ในเดือนพฤษภาคมคริสตชนจะระลึกถึงแม่พระเป็นพิเศษ

‘แม่พระ’ เป็นคำที่ชาวคริสต์ไทยเรียก ‘พระนางมารีย์’ กันติดปาก หลายคนมักจะมีความศรัทธาต่อแม่พระเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็น ‘แม่’ ผู้ให้กำเนิด ‘พระเยซู’ และด้วยเหตุผลทางใจ ผมเชื่อว่าคริสตชนจึงมักเลือกภาวนาผ่านแม่พระ เพื่อให้แม่พระขอพรต่อพระเจ้าให้กับเราอีกที

ตั้งแต่เด็กๆ ผมได้รู้จักกับแม่พระผ่านบทภาวนาชื่อว่า ‘วันทามารีอา’ มาจากคำกล่าวทักทายพระนางมารีย์ของเทวดากาเบรียลเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว ซึ่งบันทึกลงในพระคัมภีร์ไบเบิลว่า “เธอผู้ซึ่งพระเจ้าโปรดปรานมาก จงจำเริญเถิด พระเป็นเจ้าทรงสถิตอยู่กับเธอ” ต่อมาด้วยความศรัทธาในแม่พระ ชาวคริสต์จึงได้เพิ่มคำภาวนาและคำสรรเสริญแม่พระเข้าไปในบทภาวนา จนกลายเป็นบทสวดภาษาละตินชื่อว่า ‘Ave Maria’

นอกจากชื่อมารีอาแล้ว แม่พระยังเป็นที่รู้จักในสมญานามต่างๆ เช่น มารดาของพระเจ้า (Mater Dei) ราชินีสวรรค์ (Regina Caeli) แม่พระแห่งลูกประคำ (Notre Dame du Rosaire) ดาวประจำรุ่ง (Stella Matutina) กุหลาบสวรรค์ (Rosa Mystica) พระนางมารีย์ผู้ปฏิสนธินิรมล (Immaculate Conception of Mary) เป็นต้น บางส่วนเป็นสมญานามที่คนในอดีตถวายเป็นเกียรติให้กับแม่พระ แต่บางส่วนเป็นชื่อที่แม่พระตั้งเอง

ใช่ครับ ชื่อที่แม่พระตั้ง คือชื่อที่ใช้แทนตนเองเมื่อครั้งประจักษ์ไปในที่ต่างๆ ให้ผู้คนได้เห็น จากหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเมื่อ 500 ปีก่อน ณ ประเทศเม็กซิโก (นับจากที่มีการรวบรวมข้อมูลโดยพระศาสนจักรหลังสังคายนาเมืองเตร็น) แม่พระได้ประจักษ์ให้กับชาวอินเดียนแดงชื่อ ฮวน ดิเอโก (Juan Diego) ผ่านบันทึกว่า “ได้เห็นสตรีงามมากในแสงสว่างอันรุ่งโรจน์จนแสบตา พระพักตร์ค่อนข้างคล้ำเหมือนชาวพื้นเมือง อาภรณ์ส่องแสงดังจะเปลี่ยนศิลาที่กระทบให้กลายเป็นเพชร… สตรีงามกล่าวว่า ‘ลูกรักของแม่ แม่คือมารีอา ผู้เป็นพรหมจารีและมารดาพระเจ้า พระผู้ทรงผู้สร้างสรรพสิ่งและอยู่ทุกหนทุกแห่ง’”

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ฮวน ดิเอโก กับแม่พระแห่งกวาดาลูป
ภาพ : www.franciscanmedia.org

ในปี 1531 ที่ประเทศเม็กซิโก แม่พระได้ใช้ชื่อว่า ‘มารีอา ผู้เป็นพรหมจารีและมารดาของพระเจ้า’ แต่ในที่ต่างๆ ในเวลาต่อมาแม่พระได้ใช้ชื่อไหนบ้าง นิตยสาร National Geographic ฉบับเดือนธันวาคม 2015 ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ การประจักษ์ของแม่พระยังสถานที่ต่างๆ บนโลกถูกรวบรวมเป็นแผนที่ และการประจักษ์มาที่ฮวน ดิเอโก นี้อยู่ในชื่อที่รู้จักอย่างแพร่หลายว่า Our Lady of Guadalupe

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

หน้าปกนิตยสาร National Geographic เดือนธันวาคม 2015

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

แผนที่แสดงสถานที่ที่มีบันทึกการประจักษ์ของแม่พระในโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1531

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

แผนที่แสดงสถานที่ที่มีบันทึกการประจักษ์ของแม่พระในยุโรป
ภาพ : news.nationalgeographic.com

การที่มีผู้พบเห็นหรือมีประสบการณ์ในการประจักษ์ของแม่พระที่เกิดขึ้นตลอด 500 ปีเป็นสิ่งที่แม่พระตั้งใจ ดังเหตุการณ์ที่ผมกำลังจะเล่าซึ่งเกิดขึ้นในชนบทเล็กๆ แห่งหนึ่งในประเทศโปรตุเกสเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อว่า ฟาติมา (Fatima)

Cova da Iria

ในวันที่ 13 ตุลาคม 1917 ผู้คนกว่า 70,000 คนได้มารวมตัวกันที่แอ่งอีรียา (Cova da Iria) เพื่อรอดูอัศจรรย์ตามคำสัญญาที่แม่พระที่ให้ไว้แก่เด็กเลี้ยงแกะ 3 คน คือ ลูซีอา (Lúcia Santos) ฟรานซิสโก และยาชินทา  (Francisco and Jacinta Marto)

แต่วันที่ 13 ตุลาคม ไม่ใช่วันแรกที่เด็กๆ พบกับแม่พระ เพราะเรื่องราวเริ่มขึ้นตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 1916 ระหว่างที่เด็กทั้งสามกำลังเลี้ยงฝูงแกะของพวกเขาอยู่ในทุ่งร้างนั้น พวกเขาได้พบกับเทวดา ซึ่งได้บอกกับเด็กทั้งสามสวดภาวนาเพื่อเตรียมจิตใจสำหรับเหตุการณ์ที่กำลังจะมาถึง เทวดาได้มาหาเด็กๆ อีกครั้งในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

Lúcia Santos (left) with her cousins Francisco and Jacinta Marto, 1917.
ภาพ : en.wikipedia.org

May – “ A WOMAN MORE BRILLIANT THAN THE SUN. ”

วันที่ 13 พฤษภาคม 1917 เป็นวันแรกที่เด็กทั้งสามได้พบกับสตรีงามวิไลผู้หนึ่ง ดังคำให้การของเด็กทั้งสามคนที่เล่าว่า “พวกเขาพาแกะไปเลี้ยงที่แอ่งอิรีอาตามปกติ ประมาณเวลาเที่ยง ทั้งสามกินอาหารที่เตรียมไป แล้วสวดลูกประคำพร้อมกัน หลังจากนั้นก็เล่นโดยเอาก้อนหิน และกิ่งไม้เล็กๆ มาสร้างบ้านเล่นกัน ฉับพลันนั้นมีแสงสว่างจ้าเกิดขึ้น ทั้งสามตกใจคิดว่าพายุจะมาจึงรีบต้อนแกะเพื่อจะกลับบ้าน แสงจ้ากว่าเดิมวาบขึ้นเป็นครั้งที่ 2 แล้วปรากฏแสงจ้าบนต้นโอ๊กเขียวชอุ่ม และตรงกลางดวงสว่างจ้านั้น เด็กๆ เห็นสตรีงามวิไล รังสีเจิดจ้ายิ่งกว่าดวงอาทิตย์ ทั้งสามตกใจกลัวจะวิ่งหนี แต่สตรีงามตรึงเขาไว้ด้วยรอยยิ้มน่ารัก

ในครั้งแรกที่สตรีมาหาเด็กทั้งสามคนนั้น เด็กๆ ถามว่าท่านมาจากไหน สตรีตอบว่า “มาจากสวรรค์” เด็กทั้งสามถามต่อว่า ท่านต้องการอะไร สตรีผู้นี้ตอบว่า “ขอให้เด็กๆ ทั้งสามมาที่แห่งนี้ในเวลาเดียวกันนี้ทุกวันที่ 13 ของทุกเดือน และฉันจะกลับมาหา โดยในครั้งสุดท้ายฉันจะบอกว่าฉันเป็นใคร”

June – THE REVELATION OF THE IMMACULATE HEART

วันที่ 13 มิถุนายน เด็กทั้งสามเดินทางมายังสถานที่เดิม สตรีได้มาหาเด็กๆ อีกครั้ง และขอให้มาที่นี่ในวันที่ 13 ของเดือนหน้า และสวดสายประคำทุกวัน “เรียนรู้วิธีการอ่านและฉันจะบอกว่าต้องการอะไร” เด็กๆ ถามว่า พวกเขาจะได้ไปสวรรค์ไหม สตรีผู้นี้จึงตอบว่า ได้แน่นอน แต่ยาชินทาและฟรานซิสโกจะไปก่อน ส่วนลูซีอาจะมีอายุยืนยาวกว่าเพื่อเป็นพยานถึงฉัน ลูซีอาจึงถามไปว่า แล้วหนูจะอยู่คนเดียวไหม สตรีตอบว่า “ไม่ อย่าเสียใจไปเลย ฉันจะไม่ละทิ้งเธอ ดวงหฤทัยนิรมลของฉันจะเป็นที่หลบภัยของเธอและนำเธอไปหาพระเจ้า”

July – THE GREAT SECRET

วันที่ 13 กรกฎาคม เมื่อเด็กทั้งสามมายังสถานที่เดิม ข่าวการพบแม่พระทำให้ผู้คนหลั่งไหลมาเพื่อรอดูปรากฏการณ์นี้เช่นกัน ผู้คนเนืองแน่นตามทาง การประจักษ์มาในครั้งนี้สตรีผู้นี้ขอให้เด็กทั้งสามตั้งใจสวดสายประคำทุกวัน เนื่องจากแม่พระแห่งสายประคำเท่านั้นที่สามารถช่วยเราได้ และขอให้เด็กทั้งสามมาที่นี่ทุกเดือน ในเดือนตุลาคมสตรีผู้นี้จะบอกว่าเขาเป็นใครและจะทำอัศจรรย์ให้ทุกคนได้เชื่อ โดยสตรีผู้นี้เผยความลับให้เด็กๆ ได้เห็นนิมิตของนรกที่ร้อนแรงดังเปลวไฟ และให้เด็กๆ สวดภาวนาให้กับวิญญาณเหล่านั้นพลีกรรมและใช้โทษบาป คนที่กลับใจจะได้รับความรอดพ้นจากความทรมาน

August – “THE SOLEMNITY OF OUR LADY OF THE ROSARY”

ในเดือนสิงหาคม ข่าวการพบเห็นแม่พระแพร่ออกไปทำให้หลายคนไม่พอใจ โดยเฉพาะ Artur de Oliveira Santos เจ้าเมืองที่มีอำนาจปกครองเขตนั้น อยากจะให้จบข่าวลือเรื่องการปรากฏของแม่พระต่อเด็ก 3 คน จึงมีคำสั่งให้จับกุมลูซีอาที่ศาลาว่าการของเมือง ระหว่างที่ลูซีอาถูกจับกุม มีผู้ใหญ่ที่กำชับให้ลูซีอาไม่กลับไปที่แอ่งอีรียาอีกและลืมเรื่องทั้งหมด แต่ลูซีอาไม่ยอม ถ้าถูกปล่อยออกไปเธอก็จะกลับไปถึงแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมมาถึง เด็กทั้งสามไม่สามารถไปตามที่นัดกับสตรีผู้นั้นไว้ได้ เนื่องจากพวกเขาถูกคุมตัวโดย Artur de Oliveira Santos เพื่อรอดูว่าหากเด็กเหล่านี้ไม่ไปแม่พระจะมาหรือไม่

ระหว่างที่เด็กทั้งสามถูกจับกุมผู้คนก็ไปรอกันที่แอ่งอีรา ผู้คนมากันมากกว่าครั้งก่อนเพื่อรอชมปาฏิหาริย์อีกครั้ง ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า เมื่อเวลานั้นมาถึงผู้คนได้ยินเสียงดังเหมือนสายฟ้าฟาด บางคนร้องไห้และกลัวต่อความตายที่กำลังจะมาถึงของตนเอง หลังจากนั้นพวกเขาได้เห็นเมฆสีขาว งดงาม สว่างเจิดจ้า มาหยุดอยู่เหนือต้นไม้ ที่ที่เด็กๆ เห็นสตรีมาปรากฏแล้วก็จางหายไป เมื่อมองไปรอบๆ ใบหน้าของผู้คนที่มาชุมนุมกันก็สะท้อนสีสันหลากสีเหมือนสายรุ้ง ต้นไม้ที่อยู่เบื้องหน้ากลับกลายเป็นดอกไม้แทนที่ใบไม้สีเขียว และทันใดนั้นเหตุการณ์ทั้งหมดก็เลือนหายไป

วันที่ 19 สิงหาคม 1917 หลังจากเหตุการณ์นั้นไม่มีใครได้เห็นแม่พระ แต่ทุกคนที่มาได้สัมผัสถึงปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่ตนได้เห็น เด็กทั้งสามได้ถูกปล่อยตัวหลังจากนั้น และในวันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม หลังมิสซาวันอาทิตย์ พวกเขาก็ไปสวดภาวนากันที่ต้นโอ๊กบริเวณที่สตรีผู้นี้เคยปรากฏ

ทันใดนั้นเองแสงเจิดจ้าและสตรีคนเดิมปรากฏกายอยู่เหนือต้นโอ๊ก สตรีผู้นี้บอกให้เด็กๆ สวดสายประคำเป็นประจำและให้มาที่นี่ในวันที่ 13 ของเดือนหน้า และในเดือนสุดท้ายคือเดือนตุลาคม สตรีผู้นี้จะแสดงปาฏิหาริย์ให้ผู้คนได้เชื่อ คนที่มาจะได้รับสันติสุข และสตรีผู้นี้ยังบอกอีกว่า เธอจะช่วยรักษาคนที่ป่วยให้หายจากโรค

September – AN AMAZING “RAIN OF FLOWERS’’

วันที่ 13 กันยายน ในวันนั้นถนนทุกสายมุ่งสู่ฟาติมา ผู้คนกว่า 25,000 คนเดินทางมารวมตัวกันที่นี่พร้อมกับสวดสายประคำตามที่สตรีผู้นี้ร้องขอ

เรื่องราวในวันนั้นถูกบันทึกโดยบาทหลวง John Quaresma ไว้ว่า “ในช่วงเที่ยงวัน เป็นเวลาที่เงียบสงัด มีเพียงเสียงพึมพำภาวนาของผู้คน ทันใดนั้นมีเสียงกังวานของเพลงคล้ายเพลงสรรเสริญแม่พระ ผู้คนชูมือชี้ขึ้นไปบนท้องฟ้าที่โปร่งไร้เมฆ เห็นลูกโลกขนาดใหญ่สว่างเจิดจ้าเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ผู้คนได้จับจ้องเป็นพยาน จากนั้นโลกอันสว่างเจิดจ้าก็ได้หายไป และทิ้งพื้นที่ให้กลายเป็นแสงสีเหลืองทอง”

เด็กทั้งสามได้เห็นสตรีคนเดิม สตรีได้ขอให้สร้างโบสถ์ที่นี่ขึ้นหลังหนึ่งและในเดือนตุลาคม เธอจะแสดงอัศจรรย์เพื่อให้ผู้คนได้เชื่อ หลังจากนั้นเธอจึงหายไป ผู้คนที่มาชุมชนกันไม่สามารถเห็นสตรีผู้นี้ได้ มีเพียงเด็กทั้งสามเท่านั้น แต่ระหว่างที่เด็กสนทนาอยู่กับสตรีผู้นี้ ผู้คนนับหมื่นได้เห็นกลีบดอกไม้ขนาดเล็กคล้ายหิมะหล่นลงมาจากท้องฟ้า พัดจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก ซึ่งเมื่อกลีบดอกไม้เหล่านี้หล่นถึงพื้นก็มลายไป

October – I am our Lady of the Rosary

วันที่ 13 ตุลาคม 1917 ผู้คนกว่า 70,000 คนมารวมตัวกันที่แอ่งอีรียา ขณะนั้นฝนตกหนัก แต่ผู้คนจำนวนมากเดินทางมาค้างแรมที่นี่ตั้งแต่คืนก่อนเพื่อรอดูอัศจรรย์

เมื่อเวลาประมาณเที่ยงวัน สตรีคนเดิมปรากฏกายตามสัญญาและบอกแก่ลูซีอาว่า “ฉันต้องการให้สร้างวิหารเพื่อเป็นเกียรติแก่ฉันที่นี่ ฉันคือแม่พระแห่งลูกประคำ จงสวดสายประคำทุกวัน แล้วสงครามจะยุติลงในเร็ววันและทหารจะได้กลับบ้าน”

หลังจากที่กล่าวจบแม่พระได้ผายมือออก แสงเจิดจ้าเปล่งประกายออกมา แล้วฝนก็หยุดลง แม่พระลอยขึ้นไปสู่ดวงอาทิตย์ สิ่งที่น่าประหลาดใจคือแสงดวงอาทิตย์ไม่ส่งผลต่อดวงตาของผู้คนเลยแม้แต่น้อย ทุกคนมองขึ้นท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ที่กำลังเคลื่อนที่ดังเต้นระบำค่อยๆ หยุดลง และเคลื่อนที่เหมือนจะหล่นลงมาจากท้องฟ้าสู่ผู้คนที่กำลังจ้องมองอยู่ เป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวอย่างมาก

เวลากว่า 10 นาทีที่เกิดปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่และเปียกชุ่มจากฝนตกหนักกลับแห้งเสมือนไม่เคยโดนน้ำมาก่อน

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้คนได้เห็นเป็นประจักษ์พยานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นักข่าว นายแพทย์ พระสงฆ์ และชาวบ้านทั้งหมด ได้เห็นเหตุการณ์ และเรื่องราวได้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์และหนังสือหลายฉบับในวันต่อมา

หลังการประจักษ์ครั้งสุดท้ายของแม่พระ ไม่กี่ปีต่อมา ยาชินทาและฟรานซิสโกก็เสียชีวิตดังคำสัญญาของแม่พระที่จะให้เขาไปสู่สวรรค์ แต่ลูซีอามีชีวิตยืนยาวเพื่อเป็นพยานถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยลูซีอาได้บวชเป็นซิสเตอร์คณะภราดาพระนางมารีย์พรหมจารีแห่งภูเขาคาร์แมล โดยเป็นพยานถึงความเชื่อจนจากโลกนี้ไปในปี 2005 ด้วยอายุ 97 ปี

ที่แอ่งอีรียามีการสร้างมหาวิหารแห่งลูกประคำในบริเวณใกล้กับสถานที่ที่แม่พระประจักษ์มาตามที่แม่พระได้ร้องขอ ผู้คนจากทั่วโลกหลั่งไหลไปแสวงบุญ ณ ที่แห่งนี้ พระศาสนจักรคาทอลิกที่วาติกันได้ประกาศรับรองเหตุการณ์แม่พระประจักษ์ในปี 1930 และตลอดช่วงเวลากว่า 100 ปี ผู้คนกว่าล้านคนต่างเดินทางมาเยือนที่แห่งนี้ทุกปี

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ภาพบางส่วนจากหนังสือพิมพ์ Ilustração Portuguesa
ภาพ : onthisdateinphotography.com

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ซิสเตอร์ลูซีอาถ่ายรูปคู่กับรูปจำลองแม่พระลูกประคำแห่งฟาติมาที่ซิสเตอร์เห็น
ภาพ : www.bluearmy.com

การเดินทางของผมไป ‘ฟาติมา’

ในปี 2017 เป็นปีที่มีการจัดฉลองครบรอบ 100 ปี การประจักษ์มาของแม่พระที่ฟาติมา ในพิธีวันนั้น พระสันตะปาปาฟรังซิสจะเสด็จไปเป็นประธานในพิธี และคาดการณ์ว่าผู้คนกว่า 5 แสนคนจากทั่วโลกได้เดินทางไปร่วมงาน

ผมเองได้มีโอกาสเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เดินทางไปร่วมงานนี้ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากผมไม่ได้รู้จักกับท่านทูตหลุยส์ (H.E. Luís Barreira de Sousa) ตั้งแต่ปี 2013 ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ผมยังจำได้ว่าท่านเดินจากสถานทูตมาที่โบสถ์กาลหว่าร์ทุกวัน ก่อนจากกันที่กรุงเทพฯ ท่านได้ชวนผมไปเยือนบ้านท่านที่ลิสบอน และร่วมฉลอง 100 ปี ของการประจักษ์มาของแม่พระที่ฟาติมา

การเดินทางไปร่วมงานนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากที่พักมีจำนวนจำกัดคนจำนวนมากจึงเดินทางมาหลายวันก่อนหน้า ด้วยความโชคดีที่ผมไปกับครอบครัวของท่านทูต ทำให้หมดปัญหาเรื่องที่พักและการเดินทาง

ผมและครอบครัวท่านทูตเดินทางไปถึงสักการะสถานแม่พระลูกประคำแห่งฟาติมาในช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤษภาคม 2017 เช้านี้ฝนตกเบาๆ ผู้คนจำนวนมากเริ่มมาจับจองพื้นที่ สำนักข่าวหลายแห่งมารอเพื่อทำข่าว และรอคอยการเสด็จมาของพระสันตะปาปา ผู้แสวงบุญบางกลุ่มเลือกออกเดินทางล่วงหน้าหลายอาทิตย์ก่อน เนื่องจากเดินเท้ามาจากพื้นที่ห่างไกล

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ผู้แสวงบุญเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ในช่วงเช้าวันที่ 12 พฤษภาคม 2017

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ผู้แสวงบุญบางส่วนที่เดินเท้ามา

ช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็น ผู้คนหลายแสนคนมารอพบพระสันตะปาปาฟรังซิสพร้อมโบกธงชาติของแต่ละประเทศอย่างภาคภูมิใจ บ้างก็ร้องเพลง และบ้างก็สวดภาวนา

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ผู้แสวงบุญที่กำลังรอคอยพระสันตะปาปา

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ช่วงเวลาที่พระสันตะปาปาฟรังซิสมาถึงที่งานในเวลาประมาณ 6 โมงเย็น

ในคืนวันที่ 12 พฤษภาคม ถือเป็นค่ำคืนสำคัญที่จะมีพิธีมิสซาระลึกถึงการประจักษ์มาของแม่พระและพิธีแห่รูปแม่พระแห่งฟาติมา ราว 3 ทุ่มเศษเปลวเทียนหลายแสนดวงถูกจุดขึ้นและชูไสว พร้อมร้องบทเพลง Ave Maria de Fatima เป็นภาษาโปรตุเกส สายตาทุกคู่ที่จับจ้องไปที่รูปแม่พระแห่งฟาติมาที่กำลังแห่เข้าสู่ที่จัดพิธีหน้าสักการะสถาน พิธีจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายและจบลงราวเที่ยงคืน ท่ามกลางอากาศที่หนาวและลมแรง แต่ผู้คนก็เลือกนอนที่ลานแห่งนี้เพื่อรอพิธีสำคัญในเช้าวันรุ่งขึ้น

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

เปลวเทียนนับแสนที่ถูกจุดขึ้น

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ขบวนแห่แม่พระฟาติมา

100 ปี แห่งการประจักษ์มาของแม่พระฟาติมา

วันที่ 13 พฤษภาคม 2017 เป็นช่วงเวลาที่น่าปีติยินดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม ท่ามกลางผู้คนกว่า 5 แสนคนที่เดินทางมาจากทั่วโลก ผมได้มีโอกาสร่วมในพิธีสำคัญที่ครั้งหนึ่งแม่พระได้เคยบอกกับเด็กทั้งสามคนว่า ขอให้สร้างวิหารเป็นเกียรติแก่เราที่นี่

ในวันนั้นแม่พระอาจไม่ได้ประจักษ์มาให้คนเห็น ไม่มีอัศจรรย์แห่งดวงอาทิตย์ แต่ไม่น่าเชื่อ ความปีติยินดีที่ผมได้รับขณะที่ขบวนแห่แม่พระผ่านหน้าผมไป พร้อมกับพระธาตุของนักบุญฟรานซิสโกและนักบุญยาชินทา ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในวันนั้น ทำให้ผมรู้จักได้ถึงสันติสุขภายในใจที่เอ่อล้นออกมาผ่านน้ำตาแห่งความซาบซึ้งใจ

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ขบวนแห่แม่พระฟาติมาในช่วงเช้าพร้อมพระธาตุนักบุญฟรานซิสโกและยาชินทา

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ภาพนักบุญยาชินทาและฟรานซิสโก บริเวณหน้ามหาวิหาร

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

พระสันตะปาปาฟรังซิส

หลังจบพิธีที่คนทั่วโลกเดินทางมาเพื่อร่วมพิธีมิสซา สวดภาวนา และเป็นพยานถึงความเชื่อต่อเหตุการณ์ในอดีต ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนบ้านของนักบุญทั้งสองในวันเดียวกัน ตัวบ้านยังอยู่ในสภาพเดิม เป็นบ้านหลังเล็กที่มีของใช้และอุปกรณ์ต่างๆ เหมือนกับช่วงเวลาที่เด็กๆ ยังมีชีวิตอยู่

ระหว่างที่ชมบ้าน ผมขอบคุณพระเจ้าสำหรับเหตุการณ์ที่ผมได้สัมผัส เพราะสำหรับพระเจ้าแล้วไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญในชีวิตของเรา

ประวัติ พระนางมารีย์, มหาวิหารแห่งลูกประคำ, ฟาติมา โปรตุเกส

ประตูบ้านของนักบุญ

โบสถ์แม่พระ

ใจกลางกรุงเทพฯ ในเขตดินแดง มีย่านหนึ่งที่เรียกกันว่า โบสถ์แม่พระ หรือโบสถ์แม่พระฟาติมา ตั้งชื่อตามสถานที่ที่แม่พระประจักษ์ที่โปรตุเกส โบสถ์แห่งนี้ เกิดจากเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ชาวคริสต์ที่วัดกาลหว่าร์ มีจำนวนมากกว่า 7 พันคน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่อพยพมาจากประเทศจีน จึงทำให้คุณพ่ออาแมสตอย (M.E.P.) เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ในสมัยนั้นตัดสินใจรวบรวมเงินจากกลุ่มคริสตังเพื่อซื้อที่ดินย่านดินแดง สร้างโบสถ์และชุมชนให้ผู้คนได้อพยพไปอาศัยนอกเมือง

ในวันนี้ถึงจะมีถนนสายสำคัญตัดผ่าน ทำให้วัดแม่พระฟาติมากลายเป็นย่านใจกลางเมือง และเป็นที่รู้จักกันในชื่อโบสถ์แม่พระ แต่โบสถ์แห่งนี้ก็ยังเป็นศูนย์รวมชาวคริสต์ที่มีพิธีมิสซาทุกวันและแห่แม่พระทุกวันที่ 13 ของทุกเดือน และเป็นพิเศษ ในวันที่ 13 พฤษภาคม ของทุกปีจะเป็นวันฉลองประจำปี ซึ่งปีนี้จะมีการจัดฉลองเวลา 10.00 น. และ 19.00 น. โดยหลังพิธีช่วงค่ำเวลาประมาณ 20.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คน จะถือเทียนดวงเล็กๆ เดินตามหลังรูปแม่พระแห่งลูกประคำแห่งฟาติมาแห่ไปรอบโบสถ์ ผู้สนใจไปร่วมภาวนาและแห่แม่พระได้

ติดต่อสอบถาม: fatima.or.th

Writer & Photographer

Avatar

อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์

โตมากับวัดกาลหว่าร์ หลงใหลในประวัติศาสตร์ คริสตศาสนา และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม