หากพูดถึงย่านเยาวราช หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงวัฒนธรรมของชาวจีนพื้นถิ่น อาทิ ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ชื่อดัง ร้านรวงเก่าแก่ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ไปจนถึงร้านอาหารสตรีทฟู้ดราคาประหยัด แต่ในวันนี้ OTI หรือ ‘Over the Influence Gallery’ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงวงเวียนโอเดียน เขตสัมพันธวงศ์ กำลังนำศิลปะร่วมสมัยระดับโลกราคาหลักล้าน เพิ่มเข้ามาเป็นอีกหนึ่งพลวัตสร้างสรรค์ของพื้นที่โบราณแห่งนี้

“ฉันมั่นใจเต็มร้อยว่า OTI กำลังนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของวงการศิลปะในกรุงเทพฯ และฉันตื่นเต้นมากที่ได้เป็นผู้ชมแถวหน้าของปรากฏการณ์นี้!” Camilla Russell ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาดของหอศิลป์แห่งนี้กล่าวกับเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ในโอกาสที่เธอเชื้อเชิญให้เราเข้าชมงานเปิดนิทรรศการล่าสุด เราจึงได้มีเวลาพูดคุยกับเธอถึงที่มาที่ไปของ OTI อย่างเป็นกันเอง อีกทั้งยังได้รวบรวมข้อมูลว่าด้วยโปรเจกต์อาร์ตสุดว้าวที่กำลังจะเกิดขึ้นในตึกสีเทา 5 ชั้นแห่งนี้มาฝากผู้อ่านกันด้วย

Over the Influence แกลเลอรี่ระดับโลกสาขาใหม่ กับวิสัยทัศน์ร่วมสมัยใจกลางเยาวราช
Over the Influence แกลเลอรี่ระดับโลกสาขาใหม่ กับวิสัยทัศน์ร่วมสมัยใจกลางเยาวราช
Over the Influence แกลเลอรี่ระดับโลกสาขาใหม่ กับวิสัยทัศน์ร่วมสมัยใจกลางเยาวราช

OTI ถือเป็นแกลเลอรี่เชิงพาณิชย์ที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงมากในระดับสากล สาขาแรกของแกลเลอรี่นี้ก่อตั้งขึ้นที่ฮ่องกง โดยนักลงทุนและนักสะสมชาวฝรั่งเศสในปี 2015 แกลเลอรี่ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะนิทรรศการจัดแสดงสตรีทอาร์ตที่มักจะขายหมดในราคาสูงเป็นประวัติกาลในตลาดศิลปะ เป็นที่รู้กันว่าลูกค้าของแกลเลอรี่นี้คือมหาเศรษฐีของโลกหลายท่าน อีกทั้ง OTI เป็นมือปั้นศิลปินหน้าใหม่ให้มีมูลค่าเป็นแนวหน้าของวงการมาแล้วหลายคน ด้วยความสำเร็จแบบก้าวกระโดด จึงเปิดสาขาใหม่อย่างรวดเร็วที่เมืองลอสแอนเจลิสในปี 2018 และสาขากรุงเทพฯ ถือเป็นสาขาที่ 3 ซึ่งเปิดในช่วงปลายปี 2021 ก่อนสาขาที่ 4 ที่ปารีสกำลังจะตามมาภายในปีนี้ด้วย

Over the Influence แกลเลอรี่ระดับโลกสาขาใหม่ กับวิสัยทัศน์ร่วมสมัยใจกลางเยาวราช

“วงการศิลปะเชิงพาณิชย์ที่ฮ่องกงนั้นเป็นวงการที่ค่อนข้างเสถียร ในแง่ว่าที่นั่นมีแกลเลอรี่และห้องประมูลงานศิลปะที่ทรงอิทธิพลอยู่มาก มันเป็นสภาพแวดล้อมที่ออกแบบมาเพื่อผู้ซื้อและนักสะสม แต่อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพการเมืองและอื่น ๆ ทำให้ศิลปินท้องถิ่นแสดงออกและเติบโตได้ไม่เต็มที่ ในทางกลับกัน ฉันมองว่าวงการศิลปะที่กรุงเทพฯ เติบโตอย่างพุ่งพรวดในไม่กี่ปีมานี้ การเกิดขึ้นของ Bangkok Art Biennale 2018 นำมาซึ่งการจัดแสดงของศิลปินนานาชาติในเมืองไทย และพร้อม ๆ กันก็นำเสนอชุมชนศิลปะและงานสร้างสรรค์ของที่นี่ด้วย ต่างจากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่วงการศิลปะไทยขับเคลื่อนด้วยศิลปินพื้นถิ่น ซึ่งรวมตัวกันเพื่อนำเสนอนิเวศน์ศิลปะของที่นี่

“แม้ว่าเราจะยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะในขนบของตะวันตกแบบ Tate Modern ที่ลอนดอน หรือ The Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ก แต่ต้องยอมรับว่าคนไทยก็สนใจและพยายามมีส่วนร่วมกับวงการศิลปะในบ้านเมืองไม่น้อย ถ้ามองในปัจจุบัน ฉันว่าวงการศิลปะเมืองไทยขยับขึ้นมาแข่งขันกับฮ่องกงได้ ในแง่ของคุณภาพและความเป็นไปได้ของโปรแกรมนิทรรศการหรือกิจกรรมศิลปะ โดยหอศิลป์และสถาบันต่าง ๆ ผนวกกับเหล่าศิลปินที่เป็นกลไกของวงการนั้น เปี่ยมไปด้วยบุคลากรสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ระดับอาจารย์ในอดีตอย่าง ถวัลย์ ดัชนี มาจนถึงรุ่นใหม่ไฟแรงที่น่าสนใจอย่าง ก้องกาน-กันตภณ เมธีกุล หรือ Alex Face เป็นต้น”

สำหรับคามิล่า เธอบอกว่าตัวเองเติบโตที่กรุงเทพฯ แต่ 7 ปีที่ผ่านมาเธอทำงานด้านศิลปะที่ฮ่องกง จนวันหนึ่งเพื่อนของเธอแนะนำเธอให้กับแกลเลอรี่ ตอนที่พวกเขากำลังวางแผนขยายสาขามาในกรุงเทพฯ ซึ่งเหมาะเจาะมากสำหรับเธอ

“ฉันเป็นลูกครึ่งนะ ฉันชอบอาหารไทยมาก โดยเฉพาะที่เผ็ด ๆ แล้วก็แน่นอน ข้าวเหนียวมะม่วง!” เธอหัวเราะ “นอกจากนั้น สิ่งที่ทำให้ฉันสนใจทำงานที่นี่คือ เราได้ทำงานกับกลุ่มศิลปินที่เป็นตัวแทนของวงการศิลปะร่วมสมัยอันน่าทึ่งจากทั่วโลก มีทั้งคนที่มีชื่อเสียงรุ่นใหญ่อย่าง Shepard Fairey ไปจนถึงหน้าใหม่ที่กำลังเขย่าวงการอย่าง ก้องกาน และ Camilla Engström ที่ทางเราเปิดพื้นที่ให้เขาได้จัดแสดงในหลายประเทศ และได้ไปเชื่อมต่อกับผู้ชมใหม่ ๆ ฉันรักความมีชีวิตชีวาของศิลปินเหล่านี้ โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ที่จะเล่าเรื่องและตกตะกอนสิ่งที่พวกเขาได้ประสบบนโลกใบนี้ มันเป็นเหมือนบทสนทนาที่กำลังดำเนินไปอย่างน่าตื่นเต้น”

Over the Influence แกลเลอรี่ระดับโลกสาขาใหม่ กับวิสัยทัศน์ร่วมสมัยใจกลางเยาวราช
Over the Influence แกลเลอรี่ระดับโลกสาขาใหม่ กับวิสัยทัศน์ร่วมสมัยใจกลางเยาวราช
ภาพ : Over the Influence Bangkok

แม้จะขึ้นชื่อในด้านสตรีทอาร์ต แต่ OTI ตั้งใจนำเสนอศิลปินหลากหลายแขนงที่ทำงานในหลากหลายเทคนิค โดยเหล่าศิลปินจะมีแกลเลอรี่นี้เป็นตัวแทน นอกจากจะได้รับโอกาสจัดแสดงในพื้นที่ของเขาในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ยังได้ไปโชว์ในงาน Art Fair และโปรเจกต์พิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย

คามิล่าบอกว่าตั้งแต่เปิดมาเมื่อปีที่แล้ว OTI สาขากรุงเทพฯ นี้ก็มีการจัดโชว์ศิลปินที่แตกต่างกันถึง 5 ท่านด้วยกัน เปิดด้วยโชว์ภาพวาดสไตล์กราฟิกลดทอนสีสดใสชื่อ ‘Clean Jellybean’ ของศิลปินชาวอเมริกัน Todd James ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีมาก จากนั้นมีงานแนวป๊อบอาร์ตสื่อผสมของศิลปินชาวอิตาเลียน Marco Pagani ที่ผสมผสานมังงะอาร์ตจากญี่ปุ่นเข้ากับศิลปะจัดวางแบบดาด้า และภาพนูนต่ำของกรีก-โรมันอย่างสนุกสนาน สอดรับกันได้ดีกับโชว์ต่อมาของ Adlane Samet ศิลปินจากแอลจีเรีย ผู้หลงใหลการเพนต์คาแรกเตอร์สัตว์ประหลาดสีสันฉูดฉาด ในท่วงท่ากำลังเดินทางไปสู่โลกใหม่ด้วยฝีแปรงที่ดิบหยาบเป็นเอกลักษณ์

และล่าสุดมีโชว์ ‘Durag Activities’ ของ Devin Troy Strother ศิลปินจากลอสแอนเจลิส ที่สร้างจิตรกรรมแนว Expressionism อ้างอิงไปกับศิลปินรุ่นบุกเบิกก่อนหน้าอย่าง Philip Guston แต่ก็เสนอเรื่องการเมืองหนัก ๆ อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะประเด็นกลุ่มคนผิวสี น่าสนใจที่งานของเขาทั้งดูยียวนและชวนคนดูให้ตั้งคำถามขบคิดไปได้อย่างพร้อม ๆ กัน

เบื้องหลังแกลเลอรี่ระดับโลกสาขากรุงเทพฯ ที่พาศิลปะร่วมสมัยมาตั้งกลางในตึก 5 ชั้นใจกลางไชนาทาวน์
เบื้องหลังแกลเลอรี่ระดับโลกสาขากรุงเทพฯ ที่พาศิลปะร่วมสมัยมาตั้งกลางในตึก 5 ชั้นใจกลางไชนาทาวน์

“การแสดงออกทางศิลปะนั้นเป็นสิ่งสากล ถึงแม้ว่าศิลปินแต่ละคนจะนำเสนอผ่านกรอบและมุมมองของวัฒนธรรมตนเอง แต่ผู้ชมจากทุก ๆ ที่ควรจะเสพและเข้าถึงได้ การนำโชว์ของศิลปินต่างชาติมานำเสนอให้ผู้ชมท้องถิ่นที่นี่ ถือเป็นการทำให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์โลกด้วย อย่างโชว์ของ Devin Troy Strother ที่มาจากความขบถต่อขนบการเรียนรู้แบบดั้งเดิม และความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ศิลป์ใหม่ในแบบของเขาเอง ฉันว่ามันน่าสนใจมากนะ แม้ว่ามันจะไม่ได้เกี่ยวกับบริบทการเมืองของที่นี่โดยตรงก็ตาม”

เบื้องหลังแกลเลอรี่ระดับโลกสาขากรุงเทพฯ ที่พาศิลปะร่วมสมัยมาตั้งกลางในตึก 5 ชั้นใจกลางไชนาทาวน์
เบื้องหลังแกลเลอรี่ระดับโลกสาขากรุงเทพฯ ที่พาศิลปะร่วมสมัยมาตั้งกลางในตึก 5 ชั้นใจกลางไชนาทาวน์

นอกจากนี้แกลเลอรี่ OTI ยังมีการนำเสนอโชว์ของศิลปินไทย อย่าง วีรภัทร สิทธิพล ศิลปินรุ่นใหม่จากรั้วศิลปากร ผู้นำเสนอชุดผลงาน ‘Blessings from the Forest’ เป็นจิตรกรรมภาพวาดธรรมชาตินิยมสีสันสวยสด โดยเขาได้แรงบันดาลใจจากอุทยานแห่งชาติหลาย ๆ แห่ง อีกทั้งสถานที่ทำงานของเขาที่กาญจนบุรี ตัดทอนจนเป็นเสมือนภาพกึ่งนามธรรมดูง่ายสบายตา แต่ก็มีลูกเล่นขององค์ประกอบที่จี๊ดจ๊าดอยู่ด้วย เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า สีต่าง ๆ ในภาพของเขาถูกขับให้เด่นชัดด้วยแบ็กกราวนด์สีดำเสมอ แถมในข้อเขียนประกอบนิทรรศการ ได้อ้างอิงถึงผลงานหนังสือ Walden ของ Henry David Thoreau ซึ่งมักจะเขียนเชิดชูความงามและความยิ่งใหญ่ของภูมิทัศน์ธรรมชาติผ่านหน้ากระดาษของเขา มันชวนให้เรานึกต่อไปว่าวีรภัทรก็กำลังทำสิ่งเดียวกันบนผืนผ้าใบ

เบื้องหลังแกลเลอรี่ระดับโลกสาขากรุงเทพฯ ที่พาศิลปะร่วมสมัยมาตั้งกลางในตึก 5 ชั้นใจกลางไชนาทาวน์
เบื้องหลังแกลเลอรี่ระดับโลกสาขากรุงเทพฯ ที่พาศิลปะร่วมสมัยมาตั้งกลางในตึก 5 ชั้นใจกลางไชนาทาวน์
ภาพ : Over the Influence Bangkok

“วีรภัทรเป็นศิลปินไทยคนแรกที่เราเลือกมาจัดแสดงที่แกลเลอรี่สาขากรุงเทพฯ ส่วนตัวแล้วฉันคิดว่าผู้ชมนานาชาติเข้าถึงการตีความภาพทิวทัศน์ของเขาได้ง่ายมาก สุดท้ายงานของเขาก็ขายหมด เป็นนิทรรศการ Sold Out และฉันก็ตื่นเต้นมากที่จะได้ทำงานสนับสนุนเขาบนเส้นทางศิลปะในอนาคต”

อีกหนึ่งศิลปินไทยที่ได้จัดแสดงกับ OTI ก็คือ ก้องกาน ซึ่งได้ไปจัดนิทรรศการที่ OTI สาขาลอสแอนเจลิส ภายใต้โชว์ชื่อ ‘The Tip of the Iceberg’ เมื่อปีที่แล้วด้วย “งานของก้องกานได้รับการตอบรับดีมาก และเป็นอีกโชว์ของเราที่ขายหมดเกลี้ยง เขาเป็นศิลปินที่ทำงานได้หลากหลาย ฉันรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ทำงานกับเขา เดี๋ยวปีนี้เขาจะไปโชว์ที่ OTI สาขาใหม่ที่ปารีสด้วย ยังไงฉันจะส่งข่าวให้อีกทีนะ” คามิล่าบอกกับเราอย่างภาคภูมิ

สุดท้ายเราถามคามิล่าว่า เธอมองเห็นทิศทางในอนาคตของ OTI ที่เมืองไทยอย่างไรบ้าง เธอตอบกับเราว่า

“เริ่มตั้งแต่งาน Bangkok Art Biennale ครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปีนี้ ฉันอยากให้ OTI สาขากรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานในชุมชนอย่างแท้จริง โดยการทำงานร่วมกับสถาบันและโรงเรียนที่จะนำพาชุมชนและเด็ก ๆ เข้ามาในพื้นที่นี้ และได้มีประสบการณ์ตรงกับศิลปะ ในเมื่อกรุงเทพฯ ยังขาดแคลนหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ที่ทำงานในมาตรฐานสากลอยู่มาก โอกาสการเข้าถึงศิลปะของสาธารณะ โดยเฉพาะเยาวชน สามารถมาจากหอศิลป์เอกชน และฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า OTI จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองในลักษณะนี้”

ที่ชั้นบนสุดของแกลเลอรี่ คามิล่ายังพูดถึงอีกหลายโปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้น อาทิ การจะมีศิลปินในพำนัก ไปจนถึงความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายกับแกลเลอรี่อื่น ๆ บริเวณเมืองเก่า ฯลฯ ทิ้งให้เป็นความหวังที่น่าจับตามองในอนาคตว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เกิดขึ้นในลักษณะใด แต่สิ่งที่เราเห็นได้ในปัจจุบันตอนนี้ คือภาพสะท้อนของฝีแปรงบนผ้าใบในแกลเลอรี่ ขนาบบนกระจก มองออกไปเห็นลวดลายมังกรจีนบนซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาสีแดงสดกลางวงเวียนโอเดียน เคียงคู่กับสีทองของพระมหามณฑป วัดไตรมิตร และเส้นขอบฟ้าที่เต็มไปด้วยตึกสูงของกรุงเทพฯ ทั้งหมดทั้งมวลผสมผสานกันเป็นภาพคอลลาจวัฒนธรรมที่ชวนฝัน น่าตื่นตาตื่นใจเหลือเกินสำหรับคนเมืองอย่างเรา

เบื้องหลังแกลเลอรี่ระดับโลกสาขากรุงเทพฯ ที่พาศิลปะร่วมสมัยมาตั้งกลางในตึก 5 ชั้นใจกลางไชนาทาวน์

นิทรรศการ Durag Activities โดย Devin Troy Strother จัดแสดงถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2565

ติดตามข่าวล่าสุดของพื้นที่ศิลปะในเครือ OTI Gallery ทั้งหมดได้ที่ https://overtheinfluence.com

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ