คนสวน พ่อครัว เสมียน พ่อค้า พนักงานทำความสะอาด 

มองเผินๆ อาชีพเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เชื่อมจุดผูกโยงพวกเขาไว้ด้วยกัน คือการลงมือทำงานศิลปะแบบ Outsider Art หรือศิลปะคนนอก งานศิลป์ของคนที่ไม่ได้เรียนศิลปะมาโดยตรง แต่ศึกษาและลงมือทำเอง ผลงานนอกกรอบ Fine Art เหล่านี้อาจเรียบง่าย ดิบหยาบ หรือซื่อไร้เดียงสาเหมือนเด็กวาด แต่มีความงามในแบบของตัวเอง

อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

อาทิตย์ ประสาทกุล ประกอบอาชีพข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเคยประจำการในประเทศเคนยาและประเทศโมซัมบิก ภูมิภาคแอฟริกา เป็นคุณพ่อผู้เลี้ยงลูกในทวีปแอฟริกา และยังเป็นนักสะสมงานศิลปะแอฟริกาตัวยง เขาหลงใหลแอฟริกา ผูกพันกับแอฟริกา ทั้งยังปรารถนาให้คนไทยรู้จักทวีปนี้มากขึ้น 

เมื่อประจำการที่โมซัมบิก เขาร่วมผลักดันให้สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงมาปูโตเลือกประดับตกแต่งสถานที่ด้วยงานศิลปะท้องถิ่น ทำให้ชาวโมซัมบิกภูมิใจและรักสถานทูตไทย ซึ่งช่วยทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะท้องถิ่นให้พวกเขา

ปัจจุบันเมื่อกลับมาทำงานในเมืองไทย อาทิตย์นำงานศิลปะนับร้อยๆ ชิ้น ของชาวเคนยา แทนซาเนีย โกตดิวัวร์ และโมซัมบิกกลับมาบ้าน ผลงานของเหล่าคนสวน พ่อครัว เสมียน พ่อค้า พนักงานทำความสะอาด ล้วนมีเรื่องราวชีวิตของศิลปิน ประวัติศาสตร์ชาติ และวัฒนธรรมแอฟริกันแฝงอยู่ เราได้เห็นความสร้างสรรค์และความงดงามของผู้คนจากอีกซีกโลกที่น่าทำความรู้จัก

ก่อนก้าวขาเข้ากาฬทวีป ขอพาไปรู้จักเหตุผลที่นักการทูตคนหนึ่งกลายมาเป็นนักสะสมงานศิลปะ

อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

รักแรก

แม้เริ่มสะสมงานศิลปะเมื่อย้ายไปเริ่มต้นชีวิตที่ทวีปแอฟริกา แต่ศรศิลป์ปักอกอาทิตย์อย่างจังตั้งแต่อยู่เมืองไทย เขาสนใจงานศิลปินไทยในช่วงเกือบ 10 ปีก่อน 

“ผมอยากได้งานของ อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ตอนนั้นไม่รู้จักอาจารย์ด้วยซ้ำ ไปเดินสมบัติเพิ่มพูนแกลเลอรี่แล้วชอบรูปเด็กผู้หญิงผมบ๊อบน่ารัก เห็นแล้วมีความสุข ไปเสิร์ชดูถึงรู้ว่าอาจารย์ชลูดดังมาก งานนั้นราคาสองแสนบาท ผมเพิ่งได้เงินมาก้อนใหญ่ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการโยกย้ายไปทำงานที่เคนยา ก็คิดว่าจะแบ่งเงินมาซื้องานนี้ เพราะเราควรเอาเงินไปแลกกับสิ่งที่เราเห็นว่ามีคุณค่า แทนที่จะเชื่อมูลค่าที่คนอื่นกำหนด

“แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเจออะไรข้างหน้าในต่างประเทศ เลยคิดว่าไม่เป็นไร เดินทางไปก่อน เดี๋ยวค่อยซื้อก็ได้ ปรากฏว่าซื้อไม่ทัน ซึ่งเสียดายจนถึงทุกวันนี้ เพราะสามปีต่อมาหลังอาจารย์เสียชีวิต งานของอาจารย์ก็แพงขึ้นเป็นสิบเท่า” 

เจ้าบุญทุ่ม

เมื่อย้ายไปประจำการครั้งแรกที่เคนยา เงินก้อนใหญ่นั้นต้องใช้จ่ายสิ่งจำเป็นสำหรับนักการทูต หนึ่งในนั้นคือรถยนต์ส่วนตัว แต่แทนที่จะซื้อรถดีๆ อาทิตย์เลือกซื้อรถราคาหนึ่งแสนบาท แล้วนำเงินอีกแสนไปซื้อภาพวาดชิ้นใหญ่สำหรับติดในบ้านเช่าหลังใหม่อย่างไม่ลังเล

อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“ผมต้องไปทำงานที่ UN ยามก็แซวเพราะรถผมเป็นรถกระป๋องที่คนส่วนใหญ่ใช้เป็นแท็กซี่ หรือเป็นรถของคนที่ซื้อรถคันแรก ไม่มีนักการทูตคนไหนใช้รถรุ่นนี้เลย แต่ก็คุ้มค่า ผมเอารูปไปติดที่โถงเข้าบ้าน มันทำให้รู้สึกว่าบ้านนี้เป็นบ้านเรา มันสวยมีพลัง ทำให้เรารู้สึกร่าเริงมีความสุข”

“ตอนซื้อ คนอื่นก็ถามว่าซื้อทำไม แพง เพราะคนส่วนใหญ่ซื้องานศิลปะที่เป็นของที่ระลึกทำซ้ำ ราคาไม่แพง พอให้รู้ว่าไปที่ไหนมา แต่ผมชอบงานที่ไม่ได้ทำซ้ำ ไม่ได้ก๊อปปี้ใคร แต่มาจากความรู้สึกของศิลปิน พอเจองานอื่นๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นอีก มันทำให้หัวใจเราเต้นแรง คือเราก็ฟังมาเยอะว่างานศิลปะมีมูลค่าอย่างงั้นอย่างงี้ แต่ตอนหลังผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมสะสมไม่ใช่แบบนั้น ผมแค่อยากเห็นมันบ่อยๆ รู้สึกดีกับมัน งานพวกนี้ตอบบางอย่างในใจเรา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไรนะ แต่รู้สึกตื่นเต้น มันสวยงาม ต้องมีอยู่ในบ้าน” 

อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“งานศิลปะแอฟริกาไม่เหมือนงานศิลปะที่อื่น ไม่ได้มีการแข่งขันสูงหรือมูลค่าสูง พอพูดถึงงานศิลปะ ทุกคนคิดว่าต้องเป็นไฮโซมีเงินเยอะๆ แน่ แต่งานแอฟริกาเข้าถึงได้ ในฐานะที่ตัวเองเป็นข้าราชการ ผมจ่ายได้ แต่ไม่มีเงินเก็บนะ (หัวเราะ) คิดว่าเดือนนี้กินน้อยหน่อยเพราะจ่ายให้งานศิลปะ ผมเชื่อว่าว่ามีรายได้ต้องแบ่งให้คนอื่น”

อาทิตย์ตระเวนซื้องานศิลปะจากทั้งเคนยาและแทนซาเนีย เขาชอบไปสำรวจแกลเลอรี่และนิทรรศการเพื่อทำความรู้จักศิลปิน และไปหาคนเหล่านั้นถึงบ้านเพื่อฟังเรื่องราวของเขา หลังหมดวาระประจำการที่เคนยา แทนที่จะขายรถนำเงินกลับเมืองไทย อาทิตย์แลกรถคู่ใจของเขากับงานศิลปะกองโต

มหาเสน่ห์

ซื้องานศิลปะไปซักพัก นักสะสมหนุ่มก็เริ่มเข้าใจว่ารูปแบบงานที่เขาชอบคือศิลปะคนนอก ลักษณะจริงใจ แสดงออกสิ่งที่เห็นหรือรู้สึกตรงๆ โดยไม่ยึดติดกับสัดส่วนหรือคู่สี แต่อยู่บนพื้นฐานความจำกัดของทรัพยากรที่มี ใช้ของราคาถูกหรือวัสดุที่หาได้ง่าย เช่น กระดานฝ้า เศษไม้ ลวดเก่าๆ หนังสือพิมพ์ ตอบโจทย์ความเรียบง่าย ไร้เดียงสา ตรงไปตรงมา ซึ่งอยู่ในผลงานสะสมของเขาทุกชิ้น 

ก่อนหน้าจับงาน Outsider Art อาทิตย์เคยตามเก็บงานที่คนอื่นมองว่าดี สวย หรือยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว 

“พอเราเลิกตามของพวกนี้ไปก็เจอสิ่งที่ตามหา มันเข้ามาเอง เหมือนคนชอบแมว ดวงตาก็เห็นแมว หรือชอบต้นไม้ ดวงตาก็เห็นต้นไม้ เราก็เริ่มเห็นตามสถานที่ราชการ ตามบ้านคน ตามตลาด พอเราเห็นว่าตอบโจทย์ ก็เริ่มขุดคุ้ยไปถึงต้นตอของมัน ไปพูดคุยกับศิลปินซึ่งส่วนใหญ่ทำงานที่บ้าน ไม่ใช่คนรวยหรือมีชื่อเสียง”

ทวีปที่รัก

อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“งานสะสมของผมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจชีวิตที่ไม่ค่อยเล่าให้ใครฟัง กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งผมไปอยู่ทวีปแอฟริกาถึงสองครั้ง ผมอยากให้คนไทยรู้จักแอฟริกามากขึ้นด้วยศิลปะที่ไม่ใช่งานกระแสหลัก เป็นสิ่งที่ผมอยากทำในฐานะที่ผมเป็นข้าราชการกินเงินจากผู้จ่ายภาษี

“ผมเชื่อว่าเราเห็นโลกไม่ครบ คนที่ขาดไปส่วนใหญ่คือคนในแอฟริกา กระทั่งอเมริกาใต้ซึ่งอยู่ไกลกว่า เราอาจรู้จักมากกว่าแอฟริกา สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ทวีปนี้ขาดหายไปเลย ทั้งที่เรามีความเกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่ค้าขายในมหาสมุทรอินเดียในอดีต หลายๆ อย่างที่เราใช้ก็มาจากแอฟริกา เช่น ไททาเนียมในสีทาบ้านก็มาจากแอฟริกา”

อาทิตย์เดินไปเปิดตู้ เปิดกล่อง หยิบสิ่งสะสมที่เขารักมาวางให้ดูทีละชิ้น

“ผมไม่รู้ว่าของที่ผมมีมูลค่าขนาดไหน ไม่สนใจด้วยเพราะไม่เคยคิดขาย แต่มีความปรารถนาว่าสักวันจะเอางานพวกนี้ไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการให้คนได้เห็นอย่างน้อยสักครั้ง”

ต่อไปนี้คือรายชื่อศิลปินที่นักสะสม Outsider Art ตามเก็บผลงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือเลิกผลิตงานหรือเสียชีวิตไปแล้ว และประเภทต่อมาคือยังทำงานอยู่จนถึงปัจจุบัน

1. ชาร์ลส์ เซกาโน (Charles Sekano), 1943 – ปัจจุบัน

เทคนิค : สีเทียนบนกระดาษ

“ชาร์ลส์ เซกาโน เป็นคนแอฟริกาใต้ แต่สร้างสรรค์งานในประเทศเคนยา งานศิลปะของเขาทำให้ผมได้เชื่อมต่อเข้าถึงแอฟริกาโดยไม่รู้ตัว ศิลปินคนนี้เป็นอันดับหนึ่งในใจเลย”

แอฟริกาใต้เคยมีระบบ Apartheid คนขาวพยายามแยกคนดำให้อยู่คนละสังคม มีสองชนชั้น ทางเข้าคนละทาง ห้องน้ำแยกกัน ในช่วงที่ เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) พยายามเรียกร้องจนโดนจับเข้าคุกตั้งนาน เซกาโนได้รับผลกระทบเลยหนีไปอยู่เคนยา 30 ปี เขาใช้ชีวิตแบบศิลปิน 3P คือ Pianist, Poet และ Painter ทั้งเล่นดนตรีแจ๊ส เล่นเปียโนในคลับตอนกลางคืน แต่งกลอน แล้วก็วาดรูป

อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“เซกาโนวาดผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ตามสไตล์ศิลปินแบบบุปผาชนโบฮีเมียน เขาใช้สไตล์ Cubism แบบปิกาโซ และใช้สีได้ลงตัว รูปแรกที่ผมเห็นคือรูปนี้ (ชี้รูปในห้องครัว) ในแกลเลอรี่ที่ดังที่สุุดในเคนยา ผมอยากได้รูปนี้มากแต่ไม่มีสตางค์ แต่สองปีถัดมาก็ได้รับโทรศัพท์จากลูกสาวเจ้าของแกลเลอรี่ ธุรกิจเขากำลังจะปิดตัว พ่อเขาเสียชีวิต เขาทะเลาะกับหุ้นส่วนพ่อและอยากขายงานเซกาโนที่มี ต้องตัดสินใจเลยว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ตอนนั้นผมกำลังขึ้นเครื่องบินไปแอฟริกาใต้ครั้งแรก รู้สึกว่ามันเป็นโชคชะตา เลยรีบโทรบอกพี่ที่ทำงานว่ามีเท่าไหร่เอามาให้หมด ช่วยมัดจำให้ที ตอนนั้นยังไม่เห็นรูปเลยนะ แต่คิดว่าน่าจะชอบ เพราะชอบศิลปินคนนี้มาก

อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“ราวสองอาทิตย์ต่อมาก็เจอรูปนี้วางไว้ในห้องทำงาน พร้อมรูปอีกสิบกว่ารูป ในราคาประมาณหนึ่งในสิบของราคาตอนแรก พอเริ่มผมก็ต้องเอาให้สุดไง เลยได้มาทั้งหมดประมาณยี่สิบกว่ารูป”

2. เฟรเดริก บรูลี บูอาเบร่ (Frédéric Bruly Bouabré), 1923 – 2014

เทคนิค : สีไม้บนกระดาษ 

“บูอาเบร่เป็นชาวโกตดิวัวร์ (Côte d’Ivoire) คนแรกๆ ที่ได้รับการศึกษาจากอาณานิคมฝรั่งเศส ทำงานเป็นเสมียน แล้วอยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่าเห็นภาพนิมิต เขาเลยวาดรูปและเขียนความคิดของเขาทุกวัน บันทึกในกระดาษเล็กๆ แผ่นเท่าโปสการ์ด” 

อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“ผมชอบความคิดของเขาที่เป็นสากล ซึ่งตรงกับความเชื่อของผมว่าเส้นเขตแดนจะหายไปเรื่อยๆ บูอาเบร่คิดว่าสีผิวเป็นแค่สิ่งที่เราเห็นภายนอก ทุกคนมีความต้องการเหมือนกัน ต้องการเสรีภาพ ต้องการมีความหวัง มีความฝัน มีความเป็นมนุษย์ ต้องการรอยยิ้ม เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เป็นความจริงที่สุด

“ที่เด็ดคือทวีปแอฟริกามีหลายภาษามาก ส่วนใหญ่ไม่มีภาษาเขียน เขาเลยคิดอักขระเหมือน เอ บี ซี ให้ภาษาของเขา เป็นศิลปินกึ่งปราชญ์ ผมชอบเขา อินกับงานเขามาก งานเขาเนี่ยแหละคือ Outsider Art ที่ไร้เดียงสา เข้าใจง่าย และยังได้รับการยอมรับมาก วิทยาลัยศิลปะในสแตนฟอร์ดก็เพิ่งจัดนิทรรศการให้เขา Swatch ก็เอาภาพของเขาไปเป็นลายบนสายนาฬิกา

อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“งานเขาถ้าขายในยุโรปเนี่ยแผ่นละประมาณสามร้อยยูโร แต่ผมเหมาจ่ายจากลูกชายเขาเป็นก้อนๆ เลยได้มาเป็นชุดในราคาถูกกว่า งานที่สุดยอดในชีวิตผมคือสมุดร่างของเขา หน้าปกเหมือนสมุดวาดรูปนักเรียนธรรมดา แต่ข้างในคือแบบร่างงานชิ้นท้ายๆ ก่อนเขาตาย ผมใช้เงินก้อนสุดท้ายที่มีในชีวิตก่อนกลับมาเมืองไทยซื้อมา”

3. ทิงกาทิงกา (TingaTinga)

เทคนิค : สีน้ำมันบนแผ่นฝ้าหรือแผ่นกระดาน
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“ทิงกาทิงกาไม่ใช่คนคนเดียว แต่เป็นสไตล์งานศิลปะแบบหนึ่งที่มีชื่อเสียง จุดเริ่มต้นมาจาก Edward Saidi Tingatinga (1932 – 1972) เป็นชาวแทนซาเนียจากต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานเป็นคนสวนในเมือง Dar es Salaam เขาใช้เวลาว่างวาดรูปสีน้ำมันบนแผ่นฝ้าหรือแผ่นกระดานไม้สี่เหลี่ยมขนาด 60 x 60 เซนติเมตร ที่หาได้ง่ายๆ ตามร้านของชำ เอาไปวางขายนักท่องเที่ยวในหมู่บ้านที่คนเยอะๆ แล้วขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะงานเขาตอบโจทย์คนที่มาแอฟริกา เป็นงานรูปสัตว์หรือชีวิตผู้คน พวกสัตว์ในซาฟารี คนในกระท่อม ความเชื่อปรัมปราอย่างงูกินกบ เป็นสิ่งที่คนจากต่างถิ่นอยากได้ ที่เด็ดกว่านั้นคือฝีแปรงหรือลายเส้นเขาเป็นเอกลักษณ์มาก พอขายดีก็มีคนมาช่วยวาดเต็มไปหมด แต่เซ็นชื่อคนเดียว

“ตอนนี้ยังเป็นเรื่องลึกลับอยู่เลยว่างานชิ้นไหนบ้างที่เป็นของทิงกาทิงกาตัวจริง ถ้าถามถึงความแท้ก็ตอบยากมาก ทิงกาทิงกาตัวจริงทำงานแค่สี่ปีเท่านั้น เพราะโดนตำรวจยิงตาย บ้างก็ว่าตำรวจยิงผิดเพราะคิดว่าเขาเป็นโจร บ้างก็ว่าไปเป็นชู้กับเมียตำรวจ ตำรวจเลยแค้น 

“ที่น่าสนใจคืองานของเขาเกิดการพัฒนาเป็นศิลปะแบบทิงกาทิงกา มีศิษย์รุ่นที่ หนึ่ง สอง สาม สี่ ถ้าเราไปดาร์ เอส ซาลาม จะเจอสหกรณ์ทิงกาทิงกาขายภาพแบนๆ ไม่มี Perspective พื้นหลังเรียบ แต่เป็นแคนวาส เพื่อให้ม้วนขึ้นเครื่องบินได้ง่าย ภาพแบบนี้ BBC ของอังกฤษเอาแรงบันดาลใจไปทำเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กเรื่อง Tinga Tinga Tales ใช้ลักษณะการวาดคล้ายๆ กันเล่าเรื่องให้เด็กฟังว่าทำไมยีราฟถึงคอยาว ทำไมลิงถึงกินกล้วย

“ทิงกาทิงกาทำให้ผมถามตัวเองว่า Art คืออะไร ศิลปะตะวันตกที่เรารู้จักต้องมีคนทำคนเดียว แล้วเราชอบงานศิลปะเพราะว่ามันมีมูลค่าทางเงินหรือเพราะมันตอบรสนิยมเรา ผมไม่รู้ว่าผมมีของจริงหรือของปลอม งานชิ้นแรกๆ ที่เห็นอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ได้สวยเหมือนงานที่ผมมี แต่ของผมก็เก่ามาก อายุราวห้าสิบปีแน่ๆ 

“เพื่อนก็บอกว่าจะไปสนใจอะไร ก็เหมือนพระเครื่อง จะให้คนอื่นมาให้ค่าของของเราทำไม ถ้าเราชอบก็จัดไป ผมไปเหมามาจากเคนยาและแทนซาเนีย ตอนกลับไทยเงินหมด ก็เอารถกระป๋องราคาหนึ่งแสนบาทไปแลกเหมามาอีก บวกกับค่าภาษีซึ่งประมาณเท่าตัว

“พอกลับมาแล้ว คนที่ผมเอารถไปแลกก็ค้นรูปที่เขามี มาขาย ใหม่-สุดคนึง นิเวศรัตน์ เพื่อนสนิทที่ประจำการที่สถานทูตที่เคนยาด้วยกัน ใหม่กลับมาทีหลังผมสองถึงสามปี เหมามาอีกจนหมด เรียกได้ว่าไม่มีเขา ต้องตกไปอยู่ในมือคนอื่นแน่ๆ

“รวมทั้งหมดที่ผมมีประมาณห้าสิบถึงหกสิบชิ้น ตอนนั้นไม่รู้บ้าอะไร (หัวเราะ) ภาพเหล่านี้ตอบสิ่งที่อยู่ในใจ ผมอยากคิดถึงแอฟริกาแม้ว่ากลับมาเมืองไทยแล้ว ภาพเหล่านี้ทำให้ผมมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ”

4. คีวูธี เอ็มบูโน (Kivuthi Mbuno), 1947 – ปัจจุบัน

เทคนิค : สีไม้บนกระดาษ
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“คีวูธีเป็นชาวเคนยาที่เป็น Outsider จริงๆ เขาเคยเป็นกุ๊กประจำทัวร์ซาฟารีหรูๆ ในเคนยาและแทนซาเนียที่คนรวยชอบไป เวลาว่างเขากลับมาวาดที่สิ่งเห็น พวกสัตว์ในป่าในทุ่งหญ้าซาฟารี ลายเส้นคม มีคนเห็นเขาวาดเล่นๆ ตอนหลังแกลเลอรี่ก็ให้เขาวาด ผมชอบงานเขาเลยซื้อมา ตอนหลังงานของเขาก็อยู่ในล็อตที่เอารถไปแลกด้วย ผมมีงานเขาทั้งหมดสี่ชิ้น”

5. ดีโน เจธา (Dino Jethá), 1977 – ปัจจุบัน

เทคนิค : ไม้แกะสลักระบายสี
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“ดีโนเป็นศิลปินโมซัมบิกยุคใหม่ที่ทำงานแกะสลักไม้แบบซิเคเลเกดานา (Psikhelekedana) เล่าเรื่องชีวิตที่เห็นตามท้องถนนเป็นตุ๊กตาเล็กๆ ผู้ชายทำเล็บให้ผู้หญิง เสื้อผ้าชุดแม่บ้านแขวนขายตามต้นไม้ คนนั่งรถอัดๆ กัน สถานทูตก็เคยเชิญเขามาจัดทิทรรศการที่เมืองไทย

“ตอนแรกผมตั้งใจว่างานไหนที่สถานทูตมี ผมจะไม่ซื้อ แต่ช่วงก่อนผมกลับไทย ดีโนประสบปัญหาเรื่องเงิน งานเขาขายแทบไม่ได้ เพราะมันคล้ายกับของที่ระลึกที่เพื่อนเขาขายในตลาด โมซัมบิกไม่ใช่ประเทศที่นักท่องเที่ยวเยอะ งานที่ทำมานานคนก็ไม่ตื่นเต้นแล้ว เขาอยากให้ผมช่วยซื้อในฐานะเพื่อน ผมเลยให้คำแนะนำและช่วยทำงานร่วมกัน

“จากเดิมที่ใช้สีอะคริลิก นานวันเข้าสีมันก็จาง ผมก็เลยซื้อสีน้ำมันมาให้เขา เพราะเราก็เคยเห็นงานของทิงกาทิงกาที่ใช้สีน้ำมันแล้วอยู่ได้นาน ซื้อพู่กันสง่า มยุระ จากไทยไปฝากเขา จากเดิมที่แกะเป็นคนตัวเล็กๆ เปราะบาง ก็ทำใหญ่ขึ้น รายละเอียดไม่ต้องเยอะ แต่ทำเป็นศิลปะร่วมสมัย เช่น ยามหลับ คนเล่นมือถือ คนกินไอติม แกะรูปใหม่ ไม่ใช่ผู้หญิงแบกของไว้บนหัวที่ใครๆ ก็ทำมานานแล้ว ผมเอาหนังสือภาพถ่ายตึกของ คุณเบียร์-วีระพล สิงห์น้อย ไปให้เขาดู ให้เขาแกะสถาปัตยกรรมสวยๆ เขาทำมาให้ผมทั้งหมดประมาณยี่สิบถึงสามสิบชิ้น มีนักการทูตด้วย แต่ใส่สูทมา ไม่ตรงกับที่ผมคิดเท่าไหร่ เพราะผมไม่ได้อยากเป็นนักการทูตที่ใส่สูท ถือกระเป๋าสี่เหลี่ยม” (ยิ้ม) 

6. อับดุล (Abdul)

เทคนิค : ประติมากรรมจากเศษไม้
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“บ้านนี้ไม่เล่าไม่ได้ ไม่ใช่แค่บ้านเศรษฐี แต่เป็นวังพระราชาสมัยโบราณขนาดสามสี่ชั้นที่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์อยู่ข้างบน เป็นบ้านในจินตนาการของคนจากสังคมที่ต้องอยู่กลางดินกลางทราย บ้านเขาน่าจะเป็นบ้านกึ่งถาวรที่เอาไม้มาขัดๆ กัน มีก้อนอิฐมาพอเป็นพิธี แต่เขาเอาความฝันมาทำให้เป็นความจริง พอเห็นแล้วทำให้คิดว่าคนเราต้องกล้าฝันกล้าทำ แม้เป็นแค่โมเดลเศษกิ่งไม้กับกระดาษหนังสือพิมพ์ 

“อับดุลเป็น Outsider ตัวจริง วันนั้นลูกเข้าโรงเรียนวันแรก ลูกร้องไห้ ครูโทรมาให้ไปรับก่อนเวลาเลิกเรียน ผมขับรถไปแล้วเจอเขาแบกบ้านหลังใหญ่มากหน้าโรงเรียน ผมก็รีบจอดให้ภรรยาไปรับลูก แล้วลงไปซื้อ ให้เขาเซ็นชื่อกันตรงนั้น งานเขาละเอียดมาก แต่ผมซื้อมาในราคาราวพันกว่าบาทเท่านั้น ที่ซื้อถูกไม่ได้กดราคานะ เพราะมีสตางค์อยู่แค่นั้นในมือ จริงๆ อยากจะอุดหนุนอีก ผมให้เบอร์โทรศัพท์ไว้ เขาก็จดลงกลักไม้ขีดไฟ ผมว่าหายชัวร์ๆ หลังจากนั้นก็อยากไปรับลูกทุกวันเลย” (หัวเราะ)

7. ที. แจนยัวรี (T. January) 

เทคนิค : ประติมากรรมไม้แกะสลักระบายสี
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“คนนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก ผมซื้อมาพราะชอบลักษณะงาน เป็นไม้แกะสลักรูปภูติผีของคนเผ่า Makonde ของแทนซาเนีย คนริเริ่มชื่อ จอร์จ ลิลังกา (George Lilanga) เขาวาดผี Shetani และแกะภูติผีบนไม้เนื้อแข็งสีดำ ดังขนาด Hermès เอามาแกะเป็นลายผ้าพันคอ งานเขาแพง คนเก็บสะสมงานศิลปะใหญ่ๆ ดังๆ ก็เก็บไปหมดแล้ว 

“T. January น่าจะเป็นหนึ่งในผู้ช่วยลิลังกา งานเขาสวยแล้วผมก็พอซื้อไหว เวลาไปราชการหรือเที่ยวที่แทนซาเนียก็ตามเหมามาตลอด ได้มาทั้งหมดสิบกว่าชิ้น”

8. ศิลปินดัดลวดโมซัมบิก

เทคนิค : ประติมากรรมลวดดัด
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“งานลวดร้อยลูกปัดเป็นงานของที่ระลึกทั่วไปสำหรับนักท่องเที่ยวในทวีปแอฟริกาอยู่แล้ว แต่งานที่ผมได้มาเป็นงานธรรมดาที่ไม่ธรรมดา มีคนขาวแอฟริกาใต้มาทำเวิร์กช็อปสอนให้คนจนในโมซัมบิก เป็นการร่วมมือเพื่อสร้างมูลค่า ในฐานะคนทำงานกระทรวงต่างประเทศที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือพัฒนา ผมชอบการนำความคิดใหม่ๆ มาสอนคนท้องถิ่น เช่น เอาลวดมาทำเป็นของแบบสตาร์วอร์ ใส่มอเตอร์ให้ขยับได้ บิดนิดเดียวจากไม่น่าสนใจก็น่าสนใจ

“เสน่ห์ของงานที่ใช้วัสดุรอบตัว คือจินตนาการและความตั้งใจทำ ใครๆ ก็ทำงานศิลปะได้ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ อยู่ที่ใจ ความคิด แล้วก็สองมือทำ”

8. ช่างไม้เคนยาและโมซัมบิก

เทคนิค : เก้าอี้จากเศษไม้
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“สำหรับผม เก้าอี้สองตัวนี้เป็นศิลปะ จริงๆ คือเก้าอี้ที่คนท้องถิ่นทำจากเศษฟืน ตัวหนึ่งมาจากเคนย่า อีกตัวโมซัมบิก มันคราฟต์ตรงที่เอาไม้มาดัดมาต่อแบบเปลือยๆ ไม่ซ่อน 

“ผมเคยได้ยินว่าศิลปะมีสองประเภท ศิลปะเพื่อศิลปะและศิลปะเพื่อประชาชน ยุคหนึ่งศิลปะสูงส่ง อีกยุคศิลปะต้องใช้งานได้ ผมไม่รู้ว่าจะไปแบ่งทำไม แต่เก้าอี้นี้เป็นศิลปะเพื่อประชาชนแน่ๆ 

“การนั่งในที่สูงเป็นเรื่องใหม่ที่ตะวันตกเอามา ตอนรุ่นทวดพวกเราก็นั่งพื้น เก้าอี้เป็นความศิวิไลซ์ของชาวบ้าน เป็นความหรูหราของคนที่ไม่ได้มีสตางค์ไปซื้อ คนท้องถิ่นเขาใช้หัวคิด ใช้สองมือทำเป็นเก้าอี้ โดยใช้เศษไม้ที่หาได้ในท้องถิ่นมาดัด ตอกตะปู เป็นเก้าอี้มีพนักพิง แล้วแต่ละประเทศก็ทำต่างกัน เลยเอาใส่กล่องขึ้นเครื่องบินกลับมา” 

9. ซีตู (Zito)

เทคนิค : ผ้าต่อปักไหมพรม
อาทิตย์ ประสาทกุล นักการทูตผู้สะสมงาน ‘ศิลปะคนนอก’ ของแอฟริกา

“คนสุดท้ายคือพนักงานทำความสะอาดสถานทูตไทยประจำมาปูโต ตอนสถานทูตเปิดใหม่ เราเชิญ คุณจักกาย ศิริบุตร ไปทำงานศิลปะประดับสถานทูต โดยใช้ผ้า วัสดุท้องถิ่น และเศษธงชาติไทยผืนแรกที่ชักขึ้นเสาธงโมซัมบิกด้วย เพราะไปแค่สองอาทิตย์เลยต้องหาผู้ช่วยใกล้มือ ซีตูมาช่วยเย็บผ้าปักผ้า เขาไม่เคยเห็นก็ตื่นเต้น ได้แรงบันดาลใจอยากทำบ้าง คุณจักกายกลับไปแล้วซีตูก็ยังอยากทำต่อ ผมเลยช่วยสนับสนุน แนะนำคอนเซปต์และซื้อวัสดุให้ เขาปักเป็นรูปคนรอบตัวเขาที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเมือง กลายเป็นงานศิลปะ พอผมจะกลับก็เลยขอตัดกลับมา ผมเก็บไว้ครึ่งหนึ่ง ให้คุณจักกายครึ่งหนึ่ง เขาอยากเอาไปคุยกับเทศกาลศิลปะที่ออสเตรเลียให้เอาไปจัดแสดง”

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ