“จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว จากรวงเป็นเม็ดพราว ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ…”
ผมรู้จักบทเพลงนี้ของ จิตร ภูมิศักดิ์ นักวิชาการ กวี คนสำคัญของประเทศมายาวนานแล้ว แต่เพิ่งเข้าใจความรู้สึกจริงๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง
เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ผมและภรรยาได้กลับมาฟื้นฟูผืนนาในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ซื้อไว้นานนับ 10 ปีแล้วอย่างจริงจัง โดยออกแบบผืนนาหลายสิบไร่ให้มีสภาพเป็นทุ่งน้ำและไร่นาเกษตรอินทรีย์ เรียกว่าทุ่งน้ำนูนีนอย เพื่อหวังให้เป็นศูนย์ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับธรรมชาติภายใต้พลังดอยหลวงเชียงดาว ท่ามกลางนาระบบเหมืองฝายโบราณ และปล่อยให้ธรรมชาติและสัตว์ป่าฟื้นตัวขึ้นมาเอง เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ผลิตอาหาร
เราแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งตั้งใจให้เป็นที่ปลูกข้าว อำเภอเชียงดาวเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะข้าวมาช้านาน
ที่ผ่านมาแปลงนาแห่งนี้ได้อนุญาตให้ชาวบ้านแถวนั้นทำนาโดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า โดยมีข้อตกลงว่าไม่อยากให้ใช้สารเคมี แต่ในความเป็นจริง เราไม่มีทางทราบว่าพวกเขาใช้สารเคมีหรือไม่

3 ปีที่ผ่านมาเราจึงเริ่มจริงจังกับการทำนาอินทรีย์ โดยตั้งใจลงมาดูแลเอง เริ่มต้นด้วยการพักและฟื้นฟูดิน ไม่มีการทำนาหรือปลูกพืชใดๆ ก่อน
หลายคนคงสงสัยว่าทำไมต้องพักดิน ที่นาแถวนี้เคยผ่านการทำนาด้วยเคมีมาหลายสิบปี คุณภาพดินแย่มาก แข็ง เหนียว แตกระแหง เพราะผ่านการใช้งานอย่างหนัก เปรียบเทียบกับร่างกายเราก็ทรุดโทรมเหลือเกิน ร่างกายไม่เคยหยุดพัก
เมื่อผืนดินถูกใช้งานหนักจากการปลูกพืชมายาวนาน ดูดซับแร่ธาตุในดินจนร่อยหรอ และยังถูกบดทับด้วยรถไถ รถเกี่ยวข้าว จนดินอัดแน่น ไม่ร่วนซุยเหมือนแต่ก่อน ผืนดินที่ใช้งานมานานก็ไม่ต่างจากร่างกายของเรา ควรจะได้รับการพักผ่อน ให้ร่างการซ่อมแซมและบำรุงตนเองก่อนจะกลับมาใช้งานอีก
เราใช้เวลาปีกว่าๆ พักฟื้นดินปล่อยให้ธรรมชาติบำบัดตัวเอง ไม่ปลูกพืชเกษตรอะไร ยกเว้นปลูกพืชตระกูลถั่ว โสน ปอเทือง พอต้นโตขึ้นก็ไถกลบ เป็นการเพิ่มแร่ธาตุไนเตรตให้กับดิน เราเชื่อว่าผืนดินจะเยียวยาตัวเอง หากไม่ไปรบกวน เหมือนร่างกายเรา เมื่อได้รับการพักผ่อนและกินอาหารบำรุงก็จะฟื้นตัวเองในไม่ช้า ธรรมชาติสามารถเยียวยาทุกอย่างได้ หากเรารู้จักการรอคอยอย่างอดทน

จนเมื่อหน้าฝนที่ผ่านมา เมื่อดินได้พักฟื้นมีแร่ธาตุตามธรรมชาติเต็มที่ เราก็เริ่มปล่อยน้ำเข้าที่นา เอาเมล็ดข้าวที่เตรียมไว้หว่านลงบนที่นา เวลาผ่านไปหนึ่งเดือน ต้นกล้าข้าวสีเขียวอ่อนก็งอกงามเต็มแปลงนา ระหว่างนั้นเราปล่อยน้ำเข้านาที่เตรียมปลูกข้าว และ ปอ พ่อบ้านคนสำคัญก็ใช้คราดไถนาพลิกดินไปมาให้ร่วนซุย และไถหญ้าและวัชพืชจมน้ำเป็นปุ๋ยธรรมชาติ
พอต้นกล้าอายุได้พอเหมาะ รอง แม่บ้านคนสำคัญจะนำชาวไทยใหญ่มาช่วย เริ่มด้วยการมัดต้นกล้ารวมกัน ขนย้ายมาบนผืนนาที่ไถคราดแล้ว พวกเราจะช่วยกันปักดำนาหรือปลูกกล้าลงผืนนาจนเต็ม จากนี้ไป เราปล่อยให้ต้นข้าวเจริญงอกงามเอง โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ
ปอบอกเราว่าศัตรูข้าวสำคัญคือหอยเชอรี่ แต่หลายปีที่ผ่านมาละแวกนี้มีนกปากห่างมาหากินอยู่จำนวนมาก และอาหารโปรดคือหอยเชอรี่ แต่ละวันเราเห็นนกปากห่างบินลงมาตามบึงน้ำและท้องนา เพื่อจิกหาหอยเชอรี่กินเป็นอาหาร จนทุกวันนี้ ที่นาของเราแทบไม่เห็นไข่สีชมพูของหอยเชอรี่เกาะตามต้นข้าวเหมือนเดิมอีก เรียกได้ว่าการพึ่งพาตามธรรมชาติ ทำให้หอยเชอรี่ศัตรูตัวฉกาจของต้นข้าววัยอ่อนหายไปโดยสิ้นเชิง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปราบศัตรูพืชอีกต่อไป

เราจะพยายามให้ผืนดินแห่งนี้ปลูกข้าวโดยปราศจากพิษใดๆ
3 เดือนผ่านไป ต้นข้าวอินทรีย์มีความสูงใกล้เคียงกับแปลงนาแถวนั้นที่ให้ปุ๋ยเคมี สร้างความแปลกใจให้กับรองและปอ สองสามีภรรยาที่ปลูกข้าวเคมีมาตลอดชีวิต และไม่เคยคิดว่าข้าวอินทรีย์จะให้ผลผลิตได้งามไม่แพ้ข้าวที่ใส่ปุ๋ยเคมี
“ต้นข้าวสูงจริงๆ และลำต้นอวบแน่นเหมือนกับที่ผมปลูกแบบใช้ยาเลย”
ปอ นักปลูกข้าวมืออาชีพแบบใช้ปุ๋ยเคมีแปลกใจมาก เพราะเขาไม่เคยเชื่อว่านาข้าวอินทรีย์จะได้ผลจริง
น้อยคนนักที่จะรู้ว่าปัญหาวิกฤตวงจรไนโตรเจนจากปุ๋ยเคมีการเกษตรเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เมื่อสารเคมีเหล่านี้ไหลลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ ไม่ว่าลำธาร หนองบึง แม่น้ำ ไหลสู่ท้องทะเล จนมีปริมาณสะสมมากขึ้น กระตุ้นให้สาหร่าย วัชพืช และจุลินทรีย์บางชนิด โดยเฉพาะสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวเพิ่มขึ้น แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว น้ำกลายเป็นสีเขียว เกิดน้ำเน่าเสีย เพราะออกซิเจนในน้ำมีน้อย ทำให้ปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตายหมด
เร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์พบว่ามันรุนแรงยิ่งกว่านั้น ปุ๋ยเคมีในพื้นที่เกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากสู่บรรยากาศโดยตรง

ไม่นานข้าวเริ่มออกรวงข้าว เปลี่ยนเป็นสีทองอร่ามทั้งผืนนา เราสังเกตเห็นด้วงเต่ามาเกาะบนรวงข้าว ช่วยกินเพลี้ยชนิดต่างๆ ศัตรูข้าวตัวสำคัญ เมื่อผืนนาปราศจากสารเคมี แมลงตัวน้อยๆ ที่เคยหายไปในธรรมชาติก็กลับคืนมา และช่วยกินแมลงศัตรูพืช ทำหน้าที่ตามระบบนิเวศโดยไม่จำเป็นต้องพ่นยาฆ่าแมลง
พอรวงข้าวมีเมล็ดข้าวเต็มรวง ยั่วยวนให้นกนานาชนิดมากินข้าว ดร.อ้อย เกลอแก้วตลอดชีวิต จึงมีความคิดว่าแทนที่จะมีหุ่นไล่กา ก็ไปซื้อว่าวเหยี่ยวขนาดยักษ์มาปักไว้กลางท้องนา เวลาลมพัด ว่าวจะพลิ้วไปตามลม ราวกับเหยี่ยวตัวใหญ่ ทำเอาฝูงนกที่กำลังกินข้าวบินหนีแตกกระเจิง
ปลายฝนต้นหนาวฤดูเกี่ยวข้าวมาแล้ว เมื่อรวงมีเมล็ดข้าวอวบอูมเต็มที่ ทุกวันนี้ชาวนาทั่วไปจะจ้างรถเกี่ยวข้าวเพื่อเป็นการประหยัดเวลาและทุ่นแรง แต่ที่นาอินทรีย์ของเราจ้างแรงงานชาวบ้านแทนการใช้เครื่องจักร แม้ว่าต้นทุนแบบนี้จะแพงกว่า แรงงานเหล่านี้เป็นชาวบ้านเชื้อสายไทยใหญ่ มารับจ้างทั่วไปแถวนี้มานานแล้ว เราให้มาช่วยเกี่ยวข้าวในแปลงนาข้าวอินทรีย์ ด้วยค่าแรงที่ยิ้มออกทุกฝ่าย
เหตุผลไม่มีอะไรมากไปกว่าการกระจายรายได้ให้ชาวบ้านยากจนมากกว่า 10 ครัวเรือน เพราะหากใช้รถเกี่ยวข้าว ผลประโยชน์จะตกแก่เจ้าของรถเพียงคนเดียว และที่สำคัญคือรถเกี่ยวข้าวน้ำหนักมาก เมื่อขับไปบนท้องนาจะทำลายหน้าดินและคันนาทุกครั้ง และเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวได้น้อยกว่าแรงงาน

อาจจะเหลือแปลงนาไม่มากที่ยังใช้แรงงานคนเกี่ยวข้าวแทนเครื่องจักร เมื่อตั้งใจจะทำเกษตรอย่างจริงจัง ความรับผิดชอบต่อสังคมผู้คนรอบข้างน่าจะเริ่มต้นไปพร้อมกัน แล้วในที่สุด ข้าวอินทรีย์จากท้องนาของเราก็เป็นจริง
เราลงทุนซื้อเครื่องสีข้าวเอง ไม่อยากให้ข้าวอินทรีย์ปนเปื้อนกับเครื่องสีข้าวของคนอื่น และเมื่อพบว่าเครื่องกะเทาะเปลือกเมล็ดข้าวทั้งหมดทำด้วยเหล็กจนเป็นสนิม เราจึงเปลี่ยนเป็นสเตนเลสแทน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ความมั่นคงทางอาหารได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ผลิตผลต่อไร่เปรียบเทียบกับข้าวที่ใช้สารเคมีจะสู้ไม่ได้ และต้นทุนการผลิตสูงกว่า แต่เราก็อดทนที่จะสร้างอาหารมีคุณภาพให้กับโลกนี้
มีคนเคยเตือนว่า ระยะแรก การทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้ความอดทนและยากลำบากมาก
เราจะอดทนต่อไป
“เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกิน”
