ตลอดระยะเวลาหลายปี มีคำถามมากมายที่ดูราวจะไม่มีคำตอบชัดเจนว่า ‘เกษตรกรไทยทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลงได้จริงหรือ’ 

เพราะเกษตรกรไทยเคยชินกับการใช้ตัวช่วยเหล่านี้มาหลายสิบปีแล้ว จนกลายเป็นความเคยชิน ‘การทำเกษตรอินทรีย์ได้ผลคุ้มค่ากว่าการใช้ปุ๋ยเคมีจริงหรือ’

คำถามเหล่านี้สร้างความขัดแย้งให้กับเกษตรกรไทยมานานแล้ว จนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด คือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ข่าวนี้สร้างความยินดีให้บรรดาผู้ห่วงใยในสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคจำนวนมาก ในขณะที่กลุ่มเกษตรกรจำนวนมากผู้คัดค้านการห้ามใช้สารเคมีประกาศเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง

ท่ามกลางความขัดแย้งเหล่านี้ ผมเดินทางมาจังหวัดยโสธร ดินแดนแห่งข้าวหอมมะลิ เพื่อมาจับเข่านั่งคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ กับกลุ่มชาวบ้านแห่งชุมชนตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว 

ชาวบ้านตำบลนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวนามาแต่กำเนิด และเคยใช้สารเคมีมาเต็มที่

ชาวนายโสธร เมืองข้าวหอมมะลิ กับการทำ เกษตรอินทรีย์ จนคืนพืชและแมลงที่หายไปสู่ท้องนา

เล่ากันว่าเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน มีชาวบ้านจากเมืองอุบลราชธานีเดินทางมาตามลำน้ำ พบพื้นที่เหมาะสมจึงพากันตั้งรกราก และเรียกชื่อหมู่บ้านตามลักษณะของต้นเปือยหรือต้นตะแบกที่มีจำนวนมาก

ตำบลสงเปือยเคยเป็นที่ตั้งเมืองโบราณในยุคอาณาจักรทวารวดี ชาวบ้านจึงยังเชื่อเรื่องผีปู่ตาที่ปกปักรักษาป่า ทำให้ป่าดิบแล้งผืนนี้ยังรักษาต้นยางนาสูงใหญ่อายุนับร้อยปีไว้ได้ พวกเขาร่วมกันดูแลป่าชุมชนมาช้านาน ทำให้ชาวบ้านได้พึ่งพิงแหล่งอาหารพื้นบ้าน

พวกเขาปลูกพืชมาหลายชนิด ปอ ฝ้าย มันสำปะหลัง และสุดท้ายคือข้าวหอมมะลิ

ในอดีตชาวนาสงเปือยล้วนปลูกข้าวด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดมานานแล้วด้วยความเคยชิน ไม่ว่ายาฆ่าหญ้า ยาปราบศัตรูพืชทุกชนิด เพราะออกฤทธิ์เร็วและราคาไม่แพง

“สมัยก่อนก็ไม่ได้ใช้ยา เพราะปลูกพืชหลายชนิด พอตอนหลังชาวบ้านมาปลูกข้าวอย่างเดียวจากการส่งเสริมของทางการ และต่อมายังมาแนะนำ ส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า และปุ๋ยเคมี” ปราชญ์ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าอดีตให้ฟังว่า “สมัยก่อนชาวบ้านไม่มีทางรู้จักสารเคมี หากไม่ใช่คำแนะนำจากหน่วยงานราชการ ไม่รู้ว่าหวังดีหรือหวังร้าย” แกกล่าวติดตลก

เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส หรือยาฆ่าหญ้า ได้รับความนิยมจากเกษตรกรไทยทั่วประเทศ เพราะมีประสิทธิภาพดีเยี่ยมในการปราบศัตรูพืช 

‘พาราควอต’ เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช (ยาฆ่าหญ้า) ซึ่งคนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า กรัมม็อกโซน

‘ไกลโฟเซต’ เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า ราวด์อัพ

ต่อมาพบว่าสารเคมีดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพและปนเปื้อนในดินและน้ำ จนทำให้ 53 ประเทศทั่วโลกแบนสารชนิดนี้ รวมทั้งประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อร่วมสิบปีก่อน ชาวบ้านหลายคนในหมู่บ้านเริ่มไม่สบาย เข้าโรงพยาบาลกันมากขึ้น สาเหตุมาจากปัญหาการสูดดมและสัมผัสสารเคมีเป็นเวลานาน จนเกิดการสะสมและมีผลต่อสุขภาพร่างกาย

ด้วยความกลัวตาย ชาวนาหลายคนจึงเริ่มสนใจเรียนรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์แบบไม่ใช้สารเคมี

พวกเขาลองผิดลองถูก ไปดูงานตามที่ต่างๆ สั่งสมประสบการณ์การทำนาอินทรีย์ทีละเล็กทีละน้อย โดยเริ่มจากการทำปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี การทำหัวเชื้อน้ำหมักอีเอ็ม การใช้แรงงานตัดหญ้า ไถกลบฟางหลังเก็บเกี่ยวเพื่อทำปุ๋ย และปล่อยน้ำเข้าท้องนาเพื่อให้ท่วมต้นหญ้าตาย ก่อนจะลงกล้าในฤดูดำนา

ชาวนาหลายคนที่เลิกเลี้ยงควายไปนาน เพราะใช้ควายเหล็กและเครื่องจักรในท้องนาก็เริ่มหันมาเลี้ยงวัวควาย 

พวกเขาไม่ได้ใช้ควายไถนา แต่เลี้ยงไว้เพื่อเอามูลสัตว์มาทำปุ๋ยคอก

อย่างน้อยบ้านหลังหนึ่งต้องมีวัวควายคู่หนึ่ง และพบว่ามูลสัตว์นำมาทดแทนปุ๋ยเคมีได้ โดยไม่ต้องมีรายจ่ายเพิ่มเลย

ชาวนายโสธร เมืองข้าวหอมมะลิ กับการทำ เกษตรอินทรีย์ จนคืนพืชและแมลงที่หายไปสู่ท้องนา

แต่ขณะเดียวกันชาวนาผู้เริ่มปลูกข้าวอินทรีย์ต่างยอมรับความจริงข้อแรกว่า ระยะแรกผลิตผลข้าวต่อไร่หลังฤดูเก็บเกี่ยวต้องมีปริมาณลดลงกว่าเดิม เมื่อเทียบกับการใช้สารเคมี 

“นาอินทรีย์ได้ข้าวไร่ละสี่ร้อยกิโลกรัม แต่นาสารเคมีได้ข้าวไร่ละห้าร้อยกิโลกรัม” ชาวนาคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

แต่ 2 – 3 ปีต่อมา เมื่อดินฟื้นตัวเต็มที่จากการไม่มีการเติมปุ๋ยและสารเคมี ทำให้ดินแข็ง ผลิตผลข้าวต่อไร่ดีขึ้นตามลำดับ และสิ่งที่ดีงามอีกประการหนึ่ง คือการปลูกข้าวอินทรีย์มีต้นทุนถูกกว่า เพราะไม่ต้องซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง

แม้รายได้จะไม่สูง แต่รายจ่ายลดลงมากกว่า

สิ่งที่ดีที่สุดไม่ใช่รายได้ แต่สิ่งที่พวกเขาได้กลับคืนมา คือสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ต้องกังวลหรือหวั่นใจกับการสูดดมหรือสัมผัสสารเคมีจะทำร้ายร่างกายอีกต่อไป

“ตอนแรกๆ มีคนทำเกษตรอินทรีย์นับหัวได้ เพราะชาวนาส่วนใหญ่ยังเชื่อในสารเคมี ไม่อยากปรับตัว เวลาผ่านไปร่วมสิบปี คนในชุมชนที่ใช้สารเคมีก็เริ่มสนใจอยากทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น” เกษตรอินทรีย์คนหนึ่งเล่าให้ผมฟัง

ข้อดีของชุมชนสงเปือย คือชาวบ้านที่นี่รวมกลุ่มกันค่อนข้างเข้มแข็งและพูดคุยถกเถียงกัน ตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และลูกบ้าน เป็นประจำ

ชาวนายโสธร เมืองข้าวหอมมะลิ กับการทำ เกษตรอินทรีย์ จนคืนพืชและแมลงที่หายไปสู่ท้องนา

“เราพูดคุยกันเรื่องเกษตรอินทรีย์มานานแล้ว คนที่ปลูกก็มาเล่าว่าไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าหรือปุ๋ยเคมีแล้วดียังไง คนที่ไม่เคยปลูกก็ซักถามกันน่าดู จนกระทั่งเมื่อเกิดการแลกเปลี่ยน ความรู้ก็เกิด คนที่ไม่เคยทำก็ลองไปทำดู” ผู้นำชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ผมฟัง

หลังจากมีการถ่ายทอดวิธีทำและเห็นผลดีผลเสียของทั้งสองวิธีจนเกิดการเปลี่ยนแปลง

“ตอนแรกนึกว่าเกษตรอินทรีย์จะยากลำบาก แต่ลองทำดูแล้ว ก็ไม่ยุ่งยาก อาจต้องขยันตัดหญ้ามากขึ้น”

ชาวนาคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

ทุกวันนี้ชาวนาสงเปือยหันมาทำนาเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของชาวนาทั้งตำบล จากที่มีคนเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ตอนแรกไม่ถึงร้อยละ 5 นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากในหมู่บ้าน

พวกเขาสังเกตว่า หลังจากเลิกใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช สิ่งที่ตามมาคือผึ้ง แมลงชนิดสำคัญที่สุดในการผสมเกสรดอกไม้ ทำให้พืชนานาชนิดเกิดการแพร่ขยายพันธุ์ พืชที่เคยหายไปนานจากสารเคมีในท้องไร่ท้องนากลับมามากขึ้น รวมถึงต่อ แตนในธรรมชาติ และแมลงในพื้นดินหลายชนิดที่เป็นอาหารโปรตีนของพวกเขา รวมถึงสัตว์ป่าหลายชนิดในป่าชุมชน

ไม่นานนัก นกปากห่างหลายร้อยตัวปรากฏตัวขึ้น ลงมากินหอยเชอรี่ในนาข้าว โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าหอย

เกษตรอินทรีย์จึงเปรียบเสมือนสปริงบอร์ด ทำให้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศกำลังกลับคืนสู่ท้องไร่ท้องนาอีกครั้ง

พอเกี่ยวข้าวเสร็จ พ่อค้าโรงสีมารับซื้อข้าวเปลือกจากท้องนาเกษตรอินทรีย์โดยให้ราคาสูงกว่าข้าวในนาที่ใช้สารเคมี เพิ่มขึ้นเกวียนละ 500 บาท จากความต้องการอาหารสุขภาพเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ผมถามชาวบ้านว่าปลูกข้าว ปลูกผัก ใช้แค่ยาจากพืชสมุนไพร ไม่กลัวแมลงกินหรือ

พวกเขาบอกว่า “ก็มีบ้าง แต่แบ่งๆ กันกินดีกว่า แมลงกินบ้าง คนกินบ้าง”

ชาวนาตำบลสงเปือยใช้เวลานับสิบปี กว่าที่ชาวนาครึ่งหนึ่งยอมปรับเปลี่ยนตัวเอง หันมาใช้เกษตรอินทรีย์ในการผลิต ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จอันน่าสนใจ เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยทีเดียว

เป็นการพิสูจน์ว่า การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหรือเป็นเรื่องโรแมนติกในสายตาของหลายคน หากลงมือทำอย่างจริงจังและรอคอยด้วยความอดทน

หากทิศทางใหญ่ของประเทศในอนาคต การก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เกษตรอินทรีย์คือคำตอบ

ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอาจต้องให้ความสำคัญกับช่วงเวลาในกระบวนการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ การพูดคุยเพื่อให้ชาวไร่ ชาวนาได้เข้าใจและปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีผลิตพอสมควร ให้เกษตรกรได้เตรียมตัวและเข้าใจข้อดีข้อเสียระหว่างเกษตรเคมีกับเกษตรอินทรีย์

โอกาสและอนาคตของเกษตรกรมาเคาะประตูแล้ว อยู่ที่ทุกฝ่ายจะร่วมแรงร่วมใจทำอย่างจริงจังไหม

ชาวนายโสธร เมืองข้าวหอมมะลิ กับการทำ เกษตรอินทรีย์ จนคืนพืชและแมลงที่หายไปสู่ท้องนา

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว