OTOP ครั้งสุดท้ายของปีจะมีขึ้นกลางเดือนธันวาคมนี้ที่ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่เดิม มีอะไรบ้างไม่ต้องพูดถึง เอาเป็นว่าถ้าเดินดูทุกภาค ทุกร้าน แข้งขาจะร้องทุกข์อยากหาที่นั่ง คนเดินงานนี้ตาดีได้ (ของ) ตาร้ายเสีย (เสียที่หาของที่อยากได้ไม่เจอ) 

ถ้าใครคิดว่าสินค้า OTOP มีแต่สินค้าเชยล้าสมัย คนแก่ๆ วัยเกษียนว่างงานไปเดินฆ่าเวลา ไม่ใช่เลย ในความเชยก็มีความทันสมัยอยู่ในตัวของมันเอง ตัวอย่างผ้าซิ่นตีนจกทอมือคู่กับเสื้อผ้าลูกไม้บนหุ่นโชว์ในร้านงาน OTOP ดูเชยโบร่ำโบราณ เหมาะสำหรับวัยคุณนาย คุณน้า ก็ไม่ใช่เสมอไป ถ้าสาวๆ วัยกระโดกกระเดกใส่ไปในงานแต่งงานหรูๆ หรืองานพิธีรีตอง จะดูสวย น่ารัก เรียบร้อย ขึ้นมาทันตา แถมเป็นคนทันสมัยที่เลือกแต่งกายได้เหมาะสมกับสถานการณ์

งานศิลปหัตถกรรมจากฝีมือชาวบ้านแท้ๆ มีความทันสมัยถึงขั้นเหลือเชื่อ อย่างเครื่องจักสานฝีมือชาวกะเหรี่ยงที่บ้านเลโคะ อำเภอสบเมย แม่ฮ่องสอน หมู่บ้านลี้ลับ คนในไม่อยากออก คนนอกไม่อยากเข้า ปีหนึ่งทำไม่มาก มาขาย OTOP ไม่ตอนกลางปีก็สิ้นปี งานยังไม่ทันจบก็ขายหมดเกลี้ยงแล้ว ที่ขายดีเพราะฝีมือและการออกแบบเด็ดขาดมาก ใช้งานก็ดี ตั้งโชว์ก็สวย

อีกที่หนึ่งเป็นเครื่องจักสานจากใบเตยปาหนัน ฝีมือแม่บ้านมุสลิมจากตรัง งามไม่มีที่ติ เคยซื้อซองใส่แว่นตา กระเป๋าใส่สตางค์ไปฝากฝรั่ง คนรับปลื้มเอาไปอวดคนอื่นๆ ใครๆ ก็อยากได้ ยิ่งรู้ว่าเป็นฝีมือแม่บ้าน ชาวทะเล แต่ละชิ้นไม่เหมือนกันยิ่งเป็นที่ต้องการ นี่เป็นตัวอย่างที่ลบล้างคำว่าเชย

กินจนจุกช้อปกระจายที่ OTOP งานรวมงานฝีมือและของกินอร่อยประจำตำบลทั่วประเทศในงานเดียว
กินจนจุกช้อปกระจายที่ OTOP งานรวมงานฝีมือและของกินอร่อยประจำตำบลทั่วประเทศในงานเดียว

งาน OTOP มีส่วนที่สำคัญ คนเยอะแยะจะดิ่งตรงไปเป็นส่วนอาหารการกิน ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากภาค จากจังหวัดต่างๆ ที่ถูกใจคนเยอะแยะนั้น เพราะเป็นของที่ต้องใช้ ต้องกินประจำวัน และหาซื้อในกรุงเทพฯ ไม่ได้ อย่างปลากุเลาเค็ม กุ้งแห้งจากระนอง ปลาสีเสียดเค็มตากด้วยการกางมุ้งของสิเกา ตรัง เครื่องแกงเผ็ดจากพัทลุง ข้าวเกรียบปลาหางเขียวจากปัตตานี น้ำตาลมะพร้าวจากสมุทรสงคราม ข้าวหอมมะลิใหม่จากสุรินทร์ หอมแดง กระเทียมไทยจากศรีสะเกษ นี่เป็นตัวอย่างของดี ของเด่น ของท้องถิ่น

กินจนจุกช้อปกระจายที่ OTOP งานรวมงานฝีมือและของกินอร่อยประจำตำบลทั่วประเทศในงานเดียว
กินจนจุกช้อปกระจายที่ OTOP งานรวมงานฝีมือและของกินอร่อยประจำตำบลทั่วประเทศในงานเดียว
กินจนจุกช้อปกระจายที่ OTOP งานรวมงานฝีมือและของกินอร่อยประจำตำบลทั่วประเทศในงานเดียว

ยังมีซุ้มขายอาหารจากภูมิภาคต่างๆ ที่มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งกิน ไก่ย่างเขาสวนกวางขอนแก่น ไก่ย่างฆอและ ข้าวนาซิดาแฆกับแกงกระหรี่ไก่ มัสหมั่นเนื้อจากปัตตานี ข้าวแกงจากนครศรีธรรมราช ข้าวซอยจากลำพูน ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย ซาลาเปาทับหลี ระนอง หม่ำจากเมืองพล ขอนแก่น นี่แค่ตัวอย่างเท่านั้น ถ้าใครเดินตรงส่วนนี้ ไม่นึกอยากกินอะไรก็เกินไป

กินจนจุกช้อปกระจายที่ OTOP งานรวมงานฝีมือและของกินอร่อยประจำตำบลทั่วประเทศในงานเดียว

ก็สรุปว่าของใช้ ของกิน งาน OTOP นั้นยอดเยี่ยม แต่ในยอดเยี่ยมก็มียอดแย่อยู่ด้วย เป็นการจัดการ วางผังการจัดงาน รวนเรไม่เคยหยุด บูทขายสินค้าทั้งงานศิลปหัตถกรรมและสินค้าอาหารแปรรูปนั้น กำหนดให้ทุกจังหวัดมีบูทของตัวเอง แล้วเอาจังหวัดทั้งหมดมาเรียงตามตัวอักษร อย่าง ก ไก่ ก็มีกรุงเทพฯ กระบี่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร เอาไว้ด้วยกัน จังหวัด ป ปลา ก็มีประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี ปทุมธานี มาอยู่ด้วยกัน หรือ อ อ่าง เอาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุทัยธานี อุดรธานี ไว้ด้วยกัน นั่นก็เคยทำมาแล้ว 

ยังมีรูปแบบอื่นอีก เอาตามภูมิภาคเป็นหลัก เอาผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของภาค เช่น ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แบ่งเป็นโซนๆ ไปนั่นก็เคยทำ

ยังไม่ใช่แค่นั้น เปลี่ยนอีกเอาผลิตภัณฑ์เป็นหลัก โดยเอาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เสื้อผ้า หัตถกรรมเครื่องไม้ เครื่องจักสานของทุกภาคมาจัดรวมกันเป็นส่วนหนึ่ง เอาผลิตภัณฑ์อาหารทุกภาคมารวมกันอีกส่วนหนึ่ง 

ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมานั้น คงมาจากที่ราชการเจ้าของงานให้บริษัทออแกไนเซอร์มาทำ โดยไม่ได้มีการผูกขาด เปลี่ยนบริษัทใหม่ทีไรรูปแบบก็เปลี่ยน คนลำบากก็คือคนซื้อ 6 เดือนที่แล้วก็อย่างหนึ่ง ไปอีกครั้งก็เปลี่ยนอีกอย่าง บางทีจำไม่ได้ว่าเคยซื้อจากจังหวัดไหน ภาคไหน อยากได้อีกหาไม่เจอ 

ยิ่งการแบ่งซุ้มขายอาหาร มีที่นั่งพร้อมกินนั่นยิ่งหนักใหญ่ ปกติจะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ทางต้นฮอลล์และปลายของฮอลล์ เคยเอาภาคกลางรวมอยู่กับภาคเหนืออยู่ด้านหนึ่ง เอาอีสานรวมกับใต้อยู่ด้านหนึ่ง และเคยสลับไปสลับมา เอาภาคโน้นมาคู่กับภาคนี้ 

เปลี่ยนอีกเอาให้แต่ละด้านมีอาหารทุกภาค ภาคปักษ์ใต้ ภาคกลาง เหนือ อีสาน มีทั้ง 2 ด้าน ทีนี้ยุ่งล่ะซิ ก็ข้าวแกงนครศรีธรรมราชกับของสุราษฎร์ธานี คนละด้านก็จริงแต่เหมือนกันที่ไหน หรือปัตตานีกับนราธิวาส มุสลิมใต้สุดทั้งคู่ ถึงจะมีข้าวนาซิดาแฆ กะหรี่ไก่ กะหรี่ปลา มัสหมั่นเนื้อ ไก่ฆอและ ข้าวยำ เหมือนกันก็จริง แต่ไม่ใช่จากฝีมือหรือครัวเดียวกัน ซาลาเปาทับหลี ระนอง กับซาลาเปาภูเก็ตก็ไม่เหมือนกัน หรือบางทีเอาไก่ย่างเป็นหลัก ให้มีทั้ง 2 ด้าน เอาไก่ย่างเขาสวนกวางไว้ด้านหนึ่ง ไก่ย่างบางตาลไว้อีกด้านหนึ่ง ไก่ย่างเหมือนกันแต่คนละเรื่อง 

กินจนจุกช้อปกระจายที่ OTOP งานรวมงานฝีมือและของกินอร่อยประจำตำบลทั่วประเทศในงานเดียว

คนที่เคยกินอะไร เคยซื้อของจากที่ไหน ยังอยากได้อีก ไปผิดด้านก็ต้องเดินไปอีกด้านหนึ่ง เดินกันขาลาก คนเดินนั้นใช่ว่าจะเคยเป็นนักวิ่งมาราธอนมาก่อนจะได้ไม่เมื่อย นี่คือการจัดผังจัดงานที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ครั้งที่กำลังจะถึงนี่ก็เหมือนกัน จะออกหัวออกก้อยก็ไม่รู้

ราชการเจ้าของ OTOP ชอบมีอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อย เมื่อต้นปีมีความคิดอันบรรเจิด เรียกว่าโครงการ ‘นวัตวิถี’ เรื่องของเรื่องคือ เมื่อปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบูมมาก เงินไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มากมายมหาศาล ราชการนี่แหละคิดว่าสถานที่ท่องเที่ยวก็มีธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไหนๆ ไปเที่ยวแล้วก็ให้ซื้อผลิตภัณฑ์ของชุมชน หรือสินค้า OTOP ที่มีอยู่ที่นั่นเสียเลย ราชการจะส่งเสริมให้ชาวบ้านมีนวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ออกมา เป็นที่มาของโครงการ นวัตวิถีนั่นเอง

ราชการยังฝันเฟื่องถึงตัวเลขมหาศาล เอาจำนวนนักท่องเที่ยวที่ผ่านๆ มาว่าใช้เงินเที่ยว จับจ่ายใช้สอยไปเท่าไหร่ ถ้ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ เงินน่าจะถูกไปซื้อของ OTOP มากมายด้วย ตัวเลขสวยหรูมาก คิดไปไกลถึงขั้นจะไม่มาจัดงาน OTOP ที่กรุงเทพฯ อีกแล้ว คิดเสร็จแล้วก็สร้างศูนย์ นวัตวิถีกระจายทั่วไป ทำป้ายใหญ่โตชัดเจน

อยู่ๆ COVID-19 มาโครม ไม่มีการท่องเที่ยว ศูนย์นวัตวิถีเงียบฉี่ไป เหลือแต่ป้ายนวัตวิถีโด่เด่ ที่จริงการใช้เงินของนักท่องเที่ยวนั้น ส่วนใหญ่หนักไปทางที่อยู่ ที่กิน ค่าบริการและซื้อของใช้ติดตัวและของที่ระลึก จะซื้ออะไรที่เป็นภาระกับการเดินทางคงต้องคิดหนัก ถึงจะไปถูกใจม้านั่งหวายเตี้ยๆ ฝีมือชาวเขา ถูกน่าซื้อ ซื้อแล้วจะเอากลับมาอย่างไร ไปเที่ยวสุโขทัย ที่ลำปลายมาศมีน้ำปลาปลาสร้อยชั้นหนึ่งจะซื้อกลับมาไหม ไปตรัง ที่สิเกามีปลาเค็มกางมุ้ง ซื้อแล้วนั่งเครื่องบินกลับคงเป็นเรื่องแน่ หรือไปสุรินทร์อยากได้ข้าวหอมมะลิใหม่สักถุง เอาขึ้นรถทัวร์นำเที่ยวก็ไม่ไหว หรือไปศรีสัชนาลัย ไปร้านสาธร จะซื้อผ้าซิ่นตีนจกหาดเสี้ยวกลับมาใหม ก็ซื้อที่ OTOP ในกรุงเทพฯ ไม่ดีกว่าเหรอ มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่มีขายในงาน OTOP ต้องไปซื้อเองถึงแหล่งผลิต คือครกหินอ่างศิลา 

ครั้งนี้อยากแนะนำให้ราชการที่เป็นเจ้าของงาน OTOP ทำ คือเอาสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากทุกที่ที่มีอยู่มาขายในกรุงเทพฯ เป็นประจำเลย ก็ดูจากงาน OTOP คนไปซื้อเยอะมาก ซื้อแล้วซื้ออีก กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีกำลังซื้อสูง มีผู้คนจากหลายภูมิภาคอยู่ร่วมกัน มีความต้องการที่หลากหลาย แล้วสินค้าอาหารเป็นของสิ้นเปลือง หมดแล้วต้องซื้ออีก ครั้นจะให้คอยถึง 6 เดือนกว่าจะมีงาน OTOP อีกครั้ง เสียโอกาสทั้งคนขายและคนซื้อ 

ก็เอามาขายทุกวันเลย ที่ขายง่ายๆ ก็คือตลาดสด เป็นที่ที่คนไปซื้อของกิน ซื้อของไปทำกินอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ตลาดสดเป็นธุรกิจที่กำลังบูม ทันสมัย ไม่เหมือนตลาดสมัยก่อนๆ โล่งไม่แออัด ไม่เปียกเฉอะแฉะ สะอาด สว่างชัดเจน มีลานจอดรถกว้าง รอบๆ ตลาดมีร้านค้าขายของเฉพาะทาง ทั้งโชว์ห่วย ร้านขายยา ขายข้าวสาร เปลี่ยนถ่านนาฬิกา ขายโทรศัพท์มือถือ ขายเครื่องสังฆภัณฑ์ OTOP ไปทำร้านบ้างจะเป็นไรไป

ของเอามาใส่ร้านก็เหลือเฟือ ตัวอย่างเครื่องแกงสำเร็จรูปจากพัทลุง เครื่องแกงแสนตุ้ง ตราด เครื่องแกงลาบเหนือ เชียงใหม่ เม็ดมะแขว่น น่าน ซีอิ๊วเต้าเจี้ยวจากเบตง น้ำบูดูสายบุรี น้ำปลาปลาสร้อยอ่างทอง สุโขทัย กะปิคลองโคลน ดอกเกลือเพชรบุรี น้ำตาลปึกเพชรบุรี น้ำตาลแว่น สงขลา ปลากรอบสุพรรณบุรี อุทัยธานี ปลาช่อนเค็มสิงหบุรี ของในขวดเปิดกินได้เลยมีเยอะแยะ น้ำพริกไข่ปู ขลุง จันทบุรี ปลาร้าสับทรงเครื่อง อ่างทอง น้ำพริกข่า น่าน แจ่วบองหลายเจ้าของอีสาน นี่แค่ตัวอย่าง 1 ใน 1.000 เท่านั้น

กินจนจุกช้อปกระจายที่ OTOP งานรวมงานฝีมือและของกินอร่อยประจำตำบลทั่วประเทศในงานเดียว

นี่อาจจะเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ แต่ที่แน่ๆ งาน OTOP ตอนกลางเดือนธันวาคมนี้ อยากได้อะไร อยากกินอะไร วางแผนล่วงหน้า ตาดีได้ (ของ) ตาร้ายเสีย (โทษคนจัดงานครับ)

Writer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ