“มนุษย์เป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดที่จดจำใบหน้าของตัวเองได้ ใบหน้าจึงเป็นอวัยะที่สำคัญ ไม่ต่างจากตับ หัวใจ หรือสมอง เพราะใบหน้าคือจุดเริ่มต้นของตัวตน ลองนึกภาพตาม บางคนตื่นมาแค่เป็นสิวยังรู้สึกกังวลจนต้องหาคอนซีลเลอร์มาปิดบังไว้ แต่สำหรับบางคนที่เกิดมามีใบหน้าไม่ครบ เขาจะไปหลบตรงที่ไหนได้”

นี่คือเรื่องราวของ มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Thailand) องค์กรการกุศลทางการแพทย์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร และคำพูดข้างต้นเป็นของ ทันตแพทย์หญิงยุพเรศ นิมกาญจน์ ประธานมูลนิธิสร้างรอยยิ้มแห่งประเทศไทย ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราว ‘การสร้างรอยยิ้ม’ พร้อมกับ รองศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชัย อังสพัทธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางการแพทย์ภาคสนามที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ มากว่า 20 ปี 

Operation Smile Thailand มูลนิธิที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มากว่า 20 ปี
Operation Smile Thailand มูลนิธิที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มากว่า 20 ปี

เหล่าแพทย์เล็งเห็นปัญหาและความสำคัญของการได้รับการรักษา เพราะภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ส่งผลกระทบมากกว่าความบกพร่องทางร่างกาย เช่น พูดไม่ชัด กินข้าวไม่ได้ แต่รวมถึงปัญหาทางพัฒนาการ ครอบครัว สังคม การศึกษา และคุณภาพชีวิตในอนาคต

ทั้งสองจึงตัดสินใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม โดยมีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกัน คือต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ยากไร้และเข้าไม่ถึงการรักษา

เรานั่งคุยกับทั้งสองท่านถึงเรื่องราวของมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม และการทำงานของอาสาสมัครกว่า 250 ชีวิต ซึ่งช่วยกันขับเคลื่อนสร้างรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 15,000 รอยยิ้ม

Operation Smile Thailand มูลนิธิที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มากว่า 20 ปี
01

เดินทางสร้างรอยยิ้ม

โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กเกิดใหม่จำนวน 2,000 คนในแต่ละปี หรือคิดเป็นทารก 1 ใน 700 คน จะมีภาวะปากแหว่งหรือเพดานโหว่  

มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Foundation) ก่อตั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2525 โดย นายแพทย์วิลเลียม แมกกี และภรรยา โดยพันธกิจหลักคือ ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ รวมถึงแผลไฟไหม้และความผิดปกติอื่นๆ บนใบหน้า โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้มีสำนักงานกระจายอยู่ 38 ประเทศทั่วโลก

ใน พ.ศ. 2540 มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เริ่มโครงการครั้งแรกในประเทศไทย โดยทีมแพทย์อาสาจากนานาชาติ ทำการผ่าตัดรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ให้เด็กไทยจำนวน 172 คนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จากนั้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2544 มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย ก็ได้รับการรับรองเป็นมูลนิธิ

ทำไมการรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่ถึงสำคัญ คุณหมอยุพเรศอธิบายว่า การที่เด็กทารกเกิดมาพร้อมกับลักษณะผิดปกติบนใบหน้า สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือทางกายภาพ โรคปากแหว่งเพดานโหว่ อาจเกิดเพียงอาการใดอาการหนึ่ง คือปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือเกิดทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ได้

อาการของโรคปากแหว่ง คือเกิดรอยแหว่งบริเวณริมฝีปากบน เพดานปาก บริเวณเนื้อเยื่อด้านในของเพดานปาก รอยแยกบริเวณกระดูกขากรรไกรบน หรือแผงเหงือกด้านบน การเกิดรอยแหว่งบริเวณดังกล่าวส่งผลให้ลักษณะกายภาพของหน้าเปลี่ยนไปข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ส่วนอาการของเพดานโหว่ เกิดขึ้นเมื่อเพดานปากทั้งสองด้านไม่ประสานกันอย่างสนิท ส่งผลให้เกิดรอยแยกบริเวณเพดานปากขึ้น แม้ไม่ได้ส่งผลต่อรูปหน้า แต่มักมีปัญหาการกลืนอาหาร การพูดไม่ชัด หรือการติดเชื้อในหู

นอกจากปัญหาทางกายภาพที่เห็นชัดเจนแล้ว ยังมีปัญหาอีกหลายส่วนที่ตามมา เช่น คนไข้ไม่อยากไปเจอใคร สิ่งนี้ก็ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของคนไข้อีกทอด 

นอกจากนี้ จำนวนเด็ก 1 ใน 10 ของผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ อาจเสียชีวิตก่อนอายุครบ 1 ปี หากไม่ได้รับการรักษา เหตุผลเหล่านี้จึงทำให้แพทย์อาสาตบเท้าเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิฯ เพราะมองว่าสามารถสร้างตัวตน หรือมอบโอกาสให้เด็กกลับมายิ้มได้อีกครั้ง

Operation Smile Thailand มูลนิธิที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มากว่า 20 ปี
Operation Smile Thailand มูลนิธิที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มากว่า 20 ปี

“กว่ายี่สิบปีที่ทำงานด้านอาสาสมัครจนเกือบจะเกษียณอายุข้าราชการ เรารู้แต่แรกว่าตัวงานเกี่ยวกับเด็กพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ โรคมือรั้งมือหงิกต่างๆ เป็นงานของศัลยแพทย์ตกแต่ง เป็นหน้าที่ของเรา ต่อมาแม้สาธารณสุขในประเทศไทยจะเข้มแข็ง ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่เมื่อเราได้ไปออกหน่วยทำงาน เลยทำให้เห็นว่า แม้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่งอกมาอยู่ดี” รองศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชัยเอ่ย

คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่า ยกตัวอย่างเมื่อ 30 ปีก่อน ถ้าหากบอกครอบครัวคนไข้ให้เดินทางมาผ่าตัดโรคปากแหว่งที่โรงพยาบาลจุฬาฯ สิ่งนี้เปรียบเสมือนการบอกใครสักคนบินไปรักษาโรคที่ลอนดอน หรือนิวยอร์ก เพราะการจะเดินทางมากรุงเทพฯ แต่ละครั้งของคนไข้เหล่านี้ยากลำบาก มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก และต้องมาตรวจอาการหลายครั้งกว่าจะได้รับการรักษา

มูลนิธิสร้างรอยยิ้มจึงไปเติมเต็มจุดนี้ ผ่านการการออกหน่วยแพทย์ไปแต่ละจังหวัด ซึ่งการให้คนไข้เดินทางข้ามอำเภอในจังหวัดที่เขาคุ้นเคย ดีกว่าการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ที่มีค่าใช้จ่ายอีกมหาศาล ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก เพราะคนต่างจังหวัดส่วนมากจะได้ค่าจ้างรายวัน การเดินทางมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ หลายๆ ครั้ง จึงหมายถึงครอบครัวขาดรายได้ไปด้วย

“ผมดีใจที่เขาสบายขึ้นกับการเดินทาง แต่อาจจะลำบากเราเตรียมของเยอะหน่อย เพราะการรักษาต่างถิ่นต้องระวังเรื่องอันตรายมากๆ ทั้งทีมแพทย์ วิสัญญี พยาบาล ฯลฯ อาจฟังดูยุ่งยาก แต่มันคุ้มนะ ทีมแพทย์มีค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพิ่มที่ไม่ได้สูงอะไร และอาสาสมัครเหล่านี้ก็ต้องเสียวันลาพักร้อนมาเอง เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายของคนไข้แล้วแบบนี้คุ้มกว่า ผมมองว่าอาสาสมัครทุกคนคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งนี้มีประโยชน์มากกว่า เลยทำกันต่อมาเรื่อยๆ ”

Operation Smile Thailand มูลนิธิที่สร้างรอยยิ้มให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่มากว่า 20 ปี
02

มอบตัวตน

สาเหตุการเกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีสาเหตุร่วมหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อม อาหาร และยา การขาดสารอาหารบางอย่างหรือได้รับยาอันตรายบางอย่าง สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบรวมๆ ที่ทำให้เกิดโรค

โรคเพดานโหว่สัมพันธ์กับปัญหาหลักๆ 2 อย่าง คือ 1) การกลืน การกิน รูปหน้า 2) พูดไม่ชัด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญมาก เพราะเมื่อเด็กพูดไม่ชัดก็หางานที่ดีได้ยาก ส่งผลให้รายได้ไม่ดี ทางมูลนิธิจึงเข้ารักษาตั้งแต่เริ่มต้น โดยเริ่มผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ในผู้ป่วยอายุ 3 – 4 เดือน และจะนัดผ่าตัดเพดานโหว่ในอายุ 1 ปี

“เพราะโรคปากแหว่งเพดานโหว่ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับตัวเด็กหรือคนไข้ แต่ส่งปัญหาไปทั้งครอบครัว ถ้าช่วยตรงนี้ได้ตั้งแต่ต้นมันคงดีกว่า สิ่งที่เราต้องการคือทำให้เขามั่นใจขึ้น เพราะสิ่งที่เด็กๆ หรือผู้ป่วยเหล่านี้ต้องการมากที่สุดคือการกลับไปเป็นปกติ” 

คุณหมออภิชัยเล่าต่อว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อาจไม่อยากไปโรงเรียนเพราะโดนเพื่อนล้อ สมัยโบราณบ้านไหนมีลูกเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ก็มักเก็บลูกไว้ในบ้าน จนทำให้ขาดการศึกษา ขาดปฏิสัมพันธ์กับสังคม บางครั้งเมื่อเด็กถูกล้อ ถูกกลั่นแกล้งมากๆ อาจส่งผลให้กลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าวหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้

ดังนั้น หลังการเข้ารับการผ่าตัดรักษาเเละพูดชัดแล้ว พัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กก็จะดีตามไปด้วย เพราะผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องสมอง เมื่อเด็กมีความมั่นใจ เข้ากับสังคมได้ ทุกอย่างก็จะไปตามครรลองของมัน คือ เรียนหนังสือดีขึ้น มีโอกาสได้งานที่ดีขึ้น มีสถานะทางสังคม และครอบครัวก็จะกลับสู่สมดุลปกติ

Operation Smile  Thailand มูลนิธิที่มุ่งแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้เด็กๆ ทั่วไทย สร้างตัวตนและรอยยิ้มให้ทั้งครอบครัว
03

ออกหน่วยรักษา

         การออกหน่วยเป็นเพียงก้าวแรกของการเดินทาง 100 กิโลเมตรเท่านั้น นี่คือคำอธิบายการทำงานของมูลนิธิสร้างรอยยิ้มจากคุณหมอยุพเรศ โดยเฉลี่ยแล้วทางมูลนิธิจะออกหน่วยทีมแพทย์ใหญ่ๆ ประมาณปีละ 4 – 5 ครั้ง ไม่รวมการออกหน่วยย่อย ซึ่งการออกหน่วยแต่ละครั้งจะใช้เวลาเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ การประสานงาน จัดตารางทีมอาสาสมัคร ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อให้การผ่าตัดปลอดภัยมากที่สุด และรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอ

         การออกหน่วยใหญ่ เป็นการพาทีมอาสาสมัครไปอยู่ที่โรงพยาบาลปลายทางหรือจังหวัดนั้นๆ ประมาณ 7 – 10 วัน การเลือกจังหวัดหรือโรงพยาบาลในการช่วยเหลือผ่าตัดแต่ละครั้ง จะผ่านการสำรวจยอดผู้ป่วยก่อนว่าจังหวัดไหนต้องการความช่วยเหลือ ผ่านการร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐ ยกตัวอย่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นหน่วยประจำปีที่จะกำหนดไว้เลยว่า สัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน ทางมูลนิธิสร้างรอยยิ้มจะออกหน่วยรักษาที่นี่

         ชาวมูลนิธิสร้างรอยยิ้มอธิบายต่อว่า ที่ต้องแจ้งวันไว้ล่วงหน้า เพราะคนไข้ในพื้นที่อำเภอแม่สอดมีค่อนข้างเยอะและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บางคนอยู่บนเขา ไม่มีแม้แต่สัญญาณวิทยุ เพราะฉะนั้น การกำหนดวัน-เวลาไว้ล่วงหน้า จะทำให้คนไข้เตรียมร่างกาย เตรียมการเดินทางสำหรับเข้ารับผ่าตัดได้ ที่ผ่านมาคนไข้บางคนต้องเดินเท้า 2 วันออกจากหมู่บ้านบนเขา เพื่อมาจุดรอรถกระบะลงจากเขา และทางมูลนิธิต้องประสานงานให้คนไปรอรับคนไข้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งการเดินทางในแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 2 – 3 วัน การบอกคนไข้ล่วงหน้าจึงจำเป็นมาก 

นอกจากนี้ ทางมูลนิธิสร้างรอยยิ้มต้องประสานงานกับทางโรงพยาบาลอีกทีหนึ่ง เพื่อให้รับดูแลคนไข้ก่อน เพราะการเข้ารับผ่าตัด ผู้ป่วยต้องมีสุขภาพแข็งแรง หากเป็นหวัด เป็นไข้ หรือปอดบวม จะรับผ่าตัดให้ไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงต่อการดมยาสลบ  

“นอกจากการออกหน่วยผ่าตัดแล้ว ทางมูลนิธิสร้างรอยยิ้มยังมีโครงการ On Going คือสนับสนุนค่าใช้จ่ายเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นต่อการรักษา โดยทางโรงพยาบาลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น ทางโรงพยาบาลมีหมอศัลยแพทย์ตกแต่ง มีทันตแพทย์เพียงพอ แต่ขาดเครื่องมือ ก็ขอการสนับสนุนได้ หรือบางโรงพยาบาลมีเครื่องมือ แต่ทีมแพทย์ไม่เพียงพอต่อคนไข้ ก็ขอทีมแพทย์จากเราไปช่วยเหลือได้ โดยไม่ต้องจัดชุมทีมแพทย์ใหญ่ ”

นอกจากการรักษาคนไข้เป็นเรื่องสำคัญแล้ว คุณหมออภิชัยยังมองว่า การออกหน่วยรักษากับแพทย์รุ่นใหม่หรือแพทย์ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน จะส่งผลให้หมอเหล่านี้มีความชำนาญ และให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันตัวเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับหมอรุ่นใหม่เช่นกัน

Operation Smile  Thailand มูลนิธิที่มุ่งแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้เด็กๆ ทั่วไทย สร้างตัวตนและรอยยิ้มให้ทั้งครอบครัว
04

รอยยิ้มของทุกคน

“สิ่งที่ผมเห็นจากการเป็นอาสาสมัครและลงภาคสนามมากว่ายี่สิบปี มีอะไรมากเกินกว่าจะอธิบายได้ ถ้าเราไปดูคนไข้ญาติคนไข้ก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด เวลาจ้องเข้าไปนัยน์ตาของแม่หรือปู่ย่า พูดง่ายๆ ว่าการมองเห็นแค่ครั้งเดียว มันดีกว่าเรามาฟังเขานั่งอธิบาย แค่ดูด้วยตาเราก็รับรู้แล้วว่า เขาดีใจมากแค่ไหน

“ในแง่ของเด็กไม่รู้อะไรหรอก ก็ร้องไห้งอแงไปเพราะเจ็บแผลผ่าตัด แต่หน้าตาของครอบครัวแสดงออกมาเลยว่าพวกเขาดีใจมาก บางทีเห็นคุณพ่อคุณแม่เฝ้าลูกร้องไห้ทั้งคืน ไม่ได้นอน เพราะเด็กเจ็บแผล แต่ตื่นเช้ามาสีหน้าพวกเขาดูไม่เหนื่อยเลย ดูมีความสุขมากๆ เพราะสำหรับพวกเขาบางทีมันเป็นไปไม่ได้เลย 

“อย่างการออกหน่วยที่แม่สอด มีคนไข้จากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางมารอมูลนิธิสร้างรอยยิ้มกว่าสองเดือน เพื่อทำใบอนุญาตต่างๆ แต่ก็มีคนที่มาแล้วผ่าตัดไม่ได้เพราะป่วยอยู่ เวลาเด็กป่วยแล้วดมยาสลบมันอันตรายมากๆ เราก็อธิบายตรงนี้ไป แต่ขณะเดียวกันเราก็เห็นสีหน้าเขาว่าเสียใจมากแค่ไหน ซึ่งเราจะบอกว่าใจเย็นๆ เดี๋ยวมาอีก เรามาตลอด ไม่ได้มาแค่ปีเดียว”

คุณหมออภิชัยยังเล่าเรื่องราวการผ่าตัดเคสของผู้ใหญ่ให้ฟังว่า มีคนไข้ผู้หญิงอายุ 65 ปีเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งปกติแล้วการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่จะรีบรักษาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

Operation Smile  Thailand มูลนิธิที่มุ่งแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้เด็กๆ ทั่วไทย สร้างตัวตนและรอยยิ้มให้ทั้งครอบครัว

“ผมถามเขาว่าทำไมถึงเลือกผ่าตัดตอนนี้ เพราะเขามีครอบครัว มีลูก มีหลานแล้ว คนไข้ตอบว่าลูกชายเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อยากพาไปออกงานด้วย หากมองในมุมนี้อาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ ไม่เชิงแบบนั้น เพราะเขาเติบโตมาได้ว่าหกสิบห้าปี มีครอบครัว มีหลาน นั่นแปลว่าเขาเป็นคนที่เข้มแข็งมากๆ ไม่รู้สึกอะไร ในขณะเดียวกันครอบครัวที่เลี้ยงดูเขามาก็ใจนิ่งมากๆ ซึ่งหาได้ยากมาก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า สำหรับแกแล้วการผ่าตัดไม่มีความหมายอะไร แค่อยากดูดีตอนออกงานกับลูก 

“เราทำงานเพราะอยากให้ทุกคนมีชีวิต มีรูปหน้าที่ปกติ และอยากให้สังคมมองคนกลุ่มนี้เป็นคนปกติ เพราะเราต้องยอมรับว่าบางทีผ่าตัดแล้วก็ไม่ได้ออกมาปกติร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังผ่าตัดก็อาจจะโดนบุลลี่ หรือถูกกีดกันอยู่ นี่แสดงให้เห็นว่าโรคปากแหว่งเพดานโหว่มีผลยาวนาน ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งอายุมาก“

Operation Smile  Thailand มูลนิธิที่มุ่งแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้เด็กๆ ทั่วไทย สร้างตัวตนและรอยยิ้มให้ทั้งครอบครัว
05

ก้าวต่อไปของภารกิจรอยยิ้ม

         “ตอนนี้ผมอายุห้าสิบแปดปี ในฐานะอาสาสมัคร ก็คงจะทำต่อไปจนกว่าจะไม่ไหว หรือเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าเป็นภาระให้กับคนในทีม”

นอกจากเรื่องราวการสร้างรอยยิ้มของคนไข้แล้ว สิ่งที่คุณหมออภิชัยเห็นความสำคัญในฐานะอาสาสมัคร คือการทำงานที่เข้มแข็งมีระบบมากๆ ของมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม สอดคล้องกับคำพูดของคุณหมอยุพเรศ ซึ่งประทับใจตั้งแต่ไปออกหน่วยครั้งแรก และได้เห็นการทำงานของอาสาสมัครทุกคนที่ทำงานอย่างหนัก ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย

“เราไปสังเกตการณ์ เห็นความสามัคคีและทำงานด้วยใจ ครั้งแรกที่ออกหน่วยตอนนั้นมีผู้ป่วยกว่า ร้อยยี่สิบคน แต่เขาจัดระเบียบไว้ดีมาก ทั้งที่เป็นการเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ห่างไกล นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งทีทำให้ร่วมงานกับมูลนิธิฯ”

มูลนิธิสร้างรอยยิ้มจะไม่หยุดเพียงก้าวที่ร้อย ทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ทั้งแนวตั้งและแนวนอน หมายถึงเมื่อมีเงินมากขึ้น ก็จะช่วยเหลือคนไข้ได้มากกว่านี้ หากเป็นคนไข้เดิมก็จะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เป็นเวลานานที่สุดเท่าที่ช่วงชีวิตจะทำได้ 

โดยก้าวต่อไปของมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม คือการติดตามคนไข้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีงานด้านการศึกษา สนับสนุนการศึกษาของบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับปลูกจิตสำนักทางสังคมผ่านโรงเรียนต่างๆ มี Smile Club เพื่อให้เด็กที่อยู่ในวัยเรียนเห็นความสำคัญของการไม่พูดล้อเลียน และการเสียสละแบ่งปัน เมื่อเอาทุกอย่างมารวมกัน สิ่งนี้แหละที่จะทำให้มูลนิธิฯ ยั่งยืน

Operation Smile  Thailand มูลนิธิที่มุ่งแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ให้เด็กๆ ทั่วไทย สร้างตัวตนและรอยยิ้มให้ทั้งครอบครัว

ภาพ : Operation Smile Foundation

ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่ต้องการความช่วยเหลือจากมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย สามารถติดต่อได้ที่ operationsmile.or.th หรือแจ้งต่อโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาอยู่

Writer

Avatar

พาฝัน หน่อแก้ว

เด็กวารสารศาสตร์ ผู้ใช้ชีวิตไปกับการเดินทางตามจังหวะเสียงเพลงโฟล์คซองและ R&B จุดอ่อนแพ้ทางของเซลล์ทุกชนิด