วันนี้เราอยากชวนทุกคนมารู้จักกับองค์กรเล็กๆ ที่มีสมาชิกอายุรวมกันหลักแสน ดำเนินกิจการอย่างมีความสุขมาแล้ว 20 ปี มีเป้าหมายที่จะสร้างสังคมอายุยืนให้ผู้สูงวัยเป็นเหมือนต้นไม้ยืนต้นที่ไม่เหี่ยวเฉาและรู้สึกมีคุณค่า ผ่านชั้นเรียนและกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้ผู้สูงอายุ ‘อินเทรนด์’ ได้เท่ากับคนวัยหนุ่มสาว อย่างการใช้ไอแพด การตัดต่อแบบง่าย การวาดสีน้ำ หรือแม้แต่การทำหนังสั้น 

องค์กรนี้ชื่อว่า OPPY CLUB

OPPY CLUB เริ่มจากการเป็นคลับสำหรับเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีของผู้สูงวัย พัฒนาและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยเรื่อยมา จนกลายเป็นคลับที่มีกิจกรรมสร้างความสมดุลให้กับผู้สูงวัยในยุคดิจิทัลแบบทุกวันนี้ 

ใครๆ ก็บอกว่าผู้สูงอายุสอนยาก บ้างก็บอกว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ OPPY CLUB พิสูจน์แล้วว่าการออกแบบการสอนที่ดีจะทำให้สอนอะไรก็ได้ การเข้าใจสังคมผู้สูงอายุที่มีความต้องการเฉพาะ การเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มาก ก็จะทำให้เป็นที่น่าไว้วางใจ 

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

ไม่ใช่แค่ ‘ทำให้’ แต่ทำให้เขา ‘ทำได้’ 

พอ The Cloud อยากจะเล่าเรื่องของ OPPY CLUB ทุกแหล่งข่าวก็แนะนำให้ไปคุยกับ ครูเจี๊ยบ-สุธีรา จำลองศุภลักษณ์ ผู้เป็นครูใหญ่บุกเบิก OPPY CLUB มาตั้งแต่วันแรก และเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพา OPPY CLUB มาถึงทุกวันนี้ 

ก่อนอื่นเลยอยากให้มารู้จักครูเจี๊ยบกันก่อน 

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

ขวัญใจของนักเรียน OPPY CLUB ท่านนี้ มีความสามารถพิเศษที่มาจากสมองและหัวใจ

ถ้าจะแนะนำครูเจี๊ยบกันตามเรซูเม่ ครูเจี๊ยบเรียนจบด้านเทคโนโลยีการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรียนต่อด้าน Media Technology ที่สหรัฐอเมริกา แล้วก็พ่วงปริญญาด้าน Training and Development อีกสาขา เรียกว่ามีคุณวุฒิในการเป็นครูที่เหนียวแน่นมาก 

แต่ถ้าอยากรู้คุณสมบัติที่ทำให้ครูเจี๊ยบครองเวทีครูใหญ่ OPPY CLUB มาได้ยาวนานขนาดนี้ เรามั่นใจว่าต้องยกความดีความชอบให้ความเมตตาและความใส่ใจ

“การสอนผู้สูงอายุมีแต่คนบอกว่ายาก บางคนถึงกับบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ สอนยังไงเขาก็ไม่เข้าใจ สอนยังไงเขาก็จำไม่ได้ แต่เราเชื่อว่ากระบวนการออกแบบการสอนที่ดี ความเอาใจใส่ และความเข้าใจเขา จะทำให้เราสอนเรื่องยากๆ กับผู้สูงอายุได้ และเมื่อผู้สูงอายุภูมิใจกับศักยภาพของตัวเองอีกครั้ง เขาจะมีความสุขมากและเราก็จะมีความสุขไปด้วย” 

นี่คือสิ่งที่ครูเจี๊ยบเชื่อและทำแบบไม่มีวันหยุดมาตลอด 20 ปี

ก่อนจะอ่านย่อหน้าถัดไป ขอสปอยล์ก่อนเลยว่า OPPY CLUB ไม่เหมือนหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุเจ้าอื่น ที่นี่ไม่ได้มีแต่การสอนแบบเข้าห้องเรียน แต่ยังเป็นกลุ่มสังคมที่ชวนกันทำเรื่องสนุกๆ เป็นโรงเรียนที่นักเรียนอยากจะมากันทุกวัน 

เป็นแหล่งรวมพลังงานบวกของกลุ่มผู้สูงอายุที่เชื่อว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขและความแก่คือเรื่องไกลตัว พวกเขาเชื่อว่าชีวิตที่ดีคือการมีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ แถมมีคุณครูใจดีผู้แสนจะเข้าอกเข้าใจ

ถ้าเช็กชื่อกันครบแล้ว มาฟังครูเจี๊ยบเล่า 20 เรื่อง ในรอบ 20 ปีของ OPPY CLUB กัน

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

01 อินเทอร์เน็ต เวิลด์ไวด์เว็บ และอีเมล เป็นเรื่องใหญ่เรื่องใหม่เมื่อ พ.ศ. 2541

ไม่ต่างจากการเปิดตัวร้านใหม่ในห้างฯ ใจกลางเมือง ในช่วง พ.ศ. 2541 มีคนไม่น้อยตื่นเต้นกับสิ่งที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต เวิลด์ไวด์เว็บ และอีเมล ใครก็ตามที่ได้ครอบครองของเหล่านี้ถือว่าเป็นคนทันสมัย

เช่นเดียวกับ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ในวัย 70 ปี ท่านเป็นผู้บริหารยุคแรกๆ ที่ใช้อีเมลสื่อสารกับพนักงาน ส่วนใหญ่เป็นคำพูดและบทเรียนสั้นๆ ที่ท่านอยากจะแบ่งปัน ซึ่งพนักงานล็อกซเล่ย์ในยุคนั้นทุกคนต่างคุ้นเคยกับอีเมลที่มีชื่อหัวข้อว่า ‘Word of Wisdom’ ซึ่งหากคุณพบและเผลอไปสบตาท่านโดยบังเอิญ ท่านจะถามคุณว่า “วันนี้ได้อ่าน Word of Wisdom หรือยัง” คล้ายจะบอกให้หมั่นเช็กอินบ็อกซ์ทุกวัน

ใช่ ยุคนั้นเราเช็กอีเมลกันวันละครั้งก็พอ

นอกจากชวนให้พนักงานใช้แล้ว ท่านก็อยากแนะนำให้เพื่อนวัยเดียวกันเป็นคนทันสมัยด้วย จะได้เขียนอีเมลคุยกันให้สนุกสนาน แก๊งเพื่อนวัยเกษียณทั้ง 12 ท่านของคุณหญิงจึงเข้ามาเป็นนักเรียนชั้นเรียนการใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น ซึ่งเป็นชั้นเรียนที่บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) จัดสอนให้ลูกค้าสมาชิกอินเทอร์เน็ตในยุคนั้น

“เรามารู้ทีหลังว่า กลุ่มเพื่อนคุณหญิงชัชนีไม่มีใครเรียนรู้เรื่อง แล้วก็เขินจึงไม่กล้ายกมือถาม เนื่องจากเราข้ามวิชาพื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ไปสอนเรื่องอินเทอร์เน็ตเลย เขาตามไม่ทัน” ครูเจี๊ยบเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่มีนักเรียนวัยเกษียณในชั้นเรียน แต่ต้องกลับบ้านไปอย่างงงๆ

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

02 ทำให้เกิดธุรกิจที่มองไกลอย่างคนวัยสายตายาว และมีชื่อเรียกน่ารักๆ ว่า OPPY ย่อมาจาก Old People Playing Young 

เมื่อรู้ว่าสอนรวมไม่น่าจะดี คุณหญิงชัชนีก็เลยขอให้ออกแบบหลักสูตรสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ครูเจี๊ยบใช้เวลาออกแบบการสอนสำหรับผู้สูงวัยอยู่หลายเดือน และทดลองสอนครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2542 ในรูปแบบชมรมที่คุณหญิงชัชนีตั้งชื่อเองว่า ‘OPPY’ ย่อมาจาก Old People Playing Young

03 OPPY CLUB เป็นธุรกิจที่เกิดจากวิสัยทัศน์เพื่อลดช่องว่างระหว่างผู้สูงวัยและคนอื่นๆ ในครอบครัว 

อินเทอร์เน็ตทำให้โลกของคนหนุ่มสาวขยายใหญ่ขึ้นแบบไร้ขีดจำกัด และเริ่มเป็นโลกที่ผู้สูงอายุในบ้านเข้าไม่ถึง ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยเลยมีทีท่าว่าจะขยายตัวมากขึ้น แปรผันตามอัตราเร่งของการพัฒนาเทคโนโลยี 

“คุณหญิงชัชนีมองเห็นปัญหานี้ เลยออกแบบ OPPY CLUB ให้เป็นชุมชนของผู้สูงอายุที่ทันยุคสมัย กระฉับกระเฉง และรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองอยู่เสมอ ผู้สูงอายุจะต้องไม่ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลังหรือรู้สึกเป็นภาระ” ครูเจี๊ยบเล่าวิสัยทัศน์ของคุณหญิงชัชนีที่มีมาก่อนกาล

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

04 ชั้นเรียนคาบปฐมฤกษ์ มีคนเรียน 8 คน คนสอน 3 คน ครูผู้ช่วย 2 คน คนมาเชียร์ที่หลังห้องอีก 20 และมีบทเรียนแรกเป็นเรื่องการใช้เมาส์

OPPY CLUB รุ่นที่ 1 มีนักเรียนเป็นเพื่อนๆ ของคุณหญิงชัชนี ซึ่งล้วนแต่อายุราว 70 ปีกันทุกคน 

“ทุกคนอยากเรียนรู้วิธีใช้คอมพิวเตอร์และการส่งอีเมล แต่จะให้ไปเรียนที่อื่นก็เรียนไม่ทันเขา บางคนใช้สำหรับส่งอีเมลถึงลูกหลานที่อยู่ต่างประเทศ บางคนก็อยากจะตามยุคตามสมัยให้ทัน จะได้ไม่พูดจาคนละภาษากับลูกหลาน” ครูเจี๊ยบเล่า

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องการใช้อีเมล วิชาแรกที่ครูเจี๊ยบต้องพาทุกคนผ่านไปให้ได้ คือบทเรียนเรื่องการใช้เมาส์ 

ไม่ต่างจากคนเข้าครัวแล้วจับตะหลิวและกระทะครั้งแรก ที่ท่าทาง องศา และจังหวะ อาจจะแปลกๆ ไปหน่อย และแม้มีสูตรให้พร้อม แต่ก็ไม่มีใครบอกเรื่องสำคัญๆ อย่างเราควรเทน้ำมันลงกระทะตอนไหน เพราะคิดไปเองว่าทุกคนคงจะรู้แล้ว 

การจับเมาส์เป็นครั้งแรกของผู้สูงอายุก็เช่นกัน ครูเจี๊ยบเล่าว่าเธอใช้เวลาสอนการคลิกเมาส์และขยับลูกศรบนจอไป 3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง

“เราสอนตั้งแต่การต้องวางเมาส์ไว้ที่พื้นโต๊ะมันถึงจะทำงาน และถ้ายกเมาส์ขึ้นลูกศรบนจอจะหยุดเคลื่อนที่ ต้องบอกทุกคนให้สบายใจว่าเรายกเมาส์ขึ้นจากโต๊ะกลับมาที่เดิม ก่อนที่จะเริ่มควบคุมลูกศรใหม่ได้ เราเห็นนักเรียนหลายคนลากเมาส์ไปจนถึงโต๊ะข้างๆ เพื่อพยายามเอาลูกศรจากมุมซ้ายไปมุมขวา และบางคนก็ยกมือขอความช่วยเหลือว่าลูกศรไม่ยอมเคลื่อนที่ ซึ่งพอเข้าไปดูก็พบว่าเขาเกร็งจนไม่รู้ตัวว่ามือยกเมาส์ขึ้นมาจากโต๊ะ” ครูเจี๊ยบเล่าความคาดไม่ถึงในชั้นเรียนแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้วได้สนุกเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

สื่อการสอนเรื่องวิชาการใช้เมาส์ 101 ที่ครูเจี๊ยบใช้ก็น่ารักมาก ครูเจี๊ยบเลือกเกมไพ่ Solitaire มาให้นักเรียนวัยเกษียณของเธอเล่น และมอบหมายให้กลับไปเล่นเป็นการบ้านด้วย

“เกมไพ่ Solitaire มีทั้งการคลิก การปล่อย การลากเมาส์ เล่นไปก็เพลิน ให้เขาหัดบ่อยๆ ไม่มีใครอยากเรียนแบบเครียดๆ หรอกค่ะ” ครูเจี๊ยบบอกพร้อมยิ้มใจดี และเราก็เห็นด้วย 1,000 เปอร์เซ็นต์

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

05 OPPY CLUB เน้นสร้างห้องเรียนให้สนุก สำหรับวัยที่ลุก นั่ง ไม่ค่อยสบาย

“การสอนผู้สูงอายุ เราต้องเข้าใจข้อจำกัดทั้งหมดของเขา ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางด้านสรีระที่นั่งนานไม่ได้ การรับรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ช้าลง การมีแว่นที่ต้องถอดเข้าถอดออก พฤติกรรมการเรียนรู้ที่ไม่ชอบอะไรวิชาการมาก ความรู้และประสบการณ์ที่แต่ละคนยึดติดกันมาก่อน หรือแม้แต่จิตวิทยาที่จะทำให้เขายอมทำเรื่องยากๆ ให้ได้” ครูเจี๊ยบเล่าวิธีการเอาชนะใจนักเรียนวัยเก๋ามาได้หลายต่อหลายรุ่น 

ที่ใครๆ บอกว่าไม้แก่ดัดยาก ครูเจี๊ยบขอยกมือคัดค้าน ครูเจี๊ยบพิสูจน์มาด้วยตัวเองแล้วว่าไม้แก่ดัดได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาสักหน่อย

การสอนของ OPPY CLUB แต่ละครั้งเน้นการฝึกและอธิบายซ้ำๆ อย่างช้าๆ ครูเจี๊ยบจะเลือกวิธีที่ทำได้ง่าย เพื่อให้นักเรียนมีแรงใจว่าเรื่องนี้มันไม่ได้เกินความสามารถ แล้วค่อยชวนให้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ กันต่อไป

กฎเกณฑ์ของห้องเรียน OPPY CLUB ก็สร้างเสริมกำลังใจโดยการให้ยกมือถามได้ตลอดเวลา และจะยึดคนที่ทำได้ช้าที่สุดในห้องเป็นหลัก เพราะครูเจี๊ยบบอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ใครที่นั่งข้างๆ ช่วยได้ก็ให้ช่วยเพื่อน ใครทำได้แล้วก็รอกันหน่อยจะได้เรียนไปพร้อมๆ กัน พอห้องเรียนเป็นแบบนี้ก็เลยเกิดเป็นสังคมของการเกื้อกูล ไม่ว่าใครจะเป็นดอกเตอร์ ศาสตราจารย์ รัฐมนตรี เมื่อมานั่งเรียนที่นี่ก็ไม่มีแล้ว ทุกอย่างหายไปหมด ทุกคนเป็นเพื่อนและเรียนรู้ร่วมกัน มีครูอยู่หน้าห้องที่จะคอยช่วยเหลือ”

แต่ผู้สูงอายุที่ดื้อก็มี ครูเจี๊ยบแอบบอก “ส่วนใหญ่จะดื้อเพราะวิธีการเรียนรู้ของที่เขาคุ้นเคยกันมา ซึ่งขัดกับกระบวนการการเรียนรู้ที่ครูออกแบบเอาไว้ เช่น ตั้งใจจดทุกคำที่ครูพูด แต่ไม่ยอมทำตามที่ครูกำลังสอน ก็เลยต้องมาขอให้พูดทวนอีกครั้งหลังจากที่คนอื่นได้ลองทำตามกันไปสามรอบแล้ว ครูก็ต้องใช้จิตวิทยาขั้นสูงในการโน้มน้าวให้เขายอมทำตามที่เราแนะนำ”

06 OPPY CLUB เปิดสอนเป็นชั้นเรียนเล็กๆ ที่แม้จะเรียนสนุก แต่ก็เข้มงวดกับการสอนและความพร้อมของทั้งเครื่องและคนตลอดเวลา

ก่อนเข้าห้องเรียน OPPY CLUB มีทีมงานคอยเช็กอุปกรณ์ว่ามีโปรแกรมที่จะเรียนพร้อมไหม มีหน่วยความจำพอหรือเปล่า แบตเตอรี่ชาร์จมาพอไหม และในขณะเดียวกันก็เช็กความพร้อมของตัวผู้เรียนไปด้วย เช่น พูดได้ยินไหมดีไหม สายตามองเห็นได้ดีอยู่หรือเปล่า ความเข้าใจพื้นฐานต่างๆ มีมากน้อยแค่ไหน 

เพราะเรื่องพวกนี้อาจทำให้เขาเรียนไม่สนุก ครูเจี๊ยบจะให้ทีมงานมาเล่าให้ฟังก่อนเข้าชั้นเรียน เราจะได้จัดที่นั่งให้ อย่างคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากหน่อยให้นั่งบริเวณที่ครูช่วยได้สะดวก และระหว่างเรียนจะได้ก็คอยสังเกตเป็นคนคนไป

OPPY CLUB สอนเป็นคลาสเล็กเสมอ เพื่อให้ครูเข้าถึงได้ทุกคน “ครูจะมองหน้านักเรียนทุกๆ คนเสมอว่าเขาเข้าใจไหม เขาขมวดคิ้วใส่เราหรือเปล่า ต้องคอยฟังเสียงตัวเองตลอดเวลาที่เราสอนด้วย จะได้รู้ว่าที่เขาขมวดคิ้วนี่เพราะประโยคไหนที่เราพูดออกไป” ครูเจี๊ยบเล่าให้ฟังถึงความเข้มงวดที่เธอย้ำทั้งกับตัวเองและทีมงานอยู่เสมอ

07 หลักสูตรการสอนทุกวิชาผ่านการออกแบบเพื่อให้ผู้สูงอายุทำสิ่งนั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง แบบไม่ต้องมีคนคอยช่วย แม้จะไม่เข้าใจทั้งหมดก็ไม่เป็นไร

เรื่องที่ครูเจี๊ยบให้ความสำคัญสุดๆ คือการทำให้ผู้เรียนทำเรื่องที่เขาอยากทำได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ถอดใจไปเสียก่อน 

ครูเจี๊ยบจะเรียงลำดับการสอนให้เริ่มจากสิ่งง่ายๆ ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้ง ข้ามเรื่องทฤษฎีไปเลย เพราะถ้ามันฟังดูยากหรือซับซ้อน คนเรียนอาจจะถอดใจ เขาแค่ต้องรู้ว่าจะทำสิ่งเหล่านั้นได้ยังไง

“อย่างการใช้อีเมล เราก็ไม่ต้องสอนตั้งแต่วิธีการสมัคร เพราะว่าการสมัครทำแค่ครั้งเดียว เขาไม่จำเป็นต้องทำเป็นก็ได้ ครูก็เลยให้ผู้ช่วยเป็นคนเปิดอีเมลและติดตั้งในเครื่องให้ทุกคน พอเริ่มชั่วโมงก็จะได้เรียนการใช้อีเมลได้เลย” 

ครูเจี๊ยบใช้วิชาการออกแบบการสอน (Instructional Design) ด้วย ADDIE model ที่ต้องตั้งต้นจากการวิเคราะห์ผู้เรียนในทุกๆ ด้าน เช่น เขาเป็นคนยังไง อายุเท่าไหร่ การศึกษาเป็นอย่างไร ใช้เทคโนโลยีได้แค่ไหน พื้นฐานของเขาเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ครูเจี๊ยบบอกว่าต้องวิเคราะห์ให้ขาด 

จากนั้นก็มาวิเคราะห์ต่อว่าเนื้อหาอะไรที่เหมาะสมกับคนกลุ่มนี้ 

เอาเนื้อหามาออกแบบการสอน กำหนดหัวข้อก่อนหลัง กำหนดสื่อที่จะใช้ พร้อมวางแผนการเรียนรู้ของผู้เรียนไปแบบเป็นขั้นเป็นตอน ไปจนถึงสิ่งที่จะได้เรียนรู้จากการบ้านที่ให้

และสุดท้าย คือการเก็บข้อมูลจากปฏิกิริยาของผู้เรียน เพื่อที่จะใช้ประเมินและปรับเนื้อหาการสอนอย่างต่อเนื่อง 

หลักการนี้ครูเจี๊ยบบอกว่าถ้าเข้าใจแล้ว จะออกแบบการเรียนการสอนอะไรก็ได้ เพราะเป็นการสอนที่เริ่มและจบที่ตัวผู้เรียน 

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น
OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

08 ด้วยแนวคิดการเอาผู้เรียนเป็นที่ตั้งและหลักการออกแบบการสอน ทำให้ OPPY CLUB มีหลักสูตรสนุกๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีสถาบันไหนทำได้

แม้ทุกวันนี้จะมีสถาบันสอนกิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุมากขึ้นแล้ว แต่บางคลาสก็ไม่ได้มีเปิดสอนทั่วไป จะหาได้แค่ที่ OPPY CLUB เท่านั้น และความพิเศษนี้ก็ไม่ใช่เพราะความอยู่มานาน แต่เป็นเพราะความใส่ใจที่ครูเจี๊ยบจะฟังผู้เรียนเสมอ

“อะไรที่เขาอยากจะเรียน ครูก็จะไปหาวิธีมาสอน” แบบนี้แหละครูเจี๊ยบถึงเป็นขวัญใจนักเรียน OPPY CLUB

หลายครั้งบทเรียนก็จะมาพร้อมกับของมือสองที่นักเรียนได้มรดกตกทอดมาจากลูกหลาน “ลูกให้มาไม่รู้ใช้ยังไง” เป็นคำอ้อนยอดฮิตที่ครูเจี๊ยบมักจะแพ้ทาง และไปนั่งเขียนหลักสูตรมาเปิดคลาสใหม่ๆ อยู่ร่ำไป

09 มีวิชาเรียนถ่ายภาพ เรียนทำ Photoshop ใช้ iMovie ทำ Flash ออกทริปถ่ายภาพ และโครงการผลิตหนังสั้นที่อำนวยการสร้างโดย OPPY CLUB

เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีนักเรียนถือกล้องดิจิทัลมาอ้อน ครูเจี๊ยบก็ไปหาวิธีมาเพื่อเปิดคลาสสอนถ่ายภาพ

และเพื่อความจริงจังสำหรับคลาสที่ชื่อ ‘นักถ่ายภาพดิจิทัลมือสมัครเล่น’ ครูเจี๊ยบไปชวนทีมครูจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสอนการใช้กล้องดิจิทัลได้ทุกยี่ห้อมาสอนถ่ายภาพ และ OPPY CLUB ก็พ่วงวิธีโหลดรูปลงเครื่อง และสอนวิธีทำวิดีโอประกอบเสียงเพลงจากรูปเพื่อใช้ส่งไปอวดใครต่อใครให้ด้วย 

คลาส ‘นักถ่ายภาพดิจิทัลมือสมัครเล่น’ กลายเป็นคลาสยอดฮิตติดชาร์ตของ OPPY CLUB จนได้รับการพัฒนาเรื่อยมาเป็นหลักสูตรที่บางโปรแกรมเรายังใช้ไม่เป็น เช่น การแต่งภาพด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop วางเลย์เอาต์ด้วย Adobe Illustrator ทำแอนิเมชันด้วย Flash เรียนการใช้ iMovie เลยเถิดไปจนมีการออกทริปไปถ่ายภาพตามธีม สมาชิก OPPY CLUB ได้มีรูปสวยๆ คลิปล้ำๆ ส่งอวดเพื่อนฝูงและลูกหลานจนติดอกติดใจและพัฒนาฝีมือกันมาเรื่อยๆ จนถึงขั้นทำหนังสั้นออกฉายทางยูทูบ! 

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

10 หนังสั้นเรื่องแรกของค่าย OPPY CLUB ชื่อเรื่อง Home Sweet Home เป็นการทำงานร่วมกันของผู้สูงอายุที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ทางโลกกับคนหนุ่มที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ทางหนัง

เมื่อปีก่อน OPPY CLUB เปิดคลาสสอนทำหนังสั้น โดยเชิญ เดียว-วิชชพัชร์ โกจิ๋ว หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ แฟนฉัน และผู้บริหารบริษัท น้ำดีไม้งาม จำกัด ในเครือ GDH มาเป็นผู้สอน และครูเจี๊ยบเป็นคนออกแบบการสอนเหมือนเคย ทีมงานประกอบไปด้วยนักเรียน OPPY CLUB 4 คน และนักเรียนคลาสตัวต่อตัวกับครูเจี๊ยบอีก 1 คน 

ทั้ง 5 คนเป็นคนเขียนบท เขียนสคริปต์ ทำสตอรี่บอร์ดกันเองทั้งหมด รวมทั้งเป็นนักแสดงเองด้วย ส่วนครูเดียวก็ได้สอนวิชาการเล่าเรื่องด้วยภาพ ขั้นตอนการถ่ายทำ การกำกับการแสดง จนถึงได้มีการออกกองถ่ายทำกันจริงๆ และได้หนังสั้นออกมา 1 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ลึกซึ้ง เพราะกลั่นกรองมาจากประสบการณ์และเรื่องราวในชีวิตของผู้ที่เห็นโลกมานานอย่างผู้สูงวัย 

11 วิสัยทัศน์ของ OPPY CLUB ฉายชัดบนจอรอบปฐมทัศน์ของ Home Sweet Home

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีงานเปิดตัวจริงจัง ทีมงานได้เชิญเพื่อน เชิญครอบครัวมาดูการฉายรอบปฐมทัศน์กันที่ OPPY CLUB บนเวทีมีการพูดถึงประสบการณ์การทำหนังเรื่องนี้เหมือนกับงานเปิดตัวภาพยนตร์ของมืออาชีพ สิ่งที่สะท้อนออกมาจากโปรเจกต์นี้ ครูเจี๊ยบบอกว่ามันคือสุดยอดของความเป็น OPPY CLUB

“เราได้พาผู้สูงอายุมาทำอะไรที่เขาไม่คิดว่าเขาจะทำได้ พิสูจน์ให้คนทั่วไปเป็นว่าพวกเขาเป็นผู้สูงอายุที่กระฉับกระเฉง รู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง มันเจ๋งนะ และที่สำคัญนักเรียนเขาก็ภาคภูมิใจ”

12 หลังจากเห็นพลังการเอาประสบการณ์ในชีวิตออกมาเล่าเป็นเรื่องราว OPPY CLUB ก็เลยมีแนวคิดชวนสมาชิกมาทำคลิปเป็นยูทูเบอร์ด้วย 

ถ้าใครสนใจก็ไปสับตะไคร้ (Subscribe) แชนแนล OPPY คลับแห่งความสุขของผู้สูงวัย เอาไว้ก่อนได้เลย

13 OPPY ไม่จำกัดตัวเองแค่หลักสูตรเกี่ยวกับเทคโนโลยีและความทันสมัย แต่ในวันที่ผู้สูงอายุติดหน้าจอกันมากเกินไป OPPY CLUB ก็มีหลักสูตรดีท็อกซ์เพื่อสร้างสมดุล

 “พอเราสอนเขาเรื่องสนุกๆ สอนเขาใช้อุปกรณ์ต่างๆ เป็น คราวนี้ก็เลยเล่นกันไม่เลิก เกิดเป็นปัญหาปวดคอ ปวดหลัง นิ้วล็อก หรือไม่ก็ติดจอจนไม่เป็นอันทำอะไร” ครูเจี๊ยบพูดถึงนักเรียนตัวแสบอย่างระอาระคนเอ็นดู

ครูเจี๊ยบไปศึกษาเพิ่มเติมแล้วพบว่าการอยู่กับเครื่องมือเทคโนโลยีมากเกินไป ทำให้สมองส่วนความคิดสร้างสรรค์ไม่ทำงาน และคนอายุ 50 ปีขึ้นไปสมองซีกขวาก็จะเสื่อมลงอย่างรวดเร็วเพราะว่าไม่ได้ใช้ 

“OPPY CLUB ก็เลยเริ่มมีหลักสูตรเพื่อการพัฒนาสมองทุกๆ ด้าน เช่น การวาดภาพสีน้ำ การเรียนเต้น เรียนร้องเพลง มันมีประโยชน์กับผู้สูงอายุในหลายด้าน เช่น เรื่องอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ เบาหวาน ทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉง คลายเหงา หรือแม้แต่ลดอาการซึมเศร้าได้ด้วย” ครูเจี๊ยบเล่า

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น
OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

14 OPPY CLUB ไม่ใช่แค่ห้องเรียน แต่เป็นสถานที่แฮงก์เอาต์ที่สมาชิกอยากมาทุกวัน OPPY CLUB ก็เลยมีทางเลือกให้นักเรียนจ่ายค่าเรียนเป็นแบบสมาชิกรายปี พร้อมรับสิทธิ์เข้าเรียนวิชาของ OPPY CLUB ได้แบบบุฟเฟต์ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ พอมีสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้ OPPY CLUB ต้องหยุดการเรียนการสอน ครูเจี๊ยบก็ไม่เปิดคลาสเรียนออนไลน์ ครูเจี๊ยบเล่าว่า “การสอนออนไลน์ไม่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุเหล่านี้ เพราะเขาไม่ได้อยากได้เนื้อหามากเท่าอยากออกจากบ้านมาเจอกันที่โรงเรียน” 

ถ้าใครยังจำความรู้สึกการออกจากบ้านไปเรียนพิเศษในช่วงปิดเทอมได้ เราเชื่อว่าความรู้สึกของสมาชิก OPPY CLUB ก็คงสดชื่นและตื่นเต้นไม่ต่างกัน 

ช่วงนี้ครูเจี๊ยบก็เลยคุยกับนักเรียนผ่านแอปพลิเคชัน LINE กระตุ้นให้เขาไม่หยุดฝึกหัดเรื่องที่เรียนไป คอยคุยกันเรื่องข่าวสาร แล้วก็ชวนให้ทำการบ้านมาส่งแบบสม่ำเสมอ ครูก็จะช่วยตรวจให้ การเรียนการสอนจากที่บ้านของสมาชิก OPPY CLUB ก็เป็นประมาณนี้

15 สายสัมพันธ์สมาชิก OPPY CLUB เหนียวแน่นผ่านความใส่ใจรายบุคคล แม้เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบทเรียน

สิ่งที่ได้จากในห้องเรียน บางครั้งพอกลับไปที่บ้านก็ไม่ได้ราบรื่นเหมือนตอนมีครูอยู่ข้างๆ ครูเจี๊ยบและทีมงานผู้สอน OPPY CLUB จึงคอยเป็นที่พึ่งของนักเรียนและแก้ปัญหาให้ได้เสมอ เวลาใครมีปัญหาครูเจี๊ยบก็จะบอกว่าให้ส่ง LINE มา ถ้าครูหลับไปแล้วตื่นมาก็จะตอบ เราต้องคอยตอบเขา กระตุ้นให้เขาเกิดการเรียนรู้ และไม่กลัวที่จะถามคำถาม”

นอกจากเรื่องบทเรียนแล้ว ความไว้วางใจนี้ยังขยายความหมายไปสู่ความผูกพัน ที่ทำให้สมาชิก OPPY CLUB อยากจะแชร์เรื่องต่างๆ กับครู ซึ่งก็เป็นโอกาสให้ครูได้คอยเป็นหูเป็นตาเรื่องการรับข้อมูลจากโลกออนไลน์ของกลุ่มสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพื้นที่ที่ลูกหลานมักกังวล แต่ไร้อำนาจเข้าไปตรวจสอบ 

เรื่องนี้ครูเจี๊ยบฝากอธิบายมายังลูกๆ หลานๆ ว่า “ที่ผู้สูงอายุเชื่อทุกอย่างใน LINE ก็เพราะว่าเขาสบายใจกับการได้ข้อมูลจากไลน์ LINE มีคำตอบที่เขาสงสัยเสมอ ในขณะที่ลูกบางทีก็ไม่อยู่ตอบหรือบางทีตอบเขาก็ไม่เข้าใจ เพราะมันไม่ใช่ภาษาเดียวกัน อย่างเรื่องข้อมูลสุขภาพต่างๆ ที่ส่งต่อกันใน LINE เขาสบายใจที่จะเชื่อ แต่พอเล่าให้ลูกฟังแล้วลูกบอกว่าทำไมพ่อแม่ถึงเชื่ออะไรแบบนี้ เลยกลายเป็นว่าพ่อแม่ก็จะไม่อยากแชร์อะไร อันนี้ลูกหลานต้องระวังให้มาก เพราะถ้าเขาไม่แชร์ เราก็ไม่รู้เลยว่าเขากำลังอ่านหรือได้รับข้อมูลอะไร ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่อันตรายมาก”

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น
OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

16 ครูเจี๊ยบให้นิยามกับผู้สูงวัยใจสู้ที่ครูเจี๊ยบได้สัมผัสเหล่านี้ว่าเป็นไม้ยืนต้น คือมีคุณค่า แล้วก็ยืนหยัดได้อย่างแข็งแรง

คนเหล่านี้จะรู้สึกว่าอายุตัวเองน้อยกว่าอายุจริงอยู่ 10 ปีเสมอ นักเรียนที่อายุมากที่สุดอายุ 91 ปี เขาไม่คิดว่าร่างกายเขาเป็นอุปสรรค เขายังออกจากบ้าน มาเจอเพื่อน มามีกิจกรรมร่วมกัน และอยู่ได้อย่างไม่เป็นภาระ ครูเจี๊ยบเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอายุยืน

ครูเจี๊ยบเล่าว่าบางบทเรียนที่ OPPY CLUB สอนก็ไปสร้างความประหลาดใจให้ลูกๆ หลานๆ และทำให้ผู้สูงอายุได้กลับมามีบทบาทที่มีความหมายในครอบครัวอีกครั้ง

“มีเคสหนึ่งมาเล่าว่า หลังจากเอาวิดีโอภาพถ่ายประกอบเพลงไปให้ลูกดู ลูกเขาก็เลยบอกให้แม่รับหน้าที่ถ่ายรูปหลานตอนคลอด แล้วเอามาใส่เพลงประกอบให้หน่อย พอเราได้ยินแล้วก็ดีใจมาก ว่าสิ่งที่เราสอนได้สร้างความสุขให้เขา และช่วยลดช่องว่างในครอบครัว”

17 OPPY CLUB คือพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนปลดเปลื้องตัวเลขอายุ ตำแหน่ง และฐานะทางสังคมทั้งหมด เพื่อมาเรียนรู้สิ่งใหม่ ได้เป็นนักเรียนอีกครั้ง และเป็นโอกาสอันดีที่พวกเขาจะไม่ต้องแบกความคาดหวังของใคร 

ครูเจี๊ยบเล่าว่า “เคยมีนักเรียนคนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย พอครูเจี๊ยบถามว่าทำไมถึงมาเรียนที่นี่ เขาตอบว่าเพราะที่นี่เขาโง่ได้ แสดงความโง่ได้ทุกอย่างโดยครูไม่เคยว่าอะไรเขาเลย” 

สำหรับคนที่เต็มไปด้วยความคาดหวังจากคนรอบข้าง เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่พิเศษมากๆ

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

18 ความสำเร็จของครูไม่ใช่แค่ส่งนักเรียนไปถึงฝั่ง แต่คือการที่ได้รู้ว่านักเรียนว่ายน้ำได้เองแม้ในน่านน้ำใหม่ๆ โดยที่ไม่ต้องมีครูคอยช่วย

มีนักเรียนครูเจี๊ยบหลายคนที่กลับมาเล่าว่ากล้าที่จะไปทำเรื่องอื่นๆ หลังจากได้ก้าวข้ามความกลัวเรื่องเทคโนโลยีไปแล้ว 

“มีนักเรียนคนหนึ่งเคยมาเรียนคอมพิวเตอร์ที่ OPPY CLUB แล้วหลังจากนั้นก็ไปเรียนว่ายน้ำ ทั้งๆ ที่กลัวการเรียนว่ายน้ำมาตลอด ไปเรียนขี่ม้าพร้อมๆ กับลูก เขามาบอกครูเจี๊ยบเองเลยว่า พอได้ก้าวข้ามการเรียนคอมพิวเตอร์ที่เขาคิดว่ายากมากๆ ไปได้แล้ว ก็ไม่กลัวการเรียนรู้อะไรใหม่อีกแล้ว”

19 OPPY CLUB เล็งเห็นว่า หลักสูตรที่มีอยู่ในมือนำไปสร้างโอกาสและคุณค่าให้ผู้สูงอายุในวงกว้างได้ 

OPPY CLUB เป็นเอกชนรายเดียวที่เป็นอนุกรรมการของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีหน้าที่ทำโครงการช่วยส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับผู้สูงวัย ซึ่งบทเรียนของ OPPY CLUB ก็จะเป็นไปเพื่อสนับสนุนให้เอาสิ่งที่เรียนไปใช้ได้จริงเหมือนเดิม 

“การสอนพ่อๆ แม่ๆ จากชุมชน บางทีต้องสอนเป็นกลุ่มใหญ่ หรือสอนได้แค่ตัวแทนที่ต้องเอาไปสอนคนอื่นต่อ ครูเจี๊ยบก็จะทำคู่มือให้ แล้วก็แถมวิธีการใช้คู่มือไปให้อีกชั้นด้วย” วิญญาณความเป็นครูของครูเจี๊ยบนี่ไม่ธรรมดาจริงๆ

20 เพื่อขยายโอกาสการมอบคุณค่าผ่านการพัฒนาศักยภาพของคนคืนให้กับสังคม OPPY CLUB จึงจดทะเบียนใหม่เป็น บริษัท OPPY จำกัด เพื่อไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม

ใน พ.ศ. 2563 OPPY CLUB ได้แยกตัวจากบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ออกมาเป็นนิติบุคคล เพื่อเตรียมไปสู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเต็มตัว โดยมีหัวเรือคนเดิมคือครูเจี๊ยบ มารับหน้าที่กรรมการผู้จัดการ 

ครูเจี๊ยบบอกเราว่า “นอกจากทำธุรกิจเฉยๆ เราก็อยากจะทำเพื่อสังคมด้วย เลยตั้งใจจะใช้ความรู้ความสามารถในการออกแบบการสอนสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ มาออกแบบการสอนให้กับผู้เรียนที่มีข้อจำกัดกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือชาวบ้านตามต่างจังหวัด ให้ได้เข้าถึงโอกาสในโลกเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้ชีวิตเขาสมดุลขึ้น และหวังว่าจะได้ทำให้เขาได้พบความสุข จากการมองเห็นความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง”

OPPY โรงเรียนกวดวิชาผู้สูงวัยที่สอนตั้งแต่ใช้เมาส์ ถ่ายภาพ แต่งรูป ทำ flash กำกับและตัดต่อหนังสั้น

Lesson Learn

  • การเห็นโอกาสก่อนได้เปรียบ แต่ความได้เปรียบนั้นจะไม่มีความหมาย ถ้าไม่มีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
  • การทำธุรกิจด้วยการคิดถึงผู้บริโภคเป็นหลักและพร้อมจะปรับตัวอยู่เสมอ ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ยาวนานและมั่นคง
  • ความตั้งใจจริงและความเอาใจใส่จะสร้างความผูกพันและสาวกที่แข็งแกร่งให้ธุรกิจของเรา
  • ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราพยายามมากพอที่จะมองหาโอกาสในสิ่งนั้น

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น