ความเงียบเกิดจากอะไร

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมเคยเขียนบทความชื่อ “จิ้งหรีดไม่ส่งเสียง หิ่งห้อยไม่ส่องแสง”

บทความนั้นเริ่มต้นแบบนี้

ที่เกาะ Kauai (อ่านว่า ‘คาไวอิ’) ในหมู่เกาะฮาวาย เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นแล้วครับ

จิ้งหรีดที่นั่น อยู่ดี ๆ ก็พากันแขวนไมค์เลิกร้องเพลงเกือบหมด มันเกิดอะไรขึ้น ขึ้นชื่อว่าเป็นจิ้งหรีดหนุ่มก็ต้องร้องเพลงจีบสาวสิ จิ้งหรีดที่ไม่มีดนตรีกาลแบบนี้ ในสันดานช่างเป็นจิ้งหรีดชอบกลนัก ทำไมนะทำไม 

บทความนั้นเล่าต่อยืดยาวถึงงานวิจัยที่พยายามค้นหาสาเหตุที่ทำให้จิ้งหรีดบนเกาะหยุดร้องเพลง แต่ถ้าให้สรุปสั้น ๆ เลย สาเหตุนั้นก็คือแมลงวัน

แมลงวันสาวที่มีไข่ในท้องจะเกิดรสนิยมหลงใหลเสียงจิ้งหรีด และออกตามหาตัวนักร้องจนเจอ จากนั้นก็จะเข้าไปขอสัมผัสร่างกายแล้วฝากลูกเอาไว้ หนอนแมลงวันน้อย ๆ จะมุดเข้าไปเติบโตและกินเครื่องในจิ้งหรีดหนุ่ม เหมือนกินเอแคลร์จากข้างในออกมาข้างนอก จนกระทั่งร่างนักร้องเหลือแต่เพียงเปลือกแห้ง ๆ หนอนอ้วนจึงไชทะลุออกมาและเติบใหญ่เป็นแมลงวันปรสิตรุ่นต่อไป

การปรับตัวของหิ่งห้อยมืดที่ไม่ส่องแสง และจิ้งหรีดเงียบที่ไม่ส่งเสียง
การปรับตัวของหิ่งห้อยมืดที่ไม่ส่องแสง และจิ้งหรีดเงียบที่ไม่ส่งเสียง

หลังจากแมลงวันชนิดนี้ (Ormia ochracea) ขึ้นเกาะคาไวอิมาได้ 20 กว่าชั่วอายุจิ้งหรีด ยามราตรีของที่นั่นก็เหลือเพียงความเงียบสงัด

หรีดหริ่งเรไร เจ้าหายไปไหนกันหมด คุณซุค (Marlene Zuk) นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้เชื่อว่าการรุกรานของแมลงวันปรสิต อาจจะทำให้จิ้งหรีดสูญพันธุ์ไปจากเกาะแล้ว

เธอให้สัมภาษณ์รายการวิทยุของแคนาดารายการหนึ่งว่า “พวกเราขับรถวนไปวนมาอยู่นาน แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงจิ้งหรีดเลยแม้แต่ตัวเดียว ตอนแรกก็คิดว่า เออ มันคงไม่เหลือแล้วล่ะ แต่ไหน ๆ ก็มาแล้ว ลองลงจากรถไปดูสักหน่อยละกันผลปรากฏว่า ตกใจแทบช็อกแน่ะค่ะ! ในความมืดบริเวณที่ไฟหน้ารถสาดแสงออกไปนั้น มีจิ้งหรีดเดินอยู่เต็มพื้นไปหมด!

“คุณต้องเข้าใจนะ ว่าสำหรับคนที่ศึกษาจิ้งหรีดมาเยอะ ๆ อย่างดิฉันเนี่ย การได้เห็นภาพจิ้งหรีดอยู่รวมกันเยอะ ๆ แต่กลับไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย มันเป็นเรื่องที่ขัดกับความรู้สึกเป็นอย่างมาก!”

หลังจากนั้น คุณซุคและคณะก็มุ่งมั่นศึกษาปรากฏการณ์นี้ต่อ จนค้นพบว่าประชากรจิ้งหรีดเกือบทั้งเกาะได้วิวัฒนาการกลายเป็นจิ้งหรีดใบ้ไปเสียแล้ว เมื่อส่องดูใต้กล้อง ซี่หวีที่อยู่บนปีกของพวกมัน ซึ่งปกติเอาไว้เสียดสีกันเพื่อให้เกิดเสียง บัดนี้ได้กลายเป็นปีกเรียบ ๆ ที่สีไม่ดังไปเรียบร้อย

ถามว่าถ้าไม่ร้องเพลงแล้ว พวกมันยังหาคู่ได้สำเร็จจนไม่สูญพันธุ์ได้ยังไง นั่นเป็นคำถามที่ดีแต่ขอเก็บเอาไว้ก่อน เฉพาะหน้านี้ประเด็นที่ผมอยากจะชวนคิดและสำรวจคือ ปรากฏการณ์ที่ว่า เมื่อมีภัยคุกคามบางอย่างคอยกดเสรีภาพในการแสดงออกเอาไว้ แสดงออกแล้วเสี่ยงอันตราย แสดงออกแล้วโดนกินไส้ นาน ๆ เข้า ธรรมชาติก็คัดเลือกให้เหลือแต่ความเงียบ

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดแต่ในจิ้งหรีด แต่ยังเกิดในหิ่งห้อย ‘เงียบแสง’

หิ่งห้อยแต่ละชนิดมีระบบจีบกันด้วยภาษากะพริบแสงที่หลากหลายมาก บ้างรวมกลุ่มกันเยอะ ๆ เกาะนิ่ง ๆ บนใบไม้แล้วกะพริบพร้อม ๆ กัน (แบบที่คนชอบไปลงเรือดูกันแถวอัมพวา) บ้างก็บินไปกะพริบไปเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ เหนือพงหญ้าหรือหนองน้ำ ในหิ่งห้อยประเภทนี้ ตัวผู้แต่ละชนิดจะมีรหัสกะพริบจีบของตัวเอง และตัวเมียที่เป็นชนิดเดียวกัน ก็จะมีรหัสในการกะพริบตอบขึ้นมาจากพื้น เช่น สมมติตัวผู้บินกะพริบ ปิ๊บ ๆ ปี๊บบบ… ปิ๊บ ๆ ปี๊บบบ… แปลได้ว่า “เฮ่ น้องสาว… เฮ่ น้องสาว…” 

พอตัวเมียของชนิดนี้มองขึ้นมาเห็นก็อาจจะกะพริบตอบกลับว่า ปุ๊บ ๆ ปั๊บ… “เฮ่ พี่ชาย… เฮ่ พี่ชาย” แล้วพอรหัสถูกต้องกันทั้งสองฝ่าย ตัวผู้ก็จะบินลงไปหาตัวเมียแล้วเจรจาระยะใกล้กันต่อ ซึ่งจะเสพสมบ่มิสมยังไงก็ต้องลุ้นกันอีกที

ในขณะเดียวกัน ตัวผู้ของชนิดอื่นในท้องถิ่นเดียวกันก็อาจจะบินกะพริบเป็นรหัสอื่น เช่น ป้าด ปุบ ๆ… ป้าด ปุบ ๆ … แปลได้ว่า “แม่ยอดหญิงอยู่ไหน แม่ยอดหญิงอยู่ไหน” ซึ่งตัวเมียของชนิดแรกพอเห็นรหัสนี้อาจจะไม่เข้าใจหรือไม่เกิดอารมณ์ แต่ตัวเมียของชนิดที่ตรงกันอาจจะรีบกะพริบตอบทันทีว่า ปุริ ๆ ปริ๊บ ๆ… “อยู่นี่ไงพ่อยอดชาย อยู่นี่ไงพ่อยอดชาย” และโลกการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยก็ดำเนินมาอย่างผาสุก… เกือบจะผาสุก

ที่ประเทศอเมริกา มีหิ่งห้อยตัวเมียอยู่ชนิดหนึ่งชื่อโฟทูริส (Photuris sp.) นางรู้รหัสตอบรับการจีบของตัวผู้แทบทุกชนิดในละแวกที่นางอยู่ ตัวผู้น้องสาวมา นางก็พี่ชายกลับไป ตัวผู้แม่หญิงมา นางก็พ่อหนุ่มกลับไป ไม่ว่าตัวผู้ชนิดไหนบินผ่านมาจีบ นางก็ตอบสนองเรียกลงมาหาได้หมด เพียงแต่ว่านี่ไม่ใช่พฤติกรรมการหาคู่ผสมพันธุ์ของนาง แต่เป็นพฤติกรรมการหาอาหาร

จากมุมมองของหิ่งห้อยตัวผู้ หนุ่มที่คิดว่าคืนนี้ได้คู่แล้ว ค่อย ๆ ร่อนลงมาแลนดิ้งตรงจุดที่สาวกะพริบไฟตอบด้วยความปรีดา ปรากฏว่าสิ่งที่เจอคือตัวเมียร่างยักษ์ซึ่งใหญ่กว่ามันประมาณ 4 – 5 เท่า เขี้ยวยาวน้ำลายหยด ตากลมโตกำลังจ้องเหยื่ออันโอชะ ง่ำ! นั่นคือภาพสุดท้ายในชีวิตที่มันได้เห็น หิ่งห้อยหนุ่มอาจไม่ได้ตายในทันที แต่ในระหว่างที่ถูกเคี้ยว ไฟที่ตูดมันก็อาจกะพริบปริบ ๆ “ไม่น่าเลยตู… ไม่น่าเลยตู…”

การปรับตัวของหิ่งห้อยมืดที่ไม่ส่องแสง และจิ้งหรีดเงียบที่ไม่ส่งเสียง

เช่นเดียวกับในจิ้งหรีด ภัยคุกคามต่อการแสดงออกอย่างเสรีได้กดดันให้หิ่งห้อยจำนวนหนึ่งเกิดวิวัฒนาการกลายเป็นหิ่งห้อยเงียบแสง พวกมันเลิกกะพริบไฟ บอกลาพระจันทร์ แล้วย้ายช่วงเวลาหาคู่ไปอยู่ตอนกลางวันแทน หิ่งห้อยกลางวันหรือหิ่งห้อยมืด (Dark Fireflies) มีให้พบได้ทั้งที่อเมริกาและอีกหลาย ๆ ประเทศ นักวิทย์สันนิษฐานว่า ปรากฏการณ์นี้ถ้าไม่ใช่เป็นผลตอบสนองต่อการโดนหิ่งห้อยด้วยกันเองเล่นงาน ก็คงเป็นเพราะภัยคุกคามอื่น ๆ อันตามมาจากการกล้าแสดงตัวในความมืด

หิ่งห้อยกลางวันหลายชนิดทุกวันนี้ยังคงมีซากตะเกียงที่ใช้งานไม่ได้แล้ว เป็นเครื่องเตือนใจว่าครั้งหนึ่ง บรรพบุรุษของพวกเจ้าเคยส่องแสงสู้รัตติกาล

คอลัมน์นี้เริ่มต้นมาด้วยการเอาเมฆไปโยงกับนม

เพราะฉะนั้น ในตอนจบซีซั่นนี้ ขอกระผมลองเอาแสงหิ่งห้อยและเสียงจิ้งหรีดมาโยงกับความรู้สึกคนบ้างจะเป็นไรไป

ผมสังเกตตัวเองและหลายคนรอบตัว

ผมเห็นบางคนที่มีโลกภายในงดงามมหัศจรรย์ราวกับป่าเวทมนตร์ แต่มักกดตัวเองเอาไว้ ไม่กล้าปล่อยแสงหรือเปล่งเสียงออกมา เพราะกลัวเป็นตัวประหลาด กลัวถูกมองว่าอยากเด่น กลัวจะโดนริษยา ตัดสิน รังแก รังเกียจ

ผมเห็นใจบางดวงที่เจ็บแล้วจ๋อย บางดวงที่ช้ำแล้วหวาดระแวง

ผมเห็นกรอบ ระบบ และสังคม ที่กดทับความคิดสร้างสรรค์

ผมเห็นเด็กที่เติบโตมาในยุคที่ผู้คนโดนไวรัสง้างให้ห่างจากกัน

ผมรู้สึกถึงบรรยากาศของหลาย ๆ แห่ง ที่ความตายด้านติดต่อได้เหมือนไวรัสซอมบี้ ติดแล้วไม่ได้อยากกินสมอง แต่อยากใช้สมองให้น้อยที่สุด แล้วทำให้มันจบไปวัน ๆ จะแสดงออกทำไม ถ้าทำไปก็ไร้ประโยชน์

ผมเห็นหิ่งห้อยที่เคยเปล่งแสงเต็มที่ แต่เมื่อไม่เคยเจอเพื่อนร่วมสปีชีส์กะพริบตอบกลับมาเลย แสงก็ค่อย ๆ หรี่ลง มอดลง

กระนั้นก็ตามแต่ แม้โลกนี้จะมีปัจจัยมากมายคอยบีบกดให้เราเงียบเสียงและดับแสง แต่พลังชีวิตก็เป็นพลังประหลาดที่สุดท้ายหาช่องทางแสดงออกของมันได้เสมอ

หิ่งห้อยกลางวัน ทิ้งโลกวับ ๆ วิบ ๆ ของการกะพริบแสงยามค่ำคืน มาเริงรัญจวนกันทางกลิ่นแทน ระบบสื่อสารผ่านฟีโรโมนและหนวดที่เอาไว้รับกลิ่นของพวกมันพัฒนาดีมาก ภายใต้แสงตะวันอันอบอุ่นและปลอดภัย

จิ้งหรีดรอบ ๆ เกาะคาไวอิยิ่งมีวิวัฒนาการประหลาดล้ำหลายทิศทาง บางประชากรกลับมาส่งเสียงร้องเพลงอีกครั้ง แต่คราวนี้เปลี่ยนเป็นเสียงครางเบา ๆ ต่ำ ๆ เหมือนแมวคราง ซึ่งเอาไว้ใช้กระซิบบอกรักกันในระยะใกล้แบบไม่ให้แมลงวันรู้ จิ้งหรีดตัวเมียเองก็เปลี่ยนรสนิยมมาชอบเพลงแนวนี้ แทนที่จะชอบเสียงแหกปีกแหลม ๆ ดัง ๆ เหมือนเมื่อก่อน

ขณะเดียวกัน ถ้าไปดูในบางพื้นที่ ตัวเมียก็ยังคงชอบตัวผู้ที่เสียงดังอยู่ และกลายเป็นว่าประชากรจิ้งหรีดในยุคแมลงวันระบาด เหลือตัวผู้ใจกล้าไม่กี่ตัวที่ปักหลักเปิดคอนเสิร์ตเดี่ยวอย่างไม่เกรงกลัว นอกนั้นเป็นตัวผู้ปีกใบ้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ที่มาคอยรายล้อมให้กำลังใจเงียบ ๆ พร้อมทั้งคอยดักจีบสาว ๆ ที่ถูกดึงดูดมาด้วยเสียงของลูกพี่ซูเปอร์สตาร์กับบทเพลงกรีดปีกท้าทายปรสิต แม้เสี่ยงตาย แต่สุดท้ายลูกพี่ได้ใจสาวทั้งตำบล ต่อให้พบจุดจบด้วยการโดนหนอนไชพุงก็ถือว่าคุ้มแล้ว

จะเห็นว่าการตอบสนองต่อภัยคุกคามการแสดงออกนั้นมีทุกรูปแบบ

มีกระทั่งหิ่งห้อยที่นอกจากส่องแสงแล้ว ยัง ‘ส่งเสียง’ สู้กับค้างคาวได้ด้วย!

นี่เป็นเรื่องที่เพิ่งค้นพบใหม่เมื่อไม่นานมานี้เลย ว่าหิ่งห้อยหลายๆ ชนิดกระพือปีกให้เกิดคลื่นความถี่เสียงย่านอัลตราซาวด์ซึ่งตรงกับที่หูค้างคาวได้ยินพอดี นักวิจัยยังไม่ฟันธงว่าหิ่งห้อยใช้ความสามารถนี้ทำอะไรกันแน่ แต่ข้อสันนิษฐานหนึ่งคือ พวกมันสร้างสารพิษสะสมในตัว แล้วใช้เสียงประกาศก้องให้ค้างคาวรู้ชัดไปเลยว่า “ฉันอยู่ตรงนี้” และ “ฉันแดนเจอรุส!” แนวคิดเดียวกับที่สัตว์มีพิษยามกลางวันมักใช้ลวดลายสีสันฉูดฉาดบอกเตือนให้ผู้ล่าจดจำได้ ปรากฏการณ์นี้ในหิ่งห้อยอาจจะเป็นเรื่องใหม่อยู่ แต่ตัวอย่างการใช้เสียงสู้ค้างคาวในผีเสื้อกลางคืนนั้นได้รับการศึกษาและยืนยันมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้อัลตราซาวด์เพื่อประกาศความอันตราย หรือเพื่อแจมระบบโซนาร์ของค้างคาวก็ตามแต่

ในกรณีเหล่านี้ ภัยคุกคามอาจเป็นเครื่องท้าทายให้ชีวิตที่ไม่เคยส่งเสียงมาก่อน เริ่มส่งเสียงดังขึ้นมาได้เช่นกัน

ทว่า ในบางค่ำคืน

ผมก็พบตัวเองยืนมองแสงหิ่งห้อยและฟังเสียงจิ้งหรีด

และค้นพบใจที่ดำรงอยู่อย่างไม่ต้องดิ้นรนแสดงตน

ใจที่ดังโดยไม่ต้องส่งเสียง

ใจที่สว่างโดยไม่ต้องส่องแสง

เลยเสียงหรีดหริ่งเรไรและแสงหิ่งห้อยขึ้นไป

เหนือเมฆและดวงจันทร์สู่จักรวาลอันไกลโพ้น มีดวงดาวมากมายนับไม่ถ้วน

แสงดึกดำบรรพ์เหล่านั้น ดำรงอยู่ได้ ด้วยแรงกดดันที่สมดุล

Writer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast