อาคารสีเหลืองหลังนี้ตั้งอยู่ที่สี่กั๊กเสาชิงช้า บนซุ้มด้านหน้าประดับลายมังกรโดดเด่นสะดุดตา ตัวอาคารมีลักษณะโค้งรับกับพื้นที่วงกลมเช่นเดียวกับอาคารอื่น ๆ ที่ตั้งรายเรียงอยู่ใกล้เคียงกัน นี่คือ ‘ร้านชาอ๋องอิวกี่’ ที่ยืนหยัดจำหน่ายใบชาชั้นเยี่ยมจากเมืองจีนมานานเกินศตวรรษ

คอลัมน์ Heritage House ครั้งนี้ไม่อยากจำกัดเนื้อหาหลักให้ครอบคลุมเพียงเฉพาะเรื่องราวในเชิงสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่อยากเปิดเผยเรื่องราวอันเป็นวิถีชีวิตของบรรพชนผู้สร้างตนจากการเป็นพ่อค้าชา ซึ่งทายาทต้องใช้ความอุตสาหะในการสืบเสาะ ค้นหา และรวบรวมข้อมูลเป็นจำนวนมาก เพื่อทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งเกี่ยวกับรากเหง้าของตนเอง สิ่งสำคัญกว่านั้นคือความตั้งใจที่จะสืบทอดธุรกิจชาให้คงอยู่ โดยทุ่มเทศึกษาวิธีการชงชาแต่ละชนิดให้ได้กลิ่นและรสครบถ้วนเฉกเช่นบรรพบุรุษ
คุณบี๋-นพพร ภาสะพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านชาอ๋องอิวกี่ คือผู้สืบทอดมรดกล้ำค่าของบรรพบุรุษ ขณะนี้เธอพร้อมแล้วที่จะพาเราไปรู้จักกับ ‘อาก๋ง’ พร้อมด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับร้านชา 5 แผ่นดินแห่งนี้ในทุกมิติ

อ๋องอิวกี่ที่ภาคภูมิใจ
“อาก๋งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ท่านมีชื่อว่า เปี๋ยน แซ่อ๋อง ท่านเดินทางเข้ามาเมืองไทยช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 แต่อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานนะคะ ความที่สมัยก่อนไม่มีบันทึกที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร พี่เริ่มสืบค้นเกี่ยวกับอาก๋งจากเอกสารชิ้นนี้ นี่คือโฆษณาชิ้นแรกของร้านที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้” คุณบี๋หยิบหนังสือพิมพ์เล่มบางที่เก็บรักษาไว้อย่างดีในห่อกระดาษไข นั่นคือ หนังสือพิมพ์กรรมกร ฉบับวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2466

“หนังสือพิมพ์ฉบับนี้เผยแพร่ช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั่นเป็นข้อสันนิษฐานแรกที่พี่พยายามคำนวณว่าอาก๋งเข้ามาเมืองไทยช่วงไหน”
ผมขออนุญาตคัดข้อความโฆษณาของร้านมาให้อ่านกันนะครับ ผมว่าเป็นภาษาโฆษณาที่จี๊ดโดนใจมาก
“ไชยโย ๆ ทิวาราตรีสวัสดิ์ เมื่อท่านได้รับทราบแล้วควรจะยินดีหรือไม่ ด้วยบัดนี้ใบชาพันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ยอดเยี่ยมกว่าใบชาพันธุ์อื่น ๆ ที่ท่านทั้งหลายได้พากันร่ำร้องบ่นถึงอยู่ เพราะได้คอยมานานหลายเดือนด้วยการคมนาคมไม่สะดวกนั้น บัดนี้ควรจะมีความโสมนัสยินดียิ่ง ที่ใบชาพันธุ์นี้ได้มีโอกาสส่งเข้ามาถึงห้างข้าพเจ้าในเที่ยวเมล์คราวนี้ 40 – 50 หีบเท่านั้น และอาจถือได้ว่าเป็นชาใหม่ กลิ่นรสสดใสนัก ขอเชิญท่านผู้ปรารถนาใบชาชนิดนี้ จงรีบมารับประทานเสียโดยเร็ว ๆ เถิด”
ก่อนลงท้ายข้อความว่า ห้างอ้วงอิวกี่ สี่กั๊กเสาชิงช้า กรุงเทพฯ

“นอกจากนี้พี่ก็ได้พบกับหลักฐานสำคัญอีกอย่าง นั่นคือโฆษณาอีกชิ้นที่อยู่ในหนังสือ สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ พิมพ์เผยแพร่ประมาณ พ.ศ. 2470 หลังจากพิธีเปิดสวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของไทยผ่านไป 1 ปี โฆษณาชิ้นนี้เป็นภาษาอังกฤษ ใต้ชื่อร้านที่สะกดว่า OUANG EWE KEE มีข้อความเขียนไว้ว่า Established 20 years in Siam”

ผมกับคุณบี๋รีบใช้วิชาเลขผสมประวัติศาสตร์เพื่อคำนวณช่วงเวลาที่อาก๋งเดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทย ถ้า พ.ศ. 2470 ร้านเปิดมาแล้ว 20 ปี ก็แปลว่าร้านเปิดดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ พ.ศ. 2450 นั่นคือปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตามที่คุณบี๋สันนิษฐานมาแต่ต้น ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่า คุณบี๋เป็นผู้มีความสามารถในเชิงสืบค้นเป็นอย่างยิ่ง หรือว่าเธอคือนักสืบตัวแม่แห่งโลกไซเบอร์
“ฮ่า ๆๆ ไม่ใช่ค่ะ ไม่ใช่เลย และพี่ก็ไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์นักโบราณคดีอะไรเลยค่ะ พี่เรียนทางด้านอักษรศาสตร์มาและชอบอ่านหนังสือมาก พอเพื่อน ๆ รู้ก็เลยให้แต่หนังสือเป็นของขวัญ พี่ก็ใช้ข้อมูลจากหนังสือเหล่านี้แกะรอยรื่องราวของบรรพบุรุษ”

แล้วคุณบี๋สืบเรื่องราวของอาก๋งต่อไปอย่างไรอีกบ้างครับ – ผมถาม (ว่าที่) นักสืบหญิงผู้นี้
“ตอนอาก๋งมีชีวิตพี่ก็ยังเด็กมาก ๆ นะ แต่ว่าพี่เป็นคนช่างถาม ชอบไปคุยกับคุณป้า ท่านเล่าว่าครอบครัวที่บ้านเกิดอาก๋งก็ปลูกชาและตั้งอยู่ในแหล่งชาสำคัญของฮกเกี้ยน นั่นคือบนเทือกเขาอู่อี๋ซาน (Wuyishan)”
ด้วยวัยเพียง 18 ปี นายเปี๋ยน แซ่อ๋อง ตัดสินใจเดินทางมาเมืองไทยเพื่อสำรวจลู่ทางทำมาหากินในดินแดนที่สงบและปลอดภัยกว่าเมืองจีน ในที่สุดก็ลงหลักปักฐานและดำรงชีพในฐานะพ่อค้าชา เมื่อตัดสินใจดังนั้น ท่านก็เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง เพื่อลำเลียงชาคุณภาพดีมาขายที่นี่
“ตอนนั้นอาก๋งเปิดร้านขึ้นเป็นแห่งแรก ซึ่งพี่ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ทราบแต่ว่าท่านทำธุรกิจอยู่กับเพื่อน เมื่อขายชาได้หมดก็เดินทางกลับจีนไปขนชาเข้ามาใหม่ แต่พอกลับมาปรากฏว่าร้านปิดไปแล้ว เพื่อนก็หายไปด้วย งงเลย (หัวเราะ) ผลกำไรจากการค้าชาคราวก่อนก็เลยสูญไปด้วย” คุณบี๋เล่า ส่วนผมอุทาน “อ้าว” ออกมาดัง ๆ

“อาก๋งต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้มีเหตุการณ์สำคัญ นั่นคือมีแม่สื่อมาแนะนำอาก๋งให้รู้จักกับผู้หญิงฮกเกี้ยนคนหนึ่ง ครอบครัวของเธอมาจากจากสิงคโปร์และพูดภาษาอังกฤษได้ อาก๋งสนใจก็เลยไปแอบดู พอพบตัวจริงเข้าก็ตะลึงจนเดินตกฟุตปาธ (หัวเราะ) ต่อมาผู้หญิงคนนี้ก็คืออาม่าของพี่ แปลว่าอาม่าต้องสวยมาก ๆ สวยจนอาก๋งเดินขาพลิกเลย พอแต่งงานกับอาม่า คราวนี้ก็ไม่ต้องกลัวร้านหายอีกแล้ว” คุณบี๋จบประโยคด้วยเสียงหัวเราะอีกครั้ง

อาก๋งตัดสินใจเปิดร้านที่บริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้าอันเป็นสถานที่ตั้งของร้านมาจนปัจจุบัน อาม่ารับหน้าที่เฝ้าร้านและดูแลลูก ๆ ในระหว่างที่อาก๋งเดินทางไปจีนเพื่อนำชาชั้นดีกลับมาขาย อาก๋งต้องเดินทางไปเมืองจีนปีละครั้งโดยเรือสำเภา
เมื่อคุณบี๋กล่าวประโยคนี้จบลง ผมก็นึกถึงกาพย์บทหนึ่งจากพระราชนิพนธ์ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ความว่า
“เดือนสามสำเภามา
มีใบชาชาติจุหลัน
ถ้ำคู่อยู่เคียงกัน
มองให้เห็นเป็นปริศนา”
วินาทีต่อมาคุณบี๋ก็อธิบายถึงการเดินทางด้วยสำเภาไปเมืองจีนอย่างละเอียด
“มีบันทึกที่กล่าวไว้ชัดเจนว่า เรือที่จะไปค้าขายเมืองจีนต้องออกจากปากน้ำเจ้าพระยาราวเดือน 8 ล่องไปถึงจีนในเดือน 9 แล้วต้องคอยอยู่ที่จีนเป็นเวลา 5 เดือน ถึงเดือนยี่หรือเดือน 2 จึงจะมีลมตะเภาสำหรับล่องเรือกลับมาเมืองไทย กว่าจะถึงเมืองไทยก็จะตกเดือน 3 ตรงตามที่รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เลยค่ะ
“ช่วง 5 เดือนที่อาก๋งรอลมตะเภาอยู่ที่เมืองจีนนั้น ท่านจะเดินทางเสาะหาชาพันธุ์ดีชนิดต่าง ๆ บนเทือกเขาอู่อี๋ซาน แล้วค่อยลำเลียงกลับลงมาลงเรือ การเดินทางข้ามเขาในสมัยนั้นย่อมลำบากและใช้เวลานานหลายเดือนเช่นกัน”


เทือกเขาอู่อี๋ซานเป็นแหล่งปลูกชาอู่หลง (Oolong Tea) ชั้นดีหลากสายพันธุ์ บริเวณบ้านเกิดอาก๋งนั้นเป็นแหล่งปลูกชาอู่หลงสายพันธุ์ ‘ทิกวนอิม (Tie Guan Yin)’ ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาจนถึงทุกวันนี้
มณฑลฮกเกี้ยนอุดมไปด้วยเทือกเขามากมาย มีสายน้ำที่คนจีนขนานนามว่า ‘จิ่วชิวซี (Jiu Qu Xi)’ แปลว่าธาราเก้าโค้ง ด้วยไหลคดเคี้ยวแทรกเซาะไปตามเทือกเขาน้อยใหญ่ นับได้ 9 โค้งเฉกเช่นท้องมังกร และแต่ละโค้งคือแหล่งเพาะปลูกชาอู่หลง 1 สายพันธุ์ ก่อให้เกิดชาอู่หลง 9 สายพันธุ์แตกต่างกัน ทั้ง 9 สายพันธุ์ล้วนได้รับการยกย่องว่าเป็นชาชั้นยอดของแผ่นดิน
“เมื่อนำชากลับมาเมืองไทย อาก๋งไม่ได้ขายชาแค่เพียงหน้าร้านเท่านั้นนะคะ แต่บรรจุห่อชาวางเรียงลงในกระด้งออกเดินเร่ขายแบบ Direct Sales อีกด้วย (หัวเราะ) อาก๋งมีลูกค้าอยู่ทั่วถนนบำรุงเมือง เจ้านายในวังก็ส่งคนมาซื้อชาเข้าไปเสวย คุณป้าจำได้ว่าเคยมีรถม้ามาจอดหน้าร้าน แล้วก็มีผู้หญิงสวยมาก ๆ ดูเป็นผู้ดี แต่งตัวดีเดินเข้ามาซื้อชา ที่สำคัญคือมีกลิ่นหอมมาก ๆ คุณป้าจำได้ว่ากลิ่นหอมติดร้านไปนานทีเดียว”
อาก๋งเป็นคนหนุ่มที่ขยันขันแข็ง จึงสร้างฐานะได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ และยังคงเดินทางไปเสาะหาชาชั้นดีจากเมืองจีนเป็นประจำทุกปี ในสมัยนั้นใครต้องการชาคุณภาพก็ต้องมาที่ร้านอ๋องอิวกี่ทั้งนั้น
ร้านชาอาก๋ง
“สภาพร้านที่เห็นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่สภาพดั้งเดิมนะคะ ร้านนี้เป็นร้านที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2500 ช่วงที่คุณพ่อเข้ามาช่วยดูแลกิจการ ถ้าเป็นร้านเดิมนั้น สภาพคล้ายกับตึกแถวฝั่งตรงข้าม คือเป็นอาคารสูง 2 ชั้น โครงสร้างผนังก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ตามลักษณะตึกแถวที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5”

คุณบี๋นำรูปร้านดั้งเดิมออกมาให้ผมดู ซึ่งเป็นภาพขาวดำที่เก็บรักษาไว้อย่างดี
“สังเกตที่ประตูร้านนะคะ สมัยนั้นจะนำไม้ท่อนมากลึงให้ขึ้นรูปเป็นแผ่น ลักษณะเป็นบานเฟี้ยม เวลาปิดร้านก็เอาไม้แต่ละท่อน ๆ มาวางเรียงปิดหน้าร้านเอาไว้ พอจะเปิดร้านก็นำบานเฟี้ยมไม้ออกมาวางขวาง มีลังชารองรับอยู่ที่ปลายทั้ง 2 ด้าน เพื่อใช้เป็นโต๊ะสำหรับห่อชา ขายชา เขียนใบเสร็จ ฯลฯ ไม่ต้องไปซื้อโต๊ะเลยค่ะ ใช้บานเฟี้ยมไม้กับลังชานี่แหละแทนโต๊ะ”

สันนิษฐานว่าประตูเฟี้ยมไม้กระดานดังกล่าว เป็นลักษณะของบานประตูที่ปรากฏอยู่ตามตึกแถว ซึ่งมักเป็นอาคารพาณิชย์ที่ตั้งเรียงรายอยู่บนบนถนนบำรุงเมืองมาตั้งแต่แรก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัด ‘ถนนเจริญกรุง’ ขึ้นเพื่อความสะดวกในการแล่นรถม้าของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในบางกอกในขณะนั้น นับเป็นถนนสายแรกที่ก่อสร้างขึ้นตามแบบตะวันตก ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุง ‘ถนนเสาชิงช้า’ ซึ่งเป็นถนนเก่าแก่มาแต่ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์จ้างชาวจีนมาสร้างเป็นถนนสมัยใหม่ สองฟากถนนได้สร้างอาคารแบบตะวันตกขึ้น โดยทรงส่งนายช่างชาวไทยไปศึกษาแบบการก่อสร้างจากสิงคโปร์และปัตตาเวีย (ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย) พระราชทานนามถนนสายนี้ว่า ‘ถนนบำรุงเมือง’

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หนังสือราชกิจจานุเบกษาปีที่ 4 ฉบับ พ.ศ. 2420 ได้บันทึกสภาพของถนนบำรุงเมืองเอาไว้ว่า
“…นายแบดแมนเช่าพื้นที่ทำห้างแบดแมน เพื่อขายสินค้านานาชนิด ห้างแขกเปอร์เซีย ขายสินค้าจากต่างประเทศ ห้างเอส.ทิสแมน ขายนาฬิกา อำแดงทรัพย์ขายหมากพลูและบุหรี่ จีนหงีทำบ่อนเบี้ย จีนฮวดหลีตั้งโรงจำนำ จีนยิดขายเหล้าและหมี่ จีนหนูขายผ้า…”
ข้อความดังกล่าวคงพอยืนยันว่า ถนนบำรุงเมืองเป็นแหล่งการค้าสำคัญของพระนครได้เป็นอย่างดี

ภาพ : Nextsteptv.com/Khongdee
“ส่วนอันนี้เป็นภาพถ่ายทางอากาศโดย ปีเตอร์ วิลเลียมส์-ฮันต์ (Peter Williams-Hunt) จะเห็นสี่กั๊กเสาชิงช้าที่ยังปรากฏวงเวียนอยู่ตรงกลาง มีทางรถราง 2 สายพาดผ่าน สายหนึ่งวิ่งจากถนนบำรุงเมืองมุ่งตรงไปยังถนนเฟื่องนคร อีกสายวิ่งจากถนนตะนาวมุ่งลงถนนบำรุงเมือง และร้านเราก็ปรากฏอยู่ตรงมุมแยกด้านถนนตะนาว ปัจจุบันนี้ทั้งวงเวียนและรถรางไม่หลงเหลืออยู่แล้ว”
คุณบี๋ชวนชมภาพถ่ายสำคัญของช่างภาพชาวอังกฤษที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเข้ายังประเทศไทย เพื่อบันทึกภาพถ่ายทางอากาศเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงใน พ.ศ. 2489 และภาพที่เรากำลังดูอยู่นี้เป็น 1 ใน 1,671 ภาพที่เขาบันทึกไว้ทั้งหมด

ถนนบำรุงเมืองคือเส้นที่วิ่งจากบนลงล่าง ถนนเฟื่องนครคือเส้นที่วิ่งจากทางด้านซ้ายมาจรดวงเวียน
ถนนตะนาวคือเส้นที่วิ่งจากวงเวียนไปทางด้านขวาของภาพ ร้านอ๋องอิวกี่อยู่ทางมุมที่เชื่อมกับถนนตะนาว
“ความจริง ‘สี่กั๊ก’ ก็คือสี่แยก เพราะบริเวณนี้ก็คือสี่แยกนั่นเอง ส่วนคำว่า สี่กั๊ก นั้นมาจากคำว่า ‘ซี่กั๊ก’ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว พี่เคยทราบมาว่าสมัยก่อนโรงน้ำแข็งผลิตน้ำแข็งออกมาเป็นก้อนใหญ่ ๆ จำเป็นต้องใช้เลื่อยแบ่งออกเป็น 4 ก้อนย่อย โดยตัดแบ่งจากซ้ายมาขวาและจากบนลงล่าง เพื่อให้ได้น้ำแข็ง 4 ก้อนขนาดเท่ากันพอดี แต่ละก้อนก็เรียกว่า ‘กั๊ก’ เวลาไปซื้อน้ำแข็ง ลูกค้าก็จะไปซื้อกันทีละกั๊ก แล้วโรงงานก็ใช้แกลบหรือขี้เลื่อยโปะเอาไว้เพื่อกันละลาย จากนั้นจึงห่อ แล้วใช้เชือกมัดเพื่อให้หิ้วน้ำแข็งกั๊กนั้นกลับมาบ้าน พอจะกินก็ล้างแกลบออกให้สะอาด แล้วจึงค่อย ๆ ทุบน้ำแข็งออกเป็นก้อนเล็ก ๆ นำไปบรรจุไว้ในกระติกทรงกลมทำด้วยแก้วสองชั้น ปิดฝาให้แน่น”
ดังนั้น ‘สี่กั๊กเสาชิงช้า’ จึงหมายถึงพื้นที่วงกลมตรงสี่แยกบริเวณที่ถนนบำรุงเมืองตัดถนนเฟื่องนครเชื่อมต่อถนนตะนาว ซึ่งในอดีตเคยมีวงเวียนตั้งอยู่ตรงกลาง สิ่งที่น่าสนใจคืออาคารที่ตั้งอยู่รายล้อมพื้นที่วงกลมนี้สร้างขึ้นโดยผนังของอาคารยังรักษาแนวโค้งรับกับพื้นที่ แม้ว่าอาคารหลาย ๆ หลังจะสร้างขึ้นใหม่ในยุคต่อมา แต่ก็ยังคงรักษาแนวโค้งของอาคารเอาไว้เช่นเดิม ปัจจุบันนอกจากสี่กั๊กเสาชิงช้าแล้ว ยังปรากฏสี่กั๊กพระยาศรีด้วยอีกเพียง 1 แห่ง และผนังของอาคารบริเวณนั้นก็ยังคงรักษาแนวโค้งไว้เช่นเดียวกัน

“ตัวร้านปัจจุบันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2500 แทนร้านเดิม ขณะนั้นอาคารพาณิชย์หลายหลังที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ก็มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเช่นกัน” คุณบี๋เล่า
จากหนังสือ บ้านในกรุงเทพ ฯ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325-2525) โดย ผศ.ผุสดี ทิพทัส และ ผศ.มานพ พงศทัต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 เนื่องในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี บรรยายลักษณะทางสถาปัตยกรรมของชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์บริเวณย่านเมืองเก่าพอสรุปความได้ว่า
ในช่วงการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ พ.ศ. 2500 การสำรวจกลุ่มชนชั้นกลางที่อาศัยตึกแถวหรือห้องแถวเป็นที่อยู่อาศัย มักเป็นกลุ่มพ่อค้าที่มีกิจการค้าขนาดกลางและเล็ก ส่วนมากเป็นการค้าปลีก อาศัยอยู่ในชุมชนที่เคยเป็นแหล่งการค้าสำคัญของพระนครมาก่อน อาคารมักสูงเพียง 2 – 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นพื้นที่ค้าขาย ส่วนชั้นบนเป็นพื้นที่เก็บสินค้าและอยู่อาศัย

อาคารมักมีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีวิวัฒนาการมาจากห้องแถวไม้หรือห้องแถวก่ออิฐถือปูนที่สร้างขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น ห้องแถวแถบแพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์ รวมทั้งย่านการค้าสำคัญอย่างถนนบำรุงเมืองด้วย
รูปแบบสถาปัตยกรรมของห้องแถวช่วง พ.ศ. 2500 นั้น มักคำนึงถึงด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก กล่าวคือ ราคาก่อสร้างไม่สูงเกินไปนัก สร้างอาคารต่อกันไปเป็นแถวยาว เป็นอาคารเพียงไม่กี่ชั้น จึงยังไม่นับว่าเป็นอาคารสูง ส่วนมากก่ออิฐฉาบปูนเรียบ ไม่มีลวดลายประดับ และทำให้สถาปัตยกรรมในยุคนี้มีความคล้ายคลึงกัน ก่อนที่อาคารสูงจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมาประมาณช่วง พ.ศ. 2520 โดยมีสาเหตุจากราคาที่ดินพุ่งสูงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพสมราคา และเพื่อขยายพื้นที่ให้สอดรับกับขยายตัวของจำนวนประชากร รวมทั้งธุรกิจการค้าปลีกที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อย ๆ
“อาคารหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน และยังคงรักษาความโค้งเพื่อให้รับกับพื้นที่วงกลมของวงเวียนเหมือนกับอาคารในอดีต อาคารก็เป็นอาคารเรียบ ๆ แทบไม่มีลูกเล่นเลย ยกเว้นว่าเราให้ช่างทำลายมังกรประดับอยู่บนซุ้มหน้าอาคารเท่านั้น ซึ่งยังปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ เดี๋ยวพี่มีรูปเก่า ๆ มาให้ดูด้วย” คุณบี๋เล่าพร้อมนำภาพอดีตของร้านปัจจุบันมาให้ชม

ส่วนภายในอาคารนั้น ลักษณะการตกแต่งแห่งยุค พ.ศ. 2500 คือการใช้พื้นหินขัดโดยมีสีขาวเป็นสีพื้น ส่วนสียอดนิยมอื่น ๆ คือสีแดง เขียว และเหลือง ซึ่งมักเป็นสีที่พบในอาคารพาณิชย์ของคนไทยเชื้อสายจีน ทั้ง 3 สีถือเป็นสีมงคลตามคติจีน เป็นสีหลักที่มักใช้ตกแต่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เสมอ เช่น ศาลเจ้า
นอกจากนี้ยังมีการตัดขอบทองเป็นลวดลายงดงาม เพื่อใช้ตกแต่งหรือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ อย่างกรณีร้านอ๋องอิวกี่คือรูปกาและถ้วยชานั่นเอง

พื้นหินขัดเป็นวัสดุที่ใช้ในอาคารพาณิชย์อย่างแพร่หลายอยู่จนกระทั่ง พ.ศ. 2520 เมื่ออาคารเริ่มกลายเป็นอาคารสูงขึ้นและมีวัสดุใหม่ ๆ ที่บำรุงรักษาหรือซ่อมเปลี่ยนได้ง่ายกว่า เช่น กระเบื้องเข้ามาทดแทน

สภาพร้านในช่วงที่อาก๋งยังมีชีวิตเป็นอย่างไรบ้างครับ – ผมถามคุณบี๋
“ที่พี่จำได้ดีคือ ในร้านเก็บชาไว้เยอะมาก บริเวณด้านหลังของร้าน เรามีห้องแถวอีก 1 ห้องที่จัดสรรไว้สำหรับเป็นที่อบชา สมัยนู้นไม่ได้ใช้เครื่องจักรอบชานะคะ แต่เราใช้เตาถ่าน แล้วต้องใช้ถ่านที่ไม่มีควันด้วย ไม่เช่นนั้นควันไฟจะไปทำให้กลิ่นและรสของชาเปลี่ยนไป เพราะใบชาจะดูดกลิ่นควันเข้าไปผสมด้วย เตาถ่านมีลักษณะกลม ๆ เรียงกันเป็นแถวอยู่หลายเตา เป็นเหมือนรูกลม ๆ เรียงต่อ ๆ กันไป พอติดถ่านจนร้อนได้ที่ก็จะนำขี้เถ้าที่เก็บสะสมไว้มาโรยกลบถ่าน ป้องกันไม่ให้มีเปลวไฟ เพราะเราต้องการแค่ความร้อนเท่านั้น”
“เราจะวางกระจาดที่สานด้วยไม้ไผ่ลักษณะคล้ายนาฬิกาทรายอยู่เหนือหลุมถ่าน แล้วใส่ใบชาลงในนั้นก่อนปิดฝาด้านบน ความร้อนจากเตาก็จะระอุขึ้นมา คนอบชาต้องคอยพุ้ยใบชาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้รับความร้อนโดยทั่วถึง เขาจะใช้มือพุ้ยใบชาเพื่อสัมผัสความร้อนได้เต็มที่ จะได้ทราบว่าเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้วหรือยัง แล้วก็ต้องคอยเติมขี้เถ้าเพื่อควบคุมอุณภูมิไม่ให้ร้อนเกินไป หากใครไม่ชำนาญก็อาจทำให้ใบชาไหม้ได้ ในห้องอบชาเต็มไปด้วยคนงานหลายคนเลย”
กระบวนการผลิตชาคุณภาพนั้นใช้เวลาและความพิถีพิถันเป็นอย่างยิ่ง ชาเป็นเครื่องดื่มสำคัญและยังเป็นวิถีชีวิตของชาวจีนอีกด้วย

ภาพ : Wufeng-tea.com
“คนจีนดื่มชามานานนับพันปีจนเป็นเครื่องดื่มที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต แขกไปใครมาก็ต้อนรับด้วยชา จะแต่งงานกับใครก็มีพิธียกน้ำชาเพื่อฝากเนื้อฝากตัวเข้ามาเป็นลูกเขยลูกสะใภ้ ทำผิดก็ไปยกน้ำชาเพื่อขอโทษ จะยินดีกับใครก็ยกน้ำชาขึ้นคารวะ ชาเป็นเครื่องดื่มรสเข้มที่ช่วยเรียกสติให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้า ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือวิถีชีวิต”
เมื่อธุรกิจของอาก๋งสืบทอดมายังทายาทรุ่นสามอย่างคุณบี๋ เธอไม่อยากให้การบริโภคชาจำกัดอยู่เพียงคนรุ่นพ่อรุ่นแม่อีกต่อไป เธอจึงเดินหน้านำชาเข้าไปสู่ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ทดลอง และบริโภคชาชั้นดีด้วยเช่นกัน
“พี่ไปเปิดร้าน ‘อ๋องที – Ong Tea’ ในเยาฮัน เกษรพลาซ่า สยามดิสคัฟเวอรี แล้วก็ที่พารากอน ค่อย ๆ เปิดไปแต่ละที่ ไปทำร้านชาอยู่หลายสิบปี ทำประวัติชาแต่ละชนิด เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตชาสายพันธุ์ต่าง ๆ เอาแต่ชาคุณภาพดี ๆ มาแนะนำ มีคนมาลองดื่มกันเยอะมาก ผลตอบรับเป็นที่น่าดีใจ”


นอกจากนั้น เธอยังผันตัวมาเป็นนักเขียนโดยมีคอลัมน์ ระบำชา เป็นคอลัมน์ประจำในนิตยสาร พลอยแกมเพชร ที่พาผู้อ่านไปดื่มด่ำกับโลกของชาจนกลายเป็นคอลัมน์ยอดนิยม ในที่สุดสำนักพิมพ์ได้นำบทความของเธอมารวมเล่มตามคำเรียกร้อง
“หลังจากพารากอนแล้วพี่ก็เพิ่งมาหยุดไปตอนช่วงก่อนโควิด ตอนนั้นพี่อายุครบ 60 ปีแล้ว เลยตัดสินใจกลับมาขายชาเฉพาะที่ร้านอาก๋งตรงนี้เท่านั้น หากใครสนใจก็มาทดลองดื่มชาต่าง ๆ ที่ร้านเราได้ทุกวันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่ 9.00 – 17.00 น.หรือติดตามเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับชาทาง Facebook เพจ Ong Tea by Bee หรือที่เพจ Bee Ong Phasaphong นะคะ”
ชาจีนในถิ่นไทย
ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านอ๋องอิวกี่ที่เกิดและเติบโตมากับชา ผมอนุมานว่าคุณบี๋คงดื่มชาเป็นน้ำมาตั้งแต่เกิด
“ไม่เลยค่ะ (หัวเราะ) ตอนเด็ก ๆ พี่ไม่ดื่มชาเลยเพราะโรงเรียนสอนว่าเด็ก ๆ ไม่ควรดื่ม ชาเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เราเป็นเด็กดีเราก็เลยเชื่อฟังครู (หัวเราะ) แต่พอพี่ไปเรียนต่อที่ไต้หวัน อ้าว! เพื่อน ๆ ดื่มชากันทั้งนั้น ดื่มกันแทบจะแทนน้ำ ทุกคนก็ดูแข็งแรงดี พี่ก็เลยปรับทัศนคติเสียใหม่ ตั้งแต่นั้นก็กลายเป็นคนดื่มชาอย่างจริงจัง”
คุณบี๋ไม่เพียงแต่กลับตัวกลับใจมาบริโภคชาเท่านั้น เธอได้เริ่มพันธกิจใหม่ นั่นคือการเดินหน้าสืบหาคำตอบว่าชาวสยามเริ่มบริโภคชากันตั้งแต่เมื่อไหร่
“วันหนึ่งเพื่อนนำหนังสือ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม มาให้ ในบันทึกนั้นมีเรื่องราวเกี่ยวกับชาที่ชาวสยามดื่มอยู่ด้วย”
ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) เป็นหัวหน้าคณะราชทูตฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดเกล้าฯ ให้เดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับราชอาณาจักรอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลาลูแบร์ได้บันทึกเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับสยามเพื่อส่งกลับไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในรูปแบบของจดหมายเหตุชื่อว่า Du Royaume de Siam แม้ว่าลาลูแบร์จะพำนักอยู่ที่อยุธยาเพียง 3 เดือน 6 วัน แต่บันทึกของเขาฉบับนี้คือหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอยุธยา

“จากบันทึกของลาลูแบร์ จะเห็นว่าชาวสยามดื่มชากันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่อาจจำกัดอยู่เพียงภายในอยุธยาเท่านั้น ไม่ได้แพร่หลายไปยังถิ่นอื่น ชาถือว่าเป็นเครืองดื่มที่เจ้าบ้านนำมารับรองแขกตามมารยาทของผู้ดี โดยชาวอยุธยานิยมบริโภค 3 ชนิด ได้แก่ ‘ฉ่าบ๋วย’ สีออกแดง กล่าวกันว่าทำให้อ้วนและท้องผูก ทั้งยังเป็นยาคุมด้วย ‘ชาซอมลู’ มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ส่วนชาตัวที่ 3 ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ไม่มีคุณสมบัติทั้งระบายหรือคุมอะไรทั้งสิ้น ทั้งหมดเป็นชาที่นำเข้ามาจากเมืองจีน”
เมื่อได้คำตอบที่พอจะยืนยันได้ว่าคนไทยดื่มชากันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว คุณบี๋ยังคงพยายามสืบหาต่อไปว่าชาที่ลาลูแบร์กล่าวถึงนั้นคืออะไร และยังมีหลงเหลืออยู่จนทุกวันนี้หรือไม่

“ชาตัวแรกที่พี่สนใจคือชาที่ในบันทึกฉบับแปลเป็นภาษาไทยระบุว่าชื่อ ฉ่าบ๋วย ตอนแรกเราก็สันนิษฐานว่าอาจทำจากบ๊วยก็ได้นะ (หัวเราะ) ทีนี้ถ้าไปดูต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสจะพบว่าลาลูแบร์สะกดว่า ‘Tcha-boüi’ บนตัว U มีจุดอยู่ 2 จุดแบบอักซ็องต์ (Accent) ในภาษาฝรั่งเศส พี่เลยเอาตัวสะกด Tcha-boüi ไปให้เพื่อนที่ใช้ฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ช่วยอ่าน เขาอ่านออกเสียงว่า ‘ชา-บู๋-อี๋’ ซึ่งคือชื่อภูเขาอู่อี๋ซานในมณฑลฮกเกี้ยน แสดงว่าคนสยามดื่มชาจากถิ่นเดียวกับบ้านเกิดของอาก๋งมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พี่นี่กรี๊ดเลย ฉันก็ฉ่าบ๋วย บ๋วย บ๋วย มาเป็นสิบ ๆ ปี คราวนี้ฉันรู้แล้ว ๆ” คุณบี๋หัวเราะอย่างมีความสุข
“ชาอีกตัวที่บันทึกฉบับแปลระบุชื่อว่า ชาซอมลู ลาลูแบร์สะกดชื่อชาตัวนี้ว่า ‘Somloo’ พี่ก็ไปหาข้อมูลจนพบเรื่องราวเกี่ยวกับเรือโกเธนเบิร์ก (Gothenburg) ซึ่งเป็นสำเภาเดินสมุทรของบริษัท Swedish East India ที่ออกเดินทางจากกวางโจวกลับไปเมืองโกเธนเบิร์กที่สวีเดนในปี 1745 บรรทุกใบชา เครื่องเคลือบ เครื่องเงิน และผ้าไหมกว่า 700 ตัน ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุทำให้เรืออับปางลง
“อีก 239 ปีต่อมา มีการดำน้ำลงไปสำรวจเรือลำนี้ พบถ้ำดีบุกบรรจุชาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเอกสารปิดผนึกไว้อย่างมิดชิด เอกสารนั้นระบุว่ามีชาชนิดหนึ่งชื่อ ‘ชาซ่งหลัว’ ซึ่ง Somloo ที่ลาลูแบร์สะกดนั้น คนฝรั่งเศสอ่านว่า ‘ซง-โล’ ใกล้เคียงกับชาซ่งหลัวที่พบบนเรือโกเธนเบิร์กมาก ๆ พี่ก็ไปสืบค้นต่อจนได้ความว่า เป็นชาเขียวชั้นดีที่ได้รับความนิยมมากช่วงราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน ก่อนเสื่อมความนิยมไปเมื่อเกิดการปฏิวัติ”

จากสมัยอยุธยา คุณบี๋ก็ยังคงสนุกที่จะสืบค้นเพื่อเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ
“มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องของชาจีนในไทยเยอะมาก สมัยรัชกาลที่ 1 มีบันทึกสินค้าจากจีนว่าในช่วงปี 1800 – 1850 จีนส่งสินค้ามาสยามหลายรายการ รวมถึงกาน้ำชาจำนวน 30,000 ชิ้น นวมกาน้ำชาจำนวนไม่น้อย รวมทั้งชาดำคุณภาพดีอีกมาก รัชกาลที่ 2 ก็ทรงพระราชนิพนธ์ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ระบุถึงเดือน 3 สำเภามาพร้อมชาจุหลัน
“สังฆราชปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) สังฆนายกคณะมิสซังโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศส เข้ามาถึงเมืองบางกอกในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่านได้บรรยายเรื่องเครื่องดื่มของคนสยามไว้ว่า ‘เครื่องดื่มทั่วไป รองจากน้ำเย็นบริสุทธิ์คือน้ำชา เพราะคนจีนนำเข้ามาทุกปี ปีละมาก ๆ’ และยังบันทึกอีกว่า ‘คนสยามไม่นิยมใส่น้ำตาลในน้ำชาเพราะน้ำชาที่ปราศจากน้ำตาลนั้นย่อมบรรเทากระหายได้ดีกว่า’ รัชกาลที่ 5 เองก็ทรงสะสมปั้นชาเป็นที่เพลินพระราชหฤทัยเมื่อทรงว่างจากพระราชกรณียกิจ”
ประวัติศาสตร์เรื่องชาบนผืนแผ่นดินไทยนั้นมีบันทึกไว้มากมายทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พบได้ในวัดวาอารามสำคัญทั่วไป และยังรอให้เราสืบค้นต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

จากประวัติของชาตั้งแต่อดีตที่คุณบี๋ถ่ายทอดให้ฟัง และแล้วก็มาถึงคำถามสำคัญที่ผมอยากรู้ว่าคุณบี๋รู้สึกอย่างไรกับชายอดนิยมอย่าง ชานมไข่มุก ที่หนุ่มสาวยุคปัจจุบันดื่มและดูดกันอย่างแพร่หลาย คุณบี๋เองเคยลองชาสุดฮิตประเภทนี้บ้างหรือไม่
“ดื่มค่ะ อร่อยมาก (หัวเราะ) ดูดหมดเลย เกลี้ยงเลย อร่อยมาก (หัวเราะ)” เวลาเธอเอ่ยคำว่ามาก ผมขอให้คุณผู้อ่านช่วยเติม ก ไก่ ไปอีกล้านตัวเพื่อให้ได้อรรถรสนะครับ
“แต่พี่กินปีละแก้วนะคะ (หัวเราะ) ความจริงชาไข่มุกก็นำเบสของชาอู่หลงเนี่ยแหละมาทำ แล้วก็เพิ่มนม เพิ่มครีม เพิ่มความหวานมันลงไป ที่กินปีละครั้งก็ไม่ใช่ว่าพี่ต่อต้านชาชนิดนี้นะคะ ชานมไข่มุกอร่อยมากอย่างที่บอกจริง ๆ แต่คนวัยพี่เคลื่อนไหวน้อยลงกว่าหนุ่ม ๆ สาว ๆ มาก กินทีนึงพลังงานทั้งหมดคงจะอยู่ในตัวพี่ไปอีกเป็นเดือน ๆ (หัวเราะ)”
หลังจบประโยคนี้ ผมก็หยิกพุงน้อย ๆ ของตัวเอง พร้อมกับนึกถึงชานมไข่มุกที่เพิ่งทานไปเมื่อวานนี้
ชิมชา
เราคุยกันมานานจนคอเริ่มแห้ง คุณบี๋เลยชวนผมลองชิมชาชนิดต่าง ๆ แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ผมอยากให้เธอพาชมของเก่าอันเป็นสมบัติดั้งเดิมที่ยังรักษาไว้จากรุ่นอาก๋งมาจนวันนี้
“ถ้ำชา คือภาชนะหรือสถานที่เก็บรักษาคุณภาพใบชา ถ้ำชานี้อยู่บนผนังกำแพงร้านและเป็นของดั้งเดิมที่อยู่คู่ร้านมาตั้งแต่แรก สมัยก่อนเวลาอาก๋งขนชากลับมาจากเมืองจีน ชาจะอยู่ในลังไม้ที่ตีบิดด้วยไม้ไผ่สานละเอียด พอมาถึงกรุงเทพฯ ก็จะนำใบชามาตรวจสอบคุณภาพเสียก่อน ใบชาอาจนิ่มลงเพราะได้รับความชื้นระหว่างรอนแรมมาในทะเล ดังนั้นเลยต้องมีกระบวนการอบชาที่หลังร้าน พออบเสร็จก็จะนำชามาแบ่งออกเป็นกองย่อย ๆ แล้วห่อด้วยกระดาษ 2 ชั้น เป็นกระดาษแบบพิเศษเพื่อรักษากลิ่นและรส แล้วนำห่อชาเล็ก ๆ 10 ห่อ มาห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาลอีกครั้ง ก่อนนำไปเก็บรักษาในถ้ำชา ถ้ำชาทำจากแร่ธาตุอย่างดีบุกหรือเงิน เพราะเชื่อว่าช่วยรักษาคุณภาพดีที่สุด”

ในยุคหลัง ใบชาที่เก็บมาจะบรรจุอยู่ในกระป๋องเหล็ก ทำให้ถ้ำชาลดความสำคัญลงไป แต่ในบางกรณีที่ใบชาบางชนิดยังบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษ ทางร้านก็ยังนำกล่องกระดาษเข้าถ้ำชาเพื่อเก็บรักษาคุณภาพไว้เช่นเดิม

ผมไล่อ่านข้อความที่ปรากฏอยู่บนถ้ำชาไปเรื่อย ๆ มี ชาตราทับทิม ตราผีเสื้อ ตราส้มมือ ตรานกคู่ ตราเหรียญทอง จนสายตามาหยุดลงที่ ตราลูกระเบิด อะไรคือชาชนิดนี้ครับเนี่ย!
“เมื่อก่อนชาแต่ละประเภทที่เรียกว่า ‘ตรา’ เนี่ยน่ะค่ะ จะเป็นการนำใบชาคุณภาพหลากหลายประเภทมาผสมผสานกันให้เกิดกลิ่นและรสอันเป็นเอกลักษณ์ของทางร้าน เราเรียกว่าเป็นเบลนด์ (Blend) ซึ่งเป็นเหมือนสูตรลับของใครของมัน ชา 1 ตราอาจมีชาอู่หลงสายพันธุ์นี้ผสมสายพันธุ์นั้น จำนวนเท่านี้เท่านั้นต่าง ๆ กันไป ลูกค้าไม่รู้หรอกว่าชาตรานั้นตรานี้มาจากชาอะไรบ้าง”

“อย่างชาตราลูกระเบิดเป็นชาที่ผลิตขึ้นตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วก็เป็นเบลนด์พิเศษเบลนด์หนึ่งของทางร้าน คือของก็ต้องขาย ระเบิดมาก็ต้องวิ่งหนี โอย ชีวิตทุลักทุเล (หัวเราะ) อาก๋งเลยตั้งชื่อชาที่ผลิตขึ้นมาช่วงนั้นว่า ชาตราลูกระเบิดเสียเลย (หัวเราะ)”
ปัจจุบันนี้ชาตราระเบิดไม่มีจำหน่ายแล้ว แต่ชาตราทับทิม ตราผีเสื้อ หรือตราปั้น ฯลฯ ยังมีอยู่นะครับ
จากนั้นคุณบี๋นำภาชนะโบราณสีเทาออกมาวางให้ดู เป็นเหมือนกระป๋องทรงสูงสำหรับใส่ชา
“อันนี้ก็เป็นถ้ำชาเหมือนกัน แต่เป็นภาชนะแบบกระป๋องที่ทำหน้าที่เหมือน Tester สำหรับเก็บชาตัวอย่างและพร้อมชงให้ลูกค้าลองชิมก่อนตัดสินใจซื้อ ถ้ำชาแต่ละกระป๋องก็จะเก็บชาแต่ละตราเอาไว้ เวลาลูกค้าอยากชิมชาตราไหน ๆ ก็ตาม เราหยิบชาออกมามาชงให้ลูกค้าลอง พอลูกค้าชอบใจ จะสั่งกี่กล่องกี่ลังก็ว่ามาเลย บนถ้ำชาแบบกระป๋องจะมีหมายเลขระบุไว้ ซึ่งต้องตรวจสอบให้ตรงกันกับที่จะจำหน่ายด้วย”

และแล้วก็มาถึงช่วงเวลาสำคัญที่วันนี้ผมจะได้ทดลองชาร้านอ๋องอิวกี่เสียที ทางร้านยังรักษาวิธีการชงชาไว้ครบถ้วนตามตำรับแบบโบราณ
“เราต้องเริ่มด้วยการใช้น้ำร้อนลวกภาชนะที่จะนำมาใช้ชงชาทั้งหมดเสียก่อน จากนั้นจึงใส่ใบชาลงไปในถ้วยชา เติมน้ำร้อนอีกครั้งเพื่อล้างใบชาให้สะอาด แล้วก็เทน้ำทิ้ง จากนั้นเราค่อยเติมน้ำร้อนลงไปบนใบชาที่ล้างสะอาดแล้ว แช่ชาทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 วินาที รินเฉพาะน้ำชาออกมาแล้วจึงดื่ม ก่อนที่จะทิ้งชานั้น เติมน้ำร้อนกลับลงไปบนใบชาเดิมเพื่อดื่มต่อได้อีก 4 – 5 เที่ยวนะคะ”

สำหรับชาที่ผมเลือกดื่มในวันนี้ได้แก่ ชาตราปั้น ซึ่งเป็นชาสูตรดั้งเดิมของร้านอ๋องอิวกี่ และเป็นชามหาชนที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมายาวนาน
“ชาตราปั้นเป็นชาที่อาก๋งทำให้ดื่มง่าย ๆ ราคาไม่แพง ร้านอาหารจีนทั่วไปก็นำไปใช้ชงใส่น้ำแข็งให้แขกดื่มแก้กระหาย เรียกว่าเป็นชามหาชนที่ใคร ๆ ก็ดื่มได้”

ชาตัวที่ 2 ผมขอคุณบี๋ลองชาจูหลัน ตามที่เคยอ่านมาจากบทพระราชนิพนธ์ กาพเห่ชมเครื่องคาวหวาน ในรัชกาลที่ 2
“ชาจูหลันนั้นความจริงออกเสียงว่า ‘จื่อหลาน’ เป็นชาแต้จิ๋วคุณภาพสูง มาจากภูเขาเฟิ่งหวง (Fenghuang) ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีสายพันธุ์ชาคุณภาพชื่อว่า ‘ชาตานฉง (Dan Cong)’ ชาจื่อหลานจะให้กลิ่นหอมนุ่มนวลแบบผู้ดี หอมติดลำคอไปนาน”

ชาตัวสุดท้ายที่ผมอยากลอง ก็คือชาที่คุณบี๋คาดว่าเป็น ฉาบ๋วย (Tcha-boüi) ตามที่ลาลูแบร์บันทึกไว้
“เทือกเขาอู่อี๋ซานมีชาหลายสายพันธุ์ ยากที่จะประเมินได้ว่าตัวไหนเป็นตัวที่ลาลูแบร์กล่าวถึง เพราะลาลูแบร์เรียกรวม ๆ ไปเลยว่าชาบู๋อี๋โดยไม่ระบุสายพันธุ์ ดังนั้น วันนี้พี่เลยชวนดื่ม ‘ชาต้าหงเผา’ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ดีที่สุดของเทือกเขาอู่อี๋ซานละกัน”
ชาต้าหงผามีกรรมวิธีในการชงที่แตกต่างจากชา 2 ตัวแรก เพราะต้องชงในปั้นชาที่ทำจากดินเผา
“ปั้นชา คือภาชนะชงชาที่ทำจากดินเผา มีหลายขนาด ขนาดเล็กมีความจุประมาณ 50 – 60 cc ขนาดใหญ่ขึ้นมาก็ประมาณ 200 – 300 cc แล้วแต่ว่าเราจะชงชาอะไร มากน้อยแค่ไหน ปั้นชาที่ดีจะทำจากดินเผาของเมืองอี๋ชิงซึ่งในเนื้อดินมีแร่เหล็กผสมอยู่ 2 – 9 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้รักษาความระอุเอาไว้ได้ เวลาชงชาต้าหงเผา เราจะใส่น้ำเดือดลงไปในปั้นชาแล้วเทน้ำออก นำใบชาต้าหงเผาใส่ลงไปในนั้น ปิดฝาไว้แล้วรอสักพัก ความระอุในปั้นจะขับน้ำมันชาให้ระเหยออกมาจากใบ จากนั้นจึงเทน้ำร้อนลงไป ระหว่างนั้นก็เทน้ำร้อนราดลงไปบนปั้นชาที่บรรจุใบชาต้าหงผา รอให้น้ำร้อนบนปั้นชาระเหยจนแห้งแล้วจึงค่อยรินชาออกดื่ม”

ชงในปั้นชาที่ทำด้วยดินจากเมืองอี๋ชิง
วันนี้ผมเพิ่งมีโอกาสรับรู้กลิ่นและรสที่แตกต่างกันของชาแต่ละตัว ชาตราปั้นดื่มง่ายสบายลิ้น ชาจื่อหลานหอมละมุนแบบผู้ดีอย่างที่คุณบี๋ว่า ส่วนชาต้าหงเผานั้น หอมเข้ม หอมลึก เร้าอารมณ์รื่นเริง
อาจจกล่าวได้ว่า วันนี้คือวันแรกที่ผมดื่มชาได้อร่อยที่สุดในชีวิต ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับผมเป็นอย่างมาก และผมก็คิดว่าผมจะหาโอกาสกลับมาลองชาที่ร้านอ๋องอิวกี่อีกอย่างแน่นอน
ผมรู้สึกขอบคุณคุณบี๋ที่ยังคงรักษาธุรกิจของบรรพบุรุษไว้ด้วยความภาคภูมิใจ ศึกษาด้วยตนเองอย่างจริงจัง เพราะเล็งเห็นคุณค่าของทุกเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชาในทุกมิติ รวมไปถึงประวัติศาสตร์ของย่านสี่กั๊กเสาชิงช้า ถนนบำรุงเมือง รวมทั้งสถาปัตยกรรมของอาคารที่อยู่ในยุคเดียวกัน
“พี่คิดว่าชาเป็นเครื่องดื่มที่กลิ่นและรสช่วยกระตุ้นโสตประสาทให้เกิดสุนทรียภาพ เป็นความรู้สึกที่พี่ขอเรียกว่า ‘ชื่นชูจิตใจ’ ทุกครั้งที่ดื่ม เราจะรู้สึกซาบซึ้งกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการผลิตชาทั้งหมด ไม่ว่าเกษตรกรที่เพาะปลูกอยู่บนเขาสูง คนเก็บใบชา คนที่นำชามาอบมานวดเพื่อดึงกลิ่นและรสออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ต้องใช้ความอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง”

และแล้วก็มาถึงคำถามสุดท้ายของผมในวันนี้ว่า ชาที่คุณบี๋คิดว่าดีที่สุดคือชาอะไร
“ชาที่ดีที่สุดขึ้นอยู่ว่าดื่มกับใคร ชาที่ดื่มกับเพื่อนแท้เพื่อนสนิท ดื่มไปคุยไป ก่อให้เกิดมิตรภาพที่งดงาม ต่อให้ชาไม่อร่อย แต่ดื่มกับเพื่อนดี ๆ ก็ยังอร่อยเลย จริงไหมคะ”
เราจบการสนทนาในตอนบ่ายของวันนั้นหลังจากที่ผมกวนเวลาของเธอไปนานหลายชั่วโมง คุณบี๋ยกถ้วยชาขึ้นชวนผมดื่มอีกครั้งก่อนกล่าวอำลา มิตรภาพอันงดงามและความรู้ที่ผมได้รับจากคุณบี๋ในวันนี้ ผมขอแบ่งปันให้ผู้อ่านบทความนี้ทุกคนด้วยครับ
หมดจอก… คารวะ
สำหรับผู้ที่สนใจชิมชาที่ร้านอ๋องอิวกี่
ร้านเปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00 – 17.00 น.
โทรติดต่อเพื่อนัดหมายที่ โทรศัพท์ 02 222 1748
การเดินทางที่สะดวกสุดคือใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงที่สถานีสามยอด แล้วเดินเพลิน ๆ มาที่สี่กั๊กเสาชิงช้า (แผนที่)
ขอขอบพระคุณ
- คุณบี๋-นพพร ภาสะพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านชาอ๋องอิวกี่ ผู้ให้สัมภาษณ์
- คุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับร้านชาอ๋องอิวกี่ใน Facebook ซึ่งจุดประกายให้ผู้เขียนอยากทำบความเกี่ยวกับร้านนี้
- ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้แนะนำแหล่งข้อมูลอันเกี่ยวเนื่องกับสถาปัตยกรรมอาคารพาณิชย์ในย่านเก่าที่ปลูกสร้างขึ้นช่วง พ.ศ. 2500 (แหล่งข้อมูลปรากฏอยู่ในเอกสารอ้างอิง)
ข้อมูลอ้างอิง
- บ้านในกรุงเทพ ฯ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325-2525) โดย ผศ.ผุสดี ทิพทัส และ ผศ.มานพ พงศทัต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี (ปัจจุบัน คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ผุสดี ทิพทัส ราชบัณฑิต ประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา และรองศาสตราจารย์ มานพ พงศทัต ศาสตราภิชาน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
- จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม เขียนโดย ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) เป็นบันทึกต้นฉบับชื่อ Du Royaume de Siam ฉบับภาษาไทยแปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร