แม้ว่าโดยแท้จริงแล้ว สงครามรัสเซียบุกโจมตีกรุงเคียฟในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะไม่เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับฝ่ายศาสนจักร เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานความไม่พอใจของรัสเซีย ต่อการที่ยูเครนพยายามสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การ NATO รวมไปถึงเข้าร่วมสหภาพยุโรปด้วย
เราได้เห็นภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากสงคราม ความสูญเสียของทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน และบทบาทของศาสนจักรโรมันคาทอลิกและออร์โธดอกซ์ที่ออกมาเรียกร้องสันติภาพ แม้ว่าจะถูกวิจารณ์ว่ามีความพยายามน้อยเกินไป หรือไม่กล่าวประณามให้เข้าเป้าเข้าประเด็น และหลายครั้งที่ตกเป็นข่าวว่า ผู้นำศาสนจักรรัสเซียโน้มเอียงเข้ากับฝ่ายประธานาธิบดีปูตินอย่างเห็นได้ชัด จนเสียงของผู้นำศาสนาถูกกลบไว้ใต้เสียงระเบิดและรอยตีนตะขาบรถถัง
เรามาดูกันก่อนว่า เบื้องลึกเบื้องหลังที่ประธานาธิบดีปูตินกล่าวย้ำอยู่เสมอว่า “ยูเครนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรัสเซีย” นั้น เกิดขึ้นเพราะอะไร
เห็นได้ชัดว่า ปูตินซึ่งค่อนข้างเป็นผู้นำสายอนุรักษ์นิยม-ชาตินิยม และมีศาสนจักรออร์โธดอกซ์หนุนหลังอยู่เสมอ คงจะอ้างอิงไปถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ทั้งสองชาติเคยมีมาร่วมกันในสมัยโบราณ โดยเฉพาะจากรากเหง้าของธรรมเนียมออร์โธดอกซ์ที่ประธานาธิบดีปูตินพยายามเชิดชูและปกป้องให้พ้นจาก “ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมที่มาจากฝั่งตะวันตก”
ปูตินพยายามยกคุณค่าทางศีลธรรมแบบออร์โธดอกซ์ให้เห็นว่า ชาวตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา ได้ละทิ้งรากเหง้าธรรมเนียมคริสเตียนของตน หันมาสมาทานแนวคิดโลกวิสัย กลายเป็นเอทิสต์หรือผู้ปฏิเสธพระเจ้า และสิ่งที่ดูจะทำให้เขาไม่พอใจมากที่สุดก็คือ การเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศในที่สาธารณะ ซึ่งผิดหลักศีลธรรมของชาวคริสต์สายอนุรักษ์นิยมอย่างชาวรัสเซียออร์โธดอกซ์อย่างรุนแรง การเป็นเกย์จึงกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในวัฒนธรรมรัสเซีย จนกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และถูกทำให้เป็นเสมือนสภาวะที่ไม่มีอยู่จริงในโลก
แม้ว่าปูตินจะพยายามแก้ต่างว่า เกย์ไม่ใช่อาชญากรรมในประเทศรัสเซีย โดยเขาเองเปรียบเทียบว่า ในโลกนี้มีอีกตั้งหลายประเทศที่เกย์เป็นอาชญากรรม โดยเฉพาะในดินแดนที่ใช้กฎหมายศาสนา แต่ชาว LGBT ก็ดูไม่ชอบใจนักเมื่อรัสเซียประกาศใช้กฎหมายห้ามเผยแพร่โฆษณาที่มีเนื้อหารักร่วมเพศ โดยประกาศออกมาพร้อมกับกฎหมายห้ามเผยแพร่สื่อลามกที่ล่วงละเมิดเยาวชน (Pedophile) จนดูราวกับว่าทั้งสองเรื่องเป็นอาชญากรที่ร้ายแรงพอ ๆ กัน
รัสเซียยังประณามการเรียกผู้ปกครองชาว LGBT ว่า ‘ผู้ปกครองคนแรก’ และ ‘ผู้ปกครองคนที่สอง’ ตามแบบตะวันตก โดยยืนยันว่าครอบครัวจะต้องประกอบด้วย ‘พ่อและแม่’ เท่านั้น และวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างหยุดยั้งไม่ได้ หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย จะทำลายความเป็นรัสเซียพังทลายลง และดูเหมือนว่าหลักการศีลธรรมของรัสเซียจะกลายเป็นข้ออ้างหนึ่งในหลายข้อ ที่ยกมาเพื่อปกป้องไม่ให้ยูเครนตกอยู่ภายใต้ศีลธรรมอันเสื่อมทรามของพวกตะวันตกด้วย
นอกจากประเด็นเชิงศีลธรรม ประเด็นเรื่องศาสนจักรรัสเซีย-ยูเครน ก็เป็นประเด็นร้อนมาก่อนหน้าสงครามแล้ว และน่าจะเป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองขาดสะบั้นลง
รากเหง้าของศาสนจักรออร์โธดอกซ์ในดินแดนรัสเซีย-ยูเครน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งยูเครนและรัสเซีย (รวมทั้งประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์อื่น ๆ อย่างเบลารุส) ต่างมีพื้นฐานวัฒนธรรมร่วมรากเดียวกัน โดยเฉพาะในยุคโบราณจนถึงยุคจักรวรรดิรัสเซียอันเกรียงไกร ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์แต่เดิมนั้น เมื่อแยกตัวออกจากศาสนจักรคาทอลิกในศตวรรษที่ 11 ก็มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันอยู่ในตุรกี) บรรดานักบวชชาวคริสต์ต่างพยายามเดินทางไปยังแดนตะวันออกเพื่อเผยแผ่ศาสนา ในศตวรรษที่ 9 ปรากฏว่ามีนักบุญที่สำคัญสองท่าน คือ ซีริล (St. Cyril) และ เมธอดิอุส (St. Methodius) เดินทางเข้าไปเผยแผ่พระคริสตธรรมจนประสบความสำเร็จ
พวกท่านยังได้ประดิษฐ์อักษร ‘ซีริลลิค’ ที่เป็นต้นเค้าของอักษรสลาฟในปัจจุบันนี้อีกด้วย ปัจจุบันก็ยังมีการระลึกถึงท่านทั้งสอง ทั้งในฐานะนักบุญผู้ยิ่งใหญ่เทียบเท่าอัครสาวก และ ‘บิดาแห่งวัฒนธรรมสลาฟ’ ซึ่งมักจะมีการแห่แหนท่านในวันชาติของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคริสต์ออร์โธดอกซ์
ชาวรุสเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนาอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 988 เมื่อเจ้าชายโวโลดีเมียร์ (ในสำเนียงยูเครน) – วลาดีเมียร์ (ในสำเนียงรุส) ทรงรับพิธีล้างจากธรรมทูตชาวไบแซนทีน ณ แหลมไครเมีย (อันเป็นพื้นที่ที่ถูกผนวกเข้ากับรัสเซียในปี 2014) เมื่อเจ้าชายวลาดีเมียร์เสด็จกลับมายังกรุงเคียฟ พระองค์บัญชาให้ทหารทั้งกองทัพรับพิธีล้างเป็นกลุ่มใหญ่ในแม่น้ำ Dniepr และในเวลาเกือบพันปีต่อมา จักรวรรดิรัสเซียได้รำลึกถึงเหตุการณ์นี้โดยตั้งรูปปั้นเจ้าชายวลาดีเมียร์สูง 14 ฟุตเหนือฝั่งแม่น้ำในยูเครน และเพื่อไม่ให้น้อยหน้ากัน ประธานาธิบดีปูตินจึงสั่งให้สร้างรูปเจ้าชายสูง 52 ฟุตในกรุงมอสโกเมื่อปี 2016 จึงมักมีคำกล่าวแบบนับญาติว่า ยูเครนและรัสเซียมีรากเหง้ามาจากแม่น้ำ Dniepr อันเป็นที่รับศีลล้างบาปแรกสายเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในยุคเริ่มแรกที่ชาวรุสรับนับถือคริสต์ศาสนานั้น ศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กรุงเคียฟ ขณะที่ลึกเข้าไปทางตะวันออก มอสโกยังคงเป็นบ้านป่าอันหนาวเหน็บ จนเกิดการวิจารณ์รูปปั้นเจ้าชายวลาดิเมียร์ของปูตินว่า หาความเกี่ยวข้องกับมอสโกไม่ได้เลย เพราะเขาเป็นเจ้าชายแห่งเคียฟ ไม่ใช่เจ้ามอสโก แม้ท่านประธานาธิบดีจะพยายามเชิดชูเจ้าชายองค์นี้ว่า “ด้วยการเลือกของพระองค์ ศาสนจักรออร์โธดอกซ์ได้กลายเป็นจิตวิญญาณหลักของชาวรัสเซีย เบลารุส และยูเครน” ก็ตามที เห็นได้ชัดว่าปูตินกำลังใช้วีรบุรุษทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการหลอมรวมชาติต่าง ๆ เข้าด้วยกันโดยอ้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งนี่เป็นวิธีคลาสสิกที่หลายต่อหลายประเทศเคยนำมาปรับใช้อย่างได้ผลมาแล้วในอดีต
อย่างไรก็ตาม ชาวยูเครนจำนวนมากไม่พอใจกับการเปิดตัวรูปปั้นนี้ เสมือนว่ารัสเซียกำลังช่วงชิงวีรบุรุษและนักบุญของพวกเขาไป พวกเขาตอบโต้ทันควันว่า “รัสเซียเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ตามใจชอบ” และ “เจ้าชายวลาดิเมียร์รวมชาวสลาฟเข้าด้วยกันด้วยนิกายออร์โธดอกซ์ ส่วนท่าน – กำลังใช้เจ้าชายในทางที่ผิด โดยสร้างความเกลียดชังให้กระจายไปทั่ว”
การที่รัสเซียผู้ประกาศตนเป็นศูนย์กลางศาสนจักรออร์โธดอกซ์ แต่กลับไม่ได้ครอบครองดินแดนดั้งเดิมอันเป็นจุดกำเนิดศาสนาคริสต์ของชาวสลาฟ ก็ถูกนำมาตั้งคำถามต่อไปว่า จะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหนกับการที่รัสเซียต้องการจะผนวกกรุงเคียฟให้ได้
ศาสนจักรในเคียฟค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้น จนมีโบสถ์สำคัญหลายแห่ง เช่น โบสถ์อัครเทวดามิเกล หรือโบสถ์โดมทอง เป็นที่เก็บรักษาภาพไอค่อนสำคัญ ๆ อย่างไรก็ตาม เคียฟค่อย ๆ เสื่อมความสำคัญลงจากการรุกรานของพวกมองโกลในศตวรรษที่ 13 ขณะที่มอสโกนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า กลายเป็นทั้งศูนย์กลางอำนาจและศาสนา จนศตวรรษที่ 15 เมื่อศาสนจักรที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล โบสถ์แม่ของชาวออร์โธดอกซ์ทั้งปวงถูกกองทัพออตโตมันทำลายลงอย่างราบคาบ รัสเซียก็สวมสิทธิอันชอบธรรมในการประกาศตัวเป็น ‘โรมแห่งที่ 3’ หรือผู้สืบทอดสิทธิ์การเป็นชาวคริสเตียนอันเที่ยงแท้ดั้งเดิมต่อทันที
‘สังฆเภท’ ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย : ความขัดแย้งที่นำไปสู่รอยร้าว
ประวัติศาสตร์ศาสนาในยูเครนผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุค ทั้งในยุคสตาลินที่นำลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาพยายามยุติบทบาทของศาสนจักร ทั้งสถานการณ์ภายในของยูเครนเอง ค่อนข้างแตกต่างจากรัสเซียตรงที่มีศาสนจักรที่มี ‘ความหลากหลาย’ กว่า เพราะในทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ของยูเครนได้รับอิทธิพลทั้งจากคอนสแตนติโนเปิล รัสเซีย และโรม โดยเฉพาะกลุ่มยูเครนคาทอลิก ที่แม้จะภักดีต่อสันตะสำนักในวาติกัน แต่ก็ใช้จารีตคล้ายคลึงกับชาวออร์โธดอกซ์ และมีจำนวนประชากรค่อนข้างมาก
ส่วนในนิกายออร์โธดอกซ์เอง แต่เดิมศาสนจักรรัสเซียรุกคืบสร้างเขตอิทธิพลในพื้นที่ของยูเครน พยายามที่จะหลอมรวมให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันทางวัฒนธรรมด้วยการสร้างโบสถ์จำนวนมาก รัสเซียเข้ามามีอิทธิพลทางศาสนาในยูเครนตั้งแต่ในศตวรรษที่ 17 โดยจัดการกีดกันอิทธิพลนิกายคาทอลิกที่มาจากโปแลนด์ออกไป รัสเซียจึงเข้าปกครองศาสนจักรยูเครนด้วย นัยว่าเพื่อพิทักษ์ชาวออร์โธดอกซ์จากพวกคาทอลิก ทั้งได้รับการรับรองอำนาจการปกครองจากศาสนจักรที่คอนสแตนติโนเปิลอย่างเป็นทางการ อำนาจศาสนจักรรัสเซียจึงปกคลุมเคียฟเป็นเวลานานกว่า 300 ปี
ชาวคริสต์ในยูเครนพยายามแยกตัวออกจากศาสนจักรมอสโกมาตั้งแต่ปี 1921 – 1991 เป็นเวลากว่า 70 ปี แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ แม้จนกระทั่งยูเครนได้รับเอกราชอย่างเป็นทางการในปี 1991 ก็ยังสลัดอิทธิพลรัสเซียออกไปไม่ได้
ล่วงเลยมาถึงปี 2018 กลุ่ม UOK หรือยูเครนออร์โธดอกซ์อิสระ ซึ่งโน้มเอียงไปมีความสัมพันธ์กับศาสนจักรแห่งคอนสแตนติโนเปิล ได้แยกตัวออกจากรัสเซียอย่างเป็นทางการ พระอัยกาบาร์โธโลมิวแห่งคอนสแตนติโนเปิล ออกมาประกาศรับรองศาสนจักรแห่งชาติใหม่นี้ โดยถือสิทธิ์ว่า ชาวยูเครนรับศีลล้างบาปจากมิชชันนารีชาวคอนสแตนติโนเปิล ศาสนจักรจากคอนสแตนติโนเปิลจึงถือว่าเป็น ‘โบสถ์แม่’ ที่ให้การรับรองการแยกตัวสถาปนาศาสนจักรใหม่ได้อย่างชอบธรรม และมีศาสนจักรออร์โธดอกซ์อื่น ๆ อีก 3 แห่งให้การรับรองด้วย คือ กรีก อเล็กซานเดรีย ไซปรัส ต่างยินดีต้อนรับศาสนจักรใหม่
ศาสนจักรจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต
ตั้งแต่ปี 2018 ชาวยูเครนประกาศอิสรภาพทางจิตวิญญาณ ปราศจากอิทธิพลการชี้นำจากภายนอก ซึ่งชาวยูเครนยอมรับไม่ได้มาเป็นมาเวลานาน ศาสนจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์ไม่พอใจการแยกตัวออกของกลุ่ม UOK เป็นอย่างมาก จนถึงกับตัดความสัมพันธ์กับศาสนจักรแห่งคอนสแตนติโนเปิลไปเลยทีเดียว
สำหรับยูเครนแล้ว การปรับโครงสร้างทางศาสนาใหม่ แยกตัวออกจากมอสโก ไปพึ่งพิงคอนสแตนติโนเปิลนั้น มีผลทำให้ยูเครนถอนตัวออกจาก ‘โลกรัสเซีย’ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายอุดมการณ์ทางวัฒนธรรมที่รัสเซียใช้เพื่ออ้างสิทธิ์เหนือพรมแดนทางการเมือง เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายในการตัดสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับรัสเซีย ผู้อ้างเสมอว่า ‘เป็นอันหนึ่งอันเดียว’ กับยูเครน ซึ่งเราได้เห็นแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นตามมา
ส่วนรัสเซียเองก็ไม่ยอมรับความชอบธรรมของคริสตจักรออร์โธดอกซ์แห่งใหม่ของยูเครน ยังคงอ้างสิทธิ์ในเขตอำนาจเหนือศาสนจักรในยูเครนต่อไป ส่วนศาสนจักรออร์โธดอกซ์อื่น ๆ ในโลก ตอนนี้ก็ถูกบังคับให้เลือกระหว่างมอสโกและคอนสแตนติโนเปิล การถูกบีบให้เลือกข้างเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งในวงการศาสนจักรออร์โธดอกซ์ต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต
ขอให้เราภาวนาเพื่อสันติภาพของโลก จะได้บังเกิดขึ้นในเร็ววัน