The Cloud X ไทยปะกันชีวิต

“คนทุกคนมีความแตกต่าง และในความแตกต่างของทุกคนล้วนมีศักยภาพที่พัฒนาได้” 

คือความเชื่อที่ผลักดันให้ ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า ผู้เป็นทั้งแม่เลี้ยงเดี่ยวและแม่พิมพ์ของชาติ อุทิศเวลาและความตั้งใจในการศึกษาค้นคว้าบทเรียนที่เหมาะสมกับลูกชายที่เป็นออทิสติก ต่อยอดไปสู่การเปิด ‘ศูนย์การศึกษา ห้องเรียนนอกเวลา’ (Overtime Classroom Learning Center) สำหรับลูกศิษย์ที่เป็นผู้พิการและมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และผลักดันให้พวกเขาได้รับการพัฒนาศักยภาพที่ดีและมีความเท่าเทียม

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ครูเขียวเปลี่ยนบ้านสองชั้นขนาดอบอุ่นในตำบลกำแพงเซา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชของตนเองให้กลายเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กทั่วไป และเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้เข้ามาเรียนรู้ พัฒนาทักษะ แสดงออกถึงศักยภาพของตัวเองร่วมกันนอกเวลาเรียน ผ่านแผนการสอนที่เกิดจากการเรียนผิดเรียนถูกไปพร้อมกับ จิม ลูกชายออทิสติก จนพัฒนาเป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น เอื้อต่อผู้เรียนทุกกลุ่ม และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตจริง 

หลักสูตรทั้ง 4 หลักสูตรที่ครูเขียวออกแบบนั้น ประกอบด้วยหลักสูตรปัญญา หลักสูตรพัฒนากล้ามเนื้อ หลักสูตรค่ายภาคฤดูร้อน (ตอน เดินเท้าเล่าเรื่องวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง) และหลักสูตรอาชีพตามวิถีชุมชนและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน

หากเสาร์-อาทิตย์นี้ยังไม่มีแพลนอะไร เราขอชวนคุณผู้อ่านมาเข้าคลาสทำความเข้าใจเพื่อนร่วมห้องที่มีความหลากหลาย พร้อมทำความรู้จัก 4 หลัก-รักษ์สูตรสนุกๆ ด้วยกัน​ในห้องเรียนนอกเวลา​ที่ไร้ซึ้งข้อจำกัดของหลักสูตร เกณฑ์ประเมิน และศักยภาพของทุกคน 

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

Lesson Plan 1

เรียนผิดเรียนถูกไปพร้อมลูกชายในฐานะแม่และครู

ครูเขียวเล่าย้อนไปว่า เธอเกิดและเติบโตที่ชุมชนบ้านนาโหนด หลังเรียนจบจึงมาเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษาที่โรงเรียนวัดสวนพล การสอนของเธอก็เหมือนครูทั่วไป จนกระทั่งครูเขียวค้นพบว่า ลูกชายคนโตของเธอเป็นออทิสติก

เมื่อรู้ว่าจิมในวัย 12 ขวบ ไม่สามารถเรียนรู้ได้เหมือนเด็กทั่วไป ครูเขียวก็เริ่มกังวลว่า หากวันหนึ่งไม่มีแม่คอยดูแล ลูกชายคนนี้จะใช้ชีวิตต่อไปในสังคมได้อย่างไร จากความกังวลค่อยๆ กลายเป็นความทุกข์ในใจของคนเป็นแม่ ครูเขียวจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับผู้อำนวยการประจำศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช จนได้รับคำแนะนำให้เข้าร่วมอบรมการเรียนการสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

“พ.ศ. 2541 คือปีที่ครูเริ่มเข้าอบรม ประกอบกับศึกษาจากหนังสือด้วยตัวเอง แล้วจึงไปสอบ ตอนนั้นครูได้เรียนรู้อะไรเยอะ ทั้งความเข้าใจในความแตกต่างของเด็กที่มีความต้องการพิเศษแต่ละประเภท เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา เด็กสมาธิสั้น รวมถึงแนวทางการสอนที่เหมาะสำหรับพวกเขา

“กรณีของพี่จิมคือออทิสติก เด็กกลุ่มนี้จะมีพัฒนาการล่าช้าและการแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมด้วยท่าทีแปลกๆ เช่น หลบหน้าหลบตาคนอื่น ตอบโต้กับเสียงที่ได้ยินหรือสิ่งที่สัมผัส บางครั้งก็ไม่สนใจสิ่งรอบตัว มีปัญหาด้านการพูด สื่อออกมาไม่เป็นภาษา 

“วิธีที่เขาจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือการการสาธิต อย่างสาธิตการไหว้พระ การสะกดคำ วิธีนี้ช่วยให้เขาเรียนรู้เร็วขึ้น ไม่ซับซ้อนเกินไป หรือการเล่นเกม ก็ช่วยให้เขามีส่วนร่วมในการเรียนมากขึ้น ที่สำคัญคือเขาชอบ”

ผลลัพธ์จากการปรับสไตล์การสอนที่ได้เรียนรู้ให้เข้ากับลูกชายเป็นที่น่าพอใจสำหรับครูเขียว จิมมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถไปเรียนต่อที่สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช ในระหว่างนั้นครูเขียวและจิมก็ประคับประคองกันไปจนจิมสอบเทียบผ่าน และได้รับวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

Lesson Plan 2

เปลี่ยนบทเรียนสอนลูกชายให้กลายเป็นบทเรียนสอนลูกศิษย์ 

หลังผ่านการอบรมการเรียนการสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ครูเขียวเริ่มสังเกตว่า ยังมีเด็กอีกหลายคนในชุมชนที่มีภาวะเดียวกับจิม ความสำเร็จเบื้องต้นในฐานะแม่ผนวกกับความเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ ซึ่งศักยภาพนั้นพัฒนาได้ จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้ครูเขียวเดินหน้าทำงานวิจัยต่อในฐานะครู

“งานวิจัยนั้นชื่อ ‘แผนการสอนแบบไม่ตายตัว’ สิ่งที่ครูทำคือบูรณาการแผนการสอนเด็กทั่วไปกับแผนการสอนที่ใช้กับพี่จิม เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ในกลุ่มเด็กบกพร่อง เป็นธรรมดาที่จะเจอปัญหาที่ต่างกันออกไป เมื่อเจอปัญหาเราก็แก้ไข ชั่วโมงถัดไปเจออีก เราก็แก้อีก สุดท้ายปัญหามันก็จะหมดไป”

เมื่อแผนการสอนแบบไม่ตายตัวเสร็จสมบูรณ์ ครูเขียวจึงตัดสินใจเดินเข้าไปพูดคุยกับผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกว่าเด็กๆ กำลังเผชิญกับสถานการณ์อะไร และพวกเขาช่วยอะไรลูกๆ ได้บ้าง ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ของแม่ที่ผ่านการดูแลลูกชายออทิสติก และแผนการสอนของครูที่เตรียมไว้รองรับลูกศิษย์ที่อยู่ในภาวะเดียวกัน

เมื่อมีความเข้าใจ ก็เริ่มมีคนรู้จัก มีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนแผนการสอนนี้ จนเกิดเป็น ‘ห้องเรียนพิเศษสื่อสัมผัสเสริมสร้างพัฒนาการ’ ที่โรงเรียนวัดสวนพล 

“เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ออทิสติก สมาธิสั้น และพิการทางร่างกาย จะได้รับการเสริมทักษะและประสบการณ์เหมือนที่เพื่อนร่วมชั้นของเขาเจอ ต่างกันเพียงแค่สื่อที่ใช้และวิธีการสอน

“อย่างการสอนสะกดคำโดยใช้สื่อวิดีโอ หนังสือภาพคำศัพท์ สมุดฝึกเขียน การฝึกกล้ามเนื้อด้วยการประดิษฐ์ของเล่น ของใช้ การฝึกการเคลื่อนไหวและการเเก้ปัญหาผ่านเกมด้วยของที่ประดิษฐ์พวกเขาเอง รวมถึงการเสริมความมั่นใจและทักษะการเข้าสังคมผ่านกิจกรรมเข้าวัด ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา” ครูเขียวอธิบายถึงรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนพิเศษสื่อสัมผัสเสริมสร้างพัฒนาการ

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า
ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

Lesson Plan 3

เปิดห้องเรียนนอกเวลา

การเรียนการสอนในห้องเรียนสื่อสัมผัสเสริมสร้างพัฒนาการดำเนินไปเรื่อยๆ แม้มีเหตุให้สะดุดบ้าง เนื่องจากเวลาที่ทับซ้อนกันของคาบเรียนหลักและเสริมที่ครูเขียวต้องรับผิดชอบ แต่เธอก็พยายามบริหารจัดการเวลานั้นให้ลงตัว จนครูเขียวพบทางออกของปัญหาที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นความสามารถและความตั้งใจของครูเขียวเอง

“ตอนนั้นครูดูแลหลายอย่าง ทั้งสอนในรายวิชาตัวเองและดูแลเด็กพิเศษ ทุกอย่างต้องบริหารจัดการในเวลาราชการหมด เลยมีปัญหาเรื่องเวลาบ้าง เงินทุนบ้าง ปะปนกันไป พอดี พ.ศ. 2551 ครูได้รับรางวัลทุนครูสอนดี เลยคิดว่าจะเอาเงินทุนส่วนนั้นมาเปิดห้องเรียนให้เด็กๆ พิเศษกลุ่มนี้แทน จะได้แก้ปัญหาเรื่องเวลาที่จำกัดด้วย”

ครูเขียวเริ่มต้นใหม่ด้วยการปรับปรุงบริเวณบ้านสองชั้นของตัวเองให้เป็นพื้นที่ทำการเรียน จากนั้นจึงจัดทำสื่อและอุปกรณ์ที่ต้องใช้สอน บ้างก็ซื้อ บ้างก็นำสิ่งที่หาได้ในชุมชนมาปรับใช้ เงินส่วนที่เหลือก็นำไปใช้เป็นค่าอาหารกลางวัน เสื้อผ้า และค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน 

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า
ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

ความพิเศษของห้องเรียน ‘ด้วยความปรารถนาดีบ้านครูเขียว’ ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2554 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ศูนย์การเรียนรู้ ห้องเรียนนอกเวลา’ คือการต้อนรับกลุ่มผู้เรียนที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีตั้งแต่อายุ 4 – 18 ปี ไม่ใช่แค่กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษ แต่รวมถึงเด็กทั่วไปที่สนใจเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกันในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยมีค่าใช้จ่าย

“สมาชิกที่เข้ามามีทุกประเภท กลุ่มออทิสซึม กลุ่มดาวน์ กลุ่มบกพร่องทางร่างกาย แต่ครูไม่ได้ตั้งใจไว้แค่นี้นะ เพราะมันจะไม่สำเร็จ พวกเขาต้องมีเพื่อนที่มีพัฒนาการ ถ้าสอนเด็กบกพร่องแค่กลุ่มเดียว พอเขาออกไปจากตรงนี้ ถามว่ามีสักกี่คนที่เข้าใจเขา สุดท้ายก็จบเหมือนเดิมอีก

“อย่างที่เห็นวันนี้ เด็กบกพร่องที่มาอยู่ตรงนี้ เขาผ่านอะไรมามากมายนะ ชาวบ้านบอกว่า ลูกของคุณเป็นบ้า ไม่ปกติทั้งนั้นถ้ามาที่นี่ เพราะฉะนั้น เด็กปกตินี่แหละจะช่วยเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนที่เข้าใจเมื่อกลับไปอยู่ในโรงเรียน

“เด็กปกติก็เหมือนกัน ถ้าเขาเลือกเกิดไม่ได้ฉันใด เขาก็เลือกเพื่อนร่วมสังคมไม่ได้ฉันนั้น อนาคตถ้าเขาไปทำงานในองค์กรหรือที่ไหนๆ เขาก็จะเข้าใจ เพราะเมื่อก่อนเขาเองก็มีเพื่อนแบบนี้ เขาจะปรับตัวได้ ถือเป็นทักษะชีวิตให้เขา” ครูเขียวเล่าถึงเหตุผลที่เลือกรับผู้เรียนที่มีความต่างกันมากขึ้น 

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า
ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

Lesson Plan 4

หลักสูตร x รักษ์สูตร

อีกหนึ่งความพิเศษของศูนย์การเรียนรู้ ห้องเรียนนอกเวลา คือ 4 หลักสูตรที่ไร้ข้อจำกัดของเวลา เกณฑ์การประเมิน และศักยภาพของผู้เรียน เน้นเอื้อต่อผู้เรียนทุกกลุ่มและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง 

หลักสูตรแรก คือ ‘ปัญญา’ ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาการอ่าน-เขียนในชีวิตประจำวัน โดยมีนักศึกษาที่อาสามาช่วยสอน

หลักสูตรที่สอง คือ ‘กล้ามเนื้อ’ ที่ใช้พัฒนาการขยับกล้ามเนื้อและบริหารร่างกายด้วยการเล่นเกม เช่น ต่อจิ๊กซอว์ เล่นหมากขุม หรือของเล่นพื้นบ้านที่ประดิษฐ์ได้เองจากวัสดุในชุมชน

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

หลักสูตรที่สาม คือ ‘ค่ายฤดูร้อน’ ที่เน้นสร้างความความมั่นใจ กระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และเสริมทักษะการเข้าสังคม ผ่านกิจกรรมเดินเท้าไปยังศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ในชุมชน เพื่อเล่าเรื่องวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง และค่ายสานสัมพันธ์ ปันโอกาส ปันปัญหา คิดคุณธรรม

หลักสูตรสุดท้าย คือ ‘อาชีพ’ เป็นการสอนและฝึกทักษะการประกอบอาชีพตามวิถีชุมชน โดยมีผู้ปกครองของเด็กที่มาเรียนห้องเรียนนอกเวลาเป็นถ่ายทอดความรู้ เช่น การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น สมุนไพร ทำพานพุ่มจากวัสดุต่างๆ จนเด็กๆ สามารถไปแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมและสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน 

ครูเขียวเล่าว่า เธอออกแบบหลักสูตรเหล่านี้จากประสบการณ์ลองผิดลองถูกกับการตามหารูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะกับลูกชาย การเรียนรู้จากปัญหาของเด็กที่มีความบกพร่องภายในโรงเรียน ร่วมกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครอง ครูเขียวจึงได้รู้ว่า มีพ่อแม่ของเด็กๆ อีกหลายคนที่มีความถนัดในอาชีพต่างๆ และพวกเขายินดีให้ความร่วมมือ

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

เมื่อถึงวัยที่เด็กๆ โตขึ้น ห้องเรียนนอกนอกเวลาแห่งนี้ก็ดูเหมือนจะเล็กลง บวกกับจำนวนสมาชิกที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งอายุและศักยภาพ ครูเขียวจึงปรับการเรียนรู้และกิจกรรมต่างๆ ให้มีความท้าทายและเกิดประโยชน์มากขึ้น 

“เราพากันไปดูแลสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน เช่น สร้างฝายมีชีวิตและซ่อมแซมฝาย ปลูกต้นไม้ริมทางเพื่อการพังทลายและเก็บความชุ่มชื้นในดิน เพื่อลดปัญหาน้ำแล้ง ส่งผลต่อการจัดการน้ำโดยอนุรักษ์พืชเก็บน้ำและป้องกันตลิ่งโดยใช้สาคูและคล้า เข้าประกวดในโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น การรำมโนราห์ประยุกต์ การหุงข้าวยาคู” 

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

Lesson Plan 5

ประเมินผลการเรียนรู้

เป็นเวลา 12 ปีแล้วที่ศูนย์การเรียนรู้ ห้องเรียนนอกเวลา กลายเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้เข้าถึงการเรียนการสอนที่ดี เหมาะสม และมีความเท่าเทียม ทั้งยังต้อนรับเพื่อนร่วมห้องที่คละวัย คละศักยภาพ ให้เข้ามาทดลองใช้ชีวิตและเรียนรู้ร่วมกัน

แม้ระหว่างทางจะเจอปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ต้องสะดุดหรือเปลี่ยนเส้นทางไปบ้าง แต่ครูเขียวผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักก็ไม่ได้ล้มเลิกความตั้งใจ หรือละทิ้งความเชื่อในศักยภาพของลูกศิษย์กลุ่มพิเศษของตนเอง

ผลงานของเด็กๆ เป็นที่ยอมรับของชุมชน พวกเขาได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมตัดสินใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นฐานการเรียนรู้ของหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข”ระดับอำเภอ ในด้านความเอื้ออาทร มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานเฉลี่ยเดือนละ 2 – 3 ครั้ง

ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้ ห้องเรียนนอก กลุ่มเยาวชนจิตอาสาศูนย์การเรียนรู้ห้องเรียนนอกเวลา และชุมชนนาโหนก ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งศึกษาดูงานและเข้ามาร่วมทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ

ก่อนบอกลากัน ครูเขียวทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า “สิ่งที่น่าดีใจมากกว่าความสำเร็จของตัวเอง คือการได้เห็นความสำเร็จของลูกศิษย์ พวกเขากลายเยาวชนที่มีความรู้หลายมิติ มีจิตสาธารณะ จากโอกาสที่เราช่วยสร้างให้”

ห้องเรียนนอกเวลาบ้านครูเขียว หลักสูตรพัฒนาเด็กพิเศษด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและธรรมชาติชุมชน, ครูเขียว-จิรารัตน์ ล่องจ๋า

Writer

Avatar

อมราวดี วงศ์สุวรรณ

นักหัดเขียนสายใต้ที่ไม่รังเกียจรอยหมึกที่เปื้อนมือ พึงใจกับการสดับจังหวะการลงน้ำหนักนิ้วมือบนแป้นพิมพ์ และกลิ่นกระดาษบนหน้าหนังสือ

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า