มีเรื่องน่ารักจะมาเล่าให้ฟังค่ะ

เมตตาไปแข่งอ่านหนังสือกับเพื่อนมา ฟังดูไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ใช่มั้ยคะ แต่ในความเป็นจริง มันสนุกมากกกกกก

Oregon Battle of the Books อุ้ม สิริยากร ส่งลูกเข้าแบทเทิลการอ่านของเด็กรัฐออริกอน

งานสนุกและน่ารักนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Oregon Battle of the Books’ หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่า OBOB (โอบ็อบ) ค่ะ

อธิบายง่าย ๆ ก็คือ เป็นงานที่ให้เด็กนักเรียนมาแข่งอ่านหนังสือกัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีตั้งแต่ชั้นประถม 3 – 5, มัธยม 1 – 3 และไฮสคูล แต่ละกลุ่มจะมีหนังสือที่กรรมการเลือกมา 16 เล่มให้อ่าน เด็กคนไหนสนใจ ก็รวมกลุ่มกันกับเพื่อนอีก 3 – 4 คน ตั้งชื่อกลุ่มขึ้นมา แล้วแบ่งกันอ่านหนังสือ (ทุกคนจะอ่านให้ครบ 16 เล่มเลยก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ครบ) พอถึงวันที่กำหนด ก็จะไปแบทเทิลหรือดวลกันตอบคำถามที่มาจากในหนังสือ

Oregon Battle of the Books อุ้ม สิริยากร ส่งลูกเข้าแบทเทิลการอ่านของเด็กรัฐออริกอน
โปสเตอร์รูปหนังสือของแต่ละกลุ่ม มี 3 กลุ่ม

อุ้มรู้สึกว่านี่เป็นวิธีการส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสืออย่างแยบยลมาก ๆ เลยค่ะ เพราะลำพังจะมาบอกว่า เอ้า! เด็ก ๆ มาอ่านหนังสือกันนะจ๊ะ มี 16 เล่มนี้นะ อ่านให้จบล่ะ เด็กที่ไหนมันจะอ่าน! แต่พอมีเป้าหมาย มีการแข่งขันกันให้พอสนุก ๆ เด็กก็รู้สึกตื่นเต้น ตั้งอกตั้งใจอ่านกันใหญ่ แล้วไม่ใช่แค่อ่านธรรมดา แต่ว่าอ่านแบบสนใจรายละเอียดด้วย เพราะรู้ว่าเดี๋ยวต้องไปตอบคำถาม

 เมตตากับอนีคานี่เป็นเด็กชอบอ่านหนังสือมากถึงมากที่สุด แล้วความสนใจก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ช่วงที่ผ่านมาเมตตาชอบ Graphic Novels หรือหนังสือการ์ตูน กับ Chapter Books หรือหนังสือที่แบ่งเป็นตอน ๆ (อย่างเรื่อง ราโมนา, บ้านเล็กในป่าใหญ่, ฯลฯ) ก็จะอ่านอยู่นั่น พอมี OBOB ขึ้นมา ก็ดีอีกอย่างตรงที่หนังสือ 16 เล่มที่เขาเลือกมาให้อ่าน หลายเล่มเป็นหนังสือที่เมตตาจะไม่มีวันเลือกมาอ่านเอง เท่ากับเป็นการขยายขอบเขตความสนใจในประเภทของหนังสือให้เด็ก ๆ ไปในตัว

Oregon Battle of the Books อุ้ม สิริยากร ส่งลูกเข้าแบทเทิลการอ่านของเด็กรัฐออริกอน
หนังสือทั้ง 16 เล่ม

เมตตารวมทีมกับเพื่อนสนิทอีก 3 คน แล้วตั้งชื่อกลุ่มว่า Book Lizards (แผลงมาจากคำว่า Book Wizards) พ่อแม่รู้จักกันอยู่แล้ว ก็เลยแมสเซสกันใหญ่ สรุปว่าจะแบ่งกันซื้อหนังสือบ้านละ 4 เล่ม แล้วให้เด็ก ๆ สลับกันอ่าน อุ้มนี่ก็เป็นพวกบ้าทำตาราง เลยทำ Google Sheet ให้แม่ ๆ ดูกันว่าตอนนี้ใครอ่านอะไร แล้วเล่มไหนมีคนอ่านไปบ้างแล้ว จะได้เฉลี่ยความรับผิดชอบกันได้ถูก

Oregon Battle of the Books อุ้ม สิริยากร ส่งลูกเข้าแบทเทิลการอ่านของเด็กรัฐออริกอน

เด็ก ๆ 4 คนน่าเอ็นดูเป็นที่สุด มีการนัดเจอกันวันหยุดเพื่อซ้อมตอบคำถาม เล่น Kahoot! ออนไลน์ลองซ้อม แล้วระหว่างพักกลางวันที่โรงเรียน ก็มีการท่องชื่อหนังสือกับชื่อนักเขียนแต่ละเล่มกันเอง เพื่อนในห้องหลายคนก็มีกลุ่ม OBOB เลยเป็นที่พูดถึงในโรงเรียนกันคึกคักทีเดียว

ย้อนไปนิดหนึ่งเรื่องว่าใครเป็นคนต้นคิด OBOB ขึ้นมา ก็ต้องเล่าว่าเป็นผู้ปกครองด้วยกันนี่แหละค่ะ ที่คงจะคุยกันไปมาว่าทำไงดีนะจะให้เด็ก ๆ สนใจอ่านหนังสือ สรุปคือต้องมีแข่งตอบคำถามกันเสียหน่อย ทางที่ดีคือให้แข่งกันเองในโรงเรียนก่อน แล้วให้ตัวแทนโรงเรียนมาแข่งกันอีกที งานนี้ต้องทำทีเดียวทั้งรัฐ จะได้สนใจกันกว้างขวาง แล้วก็ไปหาทุนหาสปอนเซอร์มาได้ด้วย

งานนี้มันคึกคักจริง ๆ นะคะ เพราะเวลาไปร้านหนังสือ ส่วนที่เป็นหนังสือเด็ก ก็จะมีชั้นหนึ่งหรือหน้าหนึ่งเลยบนเว็บไซต์ที่มอบให้หนังสือโอบ็อบ ที่ห้องสมุดก็มีหนังสือในลิสต์ทุกเล่มให้ยืมได้ ทั้งแบบที่เป็นเล่มกับเป็นหนังสือเสียง แล้วในเว็บไซต์ของโอบ็อบเองก็มีตัวอย่างคำถาม มีแบบฝึกหัด มีรายชื่อหนังสือของปีที่ผ่าน ๆ มาให้เข้าไปตามอ่านได้ด้วย

Oregon Battle of the Books อุ้ม สิริยากร ส่งลูกเข้าแบทเทิลการอ่านของเด็กรัฐออริกอน
Oregon Battle of the Books อุ้ม สิริยากร ส่งลูกเข้าแบทเทิลการอ่านของเด็กรัฐออริกอน
   OBOB ในเว็บไซต์ของร้านหนังสือ
Oregon Battle of the Books อุ้ม สิริยากร ส่งลูกเข้าแบทเทิลการอ่านของเด็กรัฐออริกอน


ที่คั่นหนังสือ ร้าน Powell’s ทำที่คั่นหนังสือสำหรับเตือนความจำว่าอ่านเล่มไหนไปบ้างแล้ว ดาวน์โหลดไปใช้ได้เลย

มาเล่าถึงบรรยากาศการแบทเทิลกันหน่อยดีกว่าค่ะ

ปีที่ผ่าน ๆ มา เขาจะไปเช่าสถานที่แล้วให้เด็ก ๆ ไปแข่งกัน แต่ปีนี้ก็อย่างที่รู้กันดีว่ามีโควิด-19 (กุติดยังว้า) การประลองความจำก็เลยต้องย้ายมาใช้บริการ Zoom แทน

กิจกรรมแข่งอ่านหนังสือของรัฐออริกอน ที่ทำให้เด็กทั้งเมืองหันมาอ่านหนังสือแบบจริงจัง
กิจกรรมแข่งอ่านหนังสือของรัฐออริกอน ที่ทำให้เด็กทั้งเมืองหันมาอ่านหนังสือแบบจริงจัง
กิจกรรมแข่งอ่านหนังสือของรัฐออริกอน ที่ทำให้เด็กทั้งเมืองหันมาอ่านหนังสือแบบจริงจัง

รอบแรกที่แข่งกับทีมในโรงเรียนเดียวกัน (นักเรียน ป.3-5 โรงเรียนเมตตามี 300 กว่าคน มีเด็กลงทะเบียนแข่งตั้ง 144 คน เท่ากับ 1 ใน 3 แน่ะค่ะ นับว่าเยอะมาก) ทีมของเมตตาต้องดวล 4 รอบ แล้วสุดท้าย เขาจะเอาผลคะแนนของทุกทีมมาจัดลำดับ 10 ทีมแรกที่คะแนนสูงสุด ก็จะผ่านเข้าไปรอบชิงชนะเลิศ

แต่ละรอบ ทุกทีมต้องตอบคำถาม 8 คำถาม ครึ่งหนึ่งเป็นคำถามว่ามาจากเล่มไหน อย่างเช่น

– หนังสือเล่มไหน มีตัวละครในครอบครัวเดียวกัน 2 คน ที่มีตาสีฟ้าเหมือนน้ำทะเลลึก (Deep Deep Blue Sea)

– หนังสือเล่มไหน มีรูปภาพของเด็กผู้หญิงนั่งเล่นเปียโน

– หนังสือเล่มไหน ตัวละครได้รับกล่องไม้สีแดงเข้มที่ทำจากไม้พะยูง (Rosewood)

ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของคำถาม จะเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือ เช่น

– ในหนังสือ Guts ตัวละครหลักชื่อเรน่า เป็นโรคอะไร (คำตอบ IBS หรือ Irritable Bowel Syndrome)

– ในหนังสือ Some Places More Than Others คุณยายเกรซโตที่เมืองอะไร (คำตอบคือ Alabama)

– ในหนังสือ Lety Out Loud อาสาสมัครใส่เสื้อผ้าอะไร 2 ชิ้น ตอนที่ตักอาหารหมาใส่ถุง (คำตอบคือ ผ้ากันเปื้อนสีขาวกับถุงมือสีเหลือง)

คือพ่อ ๆ แม่ ๆ นั่งฟังคำถามแล้วอ้าปากค้างไปเลยอะค่ะ ใครมันจะไปจำได้ฟระ แล้วเวลาตอบนี่ ต้องตอบให้ตรงเป๊ะ ๆ ด้วยนะคะ ไม่ใช่แค่ผ้ากันเปื้อนกับถุงมือ แต่ต้องบอกว่าสีอะไรด้วย แล้วทำไมรู้มั้ยคะ เด็ก ๆ ดั๊นจำได้อี๊กกก! พ่อแม่นี่กรี๊ดกันอย่างกับไปเชียร์บอลอะค่ะ ความรู้สึกก็คล้าย ๆ กันด้วยนะคะ คือได้แต่ลุ้น เพราะพ่อแม่ไม่มีใครได้อ่านหนังสือเลยสักคน ได้แต่กลั้นใจรอให้ทีมเรายิงลูกเข้าประตู เอ๊ย ตอบคำถามถูกอย่างเดียวเลย

ผลปรากฏว่า ทีมเมตตา ถึงแม้จะเด็กกว่าใครเพื่อน แล้วก็เพิ่งลองแข่งเป็นครั้งแรก ผ่านเข้ารอบค่ะ!

กิจกรรมแข่งอ่านหนังสือของรัฐออริกอน ที่ทำให้เด็กทั้งเมืองหันมาอ่านหนังสือแบบจริงจัง

คือปริ่มจะตกรอบมิตกรอบแหล่ แต่แค่นี่พ่อ ๆ แม่ ๆ ก็ภูมิใจกันแทบแย่ แล้วก็เตรียมรอลุ้นรอบต่อไป ซึ่งจะจัดอีกทีใน 2 อาทิตย์ข้างหน้า

ระหว่างนี้อุ้มเองก็คอยถามเมตตาว่าได้ทบทวนเล่มที่อ่านไปแล้วบ้างหรือยัง แล้วมีเล่มไหนที่ยังไม่ได้อ่านแล้วอยากอ่านอีกบ้าง วันหนึ่งเมตตาคงเพลียแม่เต็มที เลยหันมาบอกว่า “แม่คะ จะชนะหรือไม่ชนะโอบ็อบมันก็ไม่เป็นไรนะคะ เพราะความสนุกจริง ๆ สำหรับหนู มันอยู่ตรงตอนตอบคำถาม ไม่ใช่ตอนอ่านหนังสือ” งือ แม่ก็เลยถอยมา 2 ก้าว ไม่ผลักดันแล้วก็ด้ะ (แต่แอบส่องอยู่นะว่าวันนี้อ่านอะไร)

แล้วพอปล่อยให้ลูกรับผิดชอบตัวเองนะคะ ปรากฏว่าเมตตาก็ไปจัดตารางของตัวเอง เล่มไหนที่มีเพื่อนในกลุ่มอ่านไปแค่คนเดียว เมตตาก็ไปเอามาอ่านเพื่อจะได้เป็นแบ็กอัป เดี๋ยว ๆ ก็มาบอกว่าวันนี้ซ้อมท่องชื่อหนังสือกันเองจนขึ้นใจ เวลาไปตอบใน Zoom จะได้ไม่ตื่นเต้นจนลืม ก่อนหน้าจะถึงวันแข่ง อุ้มลองถามว่าพร้อมไหม เมตตาก็ยิ้มมั่นใจ แล้วบอกว่า “พร้อมค่ะ นี่ถ้าทีมหนูชนะ ได้เป็นตัวแทนโรงเรียนก็คงดีนะคะ” อะ ไหนเมื่อวันก่อนบอกไม่เป็นไร ไอ้เจ้าตึ๋งหนืดเอ๊ย

พอวันแข่งรอบสุดท้ายมาถึง เนื่องจากทีมเมตตาเป็นหนึ่งในทีมบ๊วย ๆ ก็เลยต้องเริ่มแบทเทิลกันเองก่อน ทีแรกพ่อ ๆ แม่ ๆ ก็เตรียมแค่ของว่างกับอาหารกลางวันมา เพราะลึก ๆ ในใจต่างพากันคิดว่า ลูกเราเด็กกว่าเพื่อน แถมรอบแรกคะแนนก็ไม่ได้ดีมาก คงไม่ได้เข้ารอบไปลึก ๆ หรอก เดี๋ยวหลังเที่ยงก็แยกย้ายกันกลับบ้านแหละ

ปรากฏว่า Book Lizards ชนะไปเรื่อยเลยค่ะ! แข่งตั้งแต่ 10 โมงครึ่งไปจนถึง 6 โมงเย็นอะค่ะ ทีมเดียวที่ชนะทีมเมตตา ชื่อว่า Book Destroyers เป็นเด็ก ป.4 และเป็นทีมที่กลายเป็นตัวแทนโรงเรียน ทีมเมตตาเด็กที่สุด และชนะเป็นอันดับ 2 ของโรงเรียน เก่งมากเลยเจ้าหนูน้อย!

กิจกรรมแข่งอ่านหนังสือของรัฐออริกอน ที่ทำให้เด็กทั้งเมืองหันมาอ่านหนังสือแบบจริงจัง

แต่ตกเย็นวันนั้น อุ้มนี่ถึงกับขาสั่น เพราะลุ้นมาทั้งวัน (ไม่ได้เวอร์นะคะ เข่าอ่อนจริง ๆ) เพื่อนเมตตาคนหนึ่งในทีมคือเครียดจัดจนลงไปนอนร้องไห้ แบบหนูไม่ไหวแล้ว หนูตอบต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ส่วนเมตตาขึ้นรถมา บอกแม่ว่า “เหมือนหนูดื่มกาแฟไป 10 แก้ว กับกิน Energy Bar อีก 10 แท่ง” โถ เอ็นดูด้วย สงสารด้วย อะดรีนาลีนคงหลั่งแทบหมดตัว

กิจกรรมแข่งอ่านหนังสือของรัฐออริกอน ที่ทำให้เด็กทั้งเมืองหันมาอ่านหนังสือแบบจริงจัง

แต่สุดท้าย ทุกคนในทีม ทั้งเด็ก ๆ เอง ทั้งพ่อ ๆ แม่ ๆ เอง ทุกคนรู้สึกตรงกันหมดว่าเป็นประสบการณ์ที่พิเศษมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ ทุกคนรู้สึกสนิทกันมากขึ้น ในกลุ่มมีทั้งเด็กที่อ่านเร็วจำได้เยอะ กับเด็กที่อ่านช้าจำได้น้อยกว่า แต่ทุกคนกลับช่วยกัน ให้กำลังใจกัน พ่อแม่ทุกคนก็กลายเป็นเพื่อนกัน แล้วก็ตั้งใจว่าปีหน้า Book Lizards จะกลับมาแข่งอีก แต่ตอนนี้ขอกลับบ้านไปพักเหนื่อยก่อนนะจ๊ะ

“รายชื่อหนังสือโอบ็อบของปีหน้าออกมาแล้ว เรามาเริ่มอ่านกันเลยนะ” เมตตากับเพื่อน ๆ ตะโกนบอกกันก่อนแยกย้าย

แม่ยังไม่หายขาสั่นเลยลูกเอ๊ยยยย แต่อ้ะ สั่งหนังสือใหม่ให้ก็ด้ะ ปีนี้แม่จะอ่านด้วย (ให้จริงเฮ้อออ)

Writer & Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์