หลายปีก่อน เราสองสามีภรรยาได้ซื้อที่ดินผืนหนึ่งในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

เป็นผืนนาที่ชาวนาแถวนั้นใช้ปลูกข้าวมานานหลายสิบปี โดยใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยากำจัดหอย ฯลฯ ด้วยความเคยชิน เหมือนกับเกษตรกรทั่วไปในบริเวณนั้น

ผืนนาแห่งนี้สะสมสารเคมีมานานแล้ว แถมยังทำนาปีละ 2 ครั้ง 

เรียกได้ว่าผืนดินแถวนั้นหากเป็นคนก็แทบไม่ได้พักผ่อนเลย ถูกใช้งานหนักตลอด ดูดเอาแร่ธาตุขึ้นมาตลอด และโดนรถแทรกเตอร์ไถนากดทับดินให้แน่นไปเรื่อยๆ 

เราซื้อที่นาผืนนี้ในสภาพที่เรียกว่าคุณภาพดินไม่ค่อยเหมาะสมกับการเพาะปลูกมากนัก

เราแบ่งพื้นที่บางส่วน ขุดเป็นหนองน้ำ ทำเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ตั้งชื่อว่า ทุ่งน้ำนูนีนอย เพื่ออนุรักษ์ให้เป็นที่อยู่ของพืชน้ำท้องถิ่นและนกหลากหลายชนิด อีกส่วนหนึ่งเก็บเป็นพื้นที่นาปลูกข้าว

ฟื้นผืนนาเชียงดาว เปลี่ยนความคิดชาวไร่ผู้ใช้สารเคมีกว่า 20 ปี ด้วยถั่วเหลือง, ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์

เราอยากทดลองทำการเกษตรอินทรีย์บนแปลงนาที่นี่ ท่ามกลางแปลงเกษตรสารเคมีล้อมรอบ ไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชผักแทบทุกชนิดที่ส่งไปขายท้องตลาดในเมือง

ชาวนาสองผัวเมียที่มาช่วยเราโดยตลอด ก็ไม่ค่อยเชื่อว่าเราจะทำสำเร็จหากไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง หรือยาฆ่าหญ้าทุกชนิด

เราเริ่มต้นด้วยการพักดิน ไม่ปลูกพืชเกษตรใดๆ แต่หว่านปอเทือง พืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ พอหลังจากที่ปอเทืองออกดอกสีเหลืองงดงาม ก็จะไถกลบให้เป็นปุ๋ยพืชสด เนื่องจากว่าพืชตระกูลถั่วสามารถจับหรือตรึงไนโตรเจนจากอากาศให้มาเป็นธาตุอาหารแก่ดิน

หลังจากนั้น พอเข้าสู่ช่วงปลายฝน เราเริ่มปลูกถั่วเหลืองคลุมดินอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้น

ก่อนจะเข้าสู่ฤดูทำนา

ถั่วเหลืองที่นำมาปลูก เราพยายามเสาะหาถั่วเหลืองพันธุ์พื้นเมือง ไม่ใช่พันธุ์ที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมหรือ GMO เพื่อต้องการเมล็ดพันธุ์มาใช้เพาะปลูกปีหน้าได้อีก

สาเหตุที่เลือกถั่วเหลืองเป็นพืชหมุนเวียนคลุมดิน เพราะถั่วเหลืองเป็นพืชทนแล้ง และขึ้นบนที่ลุ่มแฉะๆ บนท้องนาได้ จึงเหมาะกับการเป็นพืชหมุนเวียนปลูกสลับกับต้นข้าว

ถั่วเหลืองเป็นพืชที่สันนิษฐานว่ากำเนิดมาจากประเทศจีน เชื่อกันว่าชาวจีนที่อพยพมานำถั่วเหลืองเข้ามาปลูกในเมืองไทยด้วยเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันถั่วเหลืองที่ปลูกร้อยละ 90 ล้วนแต่เป็นถั่วเหลือง GMO ทั้งสิ้น เราเสาะหาจนได้ถั่วเหลืองพันธุ์พื้นเมือง 10 กิโลกรัม ไม่ได้ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม (Non GMO) ปลูกบนที่นา 1 ไร่

วันเดือนผ่านไป ขณะที่ต้นถั่วเหลืองกำลังเจริญงอกงาม ต้นหญ้าก็แทรกผืนดินขึ้นด้วย ถั่วเหลืองจึงต้องสู้กับหญ้าจำนวนมากเพื่อความอยู่รอด

หากเป็นชาวไร่ชาวนาทั่วไป วิธีกำจัดหญ้าง่ายที่สุด ต้นทุนถูกที่สุด คือการใช้ยาฆ่าหญ้า พาราควอต ฉีดลงไป ปราบวัชพืชสีเขียวได้ทุกชนิด

ไม่ต้องแปลกใจที่เราอ่านข่าวเป็นประจำแล้วพบว่า ถั่วเหลืองที่นำมาทำน้ำเต้าหู้หรือเต้าหู้ ส่วนใหญ่มีสารพาราควอตปนเปื้อนแทบทั้งสิ้น ไม่นับว่าการกินถั่วเหลือง GMO จะมีผลต่อสุขภาพอย่างไรหรือไม่

ถึงตอนนี้ เมื่อไม่อยากใช้สารเคมี เราต้องจ้างแรงงานเพิ่มเพื่อมาช่วยถอนต้นหญ้า แต่แน่นอนว่าเป็นงานหนัก ทั้งเหนื่อยและต้นทุนก็สูงขึ้นไปด้วย เกษตรกรแถวนั้นไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องเสียเวลา เสียเงินทองเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

เราบอกว่า หากจะเสียเงินเพิ่ม ก็ถือว่าเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ดีกว่าเอาเงินไปซื้อของบริษัทยักษ์ใหญ่

ฟื้นผืนนาเชียงดาว เปลี่ยนความคิดชาวไร่ผู้ใช้สารเคมีกว่า 20 ปี ด้วยถั่วเหลือง, ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์
ฟื้นผืนนาเชียงดาว เปลี่ยนความคิดชาวไร่ผู้ใช้สารเคมีกว่า 20 ปี ด้วยถั่วเหลือง, ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์

เมื่อต้นถั่วเหลืองโตขึ้นมา เริ่มออกฝัก ศัตรูพืชสำคัญที่ชาวไร่กลัวมากคือหนูนา มันมักจะมากัดกินผลผลิตที่กำลังเติบโต แต่โชคดีที่แถวนี้มีต้นไม้ใหญ่หลายต้น เป็นที่อาศัยของนกแสก ศัตรูตัวสำคัญที่บินจับหนูกินทุกคืน นกแสกหนึ่งตัวจับหนูกินเฉลี่ยวันละ 2 ตัว จนไร่ถั่วเหลืองไม่คอยได้รับความเสียหายจากหนูนา

เป็นระบบนิเวศอันสมดุล เมื่อมนุษย์ช่วยกันรักษาต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นที่อยู่ของนกแสก นกแสกช่วยกำจัดหนู ลดการพึ่งพาสารเคมีกำจัดหนู

พอถั่วเหลืองเริ่มออกฝักถั่วจนแก่ เราต้องจ้างแรงงานมาเก็บฝักถั่วอันเป็นงานหนักมาก ทั้งคัน ทั้งเหนื่อย ทั้งร้อนกลางแดดเปรี้ยงๆ ในฤดูร้อน 

และสุดท้ายก็ช่วยกันลงแขกร่อนเปลือกคัดเมล็ดดีๆ

ซากไร่ถั่วเหลืองก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยไนเตรต บำรุงดินต่อไป

เพื่อนบ้านที่เป็นแม่ครัวคนเก่งลองเอาถั่วเหลืองที่ปลอดสารพิษโดยสิ้นเชิงไปทำน้ำเต้าหู้และเต้าหู้สดๆ กิน ปรากฏว่ารสชาติอร่อยมาก 

ฟื้นผืนนาเชียงดาว เปลี่ยนความคิดชาวไร่ผู้ใช้สารเคมีกว่า 20 ปี ด้วยถั่วเหลือง, ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์

ตอนแรกเราคิดแค่จะเก็บถั่วเหลืองไว้กินเองบ้าง เก็บเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกปีหน้า แต่เมื่อได้ผลผลิตค่อนข้างเยอะ (แต่ยังน้อยกว่าการปลูกแบบใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้า) จึงเริ่มคิดที่จะแบ่งขายให้เพื่อนๆ กิน

เราตั้งราคาสูงกว่าท้องตลาดพอสมควร เพราะต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง แต่มั่นใจว่าน่าจะมีคนต้องการซื้อไปทำน้ำเต้าหู้กับเต้าหู้ที่ปลอดสารพิษและไม่ใช้ถั่วเหลือง GMO

เกษตรกรแถวนั้นไม่มีใครเชื่อว่าถั่วเหลืองจะขายได้ในราคาแพงขนาดนี้

เราบอกว่ามีคนอยากกินสินค้าเกษตรปลอดสารและมีคุณภาพอยู่จำนวนมาก ขอเพียงให้เขามั่นใจว่าเป็นสินค้ามีคุณภาพจริงๆ และเริ่มทดลองขายในออนไลน์ เพียงแค่ 2 วันสินค้าไม่พอขาย 

เราเริ่มทำการตลาด ตักถั่วเหลืองใส่ถุง ซีลปิดปากถุงพลาสติก ขับรถไปส่งไปรษณีย์ แปะป้ายว่าสินค้าเกษตร

ขายสินค้าเกษตรครั้งแรกในชีวิตหลังจากขายหนังสือมาตลอดชีวิต เมื่อหักต้นทุนแล้วได้กำไรไม่มาก 

แต่สิ่งที่เป็นกำไรมากที่สุด คือ

เราเปลี่ยนความคิดของชาวไร่หลายคนที่เคยเชื่อว่า ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ ไม่ใช้ยา ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้แรงงานอย่างเดียว แถวนี้ไม่มีใครทำ เพราะต้นทุนสูงมาก ขายแพงไม่ได้ ไม่มีคนซื้อ

แต่เมื่อเราทำให้เห็นว่าหากผลิตอาหารดีมีคุณภาพและขายในราคาสูง น่าจะพอมีกลุ่มลูกค้าที่สนใจและขายได้จริงๆ แต่แน่นอนว่า ปัจจัยสำคัญอีกประการ คือต้องอาศัยการทำการตลาดและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเฉพาะ ซึ่งคงเป็นความร่วมมือระหว่างเกษตรกรในท้องถิ่นกับคนในเมืองที่รู้จักกลุ่มเป้าหมายด้วย

ฟื้นผืนนาเชียงดาว เปลี่ยนความคิดชาวไร่ผู้ใช้สารเคมีกว่า 20 ปี ด้วยถั่วเหลือง, ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์

ชาวไร่เหล่านี้ที่มาช่วยเราต่างตื่นเต้นดีใจจนนอนไม่หลับ สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่พวกเขามีส่วนร่วมตั้งแต่แรกขายได้จริงในราคาสูงกว่าท้องตลาดหลายเท่าตัวที่เขาเคยขายได้ แม้จะมีต้นทุนสูงกว่า แต่ก็มีกำไร

นอกจากขายได้เงินแล้ว พวกเขารู้สึกภูมิใจว่าได้ผลิตอาหารดีมีประโยชน์ให้คนได้บริโภค

เราเอาจดหมายจากคนซื้อถั่วเหลืองที่เขียนมาขอบคุณ ที่ทำให้พวกเขาได้กินน้ำนมถั่วเหลืองปราศจากสารพิษ ไม่มี GMO ให้ลูกๆ ได้กินอย่างสบายใจ

พวกเขาอ่านแล้วมีกำลังใจ ดีใจที่ปลูกอาหารปราศจากสารพิษให้คนได้กิน และเริ่มเข้าใจแล้วว่าการปลูกพืชอินทรีย์ที่พวกเขาไม่เคยสนใจมาตลอด มีความเป็นไปได้จริงๆ

เคยมีคนบอกว่า การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้โรแมนติกหรอก มันเหนื่อย มันร้อน ต้องใช้ความอดทนสูงมากในปีแรกๆ ผลผลิตต่อไร่ก็สู้ใช้สารเคมีไม่ได้เลย แต่ระยะยาวแล้ว เมื่อทุกอย่างลงตัว คุณภาพดินดีขึ้นเรื่อยๆ รู้จักวิธีกำจัดศัตรูพืชโดยธรรมชาติ ทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ต้นทุนจะลดลง และกำไรจะมากขึ้น

ฤดูฝนหน้ากำลังจะมาเยือน เราเริ่มเตรียมดินจะทดลองปลูกข้าวอินทรีย์อย่างจริงจัง ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้พาราควอต ไม่ใช้สารเคมีใดๆ อดทนกับมันอีกสักพัก

ที่สำคัญคือเกษตรกรคู่ใจผู้ปลูกข้าวแบบใช้สารเคมีมา 20 กว่าปีเริ่มมั่นใจว่า เขาจะปลูกข้าวอินทรีย์ได้สำเร็จ

ดูกันต่อไปว่า ปลายปีข้าวจะออกรวงเป็นเช่นใด

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว