากว่า 10 ปี พร้อมกับอิ๋ม และคุณพ่อก็ย้ายจากตัวเมืองเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ราว 2 สัปดาห์ เพื่อใช้วาระสุดท้ายของชีวิต ณ ผืนป่าแห่งนี้ และลูกสาวก็ได้เห็นวาระสุดท้ายของผู้เป็นพ่อ ณ ผืนป่าแห่งนี้ เช่นกัน
“ชีวิตคนเราเดี๋ยวก็ตาย เราเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราควรเรียนรู้เรื่องอะไรก่อนตายถึงจะได้ตายดี จึงเริ่มมีความคิดเรื่องโปรเจกต์ป่านาคำหอมขึ้นมา ถ้ารู้สึกว่าป่าไม่ปลอดภัย ก็ทำความเข้าใจกับป่าให้ปลอดภัยขึ้น” อิ๋มเปรยถึงแนวคิดของโครงการ
เมื่อความคิดริเริ่มโผล่ขึ้นมาในหัว อิ๋มก็ชักชวนเหล่าคณาจารย์และเพื่อนฝูงที่มีความรู้เชิงนิเวศมาช่วยกันเก็บข้อมูล แม้จะไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างเป็นจริงเป็นจัง ออกไปทางแวะมาเยี่ยมเยียนพร้อมสำรวจผืนป่าเสียมากมากกว่า แต่หนึ่งในผู้ที่มาคือ อาจารย์นพพร นนทภา ผู้ก่อตั้งกลุ่มขุนดง ซึ่งอาจารย์รวบรวมพรรณพืชในพื้นที่ได้กว่า 200 ชนิด อิ๋มเสริมปิดท้ายย่อหน้านี้ว่า นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดของผืนป่านี้
อย่างหนึ่งที่เธอได้รู้ คือที่นี่เป็นป่าดิบแล้ง บางส่วนเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วม บางส่วนเป็นพื้นที่ที่น้ำขังได้ และต้นไม้ก็ยืนต้นแช่น้ำได้ทีละ 3 – 4 เดือน สำหรับคนที่ไม่รู้เหมือนผมในทีแรก โดยปกติในอีสานจะเป็นป่าเต็งรัง ป่านี้จึงเป็นระบบนิเวศที่มีความพิเศษไม่น้อยเลย
ถ้าเล่าให้เห็นภาพเหมือนที่อิ๋มบอกกับผม สูงสุดของสกลนครก็คือภูพาน ไล่ลงมาป่านาคำหอมที่เป็นที่ลุ่ม ก่อนจะไปลงหนองหาร ไหลไปทางน้ำก่ำ สุดท้ายก็ลงน้ำโขง
เมื่อรู้แล้วว่าตัวเองกำลังดูแลป่าที่มีความพิเศษอยู่ การตั้งชื่อย่อมเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มต้นจาก ‘คำหอม’ ซึ่งเป็นคำที่คุณพ่อชื่นชอบ
“สมัยพ่อยังมีชีวิตอยู่เขาใช้ชื่อ บ่าวคำหอม เป็นนามปากกาตอนเขียนลง Esanbiz Week” อิ๋มเอ่ยถึงคุณพ่อเจ้าของนามปากกา
ต่อมาในช่วงทำนาปีแรก ผลผลิตเกิดเยอะเกินกว่าจะกินเอง เธอจึงนำมาแพ็กขายในชื่อแบรนด์ ‘นาคำหอม’ พอมาแตะเรื่องป่า เลยคิดง่าย ๆ แต่คล้องจอง ด้วยการเติมเข้าไปให้กลายเป็นชื่อว่า ‘ป่านาคำหอม’ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
โพนนี้เห็นต้นเสม็ด โพนนั้นเห็นต้นมะกอก
“เราทำที่พักเพราะต้องการให้ตัวเองมีรายได้เพื่อเอามาดูแลพื้นที่ทั้งหมด 43 ไร่ และสกลนครยังไม่ค่อยมีที่พักแบบนี้ แถมเราเป็นคนที่ต้องรับแขกบ่อย ๆ ซึ่งที่พักข้างนอกไม่ค่อยตอบสนองความต้องการคนที่มาสักเท่าไหร่ ไอเดียแรกคืออยากมีอาคารกิจกรรมที่หากนอนค้างก็นอนรวมกันได้ แต่อาจจะมีคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เราเลยทำขึ้นมา 7 ห้อง” อิ๋มเล่า
เมื่อการออกแบบอยู่บนแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรให้อาคารไม่หงำป่า อิ๋มจึงให้สถาปนิกที่รู้จักกันจากการเดินป่ามาช่วยออกแบบ เพราะถ้าคิดจะทำอะไรเกี่ยวกับป่า ย่อมต้องใช้คนที่รู้จักป่าถึงจะออกมาถูกต้อง
ส่วนวัสดุที่ใช้นั้นเป็นไม้เก่าเก็บของคุณพ่อ เนื่องจากตอนพี่ชายแต่งงานทำเรือนหอก็ไม่ได้ใช้ พี่สาวทำบ้านใหม่ก็ไม่ได้ใช้ จนปลวกเริ่มจะกินบางส่วนแล้ว ถ้าไม่เอาออกมาใช้ให้หมดโกดัง มีหวังเสร็จปลวกก่อนแน่นอน
นอกจากนี้ ด้วยความที่เป็นป่าดิบ ร่วมกับทำเลของป่านาคำหอมซึ่งเป็นจุดรับน้ำของแม่น้ำสายน้อยประมาณ 2 – 3 สายไหลมารวมกัน จึงเป็นป่าในอีสานที่มีเฟิร์นขึ้นหรือก็คือความชื้นสูงมาก สถาปนิกจึงต้องออกแบบอาคารให้อยู่ร่วมกับความชื้นได้ เช่น ใต้ถุนถูกยกสูงขึ้นเพื่อให้ลมผ่านไล่ความชื้น หันหน้าอาคารรับแดดช่วงเช้า โดยให้ด้านหลังเป็นป่า
“เราจะไม่รุกล้ำพื้นที่ป่าเดิม จึงมีแค่ทุ่งนาเก่าที่เขาไม่ทำแล้ว เราก็ถมที่เพื่อทำเป็นโคกขึ้นมาสำหรับทำเป็นอาคาร โดยห้อง 4 ห้องเป็นบ้านแฝด 2 คู่ และอีกโคกหนึ่งมี 3 ห้อง” อิ๋มเริ่มแนะนำห้องพักทั้ง 7 ห้อง
‘โพนเสม็ด’ คือบ้านแฝด 2 คู่ข้างต้น ที่ชื่อนี้เพราะด้านหลังที่พักมีต้นเสม็ดตั้งเด่นเป็นสง่ากว่าใครเพื่อน
‘โพนมะกอก’ คือห้องพัก 3 ห้องต่อมา ที่ชื่อนี้เพราะมีต้นมะกอกอยู่ใกล้ชิดเหนือหลังคา
“จริง ๆ มันเหมาะกับคนที่อยากอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เน้นความสงบ ไม่ใช่สายกิจกรรมหนัก ๆ เพราะกิจกรรมที่นี่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกาย สุขภาพใจ สุนทรียภาพ และสิ่งแวดล้อม ในห้องพักเรามีเสื่อให้ใช้สำหรับคนที่อยากเอาไปปูนอน มีเก้าอี้สนามสำหรับออกไปกางนั่งมองนกมองไม้ มีไฟฉาย มีรองเท้าบูต มีรองเท้าแตะ ส่วนโพนเสม็ดจะมีเปลให้นอนกลางวันหน้าห้อง” อิ๋มนึกถึงคาแรกเตอร์ของแขกที่จะมาพัก และเปรยถึงกิจกรรมในพื้นที่
คู่มือสำหรับอยู่ร่วมกับความสงบ
สำหรับคนที่มองหากิจกรรมในป่านาคำหอม แขกเดินดูระบบนิเวศป่าได้ตามเส้นทางเล็ก ๆ ที่อิ๋มทำไว้ให้ ตามต้นไม้จะมีป้ายบอกชื่อต้นไม้ที่เขียนด้วยมือแขวนห้อยเอาไว้ หากเดินเข้าไปลึกอีกหน่อยจะมีร่องน้ำที่ปลูกผลไม้เอาไว้ และข้าง ๆ เป็นโซนป่าปลูกใหม่ให้ชื่นชม หากใครที่ชอบสมุนไพร ช่วงนี้มีใบโปร่งฟ้า ก็เด็ดกลับมาใส่ในน้ำร้อนแล้วดื่มเป็นชาได้เลย
“ใครที่แวะเวียนมาถูกฤดูกาล ถ้าอยากลองเกี่ยวข้าว เรายินดีเลยค่ะ ต้องการแรงงานอยู่แล้ว” อิ๋มเล่าด้วยเสียงหัวเราะ
ความพิเศษของนาข้าวนี้ คือการใช้ข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองใหม่ที่ ตุ๊หล่าง-แก่นคําหล้า พิลาน้อย เป็นคนคิดค้นขึ้นมา อีกทั้งยังเป็นแปลงสาธิตทดสอบพันธุ์ข้าวอีกด้วย
หรือถ้าใครไม่รู้จะทำอะไรจริง ๆ ในห้องมีคู่มือให้อ่านเพื่อทำความรู้จักตัวที่พักและป่าผืนนี้
“(หยิบคู่มือขึ้นมาให้ดู) คู่มือเป็นเล่มเล็ก ๆ ที่เหมือนบันทึกของเราเอง มีผัง มีการเขียนสรุปคร่าว ๆ ว่าตัวเองรู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับที่นี่บ้าง และเขียนคำแนะนำสำหรับคนมาอยู่ที่นี่ แนะนำแม้กระทั่งว่า ช่วงกลางคืนที่นี่อาจไม่ได้เปิดไฟสว่างมากนะ เพราะต้นไม้กับสัตว์เองก็ต้องการความมืดในช่วงเวลากลางคืน แต่เราจะมีไฟส่องให้พอรู้สึกปลอดภัย” อิ๋มพูดถึงเนื้อหาคร่าว ๆ ข้างในคู่มือ
อิ๋มเสริมด้วยเสียงหัวเราะว่าต่อไปอาจต้องทำคู่มือเพื่อให้รู้จักกับตัวละครที่เป็นสัตว์ในพื้นที่ป่าด้วย
ผู้ดูแลพลวัต
“หน้าที่ของเราคือผู้ดูแลพลวัต” อิ๋มพูดถึงคำจำกัดความที่ บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา ผู้อำนวยการมูลนิธิโลกสีเขียวให้ไว้กับเธอ
“ป่าหรือสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มันไม่หยุดนิ่งหรอก เป็นไปไม่ได้ที่เราจะควบคุมให้เขาเป๊ะไม่เปลี่ยนแปลง เราเป็นแค่คนดูแลให้เขาดำเนินต่อไปได้ ให้เขาทำหน้าที่ของเขาได้อย่างเต็มที่เท่านั้น ขณะเดียวกันธรรมชาติเองก็สอนเราในหลาย ๆ เรื่อง เรื่องเชิงนิเวศก็ประเด็นหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นคีย์สำคัญของชีวิต คือเรื่องจิตใจข้างใน เราว่าการเรียนรู้เรื่อง ‘ธรรมะ’ กับ ‘ธรรมชาติ’ มันเอื้อกัน และทำให้ค่อย ๆ คิดว่าเราไม่ได้ยิ่งใหญ่ เราไม่ใช่เจ้าของที่นี่ด้วยซ้ำ เราเป็นแค่ผู้ดูแลที่นี่” อิ๋มเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่ง
แน่นอนว่าเธอเองก็อยากให้คนที่มาได้สัมผัสอารมณ์และความรู้สึกที่ตนได้รับจากธรรมชาติ การได้ลองสังเกตมากขึ้น ค่อย ๆ ทำตัวให้ช้าลง คิดให้ช้าลง เราอาจจะมองเห็นรายละเอียดรอบกาย เห็นสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มีจิตใจที่ละเอียดลออขึ้น อยู่กับความยืดหยุ่นได้ เพราะอิ๋มพูดด้วยประสบการณ์ตรงว่า ธรรมชาตินั้นโคตรยืดหยุ่นเลย
ในช่วงท้ายของการพูดคุย ผมถามอิ๋มว่าทำไมเธอถึงยอมรับหน้าที่ดูแลผืนป่านี้ด้วยตัวเอง
“มันอุตส่าห์ตกมาถึงมือเราแล้ว โลกเราต้องการพื้นที่แบบนี้อยู่แล้ว ป่าที่ดีที่สุดคือป่าดั้งเดิม มันสมบูรณ์ด้วยตัวของเขาเองแล้ว เราเชื่อว่าป่าจัดการตัวเองได้ แล้วที่นี่ป่าเดิมยังอยู่ตั้งครึ่งหนึ่ง และปราชญ์ชาวบ้านเคยบอกไว้ว่าสมุนไพรบางชนิดบนภูพานหมดแล้วหรือแทบจะหาไม่ได้แล้ว แต่ที่นี่ยังเหลืออยู่ วันหนึ่งอาจจะกลายเป็นธนาคารของพืชดั้งเดิมที่เอาไปขยายเพื่ออนุรักษ์หรือใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางกว่าเดิมก็ได้” นี่คือคำตอบของผู้ดูแลพลวัตรของป่าผืนนี้
ส่วนเรื่องในอนาคต อิ๋มเอ่ยถึง ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร ว่าเขาได้เข้ามาช่วยดูและจัดลิสต์พืชสำหรับปลูกเพิ่มจากที่มีอยู่เพื่อให้คนเห็นได้มากขึ้น เพื่อตกแต่งและใช้ศึกษาเรียนรู้ ตอนนี้เหลือเพียงแค่ปรับปรุงดินบางส่วน รวมถึงรอให้ถึงฤดูกาลที่เหมาะสม เช่น บัวบาที่ควรปลูกตอนน้ำในสระสูงระดับเข่า แต่ตอนนี้อยู่ระดับคอ
“คิดว่าภายใน 1 ปีน่าจะเห็นรูปร่างมากขึ้น” อิ๋มกะเวลาคร่าว ๆ
สำหรับตอนนี้ อิ๋มหวังว่าตัวเองจะได้เจอเพื่อนใหม่จากการดูแลป่าผืนนี้ ได้เป็นคนที่อ่อนน้อมลง มีความมั่นคงทางจิตใจมากขึ้น และเป็นคนที่ใจดีขึ้น
ข้อสำคัญ หวังว่าแขกที่มา ‘ป่านาคำหอม’ จะสัมผัสและได้รับสิ่งเหล่านี้กลับไปเหมือนกัน
3 Things you should do
at ป่านาคำหอม
01
ลองนอนเล่นบนเปลโดยไม่รู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำอะไร
02
ลองสังเกตความไม่สมบูรณ์แบบที่สมบูรณ์แบบของธรรมชาติ
03
ลองเที่ยวในเมือง ดูวิถีชีวิตคนสกลนคร