ในชีวิตผมก็ไปงานบวชมาหลายงาน โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่นับถือศาสนาพุทธก็มักจะพร้อมใจกันบวชเมื่ออายุครบ 20 หรือสมัยนี้บางคนก็ล่าช้าไปกว่านั้น ด้วยหน้าที่การงาน-การเรียน บางคนก็ต้องรอให้พร้อมหรือว่างเสียก่อน บางคนก็ถือจังหวะในช่วง COVID-19 ระบาด หรือกำลังรองานใหม่ เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนายาวๆ เป็นโอกาสในการศึกษาพระธรรมและปฏิบัติพัฒนาจิต ซึ่งระยะเวลาในการบวชก็แตกต่างกันไป บางคนอาจจะบวช 3 เดือนครบพรรษา หรือบวชไปตลอดชีวิตเพื่อสืบทอดพระศาสนาก็ย่อมได้ 

แต่วันนี้ขอพาท่านผู้อ่านลองไปดูว่า ในศาสนาคริสต์โดยเฉพาะนิกายคาทอลิกเขาบวชบาทหลวงกันอย่างไร บางท่านอาจจะสงสัยว่าบวชปีสองปีได้ไหม หรือต้องบวชไปตลอด ลองมาดูกัน 

พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
พิธีบวชบาทหลวงใหม่ในอาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ 
ภาพ : พิสุทธิ์ จรินทิพย์พิทักษ์

บาทหลวงคือใคร

บาทหลวง คือ ‘ศาสนบริกร’ ผู้ได้รับเจิมจากองค์พระผู้เป็นเจ้า มีหน้าที่ถวายบูชามิสซาและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น โปรดศีลล้างบาป ศีลอภัยบาป การแต่งงาน งานศพ ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้แทนขององค์พระผู้เป็นเจ้าในพิธีกรรมนั้นๆ 

บาทหลวงในปัจจุบันต้องถือวินัย 3 ประการหลักๆ คือ การถือโสด โดยบาทหลวงคาทอลิกแต่งงานมีลูกมีเมียไม่ได้ ต่างจากศาสนบริกรนิกายอื่นๆ เช่น ออร์โธดอกซ์ ก็มีทั้งบาทหลวงกลุ่มที่แต่งงานและไม่แต่งงาน หรือศาสนจารย์ในนิกายโปรเตสแตนต์ก็แต่งงานได้ 

ประการที่สองคือ บาทหลวงต้องถือพรตเรื่องการดำรงชีพอย่างยากจน หมายถึงไม่ดำเนินชีวิตฟุ้งเฟ้อ กินอยู่อย่างเรียบง่าย ใช้จ่ายเงินทองตามที่เหมาะสม และประการสุดท้ายคือ บาทหลวงจะต้องนบนอบ (Obedience) ต่อผู้ใหญ่ ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นบิชอป เจ้าคณะ อธิการ หรือผู้ปกครองหมู่คณะของตน โดยเคร่งครัด ถือเป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตัวด้วย วินัยประการหลังดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการถือปฏิบัติ เพราะธรรมชาติของมนุษย์เราก็อยากจะทำอะไรตามใจตัวเอง มีเหตุผลของตัวเองเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว 

พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
ขบวนแห่ผู้สมัครเข้าบวชเป็นบาทหลวงหน้าอาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ มีบิดามารดาถือพานใส่เสื้อกาสุลา อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สวมประกอบพิธีกรรม
พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
ธงสัญลักษณ์ของโบสถ์ต่างๆ ที่มาร่วมงาน

กว่าจะได้เป็นบาทหลวง

ทีนี้มาถึงประเด็นว่า บวชในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเขาบวชกันอย่างไร หลายๆ คนอาจจะงงว่ามีคำเรียกนักบวชหลายคำ เช่น บราเดอร์ ซิสเตอร์ คุณพ่อ ซึ่งในที่นี้จะแบ่งเป็นสองประเภทคือ หนึ่ง บาทหลวง (Priest) คือผู้ที่ได้รับศีลบวชอย่างเป็นทางการจากบิชอป (Bishop ในภาษาไทยโบราณเรียกสังฆราช ปัจจุบันศัพท์ทางการคือมุขนายก) ถือว่าเป็นผู้รับเจิมแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า มีสิทธิ์ในการประกอบพิธีบูชามิสซาและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมทั้งเป็นประธานในพิธีกรรมต่างๆ ด้วย 

สอง นักบวชหรือนักพรต (Monk) เรามักจะเห็นในภาพยนตร์ย้อนยุค เป็นนักบวชในชุดคลุมยาวสีน้ำตาลบ้าง ดำบ้าง นักบวชกลุ่มนี้คือผู้ที่ตั้งใจถือวินัยพรตตามที่คณะของตนกำหนดไว้ และจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะในอาราม (Monastery) นักบวชกลุ่มนี้อาจจะรับศีลบวชเป็น ‘บาทหลวง’ หรือไม่ก็ได้ 

หากรับศีลบวชก็จะประกอบพิธีกรรมต่างๆ ได้ แต่หากบางคนมีความปรารถนาจะรับใช้พระเจ้าด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ปฏิบัติภาวนาอย่างสงบในอาราม หรือเป็นครู หรือพยาบาลรักษาผู้ป่วย ก็ไม่จำเป็นต้องรับศีลบวช แต่ใช้ชีวิตปฏิบัติภารกิจตามที่หมู่คณะกำหนดได้เลย 

นักบวชกลุ่มนี้ที่เราคุ้นเคยกันดีในประเทศไทย ได้แก่ ภราดาหรือบราเดอร์คณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งเป็นนักบวชที่มีภารกิจดูแลการศึกษาในโรงเรียนเป็นหลัก ขณะที่หากเป็นนักบวชสตรี เช่น ซิสเตอร์คณะต่างๆ ก็มีภารกิจที่แตกต่างกันไป ทั้งดูแลโรงเรียนอย่างคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ต หรืออาจใช้ชีวิตภาวนาอย่างเงียบๆ ในอาราม โดยไม่ออกมาอีกเลยอย่างคณะกาปูชิน ดังที่รู้จักในนาม ‘ชีลับ’

 อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นนักบวชในระดับใด ก็ต้องผ่านการเตรียมตัวเตรียมจิตใจ มีการฝึกฝนตนเองและศึกษาเล่าเรียนอย่างหนัก โดยจะต้องสมัครเข้าเป็นผู้สนใจก่อน จากนั้นจึงเป็นผู้ฝึกหัด (Novice) สำหรับใครที่มีศรัทธาอยากจะเป็นบาทหลวง ก็ต้องเลือกก่อนว่าจะบวชในคณะใด ที่เรารู้จักกันดี เช่น คณะเยสุอิต คณะฟรังซิสกัน คณะโดมินิกัน หรือเป็นบาทหลวงพื้นเมืองประจำสังฆมณฑลต่างๆ จากนั้นก็จะต้องศึกษาเล่าเรียนเป็นภราดา หรือ ‘บราเดอร์’ โดยชีวิตนักบวชอาจจะเริ่มตั้งแต่เด็กๆ หรือวัยกำลังเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ 

ในสมัยโบราณ การจะบวชเป็นบาทหลวงจะต้องผ่านการแต่งตั้งในระดับต่างๆ ถึง 7 ขั้นไม่ต่างกับเลเวลในเกมออนไลน์ที่เริ่มจาก Novice ทีเดียว โดยในอดีตจะเริ่มจากผู้เปิดประตูโบสถ์ (Ostiaritus) ผู้ขับไล่ปีศาจ (Exorcist) ผู้อ่านพระคัมภีร์ (Lector) ผู้ช่วยพิธีกรรม (Acolyte) อนุสงฆ์ (Subdeacon) สังฆานุกร (Deacon) และบาทหลวง (Priest) โดยต้องศึกษาเล่าเรียนไปด้วย 

สำหรับปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ได้ย่นย่อตำแหน่งเหล่านี้ลงเหลือเพียง ผู้อ่านพระคัมภีร์ – ผู้ช่วยพิธีกรรม – สังฆานุกร (Deacon) – บาทหลวง สถานะเหล่านี้จะค่อยๆ ได้รับแต่งตั้งในระหว่างการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันผู้เป็นบาทหลวงต้องสำเร็จปริญญาตรีทางด้านปรัชญา และปริญญาโททางด้านเทววิทยา ดังนั้นกว่าจะได้บวชเป็นบาทหลวงสักองค์ ใช้เวลานับสิบปีทีเดียว ซึ่งระหว่างนั้นก็ต้องฝึกหัดงานต่าง ๆ ทั้งการหัดอภิบาลชุมชน ดูแลโบสถ์ งานช่วยเหลือผู้ยากไร้ 

พิธีบวชบาทหลวง

เมื่อเด็กหนุ่มสักคนถูกฝึกฝนทั้งทางด้านการศึกษาและจิตใจและมั่นใจเต็มที่ พร้อมปฏิบัติหน้าที่บาทหลวงแล้ว เขาจะต้องเขียนหนังสือเสนอความตั้งใจของตนเองต่อบิชอปเพื่อขอบวช เปลี่ยนสถานะจาก ‘สังฆานุกร’ ไปเป็นบาทหลวง เมื่อบรรดาคณะกรรมการเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าเด็กหนุ่มคนนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนไม่ด่างพร้อย ก็จะประกอบพิธีบวชขึ้น ในพิธีกรรมนั้นถือเป็นงานใหญ่ทีเดียว เพราะนานๆ จะจัดขึ้นสักครั้ง มีบิชอปเป็นประธาน 

ในพิธี สังฆานุกรจะหมอบลงต่อหน้าพระแท่น เป็นสัญลักษณ์ของการ ‘ตายต่อตนเอง’ สละความเห็นแก่ตัว กิเลสและค่านิยมทางโลก ระหว่างนั้นก็จะมีการสวดบทร่ำวิงวอนต่อพระเจ้าและบรรดานักบุญทั้งหลาย หลังจากนั้น เขาจะลุกขึ้น สวมอาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ (หรือเสื้อกาสุลา) เป็นอาภรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีมิสซา ซึ่งในประเทศไทยได้ปรับให้เข้ากับบริบทแบบไทยๆ โดยให้บิดามารดาเป็นผู้เชิญเสื้อกาสุลาใส่พานมามอบให้บิชอปด้วย 

พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
พระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ รับเสื้อกาสุลาจากผู้ปกครองของผู้สมัครบวช
ภาพ : Mario De Antonio
พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
ประธานในพิธีอวยพรผู้สมัครบวช 
ภาพ : Mario De Antonio
พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
ผู้สมัครบวชล้มตัวหมอบบนพื้นต่อหน้าพระคาร์ดินัล
ภาพ : Mario De Antonio

การหมอบราบกับพื้นและลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่อีกครั้งในฐานะสมณะขององค์พระผู้เป็นเจ้า เขาจะต้องสวมใส่จิตใจใหม่ที่มีความรู้สึกนึกคิดที่อุทิศเพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของศีลอนุกรมหรือพิธีบวชนั้น ถือว่าผู้บวชจะได้รับการเจิมจากองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งถอดถอนไม่ได้ ดังนั้น ศักดิ์ของความเป็นนักบวชจึงคงอยู่ไปตลอดชีวิต แม้ว่าจะสึกหรือลาออกจากชีวิตในโบสถ์ก็ตาม

หลังจากนั้นบิชอปก็จะ ‘เสกมือ’ ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงการที่บาทหลวงใหม่จะใช้มือของตนในการประกอบพิธีกรรม หรือให้ศีลศักดิ์สิทธิ์กับบรรดาสัตบุรุษได้ ในอดีตนั้นมีธรรมเนียมการมอบผ้าพันมือของบาทหลวงใหม่ให้กับมารดา และมอบผ้าคล้องไหล่ที่ใช้ในการโปรดศีลอภัยบาปครั้งแรกให้กับบิดา จะนำใส่ในมือเมื่อตายเพื่อแสดงให้นักบุญเปโตรผู้เฝ้าประตูสวรรค์เห็นว่า บิดามารดาผู้นี้ได้มอบบุตรของตนให้เป็นข้ารับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า

พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
บาทหลวงทุกท่านในพิธีปกมือเหนือศีรษะผู้สมัครบวช 
ภาพ : Mario De Antonio
พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
สังฆานุกรสวมเสื้อกาลุลา อาภรณ์ของบาทหลวง
ภาพ : Mario De Antonio

ไปงานบวชมา

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีงานบวชจัดขึ้นหลายงาน ทั้งงานแต่งตั้งผู้อ่านพระคัมภีร์และผู้ช่วยพิธีกรรมซึ่งจัดขึ้นที่วิทยาลัยแสงธรรม สามพราน งานบวชบิชอปใหม่คือ ท่านอันตน-วีระเดช ใจเสรี ของมุขมณฑลท่าแร่-หนองแสง ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่แทน บิชอปหลุยส์-จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ และงานบวชบาทหลวงใหม่ 3 รูป ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญคือ คุณพ่อธงชัย ทองรส, คุณพ่อเปโตร-ณัฐพล เอี่ยมเศรษฐี, คุณพ่ออวิรุทธ์ พันธ์ขาว 

งานสุดท้ายนี้ ตัวผมเองก็ได้ไปร่วมงานด้วยเพื่อเก็บภาพ แม้ว่าอาสนวิหารจะมีขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะบรรจุผู้ร่วมงานได้ทั้งหมด บางส่วนก็ต้องรออยู่ข้างนอก ดังนั้น ภาพในงานนี้จึงได้รับความอนุเคราะห์จากเพื่อนๆ พี่ๆ ช่างภาพของพระศาสนจักรหลายท่าน 

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากร่วมพิธีกรรมงานบวชในศาสนาคริสต์ ติดตามข่าวสารได้ในสื่อมวลชนคาทอลิก อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ซึ่งจะประชาสัมพันธ์งานบวชให้ทราบล่วงหน้าทุกปี โดยมากมักจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ฉลองอัสสัมชัญ หรือแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ อันเป็นองค์อุปถัมภ์ของพระศาสนจักรไทย หรือใครอยากได้ข้อมูลง่ายๆ เกี่ยวกับความเป็นบาทหลวง (Priesthood) ก็หาอ่านได้จากหนังสือชื่อ บาทหลวง คือใคร ทำอะไร สึกได้ไหม แต่งงานได้ไหม ของคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง

พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
บาทหลวงใหม่ทั้งสามท่าน
ภาพ : Mario De Antonio
พิธีบวชพระของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วยวิธีแบบไทยๆ, บวชบาทหลวง
บาทหลวงใหม่สามท่านอวยพรผู้มาร่วมพิธี
ภาพ : พิสุทธิ์ จรินทิพย์พิทักษ์

Writer & Photographer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช