The Cloud x สถาบันศิลปะอิสลามแห่งประเทศไทย
ท่านที่หลงใหลการเดินชมตึกสวยๆ ในย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนมุสลิม คงเคยได้ยินเรื่องราวของตราสัญลักษณ์ของตุรกีที่ประดับบนอาคารของมัสยิดต้นสนและมัสยิดบางอ้อ บทความนี้จะขอเชิญชวนท่านไปทำความรู้จักกับที่มาและความหมายของดวงตราดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น
อาณาจักรออตโตมันหรือสาธารณรัฐตุรกีในปัจจุบัน เคยเป็นจักรวรรดิอิสลามที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ถึง 6 ศตวรรษ พ.ศ. 2060 สุลต่านเซลิมที่ 1 มีชัยเหนือราชวงศ์มัมลู๊กและผนวกดินแดนอาหรับ อันหมายรวมถึงสถานที่สำคัญคือกรุงมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ไว้ในอาณัติ
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ออตโตมันก็กลายเป็นศูนย์กลางของโลกอิสลาม สุลต่านแห่งออตโตมันก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของประชาชาติมุสลิม ความยิ่งใหญ่ของชาวเติร์กนี้เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก มุสลิมในประเทศไทยก็ได้รับรู้ถึงความมีอยู่ของออตโตมันจากการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์หรือจากการติดต่อกับชาวต่างชาติ แต่อาณาจักรอิสลามแห่งนี้ก็ยังเป็นที่รู้จักในหมู่ชนบางกลุ่มเท่านั้น
จนกระทั่ง พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสด็จเยือนกรุงคอนสแตนติโนเปิลเพื่อเจริญสัมพันธ์กับอาณาจักรออตโตมัน และถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แด่สุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2385 – 2461) การเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนั้นทำให้อาณาจักรออตโตมันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมุสลิมมากขึ้น เมื่อมุสลิมได้รับรู้ถึงสถานภาพและความสำคัญของออตโตมัน จึงนำสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรดังกล่าวมาประดับมัสยิดและอาคารต่างๆ ในชุมชน เพื่อเชื่อมโยงตนเองเข้ากับศูนย์กลางของโลกอิสลาม และแสดงความเคารพต่อสุลต่านในฐานะผู้นำของมุสลิมทั่วโลก หลายท่านยังเล่าว่าสมัยก่อนตามบ้านต่างๆ ก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ของสุลต่านประดับอยู่ด้วย

ภาพ : ไพศาล หรูพาณิชย์กิจ
ตราของอาณาจักรออตโตมันออกแบบโดยเซอร์ชาร์ลส์ (Sir Charles) ชาวอังกฤษ โดยนำแรงบันดาลใจมาจากตราของมหาอำนาจในยุโรปในยุคนั้น ตรานี้ถูกปรับปรุงเรื่อยมาจนกระทั่งได้รูปแบบสุดท้ายในสมัยของสุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 และใช้เป็นตราของอาณาจักรอย่างเป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2424 จนถึงช่วงสิ้นสุดของอาณาจักร องค์ประกอบภายในตราล้วนแสดงถึงแสนยานุภาพของออตโตมัน ไม่ว่าจะเป็นรูปพระราชลัญจกรเปล่งรัศมี ธง อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯลฯ ส่วนหนึ่งของตรายังมีคอร์นูโคเปีย (Cornucopia) สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ในคติของชาวตะวันตก ที่นำมาใช้สื่อถึงความมั่งคั่งของอาณาจักรออตโตมันอีกด้วย

ภาพ : Pinterest
จากการสอบถามผู้คนในชุมชนพบว่า มัสยิดหลายแห่งในกรุงเทพฯ เคยมีตราของอาณาจักรออตโตมันประดับอยู่ แต่ปัจจุบันมีมัสยิดเพียง 2 แห่งที่ยังมีตรานี้หลงเหลือให้เห็นคือมัสยิดต้นสนและมัสยิดบางอุทิศ ตราประจำอาณาจักรออตโตมันที่พบที่มัสยิดต้นสน เป็นแผ่นไม้ประดับอยู่ที่เหนือประตูทางเข้าของอาคารหลังเดิม ด้านล่างของลายระบุปีที่ทำแผ่นไม้เป็นตัวเลขอาหรับคือฮิจเราะฮ์ศักราชและตัวเลขไทยคือปีรัตนโกสินทรศก ปัจจุบันแผ่นไม้นี้เก็บรักษาไว้ที่สำนักงานของมัสยิดต้นสน
ส่วนตราประจำอาณาจักรออตโตมันที่มัสยิดบางอุทิศ เป็นลายปูนปั้นตกแต่งอยู่เหนือประตูทางเข้าของอาคาร รายละเอียดของลายดูใกล้เคียงกับต้นแบบของตุรกีเป็นอย่างมาก ปัจจุบันได้รับการบูรณะและทาสีใหม่อย่างงดงาม



เงาของสุลต่านตุรกีที่พบในประเทศไทยอันดับต่อมา คือตราพระราชลัญจกรที่เรียกว่า ‘ทูรา’ คำว่า ทูรา มีรากมาจากคำว่า ‘ทุกรัก’ (Tugrag) เป็นภาษาตุรกีเก่าแก่หมายถึงดวงตราของกษัตริย์ เข้าใจว่าทูราปรากฏใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1867 ในรัชสมัยสุลต่านออร์ฮาน สำหรับใช้ลงตรารับรองในพระราชโองการและเอกสารราชการต่างๆ ทูราจึงต้องออกแบบให้มีความสลับซับซ้อนเพื่อป้องกันการปลอมแปลง บางครั้งตรานี้ก็ตกแต่งด้วยลายดอกไม้อย่างวิจิตรเพื่อนำไปใช้เป็นลายประดับ
ทูราของสุลต่านแต่ละพระองค์แตกต่างกัน แต่มีองค์ประกอบพื้นฐานเหมือนกัน องค์ประกอบของทูรามี 5 ส่วน เริ่มจากส่วนแรกซึ่งเป็นหัวใจของตราคือ ‘แซแร’ เขียนเป็นพระนามของสุลต่านและพระนามของพระราชบิดา หางของแซแรจะเขียนตวัดไปทางซ้ายเป็นเส้นโค้ง 2 เส้นเรียกว่า ‘เบย์แซ’ เส้นทั้งสองจะวาดยาวต่อมาทางขวาเรียกว่า ‘โคล’ จากนั้นช่างจะวาด ‘ทู’ หรือตัวอาลิฟ (อักษรตัวแรกของภาษาอาหรับ) 3 ตัวต่อขึ้นไปด้านบนเพื่อเสริมความสง่า จบด้วยการวาดเส้นโค้งที่เรียกว่า ‘ซุลแฟ’ เชื่อมทูกับแซแรเข้าด้วยกันทำให้ตราดูนุ่มนวลขึ้น ถือเป็นอันเสร็จสมบูรณ์

ภาพ : Sinan Ceco (แปลโดย วสมน สาณะเสน)

ภาพ : lacma.org

พระราชลัญจกรของสุลต่านออตโตมันในประเทศไทย พบเป็นลายประดับอยู่ที่หน้าจั่วของอาคารเจริญวิทยาคาร และที่หน้าจั่วของอาคารไม้ 2 หลังที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณมัสยิดบางอ้อ อาคารทั้งสามเป็นเรือนไม้แบบขนมปังขิง กล่าวกันว่าสร้างขึ้นในช่วงไล่เลี่ยกัน ทูราที่หน้าจั่วของอาคารทั้งสามหลังมีลีลาของเส้นสายคล้ายคลึงกัน และต่างก็มีองค์ประกอบของทูราครบ 5 ส่วน
ที่ตราเขียนเป็นคำว่า ‘อับดุลเมจิด’ ทูราที่ประดับบนอาคารเจริญวิทยาคารที่มีรัศมีด้านหลัง ก็ชวนให้นึกถึงทูราที่อยู่บนส่วนยอดของตราประจำอาณาจักรออตโตมัน คาดว่าทูราเหล่านี้เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นที่แกะลายโดยดูแบบจากภาพหรือสิ่งของต่างๆ ที่มีเครื่องหมายทูราที่นำเข้ามาในประเทศไทย
ด้านล่างของทูรายังมีรูปจันทร์เสี้ยวฉลุเป็นลายก้านขดคล้ายเลียนแบบลายฉลุแบบขนมปังขิง เพื่อให้สัญลักษณ์จากแดนไกลนี้ดูสอดรับกับลายฉลุที่ตกแต่งตัวอาคาร ตรงกลางดวงจันทร์ยังมีตัวเลขอาหรับเป็นปีฮิจเราะฮ์ศักราช เข้าใจว่าเป็นที่สร้างอาคาร อย่างไรก็ตาม ที่มาและความหมายของชื่ออับดุลเมจิดและตัวเลขอาหรับที่ปรากฏในทูราที่พบในอาคารบริเวณมัสยิดบางอ้อนี้ยังคงเป็นปริศนา ควรได้รับการศึกษาเพื่อไขข้อเท็จจริงอันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการสืบไป



นอกจากนี้ ยังมีลวดลายเลียนแบบทูราอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ พบที่ยอดของมิมบัร (ธรรมาสน์) ของมัสยิดอะห์มะดียะฮ์ ปากกราน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลวดลายดังกล่าวมีรูปทรงเช่นเดียวกับทูราแต่เขียนเป็นชื่อของนบีมุฮัมมัด ภายในกรอบรูปจันทร์เสี้ยวที่ด้านล่างเขียนเป็นข้อความเชื่อของมุสลิมว่า ‘ลาอิลาอิลลอลอฮ์’ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์) จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าคำว่ามุฮัมมัดในทูราด้านบนเป็นคำย่อของ ‘มุฮัมมัดดูรรอซูลลอลอฮ์’ (มุฮัมมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮ์) และเมื่อรวมกับข้อความด้านล่าง ทูราและจันทร์เสี้ยวนี้ก็คือคำปฏิญาณตนในการเข้ารับอิสลามนั่นเอง

ตราของอาณาจักรออตโตมันและพระราชลัญจกรของสุลต่านถูกนำไปใช้ตกแต่งของหลวงทุกประเภท ตั้งแต่หัวแหวนขนาดเล็กไปจนถึงประตูเมืองขนาดมหึมา เมื่อออตโตมันแผ่อำนาจไปยังที่ใด ตราทั้งสองนี้ก็ติดไปด้วย เปรียบเสมือนเป็นการ ‘สร้างแบรนด์’ ของอาณาจักร
ในทางกลับกัน ผู้ที่เดินทางมาแสวงบุญที่กรุงมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ ก็ได้พบเห็นตราเหล่านี้จากอาคารและของที่ระลึกต่างๆ จนกลายเป็นภาพจำ จากการศึกษาพบว่าตราประจำอาณาจักรออตโตมันและทูราเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในเอเชียอาคเนย์ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ในมาเลเซียและอินโดนีเซียก็พบลวดลายที่ดัดแปลงจากตราเหล่านี้
นักวิชาการคาดว่ามุสลิมในประเทศไทยรับตราประจำอาณาจักรออตโตมันและทูรามาจากมาเลเซียหรืออินโดนีเซียอีกทอดหนึ่ง หรือรับมาโดยตรงจากผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ และนำตราทั้งสองนี้มาประดับมัสยิดและอาคารในชุมชน เพื่อเชื่อมโยงตนเองเข้ากับอาณาจักรออตโตมันที่เป็นศูนย์กลางของโลกอิสลามในขณะนั้น การที่ชาวไทยมุสลิมนำเครื่องหมายเหล่านี้มาใช้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในสมัยก่อน ประเทศไทยยังไม่เคยมีสัญลักษณ์ใดที่สื่อถึงมุสลิมอย่างชัดเจน ตราของอาณาจักรออตโตมันที่ดูยิ่งใหญ่และสวยงามจึงอาจกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงศาสนาอิสลามได้ดีที่สุดในทัศนะของมุสลิมในยุคนั้น




ภาพ : IRCICA

ภาพ : Mohd. Taib Osman
เงาของสุลต่านตุรกีปรากฏในอาคารของชาวไทยมุสลิมเรื่อยมาจนถึงช่วงที่อาณาจักรออตโตมันถึงกาลล่มสลายใน พ.ศ. 2465 หลังจากนั้นการนำตราของอาณาจักรดังกล่าวมาตกแต่งอาคารก็เสื่อมความนิยมลง แต่เครื่องหมายรูปจันทร์เสี้ยวและดวงดาวที่เป็นส่วนหนึ่งของตราประจำอาณาจักรของชาวเติร์ก ยังคงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงศาสนาอิสลามและมุสลิมอย่างแพร่หลายตราบจนทุกวันนี้
ข้อมูลอ้างอิง
โชคชัย วงษ์ตานี. อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. สัมภาษณ์, พฤษภาคม 2563.
อิดริส-ซัลมา รักษมณี. แผ่นป้ายข้อมูลที่มัสยิดบางอุทิศ. จัดทำเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2549.
M. Uğur Derman. “Tuğra.” TDVİA, No. 41, p. 336-339., 2012.
Selman Can. “Birth of the Ottoman Coat of Arms.”, Proceedings of the 16th Symposium of Medival-Turkish Era Excavations and Art History Researches 18-20th October 2012, p. 173-179.